GotoKnow

วิวัฒน์ของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ

วัลลา ตันตโยทัย
เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2548 18:13 น. ()
แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2555 12:07 น. ()
หน่วยบริการปฐมภูมิมีบทบาทที่สำคัญมากในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง....จะให้บริการเหมือนยกคลินิกของโรงพยาบาลที่เน้นการรักษาอาการ แต่เข้าไปตั้งในชุมชน คงไม่ได้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้รับข่าวจาก พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข และคุณณัฐพร สุขพอดี ว่าจะมีการจัดประชุมวิชาการเรื่อง "วิวัฒน์ของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ : สมดุลสร้างกับกับซ่อมสุขภาพ" ระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ที่โรงแรมรามาการ์เด็น ถนนวิภาวดี กรุงเทพ มีองค์กรภาคีร่วมจัดประชุมถึง ๑๑ องค์กร

วัตถุประสงค์ของการประชุมมี ๓ ข้อ

๑. เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ประสบการณ์และบทเรียน นำสู่ความเข้าใจร่วมกันถึงแนวคิด หลักการ และทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิในประเทศไทย 
๒. เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ
๓. เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระแสความตื่นตัวต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในทิศทางที่เหมาะสม

เนื้อหาสำคัญ ได้แก่

๑. ภาพรวมของแนวคิด หลักการสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เน้นการดูแลแบบองค์รวม สนับสนุนการพึ่งพาตนเองของประชาชน และการสร้างสุขภาพ 
๒. เทคโนโลยีและประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพผู้ป่วยเรื้อรัง การสร้างสุขภาพ การพึ่งพาตนเองของประชาชน
๓. ทิศทางการพัฒนาและสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ
๔. บทบาทของหน่วยบริหารและสถาบันวิชาการในการสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ

รูปแบบการประชุมมีทั้งการปาฐกถา การอภิปราย การเสวนากลุ่มย่อยผ่านกรณีศึกษา นิทรรศการกรณีศึกษาและการแลกเปลี่ยนกันแบบตัวต่อตัว

หัวข้อการประชุมทั้งในห้องใหญ่และห้องย่อยน่าสนใจทั้งนั้น ในวันแรกมีปาฐกถาเรื่อง "แก่นของระบบดูแลสุขภาพปฐมภูมิ" โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ส่วนวันสุดท้ายเป็นปัจฉิมกถาเรื่อง "จะพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิต่อไปอย่างไร" โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี

เรื่องของการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ได้มาออกงานด้วย ในหัวข้อ "จะทำให้เกิดบริการองค์รวมได้อย่างไร" เป็นการเรียนรู้ผ่านกรณีผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นเรื่องของการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในสถานบริการปฐมภูมิ ของ อ.ประทาย จ.นครราชสีมา และเรื่องระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานด้วยการจัดการของชุมชน เป็นกรณีของ สอ.โคกสูง อ.ปลาปาก จ.นครพนม

คณะผู้จัดงานได้เชิญให้โรงพยาบาลเทพธารินทร์ไปแสดงนิทรรศการด้วย ดิฉันและคุณธัญญา หิมะทองคำ ช่วยกันร่างผลงานของโรงพยาบาลที่เชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ พร้อมปรึกษาศาสตราจารย์ นายแพทย์เทพ หิมะทองคำ ทำเค้าโครงเนื้อหาและภาพประกอบ ส่งให้คุณณัฐพร สุขพอดี เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฏาคม ๒๕๔๘ ตอนนี้ยังไม่เห็นว่ารูปร่างหน้าตาของนิทรรศการจะออกมาเป็นอย่างไร

วันนี้ดิฉันติดต่อไปที่สำนักงาน ได้คุยกับคุณสุรศักดิ์ อธิคมานนท์ ได้ข้อมูลว่ามีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก เดิมกำหนดไว้ ๖๐๐ คน ตอนนี้มียอดผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๑,๐๐๐ คน แล้ว ได้ปิดรับลงทะเบียนไปนานแล้ว ผู้ใดสนใจจะเข้าสังเกตการณ์ก็ได้ แต่ต้องดูแลตนเองเรื่องอาหารการกิน

ดิฉันคิดว่าหน่วยบริการปฐมภูมิ มีบทบาทที่สำคัญมากในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน จะให้บริการเหมือนยกคลินิกของโรงพยาบาลที่เน้นการรักษาอาการ แต่เข้าไปตั้งในชุมชน คงไม่ได้ คงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนกระบวนการทำงานกันยกใหญ่

ดิฉันสนใจอยากรู้ว่าระบบบริการปฐมภูมิมีวิวัฒนาการไปถึงไหน อย่างไรบ้าง จึงจะเข้าไปสังเกตการณ์การประชุมครั้งนี้ หากมีความรู้อะไรดีๆ จะนำมาเล่าให้สมาชิกทราบค่ะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘



ความเห็น

น้ำข้าว
เขียนเมื่อ

สุด ยอด จิง ๆๆ เยย €


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย