Blog สัมพันธ์กับ KM อย่างไร


blog จะอยู่ในกระบวนการ KM ได้หลายจุด

วันนี้ผมไปบรรยายเรื่อง blog ให้กับ เครือข่าย ม.ราชภัฏ  ในโครงการ
วิจัยและพัฒนาวิชาชีพครู  บรรยายครั้งนี้เกือบจะหน้าแตกนิดหน่อย
เพราะเขากำหนดหัวข้อจริงๆ ว่า "การจัดการความรู้ในโครงการวิจัย"
ผมเลยต้องหาทางขมวดให้ได้ว่า blog สัมพันธ์กับ KM ยังไง
จึงเป็นที่มาของบันทึกวันนี้

ปัญหาแรกสุดคือการนิยามเรื่อง การจัดการความรู้  ว่าจะให้ความหมาย
ครอบคลุมอะไรบ้าง  เน้นอะไรบ้าง   ในกระบวนการความรู้ทั้งหมด
จะแบ่งง่ายๆ ก็แบ่งได้เป็น การสร้าง การบันทึก การค้นหา การแลกเปลี่ยน
การประยุกต์ใช้ ฯลฯ  โดย สคส. จะเน้นเรื่องการแลกเปลี่ยนเป็นหลัก
ถึงไม่มีการบันทึกความรู้เป็น explicit เลย ก็ยังถือเป็นการจัดการความรู้ได้

เพื่อความสะดวกผมจะขออ้างถึง model ของ Nonaka ดังรูปด้านล่าง

ใน model นี้ จะเน้นเรื่องการแปลงไปมา ระหว่างความรู้ tacit และ explicit
ซึ่ง blog จะอยู่ในกระบวนการ KM ได้หลายจุด คือ

1. tacit->tacit (socialization)
คือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อถ่ายทอดความรู้อย่างใกล้ชิด
บาง blog ที่เขียนได้เป็นกันเองมากๆ จนเหมือนกับนั่งคุยกัน ก็ถือว่า
เกิดการถ่ายทอดความรู้แบบ socialization แล้ว (แต่ก็อาจเถียงได้ว่า
ข้อความใน blog เป็น explicit มากกว่า tacit)

2. tacit->explicit (externalization)
คือการถอดความรู้ภายใน ออกมาเป็นเนื้อหาที่ชัดเจน คือข้อความ
ใน blog นั่นเอง  ในแง่นี้ blog มีความโดดเด่นในการที่สามารถ
ทำให้คนรู้สึกเป็นกันเอง และไว้วางใจ ที่จะเล่าเรื่องต่างๆ ออกมา
โดยไม่ปิดกั้นเก็บไว้กับตัวเองเท่านั้น   พอเนื้อหาออกมาจากผู้เล่าแล้ว
ก็พร้อมจะผ่านไปยังกระบวนการถัดไป คือ

3. explicit->explicit (combination)
คือข้อความใน blog หนึ่ง ถูกนำไปใช้รวมกับข้อความจาก blog อื่นๆ
เช่น ผมอ่าน blog หลายๆ แห่ง  แล้วผมก็เขียนวิเคราะห์เปรียบเทียบ
โดยอ้างอิงถึงหลายๆ blog  การที่เนื้อหาที่เป็น explicit สามารถถูกนำ
ไปประมวล (โดยคน หรือโดย computer) เพื่อสร้างขึ้นเป็นความรู้ที่
ละเอียดยิ่งขึ้นนี้เอง ที่เรียกว่า combination

4. explicit->tacit (internalization)
คือการที่ผู้อ่าน ซึมซับความรู้ ความคิด ค่านิยม ฯลฯ จากการอ่าน
blog ของหลายๆ คน  เกิดเป็นความรู้ความเข้าใจ ภายในใจเขาเอง

จะเห็นว่า blog ก็เป็นช่องทางหนึ่ง ของกระบวนการ KM ใน model
ของ Nonaka ได้ค่อนข้างจะครบถ้วน หากเราเอา model อื่นมาเปรียบเทียบ
ก็คงได้เช่นเดียวกัน   อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่ายังมีช่องทางอื่นๆ เครื่องมืออื่นๆ
อีกมากมาย (ไม่เฉพาะ blog) ที่นำมาใช้ในกระบวนการทั้ง 4 นี้ได้อีก
เราจึงต้องเลือกใช้เครื่องมือตามความเหมาะสม ด้วยความรู้ความเข้าใจ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1287เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2005 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

         การบรรยายเรื่อง การจัดการความรู้ในโครงการวิจัยที่สรุปให้ในการสัมมนา ผมว่าก็ OK นะครับ เพราะผมมีความเห็นว่า (ก)ขยายความต่อเนื่องกับเรื่องที่ผมบรรยายไว้ก่อน ในทัศนะของผม ผมรับฟังการบรรยายอยู่ยังนึกว่า ผมพูดเรื่อง บลอกไว้น้อย ท่านมาขยายความให้ทำให้ผู้ฟังมีความชัดเจนมากขึ้น (ข)คุณบรรยายได้ Concept ที่สำคัญคือง่าย เหมาะกับผู้ฟังที่มี Concept ในเรื่องนี้มาก่อน โดยเฉพาะนักวิจัยส่วนใหญ่ที่ไม่มีพื้นฐานทางไอทีมากนัก (ค)คุณสามารถเชื่อมโยง KM +การวิจัย ฟังแล้วง่ายๆและได้ Concept ชัดเจนมาก

         อีกเรื่องหนึ่งคือ ผมทำหน้าที่เป็น node ของ กทม.ตั้งใจจะทดลองใช้ GOTOKNOW เป็นกระดานข่าวสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุดโครงการวิจัยใน กทม. 11โครงการระหว่าง 6 มรภ.ใน กทม. แต่ยังไม่แน่ใจว่าสมาชิกจะรับความคิดได้หรือไม่ ปรากฏว่า ภาคบ่ายหลังจากฟังการบรรยายของคุณแล้ว ผมไม่ต้องเชิญชวนใดๆเลย เขารับที่จะใช้ blog รายงานความก้าวหน้าของกิจกรรมการวิจัยโดยผมไม่ต้องเชิญชวนแต่ประการใด จึงถือว่า การบรรยายของคุณทำให้ทำงานได้สะดวกขึ้นแยะ ที่มากกว่านั้นคือ ท่าน ผศ.ดร.สะเทื้อน(มรภ.อุบลฯ)ก็เห็นประโยชน์ ว่าจะสร้างชุมชนของชุดโครงการวิจัยระดับประเทศขึ้นเช่นกัน ต้องขอบคุณคุณกรกฎอย่างมากทีเดียว

          ท่านคงเห็นสภาพว่า นักวิจัยในชุดโครงการนี้อายุเกินไอทีไปมาก แต่คุณทำให้บลอกดูไม่ยากและสนองงานได้ ต้องชมว่างานนี้ได้ทั้งทำวิจัยและได้ความรู้เรื่องบลอกด้วย ผมได้เสนอกับท่านที่เข้าร่วมประชุมว่า เหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ได้ learn จากการทำวิจัย

           ผมได้รับคำถามจากคุณหมอวิจารณ์ว่า ทำ KM ของชุดโครงการวิจัยนี้มีอะไรที่รู้สึกว่าน่าภาคภูมิใจบ้าง ผมคงจะเรียนท่านว่า รู้สึกภูมิใจได้แนะนำให้ทีมรับนำ KM ไปใช้ในโครงการวิจัยนี่แหละ

          ต้องขอขอบคุณอย่างสูงที่มาบรรยายให้ความรู้ ต้องเรียนว่า คณะนักวิจัยมีความรู้น้อยเรื่องไอที แต่ตั้งใจจริงที่จะเรียนรู้ โอกาสหน้าคงต้องขอความอนุเคราะห์อีกนะครับ-มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  

 

ขอบคุณมากคะที่ให้ความรู้แก่สมาชิก GotoKnow คะ  ดิฉันได้ขอเชิญชวนบล็อกของอาจารย์ (http://blogwatch.gotoknow.org) เข้าชุมชน http://developers.gotoknow.org นะคะ ช่วย approve ด้วยนะคะ ขอบคุณคะ :) 

อาจารย์กฤษดา ครับ

ผมยินดีที่ได้ไปช่วยบรรยาย เพราะเชื่อว่าการใช้ blog สามารถเป็นประโยชน์
ต่องานในหลายๆ ด้าน ทั้งการศึกษา การวิจัย และการจัดการความรู้
แล้วตอนนี้ สคส. กับ มรภ. 13 แห่งก็ได้มีการตกลงร่วมมืออย่างเป็นทางการ
อีกด้วย  ถ้าจะมีอะไรที่ผมช่วยได้ในฐานะสมาชิก สคส. ก็ยินดีครับ

ผมรู้สึกว่าทุกครั้งที่ผมไปพูดที่ไหนก็ตาม ผมก็จะรู้สึกเข้าใจเรื่องที่พูดมากขึ้น
และมักจะได้ประเด็น ที่จะเอามาเขียน blog ได้อีก  ถ้าอาจารย์สนใจเรื่อง
blog ก็ตามอ่านเรื่อยๆ ได้จาก blogwatch นะครับ

อาจารย์ จันทวรรณครับ  ผมได้ approve เข้าไปอยู่ในชุมชน developer แล้ว
จะพยายามเขียนในลักษณะ ให้ความรู้นำเสนอเรื่อง  blog กับสมาิชิกหน้าใหม่
ให้มากขึ้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท