ภาษาไทยอย่าใช้กันผิด (ตอนที่ 2)


อุบไต๋ หมายถึง นิ่งเฉยไว้ไม่เปิดเผยกลเม็ด ทีเด็ด เคล็ดลับ ความลับ ไพ่ตัวสำคัญ

อุบไต๋  :  เขียนอย่างไร?  ใช้อย่างไร ?

                     อาจารย์ศักราชถามคำว่า  "อุบไต๋"  เขียนอย่างไร?

ใช้อย่างไร?  จึงจะถูกต้อง

                     อุบไต๋   เขียนอย่างนี้ถูกต้องแล้วครับ

                     อุบไต๋  มาจากคำว่า  "อุบ"   กับ  "ไต๋"

                     อุบ    ในพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ 2-3 ความหมายความหมายหนึ่งเป็นคำเรียกปลาทะเลชนิดหนึ่งครับ บางทีก็เรียก "ปลาคางคก"  เพราะลักษณะของมันจะมีหัวทู่แบน ลำตัว กลมยาว มีสีน้ำตาลเป็นด่างดวงทั่วไป   ลักษณะออกจะคล้ายคางคก

                    อุบ   ถ้าเป็นคำกริยา แปลว่า  นิ่งไว้ไม่เปิดเผย หรือถือเอา ริบเอา  เช่น  เรื่องนี้ผมขออุบไว้ก่อน เพราะยังไม่ถึงเวลาบอก

                   อุบ   ถ้าเป็นคำวิเศษณ์  จะหมายถึงการพูดหรือบ่นเบาๆ  หรือ  ด่าอุบ บ่นอุบ  อุบอิบ  อุบๆ อิบๆ   อุบอิบๆ

                   ไต๋   เป็นภาษาปาก (ภาษาพูด)   ในพจนานุกรมให้ความหมายว่า  กลเม็ด  ทีเด็ด   ความลับ   หรือเจตนาที่แท้จริงซึ่งซ้อนเอาไว้หรือหมายถึง ไพ่ตัวสำคัญซึ่งปิดไว้ไม่ให้ใครรู้

                   อุบไต๋  จึงหมายถึง  นิ่งเฉยไว้ไม่เปิดเผยกลเม็ด ทีเด็ด เคล็ดลับ ความลับหรือไพ่ตัวสำคัญเอาไว้

                   ตัวอย่างเช่น

                    - ผมถามเขาถึงสูตรการทำน้ำยาขนมจีนให้อร่อย แต่เขากลับอุบไต๋ไว้

                    - ผมเห็นเขาเล่นกลไพ่ได้ดีเหลือเกิน ผมจึงถามเขาว่าเล่นได้อย่างไรแต่เขาก็อุบไต๋ไว้  เลยไม่รู้ว่าทำไมไพ่จึงเรียงสีได้อย่างนั้น

                    - ฉันไม่กล้าทุ่มเงินเพื่อขอดูไพ่เขา กลัวเขาจะอุบไต๋เอาไว้

                 เรื่องอุบไต๋นี้มีใช้กันมานานแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นคนไทยรุ่นใหม่ใช้กันเท่าใดนัก แต่ไม่ใช่เพราะอุบไต๋ไว้นะครับ แต่เป็นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยศึกษาถ้อยคำเก่าๆ เอามาใช้  คนรุ่นใหม่จึงมีคำศัพท์ใช้ไม่กี่คำ  สำหรับบันทึกการใช้ภาษาไทยอย่างนี้ผมก็ไม่อุบไต๋ไว้หรอกครับ จะเปิดเผยบอกกล่าวให้รู้แจ้ง    ถ้าท่านใดสงสัยก็ถามมาได้ครับ จะค้นคว้าหามาบอกเล่าให้รู้กันต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 121412เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2007 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีครับอาจารย์กรเพชร

 

อุบไต๋ เป็นกริยา ใช่มั้ยครับ

ขอแต่งประโยค....

 -  ที่ Gotoknow ไม่มี อุบไต๋ มีแต่เปิดให้เห็นถึงก้นบึ้งของหัวใจ

ผมตอบถูกแล้วให้คะแนนด้วยนะครับ

  • ขออุบไต๋ ไม่บอก หรอกกรเพชร
  • ว่าฉันมี ทีเด็ด อยู่ตรงไหน
  • บอกตรงตรง ปล่อยให้งง กันต่อไป
  • ภาษาไทย นี่หนา น่าเรียนเอย
คำว่าไต๋นี่เป็นภาษาไทยแท้หรือเปล่าคะ หรือเป็นการยืมคำศัพท์มาจากภาษาอื่น เพราะเคยได้ยินมาว่าถ้าเป็นคำไทยแท้จะไม่ต้องแปล แต่ถ้าคำที่แปลได้อีกมักจะมาจากภาษาอื่น
ขอบคุณครับที่ไม่อุบไต๋

คุณจตุพรครับ

    ผมชอบก้นบึ้งของหัวใจครับ เพราะทำให้เห็นความจริงใจต่อกัน  ที่ Gotoknow  มีเพื่อนที่ดีที่ไม่อุบไต๋ก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากมาย ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับคุณพิสูจน์

      เห็นคอกลอนก็เกิดความคึกคัก

และนึกรักนึกชอบตอบสงสัย

อย่าอุบอิบให้ผมงงต่อไป

เพราะว่าไต๋ที่นี่ไม่มีเอย

          ขอบคุณครับถ้ามีโอกาสเราคงได้คุยกันเป็นโคลงกลอนกันต่อไปครับ

 

 

          

  อาจารย์กรเพชรค่ะ

  ลูกศิษย์มารายงานตัว มารับความรู้แล้วค่ะ :)

คุณ Little Jazz  ครับ

       คำว่า   ไต๋    ไม่ใช่คำไทยแท้ ครับ เพราะในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต พ.ศ.2542   ได้บอกที่มาไว้ชัดเจนว่า  มาจาก  ภาษาจีน

        ถ้าพิจารณาจากหลักสังเกตคำไทยแท้จากตำราหลักภาษาไทย จะมีหลักสังเกตง่ายๆ 6 ข้อ ครับ แต่เป็นหลักกว้างๆ เท่านั้นพอช่วยให้เราสังเกตที่มาของคำได้ในระดับหนึ่ง ทางที่ดีก็ต้องตรวจสอบในพจนานุกรมด้วยเพราะแต่ละคำนั้นจะผ่านการพิจารณาตรวจสอบจากราชบัณฑิตหรือผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาและทางวิชาการหลายแขนงมากมาย จึงเป็นที่น่าเชื่อถือได้ 

       หลักสังเกตคำไทยแท้ มีดังนี้

1. คำไทยแท้มักเป็นคำพยางค์เดียว โดด  แต่ก็สามารถกร่อนเสียง เติมเสียงกลายเป็นหลายพยางค์ได้ โจน-กระโจน หนึ่ง-ประหนึ่ง เดี๋ยว-ประเดี๋ยว  หมากม่วง-มะม่วง  ต้นขบ-ตะขบ  สาวใภ้-สะใภ้ เป็นต้น

2.คำไทยแท้สะกดตรงตามมาตราครับ  (แม่กก -ก , แม่กบ-บ , แม่กด-ด , แม่กง-ง , แม่กน-น , แม่กม-ม , แม่เกย-ย , แม่เกอว-ว) 

3. คำไทยแท้จะไม่มีรูปพยัญชนะเติมเหล่านี้ในคำได้แก่    ฆ ณ ญ ฎ ฎ ฐ ฑ ฒ ธ ศ ษ ฬ  ยกเว้นคำว่า  เฆี่ยน ฆ่า ระฆัง ศึก ศอก เธอ  ใหญ่ หญ้า ฯลฯ เพราะคำเหล่านี้เป็นคำไทยแท้ครับ

4. คำไทยแท้ไม่มีตัวการันต์

5. คำไทยแท้มักใช้วรรณยุกต์ในการสร้างคำ ดังนั้นลองผันเสียงของคำดูว่าผันได้และมีความหมายใหม่หรือไม่ เช่น เสือ  เสื่อ  เสื้อ  คำแบบนี้มักเป็นคำไทยแท้

6. คำไทยแท้ที่ออกเสียง "ไอ"  จะไม่มีรูปคำที่ใช้ "อัย" หรือ "ไอย"  เช่น  ชัย  ไมยราบ(ชื่อไม้ล้มลุก) แต่จะมีรูปคำที่ใช้สระ ไอ และ ใอ  และคำที่ใช้ ใอ มีเพียง 20 คำเท่านั้น

     ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่     ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ

ใฝ่ใเอาใส่ห่อ             มิหลงใหลใครขอดู

จักใคร่ลงเรือใบ            ดูน้ำใสและปลาปู

สิ่งใดอยู่ในตู้                มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง

บ้าใบ้ถือใยบัว              หูตามัวมาใกล้เคียง

เล่าท่องอย่าละเลี่ยง    ยี่สิบม้วนจำจงดี

   ก็หวังว่าจะเป็นความรู้เพิ่มเติมครับ ขอบคุณครับที่สนใจเรื่องภาษาไทย

      

แวะมาทักทายครับป๋า

 

ไม่มีไต๋ให้ได้อุบซุบซิบบอก

ทั้งในนอกแบไต๋ให้ได้เห็น

เปิดเผยทั้งดีชั่วที่ตัวเป็น

จึงไม่เห็นต้องอุบไต๋กลัวใครดู...

 

ฝากกลอนให้ป๋าอ่านครับผม อ่านแล้วก็วิจารณ์น้องนุ่งโตยเน้อ 

ด้วยจิตคารวะ

การเขียนกลอนเก่งได้เพราะใจรัก

ค่อยบ่มฟักฝีมือสร้างชื่อเสียง

ถ้อยเสนาะสรรคำหาสำเนียง

แค่ขอเพียงเขียนหัดย่อมพัฒนา

ดีครับ กลอนสละสลวยได้ใจความดี ให้กำลังใจครับ

ขอบคุณจากใจจริงครับป๋า แนะนำได้ดีมากครับ เป็นภาษากวีเลย สุดยอด

การเรียนรู้สู่ความสำเร็จในอนาคต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท