เมื่อไก่แตกตื่น...


เมื่อวานนี้ตอนที่เรานำเศษอาหารที่เหลือไปหว่านเพื่อทำทานให้มด ให้หนูนั้น เมื่อหว่านปุ๊บ “ไก่” ก็แตกตื่นปั๊บ...

เสียงไก่ที่อาศัอยู่ในบริเวณป่าแถวนั้นแตกฮือ
เสียงเท้าไก่ที่วิ่งเหยียบไปบนใบไม้ที่แห้งดังทั่วไปในราวป่า

การแตกตื่นครั้งนี้มิใช่แตกตื่นเพราะวิ่งหนีที่ไก่นึกว่ามีภัยเนื่องจากใครนำอะไรไปสาด
การแตกตื่นครี้งนี้กลับเป็นการ “วิ่งเข้าใส่” เพราะไก่คงคิดในใจอยู่ว่า “อาหารมาแล้ว อาหารมาแล้ว…”

ครั้งก่อนตอนแรกไก่คงกลัว แตกตื่น วิ่งหนี เพราะไม่รู้ว่าใครผู้ใด อะไร จะสาดลงมาในบริเวณนั้น
แต่เมื่อพอรู้แล้วว่า สิ่งนั้น ในเวลานี้คือ “อาหาร” ต่างผู้ ต่างตน ต่างคน ต่างไก่ ก็เลยต้องรีบวิ่งเข้าใส่เพื่อให้ได้อาหารมาไว้เพื่อประทังชีวี…

จิตเราก็เป็นดังเช่นนั้นที่ครั้งแรกไม่รู้จริง คิดว่าสิ่งที่ทิ้งไปให้นั้นมีภัย ก็รังแต่จะวิ่งหนี วิ่งไป วิ่งไป
แต่ครั้นเมื่อพอรู้ได้แล้วว่า นี้เป็นอาหาร เป็นของดีนะ จิตนั้นก็ยอ่มวิ่งเข้าใส่ ไขว่คว้า เพื่อให้ได้อามาซึ่งประโยชน์อันบริบูรณ์

ธรรมะก็เป็นเช่นนั้นแล...
ครั้งก่อนตอนที่มีใครสักคนโยนให้ บอกให้ ชักนำให้ จิตเราก็ย่อมกลัว ย่อมหนี
กลัวทุกข์ กลัวเหนื่อย กลัวเจ็บ กลัวเพลีย ไม่เอาแล้ว ไม่เอาแล้ว “แตกตื่น” กันยกใหญ่
แต่ถ้านานเข้า นานเข้า ปฏิบัติไป ปฏิบัติไป จิตนั้นไซร้ก็ย่อมรู้ถึงประโยชน์อันหาโทษมิได้ของ “ธรรม” นั้น

การปฏิบัติธรรม บางคนก็ทำเพราะแตกตื่น ทำไปตามกระแส ปฏิบัติตามค่านิยม แตกตื่นทำกันไป ทำกันไป
แต่ทว่าการแตกตื่นตามกระแสแห่งใคร หรือผู้ใด ที่มาชักชวน ชี้แนะ ชักจูง ให้ปฏิบัติธรรมนั้น อย่างไรเสียก็ย่อมดีกว่าการชักชวนให้ “ไม่ปฏิบัติ”

แม้นครั้งแรกจะทำด้วยจิตที่แตกตื่น ทำด้วความฝืนก็ยังดี
เพราะเมื่อจิตได้รับอาหาร นั้นคือ โภชนาการแห่ง “ความสงบ”
จิตนั้นจะเริ่มรับ เริ่มสัมผัส กับสิ่งที่จิตต้องการโดยแท้
ร่างกายนั้นต้องการอาหารเพื่อเลี้ยงชีพฉันใด จิตนั้นย่อมต้องการ “ความสงบ” เพื่อหล่อเลี้ยงประดุจแก้วที่ต้องการการเจียรนัยฉันนั้น

เมื่อจิตรู้ จิตรับ จิตสัมผัสกับอาหารที่ทรงคุณค่า
จิตนั้นย่อมแตกตื่น ยิ้มระรื่น รีบกลินกลืน ไขว่คว้า สรรหา เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความสงบ”

ความสงบนั้นจึงเป็น “อาหารแห่งใจ...”
เพราะความสุขอื่นใดนอกเหนือจากความสงบนั้นไซร้ย่อมไม่มี

เมื่อไก่แตกตื่น เหมือนฝืน ความสงบ
พลันวิตก แลวิจารณ์ สังขารนั่น
ครั้นเมื่อเห็น รู้แจ้ง แตกตื่นพลัน
จิตกระสันต์ ปฏิบัติ รัดตรึงธรรม

ธรรมะ นำชีวิต ให้สงบ
จิตน้อมนบ รสพระธรรม ฉ่ำชื่นยิ่ง
กายจิตนี้ มีธรรมะ ไว้พักพิง
ย่อมเป็นสิ่ง อันล้ำค่า คุณอนันต์

เมื่อจิตตื่น พลิกฟื้น หาธรรมะ
ควรรุดละ กรรมดำชั่ว ทำดีมั่น
เร่งแตกตื่น สร้างกรรมดี ถ้วนหน้ากัน
ย่อมสร้างสรรค์ ชีวิตนี้ มีสุขเอย...

 

หมายเลขบันทึก: 248334เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2009 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จริงอย่างท่านว่า

แต่ก็นั่นเอง

เมื่อก่อน มีคนพยายามแนะนะสั่งสอน เราก็ไม่รับ

แต่ต้อง ทดลอง experiment ด้วยชีวิตตนเอง

แล้วจึงเห็นด้วยตัวเองว่า

เมื่อขยับเขยื้อนตัวไปทางใดก็เป็นทุกข์ ก็เลยหาทางใหม่ว่าอย่างไรจึงจะสงบได้

จึงได้พอสัมผัสได้ว่า ต้องใช้ยาธรรมะนั่นเอง จึงจะถึง

แต่ก็อย่างว่า

สันทิฎฐิโก เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฎิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง

การทดลอง การทำสิ่งต่าง ๆ โดยการแลกด้วยชีวิตนี้นั้น "ประเสริฐ" ที่สุด

การนำชีวิตเข้าแลกเพื่อความรู้อันเป็นปัญญาแห่งชีวิตนี้ "ประเสริฐ" แท้

ประสบการณ์แห่งชีวิตนั้นคือ "ธรรมโอสถ" ขนานเอก

เป็นธรรมโอสถที่เป็นสันทัฏฐิโกอย่างท่านว่าไว้ถูกต้องนัก ประกอบกับยังเป็น "อกาลิโก" คือ รู้ได้ เห็นได้อย่างไม่จำกัดกาล

ยาขนานเอกแห่งชีวิต ที่ก้าวผ่านมาด้วยชีวิตนี้แล เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเยี่ยวยาชีวิตที่หลายภพหลายชาติได้เดินทางผิดให้กลับถูกได้...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท