Learning Styles


ความเข้าใจนี้เองที่นำมาซึ่งความสุขในการเรียน ความ "ไม่เข้าใจ" นั้นเองที่นำม่าซึ่งความทุกข์ในการเรียน

Learning Styles

(Gregorc Style Delineation)

อยู่มาวันหนึ่ง หมอเจ๊าะ เพื่อนรุ่นน้องก็มาถามผม "พี่ๆ จะลองทำแบบสอบถามเนียดูไหม" ผมก็ครางเบาๆออกมา "อือ....." แล้วก็ก้มหน้าก้มตาทำอย่างว่าง่าย ที่จริงผมก็ไม่ได้ว่าง่ายอะไรกันปานนั้นไปหมดหรอกนะครับ แต่เพราะ 1) ผมชอบลองของใหม่ๆ และ 2) เราทำงานอยู่ห้องเดียวกัน และอยู่กันแค่สองคน และ 3) เอ่อ..... สองข้อก็พอแล้วมั้ง ดังนั้นคำถามเบื้องต้นนั้น ทำหน้าที่อารัมภบทเฉยๆ ไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบแต่อย่างใด

35 ข้อแบบสอบถามเสร็จไปเหมือนฟ้าแลบ ตอนผมทำแบบสอบถามครั้งก่อน เรืองถ้าคุณเป็นหมา จะเป็นหมาพันธุ์อะไร ยังทำนานกว่านี้เลย (นัยว่าอยากเป็นหมาพันธุ์ดีหน่อย) เจ๊าะก็เฉลยให้ฟังว่าผมชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ออกมาฉอดๆ อือ อื๋อ อึ๊ อื้อ เอ๊ เอ๋??? ทำไมมันเก่งยังนี้ฟะ คว้าเอามาดู แล้วก็ search internet ทันที (นี่อาจจะเป็นเหตุผลข้อที่สามที่เจ๊าะเอามาให้ผมดู เพราะรู้ว่าถ้าติดกับเมื่อไร เรื่องนั้นจะถูกค้น ย่อย เคี้ยว กลืน สลาย ไปถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ที่มา ข้อใช้ ข้อจำกัด ข้อผิดพลาด debate controversy ทั้งหมดที่เคยมีมาก่อน และเอามาเล่าให้ฟังในเร็ววัน)

Learning Styles (Anthony Gregorc Delineation)

อย่างที่เห็นชื่อ Learning styles เป็นแค่ style ไม่ใช่ genetics ไม่ใช่ personality ไม่ใช่อะไรที่คงทนถาวร แต่เป็น "อุปนิสัย" ว่าเราชอบอะไรแบบไหน และของแบบนี้ "เปลี่ยนแปลงได้" ดังที่มีอีกหลายๆแบบสอบถาม บางชุดจะมีถึง 16 traits ก็มี แล้วค้นพบว่าพอทราบว่าตนเองถนัด style ไหน อีกหนึ่งปีต่อมา ประมาณเกือบครึ่งจะมีการ shift trait ได้ด้วย

Learning Style หรือแบบแผนการเรียนรู้นั้น เน้นการ approach data (ภายนอก) โดยอาศัยสองพิสัย คือ 1) ลักษณะของข้อมูล แบ่งเป็นสองอย่างคือ รูปธรรม (concrete) และนามธรรม (abstract) และ 2) ลำดับการเข้าของข้อมูล แบ่งเป็น เป็นลำดับขั้นตอน (sequential) และแบบสุ่ม (random) เมื่อนำมาสอดประสานกัน ก็เป็น 2x2 ได้แก่ concrete/sequential, abstract sequential, abstract random และ concrete random ฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ได้นำเอา learning style มา incorporate กับการเรียนการสอนมาได้ประมาณ 3 ปีแล้ว

Concrete Sequential (CS)

  • ชอบข้อมูลที่จับต้องได้และเป็นลำดับ ลองนึกถึงบรรดาเซียน lecture ทั้งหลายที่พวกเราเคยรู้จัก พวกนี้จะชอบ lecture เป็นชีวิตจิตใจ จดแหลก บางทีอาจารย์พูดจบไปแล้ว ก็ยังนั่งจดอยู่ บันทึกทุกอย่าวละเอียด ละออ ตอนผมเรียนแพทย์ที่ศิริราช เรามีเซียนจด lecture แบบนี้อยู่สองคน ชื่อ มด กับ แซม เวลาเพื่อนๆที่จดไม่ทัน ตอนใกล้ๆสอบก็จะมาขอสมุด lecture เอาไป xerox จนกระทั่งกิจการดีมาก ร้าน xerox ที่ท่าน้ำหน้าโรงพยาบาล จะมี master copies เอาไว้เลย ดังนั้นพอใกล้ๆสอบ ก็จะมี นศพ. มาหาที่ร้าน สั่งของ "เฮียๆ เอา anatomy ของมดสองชุด เอา physio ของแซมชุดนึง พรุ่งนี้มาเอานะเฮีย" โดยไม่ต้องบากหน้าไปขอยืมเจ้าตัวแต่ประการใด เพราะมีคนเอามาทำ master copy ให้เรียบร้อยแล้ว (ขออนุโมทนาให้ผลกุศลนี้ของมดกับแวม ผู้ได้ช่วยเพือนๆในยามทุกข์ได้จบแพทย์กันเป็นแถวๆ) ชอบอะไรก็ได้ที่มี 1, 2, 3, 4 หรือ guideline, คู่มือ standard etc
  • ไม่ชอบอะไรที่ไม่มีความชัดเจน ไม่เป็นขั้นตอน ชอบความไม่ตรงเวลา ความไร้สาระ เรื่อเปื่อย

Abstract Sequential (AS)

  • ชอบนามธรรมที่นำมาจับร้อยเรียงกัน แต่การร้อยเรียงของ AS นี่จะต่างจาก CS เยอะ เพราะ CS ไม่ mind ว่ามันจะเรียงกันเพราะอะไร ขอให้มันเรียงก็พอ แต่ AS จะเรียงร้อยเพราะ ความสัมพันธ์ และ/หรือ เหตุผล เท่านั้น พวกนี้ได้แก่ พวกนักปรัชญา นักคิด นักวางแผนชนิดสูงสุด (ไม่ใช่นักวางโครงการนะครับ แต่วางวิสัยทัศน์ อะไรทำนองนั้น) ชอบข้อมูล ไม่ยั่นถ้าเยอะ ยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะยิ่งหาความสัมพันธ์ได้ละเอียดมากขึ้น ไม่ชอบ dead line เช่นกัน เพราะ knowledge is the virtue ไม่คุยจนเข้าใจไม่ยอมเลิกง่ายๆ  ชอบพูด ชอบแสดง ชอบแลกเปลี่ยนความเห็น ไม่ชอบฟัง ไม่ชอบหยุดกลางครัน ไม่ชอบอะไรที่ไร้สาระ (บางครั้งอารมณ์ก็อาจจะเป็นเรื่องไร้สาระ ฉะนั้น AS บางคนจะไม่ชอบ sentimental หรืออะไรที่ฟูมฟาย เพ้อเจ้อ)
  • ไม่ชอบconcrete ไม่ชอบ protocol ที่ต้องปฏิบัติตามโดยไร้เหตุผล

Abstract Random (AR)

  • ชอบอะไรที่เป็นนามธรรม มาอย่างไม่เป็นลำดับ พวกนี้เป็นประเภทตัว detect emotion เคลื่อนที่ได้ ไวเป็นพิเศษกับอารมณ์ รับข้อมูลแบบ random สุดๆ เช้น ฟังเพลงทางหูฟัง ดูทีวีไปด้วย แถมกด remote control แบบลิงกด เหมือนกับไม่ได้ดูก็เปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ อ่านหนังสือไปพลาง เม้าไปพลาง
  • ไม่ชอบข้อจำกัดทุกชนิด ไม่เด็ดขาด รักพี่เสียดายน้อง ทำข้อสอบ choices จะทรมาน เพราะข้อนู้นก็น่าตอบ ข้อนี้ก้น่ารัก ข้อนี่ก็น่าจะถูก อีกข้อจะน้อยใจไหมเนี่ยถ้าไม่ตอบสักคน เฮ้อ... ตัดสินใจยากจริงๆ แล้วก็ทำไม่ทัน ไม่เข้าใจความสัมพันธ์ว่า ทำไม 1 แล้วต้องไป 2 (ก็ในเมื่อข้อสาม หรือสี่มันน่าสนใจกว่าตั้งเยอะ)

Concrete Ramdom (CR)

  • มีพรสวรรค์ทางด้านจับประเด็นในข้อมูลที่มาอย่างเละเทะ ไร้รูปแบบ เช่น การตรวจสอบบัญชี 10 เล่ม หนาเล่มละ 1 ฝ่ามือ ก็จะเจอร่องรอยที่โกงบัญชีไว้อย่างแนบเนียน หรือไปดักจับผู้ร้ายข้าแดนที่สนามบิน สถานีรถไฟ คนเป็นหมื่นๆคน ก็สามารถชี้ตัวผู้ต้องสงสัยได้ พวกนี้ชอบไปยืนเสนอหน้าตอนเขาติวกันหน้าห้องสอบ ตัวเองก้ไม่ได้อ่าน แต่แอบฟังเพื่อนเขาพูดกันด้วยความเร็วสายฟ้าแลบ หมอนี่ก็พยักหน้าหงึกทีหงักที ออกมาติด top ten ไปกับเขาด้วย เพราะแยกแยะได้อย่างรวดเร็วว่าไอ้ที่พูดๆกัน ประเด็นสำคัญอยู่ตรงไหน ตรงไหนควรจำ
  • ไม่ชอบอธิบายคำตอบตนเอง เพราะตนเองก็ไม่ทราบที่มาเหมือนกันว่ามาได้ยังไง ไม่ชอบ discuss ไม่ชอบทำตามลำดับ ชอบอะไรทีท้าทาย แปลกใหม่ project ที่ยากๆ ชอบคิดนอกกรอบได้เก่งกาจมากๆ

เรานำมาใช้กับ small group ของนักศึกษาแพทย์ เพราะที่ ม.อ. เราเรียนระบบ problem-based learning ที่นักศึกษาต้องทำงานในกล่มเล็กๆ แก้ปัญหา และเรียนรู้ไปกับกระบวนการนี้ตลอดทั้งปี บางคนก็จะทุกข์มากหากกระบวนการกลุ่มล้มเหลว

กระบวนการกลุ่ม หรือการทำงานเป็นทีมนั้น ล้มเหลวเพราะสาเหตุสำคัญๆสองประการคือ

  1. ไม่มีความรับผิดชอบ ข้อนี้เป็น defect ของ maturity
  2. ไม่เคารพใน autonomy ของคนอื่น ข้อนี้เป็น defect ของ จริยธรรมส่วนบุคคล

เนื่องจาก learning style ทีแตกต่างกัน จะทำให้การทำงานมีลักษณะแตกต่างกันออกไปด้วย ความชอบ-ไม่ชอบ ความถนัด-ไม่ถนัด ในการทำงานเป็นกลุ่มนั้น ข้อสำคัญก็คือ ความต่าง ไม่ใช่ความเหมือน ที่เราจะนำมาใช้ในทีม ความเหมือนประการเดียวที่ทีมต้องการก็คือ "เป้าหมาย" ที่เหลือจะใช้ความต่างๆมาทำให้ทีมแข็งแกร่งที่สุด ดังนั้น การ manage หรือการบริหารความต่าง จึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ

ก่อนหน้าที่เราจะนำเอา learning styles มาใช้ เราเคยทำแบบสอบถามความพึงพอใจของนักศึกษาในการเรียน small group PBL ของคณะ ปรากฏว่าบาง episode ความพึงพอใจเหลือแค่ 60% เท่านั้น มีคนเรียนด้วยความเป็นทุกข์เกือบครึ่ง การนำเอา learning styles มาใช้นั้น เพียงปีเดียว ความพึงพอใจกลับมาเป็น 80+% ซึ่งจะเรียกว่า dramatic ก็ว่าได้

เราไม่ได้จัดกลุ่มแบบ matching learning style แต่เราตกลงกันว่าจะจัดให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด เพราะในชีวิตจริง เราก็เลือกทำงาน เลือกอยู่ในที่ที่เราชอบเท่านั้นไม่ได้ social skill ที่จำเป็นคือเราต้องอยู่ในที่ที่เราปรับได้ดี น่าจะดีที่สุด ดังนั้น เราเพียงแค่ให้นักศึกษาทุกคนทำ learning style เพื่อค้นพบตัวเองก่อน และฟังบุคลิกลักษณะของเพื่อน ปรากฏว่าที่เคยๆขัดแย้งกันมาก่อน ก็เข้าใจไดดีขึ้น ความเข้าใจนี้เองที่นำมาซึ่งความสุขในการเรียน ความ "ไม่เข้าใจ" นั้นเองที่นำม่าซึ่งความทุกข์ในการเรียน

มีรายละเอียด การชอบ-ไม่ชอบ ข้อปรับปรุง ข้อจำกัด ที่เราสามารถเรียนรู้และดัดแปลง หาวิธีแก้ไข จาก learning styles มากมาย ที่เราได้รวบรวมประสบการณ์มาโดยตลอด เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็คล้ายๆวิธีการแบ่งคนเป็นกลุ่มๆ เพื่อเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น เช่น นพลักษณ์ (Enneagram) หรือ ผู้นำสี่ทิศ เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 90244เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2007 23:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

AR มันมีข้อเสียตั้ง 3 บรรทัดเชียวนะคะนั่น

AS มีอยู่แค่ครึ่งเอง

 

เป็นการแสดงถึง self preference ของแต่ละคนไงครับ ผมคิดว่าที่เคย lecture ไป มีรายละเอียดมากกว่านี้หลายเท่า ใช่ไหมครับ

อืม ... ก็ไม่เชิงข้อเสีย  แค่ไม่ชอบอะไรเยอะแยะ ... ไปหมด

Learning styles สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายวิธี แต่ที่น่าจะมีประโยชน์ประการหนึ่ง คล้ายๆกับการทำผู้นำสี่ทิศ หรือตำรานพลักษณ์ คือ การทำความเข้าใจตนเอง

การเข้าใจตนเอง นั้นมีประโยชน์ ไม่ว่าจะทางโลก หรือทางธรรม เพราะจะทำให้เราตระหนักรู้ และเมื่อเรารู้ เราก็จะแปลกใจน้อยลง ทำใจได้มากขึ้น และอาจจะนำไปสู่การปล่อยวางได้ดีขึ้น

ประโยชน์อีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อเราเข้าใจตนเอง ก็จะทราบถึงความไม่สมบูรณ์ของตัวเราเอง imperfection ว่าเรามีทั้งความถนัดบางด้าน ว่าเรามีความไม่ถนัดบางเรื่อง เข้าใจในจุดอ่อนและจุดแข็งของตนเอง อาจจะทำให้เราพัฒนาเสริมสร้างจุดแข็ง อาจจะทำให้เราปกป้องแก้ไขจุดอ่อน ก็จะเป็นผลรวมคือเราดีขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อทำอย่างนั้นได้ ผลพลอยได้ก็คือ เราจะเข้าใจว่าคนอื่นๆก็อาจจะคล้ายเรา คือมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ และการทำงานเป็นทีมนั้น การที่เราสามารถ respect ความเป็นตัวตนของคนอื่นได้นั้น จะนำมาสู่ความเข้าใจมากขึ้น ความสัมพันธ์ relationship ดีขึ้น และเราสามารถ "ดึง" เอาความแข็งแกร่งของทุกคนมาใช้ประโยชน์ และใช้ความแข็งแกร่งของแต่ละคนมาอุดรูรั่วของสมาชิก

บางทีแค่ เข้าใจในเพื่อนๆ ก็ช่วยบรรยากาศในการทำงาน และเพิ่มผลผลิตของกลุ่มได้แล้ว

ชอบบันทึกชุดนี้นะคะ ขอให้คุณ Phoenix ช่วยเพิ่มคำหลัก learning styles (แบบมี s ด้วยน่ะค่ะ บันทึกนี้ไม่มี อีก 2 บันทึกถัดไปมี) จะได้ใช้เป็น keyword เวลาอ้างถึงได้ทั้งเซ็ตค่ะ คิดว่าเหมาะทั้งกับพวกเราชาวบล็อก GotoKnow ด้วยนะคะ ใช้วิเคราะห์ตัวเองและผู้อื่น สร้างความเข้าใจกันและกัน ได้ส่งเสริมจุดเด่นจุดด้อยกันได้อย่างสนุกสนาน

รู้จุดอ่อนของคุณ Phoenix จากตัวหนังสือสีเขียวในวงเล็บข้างบนแล้วอย่างงี้ วันหลังอยากรู้อะไรลึกๆ ละเอียดถึงแก่น จะได้มาจุดประกายฝากบ้างค่ะ รู้สึกเราจะเป็นคนประเภทเดียวกัน แต่พี่โอ๋-อโณขยันและ"ลึกซึ้ง"ไม่ถึงขั้นคุณ Phoenix ค่ะ

สวัสดีครับคุณโอ๋

แก้นิดนึง ความไม่ชอบ ไม่ใช่จุดอ่อน ครับ

และในการนำมาใช้หลายๆครั้ง บางคนก็มีเทคนิกนำเอาอันนั้นมาเป็นประโยชน์ได้หลากหลายมาก ขึ้นกับจินตนาการ บางคนไม่ชอบ chaotic ภายนอก ก็ทำให้เกิด "ระบบภายใน"

บางคนไม่ชอบความจำกัดของเวลา ก็ "ทำแต่เนิ่นๆ"

บางคนไม่ชอบ emotional ก็พยายามทำให้มัน "make sense" หรือ "จำเป็น" ขึ้นมาก็ยังได้ เพราะมันขึ้นกับว่าเรามองมันอย่างไร

ต่อไปเราอาจจะพัฒนา blended personality ก็ได้

ข้อสำคัญก็คือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง learning styles delineation หรือ นพลักษณ์ หรือ ผู้นำสี่ทิศ หรือการแบ่ง classfications ของมนุษย์รูปแบบไหนก็ตาม เราไม่ได้เน้นที่การ labelling คน แต่เน้นที่ คนสามารถพัฒนาได้ คนเปลี่ยนแปลงได้ อย่างผมเองก็เปลี่ยนเปลี่ยนมา ต่อนี้แทบจะกลับไปเป็น AR เหมือนตอนเด็กๆ แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เรื่องทั้งหมดนี้สามารถนำไปเชื่อมโยงกับการทำ voice dialogue ของ Dr Hal & Sidra Stones ได้ เพราะเราจะพบว่ามี "ไพ่ใบที่เราทิ้งไป" ปรากฏขึ้นในมือของคนอื่นๆ และทำให้เรา "จี๊ด" ขึ้นมาได้ บางทีถ้าเราสามารถมองไพ่ที่คนอื่นถืออยู่ เพื่อหา "ข้อดี" ของไพ่ที่เราทิ้งไป เผื่อเราจะได้ "เก็บมาใช้ใหม่" ก็อาจจะเติมเราให้เป็นคนที่ "เต็ม" มากยิ่งขึ้นครับ

คุณ Phoenix ดูสีเขียวคนละที่แล้วค่ะ ที่เขียนนั่นจะแซว สีเขียวอ่อนตัวเอน เหตุผลข้อ 3 ที่คุณหมอเจ๊าะ เอาแบบสอบถามมาให้คุณ  Phoenix ทำนั่นหรอกค่ะ อันนั้นแหละที่ใช้บอกว่าเป็นจุดอ่อนของคุณ Phoenix 

ลองอ่านใหม่นะคะ (ยิ้ม...ยิ้ม...)

แหม...แต่อ่านที่อธิบายแล้ว มันก็ดันเข้ากั๊น เข้ากัน เหมือนจะเป็นจุดอ่อนได้เหมือนกันจริงๆ แต่เห็นด้วยค่ะว่า ไม่ใช่จุดอ่อนหรอก

โอยหน้าแตกยับเยิน สมเป็นอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ (ขนาดนั่งในห้องนั่งเล่น ก็ยังเกิดอุบัติเหตุได้ คิดดูเอาเองก็แล้วกัน ชีวิตนี้ช่าง fragile ขนาดไหน...... แก้เขิน เรื่อยเปื้อยไปโน่น)

อา... พลาดท่าจริงๆด้วยเรา เอาไข่ในหินมากระเทาะกลางตลาดเสียยังงั้น

สวัสดีครับอาจารย์

ผมเป็นนิสิตที่ได้ฟังอจารย์บรรยายเมื่อวันศุกร์ที่ 24 ส.ค.นะครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากๆครับที่ไปบรรยายในวันนั้น ได้ประโยชน์มากๆครับ เพื่อนๆเอาไปพูดต่อกันอีกหลายวันเลยครับ

 แล้วพอผมกลับมาบ้านลอง search ดู ก็พบบล๊อกของอาจารย์พอดีเลยครับ

สงสัยว่า นี่คงเป็นอุปนิสัยแบบ AS ที่อาจารย์ว่าชอบข้อมูลมากๆละมั้งครับ ผมเลยได้มาค้นเจอบล๊อกนี้ : )

ดีมากน้อง อย่าให้เสียชื่อ AS เราทีเดียว เรื่องปล่อยข้อมูลให้ขาดๆ วิ่นๆไป

ตอนหลังๆพอมาทำ palliative care เยอะๆตอนนี้ช่วยผมเรือง AR หรืออารมณ์ได้เยอะมากครับ สมดุลดีกว่าแต่ก่อน (ถ้าโต้วาทีล่ะก็ ได้มีการฆ่ากันกลางเวทีได้ ยังไงยังงั้น!!)

เรียน คุณ Phonix

กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับlearning style ไปเขียนงานส่งอาจารย์ ได้รับประโยชน์จากการอ่านข้อมูลของอาจารย์มากมายทีเดียวค่ะ

ประการแรกเลยคือรู้จักตัวเองและเข้าใจตัวเองดีขึ้น ประการที่สองงานเขียนคงจะถูกใจอาจารย์ที่ปรึกษามากกว่าครั้งก่อนๆ ประการสุดท้ายทำให้รู้จักลูกศิษย์ดีขึ้น และสุดท้ายของสุดท้ายถ้าทำให้ลูกศิษย์รู้จักตนเองก่อนพวกเขาคงได้ปรับตัวเองให้เข้ากับเพื่อนและเข้าใจคนอื่นๆในห้องมากขึ้น คงจะทำให้บรรยากาศในห้องเรียนดีขึ้นทีเดียวค่ะ

ขอบพระคุณมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท