ข้อสรุปการวิจัยทางศิลปกรรม


art thesis ,การวิจัยทางศิลปะ

การสร้างสรรค์ทางศิลปะบริสุทธิ์(The Fine Arts Creation) 

ผลงานศิลปะอาจจะเป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้า มีการศึกษาค้นคว้าก่อนที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะ แต่ผลงานศิลปะอาจจะไม่เกิดจากการศึกษาค้นคว้า เป็นแต่เพียงงานประดิษฐ์หรืองานทักษะเท่านั้นก็ได้ ในขณะที่งานวิจัยคืองานที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าเพื่อแสวงหาความรู้ นำความรู้นั้นมาวิเคราะห์แยกแยะและสังคราะห์ขึ้นเป็นองค์ความรู้ใหม่ซึ่งองค์ความรู้ใหม่ไปสู่สาระประโยชน์ทางด้านต่างๆ ก็ได้

ผลงานศิลปะไม่ใช่งานวิจัยโดยตรง แต่อาจจะเป็นผลจากการศึกษาค้นคว้าหรือเป็นผลจากองค์ความรู้ใหม่ก็ได้ ซึ่งการสร้างสรรค์งานศิลปะตามแนวทางของกระบวนการวิจัย ก็๋ได้มีการถือปฏิบัติกันพอสมควร ในลักษณะของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development, R&D) ซึ่งใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ความคิดและข้อมูลเป็นเบื้องต้น หลังจากนั้นจึงพัฒนาความรู้ ความคิดและข้อมูลที่ได้ สร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ เป็นกระบวนการที่ใช้ฐานความรู้ผลักดันการสร้างสรรค์ศิลปะ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นผลงานศิลปะเกิดจากองค์ความรู้ใหม่นั่นเอง

 

ความพยายามที่จะใช้ผลงานศิลปะในลักษณะหนึ่งแทนงานวิจัย จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นได้ เพราะผลงานศิลปะ (Work of Art) ต่างไปจากงานวิจัย(Research) เว้นเสียแต่ว่าผู้เสนอผลงานศิลปะจะใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ดังกล่าวข้างต้น หรือต้องอธิบายกระบวนการคิดและการสร้างสรรค์เป็นลายลักษณ์อักษร ประกอบผลงานศิลปะให้เห็นชัดว่า ได้มีการศึกษาค้นคว้ามีองค์ความรู้ใหม่ มีกระบวนการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ ที่เกี่ยวข้องกับผลงานศิลปะนั้น การนำเสนอของเอกสารก็ควรจัดระบบความรู้ความคิดให้มีระบบแบบแผนที่ดีอาจเป็นไปตามแนวทางของงานวิจัยที่นิยมกัน

 

งานศิลปะบริสุทธิ์(Fine Art ) มีความแตกต่างกับงานออกแบบ(Design) ซึ่งจัดว่าเป็นประยุกต์ศิลป์หรือเป็นการสร้างสรรค์งานตามหลักการที่เป็นจริง เป็นขั้นตอน สามารถพิสูจน์และแสดงวิธีคิด สามารถสื่อแสดงวิธีการจัดการให้ประจักษ์และสอบทาน มีการอ้างอิงได้จริง

 

ดังนั้นการที่นักศึกษาแสดงหลักฐานการคิดและการทำงาน เพียงแสดงแค่ร่องรอยการขีดเขียนเป็นเพียงลายเส้นสาย จึงเป็นเพียงแค่การแสดงรูปร่างคร่าวๆของความคิดและจินตนาการในเรื่องที่ยังเป็นไปไม่ได้ เป็นเพียงรูปแสดงแทนความคิดที่ยังไม่ได้ขัดเกลาหรือใช้เหตุผลที่เป็นจริงเข้าไปประกอบร่วมนั่นเอง

 

การใช้ระเบียบวิธีวิจัยเข้ามาใช้ร่วมเป็นแนวทางการสร้างสรรค์ ก็จะทำให้การบันทึกแห่งความคิดของเรานั้น สามารถสื่อแสดงออกไปสู่แนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่นำไปสู่การได้รับการยอมรับอย่างเป็นวิชาการ ได้อย่างผสมกับกลมกลืนไปกับระเบียบวิธีของการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรม หรือได้ความงามที่สมบูรณ์ไปในตัว ซึ่งอาจจะเหนือกว่าศาสตร์อื่นๆ ดังคำกล่าวที่ว่า สุดท้ายก็กลับมาตายที่ความงาม หรือย้อนไปกลับไปที่ความคิดที่เหนือกว่าเหตุผลนั่นเอง  การทำงานศิลปะหรือการออกแบบเยี่ยงงานวิจัยก็เป็นเพียงแค่หาศาสตร์และสาระที่อ้างอิงได้ มีหลักการคิด การบันทึกที่เป็นจริงได้ไว้เป็นหลักฐาน ให้เป็นที่ยอมรับ ตามมาตรฐานที่สังคมกำหนด ก็เท่ากับว่าเราได้ทำงานวิจัยและได้ในสิ่งที่เราต้องการทราบและพิสูจน์ผลแห่งการคิดที่เป็นจริงได้แล้ว

 

ดังนั้นการทำวิจัยทางศิลปกรรมจึงต้องมีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง มีการวิเคราะห์ สามารแสดงวิธีการคิดที่เรารู้และบันทึกรายละเอียดประกอบผลการคิดและการกระทำออกมา ให้เป็นที่ประจักษ์และหลักฐานไว้นั่นเอง

 

ผศ.ประชิด ทิณบุตร 4/12/2007

หมายเลขบันทึก: 151266เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2007 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท