BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เรียนปรัชญา-ศาสนา ทำอะไรได้บ้าง ?


ปรัชญา-ศาสนา

มีผู้ถามมาเสมอ... จะให้ไปอ่าน link ที่เคยให้ความเห็นไว้ก็ไม่เจอ บันทึกนี้จึงให้คำตอบเชิงความเห็นส่วนตัวเป็นการทั่วไป เผื่อใครสนใจจะได้เข้ามาอ่าน หรือใครสอบถามก็จะได้ link ให้มาอ่านที่นี้...

จำได้ว่าตอนแรกเรียนนั้น เคยมีเพื่อนร่วมห้องสอบถามอาจารย์ฯ ท่านบอกว่า ถ้าไม่เป็นครูก็เขียนหนังสือขาย นอกจากนั้นก็ทำงานอื่นๆ ได้ทุกอย่างที่คนทั่วไปสามารถทำได้... แล้วท่านก็ขยายความต่อว่า ปรัชญาเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจโลกและชีวิต ดังนั้น เมื่อเราเรียนปรัชญามาเราก็อาจมีมุมมองเรื่องโลกและชีวิตกว้างและอาจเลือกใช้ตามความพอใจของเรา ตัวอย่างก็เช่น เราทำงานเป็นพนักงานโรงแรม พอเลิกงานแล้วคนอื่นๆ ก็อาจชวนกันไปดูหนังฟังเพลง หรือไปดื่มไปกินตามความพอใจ ส่วนเราก็เข้าห้องแล้วก็หยิบหนังสือเต๋าเต๋กเก๋งของเล่าจื้อขึ้นมาอ่าน... เต๋าที่อธิบายได้ มิใช่เต๋าอันแท้จริง ชื่อที่ตั้งไว้มิใช่ชื่ออันสูงส่ง เต๋านั้นมิอาจอธิบายและตั้งชื่อได้ เมื่อไร้ชื่อไร้ความมีความเป็น จึงเป็นบ่อเกิดของทุกสิ่งทุกอย่าง.... แล้วก็ค่อยๆ จมดิ่งเข้าไปสู่ห้วงความคิด

วันก่อน... เล่าให้น้องฟังว่าหลานคนหนึ่งสอบเรียนต่อภาษาอังกฤษ น้องก็บอกว่าไม่ค่อยสนับสนุนให้เรียนภาษาเพราะเป็นวิชาการมิใช่วิชาชีพ เรียนมาแล้วอาจมีความรู้ทางภาษาจริง แต่อาจไม่มีงานทำตามความรู้ที่เรียนมา... ก็นำไปเล่าให้หลานฟัง แต่หลานก็บอกว่า เค้าอยากจะเรียน ส่วนอนาคตจะไม่มีงานทำหรือไม่ได้ทำงานตรงกับความรู้ที่เรียนมา ก็ค่อยแก้ปัญหาเอาข้างหน้า... ปรัชญา-ศาสนา ก็ทำนองเดียวกัน เป็นวิชาการมิใช่วิชาชีพ ถ้าชอบจะเรียนก็เรียน ส่วนอนาคตจะได้เป็นครูสอนปรัชญาหรือเขียนหนังสือขายได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอนาคต (จำภาษิตฝรั่งมาว่า ขนมปังของวันพรุ่งนี้ จะมาในวันพรุ่งนี้ )

อีกคำถามที่จะตามมาก็คือ ปรัชญาเรียนยากหรือไม่ ? ซึ่งผู้เขียนก็เคยตอบแบบรวบยอดว่า เรียนยาก สอบง่าย แต่เก่งยาก... กล่าวคือ ปรัชญาจะเรียนความคิดของคนทุกเรื่องในอดีตตั้งแต่สืบค้นและจินตนาการไปถึงจนกระทั้งเลยไปถึงเรื่องของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เพียงแค่นี้ก็อาจเห็นได้ว่าเนื้อหาของปรัชญากว้างสุดๆ ยากที่จะเรียนให้จบได้... แต่ข้อสอบของปรัชญานั้น มักจะถามกว้างๆ ให้วิจารณ์ มากกว่าการถามความจำ ดังนั้น จึงตอบง่าย สอบง่าย จะเขียนอย่างไรก็ได้ โดยมากอาจารย์ผู้ตรวจมักจะดูที่ระบบคิดและการนำเสนอ มากกว่าการตัดสินความเห็นนั้นว่าถูกหรือผิด นั่นคือ สอบง่าย (ไม่ต้องอ่านหนังสือก็เข้าสอบได้สบาย)... ส่วนคำว่า เก่งยาก นั้น เพราะปรัชญากว้าง ลึก และหลากหลาย จึงไม่มีใครรู้หรือเข้าใจทุกเรื่อง สำหรับคนที่จบปรัชญามานานๆ นั้น โดยมากมักจะเด่นเพียงบางเรื่องที่เค้าสนใจเท่านั้น

สำหรับผู้ใคร่ในการศึกษา การเรียนปรัชญาทำให้มีความรู้อื่นรอบข้างหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ประวัติศาสตร์ เรียนปรัชญาต้องเข้าใจประวัติศาสตร์โลก พอที่จะเล่าได้ (บางคนอาจสอนประวัติศาสตร์ได้เลย) เพราะถ้ากำหนดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ไม่ได้ ก็ไม่อาจเข้าใจพัฒนาการและอิทธิพลทางความคิดของนักปรัชญาในยุคสมัยนั้นได้... หรือภาษาศาสตร์และวรรณคดี เรียนปรัชญาต้องอ่านหนังสือเยอะ เฉพาะวรรณกรรมภาคบังคับที่ผู้เรียนปรัชญาต้องอ่าน ก็จำชื่อไม่หมดแล้ว... นอกนั้นก็ต้องมีความรู้พื้นฐานวิชาทั่วไปเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อต้องเรียนปรัชญาประยุกต์เรื่องนั้นๆ เช่น การเมือง ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ดนตรี จิตวิทยา ฯลฯ

อนึ่ง แม้ผู้เขียนจะเป็นพระภิกษุ แต่ก็เรียนจบปรัชญา (มิใช่ศาสนา) เท่าที่พอคุ้นเคยกับผู้เรียนจบปรัชญานั้น มักจะใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นได้เป็นปกติ แต่ก็ไม่ใคร่จะยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น มีความมั่นใจในตนเองสูง มีความเป็นอยู่ง่ายๆ ...



 

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญา#ศาสนา
หมายเลขบันทึก: 210037เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2008 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)

ทั้งกว้างทั้งลึก ... อาจารย์ที่ตรวจข้อสอบต้องรู้เยอะมากเลยหรือเปล่าครับ หรือว่ามีวิธีให้คะแนนที่ไม่ต้องรู้เยอะมากก็ได้?

P वीर

 

  • ไม่เจอนาน น้องวีร์มารูปใหม่ จำไม่ได้เลย...

อาจารย์ก็คืออาจารย์ น้องวีร์ก็เรียนหนังสือมาเยอะ คงจะจำแนกหรือพอจะจัดประเภทอาจารย์ได้... บางท่านให้ A เกือบทั้งห้อง บางท่านตอบอย่างไรก็ไม่ได้ A (5 5 5...)

ตามความเห็นส่วนตัว การให้คะแนนคงจะดูระบบคิดที่นำเสนอมาว่าสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันหรือไม่ และถ้าอ้างมาก็ไม่คลาดเคลื่อน เช่น ถ้าอ้างหน้าที่เพื่อหน้าที่ก็ต้องของคานต์ หรือถ้าอ้างประจักษ์นิยมก็ต้องขยายความให้ถูก... แต่ถ้าอ้างชื่อผิด หรืออ้างลัทธิผิดก็อาจถูกตัดคะแนน ทำนองว่ารู้ไม่จริง... นักเรียนปรัชญาโดยมากอ่านจำพวกแนวคิดมาเยอะ จึงเลือกสรรค์เฉพาะที่ตนมั่นใจมาสนับสนุนคำตอบ...

อีกอย่างหนึ่ง ที่ว่าข้อสอบปรัชญาถามกว้างๆ เชิงวิจารณ์นั้น เพราะตอนเรียนป.ตรี หลวงพี่ไปหาซื้อหนังสือปรัชญาเก่าๆ ที่สวนจตุจักร เจอข้อสอบของอาจารย์ปรัชญามีชื่อหลายท่านสอดอยู่ในหนังสือ เอามาอ่านดู ก็ไม่ต่างจากที่สอบๆ กันอยู่ จึงได้ข้อสรุปแต่ครั้งนั้นมา...

เจริญพร

ขอบพระคุณหลวงพี่สำหรับคำตอบครับ ^_^. ผมเรียนมานานก็จริงครับ แต่วิชาส่วนมากที่เรียนมักจะแคบๆ วิธีตรวจคำตอบมักจะชัดเจนระดับหนึ่ง. หรือถ้าหากเรียนวิชากว้างๆ เช่น ศิลปะการดำรงชีวิต ก็สอบก็เป็นแบบตัวเลือก.

P वीर

 

  • ความรู้ต่างจากความเชื่ออย่างไร ?
  • โลกและชีวิตคืออะไร ?
  • ทำไมจึงต้องเป็นคนดี ?

คำถามทำนองนี้แหละ ซึ่งใครก็สามารถตรวจได้ ไม่จำเป็นต้องจบ พี.เฮช.ดี. ปรัชญา...

พอคุยเรื่องนี้นอกพื้นที่ออกไป... เคยถามเพื่อนๆ ที่จบมาทางศิลปะ เรื่องเกณฑ์การให้คะแนน ซึ่งก็มีปัญหาเหมือนกัน และรู้สึกว่าจะยิ่งกว่าปรัชญาอีก... ภาพนี้ได้ A ต้องมีเหตุผลรองรับ ในเมื่อภาพอื่นๆ ไม่ได้ A ซึ่งเพื่อนบอกว่า หลายครั้งที่อาจารย์ให้เหตุผลข้างๆ คูๆ...

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า  เจ้าค่ะ

ขอเรียนถามพระคุณเจ้าว่าเป็นประเด็น ๆ นะเจ้าคะ

1. ปรัชญาไม่มีคำตอบ  เพราะขึ้นอยู่กับทันคติของแต่ละคนจริงหรือไม่เจ้าคะ

2. ยกตัวอย่างปรัชญา "ทำดีเพื่อดี ทำงานเพื่องาน"  ถ้าคนนั้นเขาไม่เข้าใจไม่เกิดทัศนคติต่อคำสองคำนี้ ก็ถือว่าไม่ใช่ปรัชญาของเขา แบบนี้หรือไม่เจ้าคะ

นมัสการครับ

        ผมเองได้เรียนวิชาปรัชญามาบ้าง โดยเจาะลึกไปที่ปรัชญาการศึกษา

        ข้อดีของปรัชญาที่ผมชอบ คือ  อาจารย์ผู้สอน "ใจกว้าง" ครับ เราจะโต้แย้งอาจารย์อย่างไรก็ได้   เพียงแต่ว่าต้องมีเหตุผลมารองรับให้ตลอดรอดฝั่ง   และอีกอย่าง เวลาสอบ  อาจารย์ไม่มี "ธง" คำตอบไว้ล่วงหน้าครับ  ว่าจะต้องตอบออกมาอย่างไร    คือ เราเขียนตอบไปอย่างไรก็ได้  แต่ว่าต้องมีเหตุผลมารองรับ เหมื่อนที่โต้แย้งกับอาจารย์นั่นแหละครับ

     ผมขอยกข้อสอบปรัชญาการศึกษามาให้อ่านเล่นๆ ครับ

     1. "ยิ่งเรียนยิ่งโง่  ยิ่งโตยิ่งเซ่อ"  หมายความว่าอย่างไร

     2. ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบัน

     3.  การศึกษาไทยมีปรัชญาหรือไม่

      ผมเขียนตอบให้มันแปลกๆเข้าไว้  ก็ได้เอ ครับ

     สำหรับการนำปรัชญามาใช้ ในมุมมองของผมเอง  ผมนำมาใช้ในการให้เหตุผลในเรื่องต่างๆครับ  นั่นคือ จะให้เหตุผลเรื่องใด   ก็ต้องเตรียมคำตอบมารองรับให้ตลอดรอดฝั่ง   ซึ่งหลายครั้ง  ไปแค่ครึ่งๆกลางๆ ก็ตกม้าตายครับ

      ขอบคุณครับ

นมัสการครับ

    ขออนุญาตตอบ krukim ตามความคิดของผมเองนะครับ (อาจจะผิดนะครับ  แต่ถือว่าเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้)

1. ปรัชญาไม่มีคำตอบ  เพราะขึ้นอยู่กับทันคติของแต่ละคนจริงหรือไม่เจ้าคะ

       ผมขออนุญาตตอบว่า  ปรัชญามีคำตอบครับ  แต่ไม่ใช่คำตอบที่ตายตัว    เป็นคำตอบที่ขึ้นอยู่กับทัศนคติของแต่ละคนครับ  แต่ละคนมีทัศนคติอย่างไร  ก็ตอบมาตามนั้น และไม่มีการตัดสินว่าของใครผิด ของใครถูก  ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่มารองรับ

2. ยกตัวอย่างปรัชญา "ทำดีเพื่อดี ทำงานเพื่องาน"  ถ้าคนนั้นเขาไม่เข้าใจไม่เกิดทัศนคติต่อคำสองคำนี้ ก็ถือว่าไม่ใช่ปรัชญาของเขา แบบนี้หรือไม่เจ้าคะ

    ผมขออนุญาตตอบว่า ถ้าเขาไม่เข้าใจ ไม่เกิดทัศนคติ  ก็คงไม่ถือว่าเป็นปรัชญาของเขาครับ

     แต่ละคนจะมีปรัชญาอย่างไร คงต้องอยู่ที่ "ความเชื่อ" ของเขาครับ 

     ทั้งสองข้อ  ผมลองตอบดูนะครับ  อาจไม่ถูกต้อง ต้องขออภัย  และขอเชิญให้ท้านอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ

                             ขอบคุณครับ

 

Pkrukim

 

  • คุณโยมถามมา รู้สึกว่ามีกำกวมในการนำคำว่า ปรัชญา มาใช้...

 ปรัชญา ในฐานะวิชาแขนงหนึ่ง จะมีคำตอบชัดเจนตามระบบนั้นๆ เพียงแต่ปรัชญามีหลากหลายเกินไปในคำถาม และแต่ละคำถามนั้น ก็มีคำตอบมากมายเท่านั้น...

ปรัชญา ในฐานะข้อคิดเห็นบางอย่าง เป็นคำพูดสวยๆ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งตามโรงเรียน โรงงาน หรือสำนักงานทั่วไปมักจะมีเขียนไว้ อาจกล่าวได้ว่า มิใช่คำตอบที่ชัดเจน...

และประเด็นสุดท้าย ข้อความที่คุณโยมว่า "ปรัชญาไม่มีคำตอบ  เพราะขึ้นอยู่กับทัศนคติของแต่ละคน" (แก้เป็น ทัศนคติ) จัดเป็นข้อความที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งอาจพอจำแนกได้ ๒ นัย

นัยแรก ปรัชญาจะไม่มีคำตอบได้อย่างไร เนื่องจาก ทัศนคติของแต่ละคนนั่นแหละ คือ คำตอบที่เป็นปรัชญาของเค้า....

อีกนัยหนึ่ง การบอกว่า "ปรัชญาไม่มีคำตอบ  เพราะขึ้นอยู่กับทัศนคติของแต่ละคน" นี้เอง เป็นความเห็นเกี่ยวกับปรัชญาอย่างหนึ่ง เพราะอาจมีความเห็นอื่นๆ อีก เช่น ปรัชญามีคำตอบชัดเจน..., ปรัชญามีคำตอบไม่ชัดเจน..., ปรัชญามีคำตอบหลากหลาย... เพราะ... ฯลฯ

ส่วนข้อ (2) ท่าน small man ฯ ช่วยตอบแล้ว ซึ่งอาตมาก็มีความเห็นสอดคล้องตามนั้น

เจริญพร

Psmall man~natadee

 

ความเห็นของท่านรองฯ บ่งชี้ว่า มีความรู้ความเข้าใจวิชาการปรัชญาพอประมาณ... ใคร่จะเพิ่มเติมอีกนิด...

ปรัชญาต้องการ ความรู้แบบไฟฉาย คือ ช่วยส่องให้เห็นสิ่งต่างๆ มากกว่า ความรู้แบบถังเก็บของ คือ เป็นเพียงที่เก็บความจำต่างๆ ดังนั้น ครูสอนปรัชญาจึงเบื่อที่จะอ่านความจำของนักเรียน ซึ่งเรื่องเหล่านั้น โดยมากท่านก็จำได้ชัดเจนและมากกว่า...

นอกประเด็น ไม่คุ้นเคยกับการเรียกว่า ท่านรองฯ เลย... อำนวยพรให้กลับมาเป็น ท่าน ผ.อ. อีกครั้ง เร็วๆ (........)

เจริญพร

  • กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ
  • มาร่วมเรียนรู้ครับผม
  • ผมเคยได้ยินมาว่าวิชาปรัชญาคือวิชาที่ว่าด้วยหลักความรู้ และความจริง   (และผมก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้)
  • ทัศนคติของแต่ละคนนั่นแหละ คือ คำตอบที่เป็นปรัชญาของเค้า...
  • หากทัศนคตีของบางท่านบางคนไม่ยืนอยู่บนหลักของความจริงแล้วเราจะจัดเป็นปรัชญาได้อย่างไรกันครับ?
  • ผิดถูกอย่างไรนิมนต์พระอาจารย์ให้ความกระจ่าง
  • กราบนมัสการครับผม

Ptukkatummo

 

  • วิชาปรัชญาคือวิชาที่ว่าด้วยหลักความรู้ และความจริง

ตามนัยที่ว่ามาก็ถูกต้อง เพราะเป็นการสรุปซึ่งเนื้อหาทั้งหมดของวิชาปรัชญาไว้  นั่นคือ หลักความรู้ และ หลักความจริง ซึ่งตามนัยนี้ อาจตั้งคำถามได้ว่า

  • เราจะรู้ความจริงได้อย่างไร ?

และจากคำถามเบื้องต้น ก็จะนำไปสู่ปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับความรู้ ซึ่งแขนงย่อยที่ศึกษาเรื่องนี้เรียกว่า ญาณวิทยา (epistemology) หรือ ทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge)... ซึ่งมีประเด็นที่ศึกษาออกไปหลายเรื่องเช่น แหล่งความรู้ ธรรมชาติของความรู้ ความสมเหตุสมผลของความรู้ฯลฯ...

สิ่งที่ถูกรู้ตามที่มันเป็นนั่นเองเรียกว่า ความจริง ซึ่งเราจะอธิบายความจริงที่เราบอกว่า รู้ ได้อย่างไร ? หรือ ความจริงนั้นคืออะไร ? ป็นอย่างไร ?... ก็จะนำไปสู้การศึกษาแขนงย่อยเรื่องนี้เรียกว่า อภิปรัชญา (Metaphysics) บางพวกถือว่าความจริงเป็นเพียงวัตถุก็จัดเป็นพวกวัตถุนิยม ส่วนพวกที่ถือว่าความจริงมีเพียงจิตใจก็จัดเป็นพวกจิตนิยม  ทั้งสองฝ่ายนี้เรียกว่าเอกนิยม เพราะเชื่อว่าความจริงมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ถ้าเชื่อว่ามีหลายอย่างก็อาจจัดเป็นพหุนิยม ฯลฯ...

วิธีการปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตเพื่อให้รู้ตามความเป็นจริง เพื่อสอดคล้องกับความเป็นจริง หรือเพื่อเข้าถึงความเป็นจริง เรียกว่าจริยศาสตร์ (Ethics) ซึ่งก็มีความเห็นต่างความเห็นแย้งมากมาย ฯลฯ...

แม้จะมีนักปรัชญาที่ตอบคำถามเหล่านี้ มีการพัฒนามาเป็นระบบ แต่นั่นแหละ ก็มีบางคนที่เห็นแย้งเห็นต่างไปจากคำถามที่ผ่านๆ มา และนั้นคือ ข้อสรุปว่า...

  • ทัศนคติของแต่ละคนนั่นแหละ คือ คำตอบที่เป็นปรัชญาของเค้า...

ซึ่งทุกคนก็มีความคิดเห็นเรื่องทำนองนี้...

อามันตา

  • กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ
  • อนุโมทนากับคำตอบที่อธิบายอย่างมีอรรถรสครับ
  • จะพยายามศึกษาและไต่ตามครับ
  • อนุโมทนาสาธุ ครับผม

P tukkatummo

 

  • เอวํ โหตุ

มีนิยามความหมายมากมายเกี่ยวกับวิชาปรัชญา ซึ่งจะครอบคลุมความหมายทั้งหมดหรือไม่นั้น อยู่ที่ว่าสามารถโยงมาถึง ญาณวิทยา อภิปรัชญา และคุณวิทยา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจริยศาสตร์) ได้หรือไม่...

อามนฺตา

Philosophy = love of wisdom

ปรัชญา หรือ วิชาว่าด้วยปรัชญาจะ "สะท้อนรากศัพท์" นี้หรือไม่ หรือ จำเป็นต้องสะท้อนหรือไม่ ก็น่าสนใจ (ทั้งคำตอบ และการคิดว่าน่าสนใจหรือไม่ และการพิสูจน์คำตอบ หรือกระบวนการหาคำตอบ ฯลฯ)

ถ้า "ยาก" หมายถึง ไม่ง่าย หรือ ต้องใช้ความพยายามมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ก็ใกล้เคัยงกับสิ่งที่คิดไว้พอควร แต่ถ้า "ยาก" หมายไปถึง ยากเย็น แสนเข็ญ ทุกข์ทรมานในการเรียน ในการศึกษา สงสัยว่า ณ ขณะนั้น คงจะไม่มี love of wisdom แต่เป็น torment to attain wisdom เสียแล้ว!!

ปรัชญาจะเกี่ยวเฉพาะ "เหตุผล" หรือไม่?

Sacrates method จะใช้ chains of questions ในการที่จะสืบสาวคำตอบ เพาะหล่อเลี้ยงปัญญา แต่การหาคำตอบ อาจจะไม่ได้เกิดจาก "rationale" หรือ "เหตุผล" เท่านั้นไหม? นึกถึงภาพยนต์เรื่อง CONTACT ที่โจดี ฟอสเตอร์ เล่นเป็นนักวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ที่โกรธพระเจ้า (ที่มาพรากพ่อเธอไปตั้งแต่เด็ก... จนตอนบาทหลวงมาปลอบใจว่าที่พ่อเธอเสีย เพราะเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ด.ญ.โจดี ก็สวนกลับไปว่า พ่อเธอตายเพราะเธอไม่ได้เก็บยาหัวใจไว้ที่ชั้นล่างของบ้าน ทำให้วิ่งไปหยิบยาไม่ทัน) และตั้งแต่นั้นมาก็ยึด science และการ "พิสูจน์ได้" เป็นสรณะมาโดยตลอด แต่สุดท้ายก็ถูกคำถามของพระเอกเรียบๆง่ายๆว่า

"คุณรักพ่อคุณไหม?"

"รักสิ ถามได้"

"ไหน พิสูจน์สิ?"

"................?????????"

Values จำนวนมาก (แต่สิ่งเหล่านี้ นับเป็น wisdom ไหม​?) เราไม่ได้ใช้อะไรมาวัด ยกเว้น "หัวใจ" ของเรา ใช้ความรู้สึกของเรา ใช้ประสบการณ์ตรงของเรา

หรือไม่?

มิฉะนั้นคำ "unconditional love" นั้น พอจะเป็น logic ไหมว่า มันเป็นอะไร "รักไม่มีเงื่อนไข" มันมาได้อย่างไร มันมาเพราะอะไร อะไรที่ทำให้ make sense และประการสำคัญตอนที่เรา (หรือใครบางคน) สามารถ "มี" การรักที่ปราศจากเงื่อนไขที่ว่านี้ มันมาเป็น protocol เป็น mechanism เป็นขั้นตอน หรือเป็น "สภาวะจิต"?

School of Wisdom นั้น เป็นการ "จดทะเบียน" wisdom นั้นๆหรือไม่? ก็คงจะขึ้นกับคำถาม หรือหัวข้อการเรียน การศึกษา ที่ตั้ง เช่น ถ้าเราพยายามจะศึกษา Goodness ของอริสโตเติ้ล เราก็คงจะ reference อริสโตเติ้ล แต่ถ้าเราศึกษา goodness เราอาจจะเฉียดอรสิโตเติ้ลไปทีนึง อาจจะเฉียดขงจื๊อไปทีนึง เฉียดมหาตมะคานธีไปที เฉียดอิมมานูเอล คานต์ ไปอีกทีนึง ท่านเหล่านี้คงไม่ว่าอะไรที่เราไม่ได้บอกว่าท่านเป็นเจ้าของ แต่ท่านเคยเฉียดและกล่าวถึงเรื่องเหล่านี้ไว้ว่าอย่างไรบ้าง (ที่จริง เราก็ "แปล" อีกรอบ และ "ตีความ" อีกรอบว่าท่านพูดไว้อย่างนั้น อย่างนี้ เราไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่า "จริงๆแล้ว" ท่านคิดว่ายังไง เนื่องจากภาษาที่แปลๆกันมาหลายสิบ หลายร้อยรอบนั้น ผ่าน "ตัวตน" ของคนอีกจำนวนมากที่สอดแทรกความคิดเห็นของตัวเองลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนมาถึงตัวเราเองก็เช่นกัน)

PPhoenix

 

  • อนุโมทนาอย่างยิ่ง สำหรับความเห็นเพิ่มเติมของอาจารย์หมอ

เพราะพิจารณาแล้ว อาจารย์หมอน่าจะประสงค์ให้ความเห็นเพิ่มเติมมากกว่าคำถามบางประเด็น...

อาจารย์คงจำได้ว่า ตอนอาตมาเข้าไปทักทายที่บล็อกของอาจารย์ครั้งแรกๆ นั้น ได้ให้ความเห็นว่าอาจารย์น่าจะเป็นครูสอนปรัชญาได้ดี (ลองค้นดูว่าอยู่บันทึกไหนก็ไม่เห็น...)

อนึ่ง... อาจารย์หมอโพสต์มาซ้ำสองครั้ง เนื้อหาเหมือนกัน จึงลบที่โพสต์ครั้งแรกทิ้ง เพื้อมิให้รกเรื้อ..

เจริญพร

นมัสการ หลวงพี่ชัยวุธ P ครับ

ถ้า "น่าจะเป็นครูสอนปรัชญาได้" หมายถึงการให้พื้นที่ละก็ ยิ้มรับเลยครับ ฮิ ฮิ

ส่วนหนึ่งของอาชีพครูที่ผ่านมาก็คือ พบว่าเด็กมีความสุขตอนเติบโต และยิ่งสุขขึ้นเมื่อทราบว่าตนเองเติบโต และยิ่งสุขมากขึ้นอีกเมื่อกำลังทราบว่าตนเองกำลังเติบโต และสุขมากไปอี๊ก เมื่อทราบว่าตนเอง "สามารถ" ที่จะเติบโตต่อๆไป และจะมีความรู้สึกที่ว่านี้อีกเมื่อไรก็ได้ และหากเรา (ครู) มีความสุขได้ตอน "พบว่า" ดังที่กล่าวมาแล้วนี่ อาชีพนี้ก็จะกลายเป็น dream job ไปโดยเฉียบพลันทันใด

กำลังรอให้ลบทิ้งเหมือนกัน เผอเรอเช่นไรจึง double post ก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน (ขาดสติเป็นพักๆ เป็นหย่อมๆ)

เมตตา

P Phoenix

 

  • เสียดายว่า อาตมาไม่ได้ควบคุมและจัดสรรพื้นที่ด้วย (......)

ครูปรัชญาดีๆ หายาก เพราะหลายคนมิได้เกิดมาเพื่อเป็นนักศึกษาปรัชญา เพียงแต่เรียนเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร หรือบางท่านสอบอย่างอื่นไม่ได้ แต่มาสอบปรัชญาได้ จึงตกกระไดพลอยโจนมาเป็นครูสอนปรัชญา...

สมัคร บูราวาส ก็มิได้จบปรัชญา แต่ภายหลังมาสอนปรัชญา และได้รับการแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตย์ฯ ด้านปรัชญา... ท่านได้เขียนหนังสือด้านปรัชญาภาษาไทยไว้นับสิบเล่ม ฟังว่าตอนจะพิมพ์ใหม่เมื่อหลายปีก่อน มีการจัดสัมมนาเรื่องราวของท่าน ก็ถูกนักปรัชญาตัวจริงท่านหนึ่งวิจารณ์ว่า ไม่เห็นว่าท่านเป็นนักปรัชญาตรงไหน (5 5 5...)

และฟังว่า วิลเลี่ยม เจมส์ (คลิกที่นี้) ตอนแรกก็เรียนแพทย์ แต่คำถามมักจะก้าวล่วงไปยังเรื่องจิต จึงมีผู้แนะนำว่าให้ไปเรียนจิตวิทยา พอเรียนจิตวิทยาก็มีคำถามเกินเลยไปจากเรื่องจิต จึงมีผู้แนะนำว่าต้องไปเรียนปรัชญา (5 5 5 ...)

เจริญพร

สวัสดี ท่านมหาฯ

ถ้าจะมีคำกล่าวว่า "ความคิดของแต่ละคนนั้นชั่งต่างกัน เพราะความคิดความเห็นต่างกัน เขาจึงไม่เชือในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำเอง" คำพูดเหล่านี้จะเรียกว่าเป็นปัรชญาได้หรือไม ?

P พระ มงคล มงคล ถีราวุฒิ

 

  • เป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ หรือไม่อาจบอกได้ิว่าเป็นหรือไม่เป็น (5 5 5 ...)

อามนฺตา

ดีมากๆเลยคับ ได้สาระมากๆเลยคับ ว่างๆก็เข้ามา แสดงความคิดเห็นให้บ้างเด้อ

นมัสการ หลวงพี่ชัยวุธ ค่ะ

ไม่รู้ตัวว่าพยายามหาอ่าน เรื่องของบุคคลที่พระอาจารย์และอาจารย์หมอพูดถึงเมื่อไร (เดคาร์ต พลาโต มหาตมะคานธี โซเครติสฯลฯ)น่าจะตั้งแต่ลูกชายเริ่มมาถามถึงแล้วเราไม่รู้จัก (หมายถึงรู้แต่รู้ตื้น ๆ เคยได้ยินชื่อ ไม่รู้แนวคิด ไม่รู้ลงลึก ว่าเขาทำอะไร...)

อ่านแต่ก็..ยอมรับว่า  ยังรู้น้อยค่ะ

จึงเข้ามาอ่านอีก เรื่อย ๆ ค่ะ

นมัสการพระอาจารย์ ที่เขียนแนวนี้ไว้เจ้าค่ะ

 

P ภูสุภา

 

อาตมาก็ไม่ได้อ่านหนังสือปรัชญานานแล้ว เพียงแต่พอสงสัยประเด็นใดก็ไปค้นประเด็นนั้นเท่านั้น บางครั้งค้นไม่เจอก็ปล่อยเลยตามเลย...

อันที่จริง รู้ไปก็แค่นั้นเอง ใหม่ๆ เราอาจฟูใจที่รู้เรื่องนั้นๆ สามารถคุยให้คนนี้คนโน้นฟังได้ แต่พอนานๆ ไปก็เบื่อจะคุย ซึ่งก็เป็นธรรมดา...

เจริญพร

นมัสการ ค่ะ

คือว่า หนูกำลังจะเป็นนิสิตใหม่น่ะค่ะ

แล้วหนูเลิกคณะปรัชญาและศาสนา ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปค่ะ

แต่ปัญหาคือ หนูไม่มีพื้นฐานทางด้านนี้เท่าไหรเลยค่ะ

แล้วอย่างนี้หนูจะเรียนได้หรือเปล่าค่ะ

คนเรียนคณะนี้จำเป็นต้องเคร่งศาสนาหรือเปล่าค่ะ

แล้วถ้าหนูเรียนจบมาหนูจะมีงานทำไหมค่ะ

ขอนมัสการล่วงหน้านะค่ะ

ไม่มีรูป นิสาชล

 

  • ไม่มีพื้นฐาน ? ธรรมดา
  • เคร่งศาสนา ? ไม่จำเป็น แต่ควรจะมีจริยธรรมพื้นฐานตามสมควร
  • งานทำ ? ภาษิตฝรั่งว่า ขนมปังในวันพรุ่งนี้ จะมาในวันพรุ่งนี้

เจริญพร

ขอนมัสการพระอาจารย์นะค่ะ

สำหรับคำตอบที่ทำให้หนูคิดอะไรได้อีกมาก

กราบนมัสการ พระอาจารย์

เคยฟังมาว่า แนวทางในการใช้ชีวิตของคนมี 4 แบบ

1) ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ชีวิตตัวเองเข้าใกล้สิ่งที่ตัวเองต้องการมากที่สุด คือเขารู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และก็ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองเข้าใกล้สิ่งนั้นมากที่สุด

2) ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อหลีกห่างส่ิงที่ตัวเองไม่ต้องการ คือไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แต่รู้่ว่าตัวเองไม่ต้องการอะไร แล้วก็ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวเองห่างจากสิ่งที่ตัวเองต้องการ

3) ทำทุกสิ่งทุกอย่างตามสังคม

4) ทำอะำไรก็ได้ขัดแย้งกับสังคม

เคยฟังมาว่า สังคมในยุคทุนนั้นสิ่งที่เราทำกับสิ่งที่เราต้องการมันห่างไกลกันมาก สมัยก่อนถ้าเราต้องการกินข้าว เราก็ำทำนา ต้องการเนื้อก็ออกไปล่า หรือเลี้ยงเอาไว้กินอะไรประมาณนี้ คือมันสามารถมองเ ห็นภาพได้ว่าสิ่งที่เราทำจะนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการได้อย่างไร แต่สมัยถ้าลองมานั่งคิดดูเล่น การทำงานบริษัทกับการมีข้าวกิน ดูแล้วก็จินตนาการยากเหมือนกันว่ามันต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ สลับซับซ้อนแค่ไหน และมีคนมาเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน การทำอะไรจึงต้องมีเหตุผลใคร่ครวญมาก สมาชิกแ ต่ละคนในสังคมจึงจะต้องมีเหตุผลอย่างมาก เพราะเหตุผลเป็นตัวเชื่อมโยงกิจกรรมต่างในสังคมทุนนี้

ผมเคยลองมานั่งสังเกตตัวเองและคนรอบๆ การใช้ชีวิตในสังคมทุนจะมีกลไกที่เรียกว่าการผิดบาปคือ "ไม่คุ้ม" เวลาที่มีการตัิดสินใจที่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง และเราทำไปโดยไม่คุ้มเราจะรู้สึกผิดมา ทั้งๆ เงินนั้นอาจไม่ได้มากอะไร แต่ก็จะรู้สึกผิด เพราะกิจกรรมที่ไม่คุ้มนั้นจะทำลายระบบทุนทั้งหมดที่มี การกระทำที่จะทำลายระบบก็จะถูกป้องกันด้วยความรู้สึกไ ม่ดี คล้ายกับการที่ถ้าคนไม่เชื่อในพระเจ้าก็ทำลายโคุรงสร้างสังคมทีี่ยึดโยงกันอยู่ภายใต้ความเชื่อของพระเจ้า สังคมในสมัยนั้นก็เลยต้องปลูกฝังว่าการไม่เชื่อพระเจ้าเป็นบาป

ไม่มีอะไรมากครับ แค่อยากแสดงความคิดเห็นครับ หลังจากที่เสพความคิดเห็นของคนอื่นๆ มาพักหนึ่ง ก็อยากมีอะไรคืนกลับไปบ้าง

ผมขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปรัชญาสั้นๆอย่างนี้ครับท่าน

"เรียนปรัชญาใครว่าไดโนเสาร์ก็ช่างเขาไม่เข้าใจในศาสตร์ศิลป์

เปิดใจกว้างอย่างนภาแลธานินทร์ ยอมรับสรรพ์วิชาพาจำเริญ"

มักมีคนมากมายชอบถามว่า เรียนปรัชญาแล้วประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง เรียนจบมาแล้วไปทำงานอะไรได้ ผมเองก็เรียนจบปรัชญามาก็ได้ใช้วิชาปรัชญาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในการทำงาน เช่น การปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงาน การเรียนรู้งานให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ล้วนแต่ได้ใช้วิชาปรัชญามาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา แต่ก็มีจุดอ่อนของวิชาปรัชญาคือ แทบจะไม่มีบริษัทไหนจะรับคนที่จบ ปรัชญาเข้าทำงาน เพราะไม่ตรงกับสายงานในเรื่องของ วิชาชีพ ยกเว้นผู้บริหารองค์กรนั้นจะมีความเข้าใจในสมรรถนะของผู้เรียนจบปรัชญามาจึงจะยอมรับเข้าทำงาน แต่กระนั้นผู้เรียนจบปรัชญามาก็ต้องพัฒนาตนเองเรื่องความรู้ด้านต่างๆให้ทันสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา จึงจะได้รับการยอมรับจากคนอื่นๆ หรือเจ้านายที่เราทำงานอยู่ด้วยนั่นเองครับ พูดอย่างนี้แล้วยิ่งทำให้เห็นว่าปรัชญากว้างมากใช่ไหมครับ........

ไม่มีรูปแมงกีซอน

 

  • อนุโมทนา...

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

ปรัชญากับศาสนา เป็นส่วนเติมเต้มซึ่งกันและกัน

ปรัชญาเป็นทฤษฎี ศาสนาเป็นภาคปฏิบัติ

ถ้ายึดมั่นแต่ศาสนาก็จะกลายเป็นความเชื่อที่งมงาย ถ้ายึดมั่นเพียงปรัชญาก็จะเป็นความสงสัยที่ไร้ทิศทาง

นักปรัชญาส่วนใหญ่จะมีฐานคติอยู่ในใจและเชื่อมั่นในตัวเองสูง ไม่ฟังคนอื่นซักเท่าไร

นักศาสนา จะเชื่อในคำสอนในศาสนาโดยไม่กล้าสงสัย

นักปรัชญาที่เป็นนักวิชาการศาสนา จะเปิดใจกว้างที่จะยอมรับความคิดใหม่ที่แตกต่างจากความคิดของตน ขณะเดียวกันก็จะหมั่นตรวจสอบความคิดของตนให้ชัดเจนอยู่เสมอด้วย

คำสอนของพุทธศาสนาเป็นทั้งปรัชญาและศาสนา ไม่ยึดติดกับความคิดของตนเอง ต้องตรวจสอบเพื่อความถูกต้องอยู่เสมอ ดังคำสอนเรื่องกาลามสูตร

ความรู้ที่เกิดขึ้นเพื่อความสุข มีส่วนประกอบ 2 อย่างคือ ปรโตโฆสะ กับ โยนิโสมนสิการ

เมืองไทยนี้แปลก รับความคิดเรื่องการจัดการศึกษาจากฝรั่ง แต่ไม่กล้าสอนให้คนคิดด้วยศักยภาพของตนเองเหมือนฝรั่ง

ตอนที่ผมเรียนจบปริญญาตรีปรัชญาและศาสนา เมื่อปี 2532 มีความคิดจะไปเรียนต่อที่เมืองนอก ติดต่อไปที่ University of Hawaii ทางมหาวิทยาลัยตอบกลับมาว่ายินดีทากที่คนจบปรัชญาจะมาเรียนต่อ และเสนอให้เป็นผู้ช่วย Professor สอนวิชาปรัชญาเด็กนักเรียนระดับมัธยม ฝรั่งให้ความสนใจในเรื่องของความคิดที่เป็นระบบตั้งแต่เด็ก แต่เมืองไทยไม่ ทำไม?

เรียนปรัชญาจบแล้ว เครียด ไม่รู้จะหางานอะไร ยังไง ที่ไหน เมื่อไร แล้วงานเหมาะกับความเป็นนักปรัชญาไหม

ตอนเรียนไม่มีปัญหา ตั้งใจเรียนดีๆ ทำเกรดอยู่ในระดับ A กับ b+ และ b เท่านนั้น นอกนั้นไม่มี เรียนแล้วรู้สึกสนุกดีได้ความรุ้ เข้าใจ ไม่เครียด มีชีวิตและชีวา แต่มาเครียดตอนจบแล้วนิ จะเอายังไงกับชีวิต รู้สึกมีชีวิต แต่ไม่มีชีวา ถ้าอยู่คนเดียวไม่ว่าจะมีงานหรือไม่มี ตายเมื่อไร ก็พร้อม ไม่เสียดาย แต่อยู่กับพ่อแม่พี่น้อง เราจะอยู่แบบเดียวดาย ไม่ทำการทำงาน จะเกาะกินเขาอย่างเดียว มันก็ไม่ใช่มนุษย์แล้ว ไม่ถูกต้องตามกฏนักปรัชญานะครับ

ผมเรียนจบศิลปะ อยากจะต่อโทรปรัชญาได้ไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท