การปลูกไม้ยืนต้นแบบดูอัลคอร์ Dual Core สองพลังเทอร์โบ


สวัสดีครับทุกท่านที่น่ารัก

         วันนี้เอาแนวทางเกษตรมาฝากอีกซักบทความครับ บล็อกนี้ก็เป็นเหมือนบล็อกสมรมเข้าไปทุกทีแล้วนะครับ....

หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินคำว่า Dual Core กันบ้างนะครับ เค้าใช้เรียกเครื่องคอมพ์ที่มีสองซีพียูวิ่งทำงานพร้อมๆ กันครับ แต่วันนี้ผมจะนำเสนอแบบการปลูกพืชแบบนี้บ้าง ขอตั้งชื่อแบบไทยๆ คือ การปลูกไม้ยืนต้นสองพลังเทอร์โบ ครับ โดยใช้เทคนิคการทาบกิ่งเข้ามาร่วมด้วยนะครับ ก่อนอื่นขอเกริ่นเรื่องการทาบกิ่งก่อนนะครับ

การทาบกิ่งเป็นการขยายพันธุ์พืชแบบไม่อาศัยเพศครับ ซึ่งจะไม่กลายพันธุ์ครับ ซึ่งมีอยู่หลายๆ วิธีนะครับ การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ที่เราคุ้นๆ มากที่สุดก็คือการตอนกิ่งครับ

มาดูขั้นตอนการทาบกิ่งแบบทั่วไปกันก่อนนะครับ

ผมขอเอาบทความจาก http://web.ku.ac.th/agri/plants/j2.htm เว็บของ ม.เกษตรศาสตร์ มาให้ดูกันนะครับ แบบทำความเข้าใจง่ายๆ พร้อมรูปภาพนะครับเพื่อความเข้าใจง่ายครับ

การทาบกิ่ง

คือ การนำต้นพืช 2 ต้นเป็นต้นเดียวกัน โดยส่วนของต้นตอที่นำมาทาบกิ่ง จะทำหน้าที่เป็นระบบรากอาหารให้กับต้นพันธุ์ดี โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

1. เลือกกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนที่สมบูรณ์เพศปราศจากโรคและแมลง
2. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้เป็นรูปโล่ยาวประมาณ 1 - 2 นิ้ว
3. เฉือนต้นตอเป็นรูปปากฉลาม
4. ประกบแผลต้นตอเข้ากับกิ่งพันธุ์ดี พันพลาสติกให้แน่น แล้วมัดต้นตอ กับกิ่งพันธุ์ด้วยเชือกหรือลวด
5. ประมาณ 6 - 7 สัปดาห์ แผลจะติดกันดี รากตุ้มต้นตอจะงอกแทงผ่านวัสดุ และเริ่มมีสีน้ำตาล ปลายรากมีสีขาว และมีจำนวนมากพอ จึงจะตัดได้
6. นำลงถุงเพาะชำ พร้อมปักหลังค้ำยัน ต้นเพื่อป้องกันต้นล้ม

  

เป็นไงบ้างครับ ไม่ยากเลยใช่ไหมครับสำหรับการทาบกิ่งแบบธรรมดา ข้อสำคัญคือ การปาดบาดแผลควรจะต้องปาดให้มีขนาดเท่าๆกันทั้งรอยบาดแผลทั้งสองต้นนะครับ ตัวต้นตอที่มีระบบรากนิยมใช้ต้นที่มีระบบการหาอาหารเก่ง เช่นระบบรากดี ทนแล้ง ส่วนยอดพันธุ์นั้น เน้นที่ให้ผลผลิตดีครับ เมื่อระบบท่อน้ำท่ออาหารของสองต้นเชื่อมต่อกันได้แล้ว ก็สามารถจะตัดกิ่งของพันธุ์ดีออกได้นะครับ (ตัดโคนกิ่งของพันธุ์ดีนะครับ อิๆ เดี๋ยวไปเผลอตัดผิดแย่เลยครับ อิๆๆ)

สำหรับคำแนะนำของผมที่จะแนะนำคือ การปลูกไม้ยืนต้นแบบสองพลังเทอร์โบ นั่นคือ การปลูกสองต้นให้อยู่ใกล้กันครับ เช่นการปลูกต้นสะตอ สองต้นด้วยเมล็ด ปลูกห่างกันประมาณ 10-15 เซนติเมตร ครับ แล้วก็ดูแลให้ต้นตอ สองต้นนั้น เจริญงอกงามแบบปกตินะครับ หรือใครจะเลี้ยงต้นกล้าไว้ก่อนก็ได้นะครับ แล้วค่อยเอามาลงหลุมพร้อมๆ กัน ให้ลงหลุมห่างกันตามที่บอกนะครับ

เมื่อต้นตอทั้งสอง มีขนาดลำต้นประมาณกิ่งที่เหมาะสม ให้ดูที่โคนต้น ห่างจากพื้น ประมาณหนึ่งฟุตนะครับ เพราะบริเวณนั้นเราจะใช้สำหรับการทาบลำต้นเข้าด้วยกันครับ โดยปาดรอยแผลให้มันเท่ากันพอดี ตรงนี้หล่ะครับ ต้องใช้มีดที่คมและสะอาดหน่อยนะครับ ก่อนจะปาดลำต้นจริง หากไม่มั่นใจ ให้ไปฝึกปาดกิ่งต้นไม้อื่น ก่อนก็ได้นะครับ เพื่อความชำนาญ (อย่าไปปาดคอคน หรือคอไก่เข้าหล่ะครับ เดี๋ยวได้เรื่องครับ)

เมื่อปาดลำต้นบริเวณระดับเดียวกันแล้วทั้งสองต้น ก็ให้ทาบลำต้นเข้าด้วยกันโดยบาดแผลชนเข้าหากัน แล้วให้พันด้วยพลาสติกใสที่ใช้สำหรับการติดตานะครับ

คราวนี้ก็ปล่อยทิ้งไว้ครับ จนกว่าลำต้นจะประสานเนื้อติดกัน เมื่อติดกันอย่างมั่นใจแล้ว ก็ให้ตัดยอดต้นหนึ่งเหนือรอยทาบทิ้งครับ แนะนำให้ตัดต้นที่ดูอ่อนแอกว่านะครับ หรือเตี้ยกว่าก็ได้ครับ ส่วนพลาสติกก็ค่อยแกะพลาสติกใสออกครับ คราวนี้คุณก็จะได้ต้นสะตอ สองพลังเทอร์โบแล้วหล่ะครับ ที่มีสองระบบราก หนึ่งยอด

เมื่อปล่อยไปนานๆ เข้าลำต้นที่โคนสองต้นนั้นจะประสานเป็นต้นเดียวกัน จนคุณจะเห็นแค่ว่าโคนต้นมีสองโคนนะครับ หรือบางทีคุณแยกไม่ออกเลยครับ แต่คุณมีสองระบบรากแก้วนะครับ โดยปกติแล้วรากพืชมันจะแย่งอาหารกันครับ หากยอดไม่ติดกัน แต่หากระบบลำต้นติดกัน ตัวต้นไม้จะทราบระบบรากของต้นเองดังนั้นการแย่งอาหารกันจะไม่เกิดในระบบรากทั้งสองครับ

สิ่งที่คุณจะเห็นได้ชัดจากการปลูกพืชแบบนี้ สองพลังเทอร์โบ นี้จะส่งผลให้การโตของลำต้นเร็วกว่าปกติครับ เพราะแหล่งหาอาหารมันมีสองพลังครับ

สิ่งที่อยากให้คุณลองคือ ลองเอาสองระบบต้นที่อยู่ในสายพันธุ์ใกล้ๆ กันแล้วมาทาบเข้าด้วยกันครับ โดยเมื่อทาบกันได้แล้วสนิท คุณค่อยตัดยอดพันธุ์ไม่ดีทิ้งครับ หรือต้นที่ไม่ต้องการทิ้งครับ

ที่ผมเคยทดสอบคือ ใช้ต้นสะตอ กับต้องเหรียง ทาบเข้าด้วยกันครับ จริงๆ เกิดจากความบังเอิญที่ต้นสะตอกับต้นเหรียงงอกมาที่บริเวณเดียวกัน ห่างกันพอเหมาะ แล้วแต่ละต้นก็ขึ้นสวยงามซะด้วยครับ จะโค่นต้นเหรียงทิ้งก็เสียดาย ผมตอนนั้นในฐานะเด็กเกษตร ก็ต้องลองมั่วบ้างครับ หัดแหกคอกบ้างก็ดีครับ เลยจับสองต้นมาทาบลำต้นเข้าหากัน จนได้เรื่องเลยครับ


(ต้นสะตอสองพลังเทอร์โบ สังเกตในภาพเป็นต้นที่ไม่มีใบนะครับ อยู่ในช่วงผลัดใบครับ)

จนในที่สุดที่หน้าบ้านผมก็จะมีต้นสะตอสองพลังเทอร์โบครับ คือมีสองระบบราก คือระบบรากเหรียงและระบบรากสะตอ ที่อุ้มชูลำต้นสะตอ แต่ไม่แค่นั้นครับ ที่ตลกมากกว่านั้นตามมาก็คือว่า ในหนึ่งปีปกติแล้วสะตอจะออกฝักประมาณปีละครั้ง แล้วเหรียงกับสะตอจะออกฝักคนละช่วงกันครับ ที่บ้านเลยจะได้เห็นสะตอต้นพิเศษต้นนี้ ออกฝักปีละสองครั้งเป็นอย่างน้อย แต่เวลาต้นสะตอโกนใบ (ผลัดใบ) ก็เป็นไปตามนิสัยของสะตอ แต่พอถึงช่วงที่เหรียงผลัดใบ สะตอก็ผลัดใบด้วย ฮ่าๆๆๆ สนุกกันใหญ่ครับ

ส่วนผลลัพธ์ก็จะได้ฝักสะตอ ที่มีแนวทางการผสมของเหรียงเข้าไปด้วยครับ คือเปลือกจะแข็งกว่าสะตอ แต่ไม่แข็งเหมือนเหรียง เปลือกเมล็ดก็จะแข็งกว่าสะตอ อิๆๆๆๆ

ลองเอาไปทำกันดูนะครับ ได้ผลแล้วเอารูปมาฝากกันบ้างนะครับ อิๆๆ

  

ขอให้สนุกกับการเกษตรนะครับ

เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

หมายเลขบันทึก: 106362เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2007 07:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 00:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

คุณเม้งครับ
     มีอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่ง เคยบอกว่า ให้พวกเราค้นหาความรู้ในท้องถิ่น ท่านใช้คำว่า วิทยาศาสตร์ในท้องถิ่น ซึ่งหมายถึง องค์ความรู้ที่เกิดขึ้น หรือเป็นความจริงในท้องถิ่นนั้นๆ


     การติดตา ต่อกิ่ง เสียบกิ่ง หรือทาบกิ่งให้กับต้นไม้นั้น น่าจะเป็นความรู้แบบสากล ที่รู้ว่า หากเอาต้นไม้ชนิดเดียวกัน พันธุ์ใกล้เคียงกัน สามารถนำมาต่อกันได้ ไม่ว่าจะเอามาเฉพาะตา หรือเอาแต่กิ่งมาเสียบ มาทาบ ไม่ว่าจะเอาส่วนของต้นหรือส่วนของราก ที่มาเสริมเป็นสองพลังเทอร์โบ แบบที่คุณเม้งว่ามา

     ชาวสวนหลายแห่งเสริมรากหลายรากให้กับไม้ผลที่เขาปลูก เช่น มะยงชิด แม้กระทั่งทุเรียนแถวบ้านเรา บางสวนก็เอาเมล็ดทุเรียนบ้านมาเสริมรากทุเรียนพันธุ์ หรือแม้กระทั่งเอาเมล็ดทุเรียนนก มาปลูกเสริมรากเพื่อป้องกันโรคบางโรคที่เป็นกับทุเรียนที่ปลูกเป็นการค้า

     ความรู้อันนี้เราอาจเรียกว่าเป็นความรู้ที่เป็นสากล แต่ความรู้ที่คุณเม้งได้จากการเสริมรากสะตอด้วยรากเหรียงนั้น น่าจะเรียกได้ว่าเป็น วิทยาศาสตร์ในท้องถิ่น หรือเป็นความรู้ในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งคนที่ทำเท่านั้นจะรู้ลึกในรายละเอียด ส่วนคนที่ไม่ได้ทำก็จะรู้เฉพาะ ความรู้ที่เป็นสากล

     จากการค้นพบความรู้ของคุณเม้งอันนี้ ชาวสวนสะตอ อาจนำไปเสียบยอดหรือทาบกิ่งสะตอบนตอเหรียงก็จะทำให้มีสะตอขายนอกฤดูกาลตามปกติ อันจะช่วยให้ขายได้ในราคาที่ดีขึ้น

     ปกติชาวสวนสะตอจะปลูกโดยการเสียบยอด บนตอสะตอ เพราะจะทำให้ได้ลผลิตเร็วกว่า การปลูกจากเมล็ดโดยตรง แต่จากการค้นพบของคุณเม้ง ชาวสวนอาจจะเสียบยอดสะตอบนตอเหรียงแทนการเสียบยอดสะตอบนตอสะตอ ส่วนคุณภาพของผลผลิต
อาจจะต้องศึกษากันต่อไป

     มีอีกเรื่องที่อยากจะเล่าให้ฟังครับ หลายสิบปีก่อน มีการผสมพันธุ์กล้วยไม้ โดยใช้กล้วยไม้พื้นเมืองของไทยมาผสมกัน
ใช้กล้วยไม้สกุลเข็ม 2 ชนิด คือ เข็มแดง กับเข็มแสด เข็มทั้งสองชนิดนี้ ออกดอกปีละครั้ง แต่เมื่อผสมกันแล้ว ลูกผสมที่ได้กลับออกดอกทั้งปี

     อีกเรื่องเป็นเรื่องที่เล่ากันมา มะเขือเทศกับยาสูบ เป็นพืชในวงศ์เดียวกัน เขาเอายอดมะเขือเทศ มาเสียบบนตอยาสูบ
พบว่าในผลมะเขือเทศ มีนิโคติน แต่พอทำกลับกัน เอายอดยาสูบมาเสียบบนตอมะเขือเทศ กลับไม่มีนิโคตินในใบยาสูบ

 

P

สวัสดีครับท่านอาจารย์เฒ่าหน้าเหมน (หมายถึงภูเขาเหมน เมืองคอนหรือเปล่าครับ)

  • ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า กราบขอบพระคุณมาอย่างสูงเลยครับ ที่ท่านอาจารย์นำความรู้มาเพิ่มพูนให้กับบทความนี้ มีสีสันและคุณค่ามากขึ้นมากๆเลยครับ
  • ทำให้ผมนึกไปถึงกระบวนการอื่น แบบการผสมพันธุ์แบบการขายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศมากขึ้นครับ จากที่เคยๆ ทำกันมานะครับ เช่น
  • เอาตาใบมะกรูด ไปติดกับ ต้นมะกรูดผี (ป่า)
  • เอายอดพริกไทย ไปเสียบยอดกับ ต้นชะพลู
  • เอาตาสะตอ ไปติดตามกับต้นตำเลง
  • เอากะท้อนพันธุ์ ติดตาบนกะท้อนบ้าน
  • และอื่นๆ ครับ ทำให้น่าคิดมากๆ เลยครับ
  • สิ่งที่สำคัญคือ ระบบรากของสิ่งที่เป็นบ้านๆ ป่าๆ พันธุ์ในป่า ทนแล้งทนฝนทนร้อน ทนสารพัดพิษ เป็นระบบรากที่ดีมากๆ ครับ
  • ผมยังจำได้ติดสมอง ท่านอาจารย์ผมเคยบอกว่า ต้นยางที่มีระบบรากดีเยี่ยมคือ GT1 มันถูกใช้เป็นต้นตอ เพราะระบบรากดีแต่ให้ผลผลิตไม่ดี ผมไม่แน่ใจว่าพันธุ์นี้ในปัจจุบันมีการใช้กันอยู่แพร่หลายหรือไม่ครับ
  • น่าสนใจในกรณีที่อาจารย์ได้นำมาเสนอมากๆ เลยครับ หากเราลงลึกถึงระดับฮอร์โมนปลายราก และฮอร์โมนปลายยอดนะครับ สองตัวนี้มันจะทำงานร่วมกัน ตัวล่างส่งขึ้น ตัวบนส่งลง
  • ตัวบนคุมใต้ดินด้วย ตัวใต้ดินคุมบนดินด้วยครับ มันทำงานร่วมกันเป็นทีมก็ว่าได้ครับ
  • เมื่อยอดโดนตัดเมื่อไหร่ ระบบถูกทำลาย ตายอดคุมตาข้างไม่ได้ ทำให้ระบบเกิดการสร้างยอดทดแทน โดยการแตกตาข้างขึ้นมาใหม่ ฮอร์โมนตัวล่างวิ่งส่งสัญญาณขึ้นไปกดสวิทย์ที่เหมาะสมสำหรับการแตกตาข้าง
  • เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆ นะครับ หากเราเข้าใจระบบเค้าดี เราจะอยู่กับเค้า อยู่กับธรรมชาติ อย่างเข้าใจมากขึ้นครับ
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากๆ เลยนะครับ คงได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันบ้างในอนาคตนะครับ
  • ผมเองตอนนี้ทำได้เพียงแค่ เชียร์ที่บ้าน กับเชียร์โสทร ครับ
  • โชคดีและกราบขอบพระคุณอีกครั้งครับ

คุณเม้งครับ
     ผมก็ต้องขอขอบคุณคุณเม้งเป็นอย่างสูง ตลอดจนคุณโสทร ที่ชักนำให้ผมมารู้จักกับคุณเม้งครับ

     บอกตรงๆว่าผมนี่ทึ่งในความรู้ ความสามารถในแสะแสวงหาความรู้ และความสามารถในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ของคุณเม้งเป็นอย่างมาก

     ผมทำสวนยางอยู่แถวหน้าเหมน หรือเขาเหมนที่คุณเม้งรู้จักครับ หลังจากที่ทำงานหลวงอยู่กว่า 35 ปี

     ผมเข้ามาอ่านในบล๊อคของคุณเม้งอยู่บ่อย แต่ยังขาดประสบการณ์ในการใช้ เลยไม่ได้เข้าไปทักทายกัน จนกระทั่งได้รับคำแนะนำจากโสทรว่าต้องทำอย่างไร ผู้เฒ่าอย่างผมก็เลยเป็นขึ้นมามั่ง
     ยางพันธุ์ GT1 คงจะหลงเหลืออยู่ตามศูนย์วิจัยยางบ้าง สวนชาวบ้านคงไม่มีเหลือ ตามแบบวิธีการทำสวนยางของสำนักงานสงเคราะห์การทำสวนยางที่ต้อง clear cut พืชทุกชนิดในแปลงที่ขอรับการสงเคราะห์ ต้องตัดออกให้หมด

     ผมยังเสียดายไม่หาย ต้นจิก ในสวนของยาย ก็ต้องโค่นไปด้วย ตอนนี้หาดอกจิกเป็นผักหนอกขนมจีนเช้าๆ ไม่ได้เลยครับ

     หลังจากที่ไปร่วมขบวนการ เกษตรกรรมธรรมชาติ ผมก็เริ่มปลูกต้นไม้ชนิดต่างๆ หลายอย่าง หลายชนิดไม่เอาแต่ยางเพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกันก็พยามยามเก็บตัวเลข ข้อมูลต่างๆ ของสวนยาง ที่พอจะเก็บได้เอามาใช้วิเคราะห์ดูว่า ระหว่างเกษตรกรรมสารเคมีกับ เกษตรกรรมจุลินทรีย์ พอจะสู้กันไหวไหม อยากจะให้คนหนุ่มสาวในวัยที่ยังมีเรี่ยวมีแรง หันกลับมาสนใจทดลองทำในเรื่องนี้ เหมือนกับที่โสทร กำลังทำอยู่ ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ
     ขอบคุณครับ

P

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์

  • ต้องขอบพระคุณมากๆ เลยนะครับ
  • ผมเองเป็นห่วงอยู่หลายๆ เรื่องตอนนี้ครับ แรกๆ คือ ชาวนาจะหายไปหรือไม่ หากหายไปเมืองไทยแย่แน่ครับ เพราะพื้นที่นาโดนรังแกมานานครับ ตั้งแต่เราใช้ปุ๋ยเคมีเลยครับ ท่านอาจารย์คงทราบดีครับ ผมจำได้ว่าตอนนั้นพวกเราชาวนาลูกชาวนาก็รู้จัก หัววัวคันไถกันดี 16-20-0 มักจะเป็นตัวเลขที่ชาวนาจำได้กันอย่างดี ส่วนแต่ละตัวนั้นไม่ทราบว่าอะไรหรอกครับ แต่เราจำกันได้ว่ามันคือสูตรปุ๋ย ส่วนแต่ละตัวบำรุงอะไร เราไม่ได้สนใจ
  • ดังนั้น ชาวนาชาวสวนจะคุ้นกับอีกตัวคือ 15-15-15 สำหรับชาวสวน  ผมดีใจที่เปิดดูทีวีบางครั้ง แม้ว่าจะออกรายการตอนที่ตีตีห้าเมืองไทยก็ตาม เกี่ยวกับเกษตร มีแนวทางเรื่องอินทรีย์ออกมามากขึ้นครับ
  • เคยไปหาปลากลางคืน ต้องเลือกดูปลาก่อนจะครอบด้วยสุ่ม หรือแทงด้วยฉมวกครับ เพราะต้องดูว่าเค้าเปื่อยหรือเปล่า ภาวะเคมีทำให้มีผลนอกจากดินแล้วน้ำแล้ว สัตว์น้ำในนานี่มีผลมากๆ เลยครับ เมื่อก่อนตอนเล็กๆ กล้าดื่มน้ำในนาครับ หลังๆ นี่ไม่กล้าแล้วครับ
  • สิ่งที่เราน่าสนใจอย่างหนึ่ง ผมว่าน่าจะลองตรวจเลือดชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านดูครับ ว่ามีสารพิษอยู่ในร่างกายอย่างไรบ้างครับ อย่างบ้านเราแถวนคร ร่อนพิบูลย์ ก็สารหนูปนเปื้อน เราใช้ธรรมชาติหนักมากเกินไปครับ
  • เรื่องการทำสวนยางแบบโกนหนวดนี่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งครับ คือโกนป่าให้หมดก่อนที่จะทำให้เป็นสวน เมื่อก่อนเราปลูกต้นยางพาราในป่ากันครับ เวลาเดินกรีดกันจะสนุกครับ เพราะไม่ได้เดินเป็นแถว เราต้องทำการจัดการระบบการเชื่อมโยงเส้นทางเดินกับการตั้งอยู่ของต้นยางในป่า ว่าจะเดินอย่างไรไม่ให้ลืมกรีด
  • จนมาเข้าสู่ยุคขอทุนยางครับ ต้นลูกเนียง ต้นสะตอ ต้นเหรียง ที่อยู่ในพื้นที่สวนยาง ต้องโค่นหมดครับ เพราะไม่งั้นไม่ผ่านตามเกณฑ์ของการขอทุนยาง คิดๆ แล้วน่าจะทำแบบนี้กับ กทม.มั่งนะครับ แบบว่าทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ (ฮี่ๆๆๆ) เพราะตอนที่เป็นป่าไม้ ก็ทำกันแบบนี้ครับ
  • ที่ว่ามาไม่ใช่อะไรนะครับ เพราะที่บ้านผมก็ทำ แล้วก็ตามแบบนี้เปะครับ คือทำการเกษตรแบบโกนหนวด แล้วปล่อยไว้มันก็จะงอกขึ้นมาใหม่จะปลูกอะไรก็ค่อยปลูกหลังจากโกนหนวดไปแล้ว
  • ผมเองก็เสียดายสวนยางที่บ้านครับ เพราะว่าโค่นไปก่อนที่ผมจะทราบ ทำให้สิ่งที่เรียนมาแทบจะไม่ได้ใช้เลยครับ คือโค่นยางทิ้งก่อนจะเร่งน้ำยางออกจากลำต้น
  • หากเรามีโอกาสสัมผัสธรรมชาติและอยู่ร่วมเพื่อทำความเข้าใจให้มากๆ ก็คงดีครับ คนอาจจะเข้าไปช่วยในเรื่องการจัดการ อย่างเข้าใจในความเป็นอยู่ของเค้าไม่ว่าจะน้ำ ดิน ลม ไฟ หรือต้นไม้ตลอดจนวัชพืชและศัตรูพืช
  • ผมไปเรียน ม.ปลายที่ ร.ร. ทุ่งส่งมานะครับ รู้จักเพื่อนๆ แถวๆ บ้านอาจารย์นะครับ แต่ผมเองสวนตัวไม่ค่อยได้มีโอกาสไปแถวบ้านอาจารย์เท่าที่ควรครับ ดูเหมือนว่า ยิ่งเรียนยิ่งห่างไกลยังไงไม่รู้ครับ แต่ที่สำคัญคงอยู่ที่ว่าตอนสุดท้ายแล้วทำอะไร ให้กับบ้านเกิด โดยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน คงมีทั้งทางตรงและทางอ้อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยกันครับ
  • เมื่ออยู่ไกลก็มีสิ่งมาทดแทนเสมอ ตามรูปแบบครับ วันหนึ่งคงได้มีโอกาสไปเรียนรู้จากอาจารย์และโสทร บ้างครับ ผมเองเชียร์โสทรอย่างเดียวตอนนี้ครับ
  • ผมติดตามเรื่องการเลี้ยงกบ และการเลี้ยงแมงดาอยู่พักหนึ่งครับ บอกที่บ้านไปสองปีแล้วครับ แต่คิดว่าต้องกลับไปทำเอง
  • กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อีกครั้งนะครับ หากความเห็นหรือสิ่งใดที่ผมเขียนใดผิดพลาดตามหลักการ หรือจะมองต่างมุม ด้วยความยินดีนะครับ
  • ตอนนี้ผมเป็นห่วงเรื่องการปลูกยางในนาข้าวนะครับ ผมเขียนไว้หนึ่งบทความ ต้นๆ ของ บล็อกนี้นะครับ ไม่แน่ใจว่าท่านอาจารย์ได้อ่านยังครับ ตรงนี้ผมห่วงมากที่สุดตอนนี้ครับ
  • กราบขอบพระคุณมากครับ
สวัสดีครับคุณเม้ง
     ดีใจที่มาเจอนักเรียนโรงเรียนเดียวกันครับ ผมจบ ม.ต้น ที่โรงเรียนทุ่งสง เมื่อราวปี 2508 ครับ หลังจากนั้นก็เข้าสู่ กทม
แต่ก่อนเข้า กทม ได้ไปเดินเล่นที่ใสใหญ่อยู่พักนึง อยู่ กทม จนเรียนจบมหาวิทยาลัย แล้วก็ไปทำงาน ไม่ได้กลับมาดูแลสวนเลยครับ จนกระทั่งปี 2547 ขอ early retire กลับมาอยู่บ้าน ดูแลสวนยางของครอบครัว
     บล็อกของคุณเม้งเรื่องปลูกยางในนาผมเข้าไปอ่านแล้วครับ ตั้งแต่วันแรกๆ แต่ตอนนั้นผมยังใช้ ไม่เป็น ตามหาบทความนั้นไม่เจอ จนต้องให้โสทรสอนให้ จึงเจอครับ ผมยังนึกอยากจะขอบทความนั้นไปลงในวารสาร ในเมืองไทยเพื่อให้กระทรวงเกษตรได้ออกมาบอกแก่ชาวนาว่า ที่นาควรไว้ทำนาหรือเอามาปลูกยาง
     สมัยผมยังเรียนประถม จำได้ว่า มีชาวนามาซื้อเกลือไปใส่ในนา ต่อมาก็รู้จักปุ๋ยน้ำตาล ก็คือ แอมมเนี่ยมซัลเฟต และรู้จักยาฆ่าปู ที่มากัดกินต้นข้าว หลังจากนั้นอีกไม่นาน ปุ๋ยเคมีสารพัดสูตร สารพัดยี่ห้อก็ทับโถมเข้ามาจนชาวนาตั้งตัวไม่ติด และที่สำคัญคือ พันธุ์ข้าวของชาวนา ก็เปลี่ยนไป เริ่มตั้งแต่ กข หมายเลขต่างๆ ที่เข้ามาแทนที่ เขาเล่ากันว่า นี่ก็เป็นยุทธการยึดประเทศอย่างหนึ่งของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จนทำให้ความสามารถในการ
พึงพาตนเองหมดไป และต้องซื้อทุกอย่างเอามาใช้ โดยเฉพาะจากร้านสะดวกซื้อ และห้างดังๆทั้งหลาย
     เมื่อหลายปีก่อน ผมกลับมาบ้าน พอดีอนามัยเขามาตรวจเลือดเกษตรกร ผมก็เลขขอให้เขาเจาะด้วย ช่วงนั้นเป็นเทศกาลกินเจ ผมกินเจ กินผักอยู่หลายวัน ผลปรากฏว่า เลือดผมมีสารฆ่าแมลง ทั้งๆที่ผมไม่เคยไปจับต้องขวดยาฆ่าแมลงเลย
     ผมว่าโสทรเขาโชคดี ที่ได้กลับมาอยู่บ้านตั้งแต่ยังหนุ่มๆ ยังมีไฟ มีเรี่ยวแรงที่จะคิดจะทำ ที่จะเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ยังมีกัลยาณมิตร คอยช่วยชี้แนะ ทั้งในและต่างประเทศ หากคุณเม้ง กลับมาเมืองไทยเมื่อไหร่ คงได้มีโอกาสพบกันครับ
ขอบคุณครับ
P

กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์

  • ดีมากๆ เลยครับ เหมือนเจอมิตรแท้ หรือญาติพี่น้องเพิ่มเติมอีกคนครับ ขออนุญาตนับญาติด้วยนะครับ ผมเองไปเรียน ทุ่งสงตอน ม.ปลายครับ ตอนไปสมัคร ผมกากเลือกสาขาเกษตร มีผู้ปกครองท่านหนึ่งท่านมองดูใบสมัครผมแล้วท่านบอกว่า แปลกจังเจ้าเด็กคนนี้เลือกเรียนเกษตร
  • ผมได้แค่ยิ้มในใจ ครับ เพราะแถวๆ บ้านผมก็ไม่ได้จะนิยมชมชอบเด็กเรียนเกษตร ด้วยเพราะว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ท่านๆเค้าเคยทำกันมาแล้ว หรือเพราะอะไรไม่ทราบครับ
  • ผมว่า อาจารย์เอกก็โชคดีนะครับ ที่ได้มีโอกาสกลับไปศึกษาและนำความรู้มาใช้จริง ผมว่าท้ายที่สุดแล้วความรู้จะเกิดหรือไม่เกิดประโยชน์ก็ จอดที่ว่าได้ใช้จริงหรือเปล่านี่หล่ะครับ บางอย่างเรียนไปแค่ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม แต่หากเราหาความสัมพันธ์เจอ สิ่งที่ใช่ว่าใส่บ่าแบกหามก็จะนำมาสู่การใช้จริงครับ
  • ตอนที่โสทรบอกผมว่า จะกลับไปอยู่บ้านกับแม่ดูและพ่อ แล้วทำเกษตร ผมหน่ะประทับใจมากครับ เพราะนั่นคือฝันของผมลึกๆ เช่นกันครับ
  • แต่สิ่งที่อาจารย์โชคดีและทำประโยชน์มากมากก็คือการได้เจอชาวบ้านและชุมชนต่างๆ ตรงนี้หล่ะผมว่าเป็นการถ่ายทอดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันครับ ผมชื่นชมคนทำเกษตรอินทรีย์ ธรรมชาติ ครับ ผมว่านั่นหล่ะทางออก และมันคือทางรอดของชุมชนที่แท้จริงครับ ต้องสร้างให้ชุมชนครบวงจรของการให้และรับอย่างเหมาะสม แล้วสังคมหรือชุมชนนั้นคงสานถึงกันเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้นนะครับ
  • สำหรับบทความนั้น อาจารย์เข้าไปดูได้ที่ http://gotoknow.org/blog/mrschuai/toc คือให้ใส่คำว่า /toc ต่อท้ายโครงสร้างของบล็อกแต่ละบล็อกจะนำอาจารย์ไปยังหน้าสารบัญบทความนะครับ แล้วก็เลือกอ่านได้เลยครับ
  • สำหรับบทความในนี้ ทั้งหมด หากคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศและส่วนรวมเอาไปใช้ได้เลยครับ เพียงอาจจะบอกกล่าวไว้ในบทความว่าเอาไปใช้ที่ไหน ผมจะได้รับทราบถึงที่ไปที่มาด้วยครับ ในการระมัดระวังการใช้คำพูดในบทความบ้าง เพราะส่วนใหญ่ผมเขียนบทความไปตามที่คิดได้นะครับ นึกได้นะครับ
  • เรื่องการตรวจเลือดนี่น่าสนใจมากๆ ครับ ผมว่าน่าจะมีการทำแผนเหล่านี้ แล้วตรวจเลือดชาวบ้านทุกๆ ครึ่งปี ก็คงดีครับ เน้นเรื่องสุขภาพและอยู่กับธรรมชาติมากขึ้นครับ เพราะสิ่งในเลือดคงบอกอะไรๆ ได้หลายๆ อย่างเลยครับ มีค่าพารามิเตอร์ร้อยแปดครับ อย่างน้อยท้ายที่สุดแล้ว เงินในธนาคารหรือในหุ้น กี่ล้านก็ล้างเลือดในตัวให้สะอาดไม่ได้ครับ หากพฤติกรรมเราไม่เปลี่ยน
  • กราบขอบพระคุณมากๆ เลยนะครับ ที่นำความรู้ชั้นเยี่ยมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผมว่าวันนี้ผมหลับสบายกายสบายใจแน่นอนครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ

สงสัยหัวข้อนี้มีแต่เราสามคน ในฐานะที่ถูกพูดถึงนะครับก็ไม่รู้จะกล่าวอะไรดี นอกจากคำว่า "ขอบคุณมากๆ" จากกัลยาณมิตรทั้งสอง  คนในประเทศนี้ตั้งหลายล้านคน การที่เราได้มาเจอกันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ตอนที่ผมลาออกจากงาน มีคนบอกว่ารีบออกไปทำไม อายุยังน้อย ค่อยไปตอนสี่สิบห้าสิบก็ได้ ผมก็ไม่ตอบโต้ แต่นึกในใจว่าถ้าผมออกมาตอนนั้นแล้วผมจะเอาแรงที่ไหนขุดดิน ผมออกมาแล้วไม่เสียใจแม้แต่น้อยกับเงินเดือนสองหมื่นกว่าบาท ถึงแม้ตอนนี้จะมีรายได้อาจจะพอๆ กับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ผมดีใจที่ทำให้พ่อแม่สบายใจ  ไม่ต้องเป็นห่วงผม และภูมิใจกับสิ่งที่ทำอยู่ และกำลังจะทำในอนาคต

กลับมาอยู่บ้านตอนแรกก็มืดมน แต่ตอนนี้เห็นลู่ทางแล้ว ไม่ใช่หนทางรวย แต่เป็นหนทางพึ่งตนเอง และหนทางที่จะอยู่อย่างมีความสุข 

ขอขอบคุณกัลยณมิตรทั้งสองอีกครั้ง  โอกาสหน้าคงได้รบกวนอีก 

P
สวัสดีครับโส
  • เงินเดือนสองหมื่นห้า หรือห้าหมื่นแปด ไม่ได้สำคัญว่าได้เท่าใด สำคัญว่าเราทำอะไรและเหลือเท่าใดในแต่ละเดือน ใช้จ่ายคุ้มค่าหรือไม่
  • กลับไปอยู่บ้าน แน่ๆ ไม่มีเงินก็ไม่อดตายครับ หากมีดินและน้ำให้ทำกิน มีปัญญาในหัวสมองที่ทำแล้วก็คิดคิดแล้วก็ทำครับ
  • ผมกลับบ้านแต่ละครั้ง แบบว่าไม่ต้องถือเงินครับ เพียงแต่บอกแม่ว่าหากแม่จะไปซื้ออะไร ไปล้วงเงินในกระเป๋ากางเกงได้เลย แต่ผมไม่ถือเงินยกเว้นจะไปไหนไกลๆ ที่ไม่ได้เดินหรือไกลเกินบริเวณครับ
  • ตอนนี้ยังจำเป็นต้องพึ่งตลาดในบางอย่างพวกที่ไม่ได้ปลูกเองเช่น หอม กระเทียม พริกไทย และพวก น้ำมัน เกลือ กะปิ มียอดมันปูให้เด็ดกินตามรูปแบบของแกงที่แกงครับ มีปลาให้กินตามวาระที่นึกหิว หากมีตู้เย็นที่ดีที่เป็นตู้เย็นธรรมชาติ ทุกอย่างจะดีครับ เก็บได้นานเป็นวงจรที่ดีครับ
  • ผมดีใจเสมอที่เจอมิตรที่ดีทั่วโลกตามรูปแบบ มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันก็ได้แนวทาง แนวคิดในการปรับใช้กันครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ
  • มาแอบอ่าน ข้อสนทนาของหนุ่มใต้สามคน บ้านเดียวกันจนเพลิน จบแบบไม่รู้ตัว
  • ประทับใจมากค่ะ กับกัลยาณมิตรทั้งสาม
  • เม้งพูดถูกนะคะ คุณโส
  • "เงินเดือนสองหมื่นห้า หรือห้าหมื่นแปด ไม่ได้สำคัญว่าได้เท่าใด สำคัญว่าเราทำอะไรและเหลือเท่าใดในแต่ละเดือน ใช้จ่ายคุ้มค่าหรือไม่"
  • ...และมั่นใจมาก ว่าคุณโสมาถูกทางแล้ว
  • "ไม่ใช่หนทางรวย แต่เป็นหนทางพึ่งตนเอง และหนทางที่จะอยู่อย่างมีความสุข"
  • เอาใจช่วยให้ประสบความสำเร็จนะคะ
P
lioness  

สวัสดีครับพี่สุ

ขอบคุณมากครับ ที่แวะมาทักทาย ผมมาต้อนรับช้าไปหน่อยครับ เป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตแบบพอเพียงนะครับผม มิตรภาพที่ดีนำไปสู่สังคมที่ดีครับ

ขอบคุณมากครับ

หนูโกรธนะ หนูเปิดเว็บนี้แล้ว พิมพ์ว่า การปลูกมะเขือเทศด้วยเมล็ด แต่เว็บนี้กลับไม่บอกเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องที่หนูพิมพ์เลย

เฮ้ย หน๋อยเว็บกูเกิ้ลนะเว็บ.หาทั้งทีไม่เจอเลยเฮ้ยต่อไปนี้เราจะเอาตัวเราไปเป็นดาราเลยคอยดู

เพลงนะย่ะเพลง555+ ฟังให้ดีนะคนร้องเพลงนี้จาทำให้ฉลาด

ชั้นนั้นเป็นคนขี้อายหลายใจ ในรักมันก็ต้องเจ็บ แต่ไม่เจ็บเท่าฉันโอโว้

รักจริงยิ่งใหญ่ไม่จืดจางโอโว้ แต่รักของชั้นนั้นยังทน.......โอ๊ะโอ

เราเป็นเพื่อนกับเสรี เรา2คนติ๊งต๊องเหมือนกันเฮ้อทุเดอีสมันเด 55

To..หนุ่มใต้ทุกๆท่าน...นานๆจะกลับใต้ซักคั้งหรือปีละคั้ง...ตัวผมคนนครสวรรค์แฟนคน อ.นาบอน นครฯ กลับไปแต่ละคั้งก็อิจฉาคนรักกันดี..คนมีนำใจกว่าคนภาคอื่นจากที่ใด้พบมา..การใช้จ่ายเงินเป็นสิ่งสำคัญรายใด้มีมาก..แต่ไม่รู้จักเก็บก็ไม่เหลือคับ....โอกาศหน้าคงใด้แวะเวียนกันใหม่

มีประโยชน์ดีมากค่ะ ถ้าเอาต้นมากกว่า 2 เช่น 4 ก็จะเป็นพลัง quart เลยใช่ไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท