วิชาชีพที่สามารถทำงานอย่าง "ตรงไป ตรงมา" ได้


หมอคือผู้มีทางเลือกที่จะทำงานอย่างตรงไป ตรงมา ได้

วันนี้ขอเขียนถึงครูที่เคารพของผมอีกท่านหนึ่ง คือ รศ.ทพ.ดร.จีรศักดิ์ นพคุณ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2536-2540

ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมในฐานะพี่ปีห้า ได้จัดงานรับน้องขึ้นคลินิก ให้กับน้องปีสี่ที่กำลังจะเริ่มฝึกปฏิบัติงานคลินิก เป็นหมอฟันที่ให้บริการทันตกรรมกับคนไข้ที่มารับบริการที่คณะฯ

พวกเรากลุ่มคนที่จัดงาน ได้เรียนเชิญอาจารย์มาคุยกับน้องๆ ว่าควรจะทำคลินิกอย่างไร จึงจะรอด และมีความสุขพอสมควร

อาจารย์หมอจีรศักดิ์ สรุปคำสอนไว้ในประโยคสั้นๆ ที่ยังคงติดหัวผมมาถึงทุกวันนี้ ว่า

"ขอให้ทำงานคลินิกอย่างตรงไป ตรงมา"

ผมจำคำของอาจารย์ไปสอนลูกศิษย์ของผมในหลายต่อหลายโอกาส

หากมองลึกลงไปจากคำสอนที่ต้องการให้หมอ เป็นคนที่ซื่อสัตย์ จะเห็นความจริงอีกชั้นหนึ่งว่า วิชาชีพของเรานั้น "สามารถ" ทำงานอย่างตรงไปตรงมาได้ ขณะเดียวกันก็ "สามารถ" ทำอย่างเฉโกได้เช่นกัน

บางคนอาจมองว่าเส้นแบ่งของการจะเรียกใครว่าหมอนั้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาจบปริญญามาหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า งานที่เขาปฏิบัติ เป็นไปเพื่อบำบัดความทุกข์กาย ทุกข์ใจของคนไข้ หรือเป็นไปเพื่อตอบสนองความใคร่ของผู้มาซื้อบริการ

แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว พบว่าเส้นแบ่งนั้นมันเลือนลางเหลือเกิน

แน่นอนว่ากิจกรรมบำบัดความใคร่ของผู้มาซื้อบริการประเภทเสริมเขี้ยว ฝังเขี้ยวเพชรพลอย จัดฟันแฟชั่น นั้น เป็นงานของช่างเสริมสวย มากกว่าจะเป็นกิจของหมอ

แต่มีงานอีกหลายประเภทอย่างการใส่ฟันปลอม การอุดฟัน แม้แต่การถอนฟัน ที่หลายๆ สถานการณ์คาบเกี่ยวและยากจะตัดสินด้วยหลักบำบัดทุกข์ หรือสนองใคร่ ได้

สุดท้ายอยู่ที่ใจคนทำครับ ใจของหมอผู้ให้บริการ "เลือก" ที่จะทำอย่างตรงไปตรงมา เท่าที่ความรู้ความสามารถของตนจะเอื้อให้ทำได้ หรือ เลือกที่จะเฉโก เพื่อทรัพย์สินเงินทอง พฤติกรรมการเฉโกแบบไม่ผิดจรรยาบรรณก็เป็นไปได้นะครับ แต่ในใจคนทำน่ะรู้ดีว่าที่ทำไปนั้นเป็นอย่างไร

หากจะบอกว่า จรรยาบรรณของทันตแพทย์, ศักดิ์ศรีวิชาชีพ เป็นสิ่งที่ทำให้ "หมอฟัน" ต่างจาก "ช่าง"

ผมเชื่อว่า นอกจากหลักจรรยาบรรณแล้ว หากจะสรุปว่า หมอคือผู้ที่มีทางเลือกและโอกาส ที่จะให้บริการคนไข้ อย่างตรงไปตรงมาได้ ในขณะที่อาชีพอื่นๆ อาจจะไม่มีทางเลือกนี้ น่าจะเป็นข้อสรุปที่ไม่เลวนัก

สิบกว่าปีผ่านไป ผมจึงได้มาคิดว่า ผมโชคดีที่มีโอกาสได้จัดงานรับน้องขึ้นคลินิก โชคดีที่มีโอกาสได้ฟัง อาจารย์หมอจีรศักดิ์ให้โอวาทน้อง และโชคดีที่มีโอกาสได้ถ่ายทอดคำสอนเรื่อง ความ "ตรงไป ตรงมา" ให้กับสู่นักเรียนธรรมศาสาตร์รุ่นหลัง

ขอใช้การส่งต่อคำสอนที่มีค่าดังเพชรทอง สู่เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ เป็นเครื่องบูชาคุณครูของผม ไว้ ณ โอกาสนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 238623เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2009 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณหมอสุธีมากที่นำสิ่งดีๆแบบนี้มานำเสนอ ในฐานะที่สุธีเป็นอาจารย์ทพ.อยากให้ช่วยขยายแนวคิดดีๆให้กับนทพ.ให้มากๆเพื่อให้นทพ.ที่จะจบออกมาเป็นทพ.ได้เป็นทพ.ที่มีคุณภาพทั้งด้านวิชาการและคุณธรรม(ไม่ใช่ คุณ-น่ะ-ทำ)

ขอบพระคุณ คุณsantiphap ที่กรุณาเข้ามาให้ความคิดเห็นครับ

จะพยายามเป็นครูที่ดีให้นักศึกษาทันตแพทย์ครับผม

อยากถามหมอสุธีว่ากรณีที่ทันตแพทยสภากำลังเล่นเรื่องการแก้ปัญหาจัดฟันแฟชั่น แต่ทพ.(ที่รับ)จัดฟันบางคนกลับทำเสียเอง เราจะช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างไร ที่ร้อยเอ็ดมีทพ.บางคนบอกว่าไหนๆเด็กมันอยากจัดฟันแฟชั่นอยู่แล้วก็จัดมันเองซะเลยจะได้ไม่มีปัญหา เข้าทำนอง ข้าไม่ลงนรก แล้วใครจะลง(วะ)

สวัสดีครับคุณsantiphap (ไม่แน่ใจว่าคือ คุณหมอพี่โจ ณ อาจสามารถ หรือเปล่า?)

"...ทพ.(ที่รับ)จัดฟันบางคนกลับทำเสียเอง เราจะช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างไร"

ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาครับ แต่มีประเด็นสองสามเรื่องที่ต้องมอง

1.ทันตแพทย์ที่จัดฟันแฟชั่นถือว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่?...เท่าที่ผมทราบ ไม่ผิดนะครับ

2.หากไม่ผิดกฎหมาย แล้วการกระทำดังกล่าวเป็นปัญหาอย่างไร?

หากเราเชื่อจริงๆว่า ทันตแพทย์มีความรู้พอที่จะทำการจัดฟันแฟชั่น โดยไม่เป็นอันตราย (ถึงตาย) กับผู้รับบริการ

(ส่วนอันตรายประเภทอื่นๆ เช่น เกิดความเสี่ยงต่อโรคปริทันต์ หรือโรคฟันผุ นั้น ผมว่ามันไม่ชัด และแรงพอที่จะทำให้สังคม

หันมาจับตามองได้)

ปัญหามันก็จะมาตกอยู่ที่หมวด "ความไม่เหมาะสม" ในอีหรอบเดียวกับการให้บริการในเชิงเสริมสวยทั้งหลาย พวกฝังเพชร, ทำเขี้ยว หรือกระทั่งเป็นไปในทำนองเดียวกับ วิชาชีพแพทย์ที่ให้บริการฉีดโบทอกซ์ ขายยาลดความอ้วน ฯลฯ

ความไม่เหมาะสมส่งผลอะไรต่อวิชาชีพ

คำตอบคือ ส่งผลต่อความศรัทธาในวิชาชีพทันตกรรมครับ

เมื่อศรัทธาหมดลง สถานะของทันตแพทย์ จากที่เคยเป็น"วิชาชีพ"ที่ผู้คนยกย่องว่าเป็นผู้เสียสละ ไว้ใจได้ ว่าจะพวกเราจะไม่ 'do no harm' ตามจรรยาที่เหมาะที่ควร กลายมาเป็น "อาชีพ" ที่บำบัดความใคร่ของผู้รับบริการ แบบเดียวกับช่างเสริมสวย ที่ผู้มารับบริการจะให้ความคาดหวังสูง ตามราคาที่จ่ายมาก

ทีนี้มาถึงคำถามว่า เราจะแก้ยังไง

ผมเชื่อในการกระทำสิ่งดีงามทีละน้อย ทีละขั้น ว่ามันจะส่งผลสะสมต่อสังคมโดยรวม

ป่วยการที่เราจะสาปแช่งความมืด อยากเห็นแสงสว่างก็ต้องจุดตะเกียง

สังคมจะดี เพราะคนทำตามหน้าที่ของตัวเองครับ

เมื่อคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กลไกทางสังคมก็จะทำงาน

ผมไม่ไปชนกับทันตแพทย์เสริมสวย เราไม่มีหน้าที่ตรงนั้น สิ่งที่ผมทำได้ คือการสอนศิษย์ให้คิดเป็น จริงๆ ใครก็อยากสอนให้ศิษย์เป็นคนดีนะครับ แต่การสอนให้เป็นคนดีนั้นยาก สอนให้คิดเป็นนั้นพอไหว ผมเชื่อว่าคนที่รู้คิดนั้นจะมีความมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับกระแสแห่งความชั่วร้ายโดยง่าย

ส่วนบทบาทของทันตแพทย์โดยรวมเล่า ทันตแพทย์จะแก้ปัญหาวิกฤติศรัทธาได้ ก็ด้วยการทำงานแบบ "ตรงไป ตรงมา" นี่ล่ะครับ ให้สังคมเห็นว่า ยังมีทันตแพทย์ที่พวกเขาสามารถเชื่อถือ ไว้ใจ และศรัทธาได้ ทำไปเรื่อยๆ ผลของมันก็จะสะสมเป็นศรัทธาในวิชาชีพระยะยาว

สุดท้ายก็มาสรุปเหมือนบันทึกนี้ล่ะครับ คือจะแก้ปัญหาเรื่องจัดฟันแฟชั่น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยต้องใช้ทางเลือก และโอกาสที่ตัวเองสามารถจะทำสิ่งดีงามต่อผู้รับบริการทันตกรรม อย่างเต็มที่ โดยหวังว่า ในระยะยาว ความดีนั้นจะส่งผลสะสมเป็นความเชื่อถือและศรัทธาต่อวิชาชีพโดยรวม หากทุกคนทำหน้าที่ของตน กลไกทางสังคมทำงานได้ คนที่ให้บริการแบบไม่ตรงไปตรงมา ก็จะอยู่ไม่ได้เอง

ไม่ทราบว่ามองโลกในแง่ดีเกินไปหรือเปล่า แต่ฐานคิดนี้มันมาจากการมองสังคมไทยในแง่ที่ว่า กลไกทางสังคมมันไม่ทำงานครับ

ถูกต้องนะครับ พี่โจเอง พอดีเพิ่งหัดเล่นใหม่ กำลังเรียนส.ม.มหิดล พี่ๆร่วมรุ่นเลยอยากให้ลองเล่น แล้วก็มาเจอblog ของนายนี่ละ

พี่ชอบแนวคิดของนายนะ ในฐานะที่นายเป็นอาจารย์สอนทันตแพทย์คงต้องเหนื่อยหน่อยที่จะต้องผลิตทันตแพทย์ออกมาให้มีคุณภาพและคุณธรรมท่ามกลางกระแสทุน ที่ว่ากันด้วยเงินหรือผลตอบแทน ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท