การจัดการความรู้ 4 ระดับ(KM ธรรมชาติ) ที่มหาชีวาลัยอีสาน


การจัดการความรู้ทุกหย่อมหญ้า ตามความฝันของ สคส จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยงแบบ “เนียน” ไม่ขาดตอน ในทุกระดับของการจัดการความรู้ โดยเฉพาะช่วงต่อเชื่อมระหว่างระดับของความรู้ต่างๆ

     อนุสนธิจากการหารือของกลุ่มสมาชิกบล็อกเกอร์ ในงานเฮฮาศาสตร์ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 28 – 30 ก.ค. 2550 ที่มีครูอ้อยและท่านอาจารย์ Handy เป็นแกนนำ เพื่อเลี้ยงส่งอาจารย์ขจิต ฝอยทอง ไปศึกษาต่อที่รัฐโอเรกอน และร่วมพบปะสังสันทน์ ทำบุญ ปลูกต้นไม้ ที่สวนป่าอำเภอสตึก ของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์                     

       ในโอกาสนี้ ได้มีการเสวนา ปรึกษาหารือ ทั้งกลุ่มใหญ่ และกลุ่มย่อยถึงขั้นตอนและอุปสรรคในการจัดการความรู้ของประเทศไทย และระดับโลก ที่ทำให้ได้ข้อสรุปเพื่อประสานความเข้าใจ ระหว่างนักจัดการความรู้ในระดับต่างๆ ซึ่งพบว่าประเด็นสำคัญที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนก็คือ การแบ่งระดับการจัดการความรู้ได้เป็น 4 ชั้น ที่จำเป็นต้องมีอย่างเชื่อมต่อและครบถ้วน ในเชิงอุปมาอุปมัยได้ดังนี้ 
  1. การจัดการความรู้ระดับอยู่ในอากาศ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข่าวสารในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  ดังที่เห็นปฎิบัติในรูปของ web blog ต่างๆ เช่น gotoknow เป็นต้น
  2. การจัดการความรู้ในระดับน้ำ ซึ่งเป็นการเลื่อนไหลของความรู้ในระบบฐานข้อมูล ที่สามารถจับต้องได้บ้าง  มีการเลื่อนไหลข้อมูลไปมาจากฐานหนึ่งไปอีกฐานหนึ่ง ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ตามแต่ระบบการส่งถ่ายข้อมูลข่าวสาร และ ความรู้ต่างๆก็จะแปรรูปทั้งสู่อากาศ (อินเตอร์เนต) และแทรกลงมาในดิน (การทดลองใช้ ในระดับต่างๆ) ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
  3. การจัดการความรู้ในระดับชั้นดิน ซึ่งเป็นการนำความรู้ไปทดลองใช้ และใช้ประโยชน์จริงในระบบในพื้นที่ต่างๆ ที่จะเป็นฐานการทำงานของนักวิชาการที่ทำงานกับผู้ใช้ความรู้ ที่จะทำให้ความรู้สามารถตกผลึกเป็นหิน(ภูมิปัญญา) หรือวนกลับไปสู้ระบบฐานข้อมูล(น้ำ)ได้อีก หรือวนกลับไปกลับมา ที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  4. การจัดการความรู้ในระดับตกผลึกเป็นชั้นหิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความรู้ที่ใช้งานได้ผล ในระดับภูมิปัญญา ที่มีอยู่ทั่วไปในหลายรูปแบบ หลายระดับและหลายประเภท ความรู้เหล่านี้อเป็นฐานหลักในการทำงานจัดการความรู้ทั้งหมด ที่ทำให้ความรู้ทั้งหลายมีความหมาย และมีประโยชน์อย่างแท้จริง

          ในโลกแห่งความเป็นจริง การจัดการความรู้ทั้ง 4 ระดับนี้ มิได้อยู่อย่างเอกเทศ แต่อยู่อย่างเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงทั้ง 4 ระดับนี้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน จึงจะสามารถพัฒนาการจัดการความรู้ตามความคาดหวังของ สคส. ในการ "จัดการความรู้ทุกหย่อมหญ้า          

           การจัดการความรู้ทุกหย่อมหญ้า ตามความฝันของ สคส จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยงแบบ เนียน ไม่ขาดตอน ในทุกระดับของการจัดการความรู้ โดยเฉพาะช่วงต่อเชื่อมระหว่างระดับของความรู้ต่างๆ ตามคำอุปมาอุปมัยที่ว่า

ในอากาศมีน้ำ และในน้ำมีอากาศ ที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอากาศกับน้ำ

ในทำนองเดียวกัน จุดเชื่อมต่อระหว่างดินกับน้ำก็จะเป็นดินผสมน้ำ หรือโคลน ที่มีสัดส่วนระหว่างดินกับน้ำตามลำดับสูง มาหาต่ำ คือดินในระดับสูง จะมีน้ำมากกว่าดินในระดับต่ำเป็นรอยเชื่อมต่อ (Transition Zone) ซึ่งจะทำให้ดินและน้ำเชื่อมโยงกันแบบเนียน เช่นกัน          

      และในอีกกรณีหนึ่ง การเชื่อมต่อระหว่างดินกับหิน ก็มีลักษณะที่ว่า ดินเกิดจากหินที่ผุพัง แตกสลายเป็นชั้นๆ จากหินกลายเป็นดิน (ความรู้พัฒนาออกมาจากภูมิปัญญา) และจากดินปรับตัวแน่นกลับกลายเป็นหิน (ความรู้ทำให้เกิดภูมิปัญญา

    ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกันกับระบบการจัดการความรู้แบบใหม่ ที่จะต้องนำความรู้จากแหล่งต่างๆ ในระบบข้อมูลข่าวสาร (ในอากาศ) มาสู่การสร้างฐานข้อมูล (ในน้ำ) และลองนำข้อมูลเหล่านั้นมาสู่การปฏิบัติเบื้องต้น เพื่อทดลองใช้ในพื้นที่ต่างๆ (ในดิน) และเมื่อใช้ความรู้ที่ได้อย่างถูกต้องและชัดเจนจนได้ผลดีแล้ว ก็จะนำไปสู่การตกผลึกทางความรู้ ความคิด ความเข้าใจ จนเกิดเป็นภูมิปัญญา (ในหิน) ที่มีฐานหนาแน่น สามารถรองรับน้ำหนักของดิน น้ำ และอากาศ ตามลำดับอย่างต่อเนื่องกัน  และสามารถย้อนกลับจากภูมิปัญญา ผ่านการตีความและเข้าสู่ระบบข้อมูลและข่าวสารได้เช่นเดียวกัน         

             ดังนั้น การจัดการความรู้ที่ดี จึงควรต้องมีทั้ง 4 ระดับ อย่างสมดุล ต่อเนื่อง และมีพลวัตร จึงจะทำให้เป็นการจัดการความรู้ทุกหย่อมหญ้าที่มีประโยชน์          

             ที่ผ่านมา ได้พบว่า มีความพยายามที่จะนำความรู้ระดับภูมิปัญญา เข้าสู่ระบบข้อมูลข่าวสาร และย้อนกลับไปหาฐานข้อมูล ซึ่งพบว่ามีปัญหาหลายด้าน ที่ทำให้สะดุด และต่อกันไม่ติด เกิดผลแบบ แยกเป็นชิ้นๆ ใช้งานไม่ได้ เข้ายาก หรือใช้อะไรไม่ได้

ผลพวงของการสะดุดอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้มีนักวิชาการ นักจัดการความรู้ แบ่งความรู้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit knowledge) และความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) ซึ่งใช้ความหมายในเชิงเปรียบเทียบเท่านั้น

เพราะความรู้เดียวกัน สามารถเป็นได้ทั้งความรู้ชัดแจ้ง และความรู้ฝังลึก ขึ้นอยู่กับว่า ใครบอกใคร

ใครเป็นผู้สื่อหรือผู้รับ

ถ้าผู้สื่อหรือผู้รับไม่ค่อยเข้าใจกัน ความรู้ก็จะมีแนวโน้ม เป็นความรู้ฝังลึก เข้าใจยาก หรือไม่เข้าใจเอาเลย  ก็ออกผลมาว่าเป็น Tacit knowledge

แต่ถ้าผู้ส่งและผู้รับเข้าใจกันอยู่แล้ว ความรู้ดังกล่าว ก็จะมีแนวโน้มเป็นความรู้ชัดแจ้ง มากขึ้น ไม่ว่าเรื่องนั้นจะยากสักแค่ไหน เช่น เรื่องการทำสมาธิที่ว่ายาก ก็จะไม่ยาก ถ้าคุยกันระหว่างผู้ทำสมาธิจนสำเร็จแล้ว เป็นต้น        

             ในปัจจุบัน มีความพยายาม ที่จะนำเอาภูมิปัญญา (ระดับหิน) เข้าสู่ระบบข่าวสารข้อมูล(ระดับอากาศ) ซึ่งเป็นการหาจุดเชื่อมต่อได้ยาก เพราะอากาศกับหินไม่มีจุดที่จะเชื่อมกันได้แบบง่ายๆ นอกจากหินจะแตกให้อากาศแทรกไปได้ หรือ พยายามเอาหินบดโยนขึ้นไปในอากาศ แต่อย่างไรการเชื่อมก็ไม่เนียนอยู่ดี อยู่ไม่ได้นาน ก็แยกกันอีก

แม้จะเอาบอลลูนผูกหินให้ลอยในอากาศ ก็ยังสร้างจุดเชื่อมจริงไม่ได้เช่นเดิม

 แต่ถ้าได้นำภูมิปัญญามาแปลผล ให้เป็นข้อมูลทางวิชาการ (เสมือนหนึ่งทำให้หินผุพังกลายเป็นดิน) ก็จะสามารถทำให้ความรู้ดังกล่าว เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเชิงวิชาการได้ง่าย (ดินเชื่อมกับน้ำเป็นดินนิ่มและโคลนเลน) ที่ทำให้นักวิชาการทั่วไปเข้าใจ และตีควาหมายได้อย่างถูกต้อง ก็สามารถกลายเป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่ผิดเพื้ยนอันเนื่องจากการตีความที่อาจผิดพลาด (เนื่องจากขาดประสบการณ์ตรงของนักวิชาการบางคน) และปัญหาการตีความหมายตามความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว ซึ่งทำให้การจัดการความรู้ อาจผิดพลาด ไม่ได้ประโยชน์ หรือเกิดผลเสียหายได้ 

แต่ถ้ามีการจัดการความรู้เป็นขั้นๆ ตามระดับดังกล่าวข้างต้น ก็น่าจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างระดับ และการส่งถ่ายข้อมูลข่าวสารในระดับต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงกับผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์          

              หลักการการจัดการความรู้ทั้ง 4 ระดับนี้ น่าจะเป็นแนวคิดในเชิงหลักการ เพื่อเชื่อมโยงนักจัดการความรู้ทุกระดับ ทุกประเภทเข้าด้วยกัน เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (COP – community of practice) ที่ครบถ้วนและสมบูรณ์แบบในตัวเอง ทั้งระดับพื้นที่  ระดับภาค ระดับประเทศ และระดับโลก ที่จะทำให้นักจัดการความรู้ทั้งหลาย ทำงานอย่างเชื่อมโยง สอดประสาน และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างไร้พรมแดน (Seamless) ซึ่งเป็นพลังการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมสูงสุด เท่าทีเป็นไปได้ ในโลกแห่งความเป็นจริง          

               ดังนั้น ผมจึงขอเสนอว่า เราน่าจะใช้หลักการนี้ ที่จะทำให้นักจัดการความรู้ทั้งหลาย รู้และเข้าใจว่าตนเอง ทำกิจกรรมอยู่ในระดับใด มีบทบาท หน้าที่ในเรื่องใด และสามารถ มีส่วนร่วมกับชุมชนแห่งการเรียนรู้ ได้ในเรื่องและเวลาใด ที่จะทำให้ทุกภาคส่วน อยู่ร่วมกันอย่าง

  • เป็นพันธมิตรทางวิชาการ
  • มีการจัดการความรู้อย่างเป็นธรรมชาติ ตามภาระหน้าที่และความถนัดของตนเอง
  • และสามารถทำงานเชื่อมโยงกับระบบต่างๆ ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด (อิงระบบ) 

       ประเด็นนี้ว่ามาตามแนวคิดและยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ของมหาชีวาลัยอิสาน ซึ่งเป็นข้อสรุปจาการเสวนาในตอนบ่ายของวันที่ 29 กรกฏาคม 2550  

                จึงเรียนมาด้วยความเคารพ ในความคิด การกระทำ และผลงานของทุกท่านในเครือข่ายการเรียนรู้ทั่วไป ทั้งใน G2K หรือ webblog อื่นๆ ชุมชน เครือข่ายภูมิปัญญา และศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ  ที่จะช่วยกันประคับประคองและพัฒนาการจัดการความรู้ให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งกับตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลกได้อย่างสอดคล้องสืบไป 

ขอบคุณครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 115704เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2007 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)
สำหรับคนที่ทำงานเรื่องเดียวกันผมพบว่า "วิกิ" ก็เป็นเครื่องมือที่ดีครับ. เพราะว่าหลายครั้งบล็อกเป็นเอกเทศมาก หรือแม้แต่บันทึกในบล็อกก็เป็นเอกเทศ หลายๆครั้งจึงต้องเขียนอะไรซ้ำๆ เพื่อจะไม่ต้องให้คนอ่านต้องอ่านหลายที่เกินไป. ต่างจาก "วิกิ" ที่หลายคนสามารถเขียนเรื่องเดียวกันหน้าเดียวกันได้เลย อาจจะทำให้ลดงานซ้ำซ้อนและกระจัดกระจายได้. อย่างไรก็ตามการเขียนเล่าประสบการณ์เราก็ต้องการความเป็นเอกเทศอยู่ดี. ผมเลยไม่แน่ใจว่า "วิกิ" จะเข้าไปอยู่ในชั้นไหนดีครับ?

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์

  • กราบขอบพระคุณมากครับ สำหรับความรู้ดีๆ แบบนี้ ได้คิดต่อ ได้ต่อยอด เสียบยอดติดตาทาบกิ่ง กันบ้างหล่ะครับ เพราะว่า วิธีการเหล่านี้ไม่ส่งผลให้กลายพันธุ์ ใช่ไหมครับ

อาจารย์ได้แบ่งเป็นสี่ชั้น นับว่ายอดมากๆ เลยครับ ผมจะขอเพิ่มอีกหนึ่งชั้นจะได้ไหมครับ

  1. การจัดการความรู้อยู่ในอากาศ
  2. การจัดการความรู้ในระดับน้ำ
  3. การจัดการความรู้ในระดับชั้นดิน
  4. การจัดการความรู้ในระดับตกผลึกเป็นชั้นหิน
  5. การจัดการความรู้ในระดับแมกมา ชั้นนี้เป็นชั้นที่เป็นทุกอย่าง คือเป็นทั้ง อากาศ นำ ดิน และหิน รวมทั้งสี่ชั้นเข้าอยู่ด้วยกัน เป็นของเหลวด้วยครับและมีความร้อน และหลอมรวมกันอยู่เป็นหนึ่งเดียว เนื้อเดียวกัน เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นแบบต่างๆ ได้ตามสภาพและสถานการณ์ เพราะผมมองว่า ชั้นหินเป็นชั้นที่ยังมีรอยแยกแตกอยู่บ้าง ไม่เชื่อมกันแนบสนิทซะทีเดียว แต่ชั้นระดับแมกมา จะรวมเป็นเนื้อเดียวกัน และพร้อมจะพวยพุ่งออกมา ในยามที่ชั้นหินมีความบอกพร่อง หากเรามองการพวยพุ่งของแมกมาเป็นลาวา ได้เป็นดุจขุมความรู้ที่ส่งออกมาเกื้อกูลแปลงภาพตัวเองเป็น ดินหินน้ำอากาศต่อไป

 เห็นด้วยกับอาจารย์ว่าทุกอย่างสัมพันธ์กันหมดเลยครับ เกี่ยวโยงเข้ากันเป็นวัฏจักรทางความรู้ หมุนเวียนเกี่ยวโยง สัมพันธ์ เกี่ยวข้องกันตลอดเวลา

 

ผมฝากคำที่คิดขึ้นมาเล่นๆ เพื่อโยงใยกับระดับชั้นการจัดการความรู้เหล่านี้ มาแลกเปลี่ยนกันเล่นๆนะครับ

  • ไอน้ำความรู้ ไอน้ำแห่งปัญญา
  • สายธารแห่งความรู้ สายฝนแห่งปัญญา
  • สายลมแห่งความรู้ ทอร์นาโดแห่งปัญญา
  • ตะกอนความรู้ ผลึกทางปัญญา

 ขอบคุณมากครับ ไว้จะมาเพ้อใหม่ครับ

 

สนุกในการทำนาและหาคำตอบนะครับ

สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์

...  อันตัวปูความรู้ยังน้อยนิด

... มาเก็บเกี่ยวผลผลิตความคิดท่าน

... ไปสะสมเพาะบ่มเป็นประสบการณ์

.... เพื่อสร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญา

ขอบพระคุณมากนะคะ รักษาสุขภาพค่ะ

สวัสดีครับท่าน ครับ

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ  การก่อกำเนิดความรู้ การถ่ายเทความรู้ ด้วยการมีการนำแห่งการสื่อสารทางความรู้  

  1. การจัดการความรู้อยู่ในอากาศ
  2. การจัดการความรู้ในระดับน้ำ
  3. การจัดการความรู้ในระดับชั้นดิน
  4. การจัดการความรู้ในระดับตกผลึกเป็นชั้นหิน    

 และเห็นด้วยครับกับคุณเม้ง

  • ไอน้ำความรู้ ไอน้ำแห่งปัญญา
  • สายธารแห่งความรู้ สายฝนแห่งปัญญา
  • สายลมแห่งความรู้ ทอร์นาโดแห่งปัญญา
  • ตะกอนความรู้ ผลึกทางปัญญา                  

ทุกๆความเคลื่อนไหว เชื่อมโยง ล้วนแล้วเป็นองค์ประกอบแห่งการสัมพันธ์ความรู้ สู่การรับรู้  ก่อเกิดแห่งปัญญา

โดยที่พวกเราคงจะต้องไม่ลืมถึง บทบาทที่จะก่อเกิดแห่งการเชื่อมโยงได้ 

คงเป็นการกล่าวได้ว่า  ความร้อน  ความเย็น  ปฏิกิริยาเคมีต่อเนื่อง  ซึ่งมาเป็นการสู่ความสมดุลย์ต่างๆ

ขอบคุณมากๆครับ  คงจะได้มาร่วมสนทนากันต่อไป

 

 

สวัสดีอีกครั้งครับท่าน

ถือโอกาสนี้ขออนุญาตินำข้อความบางตอนไปรวมในรวมตะกอนครับ ขอบคุณมากครับ  http://gotoknow.org/blog/mrschuai/113523#

สวัสดีค่ะท่าน ดร.แสวง

  • ขอบคุณค่ะ  สำหรับการชี้แนะครูอ้อยในวันนั้น
  • รู้สึกซาบซึ้ง และเป็นเกียรติมากค่ะ

ขอบคุณครับทุกท่านที่เข้ามาแลกเปลี่ยน

ผมขอชื่นชมกับความคิดของคุณเม้งในระดับที่ ๕ ที่ผมลืมมองไปจริงๆ

ระดับนี้เป็น ความรู้แห่งการหลุดพ้น

เป็นต้นกำเนิดและที่รวมของทุกความรู้ ทุกระดับ ตามรอยพระพุทธองค์

ผมจะขอนำไปเชี่อมในการนำเสนอครั้งต่อไปครับ

สวัสดีครับอาจารย์
     เป็นการสรุปรวม และต่อยอดสิ่งที่คุยกันได้อย่างน่าพอใจครับ  เสียดาย ถ้าวันนั้น "บ่าวเม้ง" มานั่งร่วมวงด้วย สดๆ คงไม่ต้องกินข้าวปลากันเป็นแน่ .. รอวันนั้นอยู่  คิดว่าพอตั้งวงสนทนาได้คงต้องเตรียมเสบียงไว้ให้พร้อมอยู่ข้างๆตัว .. พลังแกมากเหลือเกิน .. คงต้องหาทางให้แกได้ปลดปล่อย ทันทีที่กลับมาเหยียบแผ่นดินเกิดครับ
     ผมว่าสิ่งที่คุยกันเป็นเชิงอุปมา อุปมัย เป็นปรัชญา แต่ทุกอย่างล้วนมีเป้าหมาย ที่เป็นรูปธรรม  จับต้องได้  ปฏิบัติได้  ผู้ที่เป็นนักศึกษาจึงต้องมองให้ออก ตีให้แตก ประโยชน์มากมายก็จะก่อเกิดต่อวิถีแห่งการงานและการเรียนรู้ของทุกๆคน

อาจารย์พินิจ

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ว่าคุณเม้งเป็นผู้มีพลังมาก มีทิศทางที่ชัดเจน คมเฉียบ และลึกซึ้ง แม้ในวัยที่ยังไม่แก่เท่าเรา

ผมเลยฝันต่อไปว่า คุณเม้งน่าจะเป็นอีกแกนนำที่เข้มแข็งและมีพลังต่อไปในอนาคตครับ

ผมจะพยายามรักษาลมหายใจไว้รอวันนั้นครับ

สวัสดีค่ะ

ตัวอย่างที่อาจารย์กล่าวถึงเรื่องการทำสมาธิที่ว่ายาก ก็จะไม่ยาก ถ้าคุยกันระหว่างผู้ทำสมาธิจนสำเร็จแล้ว เป็นต้น   

เป็นการยกตัวอย่างที่ชัดเจนมากค่ะ

เรื่องการทำสมาธิจะยากมากๆ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เริ่มเลย และจินตนาการไม่ได้ ว่า ทำแล้วจิตเรานิ่งได้อย่างไร

ความรู้ชัดแจ้ง และความรู้ฝังลึก ขึ้นอยู่กับว่า ใครบอกใคร

ขอบคุณมากค่ะ

 

สวัสดีครับท่านอาจารย์แสวง อ.พี่บ่าวแฮนดี้ และทุกท่านครับ

กราบขอบพระคุณมากๆ เลยนะครับ

  • ผมได้รับคลิปเสียงจิ้งหรีดและแนวคิดทั้งหมดแล้วครับ ผมว่ายอดมากๆ ครับผม
  • สัตว์ในนาข้าวเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ครับ ตามระบบความหลากหลายทางระบบนิเวศน์ครับ
  • ในนาข้าว หากอาจารย์ลองลิสต์รายชื่อสัตว์แล้วเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเค้าแล้ว อาจารย์จะเจอแมลงสองฝ่าย คือเหยื่อและผู้ล่า
  • หากระบบมันสมบูรณ์ ต้นข้าวของอาจารย์เองผมว่า ก็คงปลอดภัย ครับ เพราะจะมีผู้รักษานาข้าวและผู้จะทำลาย ซึ่งเค้าจะช่วยกันครับ
  • ผมว่าแมลงเค้าอยากจะอยู่ร่วมกับต้นข้าว ก็เหมือนเราที่อยากจะอยู่ร่วมกับป่าไม้นั่นหล่ะครับ ในขณะที่เราจะปลูกป่าไม้ ก็มีฝ่ายหนึ่งจ้องจะทำลายป่า ในระบบท้องทุ่งนาก็คงเช่นกันครับ
  • ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ เพลี้ย กับ จิ้งโจ้ น้ำครับ แล้วคู่อื่นๆ นะครับ
  • แต่การทำการเกษตรของเราในยุคสารเคมี เรามักทำลายวัชพืช โดยลืมคิดถึงลูกเขียด หรือแมลงชนิดอื่น อย่างที่อาจารย์บอกผมว่าอย่าเป็นศัตรูกับเค้าเลย ซึ่งผมถูกใจมากๆ เลยครับผม ผมว่าใช่เลยครับ
  • เพราะหากเราไม่เข้าใจ เราไปตัดห่วงช่วงห่วงโซ่อาหารเค้า จนทำให้ระบบนิเวศน์เพี้ยน ตราบนั้น ต้นข้าวเราก็จะเป็นเป้าหมายหลักที่จะโดนทำลาย
  • ต้นกก กับ ต้นข้าวก็อยู่ร่วมกันได้ครับ แบบผลัดกันเป็นผู้ล่าและเหยื่อตามระบบครับ เหมือนหญ้าคากับพืชคลุมไงครับ ในสวนยางนะครับ
  • ขอบคุณมากๆ เลยนะครับ วันหน้ากลับไปจะไปเยี่ยมครับ ผมสนใจการเลี้ยงกบ เลี้ยงแมงดานา และอีกหลายๆ อย่างครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ และมีความสุขในการทำนาและอยู่กับเพื่อนร่วมทุ่งนะครับ นั่นหล่ะครับ ความสุขที่แท้จริง

คุณเม้ง

ผมก็ทำไปอิจฉาคุณเม้งไปที่พ่อ่แม่ผมไม่รวยเท่าพ่อแม่คุณเม้ง และถ้าเทียบระดับความคิดตอนที่เรียนปริญญาเอก ผมก็ไม่เท่าคุณเม้ง

ผมต้องสอนลูกหลานให้แต่งตัวใส่กระโปรงแฟนซี จะได้เก่งเหมือนคุณเม้งครับ

070410+015+small

กราบสวัสดีครับ ท่านอาจารย์แสวง

  • อะจ๊าก... โหไปขุดมาชื่นชมกันได้เลยนะครับเนี่ย สุดยอดจริงๆ ครับ
  • ที่บ้านผมไม่ได้รวยเลยครับ อยู่แบบพอมีพอกินนะครับ ผมอาจจะโชคดีที่คุณพ่อคุณแม่สนับสนุนให้เรียนครับ กับการได้มีโอกาสเป็นลูกชาวนา เกษตรกร ผมว่าทำให้รับรู้หลายๆ อย่างเกี่ยวกับคำว่า ชีวิตมาบ้าง แต่มันก็แค่ส่วนหนึ่งครับ
  • แต่ว่าเรื่องสอนลูกหลานให้แต่แฟนซีนี่ สนุกครับ ทำดูนะครับ แต่จะเก่งหรือไม่อันนี้ไม่รับรองครับ
  • เป็นงานวันรับน้องใหม่ ในคืนแรกครับ ประกวดนางงามจักรวาลกันครับ ช่วงนั้น คุณปุ๋ย เธอเป็นนางงามจักรวาล ผมเลยได้สวมบทของเธอในคำคืนนั้น
  • เป็นคืนที่ไม่อาจจะลืมครับ เพราะการเตรียมงานชุดแสดงชุดนี้ ใครทราบว่าจะแสดงอะไรกัน จะโดนกลายเป็นนางงามหมดเลยครับ ส่วนสาวๆเค้าจะแกล้งโดยการแต่งหน้าทาปาก
  • แต่ที่ดีใจ อย่างน้อยๆ น้องๆ เพิ่งมาและเครียดกับการรับน้องใหม่และการมาจากต่างพ่อต่างแม่ มาอยู่ร่วมกัน ได้มีรอยยิ้ม แค่นี้ พวกเราก็พอใจแล้วครับ
  • แล้วจะรอชม..ภาพต่อๆ ไปครับ
  • ขอบพระคุณมากครับผม

และคุณเม้งยังมีก้อนหินวิเศษที่ทำให้ทุกครั้งที่ใช้ จะทำให้มีความสุขกันทั้งครอบครัวอีกด้วย

070410+058+%28small%29

เพราะอะไรหรือครับ

ก็มีคุณเม้งและคนในภาพ จะให้คำตอบได้ดีที่สุด

070410+056+%28small%29

P

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

  • ว้าวววววว.... ก้อนหินวิเศษครับผม กราบขอบพระคุณมากๆ เลยครับผม เพราะผมเองก็นึกไม่ออกว่าตำแหน่งตรงไหนกันแน่เวลาแม่พูดถึงแต่ละครั้ง ในจินตนาการผมคาดผิดไปประมาณ สิบห้าเมตรครับจากตำแหน่งจริงครับ
  • นับว่า จากบ้านมา 15 ปีจินตนาการคลาดเคลื่อนไป ปีละเมตร เลยครับ
  • ยอดเยี่ยมจริงๆ เลยครับ ก้อนหินสื่อสายใยจากไทยถึงเยอรมัน ผ่านบล็อกเกอร์สื่อกลางระหว่างใจ ครบสมบูรณ์ ดั่งการจัดการความรู้ใน 5 ระดับ เลยนะครับเนี่ย
  • อากาศ น้ำ ดิน หิน แมกมา (แต่แมกมาในสายใจ มิตรภาพระหว่างกันนะครับ)
  • เห็นไหมครับ ท้ายที่สุด ก็มาลงที่การจัดการความรู้ ถามว่าทำไมต้องตรงตำแหน่งนั้น ถึงจะคุยได้ชัด อิๆๆ นี่คือการทดลองแบบ Random walk เพื่อหาจุดที่ดีที่สุดครับ
  • นับว่าเป็นการวิจัยอีกขั้นหนึ่งของพระอรหันต์ของผมครับ ขอเรียกจุดนั้นว่า จุดอ้างอิงแห่งสายใจ
  • ขอบพระคุณมากๆ นะครับ
  • ผมขอเสียงจิ้งหรีดแบบชัดๆ แจ๋วๆ ด้วยนะครับผม ตอนนี้ผมชักจะสนใจเรื่องการตัดต้นกก กับการงอกของต้นข้าวแล้วนะครับ
  • รบกวนท่านอาจารย์ช่วยตัดตามระยะความสูง แล้วดูการโตนะครับ อยากจะรู้ว่ามีผลคล้ายๆ กับไฮดร้าหรือไม่ครับ อย่างไฮดร้ามันจะมีผลว่าตัดตรงไหนมันจะเป็นหัวหรือเป็นเท้านะครับ
  • ขอบพระคุณอีกครั้งครับผม กลับไปใต้ครั้งหน้า เชิญแวะที่บ้านด้วยครับ หากผมอยู่ตานีแล้วจะให้เลยไปหาผมด้วยก็ได้ครับ หรือผมค่อยขึ้นมาเจอที่พัทลุงก็ได้ครับ
  • ขอบคุณครับ

และเหนือสิ่งอื่นใด คุณเม้งยังมีคนสำคัญที่สุดในโลก ตั้งตารอคอย ตั้งใจคอยชื่นชม ความสำเร็จของคุณเม้งอยู่ทุกวัน

070410+055+%28small%29

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์แสวง

  • สวัสดีค่ะอาจารย์แสวง
  • ดีจังค่ะได้อ่านบันทึกของอาจารย์อีก  หลังจากไม่ได้อ่านซะนาน
  • คราวหน้าถ้ามาพิษณุโลก  อย่าลืมแวะเยี่ยมเยียนกันบ้างนะคะ
นับถืออยู่แล้ว .. นับถือเพิ่มขึ้นอีก "หนัดเหนียน" เลยครับอาจารย์
    ไม่น่าเชื่อว่าอาจารย์จะตุนเชื้อเพลิงไว้เผาน้องบ่าวผมได้มากขนาดนี้ .. สุก-เกรียมกันก็คราวนี้แหละ .. เที่ยวหลังถ้าจะให้แวะไปบ้านผมบ้าง คงต้องบอกให้เขาเตรียมการต้อนรับอย่างระมัดระวังที่สุด ... สุดยอดครับ สุดยอด.

อาจารย์Pครับ

มีแต่คนว่าอ่านผมเขียนแล้วเครียดนะครับ ผมเลยกำหนดจุดยืนไม่ค่อยถูก

แต่แม้ผมจะอยู่ที่ไหน ชีวิตนี้สละแล้วเพื่อชาติ

  • เรื่องของชาติอาจไม่สนุกสำหรับคนหลายคน
  • แต่ก็อาจเป็นเรื่องบันเทิงสำหรับคนที่เข้าใจชีวิต
  • ผมจะล้อเล่นกับคนที่จริงจัง (ผมสนุกกับสิ่งที่จะเกิดผลงาน)
  • และผมจะจริงจังกับคนที่ทำเล่นๆ (สนุกกับการป้องกันความเสียหาย)ครับ
  • นี่คือนิสัยส่วนตัว ที่คนอาจถือเป็นข้อด้อยของผม
  • แต่ผมไม่มีเจตนาที่จะทำให้ใครไม่สบายใจ
  • ยกเว้นคนที่กำลังทำร้ายประเทศชาติของเรา
  • ขอบคุณครับที่มาให้กำลังใจ

เดือนหน้าอาจจะได้ไปพิษณุโลกครับ อยากไปเดินริมน้ำน่านซื้อของเก่ามาไว้ดูเล่นครับ

อาจารย์Pครับ

โดยบังเอิญนะครับ ที่ได้ภาพมาตั้งประเด็นได้พอดี ไม่ได้ตั้งใจมากนัก ที่เขียนมาก็เป็น ad hoc arrangement ทั้งนั้นแหละครับ

แย้มไว้เลยนะครับ ภาพยังมีในสต็อกอีกพอสมควร ในอีกหลายมุมมอง รอให้สถานการณ์สุกงอมก่อนแล้วจึงจะเผยแพร่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท