เมื่อต้องสื่อสาร และให้สัมภาษณ์กับ “มืออาชีพที่ไร้กระบวนท่า”


แต่พอได้อ่าน Section C ของ “ผู้จัดการายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2552” แล้ว มันช่างเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมจริงๆ

          เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (24 มกราคม) ผมมีนัดให้สัมภาษณ์กับคุณอภินันท์ บุญเรืองพะเนา จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ บอกว่าจะมาขอคุยเรื่อง “Spiritual Spa” หรือการทำ “สปาอารมณ์” ว่ามันคืออะไร? ผมนัดคุณอภินันท์ให้มาเจอกันที่สวนจตุจักรเวลาแปดโมงเช้า เพราะผมออกกำลังกายอยู่ที่นั่น รำมวยเสร็จเวลานั้น นัดกันตรงนาฬิกาดอกไม้ซึ่งเป็นจุดรำมวยของกลุ่ม “เต้าเต๋อซิ่นซี” ผมบอกวิธีไปคร่าวๆ ว่าอยู่ใกล้ๆ กับ “ประตู 2”

        เมื่อถึงเวลานัดหมายผมโทรถามคุณอภินันท์ว่าอยู่ตรงไหน ก็ได้ทราบว่ากำลังเดินอยู่ในสวนจตุจักร แต่ยังอยู่อีกตั้งไกล เพราะสวนจตุจักรนั้นค่อนข้างยาวมาก คือด้านหนึ่งติดถนนวิภาวดี ส่วนอีกด้านหนึ่งติดกับตลาดนัดจตุจักร (JJ Market) กว่าคุณอภินันท์จะเดินมาถึงจุดที่ผมนัดน่าจะต้องเดินอีกเป็นกิโล พอมาถึงก็เหงื่อท่วมตัวพอดี

        พูดคุยกันจึงได้ทราบว่าที่ผมสื่อสารไปนั้น “ไม่ชัดเจน” เท่าใดนัก เพราะคุณอภินันท์มารถไฟฟ้าใต้ดิน ตอนจะเดินออกจากสถานีรถไฟก็มีเรื่องให้ต้องตัดสินใจแล้วว่า ที่พูดว่าประตู 2 นั้นผมหมายถึงประตูทางออกของสถานีหรือเปล่า ครั้นออกมาจากสถานีรถไฟแล้ว เห็นประตูเข้าสวนก็คิดว่าผมคงหมายถึงประตูนี้มากกว่า ก็เลยเข้าไปตามนั้น ซึ่งนั่นเป็นประตู 2 ที่อยู่ด้านหน้า (ถนนพหลโยธิน) แต่จริงๆ แล้วผมเองหมายถึงประตู 2 ที่ต้องนำรถเข้ามาจอด ซึ่งเป็นประตูที่อยู่ด้านหลัง เห็นหรือยังครับว่าทำไม “การสื่อสาร” จึงเป็นเรื่องสำคัญตลอดกาล

        ในวันนั้นนอกจากผู้สัมภาษณ์จะเหนื่อยหอบมาแล้ว ผมเองก็มีเวลาเหลือที่จะคุยด้วยไม่มากนัก เพราะมีธุระที่จะต้องไปทำ ยิ่งพอตอนที่คุยกันเสร็จเห็นคุณอภินันท์หยิบมือถือขึ้นมาถ่ายภาพผมไว้ โดยที่ไม่ได้ใช้กล้องถ่ายรูปทั่วไป ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ออกมาจากการให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้คงจะไม่มี  “ความเป็นมืออาชีพ” เท่าใดนัก

        แต่พอเย็นวันนี้ ตอนที่ผมซื้อ  “ผู้จัดการายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2552” มาเปิดอ่าน (ตรง Section C)  มันช่างเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมจริงๆ  สิ่งต่างๆ ที่คุยกันในวันนั้น ได้รับการถ่ายทอดไว้อย่างไม่ขาดไม่เกิน เป็นบทสัมภาษณ์ที่เมื่ออ่านแล้วจะได้ทั้งเนื้อหาและได้เห็นบรรยากาศไปพร้อมๆ กัน ผมเองเคยให้สัมภาษณ์หลายๆ ที่ บางทีเขียนออกมาพออ่านแล้วรู้สึกว่า เราไม่ได้พูดไปอย่างนั้นนี่หว่า  แต่ครั้งนี้ต้องถือว่าได้มาพบกับ “มืออาชีพที่ไร้กระบวนท่า” เข้าแล้ว!!

  ภาพจากโทรศัพท์มือถือของคุณอภินันท์ที่ถ่ายไว้ในวันนั้น อยู่ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดา์ห์ หน้า C7 ของวันนี้  

หมายเลขบันทึก: 238625เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2009 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

เรียน อ.ประพนธ์ค่ะ

  • เชื่อแล้วค่ะว่าผู้สัมภาษณ์มืออาชีพจริงๆเพราะภาพที่อาจารย์นำมาโพสต์นั้น...ระดับโปร...
  • ...แนะนำให้เปลี่ยนรูปเดิมเป็นรูปใหม่ค่ะ...เพราะดูหนุ่มกว่ารูปเดิมตั้งแยะ...อิอิ

ผมต้องไปซื้อ นสพ.เก็บไว้ก่อนครับ..

ส่วนภาพจาก มือถือ อาจารย์ "หล่อเหลา" คมชัดมากๆครับ :)

ขอบคุณ คุณเอกและคุณติ๋ว . . . ผมเองก็คิดเช่นนั้น . . . เพิ่งรู้ตัวเหมือนกันว่า "หลงตัวเอง"

เมื่อวานไปร้านนายอินทร์...ไปหยิบหนังสือสปาอารมณ์มาอ่าน...

และเช้าวันนี้...ก็แวะมาชมภาพที่ไร้กระบวนท่าทางในกรอบกฏเกณฑ์...ของมืออาชีพที่ทำให้ภาพอาจารย์...ดูเป็นสปาอารมณ์ได้ดีทีเดียวค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

(^__^)

กะปุ๋ม

ภาพนี้อาจารย์ประพนธ์ทั้งหล่อและหนุ่ม คนที่ไม่รู้จักอาจารย์มาก่อนอาจจะนึกว่าเป็นลูกชายของอาจารย์นะคะ

ยอดเยี่ยมค่ะ

แวะมารอบสองเจ้าค่ะ...

  • คนเรามักจะรู้สึกว่าตัวเองหน้าตาดี  ก็ตอนที่มีลูกเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วนั่นแหละค่ะ... เพราะด้วยรู้สึกว่าลูกเป็นกระจกของเรา(แม้จะครึ่งเดียวก็ตาม)...พอรู้สึกว่าลูกสวยก็หลงคิดว่าตัวเราสวยไปด้วย....ติ๋วก็เป็นเช่นที่ว่ามาค่ะ...บ่อยกว่าอาจารย์ซะอีก...อิ อิ

เห็นรูปทางหนังสือพิมพิ์แล้ว ยังนึกอยู่เลยครับ ว่าได้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย อารมณ์สบายๆด้วยครับ รูปและนายแบบในรูปดูดีครับ

เมื่อ "กระบี่" อยู่ที่ใจใยต้องพกอาวุธ เมื่อใช้ "หัวใจ" ทำงาน จึงสมควรเรียกว่า "มืออาชีพ"

ใช่ไหมครับท่านอาจารย์

ดร.Ka-Poom อ่าน "สปาอารมณ์" แล้ว อย่าลืมเข้ามา "ต่อยอด" ความรู้(สึก)บ้างนะครับ

. . . ขนาดนั้นเลยหรือครับ อาจารย์วัลลา . . . ถึงจะรู้ว่า "ไม่จริง" แต่ก็รับไว้ด้วยความเต็มใจครับ

ขอบคุณ คุณติ่ว อาจารย์ M และคุณณภัทร๙ ที่แวะเวียนเข้ามา ผมตั้งใจว่าจะไปขอ "บทสัมภาษณ์" ของผู้จัดการมาลงไว้ให้อ่านในบันทึกนี้ต่อไปครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

วันนี้ไปเสาะแสวงหาบทสัมภาษณ์ของอาจารย์มาอ่านค่ะ ชัดเจนมากเลยค่ะ 

และกำลังคิดว่าจะมาขออนุญาตอาจารย์ช่วย scan ข่าว ขึ้นบันทึกให้ ... แต่อาจารย์กำลังจะขอบทสัมภาษณ์จาก นสพ.ผู้จัดการ ดีเลยค่ะ ... เพราะคิดว่าหลายคนคงอยากอ่านกันค่ะ...สนับสนุนค่ะ...

อาจารย์คะ หลักคิดของ OSHO ใช่พุทธเลยใช่ไหมคะ
"ผู้สังเกตการณ์" คือวิถีของวิปัสสนากรรมฐาน...นี่คะ...

แตงเคยได้รับความคิดสะท้อนจากรุ่นพี่ที่เป็นนักเขียนผู้นำแนวคิดในแนวนี้สะท้อนว่า OSHO เป็นกบฏ...(แตงพูดตรงไปไหมคะ)...
แต่แตงอ่านแนวคิดของเขาแล้ว...แตงกลับชอบนะคะ...แต่ไม่กล้าเถียงพี่เขา...เพราะพี่เขาก็เป็นผู้นำแนวคิดเชิงพุทธในเมืองไทยอยู่คะ..ก็เลยหงอ

แต่ Emotional Wellness (สปาอารมณ์) เพิ่งอ่านเฉพาะคำนำ กับคำนิยมค่ะ ถูกใจมากเลยค่ะ

 

สวัสดีครับ คุณแตงไทย

ที่รุ่นพี่คุณแตงไทย พูดว่า OSHO "เป็นกบฏ" นั้นเป็นการสะท้อนภาพของ OSHO ที่ "ถูกต้อง" ที่สุดเลยครับ . . . OSHO เป็นกบฏต่อ "กฎเกณฑ์" ทั้งหลายที่ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึง "อิสรภาพ" หรือ "ความจริง" ได้ด้วยตัวเอง มาแนวเดียวกันกับท่านกฤษณมูรติ หรือใกล้เคียงกับแนวของเซน เป็นการเน้นไปที่ "การปฎิบัติภาวนา" เช่นเดียวกับที่ "ศาสดาทั้งหลาย" ที่ได้พร่ำสอนไว้ในอดีต แต่ท่านไม่เชื่อใน "ศาสนา" ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไรก็ตาม หากทำกันอย่างที่เห็นในปัจจุบัน . . . ทำให้ผมนึกถึงบทประพันธ์บทหนึ่งของท่านอาจารย์พุทธทาสที่เคยเขียนไว้ในทำนองว่า "ถ้าพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาเห็นศาสนาพุทธอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ท่านคงจะจำไม่ได้แน่นอน!!"

ตามมา...เจอกับรูปหนุ่มหล่อ ที่ผ่อนคลายค่ะ

วันก่อนที่เชิญอาจารย์มาที่บ้าน ตั้งใจเชิญให้นั่งพื้นที่ปูเสื่อบนสนามหญ้า

เพราะจะได้ไม่เป็นทางการ...หวังว่าคงไม่เมื่อยนะคะ

พอทราบว่า เป็นผู้ปฏิบัติธรรม ยิ่งหมดห่วงเรื่องนั่งพื้นนานๆ ค่ะ

ยังไม่ได้เริ่มอ่าน "สปาอารมณ์" ก็มี เล่ม "เซน" มาอยู่ในมือ

อ่านเซนไปก่อน เพราะโดยส่วนตัวเปิดใจรับวิถีเซน...สองชั่วโมง ไปแล้วครึ่งเล่ม...

ขอบพระคุณอาจารย์และพี่สุนิตค่ะ ที่ทำให้ได้อ่าน OSHO ภาคภาษาไทย

ชักอยากสนทนากับอาจารย์ค่ะ

ขอถกประเด็นอีกนิดค่ะ...
ถ้าอย่างงั้น...พวกเรานักปฏิบัติแหวกแนวที่ค้นหาหนทางของตนเอง...ก็พวกขบถ...เช่นกันซิคะ...

ไม่ใช่ไม่เชื่อในศาสนานะคะ...แต่เราเชื่อในศาสนาในหนทางของเราเอง...
คือตัวเองไม่ชอบในแนวทางปฏิบัติศาสนาเพื่ออะไรก็แล้วแต่...แต่ไม่ใช่ไม่เคารพในพิธีการคะ่ ยังคงร่วมปฏิบัติที่ธำรงค์ไว้ค่ะ

แต่เราค้นหาแนวทางของศาสนาของเราโดยตรง
ไปที่แก่นของศาสนาหรือแนวทางปฏิบัติของเราเองนั้น...เราจะโดนเรียกว่าพวกขบถหรือเปล่าคะ...
เพราะที่ผ่านมาคิดเสมอค่ะว่าตัวเองไม่มีศาสนา...แต่พอมาฝึกวิปัสสนาจึงรู้ว่า...ศาสนาพุทธอยู่ในตัวเราเองค่ะ...
ใช่...ธรรมะ...หรือเปล่าคะ

(งง...ไหมคะ)

ขอบพระคุณมากค่ะ ที่อาจารย์นำงานดีๆ มาพวกเราได้อ่านกันค่ะ
เข้มแข็งและอดทนเดินทางในเส้นทางนี้ต่อไปนะคะ

 

เรียนอาจารย์ประพนธ์

ขอยืนยันว่า "อาจารย์ประพนธ์ในภาพ" ทั้งหล่อและหนุ่ม เป็นความจริงที่อยู่ในภาพค่ะ

ก่อนราตรีสวัสดิ์ค่ะท่านอ.

เพิ่งทราบนะคะว่า osho มีฉายาว่ากบฎ ... ครั้งแรกที่อ่านหนังสือ osho แล้ว ถูกจริต และ ชอบมากๆ ค่ะ .. อิสระ ไร้กรอบ

... ส่วนของท่านกฤษณะมูรติ ติดตามอ่านหลายเล่มตั้งแต่สมัยเด็ก จนปัจจุบัน ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจดีนัก ... ประเด็นนี้ทำให้ยังเป็นสิ่งที่น่าท้าทายเสมอ :)

... อ่านแล้ว โดน และถูกใจมากๆ ตรงนี้ค่ะ  "ถ้าพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาเห็นศาสนาพุทธอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ท่านคงจะจำไม่ได้แน่นอน!!"

.... ขอบพระคุณค่ะ ฝันดีนะคะ ...

ขอโทษครับที่ไม่ได้เขียนตอบ ตอนนี้อยู่สมุย . . . ได้รับยทสัมภาษณ์แล้ว พรุ่งนี้จะนำมาลงไว้ให้อ่านกันครับ

คุณแตงไทยเปิดประเด็นไว้น่าสนใจมากครับที่ว่า . . . “ถ้าอย่างงั้น...พวกเรานักปฏิบัติแหวกแนวที่ค้นหาหนทางของตนเอง...ก็พวกขบถ...เช่นกันซิคะ...” ผมว่าอย่าไปติดกับคำว่า “ขบถ” เลยครับ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้อง “จับหลัก” ให้ได้ หลังจากนั้น “สไตล์ใคร สไตล์มัน” ครับ

ประเด็นสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า . . . แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าหลักที่เรานำมาใช้นั้น “ถูกต้อง” ตรงนี้ต้องระวังให้ดี ต้องใช้สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ใน “กาลามาสูตร” ครับ ซึ่งถ้าเป็นตามนั้น แม้แต่ในคำสอนของศาสนาก็ใช่ว่าจะต้อง “หลับหู หลับตา เชื่อเสมอไป” จะต้องไม่ไปติด "เปลือกของศาสนา" เช่นกัน ต้องศึกษาไปให้ "ถึงแก่น" จะได้รู้ว่าแท้จริงแล้วทุกศาสนามีแก่นเดียวกัน

ตามความเห็นของผมแล้ว ศาสดาของทุกศาสนานั้นเป็น “สุดยอดแห่งขบถ” ท่านกล้าที่จะ "ท้าทายและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่" แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มในตัวท่านก่อนเป็นอันดับแรก ท่านเหล่านั้นได้เข้าถึง “ธรรม” ได้เห็นความเป็นธรรมชาติ ความธรรมดา นั่นคือ “ศาสนา” ของท่านในตอนนั้นครับ . . . อ่านแล้วงงมากขึ้นหรือเปล่าครับ

สวัสดีครับ ผมชอบคำว่ามืออาชีพที่ไร้ขบวนท่ามากครับ

สวัสดีครับ คุณเนบดูอิน นำคำนี้ไปใช้ได้ครับ . . . ผมไม่ได้จดลิขสิทธิ์ไว้

พิสูจน์ว่า ความเป็นมืออาชีพต้องวัดจากผลงาน ไม่ใช่สิ่งที่ฉาบอยู่ภายนอกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท