จากวงเสวนา Love & Learn ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ ๔


ข้อสรุปจากทั้งสองช่วงคือ ความสุขนั้นต้องเริ่มที่ตนเองก่อน ที่ต้องมีท่าทีต่องานที่ทำอย่างมีใจรัก เปิดใจกว้าง เรียนรู้จากความสำเร็จเล็กๆของผู้คน ทำให้ทุกคนรู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า มีความรู้-มีความสุขในงาน(ไม่ใช่จะเอาแต่ผลสำเร็จของงาน ผู้ปฏิบัติจะเป็นทุกข์อย่างไรไม่สำคัญ) การเรียนรู้จึงจะเกิด เป็นการพัฒนาตน พัฒนาคน พัฒนางาน อย่างเป็นเรื่องเดียวกัน

งานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๔ เพิ่งเสร็จสิ้นลงไปหมาดๆ ผู้เขียนได้รับเกียรติให้เข้าไปช่วยในวันที่สองของการจัดงานเพื่อเป็นผู้ดำเนินการเสวนาในห้องย่อย Love & Learn หรือ "สุขใจได้เรียนรู้" ภายใต้ความคิดหลักของงานคือ "เปลี่ยนกระบวนทัศน์ พัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้"

การสรุปภาพของงานและของห้องย่อยนั้นน้องๆทีมงานของสถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคม คงจะได้จัดทำเผยแพร่ในเว็บของสคส. ผู้เขียนจะขอเพียงนำคำถามที่น่าสนใจบางส่วนจากวงเสวนาและความรู้สึกของผู้เขียนมาเล่าสู่กัน

วงเสวนา "สุขใจได้เรียนรู้" เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ มีสองช่วง

  • ช่วงแรก เป็นการเสวนากับทีมงานของโรงเรียนเพลินพัฒนา ประกอบด้วย คุณครูวิมลศรี ศุษิลวรณ์ -ครูใหม่ คุณครูศรัณธร แก้วคุณ - ครูหนึ่ง และคุณครูจันทร์ทิพย์ ปิยะวรธรรม - ครูเหล่น

 เรื่องราวดีๆที่สวยงามประเทืองใจผู้ที่ต้องการเห็นเด็กๆของเราได้รับการศึกษาที่จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้พร้อมที่จะพัฒนาตนเองและร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำได้ดังวาดฝัน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่โรงเรียนเพลินพัฒนา ที่ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครองร่วมใจ ร่วมแรงกันเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีการทำงานด้วยกัน โดยใช้กระบวนการการจัดการความรู้เติมลงไปในการทำงานเช่น การมี ครูของครู การสร้างโรงเรียนให้เป็นเมืองที่มีธรรมาภิบาล มีธรรมนูญ มีองค์กรครอบครัวเพลินพัฒนาที่ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมในการทำสิ่งดีๆเพื่อลูกหลานที่ไม่จำกัดเฉพาะลูกของตน สิ่งเหล่านี้ได้นำความสุขมาให้ทุกคนรายละเอียดอ่านได้จากหนังสือ โรงเรียนจัดการความรู้

คำถามที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมฟัง เช่น จะทำอย่างไรกับครูที่ดื้อ ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ข้อนี้ ครูปาด- ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนฝ่ายวิชาการ ซึ่งนั่งฟังอยู่ข้างล่างช่วยลุกขึ้นตอบว่า เด็กดื้อ ครูดื้อ ไม่มี มีแต่ "ความดื้อ" ที่อยู่ในเด็ก และในครู เมื่อคิดอย่างนี้จะมองเห็นวิธีที่จะจัดการกับความดื้อ ไม่ใช่จัดการคน เป็นสิ่งที่ต้องคิดอย่างมีเมตตา มีความเข้าใจ และเปิดใจรับฟัง

เรื่องโรงเรียนทางเลือกแบบนี้คงโดนใจผู้ฟังที่ต่างก็เป็นพ่อแม่ หรือมีลูกหลาน มีคำถามว่า ค่าเทอมเป็นอย่างไร คำตอบคือ ค่าเทอมสูงกว่าโรงเรียนทั่วไปแต่เป็นค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น ตรวจสอบได้ ครูทุกคนได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับการทำงานอย่างทุ่มเท ใครเคยเห็นบ้างว่ามีโรงเรียนไหนวางหลักสูตร ๑ ปีการศึกษา เป็น ๔ เทอม คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา การเรียนการสอนที่นี่เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาจริงๆ (ผู้เขียนคิดว่าค่าเทอมยังย่อมเยากว่าโรงเรียนนานาชาติตั้งเยอะ เรามักชอบคิดว่าอะไรที่คนไทยทำต้องถูก หากฝรั่งทำต้องแพงแต่รับได้)

 ท่านหนึ่งถามว่าฟังแล้วอยากให้ลูกหลานได้มาเรียน แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่มักต้องทำงานยุ่งแทบไม่มีเวลาที่จะมามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ แล้วลูกจะมีโอกาสเรียนที่โรงเรียนนี้ไหม คำตอบคือ ได้ แต่วิธีที่คุณครูทั้งหลายใช้ก็คือ จะพยายามทุกวิธีที่จะให้ผูปกครองได้มามีส่วนร่วมในกิจกรรมสักครั้งแล้วจะเห็นสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นกับลูกหลานของตน และจะแนะนำว่า การทำงานนั้นก็เพื่ออนาคตของลูก แต่อนาคตของลูกอยู่ที่ปัจจุบัน หากไม่มาช่วยสร้างให้เขาสัมผัสความรักความอบอุ่นตอนนี้ อนาคตอาจจะสายไป

 

  • ช่วงหลังเป็นการเสวนากับการใช้การจัดการความรู้ในระดับการสร้างเครือข่ายซึ่งต้องมีการหากัลยาณมิตรข้ามองค์กร เพื่อช่วยกันทำงานที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ประกอบด้วย ดร.วัลลา ตันตโยทัย ซึ่งเป็นแม่ข่ายของเครือข่ายเบาหวาน อาจารย์เพิ่งย้ายไปดำรงตำแหน่ง คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ไม่นานนี้เอง อีกท่านคือหนุ่มหน้าใส เภสัชกรเอนก ทนงหาญ แห่งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากแม่ข่าย แล้วขยายเครือข่ายต่อไปทั้งในจังหวัดและข้ามจังหวัด ท่านที่สามคือ คุณจำนง หนูนิล หรือ "ครูนง" คนดังแห่งบล็อกG2K จาก โรงเรียนคุณอำนวยเมืองคอน ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

ช่วงนี้คุณครูนงเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังได้ด้วยการพูดว่า แม้จะเป็นแค่คนตัวเล็กๆ แต่งานที่ทำอย่างจริงใจ มุ่งมั่นนั้นเข้าตาผู้ใหญ่อย่างผู้ว่าราชการจังหวัดฯซึ่งทักทายครูนงอย่างเป็นกันเอง และแถมยังนำกระบวนการวิธีการ "โรงเรียนคุณอำนวยเมืองคอน"ที่ครูนงสร้างก๊วนขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ แต่อาศัยใจเชื่อมกับหน่วยงานอื่นๆ นำไปเป็นรูปแบบ โรงเรียนคุณอำนวยเมืองคอน อย่างเป็นทางการ ระดับจังหวัดด้วย เป็นความสุขที่ไม่คาดฝัน และครูนงมีแมวมองเสาะหาผู้ชำนาญแต่ละด้านมาร่วมพลังเป็นครูกระบวนการด้วย

ดร.วัลลาเล่าถึงเครือข่ายเบาหวาน และกล่าวว่า มีเครือข่ายแบบไร้ตัวตน(ตามคำพูดของคุณครูปาด) งานเครือข่ายที่ขยายออกไปได้เพราะความรู้สึกดีๆ อย่างเพื่อนช่วยเพื่อน เครือข่ายเบาหวานไม่ได้ตั้งเป็นองค์กร ไม่ได้มีงบประมาณแต่จะทำงานเมื่อไหร่จะมีผู้อาสาเข้ามาร่วมแรงร่วมใจกันอย่างดีทุกครั้ง เป็นการทำงานที่มีความสุข เมื่อนำหลักการจัดการความรู้เข้ามาใช้ ทำให้ทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องเกิดมิตรภาพต่อกัน และเพิ่งได้ยินที่มาของสำนวน "น้ำเต้าหู้ ครูระเบียบ" จากอาจารย์วัลลาครั้งนี้เอง อาจารย์ชี้ว่าความสุขที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงตนเอง ความมีอิสระทางใจเพราะยืดหยุ่นเป็น

คุณเอนกได้เข้ามาเป็นเครือข่ายและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้นำกระบวนการการจัดการความรู้ไปใช้ ทำให้เกิดการทำงานเป็นทีมอย่างมีความสุข เกิดการเรียนรู้งานของกันและกัน ส่งผลให้มีความเห็นใจ เข้าใจกันในระหว่างผู้ร่วมงานทุกฝ่าย ข้ามฝ่าย ข้ามแผนก จากเดิมไม่ได้มีความสนิทสนมกับอาจารย์วัลลานัก แต่เมื่อร่วมงานกันไป ความรู้สึกที่เป็นเพื่อน มีความเชื่อใจ ไว้ใจก็เกิดเป็นความรักเคารพ ปรึกษาหารือกันได้ทุกเรื่อง

ข้อสรุปจากทั้งสองช่วงคือ ความสุขนั้นต้องเริ่มที่ตนเองก่อน ที่ต้องมีท่าทีต่องานที่ทำอย่างมีใจรัก เปิดใจกว้าง เรียนรู้จากความสำเร็จเล็กๆของผู้คน ทำให้ทุกคนรู้สึกมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่า มีความรู้-มีความสุขในงาน(ไม่ใช่จะเอาแต่ผลสำเร็จของงาน ผู้ปฏิบัติจะเป็นทุกข์อย่างไรไม่สำคัญ) การเรียนรู้จึงจะเกิด เป็นการพัฒนาตน พัฒนาคน พัฒนางาน อย่างเป็นเรื่องเดียวกัน

 

 



ความเห็น (39)
  • สวัสดีครับ
  • ได้อ่านก็เหมือนได้ไปร่วมงานเลยครับ
  • ขอชื่นชมทั้งโรงเรียนเพลินพัฒนา และอีก 3 ท่านที่ได้มาเล่าประสบการณ์
  • ทั้ง ดร.วัลลา และครูนง ได้เคยเสวนากันหลายครั้ง และได้ ลปรร.ผ่านทางบล็อกอยู่เสมอครับ เยี่ยมจริงๆ
  • ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ

หนังสือโรงเรียนจัดการความรู้ ได้ฝากน้องมะปรางเปรี้ยวซื้อ  และกำลังจะมาถึงแล้วค่ะ กำลังอยากอ่านพอดี

เรื่องโรงเรียน ยังไม่ได้ตัดสินใจเลยค่ะ บางที จะขอเข้าไปชมด้วย

ขอบคุณที่เล่ามาจนเห็นภาพเลยค่ะ

ขอบคุณคุณP สิงห์ป่าสัก ที่หมู่นี้มาให้กำลังใจกันบ่อยโดยตามอ่านและให้คำแนะนำดีๆด้วยค่ะ

น่าชื่นชมทุกท่านในวงเสวนา(และผู้ร่วมทีมงานที่ไม่ได้มาปรากฏตัว)จริงๆค่ะ ได้พบและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านเหล่านี้ทำให้มีความสุขไปด้วยและมีความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากมายค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์P ตอนทราบเรื่องโรงเรียนนี้แล้วคิดถึงคุณพี่ ตรงที่คุณพี่คงจะอยากให้หลานได้รับสิ่งดีๆและร่วมสร้างสิ่งดีๆกับโรงเรียนให้หลานและลูกหลานของทุกคนที่มาเรียนด้วยกัน ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้เมืองไทยมีโรงเรียนอย่างนี้มากๆค่ะ

  • สวัสดีคึ่ อาจารย์
  • วันนั้น อยากเข้าไป สวัสดี อาจารย์จังค่ะ แต่ไม่กล้า เกร็งๆกลัวอ่ะค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณพี่นุช.....คุณนายดอกเตอร์

  • ครูอ้อย  ไม่มีโอกาสได้ไปงานแบบนี้หรอกค่ะ
  • แต่ครูอ้อยโชคดีที่มีโอกาสได้อ่านเรื่องราวความรู้ที่คุณพี่เก็บมาเล่าค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ  สบายดีนะคะ

ตามมาเก็บความรู้ค่ะ

ดีใจที่ได้โอกาสเรื่องเล่าดีดีค่ะ

ปีนี้ไม่มีโอกาสไปฟังด้วยตัวเองค่ะ

เสียดายโอกาสจังเลยค่ะที่จะได้รู้จักคุณป้าแดงPในงาน อุตสาห์มาจากที่ไกลๆมาร่วมในงานเดียวกันแต่ไม่กล้ามาทักกัน ฮือ ฮือ ต้องพิจารณาตัวเองว่าคงทำหน้าดุเกินไปหรือเปล่า คุณป้าแดงเลยกลัวถูกกิน

อยู่ในงานรู้สึกว่าตัวเองก็เขินๆเพราะมีบล็อกเกอร์ที่เขาคุ้นเคยกันเป็นกลุ่ม ตัวเองก็ไม่ค่อยรู้จักใคร เนี่ยถ้าคุณป้าแดงไปทักกันนะ คงจะมีความสุข อบอุ่นในไมตรียิ่งนักค่ะ

คุณครูอ้อยP เปลี่ยนรูปใหม่อีกแล้ว เข้าบรรยากาศมากเลยค่ะ

งานแบบนี้มันเป็นอย่างไรล่ะคะจึงไม่สามารถไปร่วมได้ เรื่องเกี่ยวกับการจัดการความรู้ในโรงเรียนก็ตรงกับงานของทุกโรงเรียนนะคะ แต่ไม่เป็นไรหรอกค่ะ ตามเก็บความรู้จากการอ่านก็ได้ระดับหนึ่งและคงมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกัลยาณมิตรทั้งหลายในโอกาสต่อๆไปค่ะ

สบายดีค่ะ คุณครูอ้อยคงสบายดีเช่นกันนะคะ อาจกำลังเหนื่อยหน่อยตอนเตรียมกิจกรรมคริสต์มาสให้เด็กๆได้เรียนรู้และสนุกสนานกัน

คุณอุบลP ขยันดีจังเลยค่ะ ตามมาแวะอ่าน ปีหน้าคงมีกิจกรรมทำนองนี้ให้เป็นโอกาสได้พบกัน แต่ถ้าจะง่ายกว่านั้นคือ หากมีโอกาสผ่านหรือมาอยุธยาทำโปรแกรมแวะเจอกันสักหน่อย แม้นมีเวลาน้อยไปเจอกันในเมืองก็ได้ จะพาไปทานก๋วยเตี๋ยวเจ้าอร่อย

วันนี้ในจังหวัดมีงานฉลองฯใหญ่ คงเหมือนกันทุกจังหวัดนะคะ

สวัสดีค่ะพี่บางทรายP อานิสงส์อย่างหนึ่งของการที่ทุกคนตระหนักในการใช้การจัดการความรู้ในงาน และในชีวิต คือการจดบันทึกเพื่อทบทวนสิ่งที่ทำไปและยังเป็นการแบ่งปันเรื่องราวให้ได้เรียนรู้ สามารถนำไปปรับใช้หรือต่อยอด แตกแขนง สร้างเครือข่ายออกไปได้อีก

ขอบคุณที่ตามมาเก็บความรู้ถึงที่นี่นะคะ

ขอบคุณค่ะ

ปีที่แล้ว 2549 ดิฉันได้ไปงานมหกรรม KM

มีพิธีกรคนหนึ่ง...ใส่ชุดผ้าไทย สวยงามมาก

ไม่แน่ใจว่าใช่คุณนุช..ไหม

สวยงามในชุดผ้าไทย

 

ค่ะคุณอุบลP น่าจะใช่เพราะพิธีกรที่อาวุโสที่สุดในนั้นก็คือดิฉันเองค่ะ หลังจากนั้นรู้สึกว่าสายตาแก่ลงเรื่อยๆเลยไม่สามารถช่วยงานพิธีกรได้ ต่อจากนี้ไปคงเลิกงานที่ตองขึ้นเวที สายตายาว ถอดแว่น ใส่แว่น ไปมา ตัวเองก็เวียนหัว ผู้ร่วมเสวนาก็คงรำคาญด้วยค่ะ

ขอบคุณในคำชม รีบรับเลยค่ะ 

มาเยี่ยม...คุณนายดอกเตอร์

เห็นด้วยครับที่ความสุขเมีจุดเริ่มต้นที่ตนเอง

แล้วแผ่ขยายรัศมีกว้างออกไปเป็นวงกลมไร้ขอบเขต

โดยมีศูนย์กลางออกจากตนเองนะครับ...

  • แวะมาอ่านแล้วค่ะ
  • สดุดใจคำว่าความดื้อ
  • เด็กดื้อแก้ไม่ยาก  แต่ผู้ใหญ่ ดื้อๆสิคะแก้ยาก
  • ที่ยังอลเวงตกลงกันไม่ได้ถึงทุกวันนี้เพราะผู้ใหญ่ดื้อๆ ทั้งนั้น
ขอบคุณค่ะอาจารย์ยูมิP คนที่ไร้สุข คงไม่สามารถสร้างสุขที่แท้จริง ยั่งยืนให้ผู้อื่นได้นะคะ

เห็นด้วยกับอาจารย์Pค่ะ ว่าผู้ใหญ่ดื้อนั้นสร้างความอลเวงให้สังคม เด็กดื้อด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความไม่รู้  ผู้ใหญ่ดื้อด้วยอัตตาที่คับฟ้านึกว่าตัวเองแน่

  • ดีใจที่เจออาจารย์ในงานครับ
  • ผ้าถุงสวย
  • แต่คนใส่งามกว่าผ้าถุงมาก
  • งามเพราะได้ช่วยอวดความงามของผ้าถุง ช่วยโฆษณาผ้าถุง ผ้าทอมือ
อ้าว หนูก็ไปแต่ไม่เจอกันเพราะไปวันศุกร์ เขานัดไปประชุม G2K ตอนเย็น หนีงานไปค่ะ ^ ^ น่าเสียดายที่ไปกันคนละวัน

อยากให้หลายๆ โรงเรียนเป็นแบบที่พี่เล่ามาค่ะ ทุกวันนี้เจอแต่โรงเรียนประเภทที่คิดว่าจะจัดกิจกรรมยังไง ถึงจะดูดเงินผู้ปกครองออกมาได้มากที่สุด สารพัดวิธีการหาเงินจริงๆ หนูน่ะเซ็งมาก คือไม่ใช่ว่าเราจ่ายไม่ได้ แต่หลายครั้งหนูเห็นว่างานที่จัดมันไร้สาระ และไม่ได้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับการพัฒนาและเรียนรู้ของเด็ก

เรื่องการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองกับเด็กมันควรหาความลงตัวที่พอดี ไม่ใช่เกินพอดีแบบทุกวันนี้ ที่บ้านหนูเบื่อเรื่องที่ครูสั่งงานประดิษฐ์ให้หลานทำมาก เพราะแต่ละอย่างไม่สมกับอายุเด็ก ผู้ปกครองก็เดือดร้อนต้องช่วยทำ หลังๆ มันกลายเป็นว่าผู้ปกครองประชันฝีมือกันเองมากกว่า หุ หุ แล้วพี่คิดดูว่าหนูทำบริษัทโฆษณาจะไปแพ้ใครเขาได้ งานหลานก็เลยเว่อร์อลังการดาวล้านดวง ได้รางวัลมันทุกรอบ จะไม่ได้ได้ยังไง เพราะอาเขาเล่นสั่งให้ซัพพลายเออร์ที่ผลิตงานระดับประเทศมาทำงานให้เด็กป.2 ส่งครู ตัวเองไม่มีเวลาก็เลยต้องใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อช่วย ละอายใจเหมือนกันแต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง แรกๆ หลานก็ดีใจที่ตัวเองได้รางวัล แต่หลังๆ เขาก็บ่นว่าไม่ได้ทำมั่งเลย เราก็ปวดหัวไม่รู้จะทำยังไง ทำเองก็ไม่ได้ ทำให้ก็ไม่ดี

หนูพูดเล่นๆ กับที่บ้านว่านี่ดีนะที่โรงเรียนยังไม่ได้ให้เด็กเล็กจัดนิทรรศการ ไม่งั้นจะขนเอาอุปกรณ์พร้อมทีมงานติดตั้งไปทำบู๊ธแบบที่พี่เห็นในงานมหกรรม KM พร้อมระบบ Multimedia + light & sound ไปทำให้หลานซะให้รู้แล้วรู้รอด ครูจะได้ถูกใจ เฮ้อ เซ็งค่ะ : (
  • กลัวคนไม่รู้ว่านายออตชมอะไร  ขออนุญาตเอารูปนายออตใส่เสื้อดงหลวงกับคุณนายดอกเตอร์คนสวยกับผ้าถุงงามๆมาให้ชมกัน  อิอิ
 

สวัสดีค่ะคุณออตP ดีใจที่ได้เจอเช่นกัน

การใช้ผ้าไทยนั้นทำให้พี่ได้มีโอกาสแสดงความชื่นชมและส่งเสริมคนทำผ้า หากไม่มีคนใช้ผ้าไทย อย่างเข้าใจคุณค่าแห่งคนและภูมิปัญญา ต่อไปคนทำผ้าคงลดลง หรือเป็นแค่ผลิตกันเยอะๆเพื่อหาเงินอย่างเดียว

ทุกครั้งที่นุ่งห่มไทย ภูมิใจมากค่ะ รู้สึกว่าได้ช่วยร่วมสร้างรูปร่างของชาติให้ปรากฏว่า นี่คือคนไทย รูปร่างหน้าตาอย่างนี้ ใช้ผ้าอาภรณ์อย่างนี้

P น้องซูซานเลยได้ช่วยให้โรงเรียนสมใจ ที่ได้ดูดเงินผู้ปกครอง หรือได้ชิ้นงานไปอวดอ้างว่าเป็นผลงานเด็กนักเรียนของเขา ก็เป็นโรงเรียนอีกระดับที่มีความเหลือเฟือ ผู้ปกครองไม่เดือดร้อนเงิน แต่เซ็ง ทำอย่างไรผู้ปกครองจะช่วยกันไม่ให้สิ่งอย่างนี้เกิดขึ้น หรือเอาเข้าจริงๆ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็นึกสนุกที่ได้มีการบ้านสิ่งประดิษฐ์ เหมือนเป็นนักเรียนคนหนึ่ง

วิธีคิดและการปฏิบัติของโรงเรียนเพลินพัฒนานั้น ยอดเยี่ยม น่านำไปเป็นตัวอย่าง ซื้อหนังสือมอบให้โรงเรียนหลานสักเล่มซีคะ เผื่อผู้บริหารโรงเรียนอาจเกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆนะคะ

สวัสดีค่ะคุณหมอP ขอบคุณที่นำรูปมาฝากถึงที่ น้องซูซานเขาบอกว่าดิฉันดู "ไฮโซ" สมชื่อคุณนายดอกเตอร์ค่ะ ซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะมี look เช่นนั้น มันเป็นเองค่ะ

เลยขอประกาศว่าผ้าพาดคอนั้นได้เป็นของขวัญในวันนั้นจากดร.วัลลา ตันตโยทัย เลยแกะห่อใช้เลยค่ะ

มาแกะรอยติดตามความรู้ค่ะ....แหววไม่ได้ลงทะเบียนเข้าห้องย่อย เพียงไปชมนิทรรศการวันที่ 30 เท่านั้น

  • ขอบคุณกับการสรุปความรู้นะคะ...เลยพลอยได้ด้วยโดยไม่ต้องลงทะเบียน...อิ..อิ..
  • ปลื้มใจและชื่นชอบจริงๆเลยเวลาเห็นพี่นุชใส่ผ้าไทยเนี่ย....ชอบ..ชอบ..ชอบ..
  • สุขใจที่ได้เห็นและได้เรียนรู้ในบันทึกนี้นะคะ
  • แปลกจังค่ะ..เมื่อเช้าแหววเข้ามา post แล้วทำมัยไม่ขึ้นก็ไม่รู้ แต่รอดูก่อน กลัวว่าจะซ้อนกันถ้าทำใหม่
  • จาบอกว่า แหววไม่มีโอกาสลงทะเบียนเข้าไปฟังที่ห้องย่อย เลยพลอยได้รับข้อมูลความรู้ไปด้วยเลย
  • ขอบคุณนะคะ...รู้สึกสุขใจที่ได้เรียนรู้จากบันทึกนี้ค่ะ..และก้อ..ปลื้มใจจังเวลาเห็นพี่นุชใส่ผ้าไทยสวยๆเนี่ย...ชอบมากๆ...
  • แวะเข้ามาหาความรู้จากคุณนายด้วยคนค่ะ
  • เวทีนี้ดีจังเลยค่ะ พัฒนาตน พัฒนาคนและพัฒนางาน
  • ทุกอย่างถ้าเราทำด้วยความจริงใจและตั้งใจ
  • พร้อมทั้งมีใจอยากจะทำด้วยแล้วคิดว่าจะทำให้เกิดความสนุกแล้วจะมีความสุขกับการทำงานอย่างที่คุณนายว่านั่นแหละค่ะ

ขอบคุณน้องแจ๋วแหววPที่มาตามเก็บความรู้ เสียดายไม่ได้เจอกันในงานนะคะ

น้องซูซานบอกว่าพี่แต่งไทยแบบนี้ดูไฮโซเจงๆสมนามแฝง ^_^ มันช่วยไม่ได้นะคะ

P สวัสดีค่ะคุณ pepra ดีค่ะมาร่วมกันปลื้ม ชื่นชมคนทำความดี และช่วยกันทำให้สิ่งดีๆเหล่านี้ได้ขยายผล สร้างสุขให้สังคมขยายวงออกไปเรื่อยๆนะคะ
  • ได้มีโอกาสเข้าไปร่วม "เรียนรู้อย่างมีความสุขใจ" ในห้องนี้ด้วยครับ แต่เสียดายไม่สามารถอยู่ได้อยู่จนจบ และไม่ได้ทักทาย
  • ขอบคุณที่นำสรุปมาเล่าสู่กันฟังครับ

อ่านที่น้องซูซานเขียนแล้ว เศร้าใจโรงเรียนค่ะ

จริงๆครูต้องให้นักเรียนทำเอง วิธีก็ ให้คิด ให้ทำเดี๋ยวนั้นเลย พอให้เป็นการบ้าน ผู้ปกครองอดไม่ได้ก็ช่วยทำ

พี่เองก็เคยเป็นแอบช่วยลูกทำงานศิลปะ แต่ครูเขารู้ทัน ให้กลับมาทำใหม่ เขาบอกว่า ดูฝีมือเด็กออก ลูกอยู่เซ็นต์คาเบรียลค่ะ

มีหลานสาวอยู่คนหนึ่ง เป็นนักล่ารางวัล ประกวดการเขียนภาพ แต่เขาให้ทำที่งานเลย ไม่ให้คิดมาก่อน เขาได้รางวัลมาแยะเลย พอเด็กได้ทำเอง ได้รางวัลเอง มันเป็นเหมือนความภาคภูมิใจของเขานะคะ

สำคัญที่โรงเรียน ต้องให้เด็กแสดงออกเอง  ผู้ปกครองอย่างพี่ จะได้ไม่มีโอกาสช่วย ได้แค่ลุ้นค่ะ

สวัสดีครับ ไม่ได้ทักทายคุณนายด๊อกเตอร์เลยครับตั้งแต่งานมหกรรม แต่ยังจำคำแนะนำของอาจารย์ที่บอกเกี่ยวกับเรื่องโรงเรียนของลูกๆผม ทีคงไม่มีโอกาสส่งมาเรียน"แบบเพลินพัฒนา" ว่าให้หาจุดได้เปรียบของความเป็นชนบท ที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้ความเอื้ออาทรจากชุมชนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ถ้าส่งเสริมการไฝ่เรียนรู้น่าจะพัฒนาได้เหมือนกัน

   ผมได้เรียนรู้จากเพลินพัฒนาว่า อย่าปล่อยให้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเดียว เราก็สามารถมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมของโรงเรียนได้ด้วยในฐานะผู้ปกครอง "แล้วผมจะพยายามไปเยี่ยมครูที่โรงเรียนลูกผมครับ "

ขอบคุณผู้ดำเนินรายการในวันนั้นครับ ที่ให้ผมใช้ความรู้สึกในการเล่าเรื่อง มันมีความสุขมากครับที่ได้เล่า

สวัสดีค่ะอาจารย์PPanda อยู่บนเวทีมองเห็นอาจารย์จำได้ทันทีเลยค่ะ เสียดายไม่มีโอกาสได้กราบสวัสดีอาจารย์

พบกันในงานประชุมใหญ่ๆก็อย่างนี้แหละนะคะ มีอะไรให้ต้องไปดู ไปฟังเฉลี่ยๆไป

ขอบคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่ศศินันท์P ขอบคุณที่ร่วมแชร์ประสบการณ์ค่ะ คนไม่มีลูก ไม่ได้เลี้ยงเด็กใกล้ชิดพูดได้ก็แค่ที่เห็นและคิดนะคะ แต่เท่าที่พบเห็นอย่างที่บ้านแม่บ้านเขามีลูกหลาน เขาจะบอกว่าเสียเวลาที่จะมาค่อยๆสอน ค่อยๆบอก บอกว่ารำคาญ เลยรีบๆทำเพื่อให้เสร็จแค่ให้เด็กมีงานไปส่ง นี่ระดับโรงเรียนวัดค่ะ

โรงเรียนที่มีชื่อเสียงว่ามีแต่คนร่ำรวยเท่านั้นจึงจะมีปัญญาส่งลูกไปเรียน มักมีปัญหาคล้ายๆกัน คืองานการบ้านที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ และการใช้ชีวิตของเด็กที่โรงเรียนมักเป็นโอกาสได้แสดงออกถึงความร่ำรวยของครอบครัวเด็กหากคุณครูไม่ระมัดระวังและเข้มงวดพอนะคะ

สวัสดีค่ะคุณอเนกP ดีใจที่ทำให้คุณอเนกหายเครียดและมีความสุขที่ได้เล่า เรื่องเล่าของคุณอเนกก็ได้สร้างความสุขให้กับผู้มาร่วมเข้าฟังเช่นกัน

โรงเรียนแบบเพลินพัฒนาจะมีขึ้นในจุดต่างๆของสังคมไทยก็ด้วยแรงตั้งใจอย่างคุณอเนกนี่แหละค่ะที่ไม่เอาความรับผิดชอบในการเรียนรู้และการพัฒนาของลูกหลานให้ตกเป็นภาระหน้าที่ของโรงเรียนแต่ฝ่ายเดียว

ยินดีมากที่ได้มีโอกาสสนทนากัน ได้รู้จักกันมากขึ้น หวังว่าวันหนึ่งคงได้ไปเยี่ยมกันถึงนครพนมค่ะ

เข้ามาหาความรู้ค่ะ  สนใจโรงเรียนมี๔เทอม ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ขยายเพิ่มได้มั้ยคะ สอนอย่างไร
สวัสดีค่ะP คุณ rujires - thanooruk ขอบคุณที่แวะมาค่ะ ส่วนคำอธิบาย ๔ เทอม ตามแนวอิทธิบาท ๔ นั้นอยากให้คุณตามไปถามจากต้นตอ คือ คุณครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ จะตอบได้สมบูรณ์กว่านะคะ

อยากรู้เกี่ยวกับบุคคลที่น่าสนใจในแนวคิดหลักการจัดการสมัยต่างๆ

ตอบทางเมล์ให้หน่วยนะค่ะขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท