ผมขอเรียนให้คุณทราบเสียก่อนว่าสมองผมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เรียกกันตามภาษาชาวบ้านก็เรียกได้ว่าผมโง่นั่นละครับ
ผมโง่เพราะคงไม่มีคนฉลาดคนไหนมานั่งเขียนบทความที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและการทำงานของตัวเองอย่างที่ผมกำลังเขียนอยู่เป็นแน่แท้ทีเดียว คุณอ่านบทความนี้จนจบคุณก็รู้เองว่าผมโง่แค่ไหนในฐานะเด็กเมื่อวานซืนที่บังอาจวิเคราะห์บทความของ ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ซึ่งเป็นปัญญาชนที่คนไทยเคารพยกย่องกันทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ผมพอจะรู้อยู่บ้างว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ผมรู้ว่าการวิเคราะห์ความคิดของผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นปราชญ์นั้น นั้นเป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งในวัฒนธรรมไทย เราไม่ใช่ฝรั่งมังค่าที่เด็กจะมาเถียงผู้ใหญ่ และที่สำคัญผู้ใหญ่ไทยไม่เหมือนผู้ใหญ่ฝรั่งที่จะมานั่งหัวเราะชอบใจเวลาเห็นเด็กรู้จักคิดหาเหตุผลโดยไม่ยอมเชื่อผู้ใหญ่แต่ฝ่ายเดียว จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ฝรั่งนั่นล่ะ ที่สอนให้ผมต้องเคารพนอบน้อมผู้ใหญ่ไทย ผู้ใหญ่ฝรั่งสอนผมว่าอยู่วัฒนธรรมไหนก็ต้องทำตัวให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมนั้น อย่าเผลอเอาวัฒนธรรมต่างกันมาปนกันเป็นอันขาด
แต่ผมทนไม่ไหวครับ ผมต้องเขียนบทความนี้ เพราะผมรู้สึกเหมือนว่าผมกำลังถูกยัดเยียดความคิด และผมไม่ชอบเวลาใครมาบังคับให้ผมคิดเหมือนเขาเสียด้วย ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ความคิดของผมแบบนี้ เรียกได้ว่านอกจากผมโง่แล้ว ผมยังหัวรั้นเสียด้วย ถ้าอย่างนั้นก็ลองมาอ่านกันนะครับ ว่าเด็กเมื่อวานซืนที่โง่และหัวรั้นคนนี้ จะอาจเอื้อมวิเคราะห์ ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ว่าอย่างไร
อาจารย์นิธิได้เขียนในมติชนสุดสัปดาห์บทความชื่อ “การปฎิวัติทางญาณวิทยา” ในบทความนั้นผมจับความได้ว่าท่านได้อธิบายเปรียบเทียบญาณวิทยาแบบไทยกับแบบฝรั่ง (ยุคใหม่) โดยญาณวิทยาแบบไทยท่านกล่าวว่าเน้นที่เชื่อในความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากตัวบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้รู้โดยไม่มีคำถาม ส่วนญาณวิทยาแบบฝรั่งเน้นที่การยอมรับในความรู้ที่วิเคราะห์ได้ด้วยกระบวนการที่ผ่านการสอบทานแล้วว่าใช้วิเคราะห์ความรู้ชนิดนั้นได้ แต่ความรู้และกระบวนการวิเคราะห์ความรู้ก็สามารถตรวจสอบใหม่ได้อีกเสมอ จากนั้นท่านได้วิเคราะห์ต่อว่าแม้เราจะดูเหมือนรับญาณวิทยาแบบฝรั่งมา แต่ที่จริงแล้วเราก็ยังประพฤติปฎิบัติญาณวิทยาแบบไทยๆ ด้วยการยอมรับความรู้ที่พิสูจน์โดยฝรั่งโดยไม่มีเงื่อนไข ท่านได้สรุปตอนท้ายว่าอย่างไรก็ตามในที่สุดแล้วญาณวิทยาแบบฝรั่งก็จะได้รับการปฎิบัติจริงมากยิ่งขึ้น และญาณวิทยาแบบไทยก็จะสูญหายไป
การอธิบายความเรื่องญาณวิทยาของท่านนั้นเป็นเรื่องที่ผมทำความเข้าใจได้ ผมเห็นด้วยว่าวิธีการสอนแบบไทยเรานั้นเราจะเน้นที่ความน่าเชื่อถือของตัวบุคคลผู้พูดเป็นตัวพิสูจน์ว่าสิ่งที่พูดนั้นถูกผิดแค่ไหน ส่วนวิธีแบบฝรั่งนั้นจะเน้นที่เหตุและผลของเรื่องราวที่พูดว่าจริงเท็จแค่ไหน โดยไม่ให้ความสำคัญกับตัวผู้พูดไม่ว่าผู้พูดจะเป็นชาวบ้านธรรมดาหรือปราชญ์ก็ตาม สำหรับผมเองก็มีประสบการณ์พอประมาณกับกระบวนการค้นหาความรู้ทั้งแบบไทยและแบบฝรั่ง และสามารถปรับตัวให้อยู่ในสถานการณ์ได้ทั้งสองแบบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่พอยอมรับได้ แม้ว่าตัวผมออกจากชื่นชอบวิธีการค้นหาความรู้แบบฝรั่งมากกว่าก็ตาม
แต่เรื่องที่ผมไม่เข้าใจในบทความท่านอาจารย์นิธิคือเรื่องที่ท่านโยงเรื่องญาณวิทยาเข้ากับคำพูดนายกรัฐมนตรี ผมมองไม่เห็นว่าคำพูดของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารประเทศนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับรูปแบบญาณวิทยาที่ท่านอธิบาย การเชื่อมโยงเหตุและผลที่ไม่ชัดเจนเพียงพอของท่านกลับสะท้อนในมุมกลับให้ผมในฐานะผู้อ่านเห็นไปว่าท่านอาจารย์นิธิมีอคติส่วนตัวกับ พตท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะตัวบุคคลและเจตนาที่จะยกเรื่องอะไรเรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาเป็นเชิงวิชาการที่ดูน่าเชื่อถือมาโจมตีบุคคลซึ่งท่านไม่ชอบด้วยเหตุผลที่ไม่แจ้งในบทความ เจตนาของท่านตรงนี้ชัดเจนมากกว่าการที่ท่านต้องการจะอธิบาย “การปฎิวัติทางญาณวิทยา” ตามหัวข้อบทความของท่านเสียอีก
ที่น่าสนใจก็คือ ท่านได้ยกคำพูดของนายกรัฐมนตรีว่า “จุดอ่อนของคนไทยนั้นอยู่ที่คนไม่รู้เถียงกับคนไม่รู้” จากนั้นท่านได้ยกตัวอย่างนโยบายการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีซึ่งผิดพลาดมา โดยสะท้อนเจตนาที่ผมรับรู้ได้ในฐานะผู้อ่านว่าท่านเจตนาทับถมความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี
หนึ่งในเรื่องของความผิดพลาดที่ท่านได้ยกมาคือ เรื่องนโยบายควบคุมราคาน้ำมันของรัฐบาล การยกเรื่องนี้มาเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าอาจารย์นิธิขาดความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ของโลกในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเรื่องราคาน้ำมันนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนผิดความคาดคิดของผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจทั่วโลกไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น จะกล่าวได้ว่าทุกประเทศทั่วโลกดำเนินนโยบายบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดเกี่ยวกับน้ำมันกันทั้งนั้น เรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่ต้องเห็นใจกันและช่วยกันแก้ไขปัญหามากกว่าที่จะเอาความผิดพลาดมาทับถมกัน
การวิเคราะห์สถานการณ์โลกทุกวันนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ในฐานะผมเป็นนักอ่านที่ติดตามสถานการณ์โลก ณ ปัจจุบัน ผมพอจะทราบว่าเหตุการณ์อย่างที่เรากำลังเจอกันทั่วโลกนี้ ไม่มีอยู่ในตำราเศรษฐศาสตร์ไหนทั้งนั้น เรากำลังอยู่ในโลกใหม่ที่ไม่มีใครคาดเดาได้
ผมขอยกตัวอย่างเช่น จาก Bloomberg.com ที่ผมได้อ่านว่า คุณ Bill Gates และ คุณ Warren Buffet ได้ฟันธงในตอนต้นปีว่าค่าเงินดอลล่าร์จะตกลงมามากภายในปีนี้ ทั้งสองคนได้ลงทุนในเงินตราต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่ดอลล่าร์) ไว้มาก (ผมหา link ของข่าวนั้นไม่เจอจริงๆ มันเกือบครึ่งปีแล้ว แต่ผมจะพยายามหาต่อ) แต่ตอนนี้เข้าสู่ช่วงกลางปี ดอลล่าร์กลับพยุงตัวและแข็งค่าขึ้น ผิดคาดของทุกคน รวมทั้งทั้งสองคนนั้น ซึ่งเป็นนักธุรกิจอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลก ในสถานการณ์อย่างนี้ถ้าผู้บริหารประเทศไทยของเราจะวิเคราะห์ผิดบ้างก็ไม่ควรจะเอาเป็นประเด็นมาทับถมกัน เพราะอย่าลืมว่า ผู้บริหารประเทศต้องตัดสินใจ “ก่อน” เหตุการณ์จะเกิดขึ้น ส่วนผู้ประนามผู้บริหารนั้นกระทำ “หลัง” เหตุการณ์เกิดขึ้น การพูดนั้นง่ายกว่าการทำ และการพูดทีหลังนั้น ง่ายกว่าการกระทำมากมายนัก
ถ้าจะกล่าวให้ชัดคือ ถ้าใครไม่กล้าฟันธงว่าปลายปีนี้ราคาน้ำมันจะเป็นเท่าไหร่ และไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์การเงินที่เห็นภาพชัดว่าราคาน้ำมันของโลกตอนนี้ขึ้นลงด้วยเหตุผลอย่างไร (หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “ผู้ไม่รู้”) คนนั้นก็ควรปล่อยเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ผู้ชำนาญการเขาคิดกัน ไม่ควรฉวยโอกาสเอาผลลัพธ์ที่ผิดพลาดของคนทำงานที่ต้องตัดสินใจด้วยข้อมูลอันจำกัดในเวลาอันกระชั้นมาทับถมกัน เพราะการกระทำอย่างนี้ ในมาตราฐานญาณวิทยาของฝรั่งยุคใหม่ที่อาจารย์นิธิชื่นชมแล้ว ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควรและขาดเขลาเป็นอย่างยิ่ง
อีกประเด็นที่อาจารย์นิธิมองว่าเป็นความผิดพลาดของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือการที่นายกฯ สื่อสารกับสื่อมวลชน ท่านมองว่านายกฯ arrogance (ซึ่งแปลเป็นไทยว่ามั่นใจในตัวเองมากเกินไป) แต่ผมกลับมองว่า นายกฯ คนปัจจุบันของประเทศไทยให้สัมภาษณ์สื่อในลักษณะการพูดแบบเดียวกันกับผู้นำชาติอื่นๆ ถ้าอาจารย์นิธิได้ดูรายการโทรทัศน์ของต่างประเทศบ้างก็จะพบว่านายกฯ ไทยเราก็ไม่ได้ต่างกับผู้นำชาติอื่นๆ ในวิธีการพูด (จริงๆ แล้วผมยังติด้วยซ้ำ ว่านายกฯ เรายังพูดฉะฉานเด็ดขาดน้อยไป น้ำหนักยังไม่เท่ากับผู้นำชาติโดยปกติเขาพูดกัน) ในขณะที่วิธีการพูดแบบนี้กลับได้การยอมรับว่าเป็นการแสดงถึงความเป็นผู้นำที่ถึงขั้นฝรั่งมีโรงเรียนสอนการพูดแบบนี้ ประเทศเรากลับไม่ได้รับการยอมรับจากปราชญ์เสียนี่
พอกล่าวถึงวิธีการพูดของนายกฯ ท่านปัจจุบัน ทำให้ผมนึกกลับไปถึงอดีตนายกฯ ท่านหนึ่งที่จะมีคำพูดติดปากว่า “ผมไม่ทราบครับ ยังไม่ได้รับรายงาน .... เรื่องนี้ต้องถามผู้ที่รับผิดชอบครับ” บางทีวิธีการพูดแบบอดีตนายกฯ ท่านนั้นซึ่งแตกต่างกับนายกฯ ท่านปัจจุบันมาก อาจจะเป็นวิธีที่อาจารย์นิธิประทับใจก็ได้ แต่ผมเองกลับประทับใจคนพูดฉาดฉานมีความมั่นใจในตัวเอง คนพูดเลี่ยงไปเลี่ยงมาผมไม่ชอบ โดยเฉพาะคนเอาแต่พูดติคนอื่น แต่ตัวเองไม่เคยมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน (หรือผลงานที่ตัวเองอ้างว่ามีโดยส่วนใหญ่คือการติเตียนคนอื่นผ่านสื่อต่างๆ) คนประเภทนี้ญาณวิทยาฝรั่งไม่ยอมรับถึงขั้นตั้งข้อรังเกียจทีเดียว
นอกจากนี้อาจารย์นิธิยังต้องการให้นายกฯ ปัจจุบัน “พิสูจน์” ด้วยพยานหลักฐานทุกครั้งเวลานายกฯ ถูกสัมภาษณ์ ซึ่งผมเองนั้นกลับมองว่าคงเป็นไปได้ยากในการสัมภาษณ์แบบล้อมหน้าล้อมหลังแบบที่สื่อไทยทำกับผู้นำประเทศไทย ผมยังสงสัยว่าทำไมการสัมภาษณ์ผู้นำชาติของเรา (ไม่ว่าคนไหนก็ตาม) ทำไมไม่ได้รับการให้เกียรติจากนักข่าวเลย สัมภาษณ์เหมือนกับการสัมภาษณ์จำเลยในคดีอะไรสักอย่างหนึ่ง เวลานักข่าวพวกนี้สัมภาษณ์ดารานักร้อง เขายังจัดระเบียบได้ดูมีเกียรติกว่า
ในความคิดผม ถ้าทางรัฐบาลไม่ได้จัด Press Conference ที่เป็นหลักเป็นฐานสำหรับการให้สัมภาษณ์ของผู้นำ (อย่างที่เราเห็นใน White House เป็นต้น) นักข่าว ในฐานะผู้ที่เห็นข่าวมาทั่วโลก ก็น่าจะมีประสบการณ์และความคิดตรงนี้กันได้ เพราะผู้นำของประเทศคือศักดิ์ศรีของประเทศชาติ ถ้าคุณไม่ให้เกียรติผู้นำของคุณ คุณก็ไม่ให้เกียรติตัวคุณเอง
คุณจะชอบหรือไม่ชอบ พตท. ทักษิณ มันก็เรื่องของคุณ แต่คุณต้องให้เกียรตินายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ไม่ทราบว่านักข่าวทั้งหลายจะเข้าใจไหม ถ้าไม่เข้าใจก็ลองไปถามอเมริกันสักคน ไม่ว่าเขาจะเป็น Democrat หรือ Republican ไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยกับสงครามอิรัคหรือไม่ อเมริกันทุกคนปกป้องเกียรติของ President ของเขาอย่างสุดชีวิตทั้งนั้น และไม่มีนักข่าวคนไหนในโลกมีสิทธิ์เอาไมค์จ่อปากประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างที่คุณทำกับผู้นำไทยมาทุกยุคทุกสมัย
กลับมาที่ความเห็นของอาจารย์นิธิเรื่อง “ท่าที” ของนายกฯ ต่อการให้สัมภาษณ์ ผมก็สรุปในความคิดผมว่า อาจารย์นิธิน่าจะไม่มีประสบการณ์ในการถูกสัมภาษณ์แบบล้อมหน้าล้อมหลัง อาจารย์จึงคิดไปเองว่าถ้าถูกสัมภาษณ์อย่างนั้นก็น่าจะพูดอย่างโน้นอย่างนี้ได้ โดยสรุปก็กลับมาที่ความ “ไม่รู้” อีกเช่นเดิม เป็นความไม่รู้ของผม ที่คิดว่าอาจารย์นิธิน่าจะไม่รู้เพราะไม่มีประสบการณ์ตรง ผมไม่เคยเห็นอาจารย์นิธิถูกสื่อสัมภาษณ์แบบล้อมหน้าล้อมหลังเสียที ไม่ว่าในโทรทัศน์ช่องไหนก็ตาม เคยเห็นแต่อาจารย์นิธิถูกสัมภาษณ์แบบ “ดารา”
ที่จริงแล้ว ยังเหลืออีกหลายประเด็นที่ผมวิเคราะห์ได้ในบทความของอาจารย์นิธิ แต่ผมคงต้องจบแค่นี้ก่อน เพราะเพียงเท่านี้ ก็คงจะสร้างปัญหาชีวิตได้ให้ผมมากเพียงพอแล้ว เนื่องจากโอกาสที่บทความนี้จะถูกอ่านด้วยญาณวิทยาแบบไทยที่เน้นตัวบุคคลว่าเป็นผู้สำคัญแตะต้องไม่ได้ มีเยอะกว่าโอกาสที่จะถูกอ่านด้วยญาณวิทยาแบบฝรั่งยุคใหม่ที่สนับสนุนให้คิดเองมากกว่าเชื่อตามกันไป
ผมต้องขอชี้แจงไว้ก่อนว่าผมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทั้ง พตท. ทักษิณ หรืออาจารย์นิธิ ผมแค่มีความเชื่อว่าบุคคลทั้งสองคนนี้ต่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การที่บุคคลหนึ่งพยายามเอาหัวข้อที่ดูเป็นวิชาการมาโจมตีอีกบุคคลหนึ่ง แต่การอ้างอิงที่ไม่ชัดเจนว่าหัวข้อนั้นเกี่ยวข้องกับการโจมตีอย่างไร ทำให้ผมเข้าใจว่าน่าจะต้องมีเหตุผลอื่นเป็นการส่วนตัวที่ไม่ได้แจ้งเข้ามาเกี่ยวข้อง
ผมในฐานะคนที่ได้อ่านบทความนั้น ก็จำเป็นต้องออกมาแสดงตนและแสดงเหตุผลให้อาจารย์นิธิเห็นว่า ไม่ใช่คนทุกคนจะเชื่อในสิ่งที่อาจารย์นิธิเขียน โดยเฉพาะเวลาอาจารย์ยกเหตุมาอธิบายผลที่ไม่ได้ไปด้วยกันเลย ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่คิดก่อนเชื่อ เพียงแต่เขาไม่หาเรื่องใส่ตัวโดยการมาเขียนอย่างที่ผมทำเท่านั้นเอง ทั้งนี้เพราะคนรุ่นใหม่เขารู้ว่ามีใครบ้างในประเทศไทยที่ยังยึดติดกับญาณวิทยาแบบไทย
หลังจากผมเผยแพร่บทความนี้ไปแล้ว เราคงได้รู้กันว่าญาณวิทยาแบบไหนกันแน่ที่อาจารย์นิธิผู้เขียน “การปฎิวัติทางญาณวิทยา” ยึดถืออย่างแท้จริง ส่วนผมในฐานะเด็กไทยเมื่อวานซืนที่โง่บังอาจวิเคราะห์ปราชญ์ผู้ใหญ่ ก็น่าจะมีเคราะห์กรรมตามมาในไม่ช้า ... เอาเถอะครับ ผมทนได้ เพื่อได้เป็นกระบอกเสียงว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องถูกครอบงำทางความคิดโดยบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์เพียงอย่างเดียว คนไทยทุกคนมีความคิดครับ