การเรียนรู้เป็นฐานในงานมหกรรม KM เบาหวาน (๑)


กำหนดลำดับการหมุนฐาน กลุ่มไหนเริ่มที่ไหนจบที่ไหน เขียนลงในแผงผังของศูนย์ประชุมให้เลย แจกให้คนถือธงเป็นโพยติดตัว กำหนดจุดรวมพลของทุกกลุ่มที่จุดที่ ๑

ประสบการณ์จากงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ ๓ ที่พบว่า “ห้องที่ให้ทำกิจกรรมจะได้รับความสนใจมาก คนเข้าเยอะแล้วอยู่ตลอด” ทำให้เราตั้งใจจะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบให้ผู้เข้าประชุมได้สัมผัสกับของจริงและได้เรียนรู้ทุกเรื่องเหมือนๆ กัน เพราะการจัดห้องย่อยหลายๆ ห้องให้เลือกเข้า เราก็ได้ความรู้น้อย เพราะเลือกเข้าฟังได้ไม่กี่เรื่องเนื่องจากทุกๆ ห้องมีกิจกรรมในเวลาเดียวกัน แถมคนยังเดินเข้าเดินออกกันขวักไขว่

ตอนที่ไปจัด KM workshop ให้กับกลุ่ม pressure sore ของภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (อ่านที่นี่) เราให้เจ้าของเรื่องเล่าเด่นๆ เอาผลงานของตนมาแสดงและแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าประชุมเป็นฐานๆ ผศ.ดร.นิโรบล กนกสุนทรรัตน์ เป็นคนคิดขึ้นมา ปรากฏว่า work มาก ผู้เข้าประชุมชอบมาก เจ้าของเรื่องเล่าก็ภูมิใจ มีการเอาความรู้ส่วนนี้ไปใช้ต่อในที่ทำงานของตน

ดิฉันบอกตัวเองว่าแบบนี้ใช่เลย จะจัดแบบนี้บ้างในงานมหกรรม KM เบาหวาน แต่จะจัดการอย่างไร เพราะ workshop เรื่อง pressure sore มีผู้เข้าประชุมเพียง ๕๐ คน ของเราจะมีคนจำนวนมากกว่านี้เกือบ ๑๐ เท่า นั่งคิดนอนคิดเรื่องการจัดฐานหมุนฐานอยู่เป็นนาน การประชุมเตรียมการเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๐ (อ่านที่นี่) ก็ได้แนวทางในการควบคุมเวลาแต่ละฐานว่าให้ใช้คนนำทาง

ได้ทางออกไปหนึ่งเรื่อง เราจึงตกลงกันว่าให้แบ่งผู้เข้าประชุมเป็น ๕ กลุ่มใหญ่ กลุ่มละ ๙๐ คน ในแต่ละกลุ่มแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีก ๓ กลุ่มๆ ละ ๓๐ คน รวมแล้วจะมี ๑๕ กลุ่มย่อย จัดฐานการเรียนรู้ ๕ ฐาน แต่ละฐานมีการให้ภาพรวม แล้วแยกไปเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อยๆ การจัดการให้ง่ายคือแบ่งกลุ่มย่อยล่วงหน้าคละวิชาชีพคละที่ทำงาน มีสัญลักษณ์บอกว่าใครอยู่กลุ่มอะไร

ดิฉันเลือกดอกไม้เป็นชื่อกลุ่มคือ กุหลาบ ชบา ชวนชม เฟื่องฟ้า และบานชื่น ทุกดอกแบ่งย่อยเป็นสีแดง-ฟ้า-ส้ม จะปรากฏดอกไม้สีเหล่านี้ที่ป้ายชื่อผู้เข้าประชุม และมีธงนำทาง ๑๕ อันเหมือนกันฝีมือคุณวิชาญ เจ้าหน้าที่สื่อโสตของเทพธารินทร์ (ธงน่ารัก ใครเห็นก็อยากได้)

การประชุมเมื่อเย็นวันที่ ๒๕ กรกฎาคม มีการมอบหมายว่าใครถือธงกลุ่มไหน คุณหมอฝน สกาวเดือน นำแสงกุล หัวไวและช่างจัดการ กำหนดลำดับการหมุนฐาน กลุ่มไหนเริ่มที่ไหนจบที่ไหน เขียนลงในแผงผังของศูนย์ประชุมให้เลย แจกให้คนถือธงเป็นโพยติดตัว กำหนดจุดรวมพลของทุกกลุ่มที่จุดที่ ๑

 

 ดิฉันเมื่อยเท้ามาก คนอื่นเลยต้องนั่งประชุมที่พื้นไปด้วย

จะรู้ได้อย่างไรว่าหมดเวลาแล้วต้องหมุนฐาน เราช่วยกันคิดๆ จนในที่สุดตกลงกันว่าใช้สัญญาณ “นกหวีด” น้องๆ ทีมของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันรับหน้าที่ไปซื้อนกหวีดมา ๕ ตัว  มอบหมายผู้ควบคุมเวลาในแต่ละฐาน เมื่อใกล้หมดเวลา (อีก ๕ นาที) เป่าเตือนก่อน ปี๊ดๆ พอหมดเวลาเป่า ปี๊ด ยาวเลย

ทบทวนเรื่องสถานที่ของแต่ละฐานกันอีกที เตรียมป้ายต่างๆ บอกผู้เข้าประชุมก่อนเลิกการประชุมวันแรกว่าพรุ่งนี้ให้แต่งกายตามสบาย บางกิจกรรมเราจะนั่งพื้นกันนะ

รอลุ้นกันว่าแผนของเราเมื่อเอาไปใช้จริงจะเป็นอย่างไร

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 115697เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2007 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท