ข้อมูลและประเด็นเบื้องต้นสำหรับการปรึกษาหารือเรื่อง ทิศทางและอนาคตของ GotoKnow.org


ในการประชุมปรึกษาหารือเรื่อง ทิศทางและอนาคตของ GotoKnow.org ครั้งแรกในวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคมนี้ จำเป็นที่จะต้องระดมความคิดเพื่อหาวิธีจัดการ ทำให้ GotoKnow เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืนให้ได้ เรื่องนี้เป็นประโยชน์ร่วมกันของเหล่าสมาชิกทุกคน 

ความยั่งยืนของ GotoKnow เป็นผลที่สมาชิกต้องการ แต่ผลลัพธ์อันนี้จะไม่เกิดขึ้นหากเราไม่ทำอะไรบางอย่าง ไม่มีเหตุ ไม่มีการกระทำ ก็ไม่เกิดผลที่ต้องการครับ ในการประชุมครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นว่าสมาชิกจะร่วมกันทำอะไรตอบแทน GotoKnow ได้บ้าง หลังจากที่ GotoKnow ได้ให้อะไรๆ แก่เรามากว่าสองปีแล้ว

ในการนี้ ผู้เข้าร่วมประชุม ควรจะส่งประเด็นถึงทีมงาน UsableLabs ก่อนครับ เพื่อที่จะได้จัดหมวดหมู่ของข้อเสนอ และนัดหมายเพื่อมาแสดงความคิดเห็นต่อไป

GotoKnow มีสมาชิกเป็นจำนวนมาก กระจัดกระจายกันอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คงไม่เหมาะที่สมาชิกที่สนใจทุกท่านจะมาประชุมและพูดพร้อมกัน เพราะว่าจะไม่มีัใครฟัง และจะสรุปอะไรไม่ได้ ดังนั้นสำหรับการประชุมแบบนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมจะต้องได้รับคำเชิญ และจะต้องใช้รหัสผ่านเพื่อเข้าร่วมในห้องสนทนาครับ จะมีบันทึกการประชุมให้อ่านในภายหลัง ตั๋วเข้าห้องคือข้อเสนอ

ผมคิดว่ามีความเห็นดีๆ มากมายจากบันทึกขอความเห็นสำคัญเรื่องเครื่องแม่ข่าย GotoKnow.org และเว็บไซต์ข้างเคียงก่อนหน้านั้น ซึ่งผมขอแจ้งถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปดังนี้ครับ

  1. ประเด็น Funding model ของ GotoKnow Learners Researchers และ Volunteers ไม่ยั่งยืน! ยังเป็นปัญหาอยู่

    คุณค่าของ GotoKnow อยู่ที่บันทึกและความคิดเห็นของสมาชิก อยู่ที่จิตใจของสมาชิกที่เอ้อเฟื้อต่อผู้อื่น แต่การที่สมาชิกสามารถจะใช้ GotoKnow ทำงานพัฒนาสังคมแบบนี้ต่อไปได้ จำเป็นต้องมีทีมงาน UsableLabs คอยดูแลและพัฒนาระบบ

    ผมขอออกตัวก่อนนะครับว่าไม่ได้อยู่ใน UsableLabs ไม่มีส่วนได้เสียใดๆ ในเรื่องนี้ ตลอดจนไม่ได้เป็นหน้าม้า (และไม่คิดว่า UsableLabs อยากให้พูดเรื่องนี้ด้วยซ้ำไปครับ อันนี้พวกเราคงประจักษ์ในความเสียสละของ UsableLabs ตลอดมาอยู่แล้ว)

    แต่ข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริง ผมคิดว่าเป็นความคาดหวังที่มากเกินไปที่จะบอกให้ทีม UsableLabs ทำเพื่อชาติ เพื่อสังคมต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ตัวเองกลับอยู่ไม่ได้

    UsableLabs มีสี่ท่านครับ: อาจารย์ธวัชชัย อาจารย์จันทวรรณ คุณสุนทรี(มะปราง) และคุณสุรกานต์(ต้นกล้า) ซึ่งสองท่านหลังมีแหล่งรายได้แหล่งเดียวคือที่ UsableLabs นี้เอง ส่วนอาจารย์สองท่าน แม้มีแหล่งรายได้อื่น แต่ก็ทำ GotoKnow อย่างเต็มที่ เต็มเวลา

  2. ประเด็น การพัฒนาระบบงานเป็นคอขวด!! สถานการณ์ดีขึ้นบ้าง

    GotoKnow พัฒนาด้วย Ruby on Rails ซึ่งค่อนข้างใหม่ และหานักพัฒนามาช่วยได้ยาก ภาระจึงตกหนักกับอาจารย์ธวัชชัย แม้จะได้คุณต้นกล้ามาช่วย แต่ก็คงใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

    โปรแกรมที่ควบคุมการทำงานของระบบ GotoKnow คือโปรแกรม KnowledgeVolution (kv) เป็นโปรแกรม opensource ที่อาจารย์ธวัชชัยพัฒนาขึ้นมา โปรแกรม kv นี้ ได้มีการนำไปใช้ในหลายหน่วยงาน แต่ไม่มีหน่วยงานใดที่มีปริมาณงานมากเหมือน GotoKnow การแก้ปัญหาของ GotoKnow จะต้องระวังไม่ให้เกิด dependency ใดๆ ที่จะกระทบ kv site อื่นๆ ด้วย

    เพื่อแยก dependency (คุณลักษณะพิเศษเฉพาะ GotoKnow) ออกจาก kv จึงเกิด GotoKnow Monitor ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะของ GotoKnow แต่ไม่เพิ่มภาระแก่ kv sites อื่นๆ

    ยิ่งกว่านั้น GotoKnow Monitor ยังเป็นส่วนขยายที่เป็นสะพานเชื่อมไปยังการพัฒนาโปรแกรมที่ไม่ต้องใช้ Ruby on Rails อีกด้วย และสามารถเชื่อมโยงไปยังระบบข้อมูลภายนอกได้อีกมากมาย (หากจำเป็น)

  3. ประเด็น เครื่องแม่ข่ายมีกำลังไม่พอ!!! สถานการณ์ดีขึ้นมากในขณะนี้ แต่ยังอาจเป็นปัญหาในระยะยาว

    จากรายงาน GotoKnow ขึ้นอันดับหนึ่งเว็บเพื่อการศึกษา แต่เครื่องแม่ข่ายรับไม่ไหว เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2550 ได้มีการปรับปรุงระบบขนานใหญ่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. 2550 จนสำเร็จในวันที่ 26 ส.ค. 2550 เรียกว่าไม่ได้นอนไปหลายคืน

    ในปัจจุบันนี้ เครื่องแม่ข่ายทั้งเจ็ดมีประสิทธิภาพกว่าเดิมยี่สิบเท่า (ผมประเมินเองจากการวัด) ส่วนทางด้านผู้ใช้อาจจะไม่เห็นความเร็วเพิ่มขึ้น 20 เท่า เพราะความคับคั่งในวงจรอินเทอร์เน็ตที่ท่านใช้อยู่เอง

    มีการแก้ไขและปรับแต่งโปรแกรมในหลายจุด เพื่อดึงเอาคอขวดออกจาก kv และฐานข้อมูล ตามบันทึก รายงานระบบวันที่ 22 มิ.ย. - 21 ก.ค. 2550

    ในขณะนี้ ผมคิดว่าระบบมี computing power พอแต่มีหน่วยความจำรวมน้อยไปสักหน่อย หากขยายได้ ก็จะปลอดภัยกว่านี้สำหรับการเติบโตในอนาคตครับ

    ยิ่งกว่านั้น ระบบ GotoKnow ยังมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอีกนิดหน่อย แม้เป็นค่าใช้จ่ายในราคาทุน แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายประจำ ส่วนค่าแบนวิธและค่าเช่าพื้นที่ตั้งเครื่องแม่ข่าย ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์

สิ่งที่น่าคิด อาจารย์ธวัชชัยได้เขียนไว้ว่าอย่างนี้ครับ

จากบันทึกของท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ "ไม่เป็นเจ้าของ GotoKnow" ที่ท่านอาจารย์ได้มอบ GotoKnow ให้แก่ "สังคมไทย" นั้น เป็นการตัดสินใจของ สคส. ที่กล้าหาญของการ "ให้" เพื่อ "ก้าว" ต่อไป ผมขอกราบขอบคุณท่านอาจารย์แทนผู้ใช้ทุกท่านมา ณ ที่นี้ครับ

หลังจากท่านอาจารย์กรุณาให้แล้ว พวกเราในฐานะผู้ใช้งานก็คงต้องมาคิดกันต่อไปว่าจะทำอย่างไรเราถึงจะได้สร้าง GotoKnow ให้เป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เข้มแข็งและมั่นคงได้ครับ

ที่น่ายินดีคือ เรายังมีเวลาคิดกันอีกอยู่พอประมาณทีเดียวครับ เพราะทุนที่ใช้ในการบริหารจัดการ GotoKnow ที่ สคส. กรุณาให้นั้นยังมีถึงสิ้นปีนี้ หมายความว่าเราจะมีเวลาคิดได้อย่างรอบคอบและรัดกุมครับ

ในรายละเอียดนั้นเราคงต้องช่วยกันคิดกันต่อไป แต่ในมุมมองหลักแล้ว สิ่งที่ สคส. ให้เรามาคือ

"GotoKnow เป็นเว็บไซต์ของคนไทยทุกคน ที่บริหารจัดการโดยผู้ใช้"

เราจะไม่มี "เจ้าของ" ไม่มี "ผู้บริหารระบบ" ไม่มี "ผู้พัฒนาระบบ" และอื่นๆ อีกมากมาย เราจะมีเพียง "ผู้ใช้" (users) ที่จะช่วยกันสร้างพื้นที่นี้ให้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคมไทย

อาจารย์หมอวิจารณ์จะเป็นเพียงผู้ใช้ ผมจะเป็นเพียงผู้ใช้ เหมือนกับทุกๆ ท่าน เราทุกคนคือผู้ใช้ที่จะช่วยสร้างสรรค์ให้พื้นที่กลางแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ มีคุณค่าคู่กับสังคมไทยต่อไปครับ

GotoKnow จะหล่อเลี้ยงให้เติบโตด้วย "ใจ" (goodwill) เราไม่เชื่อใน "ทุน" แต่เราเชื่อใน "ใจ" ครับ

GotoKnow คือพื้นที่กลางของสังคมไทยที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะเราไม่เชื่อในความคิดของ "การครอบครอง" แต่เราเชื่อในความคิดของ "การให้" ครับ

และเมื่อคิดถึงว่า GotoKnow เกิดมาเพื่อเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการจัดการความรู้เพื่อนำสังคมไทยไปสู่ LO ด้วย CoP ผมขอนำทุกท่านกลับไปสู่บันทึกนี้ด้วยครับ

อยากเชิญชวนสมาชิกทุกท่านให้ช่วยกันเขียนข้อเสนอ และ/หรือ ออกความคิดเห็น อย่าเริ่มคิดด้วยข้อจำกัดว่าเป็นเรื่องงบประมาณ-เรื่องเทคนิคซึ่งท่านไม่ถนัดครับ แม้ไม่แตะเรื่องนี้ ก็ยังทำเรื่องอื่นได้ ถ้าท่านจะทำ ก็คงมีสักเรื่องสองเรื่องที่ท่านจะช่วยได้ -- ถึงแม้ว่าในที่สุดท่านจะลงมือทำไม่ได้จริงๆ ด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ แต่ความคิดเห็นนั้น เสนอได้แน่นอนครับ ไม่มีต้นทุนด้วย นี่เป็นโอกาสตอบแทนสิ่งที่ GotoKnow ให้เราตลอดมาแล้วครับ

คำสำคัญ (Tags): #gotoknow.org
หมายเลขบันทึก: 132087เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2007 06:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 03:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)
  • อยากเห็น G2K อยู่ไปนานๆคะ...
  • และอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน..แบ่งเบาภาระ...ทางด้านปัจจัยพื้นฐานต่างๆให้มากกว่านี้คะ
  • รวมทั้งให้มีการสานต่อ องค์ความรู้ใน G2K สู่สังคมและชุมชนอื่นๆต่อไปด้วยนะคะ

 

สำหรับประเด็นแรก อาจารย์พิชัยเสนอไว้ว่า

  • ก่อตั้งเป็นมูลนิธิ
  • ระดมทุนจากผู้มีจิตศรัทธาเป็นกองทุน
  • จัดวิธีหาเงินเฉพาะกิจ เช่นจัดงานหาเงินในรูปแบบต่างๆที่สมาชิก gotoknow มีส่วนร่วม
  • จัดให้มีระบบโฆษณาใน gotoknow เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะจะมีผลกระทบอื่นๆตามมาภายหลังมาก

และคุณศศินันท์เสนอไว้ว่า

  • จึงเห็นด้วยกับระบบที่อาจต้องมีการเก็บเงินค่า ธรรมเนียม โดยคิดจากพื้นที่ๆใช้ค่ะ ลองคิดมาว่าจะเก็บเท่าไรเป็นขั้นบันไดดีไหมคะ โดยส่วนตัว ก็ยินดีเสียค่าธรรมเนียมค่ะ

ส่วนคุณบรรพตมาเชียร์

  • ในฐานะสมาชิกคนนึง ถึงจะช่วยอะไรได้ไม่มาก
    แต่ก็จะพยายามให้ถึงที่สุดครับ
    พูดถึงเรื่องเงินทุน
    ไม่ลองหาโฆษณามาลงบ้างล่ะครับ

ข้อเสนอเป็นการสร้างทางเลือกครับ ในชั้นนี้เอาข้อเสนอออกมาก่อน ยังไม่ต้องอภิปราย ยังไม่ต้องเลือก

ในเรื่องของการเลือก ผมขอเสนอว่าเก็บการลงคะแนนหาเสียงข้างมากไว้เป็นการหาข้อยุติวิธีสุดท้าย จะดีกว่าไหมครับ เราชอบคิดว่าเสียงข้างมากคือประชาธิปไตย ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเพียงรูปแบบของประชาธิปไตยเท่านั้น ส่วนเนื้อหาควรจะเป็นการตอบสนองต่อวัตถุประสงค์+ประโยชน์ต่อส่วนรวม+การเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมและการมีส่วนร่วม

วิธีการแบบนี้ ใช้กันมากในกระบวนการพัฒนา opensource เรียกว่า community process (การระดมสมองบนเอกสาร) ซึ่งมีคนเก่งที่มีความรับผิดชอบมารวมกัน

ทุกข้อเสนอนั้นดีและทำได้แน่นอนอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะเสนอมาทำไม แต่ในการเลือกข้อเสนอนั้น จะดูที่ประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดในอนาคตเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ (community) ครับ ไม่เลือกเอามัน ไม่เลือกเพราะพวกมากลากไปครับ

การเลือกข้อเสนอ ในกระบวนการแบบนี้ หลายครั้งที่ตัดสินโดย BDFL (Benevolent Dictator for Life) ซึ่งผมก็คิดว่าทุกคนมองไปที่ที่เดียวกันโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือคู่แข่งครับ ;-)

สวัสดีค่ะคุณ conductor

มาให้ความเห็นสนับสนุนเรื่องมูลนิธิ /การบริจาค ที่อ.พิชัยเสนอไว้หรือแนวของคุณพี่ศศินันท์ที่เก็บค่าใช้ก็ได้ค่ะ แต่การเก็บค่าใช้ การทำมูลนิธิ การบริจาก ก็ต้องมีคนทำ paper work ทำบัญชีเยอะเหมือนกันนะคะ ไ่ม่อยากเพิ่มภาระให้ UsableLabs น่ะค่ะ

ตอนนี้ยังนึกรูปแบบการบริหารงานดีๆ ที่ให้ผู้ใช้เ้ข้ามามีส่วนร่วมไม่ออกค่ะ ^ ^

  • มาสนับสนุนการให้สมาชิกมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายคะ...
  • เพราะจะทำให้ทราบปริมาณสมาชิกที่ใช้ G2 K จริงๆเป็นอย่างไร...อย่างกรณี อีเมล์ไงคะ..ถ้าสมัครทิ้งๆขว้างๆ....ไม่ได้ใช้งานเลย เป็นเวลานานๆ เขาจะลบทิ้งโดยอัตโนมัติ
  • น่าเสียดาย คะ ที่บางบล็อกถูกปล่อยทิ้งร้างไป..ไม่อยาก ให้ G2K เป็นเหมือน ใน Learners คะ...
  • ไม่ได้จะจำกัดวงผู้ใช้นะคะเพราะเห็นมีนักเรียน -นักศึกษา จำนวนหนึ่งที่เขียน ใน G2K ได้อย่างน่าชื่นชม...
  • แต่อยากให้สมาชิกทุกท่านมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อการก้าวไปข้างหน้าของ G2K ร่วมกันนะคะ

เห็นด้วยครับ -- แต่ว่าในช่วงนี้ผมยังไม่อยากวิจารณ์ข้อดีข้อเสียของข้อเสนอใดๆ เป็นช่วงที่เราควรจะพยายามหาแนวทางใหม่ๆ ออกมาครับ

แล้วเพื่อที่จะสร้างความคิดใหม่ บางทีก็ต้องทะลายกรอบความคิดเก่าๆ ออกไป เช่นปัญหาข้อแรก ก็ไม่ใช่เรื่องของ funding เพื่อความคงอยู่ของ GotoKnow แต่บางทีอาจจะมอง GotoKnow เป็นเบ้าหลอมความคิด+ประสบการณ์ซึ่งสร้างคุณค่าได้จริง (และรับการสนับสนุนจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จาก GotoKnow ได้ในวงกว้างขึ้น)

ถ้าเกิดถามว่าทำไปอย่างนี้เพื่ออะไร ทำไปแล้วได้อะไร ก็ต้องย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์ครับ

แต่เพื่อออกนอกกรอบความคิดเดิม ผมเสนอเปลี่ยนกรอบความคิดชั่วคราวจาก "KM" เป็น "Social Entrepreneur" ครับ (จิตใจยิ่งใหญ่ มีความรู้ มีกำลัง มีเครือข่าย และกล้าทำในสิ่งที่ต้องทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม)

ขออนุญาติแสดงความคิดเห็นคะ - จริงๆ ทำหลายๆรูปแบบก็ ผสานกันดีคะ ทั้ง การหาโฆษณา ซึ่ง เราสามารถเลือกได้ และจำกัดวงได้ - ถ้าจะให้ สมาชิกในนี้ มีส่วนร่วม ก็ต้องเป็นหุ้นส่วนเท่ากันทุกคน นึกถึงการลงขัน น่ะคะ มีคะแนน มีหุ้น เท่าๆกัน เสียงเท่ากัน เป็นเจ้าของร่วมกัน - ข้อเด่นของสมาชิกที่นี่ คือ องค์ความรู้ที่ทุกคนมี พร้อมที่จะแชร์ และเรียนรู้ สนใจเรื่อง การศึกษา ที่ หลากหลาย เราน่าจะทำให้เป็น เว็บ เพื่อการศึกษาที่มีชีวิต มีตัวตน มีการเคลื่อนไหว - อีกอย่าง คือ นึกถึงการ จัดกลุ่มความรู้ ที่สนใจอยากแลกเปลี่ยน ทั้งในวงเดียวกัน หรือข้ามวง ทาง G2k อาจจะจัดให้มี ทริปเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการสร้างเครื่อข่ายจริง ทั้งในเว็บและ ข้างนอก - เน้นการสร้างเครื่อข่าย ที่อาจจะเพิ่ม เวอร์ชั่น ทั้งไทยและเทศ เป็นการสร้าง แลกเปลี่ยนความรู้ ในพื้นที่เดียวกันแต่ ได้ทั่วโลก

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วค่ะ ที่.......http://blog.guykawasaki.com/2007/09/social-entrepre.html

ชอบที่สุดคือ...

"Entrepreneurs are successful only to the degree that they can bring together other people with different talents and abilities who can, as a team, build things they could never do apart."

เราก็อาจนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้ได้ค่ะ

แต่สำหรับเรื่องมูลนิธิ อาจต้องดูที่กฏหมายด้วย

ดิฉันเคยทำมูลนิธิมา 2  มูลนิธิ  ยุ่งยากเรื่องการทำบัญชีและการตรวจสอบบัญชีเหมือนกัน

ที่เรามีอยู่ตอนนี้ คือ สมาชิกที่มีใจที่ยิ่งใหญ่หลากหลายความรู้ความสามารถ  แต่ยังติดที่รูปแบบที่เหมาะสมอยู่

จะยังไม่พูดถึงแหล่งทุนก็ได้ค่ะ

ถ้าจะพูดถึงสมาชิก นอกจากจะเป็นรายบุคคลแล้ว ถ้าเป็นในรูปขององค์กร หรือ สมาคมต่างๆก็รับใช่ไหมคะ ดิฉันว่า สมาชิกควรต้องหลากหลาย และมากกว่านี้ค่ะ 

ต่ออีกนิดค่ะ

ดิฉันว่า สังคมในg2kนี่ เหมือนสังคมคนไทยยุคเก่านะคะ  เพราะดูเหมือนว่า เรายึด สังคหวัตถุ 4 มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวกัน

สังคมไทย เป็นสังคมที่ อุปนิสัยของการสงเคราะห์เกื้อกูลเป็นพื้นฐาน  และสิ่งนี้ หายากในโลกทางตะวันตกค่ะ

เรื่องนี้ เราได้แล้ว แต่ยังต้องมีเรื่องอื่นอีก ที่จะมาเป็นน้ามันหล่อเลี้ยง ให้ g2k เดินไปได้

ได้รับ mail จากน้องมะปรางแล้วค่ะ ขอมาตอบไว้ที่นี่นะคะ

ไม่แน่ใจว่าทำเป็นสหกรณ์ (co-op) ได้ไม๊ค่ะ  

สหกรณ์ไม่ได้มีแต่ร้านค้า หรือธนาคารใช่ไม๊ค่ะ 

สหกรณ์" หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม
โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้"

(มี link ถึง พรบ. สหกรณ์ที่นี่ค่ะ)

อ่าน หลักการ 7 ข้อของสหกรณ์แล้วก็เห็นว่าน่าจะทำได้

เรื่องเงินทุกคนจ่ายเท่ากัน เงินที่ได้ให้นำมาใช้ส่วนรวมไม่ต้องแบ่งปันผล เหลือมากก็ไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมอื่น เหลือน้อยก็ทำ fund raising ในนาม gotoknow น่าจะมีคนบริจาคค่ะ

เรื่องที่ยากหน่อย อาจเป็นเรื่องการโหวต เพื่อตัดสินใจเรื่องต่างๆ แต่จริงๆเราก็ คนละ 1 เสียง โหวต online ได้? 

อาจจะเป็นคำแนะนำที่ไร้เดียงสาแต่คิดว่าน่าจะตรงกับวัตถุประสงค์ที่ผู้ใช้ทุกคนเป็นเจ้าของ gotoknow บริหารกันเองหมด

ส่วนจะมี board level หรือไม่ หรือมีกี่ admin level ก็ต้องมาคิดอีกทีค่ะ 

ลอง google คำว่า blogger co-op ก็พอมีให้เห็นแต่ส่วนมากเค้ามีกันไม่เกิน 20 คน

ลองคิดต่อให้หน่อยนะคะ ไม่ค่อบชำนาญแต่อยากช่วยค่ะ  

 

สวัสดีครับได้เมล์จาก support เลยมาขอแสดงความคิดเห็นด้วยคนครับ
พอดีผมเป็นคนบ้าๆ บอๆ นะครับ เลยขออนุญาตคิดแผลงๆ คงไม่ว่ากัน

เนื่องด้วยโมเดลการเป็นบริการข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต มันก็คือสื่อประเภทหนึ่ง
และสิ่งที่สื่อออนไลน์มักจะทำเพื่อหารายได้คือ "การขายโฆษณา" หรือ "การขายเนื้อหาที่ exclusive"
แต่ทั้งสองแบบอาจจะไม่เหมาะกับ gotoknow เพราะ
1. เราอาจจะไม่ต้องการให้ผู้สนับสนุนใดๆ มามีอำนาจเหนือชุมชน
2. เราต้องการให้คนใส่เนื้อหาเยอะๆ และอ่านเยอะๆ
ดังนั้นการเก็บเงินออนไลน์ถ้าจะยาก สุดท้ายถ้ารอบริจาค ก็อาจจะมี แต่อย่าไปหวังอะไรมากเลยครับ

ดังนั้นผมเสนอให้ทำเป็นธุรกิจครับ
อาจจะลองใช้โมเดลอย่าง opensource เช่นการขายบริการ หรือขาย support
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามี kv อยู่ในมือ ซึ่งเราอนุญาตให้นำไปใช้ได้ฟรี แต่ถ้าต้องการบริการ ทำไมเราไม่ขายหละครับ

ถัดมาถ้าขายเนื้อหาออนไลน์ไม่ได้ ทำไมเราไม่ขายเป็นออฟไลน์
โดยสิ่งที่อาจจะทำได้ แต่คงต้องอาศัยแรงโปรแกรมเมอร์เพิ่ม คือ โมดูลการเลือกเนื้อหาเพื่อนำเข้าเล่มจัดพิมพ์
เนื่องจากเรามีเนื้อหาจำนวนมหาศาลอยู่ในฐานข้อมูล และข้อดีของเว็บแอพอย่างหนึ่งคือมันสามารถ customize ได้
สมมติว่ามี demand ต้องการเนื้อหาจากหลายๆ post รวมกัน ซึ่งที่ทำได้อย่างหนึ่งคือให้เค้าหยิบใส่ตระกร้า แล้วเราจัดพิมพ์ส่งให้ถึงบ้าน เป็นหนังสือที่ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

ตอนนี้นึกได้เท่านี้ครับ ไว้คิดออกแล้วจะมา post ใหม่ครับ ^_^

I would think a frequent G2K surfer/member would have their web portal pointed to G2K page. Likewise, I have my radio permanently tuned to NPR - National Public Radio. For that matter, I have to point to an equivalent of NPR on TV - a PBS - Public Broadcasting Service 

Both NPR and PBS operates on a basis of no commercials, but receive financial support from: sponsors such as corporate, foundation,  members, and donors. 

Make no mistake, NPR and PBS are not charity, and operate like corporations. The value they provide to the "public" and "members" are their content. 

This gets to the point of G2K, to make a long lasting website - than a span of .. 2 years, its content must be deemed valuable to its sponsors/viewers: these viewers are potential sponsors when they see the value of what they can get from NPR/PBS/G2K.

That's the idea .. now .. get to work ? 

 

อ่านแล้วชอบความเห็นหลายท่านมากเลยครับ โดยเฉพาะที่บอกว่าอย่าเอาประชาธิปไตย(คะแนนเสียง)มาใช้ ผมไม่ได้แอนตี้ประชาธิปไตยครับ แต่ก็เห็นจุดบอดเยอะ หากคนไม่รู้จำนวนมากลงคะแนนเสียงชนะฝ่ายที่รู้มากกว่าซึ่งโอกาสเป็นไปได้สูงมาก เพราะผู้รู้เฉพาะด้านจะมีจำนวนน้อย ดังนั้นเราน่าจะเคารพเหตุผลมากกว่าใช้คะแนนเสียง

เรื่องการให้องค์กรอยุ่รอดได้ ต้องมีคนทำงานใช่ไหมครับ การทำงานแม้ไม่หวังผลตอบแทนแต่คนที่ต้องรับภาระจนถึงขั้นเต็มเวลาคงต้องมีทางเลี้ยงตัวเองรอดได้ ผมขออุกอาจเสนอความคิด(ฝัน)แบบนี้ครับ

  • ขายผลงานความรู้-เพื่อสังคม(เน้น) ให้คนดูแลอยู่ได้สร้างผลงานต่อไป
  • ความรู้ที่ได้หากนำไปต่อทำประโยชน์เป็นรูปธรรม กลายเป็นทุนนิยมขอให้เป็นทุนนิยมให้ครบด้าน กล่าวคือ ทุนนิยมด้านเศรษฐกิจ คือ ให้หากำไรให้สูงสุดให้เจ้าของและพนักงานอยู่รอด และด้านสังคมคือ ให้สังคมดีขึ้นจากกิจการของเรา ซึ่งผมมองว่า G2K หันมาด้านหลังนี้อยู่แล้วแต่ขาดส่วนแรก ซึ่งการทำอย่างนี้จะมีข้อดีคือ ทำให้องค์กรอยู่รอดกลายเป็นบริษัทเพื่อสังคมไปในที่สุด ซึ่งหากมีคนเห็นดีด้วยเลียนแบบทำตามก็ยิ่งดี ยิ่งทำเยอะสังคมก็ยิ่งดีขึ้นเรื่อยๆ ต่างกับการแข่งกันทำเพื่อเงินด้านแรกด้านเดียวที่ต่างแย่งกอบโกยเข้าส่วนตัว ส่วนนี้ผมได้แนวคิดจาก ดร.ยูนุส ซึ่งแนวคิดของเขาสุดยอดมากแต่ผมก็คิดว่าหากทำมาลงโลกออนไลน์ คงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ
  • เก็บค่าสมาชิกผู้ใช้(ความรู้)-แนวคิดคร่าวๆคือสมาชิกมีหลายระดับและราคา สมาชิกจะได้ประโยชน์จากความรู้ กล่าวคือ มีคนคัดกรองข้อมุลที่ต้องการให้ใช้ได้สะดวกขึ้นซึ่งตรงนี้จะมีเจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลให้หาได้ง่ายและครบถ้วน คนไม่เป็นสมาชิกต้องขุดหาเองทีละประเด็น
  • ต่อเรื่องสมาชิกครับ น่าจะมีสมาชิกผู้สร้าง(ความรู้)-กิติมาศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ Expert ในแต่ละด้าน ที่ให้ความรู้เพื่อสังคม อันนี้เมื่อท่านผลิตผลงานออกมาต้องช่วยประชาสัมพันธ์มากๆ และอาจให้ผลตอบแทนให้ท่านนำไปสร้างความรู้ต่อยอดไปเยอะๆ เหมือนการหยิบเพชรจากแก้วหลายๆอันที่ยังไม่ขัดเกลา ช่วยส่องให้เห็นประกายสวยงาม และความรู้นั้นจะช่วยขัดเกลาให้สมาชิกท่านอื่นเห็นเป็นแบบอย่างทำตามไปด้วย รวมทั้งอาจมีการนำไปลงทุนทำกิจการเพื่อสังคมต่อไป
  • จากสมาชิกก็มาถึง เจ้าหน้าที่
    เก็บรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล
    โฆษณาประชาสัมพันธ์
    ดูแลระบบ งานเทคนิคต่างๆ
    และอื่นๆอีกมากมายที่องค์หนึ่งๆ ควรมี
    เจ้าหน้าที่เหล่านี้ จะมีรายได้จากสมาชิกผู้ใช้ส่วนหนึ่ง รวมกับการนำความรู้ไปลงทุนสร้างบริษัทกับผู้สร้างความรู้นำรายได้ที่ได้มาเลี้ยงองค์กร หักค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ซึ่งตามที่ ดร.ยูนุสทำ คือ ศึกษาความเป็นไปได้แล้วกู้เงินจากผู้ศรัทธา (จะเรียกว่าเงินบริจาคก็ไม่ถูกเพราะมีการคืนเงิน เพียงแต่ไม่คิดดอกเบี้ย) มาลงทุนทำกิจการ เชืน บริษัทโยเกิร์ตเพื่อเด็กยากจนให้มีอาหารกินในราคาถูก บริษัททำขายในราคาเกือบต้นทุน (รวมค่าแรง) แล้วนำกำไรที่ได้ค่อยๆ รวบรวมกลับไปคืนเจ้าของเงินผู้ศรัทธาไป วิธีนี้นอกจากสังคมได้ เจ้าของเงินก็ยินดีให้เพราะรู้ว่านำเงินของเขาไปใช้ทำอะไร เจ้าหน้าที่ก็เต็มใจทำ (บางคนมาช่วยไม่เอาเงินด้วยซ้ำ)เพราะรู้ว่างานที่เขาทำเพื่อช่วยคนในสังคมจริงๆ
    อันนี้ ผมลองเสนอนะครับ เช่น ที่พวกท่านได้พัฒนาระบบ G2K มาอย่างยากเย็นแล้ว นอกจากจะพัฒนาทำเป็น Open source แล้วหากเรานำสิ่งนี้ไปขายต่อเป็นงานขายบริการติดตั้งให้หน่วยงานอื่นๆ คิดว่าเป็นยังไงครับ (ย้ำอีกทีว่าเป็นไอเดียความฝัน)
  • การขอโฆษณานี้ผมเห็นว่าควรเป็นอย่างหลังๆ ที่ทำตามที่ท่าน Conducter ว่ามาเพราะมันจะกินทรัพยากรระบบให้ความรู้นั้นเข้าถึงได้ช้าลง ซึ่งมันจะลดความอยากเข้ามาของผู้ใช้มากๆ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วน้อยแบบผม เอิ้กๆ

อยากจะให้ gotoknow.org มีความร่วมมือกับองค์กรอื่นซึ่งอยู่ในลักษณะ win-win ทั้ง gotoknow และองค์กรนั้น ซึ่งตรงนี้เราน่าจะมองจากวัตถุประสงค์ พันธกิจ และวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มีส่วนร่วมกับ gotoknow   เท่าที่เข้าใจก็คือ gotoknow  ต้องการส่งเสริมการจัดการความรู้ การให้ความรู้ และการแบ่งปันความรู้ระหว่างคนไทยด้วยกันเอง  องค์กรที่น่าจะมีส่วนร่วมในความต้องการนี้เช่นกัน  ได้แก่

1) มหาวิทยาัลัยต่าง ๆ  gotoknow กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีผู้ใช้ gotoknow จากมหาวิทยาลัยนั้นพอสมควร เข้ามามีส่วนร่วมใน

1.1) การให้บริการเซิร์ฟเวอร์ และกระจายข้อมูลไปในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งตรงนี้ ก็จะเสริมในเรื่อง KM ของมหาวิทยาลัยนั้น อีกทั้งบุคลากรในมหาวิทยาลัยนั้นก็จะเข้าถึง gotoknow ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

1.2) การผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในภาษา Ruby on Rails  เพื่อช่วยในการดูแลรักษาและปรับปรุงซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องในเว็บ gotoknow.org

2)  Thailand Knowledge Park (http://www.tkpark.or.th)  ซึ่ง "ต้องการสร้าง "ห้องสมุดที่มีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลง มีหนังสือดี ทันสมัยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ตายตั้งแต่วันสร้าง" ที่สำคัญคือเพื่อส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านและการเรียนรู้อย่างจริงจัง" (คัดลอกจากเว็บ http://www.tkpark.or.th/TH/abttk/pblc/whwr.aspx)  

3)  กระทรวงศึกษาธิการ

เราต้องยอมรับว่า การศึกษาในปัจจุบันไม่ควรจะเกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนและเป็นการสื่อสารเฉพาะจากครูสู่นักเรียน ควรจะเกิดขึ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต และอยู่ในลักษณะร่วมกันเรียนรู้

4) กระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์

ทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญทีุุ่สุดในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ  หากสังคมใดที่สมาชิกไม่รักการอ่าน ไม่รักการเรียนรู้  สังคมนั้นย่อมยากที่จะเจริญได้    

5)  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

หลายบล็อกเป็นบล็อกที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   

6)  กระทรวง ICT

การสื่อสารผ่านทางเว็บและบล็อกเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมที่จะเกิดแก่ประชาชนได้อย่างชัดเจน 

ึ7)  กระทรวงสาธารณสุช 

 หลายบล็อกเป็นบล็อกที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง  ซึ่งหากประชาชนรู้จักดูแลสุขภาพของตนเองแล้ว รัฐบาลจะประหยัดงบประมาณได้มากในค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชน

นอกจากจะขอความร่วมมือจากรัฐบาล แล้วน่าจะขอความร่วมมือจากเอกชนที่อาจจะสนใจที่จะเข้ามาช่วยในด้านการศึกษา  การเรียนรู้ด้วยตนเอง การจัดการความรู้ เช่น

1)  ซุปไก่สกัด ตราแบรนด์  

2)  เครือซิเมนต์ไทย

3)  ปตท

4)  ธนาคาร ไทยพาณิชย์

5) เครือเจริญโภคภัณฑ์ 

 

 

ทางทีงานผู้ดูแลเว็บไซต์ GotoKnow.org

ต้องขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ได้ร่วมแสดงความคิดไว้ในบันทึกนี้และผู้ที่ส่งอีเมล์มายัง support (@) gotoknow.org มากคะ

ตอนนี้ทางทีมงานยังคงรอบรับความคิดเห็นอยู่นะคะ หากมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม สามารถแสดงความคิดเห็นไว้ในบันทึกนี้ หรือส่งอีเมลแจ้งให้ทีมงานได้เลยคะ

ขอบคุณคะ

สวัสดีครับพี่ และทุกๆ ท่าน

ผมไปเขียนบทความแยกไว้นะครับ เพราะไม่งั้นจะยาวเกินไปครับผม ตามอ่านได้ที่นี่นะครับ

ทิศทางและแนวทางในอนาคต ของ GotoKnow ในฝัน

ขอบคุณมากครับผม 

ผมขอเสนอความเห็นและเสนอตัวไว้สองเรื่องครับ

๑. ทุนดำเนินการ
การจะหาทุนอย่างไร คงต้องทราบก่อนไหมครับว่า รายจ่ายค่าใช้จ่ายของเราทั้งหมดเป็นประมาณเท่าไร เราก็จะได้วางแผนหาทุนให้พอเหมาะพอควร เพราะเราไม่ควรตั้งเป้าที่จะแสวงหาทุนเกินตัว ซึ่งพอทำไปแล้วบางทีก็เผลอไป ว่าจะเก็บเงินเอาไว้มากๆ เผื่อจะ..เผื่อจะ.. อยู่เรื่อย

การระดมทุน น่าจะคิดเรื่องการระดมความรู้ ความสามารถคู่ขนานกันด้วยมากกว่า บางครั้งเราอาจไม่ต้องการเงินเป็นค่าจ้างให้คนทำอะไร แต่ต้องการคนที่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาทำงานเลยมากกว่า ซึ่งในความเห็นผม มันเข้าได้กับ G2K คือร่วมระดมความรู้และประสบการณ์มาช่วยกัน มากกว่าการระดมทุน

ผมเองพร้อมสนับสนุน หากจะออกมาทั้งในรูปค่าสมาชิกรายปี หรือ เป็นการบริจาคให้้กองทุนในมูลนิธิ

ผมมองเรื่องนี้ว่า ถ้าเป็นการบริจาคเข้ามูลนิธิน่าจะดีกว่า เพราะเป็นเรื่องของความสมัครใจ ตามกำลังของแต่ละคน ผมคิดว่ามีคนหลายคนที่มีปัญหาการเงิน ถึงแม้จะเป็นเงินไม่มากก็ตาม หรือถ้าจะเป็นค่าสมาชิก ก็น่าจะมีอัตราก้าวหน้า ขึ้นกับรายได้อะไรทำนองนั้น มากกว่าที่จะเป็นอัตราเดี่ยว

อีกทางเลือกหนึ่งคือ การหาผู้สนับสนุนโครงการจากภาคเอกชน ซึ่งงานหลายๆอย่างก็ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทหรือแหล่งทุนพวกนี้  เราอาจจะเมินแหล่งทุนกลุ่มมาร อย่าง George Soros หรือธุรกิจน้ำเมา แต่บริษัทดีๆก็มีเยอะแยะ เช่น โรงปูน เป็นต้น

ผมเองไม่ค่อยชอบการโฆษณาหาทุน ดูเหมือนความรู้ถูกลดคุณค่าเป็นของที่ต้องซื้อขายโฆษณาไป

๒. การกลั่นกรองความรู้
ผมสามารถช่วยในด้านการติดตามบันทึกต่างๆ แล้วรวบรวม คัดย่อ จัดเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ความรู้ที่กระจัดกระจายรวมกันเป็นกลุ่มก้อน มีพลังมากขึ้น

สวัสดีครับ  

เป้าหมาย ของ g2k จะต้องมั่นคง เป็นเป้าหมายหลักครับ 

ความเห็นของท่าน

P TheInk   1. เราอาจจะไม่ต้องการให้ผู้สนับสนุนใดๆ มามีอำนาจเหนือชุมชน
2. เราต้องการให้คนใส่เนื้อหาเยอะๆ และอ่านเยอะๆ
ความเห็นของท่าน
P
15. เม้ง สมพร ช่วยอารีย์
เมื่อ อ. 02 ต.ค. 2550 @ 15:01 [405596]

สวัสดีครับพี่ และทุกๆ ท่าน

ผมไปเขียนบทความแยกไว้นะครับ เพราะไม่งั้นจะยาวเกินไปครับผม ตามอ่านได้ที่นี่นะครับ

ทิศทางและแนวทางในอนาคต ของ GotoKnow ในฝัน

ผมอยากเสริมคือ

  •  อย่าให้มีอำนาจใดๆมาครอบงำ g2k  
  • ต้อนรับความหลากหลายในความคิด
  • ส่งเสริมแนวความคิดสาธารณะ
  • ส่งเสริมความรู้ สู่ปัญญา
  • ส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เช่นที่ผ่านมา
  • ส่งเสริมกิจกรรมชุมชน
  • อื่นๆ

ทำให้ Gotoknow เป็นองค์กรอิสระครับ

ไม่ขึ้นตรงกับใคร...

ส่วนจะทำอย่างไรนั้น? ทิ้งไว้เป็นคำถามครับ

 

สวัสดีครับคุณ Conductor

  • ผมมีบันทึกเก่าๆ มาแลกเปลี่ยนครับ ความสำเร็จของ GotoKnow อยู่ที่ใคร?
  • ส่วนประเด็นเรื่องการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตของ GotoKnow ผมคิดว่า User ทุกคนควรตระหนักในการมีส่วนร่วมครับ จะออกมาในรูปแบบใดนั้นคงไม่สำคัญครับ

นับถือ

วิชิต ชาวะหา

เห็นด้วยครับ

ยินดีสนับสนุนทุกมุมมอง

ทั้งในเชิง

  • ยุทธศาสตร์การทำงาน
  • ระบบการจัดการความรู้ และ
  • ทรัพยากรสนับสนุน
  • กาเชื่อมโยงการทำงานตั้งแต่ชุมชนจนถึงระดับนโยบาย
  • การทำงานแบบเครือข่ายในท้องถิ่น ประเทศ และนานาชาติ
  • เชิงสังคม วิชาการ และวิทยากรกระบวนการ

ด้วยความยินดียิ่งครับ

ผมอยากให้เชื่อมโยงกับระบบอื่นได้ครับ เช่น เข้าระบบได้ด้วย OpenID. มี web feed ของ comment และ planet ของ G2K ก็เพิ่ม blog อื่นๆที่ไม่ได้อยู่ใน G2K ได้ด้วย.
  • เห็นด้วยกับแนวทางของอาจารย์พิชัยและอาจารย์ดร.กานดาครับผม
  • ขอบคุณครับ

ผมกำลังมองหาแนวทางที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับทีมงานครับ ด้วยใจที่เห็นความสำคัญของ gotoknow.org ครับ

ผมเห็นว่า ทีมงานของ UsableLabs เป็นทีมงานที่มีความสามารถครับ เป็นไปได้มัยว่า gotoknow เป็นส่วนรากฐานของความภูมิใจ แล้วนำผลของความสามารถขยายต่อเพื่อดำเนินการทางธุรกิจเพื่อความอยู่รอดของUsableLabs

ในส่วนของการบริการของ gotoknow ผมคิดว่า บางส่วนควรมีค่าบริการ เช่น การใช้ planet หรือระบบอื่นๆ ที่ทางUsableLabs คิดค้นขึ้น มีไว้เฉพาะสำหรับผู้ที่จ่ายสตังค์เพิ่ม

ตอนนี้คิดได้แค่นี้แหละครับ

ขอบคุณสำหรับทุกความเห็นอันมีค่าครับ

ในการประชุมครั้งแรกคืนพรุ่งนี้ ทาง UsableLabs ได้พยายามจัดหมวดหมู่ของข้อเสนอให้ใกล้เคียงกัน แล้วเชิญผู้เสนอมาคุยพร้อมกัน พร้อมทั้งจะแจ้งรหัสผ่านเข้าห้องสนทนาทางอีเมล ซึ่งทุกท่านก็สามารถทดลองเล่นทำความคุ้นเคยกับห้องสนทนาได้ครับ

ที่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมไว้่อย่างนี้ ก็เพื่อให้ทุกท่านได้แสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง เราคงไม่อยากมีแต่คนพูดโดยไม่มีคนฟังนะครับ ทราบว่าทุกท่านมีส่วนได้เสียในชุมชน GotoKnow นี้เหมือนๆ กัน และต้องการให้ GotoKnow พัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน ก็จะมีบันทึกการประชุมแสดงให้สมาชิกทุกท่านที่ห่วงใย GotoKnow ได้อ่าน และแสดงความคิดเห็นต่อยอดความคิดหลังการประชุม

สำหรับท่านที่ได้เสนอความคิดแล้วยังไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุม ขอได้โปรดอดใจรอการประชุมครั้งต่อๆ ไปด้วยนะครับ ครั้งนี้ขอให้คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อหาประเด็นปัญหาที่แท้จริง+ข้อจำกัด+แนวทางให้ได้ก่อน 

ผมหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ข้อเสนอมาตลอด ทั้งนี้เป็นไปตามกระบวนการระดมสมองครับ -- เชื่อว่าเราไม่ต้องเลือกเอาข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่ง แต่สามารถผสมผสานความคิด นำมาสังเคราะห์ให้เป็นคำตอบที่ดีขึ้น ตรงประเด็นมากขึ้น และมีข้อจำกัดน้อยลง 

ในฐานะสมาชิกเช่นกัน ขอขอบคุณทุกข้อเสนอ ผมคิดว่าข้อเสนอแบบ what ดีกว่าไม่เสนอความคิดอะไรเลย; แต่ข้อเสนอแบบ how ดีกว่าแบบ what เพราะว่า what ไม่ใช่คำตอบ (เราไม่ได้กำลังทำข้อสอบแต่กำลังจะแก้ปัญหา); ส่วนแบบ how+why นั้นดีกว่าแบบ how อย่างเดียวครับ เพราะ why ชี้ช่องให้เกิดการต่อยอดความคิดได้กว้างขวางขึ้นครับ

กำลังคิดเรื่องรูปแบบและวิธีการหาทุนหลายๆ วิธีอยู่ ปัญหาตอนนี้คิดว่าเรื่องทุนน่าจะเป็นเรื่องหลักที่ต้องคุย เรื่องนี้พูดกับสมาชิกที่สนิทหลายท่านตั้งแต่เห็นบันทึกของคุณหมอแล้ว การทำให้ GotoKnow เป็นของสาธารณะถือว่าประเสริฐมาก แต่พอเป็นของส่วนกลางมันจะเกิดปัญหาในเรื่องของความรับผิดชอบหลายๆ ด้านพอสมควรค่ะ ขอตัวไปหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนนะคะ เผื่อจะได้มีมุมมองและข้อเสนอแนะที่หลากหลายขึ้นในการประชุม

ปัญญาผมเติบโต สมองไม่ฝ่อ เพราะเข้า G2K ประจำ อยากตอบแทน(พื้นที่เสมือน(ญาติ) แห่งนี้ ให้มากกว่าการแลกสิ่งที่รักและที่รู้ ลองคิดตามหลายท่าน และสรุปด้วยประสบการณ์จิ๊บๆ ของตนว่า มีหลายด้าน หลายมิติที่ซ้อเหลื่อมสามมิติ อยู่ด้วยกัน เรียงจากเรื่องเทคนิคไปสู่เรื่องหลักการ เรื่องปณิธาน คือ

1. เรื่องเทคนิค นั้น ความสามารถของระ ควาสะดวกสบาย นั้น เทคโนโลยีน่าจะช่วยตรงนี้ได้มาก ไม่น่ากังวล

2. เรื่องทุน เรื่องแชร์ทรัพย์ และเรื่องหุ้น เรื่องโฆษณา ก็ทำได้ แต่ต้องมี "ตัวกำกับ" คือ สภาไซเบอร์ G2K กำหนดและกำกับทิศทาง จะใช้เสียงส่วนใหญ่ หรือ ตัวแทน นั้น คงต้องตามเรียนรู้กับผู้คนในโลกไซเบอร์ ที่ฟอร์ม องค์กรเคอร์ออร์ดิค ขึ้นมาก่อน G2K

3. เรื่องหลักการสูงสุด หรือ ปณิธาน อาทิ ความเป็นของส่วนรวม คือ ไม่ใช่ของใครหรือสปอนเซอร์ใด ทางคนเหนือ คนทางล้านนา เรียกว่า "ความเป็นของหน้าหมู่" และ การแชร์ปัญญา จนเกิดปัญญาร่วม เกิดพลังร่วม ตรงนี้น่าจะเกิดได้ยาก แต่ตัวตนที่ผ่านมาของ G2K นั้น มาถึงขึ้นนี้แล้ว

การบริหาร 1+2+3 อย่างเนียน และลงตัว โดยการลองทำไปทีละขั้น ปรับไปที่ละก้าว

น่าจะเปิดสภา ก่อนสภาปราร้าเก่าในไหใหม่นะครับ

  • การแก้ปัญหาควรอยู่ภายใต้พื้นฐานความรู้ ที่ติดอยู่กับสมาชิกทุกคนกินไม่หมด
  • g2k เกิดได้ด้วยการผูกใจทุกคนเข้าด้วยกันการเก็บสมาชิกไม่ควรกระทำได้ไม่คุ้มเสีย
  • ได้ไปขายความคิดให้กับ KMPCA (Knowledge Management Profesional Center of Asia) เอาไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วเรื่องการสนับสนุนเครือข่าย  ซึ่ง MD ก็อยู่ใน g2k แล้วยิดดีสนับสนุนเพียงแต่จะให้เขาคุยกับใคร
  • ในฐานะอยู่ในระบบราชการมา 40 ปีควรขอเป็นตัวช่วยอันดับสุดท้ายเมื่อถึงทางตันจริงๆ
  • มูลนิธิจะทำให้ยุ่งยากมากเผลอๆผิดกฏหมายจะยุ่งยากใหญ่
  • ดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องผู้รับการสนับสนุน
  • ประสบการณ์ได้เคยหาทุนเลี้ยงคลังสมอง วปอ.ด้วยการเปิดฝึกอบรม  รับจ้างเขียนยุทธศาสตร์ ได้ทุนเลี้ยงปีละประมาณ 600,000 บาท

-นำแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ครับ

-นักบุญไม่เคยตีค่าบุญเป็นเงินครับ ฟังดูเหมือนเห็นแก่ตัว แต่เพื่อให้เป็นบุญบริสุทธิ์ ผู้สร้างบุญทุกคนต้องอยุ่กับคำว่าเสียสละโดยไม่คิดอะไรให้ได้ครับ

-รับบริจาคตามกำลังศรัทธาครับ

-ในส่วนของผู้ดูแล ก็ต้องอยู่ได้ ตามกำลังศรัทธาด้วยครับ

-ความรู้ที่สมาชิกเผยแพร่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียนอยู่แล้ว แต่สมัครใจให้G2K ใช้ประโยชน์ได้  ดังนั้น หากนำไปหารายได้ ใดๆสมควรแบ่งรายได้ให้เจ้าของด้วย ซึ่งก็แล้วแต่เจ้าของผลงานจะยกประโยชน์กลับให้ G2K ตามความสมัครใจ (ประเด็นนี้พูดเผื่ออนาคต)

-การหารายได้ประการหนึ่งคือจัดทำพอ๊กเก็ตบุ๊คประวัติความเป็นมาของ G2K ซึ่งเป็นเรื่องที่ขายได้ เขียนดีๆ ก็ขายได้เรื่อยๆ

-การบริหารทำเป็นรูปคณะกรรมการครับ โปร่งใส ตรวจสอบได้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อะไรจะดับก็ต้องดับ ในเมื่อเป็นกุศลตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่มีเจ้าของและทำด้วยใจ ก็ต้องพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นครับ

ขออภัยหากข้อคิดไม่สมควรหรือไม่เหมาะสม แต่ปรารถนาดีครับ

ด้วยความปรารถนาดี

 

 

I'd like to add on the NPR model which is a not-for-profit organization. Since NPR is a national organization with local or regional affliliates. Since I live in Texas, the TX affiliate is KERA

A few things that local affiliates can do are (1) create local content, (2) campaign for local membership.

Here's KERA's annual operating revenue:

  • 53% Members
  • 23% Program underwriting: content created with support from corporate/foundation sponsors
  • 11% Grants
  • 10% Government
  • 3% Other

A member can get a few perks such as free movie previews/discounts/coupons. Membership "gift" is from $35 to $240 or -whatever you feel like giving. 

I listen to NPR everyday, and every quarter or so, they'll have a membership campaign - as a reminder that this radio station is sustained by contributions. It is understandbly  annoying that I have to listen to the solicitations. But a radio station with no commercials does not live on thin air. I always have choice of listen to other stations. 

It is a social and technical challenge to create a sustainable new media. But as long as there's a continued conversation and finetuning between the society and the technology, "something" is bound to be sustained.

 

 

 

ความคิดเห็นของคุณพลเดช วรฉัตรP น่าสนใจนะครับ

ใน G2K มีความหลายหลายของสาขาอาชีพ แต่ท่ามกลางความหลากหลายเราได้เห็นเครือข่ายของคนที่รักและชอบอะไรที่คล้ายๆกัน

ถ้าสามารถรวบรวมบันทึกดีๆในหมวดต่างๆ ออกไปเผยแพร่แก่สังคมเป็นรูปเล่ม ก็ยังมีคนในสังคมอีกมากที่นิยมเสพความรู้และเรียนรู้ด้วยผ่านการอ่านหนังสือ

รายได้จากหนังสือก็สามารถย้อนกลับมาดูแล G2K ได้อีกแบบเป็นวงจร เพราะที่นี่มีเรื่องราวดีๆออกมาให้เรียนรู้ใหม่ๆเสมอ

ขอส่งใจไปเข้าประชุมพร้อมประเด็นนี้ด้วยครับ

ขอบคุณครับ

การประชุมครั้งแรกเสร็จสิ้นแล้วครับ ยังมีการประชุมครั้งต่อๆ ไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นในวงที่กว้างขึ้น

ข้อเสนอใหม่ๆ ยังส่งได้เช่นเดิมครับ ในขณะนี้ยังไม่มีการสรุปหรือลงมติใดๆ ดังนั้นสมาชิกไม่่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้มีส่วนร่วมนะครับ (ยกเว้นว่าท่านตัดสินใจที่จะไม่ทำอะไรเลย)

ในขณะนี้ยังไม่ต้องการเสียงสนับสนุนทางเลือกใดๆ แต่ต้องการข้อเสนอ ตลอดจนความเข้าใจที่ถูกต้องต่อข้อเสนอแต่ละข้อ รวมทั้งข้อดีข้อเสียต่างๆ เพื่อที่สมาชิกจะพิจารณาได้ด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง

การประชุมออนไลน์ครั้งที่ 1 ได้อะไรจากการคุยกัน
ประเด็นที่พูดคุยกันเป็นอย่างไรบ้าง
  • การประชุมครั้งนี้เหมือนประชุมด้วยวิทยุวอคกี้ทล็อคกี้  จบแล้วต้องมีเปลี่ยน  ควรปรับรูปแบบใหม่เพราะพูดได้แค่สิบกว่าคนเท่านั้น

ความเห็นส่วนตัว

  • หากจะมีการประชุมลักษณะนี้อีกขอแนะนำให้พูดทีละประเด็นและพูดได้ทุกคน  เช่นรูปแบบมูลนิธิดีอย่างไร  เงินทุนจะหามาได้ทางไหน  ก็เข้ามาโพสกัน  นี่พูดหลายประเด็นพร้อมๆกันน่าเวียนหัว 

  • มีอุดมการณ์เป็นสิ่งดีแต่อย่ายึดติดมากจนทำอะไรไม่ได้ขอให้ใช้ทางสายกลาย

  • ช่วงนี้เป็นโอกาสทองของ g2k  ต้องรีบทำตัว g2k ให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์โดยจดทะเบียนที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯก่อน  ซึ่งท่านไพบูลย์เป็นเจ้ากระทรวงรีบทำก่อนเลือกตั้งด้วย

  • จัดตัวแทนภูมิภาคมานั่งคุยกันเริ่มต้นก่อนจะได้ประเด็นชัดเจนหากไม่มีจุดกลางยินดีจะขอใช้สถานที่ วปอ.หรือสถาบันพระปกเกล้าก็ได้ 

  • ประการต่อไปจัดคนหนึ่งกลุ่มจากตัวแทนที่มาคุยกัน  ไปร่วมประชุมกับท่านไพบูลย์หาทางออกเริ่มต้นก่อนสิ้นปี  หากไม่มีใครนำไปผมจะพาไปเองเอาตัวแทนภูมิภาคที่แท้จริงมา 

  • เงินก้อนแค่นี้ไม่น่าจะยาก มีคนเสนอเป็นสปอร์นเซอร์ให้แล้ว  แต่จะรับหรือไม่ไปพิจารณาเอง  คือ KMPCA (Knowledge Management Professional  of Asia)  เสนอไปหลายครั้งแต่เงียบหาย

  • โอกาสมีเข้ามามากโดยเฉพาะพลัง g2k มีมหาศาล  แต่ไม่สามารถนำมาเป็นโอกาสได้  เพราะไม่มีกระบวนการตัดสินใจที่ชัดเจนว่าอยู่ที่ใดที่เป็นศูนย์กลางตัดสินใจ

  • แค่เปิดอบรมสามารถหารายได้มหาศาลแล้ว  ในช่วงแปดเดือนที่ผ่านมาได้เปิดหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง  มีคนสมัครสนใจมากจัด 7 วันเก็บหัวละ 10000 บาทเปิดแปดรุ่นในหกเดือนมีคนมาอบรม แปดร้อยคนท่านลองคิดรายได้เองผมบริหารกัน 3 คน ถามครูบา  หรือ ดร.เสรี มหาวิทยาลัยชีวิตได้ว่าเป็นอย่างไร  ตัดเรื่องเงินไปได้อย่ากังวล

  • การเป็นองค์กรแบบยั่งยืนก็ผ่านไปได้เลย  ผมไปร่วมมาเห็นไฟและพลังมากมายเพียงแต่ต้องขยายและสลายกลุ่มให้กว้างขึ้น  มีแต่จะมากขึ้นแล้วรับไม่ไหว

  • ได้ขยายผลโดยการสอนให้เครือข่ายในยุโรปไปแล้วขณะนี้เขาเริ่มเข้ามา  ผมมีเครือข่ายคนไทยในยุโรปมีสมาชิก 15 ประเทศเช่น อังกฤษ  ฝรั่งเศส  เบลเยี่ยม  เยอร์มัน  สวิสเซอร์แลนด์  นอร์เวย์  สวีเดน  เดนมาร์ค  เนเธอแลนด์  อิตาลี  เช็คโก  ออสเตรียฯลฯ

ขออภัย ผอ.เอกชัยจริงๆครับ จอผมมีแต่คนพยายามจะคุยด้วยหลังไมค์ ในขณะเดียวกันก็ยังต้องอ่านและคิดตามผู้ที่กำลังเสนอความเห็นอยู่ด้วย แช็ตพร้อมกันเกือบสิบจอเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตครับ

ผมคิดว่าส่งขอเสนอให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ เพื่อจัดกลุ่มความคิดแยกแยะเป็นประเด็นจะดีกว่าไหมครับ

เห็นด้วยครับ

ผมคาดเดาไม่ผิดเลยต้องมีคุยหลังไมค์เลยนั่งคอยและแจมไปบางครั้ง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท