ขอเล่าต่อครับ เรื่องควันหลงหลังฉาก
และฉากหน้าคงต้องมีต่อไปเรื่อยๆครับ
ขอต่อด้วยกลุ่มวิทยากรที่มาร่วมงานเพราะถูก “ใจสั่งมา”
อีกกลุ่มหนึ่งครับ

เริ่มด้วย ปูชนียบุคคลแรก คือ ครูบา สุทธินันท์
ปรัชญพฤทธิ์ ผู้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน แห่งมหาชีวาลัยอีสาน
ที่หลายท่านใน Gotoknow
รู้จักคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว
ผมเอง
เมื่อคิดว่าจะเจาะเข้าไปหากลุ่มเครือข่ายที่มีพลังอยู่แล้วในเครือข่ายภาคต่างๆ
ก็เห็นกลุ่มพลังทางอีสานนี่แหละที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนมากที่สุด
ผมจึงเข้าไปสำรวจดู ก็รู้ว่าที่เป็นกลุ่มก้อน
เป็นเพราะมีศูนย์รวมใจอยู่ที่ คนๆหนึ่ง “ครูบา สุทธินันท์
ปรัชญพฤทธิ์ ” หรือ ต่อไปผมจะเรียกท่านว่า
“พ่อครู”
เพราะผมหมายถึง พ่อของครูจริงๆ
ที่ครูทั้งหลายน่าเดินตาม
ดังจะเห็นได้จาก อาจารย์ขจิต ฝอยทอง นักศึกษาปริญญาเอก
เดินตามอยู่ต้อยๆ
จนเลื่อนฐานะจากลูกศิษย์เป็นลูกชายตัวจริงไปแล้ว
และผมยังเห็นครูบาอาจารย์อีกหลายๆท่าน หลายๆสถาบัน
ที่กำลังเข้าแถวเดินตามท่านทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
พ่อครู
เป็นอุบัติการณ์ธรรมชาติทางสังคมที่ก่อให้เกิดขึ้น
เพราะเมื่อใดก็ตามสังคมใดเกิดวิกฤตหรือเกิดอาการหลงทาง
สังคมนั้นก็จะเกิดผู้นำตามธรรมชาติ
หรือผู้ที่มีวิสัยทัศน์รู้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ควรทำในสังคมนั้นๆ
ดังนั้น สิ่งที่พ่อครูพูดและทำให้ดูในขณะนี้
คือการชี้นำด้วยการปฏิบัติจริงเดินหน้าให้สังคมของตนดู
สิ่งที่พ่อครูสร้างขึ้น คือ มหาชีวาลัยอีสาน
จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยสรรพวิชา
ที่คนอีสานควรรู้และควรทำ
นอกจากนี้ พ่อครูยังเป็นอุบัติการณ์ ที่หาได้ยากในสังคมปัจจุบัน
ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิที่มีอยู่ พ่อครูทำให้คนที่มาพบต้อง ทึ่ง
แต่ไม่อึ้ง เพราะพ่อครูจะมีวิธีที่สื่อสารให้คนที่มาหา ได้รู้ ได้เห็น
ได้ปฏิบัติ จนเข้าใจอย่างถ่องแท้กลับไปทุกคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสื่อสารด้วยความรักและเมตตา
คนที่เคยพบพ่อครูทุกคน ยืนยันได้ว่า
แม้พ่อครูยังไม่เอ่ยปากพูดเลยสักคำ
กระแสแห่งความรักและเมตตาของพ่อครูยังหลั่งไหลออกมาให้สัมผัสรับรู้ได้
นี่คือจุดเด่นที่ทำให้ทุกคนรักและอยากชิดใกล้พ่อครู
ยิ่งกว่านั้น พอพ่อครูเอ่ยปากพูดออกมา
คนฟังทุกคนต้องนิ่งและตั้งใจฟังเพราะทั้งลีลาคำพูดและเนื้อความนั้น
ช่างมีสาระที่แทงใจคนฟังและมีแง่มุมใหม่ๆที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ของผู้ฟังจากมิติเดิมสู่มิติใหม่ได้อย่างน่าอัศจรรย์
ที่ยอดเยี่ยมไปกว่านั้น
คือสิ่งที่ท่านพูดออกไปด้วยลีลาและสำนวนที่สนุกสนาน ธรรมดาๆ
มิได้ใช้ศัพท์แสงลึกซึ้งทางวิชาการแต่อย่างใด
หากเต็มไปด้วยรสชาติสำนวนแบบพื้นบ้านผสมคำศัพท์แสงสมัยใหม่ที่วัยรุ่นชอบใช้
ทำให้คนฟังต้องฟังไปหัวร่อไป
ยิ้มหวัวไปและเข้าใจซึบซาบไปกับสาระที่พ่อครูสื่อออกไปด้วย
วิธีสื่อสารเช่นนี้เองที่ พ่อครูเรียกว่า
“เฮฮาศาสตร์”
ประกอบด้วยการต้อนรับขับสู้ ผู้มาเยือนแบบกันเองแบบญาติมิตร
ช่วยกันหุงหาอาหารทำกับข้าวเลี้ยงกันเอง
ผักหญ้ากับปลาก็หาเอาตามละแวกนั้น ชี้ชวนกันดู ชี้ชวนกันเก็บ
ต่างคนต่างผลัดช่วยกันทำ
ให้ผู้มาแสวงหาความรู้นั้นมีความรู้สึกใกล้ชิดผูกพันเป็นลูกหลาน
ชื่นมื่นรื่นหัวใจไปตามกุศโลบายของพ่อครู
ทีนี้ จะพูดจะสั่งจะสอน จะนำทางอย่างไร ทุกหัวใจก็พร้อม
น้อมรับฟัง
และบางครั้งท่านก็หลุดคำพูดทันสมัยออกมาทำให้คนที่ได้ยิน ฮาบ้าง
หรือต้องอมยิ้มไปตามๆกัน
ท่านจึงเป็นปราชญ์ชาวบ้าน
ที่ครองหัวใจของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยในขณะนี้
และไม่น่าแปลกใจเลยว่า
บรรดาผู้คนที่อยู่ล้อมรอบตัวท่านมีทั้งนักวิชาการระดับศาสตราจารย์ รศ.
ดร. ทั้งนั้นที่เข้ามาฝากตัวนับเป็นลูกหลานของท่าน
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ท่านโดดเด่นขึ้นมา
แตกต่างกับปราชญ์ชาวบ้านโดยทั่วๆไป
เพราะท่านมีความทันสมัยและมีจุดยืนในการแสดงตนเป็นคนร่วมสมัย
เช่นท่านสามารถใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันอย่างไม่เคอะเขินและรู้วิธีการใช้อย่างดี
เช่นการใช้อินเตอร์เน็ต การใช้ notebook และการใช้กล้องดิจิตอล
ทำให้ดูกลมกลืนและสามารถทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างปราศจากช่องว่างระหว่างวัย
ที่ผมประทับใจมากที่สุดในตัวท่าน คือบุคลิกที่ประกอบไปด้วยความสงบนิ่ง
เยือกเย็น สมถะ
และเด่นชัดด้วยกระแสแห่งเมตตาธรรมที่ฉายออกมาจากใบหน้าที่มีรอยยิ้มอันอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา
นี่คือภาพทั้งหมดที่ผมพอจะฉายภาพของท่าน ครูบา สุทธินันท์
ปรัชญพฤทธิ์ แห่งมหาชีวาลัยอีสาน
ในช่วงเวลาน้อยนิดที่ได้มีโอกาสรู้จักท่าน
ขอเชิญชวนครับ
ใครสามารถเพิ่มเติมแง่มุมหรือมีรูปของครูบาเชิญเลยนะครับ
จะได้เป็นบันทึกหนึ่งที่เชิดชูเกียรติท่าน