การนำเสนอความรู้ฝังลึก


การจัดการความรู้ฝังลึกที่ทรงคุณค่าที่สุดอยู่ที่ครอบครัว การปฏิบัติสุนทรียสนทนาในครอบครัว เป็นการปลูกฝัง หรือการศึกษาที่ทรงคุณค่าที่สุด

การนำเสนอความรู้ฝังลึก
       ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) นี้ เราไม่คุ้นเคย    หรืออาจมองใหม่ว่าคุ้นเสียจนไม่ตระหนักว่ามีอยู่  เหมือนปลากับน้ำ     หลายคนไม่ตระหนักว่าตนมีความรู้ฝังลึกเกี่ยวกับภารกิจที่ตนปฏิบัติอย่างดีเยี่ยม   หลายคนไม่สามารถบรรยายหรือพูดเรื่องความรู้ฝังลึกที่ตนมี ให้แก่ผู้อื่นได้   ยิ่งเขียนออกมายิ่งทำได้ยาก บางคนทำไม่ได้เลย  บางคนเขียนได้เพียงเล็กน้อย 
      การพูดความรู้ฝังลึกออกมาให้คนอื่นได้รับรู้นั้น เป็นที่รู้กันว่าพูดออกมาได้ไม่หมด   ยิ่งเขียนยิ่งดึงความรู้ฝังลึกออกมาได้น้อย   จึงต้องมีเทคนิค หรือเครื่องมือ ในการช่วยให้ผู้มีความรู้ (ฝังลึก) ที่เป็นความรู้จากประสบการณ์หรือการปฏิบัติ  สามารถปล่อยความรู้ของตนให้แก่ผู้อื่นได้มาก และสามารถปล่อยความรู้ที่ซับซ้อน บูรณาการ และลึกในระดับจิตใจ ความรู้สึก และเป็นทักษะ ให้แก่ผู้อื่นได้
       ผมมีความเห็นว่าการแลกเปลี่ยนความรู้ฝังลึกจากคนคนหนึ่งไปยังบุคคลอื่นสามารถทำได้โดยวิธีหรือเครื่องมือต่อไปนี้
1.        การเขียนเล่าเรื่องราว    ข้อเขียนโดยทั่วไปนำเสนอความรู้ฝังลึกได้ในระดับที่ตื้น     และปลดปล่อยความรู้ฝังลึกออกมาได้เพียงบางส่วน     คนบางคนไม่มีทักษะในการเขียน    บางคนไม่มีฉันทะ    จุดสำคัญคือทุกคนฝึกฝนได้     วิธีฝึกฝนที่ดีที่สุดคือเขียนบันทึกส่วนตัวประจำวัน ที่เรียกว่าบันทึกไดอารี่     ในยุคไอที เกิดวิธีบันทึกไดอารี่แบบใหม่ คือบันทึกลง บล็อก ให้คนทั้งโลกมีโอกาสได้ร่วมเรียนรู้จากประสบการณ์ของเราด้วย     และตัวเราเองก็ได้เรียนรู้เพิ่มจากข้อเสนอแนะของผู้เข้ามาอ่าน    ดังตัวอย่างที่ผมกำลังเขียนบันทึกลงใน thaikm.gotoknow.org อยู่ในขณะนี้
                การเขียนเล่าเรื่องราวที่ดีจะต้องได้อารมณ์  ได้บรรยากาศ  มีชีวิต และมีชีวิตชีวา     คนอ่านรู้สึกเหมือนร่วมอยู่ในเหตุการณ์
2.        การสนทนา    การสนทนาในลักษณะ “ไปทำอะไรมา”    หรือเล่าเหตุการณ์ประทับใจ  เรื่องราวที่ภูมิใจ    น่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ฝังลึกที่ใช้กันมากที่สุดในชีวิตประจำวัน    และน่าจะเป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญที่สุด ทรงพลังที่สุด ในการปลูกฝังนิสัย บุคลิก ความเชื่อ คุณธรรม จริยธรรม     ผมมีความเห็นว่าการสนทนาน่าจะเป็น การศึกษา ที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกรักของทุกคน     พ่อแม่ทุกคนควรเรียนทักษะ สุนทรียสนทนา (dialogue) สำหรับใช้กับลูกของตน    สำหรับใช้ในการ “สอนแบบไม่ได้สอน” ซึ่งจำเป็นมากสำหรับวัยรุ่นสมัยนี้     ที่จริงก็จำเป็นสำหรับวัยรุ่นทุกสมัย และในทุกสังคม    แค่พ่อแม่ (และครู) “ฟังและได้ยิน” สิ่งที่วัยรุ่นภาคภูมิใจและอยากบอก “พยศแห่งวัยรุ่น” ก็ลดลงกว่าครึ่งแล้ว 
             องค์ประกอบที่สำคัญ คือ การมีใจที่จะฟัง    ทักษะในการฟังอย่างตั้งใจ (deep listening)   ทักษะในการถามอย่างชื่นชม    และทักษะในการเล่าออกมาจากใจ
3.        การผูกเป็นนิยาย  นิทาน
4.        การเขียนออกมาเป็นบทกวี
5.        การเขียนบทละคร  และนำเสนอเป็นละคร
6.        ทำเป็นภาพยนตร์
          ความรู้ฝังลึกนี้  คำว่าลึก ไม่ได้หมายถึงความลึกซึ้งของตัวความรู้ความเข้าใจนะครับ     แต่หมายถึงมันอยู่ลึกมากในใจ (ความเชื่อ ค่านิยม กระบวนทัศน์)  ในสมอง (ความคิดเชิงเหตุผล)  และในมือ (ทักษะเชิงปฏิบัติ) ของคน    ทำให้แลกเปลี่ยนยาก   
           การจัดการความรู้แนว สคส. ในขณะนี้เน้นที่ความรู้ฝังลึกนี่แหละ    โดยเน้นเอามาใช้งาน    ใช้เป็นพลังขับเคลื่อนความสำเร็จ    ขับเคลื่อนการเรียนรู้    ขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กร    ขับเคลื่อนสังคม    ขับเคลื่อนคุณภาพชีวิต    ขับเคลื่อนความสุขจากการแบ่งปัน   ความสุขจากการค้นหาความดี เอามาต่อยอด    และขับเคลื่อนปัญญา       วิธีการของ สคส. เน้นการ ขับเคลื่อนแบบ “ไร้กระบวนท่า” ไร้อำนาจ     หรืออาจเรียกว่า แบบพหุภาคี    แบบเครือข่ายกัลยาณมิตร
          สคส. เน้นที่การจัดการ  ในลักษณะของ “การจัดการเครือข่าย”  “การจัดการแบบไม่จัดการ”   “การจัดการแบบเอื้ออำนาจ (empowerment)”    เราเชื่อว่าท่าทีและวิธีการเช่นนี้ คือวิธีการ “เล่นกับของลึก”    หรือการจัดการความรู้ฝังลึก    เป็น “บริการสาธารณะ” ที่ สคส. มุ่งมั่น นำเสนอแก่สังคมไทย
         สคส. มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจ empower สังคมไทย ให้มีทักษะในการใช้พลังปัญญาแห่งความรู้ฝังลึก     สู่รูปธรรมแห่งสังคมอุดมปัญญา    เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข และพอเพียง เพียงพอ ของสังคมไทย
วิจารณ์ พานิช
๑๖ กค. ๔๘

หมายเลขบันทึก: 1294เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2005 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความเข้าใจเรื่องความรู้ฝังลึกเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าอย่างยิ่งครับ

คำพูดที่เคยได้ยินเมื่อก่อนนี้ คือบางคนจะดูถูกตัวเองว่าวิธีการของตนเป็นวิธีแบบมวยวัด ไม่มีหลัก ไม่มีทฤษฎีรองรับ  พอเข้าใจเรื่องความรู้ฝังลึกแล้วจะทำให้เรามั่นใจในตนเองและเคารพในศักดิ์ศรีของคนอื่นมากขึ้น

เราคงมีทักษะในการขุดคุ้ยและถ่ายทอดความรู้ฝังลึกกันมากขึ้นเรื่อยๆ  สิ่งหนึ่งที่ผมพบว่ามีประโยชน์คือการใช้คำถามกระตุ้นหรือคำถามยั่วยุ โดยใช้สถานการณ์ยากๆ ซึ่งอาจจะไม่เป็นจริงมายั่วยุให้ปลดปล่อยความรู้ฝังลึกออกมา

ตัวอย่างเช่น ในวงสนทนาของกลุ่มผู้เชียวชาญเรื่องไข้เลือดออก โทนของการพูดคุยคือความคาดหวังว่าแพทย์ทุกคนมีความรู้ มีความตระหนัก และมีความรับผิดชอบสูง  คำถามยั่วยุที่ผมแหย่เข้าไปก็คือ "ใน รพ.อำเภอ ซึ่งมีคนไข้มาก มีหมอน้อย และเป็นหมอที่มีจุดอ่อนในหลายๆ เรื่อง  จะมีคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยอย่างไร เพื่อช่วยเหลือน้องๆ ไม่ให้ถูกร้องเรียนได้ "  ปรากฏว่าได้ผลดีมากครับ  โทนของการพูดคุยเปลี่ยนไปสุ่สิ่งที่ practical มากขึ้น โดยอาศัยความรู้ฝังลึกของผู้เข้าร่วมประชุมชุดเดิมนั่นเอง  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท