จิตตปัญญาเวชศึกษา 10: บัณฑิต (คน) ดี ได้อย่างไร?


บัณฑิต (คน) ดี ได้อย่างไร?

ช่วงนี้เหมือนกับไม่ค่อยมีสมาธิ ฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยอย่างไรชอบกล ไม่ใช่ไม่มีอะไรคิด หรือไม่มีอะไรทำ ปรากฏว่ามีมากมาย มากเกินไปหน่อยด้วยซ้ำ แต่คิดว่ามันมีส่วนกระทบ "อารมณ์" มากกว่าแต่เดิม อืม... อาจจะไม่เพียงแค่อารมณ์ น่าจะรวมถึงกระบวนทัศน์ คุณค่า และความหมายอันลึกซึ้งลงไปในตัวตน (รึเปล่า? ไม่แน่ใจ)

ผมเคยเขียนบทความเรื่อง Learning Styles 1, 2 และ 3 เรื่องความชอบ ความถนัดในการรับรู้ข้อมูล นำไปสู่วิธีการเรียนที่หลากหลาย เราได้นำมาใช้ในทางปฏิบัติ ในการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ที่ ม.อ. (เคยมีนักศึกษาแพทย์ถามผมว่า เราได้นำไปใช้กับอาจารย์บ้างหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่ดี น่าสนใจ แต่ผมตอบไปว่า "ยังไม่กล้าครับ") ก็เคยวิเคราะห์ตนเองว่าเป็นแบบไหน style ไหน ที่จริงก็ไม่ยากเลย ไมต้องทำแบบสอบถามก็ยังได้ เพราะเป็น AS (abtract sequential) ชนิดตกขอบ (14 จาก 15 คะแนน) แต่ที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลง พัฒนาก่อนหน้านี้

ตอนเด็กๆ ผมดูหนังละครไทยหลังข่าว ซึ่งมักจะเป็นประเภทจักรๆวงศ์ๆ ได้แก่ พระสุธน-มโนห์รา นางสิบสอง โสนน้อยเรือนงาม ปลาบู่ทอง สังข์ทอง series ขุนช้าง-ขุนแผนอันยาวนาน (ยังจำเพลงได้เลย "เรื่องเก่าอันเนานาน เราท่านรู้ดีเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ศึกรักครั้งวัยรุ่น ก่อเรื่องเคืองขุ่น สองขุน...... ฯลฯ) ปรากฏว่าจะมีการร้องห่ม ร้องไห้สงสารนางเอกเป็นประจำ เพราะตามธรรมเนียมหนังไทยนั้น ตลอดเรื่องนางเอกจะมีความสุขตอนจบตอนเดียว ที่เหลือทั้งเรื่องจะเป็นทีของผู้ร้ายตลอด คนอะไรมันจะโชคร้ายสุดๆอย่างพระเอก นางเอก หนังไทยนั้นไม่มี ซึ่งถ้าตาม profile นี้ แสดงว่า learning style ดั้งเดิมสุดของผมนั้น น่าจะเป็น AR (abstract random)

พอโตมา ได้เลือกเรียนสายวิทย์ ต้องเรียนเลข เรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ก็ปรับเปลี่ยนสายไปทางนั้น อารมณ์ลดลง หันไปพึ่งพา logic ตรรกศาสตร์ เหตุผลมากขึ้น ตอนนั้นเคยตั้งคำถามลงกระดานข่าวใน edepot.com ประเภท "จงแสดงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของ rebirth!" ก่อกวนชาวบ้าน ช่วงนั้นน่าจะเป็นช่วง CS (concrete sequential) รุ่งเรือง ต่อมาไป peak ตอนเรียน Ph.D. ซึ่งกระบวนการคิดของ basic sciences ระดับนี้นั้น ใช้ logic สุดๆ ใช้ rationale สุดๆ และตบท้ายด้วยว่างมากเลยไปอ่านหนังสือประเภทปรัชญา ศาสนา มากมาย ความเป็น concrete ที่สั่งสมมาเป้นสิบปี ก็ shift เปลี่ยนไปเป็นนามธรรมมากขึ้น มาลงที่ AS (Abstract Sequential)

ก็คิดว่าจะหมดการเปลี่ยนแปลง (CR หรือ concrete random นั้น เป็น inborn trait สร้างภายหลังยากมากครับ) ก็ได้มาเรียนรู้เรื่องผู้นำสี่ทิศ ปัญญาสามฐาน จนไปถึง Theory U ของ Otto Scharmer ก็ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่มีที่สิ้นสุด

ถามว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี่ ใช้ "กระบวนการอะไร อย่างไร?"

"ตอบไม่ได้ แฮะ!!!"

สาเหตุที่รำพึงรำพันเรื่องนี่ขึ้นมา (ใช้รำพึงรำพัน เพราะว่าอ่านย้อนไปดู เริ่มรู้สึกว่าคนอ่านอาจจะเริ่มหลง ตามไม่ทันเสียแล้ว...) เพราะมีทั้ง predisposing factors และ precipitating factors นำมาก่อน

Glossary
  • predisposing factor ปัจจัยหน่วงนำให้เกิด เช่น เบาหวาน นำโรคอื่นๆได้แก่ โรคไต โรคหลอดเลือด สูบบุหรี่ นำโรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง
  • precipitating factor ปัจจัยที่ทำให้เรื่องที่กำลังจะเกิดๆ ในที่สุดก็เกิดตูมขึ้นมา ให้นึกภาพการเติมเกลือทีละช้อนๆลงไปในแก้วน้ำ เกลือก็จะละลายหมด ความเป็นน้ำเกลือนี้เป็น predisposing event จนกระทั่งประมาณช้อนที่ 100 ใส่ตูมลงไป จ๋อม เกิดผลึกเกลือแกงขึ้นมา เกลือช้อนที่ร้อยนี้ก็เป็น precipitating factor

 

คือวันก่อนมีคนถามว่า "ทำงานให้มีความสุข ทำอย่างไร" ผมก็ตั้งข้อสังเกตว่า คำถามนี้น่าสนใจตอนที่เราจะ "เดา" ว่าคนถาม กำลังคิดอะไรอยู่ หรือมีการรับรู้เรื่องนี้อย่างไร อาทิ

  • นอกเวลาทำงานแล้วเขารู้ว่าความสุขมีได้อย่างไร แต่ยังไม่รู้ว่าตอนทำงานจะทำให้สุขได้รึเปล่า?
  • หรือ ปกติก็ไม่ค่อยมีความสุขอยู่แล้ว ตอนนี้ขอเริ่มที่มีความสุขตอนทำงานก่อน อย่างอื่นค่อยไปว่ากันทีหลัง
  • หรือจริงๆคำถามอาจจะตัดลงแค่ "มีความสุขได้อย่างไร" ก็ใช้ได้หมด ทั้งทำงาน หรือไม่ได้ทำงาน

ก็คิดไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ พอดีช่วงนี้กำลังสนใจรวบรวมหา "หลักสูตรที่จะสอนบัณฑิตแพทย์ให้เป็นมนุษย์ที่ดี" ก้เกิดคำถามกวนใจ (เป็น precipitating question ที่ทำให้เกิดการเขียนบทความนี้ขึ้นมา) คำถามก็คือ "ที่ทำๆมาเนี่ย (สอน palliative care ให้นักศึกษาแพทย์) จะทราบได้อย่างไรว่าเพราะเราสอนไป เขาถึงเปลี่ยนแปลง เขาถึงทำ? "

ซึ่งแล้วแต่คนฟัง จะฟังคำถามนี้แบบไหน ฟังแบบ methodologist ก็เริ่มมองเห็น control group เห็น experimental group เริ่มคิดหาสถิติแบบ non-parametric แบบ categorical หรือ orderly analysis นักการศึกษาเริ่มมองหา competencies หรือ contents และนึกเลยไปถึง การจัด learning experiences และ assessment tools ต่างๆ

ที่จริงเรื่องนี้กวนใจผมมานานตั้งแต่มีคำถามว่า "หนังสือเล่มไหนที่มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงชีวิตเรา" ปรากฏว่าผมตอบไม่ได้ ไม่สามารถจะให้ credit หนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง เพราะผมจะรู้สึกว่า ณ ปัจจุบันกาลนี้ เราได้ใช้สิ่งที่สะสม สั่งสม มาตลอดทั้งชีวิต ร่วมในการหล่อหลอมการรับรู้ การคิด และการแสดงออกตลอดเวลา เหมือนกับการใส่เกลือลงในถ้วยนั่นแหละ เราจะให้ credit เกลือช้อนที่ร้อย ที่ทำให้เกิดผลึกสวยงาม เท่านั้นหรือ? แล้วเกลืออีก 99 ช้อนนั้นล่ะ? เกี่ยวไหม?

อ้าว...!! ถ้างั้นก็พิสูจน์ไม่ได้ละซิ ว่าที่ทำไปนั้น มันดีจริงเพราะที่เราทำ หรือเพราะอย่างอืนกันแน่?

ส่วนหนึ่งผมคิดว่า "จริงครับ" จะว่าอย่างนั้นก็ได้

เหมือนเวลาที่เรารักษาคนไข้จน discharge จาก รพ. คนมักจะมองไปที่คุณหมอเจ้าของไข้ว่าเป็นคนดลบันดาลให้เกิด ให้สำเร็จ แต่เบื้องหลังทั้งหมดนั้น มันอาศัยทีมที่ละเอียดอ่อนมากๆ ตั้งแต่คนเข็นเปล เภสัช คนงานทำความสะอาดหอผู้ป่วย พยาบาล หมอ อาสาสมัคร ฯลฯ และรวมทั้งคนไข้และครอบครัวของเขาด้วย ที่ได้มีส่วนในความสำเร็จ (หรือล้มเหลว) ในแต่ละราย

ดังนั้น ผมยังลังเลว่า เราจะเขียนหลักสูตรการเรียน (การสอน) มหัศจรรย์ที่สร้างคนดีได้หรือไม่ เกรงว่ามันจะไม่ได้อยู่ที่หลักสูตรเขียนอย่างไร แต่อาจจะขึ้นกับปัจจัยมากมายมหาศาล มันอาจจะไม่ได้ simple เหมือนการแก้ปัญหาแบบ linear เช่น อ้อ ประเทศเรายังขาดอาสาสมัคร ไม่ทัดเทียมเพื่อนบ้าน ง่ายนิดเดียว เราก็เพิ่ม incentive ในการเป็นอาสาสมัคร คนจะได้มาสมัครกันเยอะๆ เช่นให้รักษาฟรีตลอดทั้งครอบครัว แถมค่าตอบแทน ฯลฯ ขี้คร้าน เราจะมียอดอาสาสมัครมากมายเพิ่มขึ้น

แต่การแก้ปัญหาที่มองจุดเชื่อมโยงผิวเผินแค่นี้ อาจจะนำไปสู่การเข้าใจผิด หรือตั้งคุณค่าเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์เดิมไปไกลก็ได้ สังคมที่ห่วงหาอาทร ซึ่งกันและกัน ดุแลซึ่งกันและกันนั้น อาจจะไม่สามารถ "ซื้อ" มาได้ด้วย package หรือ incentive ทางกายภาพเท่านั้น แต่อาจจะมีมิติอื่นๆของความเป็นมนุษย์ เป็น incentive ร่วมด้วย คนเราจึงจะก้าวไปถึงระดับ transcend and include (ข้ามพ้น แต่ปนอยู่) ได้อย่างธรรมชาติ

หมายเลขบันทึก: 116441เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2007 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สมมติฐานประการหนึ่งสำหรับความสับสนทางความคิด ณ ขณะนี้ก็คือ จากความคุ้นเคยเดิม ที่เราใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ อาทิ metaanalysis, randomized-controlled trial, etc เพื่อพิสูจน์ หรือ reassure คุณค่าของความรู้ที่เราอ้างอิง

แต่พอจะนำเรื่องนี้มาประกอบ มาใช้ มา backup บางมิติ บางประเด็น เช่น humanized health care, value of education, self reflection ที่อาศัย "ประสบการณ์ตรง" เป็นเครื่องมือสำคัญ หลักฐานเชิงประจักษ์ดูกลวง ว่างเปล่า และเต็มไปด้วยข้อสงสัยหรือไม่ ที่จะนำมาดัดแปลงใช้?

กระบวนความคิดแบบ linear equation ใส่ substrate ลงไป ใสพลังงานและ catalyst ที่เหมาะสม BANG!! เราก็จะได้ product ออกมา เราค่อนข้างจะปลอดโปร่ง โล่งใจ และวางใจ ไว้วางใจ recipe ถ้าเรา "ใส่ลงไปอย่างนี้ อบเท่านี้อุณหภูมิ นานเท่านี้นาที ที่ออกมาจะเป็นอื่นไปไม่ได้ต้องเป็นคุ้กกี้

แต่เรื่องราวมันไม่ได้ simple อย่างนั้นเสมอไป

การปรับเจตคติ สร้างคนดี สร้าง maturity หรือความรับผิดชอบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Altrusim หรือการเห็นแก่ผู้อื่นเหนือประโยชน์ตนเองนั้น มันอาจจะ simple หรืออาจจะไม่ simple อย่างการอบคุ้กกี้ก็ได้ เพราะ substrate ที่เรากำลังเอามาปรุงนั้น มาจากหลากหลายรอ้ยพอ่พันแม่ หมื่นความเชื่อ แสนที่มา นับล้านความเป็นไปได้ วิธีคุ้ก วิธีปรุงอย่างเดียว อาจจะไม่สามารถเปลี่ยน substrate แบบนี้ให้ออกมาเป็นคุ้กกี้ตามแม่พิมพ์ของเราเสมอไป

ความรู้สึก "ไม่ใช่" นี้เองที่น่าจะรบกวนระบบการคิด ขณะที่ผมกำลังจะอธิบาย หรือ defence วิธีการเรียนการสอน เพราะเราไม่มีตัวเลข สถิติ หรืออะไรที่จะเป็น backup แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ยังสามารถ "รู้สึกว่าใช่ รู้สึกว่าถูกทาง" ได้

ผมเป็นคนที่ชอบเฝ้าดูการเปลี
่ยนแปลงของตนเองเหมือนกัน
ความคิดหรืออะไรมันขึ้นๆลงๆไม่นิ่ง ผมจึงเอา พฤติกรรม เป็นตัวตัดสิน
เรื่องนี้เราสังเกตตัวเองได้ส่วนหนึ่ง แต่ที่ได้มากๆคือจากเพื่อนรอบข้าง

คำถามที่ผมถามตัวเอง คือ วันเกิดปีนี้ วันปีใหม่ปีนี้ ๑ ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมอะไรเราเปลี่ยนไป การเข้าอบรมครั้งนั้น การทำกิจกรรมครั้งนั้น ทำให้เรามีพฤติกรรมอะไรเปลี่ยนไป

อยากขอบคุณสกลครับ มีพฤติกรรมของผมท่ี่เปลี่ยนไปจากการฟังเรื่อง voice dialogue ของสกล
ผมจะฉุกคิด ๒ ด้านมากขึ้น

ขอแซวนิดในฐานะเพื่อน ผมเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปชัดเจนที่สุดของสกล คื คือ

สกลแต่ตัวเปลี่ยนไป๋!!

สกลแต่งตัวเปลี่ยนไป๋!!
ขอโทษครับ พิมพ์ผิด เดี๋ยวจะเข้าใจผิด

ถ้าจะประชันกัน ผมว่าพี่เปลี่ยนผม หรือมีอิทธิพลทำให้ผมเปลี่ยนมากกว่าในทางตรงกันข้ามเยอะครับ

 ร่ำๆจะนำเอาแฟชันใหม่มาใช้ในที่ทำงาน กลัวจะแตกตื่นฮือฮาเกินไป แต่ตอนนี้วันหยุสุดสัปดาห์หรือไปเดินพารากอน ชุดเหนือกางเกงสะดอสะพายย่ามนี่เจ๋งสุดครับ ที่แน่ๆคือ 5 ตัวพันกว่าบาท!! 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท