การเสวนาเรื่อง “การสร้างความรู้ในสังคมไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”


การเสวนาเรื่อง “การสร้างความรู้ในสังคมไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”


          เรื่องนี้เคยเล่าไว้แล้วเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.48 (click)  การประชุมวันนี้ (13 ก.ค.48) มีคุณภาพสูงมาก   มีการนำเรื่อง KM ที่เกิดขึ้นเองถึง 9 กรณีศึกษา   คือที่ริเริ่มโดยภาคชุมชน 5 กรณีศึกษา   ริเริ่มโดยภาคธุรกิจ 2 กรณีศึกษา   และริเริ่มโดยภาควิชาการ 2 กรณีศึกษา   นำเสนอโดย ดร. ยุวนุช  ทินนะลักษณ์   เจ้าของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก   คุณภาพสูงสุดจากมหาวิทยาลัยปอยเตียร์ส์   ประเทศฝรั่งเศส   และเล่าเสริมโดยผู้ริเริ่มในแต่ละกรณีศึกษา   มีผู้เข้าร่วมเสวนาประมาณ 40 – 50 คน   ผู้ที่พลาดโอกาสนี้โปรดรอหนังสือที่จะออกจำหน่ายในงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ  ครั้งที่ 2   วันที่ 1 – 2 ธ.ค.48   หรือจะติดต่อขอซื้อ CD เสียง  หรือ  VCD จาก สคส. ก็ได้


          ผมจะไม่รวบรวมประเด็นการสร้างความรู้ที่เกิดขึ้น   และจะไม่สังเคราะห์เรื่องการสร้างความรู้ในสังคมไทย   แต่จะตั้งข้อสังเกตความประทับใจบางประเด็นเชื่อมโยงกับการจัดการความรู้ในสังคมไทย
1.      การจัดการความรู้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว   ในกระบวนการริเริ่มสร้างสรรค์ต่าง ๆ     กรณีศึกษาที่นำมาเสวนา 9 กรณี   มีเพียงกรณีเดียวคือโครงการฟ้าสู่ดินของครูบาสุทธินันท์ที่ตั้งใจดำเนินการ KM   นอกนั้นดำเนินการโดยไม่รู้จัก KM แต่ใช้ KM ในการดำเนินการ   แต่เป็น KM แบบไม่เต็มรูป   ไม่มีแบบแผนชัดเจน
2.      ไม่ยอมแพ้   และสร้างความรู้ต่อเนื่อง   ต่างก็ผ่านการต่อสู้กับอุปสรรคความยากลำบากและความล้มเหลวมาก่อนทั้งสิ้น   แต่ไม่ยอมแพ้   ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียนรู้   เอาชนะอุปสรรค   แต่ในปัจจุบันบางกรณีศึกษาก็อยู่ในช่วงที่เสี่ยงต่อการอยู่รอด   และทุกกรณีศึกษาต้องเรียนรู้หรือสร้างความรู้ขึ้นใช้เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา
3.      คิดเชื่อมโยงและซับซ้อน   ผู้ดำเนินการกรณีศึกษาทุกโครงการเป็นคนมีความเชื่อและเป้าหมายที่ชัดเจนมุ่งมั่น   มีแนวคิดหรือยุทธศาสตร์การทำงานที่น่าพิศวงทุกคน   และที่ผมชอบมากเป็นพิเศษคือคำอธิบายของคุณประยงค์  รณรงค์ (ผู้ได้รับรางวัลแม็กไซไซ  คนล่าสุด)   เกี่ยวกับโครงการโรงงานแป้งขนมจีน  จ. นครศรีธรรมราช   ชี้ให้เห็นวิธีคิดเชิงอยู่ร่วมกัน   เกื้อกูลกันของชุมชนต่างระบบนิเวศ   ที่เรียกว่า ยมนา คือ ย – สวนยาง,  ม – ไม้ผล,  นา – ชาวนา   โครงการโรงงานแป้งขนมจีนเกิดขึ้นภายใต้ความคิดของการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนพึ่งตนเองในระดับที่กว้างขวางกว่าชุมชนเดียว   คือเป็นเครือข่ายของชุมชน
4.      สร้างและใช้ความรู้ทั้งที่เป็นความรู้ท้องถิ่นและความรู้เชิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่     ที่สำคัญคือใช้และสร้างความรู้โดยยึดบริบทของตัวเองเป็นฐาน   เอาความรู้ไม่ว่าจะมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น   หรือที่เป็นความรู้สมัยใหม่   มาทดลองใช้   และเก็บข้อมูล  สังเกต  และปรับปรุง   เพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ
5.      ความรู้ที่มีพลัง   ในการเสวนาวันนี้   ผมสังเกตเห็น (และเชื่อว่าผู้เข้าร่วมเสวนาก็เห็น)  พลังการสร้างความรู้ของ ดร. ยุวนุช ภายใต้ความเชื่อ   และความเห็นคุณค่าของความรู้ 2 สาย   คือสายภูมิปัญญาไทย (ท้องถิ่น)   กับสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่   โดยที่จะต้องรู้จักใช้ความรู้ทั้ง 2 สายอย่างผสมกลมกลืนกัน   ดร. ยุวนุชได้ชี้ให้เห็นการใช้ของที่เป็นขั้วตรงกันข้ามให้เกิดพลังเสริม (synergy) ซึ่งกันและกัน   คือความรู้สายภูมิปัญญาท้องถิ่นมีลักษณะเคารพธรรมชาติ   รักษาสิ่งแวดล้อม   ในขณะที่ความรู้สายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยมีลักษณะเอาชนะธรรมชาติ
ดร. ยุวนุช   ได้อ้าง ดร. เสรี  พงศ์พิศ ว่า   ภูมิปัญญาท้องถิ่นมี 2 มิติ   คือมิติที่เป็นรูปธรรมหรือเทคนิค   กับมิติที่เป็นนามธรรมหรือวิธีคิด   ดังนั้น   ในการใช้ความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นต้องใช้โดยเข้าใจทั้ง 2 มิติ   ไม่ใช่ใช้เพียงมิติเทคนิค   นี่คือหัวใจของความสำเร็จของกรณีศึกษาทั้ง 9 ที่เราสัมผัสได้จากคำบอกเล่าของผู้ริเริ่มกรณีศึกษา
          ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น   จะมีพลังก็ต่อเมื่อผู้ใช้ใช้ทั้ง 2 มิติของความรู้
          ความรู้ที่มีพลัง   คือความรู้ที่นำไปสู่ความ กล้าที่จะแตกต่าง   หรือกล้าที่จะทวนกระแส   ไม่ทำตาม ๆ กันไป   เห็นได้ชัดเจนในกรณีศึกษาทั้ง 9
6.      อย่าเข้าใจผิด   ว่าผลงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์นี้แสดงสภาพการสร้างความรู้ในสังคมไทยโดยทั่วไป   นี่เป็นการยกมาเฉพาะตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ   ส่วนที่ไม่ประสบความสำเร็จคงจะมีมากกว่านี้หลายเท่า   เราใช้ยุทธศาสตร์ขยายความดี   คือเอาความสำเร็จมาศึกษา  ตีความ  เพื่อขยายความสำเร็จนั้นไปให้ทั่วแผ่นดินไทย
แต่ต้องตระหนักว่า   ความสำเร็จนั้นห้ามลอกเลียน   หรือลอกเลียนกันไม่ได้   ต้องเอา
ความรู้ไปทดลองในบริบทของตัวเอง   ดังกรณีคุณสินชัย  บุญอาจ   แห่ง ต.หนองพยอม  อ.ตะพานหิน  จ.พิจิตร   เล่าว่าตนปลูกและคัดพันธุ์ข้าวพื้นเมือชื่อข้าวขาวอากาศ   ได้ข้าวสารที่นุ่ม   กินอร่อยมาก   แต่เมื่อมีคนเอาพันธุ์ไปปลูกในจังหวัดเดียวกัน   ห่างออกไปเพียง 30 กม.   ก็ได้ข้าวสารที่แข็ง   กินไม่อร่อย
7.      ไม่สรุปสูตรการจัดการความรู้   ในการประชุมทำนองนี้   มักมีคนมาบอกผมว่า   คนเข้าประชุมจะงงว่าเกี่ยวกับ KM อย่างไร   ควรจะสรุปขั้นตอน KM ในตอนท้าย   ผมมาคิด ๆ ดูแล้ว   มีความเห็นว่าสรุปไม่ได้   และไม่ควรสรุป   เพราะในกระบวนการทำงานเหล่านี้มีการจัดการความรู้ (แบบประยุกต์) อยู่เต็มไปหมด   คนที่มองโดยใส่แว่น KM ก็เห็น KM   คนที่มองโดยใช้แว่น CQI ก็เห็น CQI   และที่สำคัญ   ท่านที่สร้างความสำเร็จเหล่านั้น   ไม่มีใครเลยที่มีความมุ่งมั่นจะทำ KM   ความมุ่งมั่นหรือผลสำเร็จที่ต้องการคือตัวผลงาน   ไม่ใช่ KM   ถือ KM เป็นเครื่องมือ   และเป็นเครื่องมือชิ้นเดียวในท่ามกลางเครื่องมือนับร้อยชิ้นที่ใช้ในการทำงาน

         

               ดร. ยุวนุช  ทินนะลักษณ์                                       บรรยากาศการเสวนา


           เคล็ดลับของความสำเร็จของ KM คือการใช้ KM แบบไม่รู้ตัว   เหมือนนกบิน


                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                         14 ก.ค.48


หมายเหตุ
          สคส. มีการประชุมวิชาการครั้งต่อไปดังนี้
·       28 ก.ค.48   เสวนาเรื่องราวความสำเร็จของ KM ในหน่วยราชการ  ที่โรงแรมเอเชีย  09.00 – 16.30 น.
·       18 ส.ค.48   นำเสนอการจัดการความรู้ช่วงระยะเวลา 40 ปี อยุธยา   ที่ รพ.เปาโล  09.00 – 12.00 น.
        ดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ www.kmi.or.th

 

หมายเลขบันทึก: 1284เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2005 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท