สัมฤทธิ์ผลของโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี


1. องค์ความรู้เรื่องการพัฒนาชาวนาในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน  
การดำเนินงานโรงเรียนชาวนาของ มขข.ทำให้พบว่า การช่วยให้นักเรียนชาวนาปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องได้นั้น มีเงื่อนไขหลายด้าน เป็นต้นว่า
1) มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียนชาวนาเปลี่ยนพฤติกรรมและบุคคลใกล้ชิดของนักเรียนชาวนา เช่น สมาชิกครัวเรือน กลุ่มเพื่อน ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมร่วมกันไปด้วย
2) มีการเสริมแรง เช่น ให้รางวัล ชื่นชมยินดีเมื่อนักเรียนชาวนามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
3) สร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
4) มีกลไกกระตุ้นเตือนให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซ้ำๆ หรือต่อเนื่องกันจนกว่าจะเกิดความเคยชินเป็นนิสัย
5) ให้โอกาสหรือออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียนชาวนาได้แสดงพฤติกรรมทั้งในสถานที่ที่กำหนด (เช่นในแปลงสาธิต) และสถานที่ที่เป็นจริงตามธรรมชาติ เช่นในแปลงนาของตนเอง
6 ) ให้วิธีการป้องกันการกลับไปมีพฤติกรรมตามแบบเดิมที่ไม่พึงปรารถนาอย่างสม่ำเสมอ
7 ) ร่วมมือร่วมพลังกับองค์กรหรือชุมชนเพื่อขยายผลกับคนส่วนใหญ่
8 ) มีการปรับกิจกรรมการเรียนรู้ หรือกิจกรรมแทรกแซง (Intervention) ให้สนองตอบสถานการณ์จริงตามบริบท 
2. ผลการพัฒนาชาวนาและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
มขข.สามารถพัฒนานักเรียนชาวนาในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีในช่วงแรกนี้ได้ถึง 208 คน (ในจำนวนนี้มีศักยภาพทั้งที่เข้มข้นจริงจังมาก ปานกลาง และยังต้องการการหนุนเสริมต่อ)  เป็นกลุ่มผู้ผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติการจริง มีความอดทนและอยากเรียนรู้ ชาวนาเหล่านี้นับเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีต่อไปในอนาคต
นอกจากนักเรียนชาวนาจำนวนดังกล่าวแล้ว ยังมีชาวนาจากจังหวัดเครือข่ายต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากที่สนใจในวิถีชีวิตแบบพอเพียง มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ มขข.และนักเรียนชาวนาในโครงการนี้ (รวมไปถึงการเรียนรู้ข้ามกลุ่มอาชีพ เช่น กรณีบุคลากรบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จ.สระบุรี มาเรียนรู้กับชาวนาของ มขข. อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น)
อนึ่ง ชาวนาโดยทั่วไปที่ไม่ได้สมัครเป็นนักเรียนชาวนาในโรงเรียน มขข. 4 แห่ง แต่มีพื้นที่หรือที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงเรียนชาวนานั้น ก็พบว่ามีจำนวนหนึ่งที่เห็นผลและเริ่มทำตาม แม้จะไม่เต็มรูปแบบ นับว่า โครงการมีผลข้างเคียง (neighborhood effect) อยู่ระดับหนึ่งด้วย
มขข.เองมีโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและมีผู้ศึกษาดูงานอยู่ตลอดปี ผลการปฏิบัติงานและการจัดการความรู้เรื่องโรงเรียนชาวนานับเป็นวาระสำคัญของการฝึกอบรมและศึกษาดูงานทั้งของเครือข่ายพันธมิตรเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนอยู่เสมอ
3. องค์ความรู้เรื่องการพัฒนาผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและการพัฒนานักเรียนชาวนาสู่ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้
เงื่อนไขที่สำคัญมากประการหนึ่งในการดำเนินโครงการโรงเรียนชาวนาของ มขข. คือการมีผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ที่มีศักยภาพ    มขข.สามารถสรรหาบุคลากรดังกล่าวมาดำเนินการโครงการและเรียนรู้จากปฏิบัติการจริงร่วมไปกับนักเรียนชาวนา แม้อาจจะมีสมรรถนะบางด้านที่ต้องเติมเต็ม พัฒนายกระดับตนเอง แต่ก็กล่าวได้อย่างค่อนข้างมั่นใจว่าการดำเนินโครงการนี้ทำให้ มขข. มีองค์ความรู้ที่สำคัญด้านการคัดเลือกและพัฒนาศักยภาพผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้กรณีโรงเรียนชาวนา
อนึ่ง ผลลัพธ์ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งคือ โครงการสามารถยกระดับนักเรียนชาวนาจำนวนประมาณ 25 คนให้พัฒนาศักยภาพเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ที่สามารถเป็นผู้นำด้านออกแบบการเรียนรู้และนำเพื่อนชาวนาเรียนรู้ได้ รวมทั้งสามารถบรรยาย นำฝึกปฏิบัติกระบวนการโรงเรียนชาวนาให้กับผู้รับการฝึกอบรม หรือศึกษาดูงานได้ เรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากจะทำให้สามารถขยายผลหรือรักษาสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ในโรงเรียนชาวนาได้ต่อไป 
ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ที่มีสมรรถนะนอกจากจะเป็นวิทยากรกระบวนการ (process facilitator) แล้วยังสามารถยกระดับเป็นผู้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ (learning facilitator) และยังสามารถเอื้อให้เกิดการขับเคลื่อนทางนโยบายระดับพื้นที่อีกด้วย (local policy facilitator)
4. องค์ความรู้เชิงเทคนิคของการทำนาในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
โครงการนี้นับเป็นการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของนักเรียนชาวนาที่ทำการวิจัยทดลองในภาคสนาม (field experiment) จนเกิดองค์ความรู้ในการทำนาที่นักเรียนชาวนาพัฒนาขึ้นร่วมกัน ตัวอย่างองค์ความรู้ ที่พัฒนาขึ้นในโครงการนี้ เมื่อใช้เกณฑ์ที่ว่ามีการพัฒนาความรู้จากปฏิบัติการจริง และมีสัมฤทธิ์ผลในการแก้ปัญหาได้จริง มีหลายด้านเช่น
  1. ทักษะการสังเกตในแปลงนาการจดบันทึกข้อมูลและนำข้อมูลที่จดบันทึกมาใช้ประโยชน์ในลักษณะหมุนเกลียวความรู้
  2. การลดต้นทุนการผลิตด้วยการปล่อยให้แมลงควบคุมกันเอง และการทำนาล้มตอซัง
  3.  การจัดทำและตีความบัญชีรับ-จ่าย
  4. ประเพณีพื้นบ้านที่สัมพันธ์กับการทำนา
  5. การเสริมพลังเครือข่ายชุมชนชาวนา โดยกระบวนการเพื่อนเยี่ยมเพื่อน
  6. การจัดการความแตกต่างอย่างลงตัว กรณีเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการทำนาในวิถีของนักเรียนชาวนา
  7. วิธีวิทยาการวิจัยเชิงทดลองในนาข้าวฉบับนักเรียนชาวนา
  8. การฆ่าหญ้าโดยไม่ใช้สารเคมี เช่น การไถกลบเพื่อเตรียมดิน การใช้ต้นกล้าที่สูง-โตมาดำนาและปล่อยน้ำเข้านาให้ท่วมหญ้า และการทำน้ำหมักเพื่อฆ่าหญ้า
  9. ลักษณะข้าวที่ควรนำมาทำพันธุ์ การคัดพันธุ์ การเพาะพันธุ์ และการปรับปรุงพันธุ์ข้าว
  10.  การเพาะพันธุ์จากข้าวกล้องซึ่งสามารถทำได้และได้ผลดีกว่าข้าวเปลือก ข้าวเพียง 1 เมล็ด นำมาเพาะเป็นต้นข้าวได้มากถึง 30 – 40 ต้น
  11. การปลูกข้าวโดยใช้การดำกล้าเพียงหนึ่งต้น โดยใช้เชือกขึงเป็นแนวในการดำนา ทำให้ต้นข้าวไม่อยู่ชิดกัน ทำให้ข้าวแตกกอ มีความสมบูรณ์ และให้ผลผลิตสูง
  12. เทคนิคการพัฒนาตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของพื้นที่ฉบับชาวนา เช่น การที่มีแหนแดง ตะไคร่น้ำ พืชเล็กๆ ปกคลุมดิน การมีแมลงหรือนกมาวางไข่ในนา รวมถึงตัวชี้วัดความสำเร็จของโรงเรียนชาวนา เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้กัน การไม่หวงความรู้ การมีเพื่อนมากขึ้น การมีเวลาว่าง มีความสุข ใจดีขึ้น การที่ชาวนารู้สึกมีคุณค่าในตนเพิ่มขึ้น
ฯลฯ
ความรู้เหล่านี้มีลักษณะพิเศษคือ เป็นความรู้ที่เป็นสมบัติสาธารณะ ไม่มีใครหวงความรู้เหล่านี้ หากแต่ต้องการแบ่งปันแลกเปลี่ยน และมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น (situated knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากมีกระบวนการผลิตข้าวร่วมกัน  ตั้งโจทย์ร่วมกัน มีการสังเกต เก็บข้อมูล และกระบวนการอื่นๆ ร่วมกัน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้วยกัน นับว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เอื้อให้เกิดความสัมพันธ์ในแนวราบมากกว่าแนวตั้ง เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้มีคุณภาพการเรียนรู้ที่ดี และมีแนวโน้มของความยั่งยืน เนื่องจากมีกระบวนการจัดการความรู้ให้สามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้กับวิถีชีวิตอย่างมีคุณค่า
5. ผลด้านการพัฒนาเอกสารองค์ความรู้ในโครงการโรงเรียนชาวนา
โครงการนำร่องโรงเรียนชาวนาของ มขข. พัฒนาเอกสารองค์ความรู้ในโครงการขึ้นแล้วบางระดับ เช่น เอกสารที่ใช้ในโครงการฝึกอบรมประชุมปฏิบัติการ ในบางครั้ง สคส. หรือนักวิชาการอิสระได้ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ในบางโอกาส เช่น การจัดพิมพ์เอกสาร “นวัตกรรมการจัดการความรู้โรงเรียนชาวนา กระบวนการพัฒนานักเรียนชาวนาให้วัฒนา” (2548) หรือกรณียุวนุช ทินนะลักษณ์ (2549) ในเรื่อง “ขยายโลกทัศน์เรื่องโรงเรียนชาวนากับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์: บทหนึ่งของการสนทนากับคุณ เดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ” รวมทั้งมีการนำเอกสารของฝ่ายติดตามประเมินผลภายใน จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไปเผยแพร่ทั้งในรูปสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในบางโอกาสเช่นกัน เอกสารองค์ความรู้เหล่านี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การสร้างและการจัดการความรู้ในโรงเรียนชาวนา เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ระบบคุณค่า ไม่สามารถอาศัยเพียงวิธีวิทยา (methodology) ทางวิทยาศาสตร์หรือวิธีวิทยากระแสหลักได้ หากต้องอาศัยแนวทางอื่นๆ เช่นพิธีกรรมประเพณีเข้ามาใช้ เนื่องจากเรื่องของมนุษย์มีความสลับซับซ้อนมาก
อนึ่ง สื่อมวลชนหลายแขนงก็ได้เผยแพร่เรื่อง มขข.และโรงเรียนชาวนาในเชิงขบวนการ เคลื่อนไหว (social movement) อยู่หลายครั้ง แต่ยังไม่ลงลึกในเรื่องกระบวนการเท่าที่ควร
6. ผลด้านการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
สคส.ได้มีส่วนนำผู้มีบทบาทขับเคลื่อนเชิงนโยบายในสังคมไทย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาค เอกชน และภาคประชาชน จำนวนมากมารับรู้เรื่องโรงเรียนชาวนาของ มขข. ทั้งในระดับพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี และในเวทีเรียนรู้อื่นๆ มขข.เองก็มีผู้ติดต่อมาศึกษาดูงานและฝึกอบรมในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก น่าจะกล่าวได้ว่า มีการรับรู้กิจกรรมโรงเรียนชาวนาของ มขข. ในภาพกว้างไปทั่วประเทศ รวมทั้งในต่างประเทศ ซึ่ง มขข.มีเครือข่ายอยู่ด้วย
เหตุการณ์สำคัญมากที่สุดในรอบปี พ.ศ.2548 คือ การที่ทีมงาน มขข.ได้ถวายรายงานกิจกรรมโรงเรียนชาวนาต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ การประชุมของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2548 ในโอกาสอันเป็นมงคลดังกล่าว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงทดลองคัดพันธุ์ข้าวพระราชทานให้กับ มขข.ด้วย
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่นั้น มขข. ได้รับการติดต่อจากผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีให้เสนอโครงการขยายผลโรงเรียนชาวนา ขณะเดียวกันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง เช่น อบต.ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ให้ความสนใจสนับสนุนการดำเนินงานโรงเรียนชาวนาด้วย
สัมฤทธิผลโครงการโรงเรียนชาวนานำร่องของ มขข. ดังเสนอมาโดยสังเขปข้างต้นนั้น ชี้ให้เห็นว่าการปฏิรูปการเรียนรู้และการจัดการความรู้ในชุมชนชาวนานั้น สามารถดำเนินการให้เกิดขึ้นได้จริง ท่ามกลางข้อจำกัดในสังคมที่มีมากมายหลายประการ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงภายใต้บริบทปกติ มิใช่เกิดขึ้นได้จริงในฐานะของข้อยกเว้น
อย่างไรก็ตาม สังคมไทยต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการโอบอุ้มรักษาสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ ยกระดับ และขยายผลต่อไปได้ หลังโครงการนี้สิ้นสุดการสนับสนุนงบประมาณจาก สคส.แล้ว
ที่มา : รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการติดตามประเมินผลภายในและการถอดบทเรียนกระบวนการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรีและชุมชนบางชุมชนในเขต จ.สุพรรณบุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา หรือจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ (พฤษภาคม 2550)
หมายเลขบันทึก: 105050เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2007 08:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ คุณหญิงอ้ออ้อม  ต้องขอชื่นชมจริงฯฯฯครับ ที่ได้นำสิ่งที่ดีฯฯมาแบ่งปัน  หากมีเวลา มาแวะเยี่ยมพี่เขียวมรกตบ้างนะ ขอบคุณหลายฯฯเด้อครับ

ดีใจค่ะที่ข้อมูลมีประโยชน์ต่อสังคม  ทีมประเมินโครงการฯ นี้นำเสนอไว้อีกหลายประเด็น ต้องติดตามอ่านให้ได้นะคะ  ตอนต่อไปเป็นเรื่องความสอดคล้องของแนวคิดโรงเรียนชาวนาด้านต่างๆ เช่น ด้านการศึกษาทางเลือก ด้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น

มีประโยชน์มากครับ จะคอยติดตามผลงานต่อไปนะครับ

สนใจเปิดโรงเรียนชาวนา ที่ชัยนาท ทำอย่างไรดีคะ

ติดต่อปรึกษาไปที่ พี่จิ๋ม โรงเรียนชาวนาที่สุพรรณ เลยค่ะ โทร 035 597193

พอดีสนใจอยากเรียนรู้บ้างอะครับ..จะติดต่อที่ไหนยังไงได้บ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท