การพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพแบบบูรณาการ


 

          โชคดีจริงๆ ที่ผมไปประชุมสภา มวล. ที่นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๑๔ ก.ค. ๕๐    ไม่อยู่ประชุมทางไกลที่กรุงเทพ     ทำให้ผมได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือการดำเนินงานโครงการวิทยาลัยวิทยาการสุขภาพ     และได้เรียนรู้วิธีคิดเรื่องนี้จากท่านนายกสภาฯ     ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา   
          เรื่องนี้มีการพูดคุยกันมากว่า ๒ ปี     แต่พอทางทีม มวล. นำเสนอ ก็นำเสนอแบบ “กลับไปที่เก่า”     คือทำแบบแยกส่วน  ไม่บูรณาการกัน     ซึ่ง ศ. นพ. จรัส บอกว่าจะไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า
          คนมักเข้าใจผิด  มองเรื่องตั้งโรงเรียนแพทย์ใหม่  ว่าเป้าหมายหลักคือ ผลิตแพทย์กับมีโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ    ซึ่งจะไม่ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่
          เรื่องนี้ต้องคิดใหม่ ทำใหม่  ทำออกนอกกรอบ     ไม่ตกร่องเดิม  ไม่ทำเลียนแบบผิดๆ ที่มีอยู่เดิม     โดยต้องเปลี่ยนเป้าหมาย  ไปเน้นที่สุขภาวะของคนในนครศรีธรรมราช  และภาคใต้ตอนบน     เน้นที่การพัฒนาระบบสุขภาพของพื้นที่นี้     พัฒนาระบบบุคลากรสุขภาพในพื้นที่   
          คิดออกนอกกรอบเดิมในเรื่อง
               •ผลิตบุคลากรสุขภาพแบบบูรณาการวิชาชีพ    มีการเรียนและฝึกนักศึกษาแบบสหวิชาชีพ    ซึ่งในกรณีของ มวล. ได้แก่ นศ. พยาบาล  เภสัช  เทคนิคการแพทย์  แพทย์  สาธารณสุข  ฯลฯ  
               •บูรณาการระบบผลิตบุคลากรสุขภาพ กับการพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่     โดยมียุทธศาสตร์ผลิตพยาบาลเข้าไปทำงานอยู่ในทุกตำบล เต็มพื้นที่     เป็นกองหน้า    เป็นเป้าหมายแรก     แล้วเอาแพทย์ตามลงไปที่ระดับอำเภอ  เป็นกองหนุน

          เรามักคุ้นกับการคิดแบบเอาวิชาชีพเป็นตัวตั้ง    เอาการผลิตบุคลากรเป็นตัวตั้ง     นี่เป็นกรอบเดิม
          กรอบใหม่คือ ผลประโยชน์ของชาวบ้าน  หรือสุขภาวะของชาวบ้าน    การมีวิทยาลัยวิทยาการสุขภาพ ควรมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของชาวบ้าน   วิทยาลัยวิทยาการสุขภาพ เป็นกลไกประสานงานระหว่างสำนักวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ     และประสานกับสถาบันและกลไกอื่นๆ ในพื้นที่
          ต้องคิดแบบ “พลิกกลับทาง” กับที่เราเคยชิน    ทั้งด้านการผลิตบัณฑิต และการวิจัย     วิจัยเพื่อชาวบ้าน  วิจัยประยุกต์/แก้ปัญหา     ผลิตบัณฑิต (ส่วนหนึ่ง – ไม่ใช่ทั้งหมด) เพื่อชาวบ้านในพื้นที่     ผลิตบัณฑิตด้วยวิธีการที่จะทำให้แต่ละวิชาชีพไม่ถือวรรณะ  เคารพและเห็นคุณค่าเพื่อนในวิชาชีพอื่น     และบัณฑิตเมื่อจบแล้วอยู่ทำงานในพื้นที่    
          ฝ่ายจัดการ/บริหาร ต้องหาวิธี “สร้างฝัน” ชนิดที่เป็น “ฝันร่วม” ในระดับ “ใฝ่ฝัน”    หากลไก “สานฝัน”  “ทอฝัน”     ร่วมกันฟันฝ่า  สู่ดวงดาว     ผมมองเห็นกระบวนการเล็กๆ มากมาย  ที่มองในมุมหนึ่ง น่าสนุก     และน่าจะมีวิธีมอบหมายให้บุคคลหรือทีมงาน ทำงานแบบ “นำร่อง” สัก ๖ เดือน เพื่อหารูปแบบ หรือโครงสร้างของการทำงานประสานงาน    

          ตอนแรกผมตกใจ ว่าความคิดนี้จะแท้งไป     เพราะท่านนายกสภาฯ และอาจารย์อีกหลายคนบอกว่า     ท่านนายกสภาฯ พูดมาหลายครั้ง    ในเวลา ๒ – ๓ ปี     แต่พอมีการยกร่างโครงสร้างการบริหารก็กลับไปเหมือนโครงสร้างทั่วไป    ซึ่งจะไม่ได้ผล   
          แต่พอยุให้อาจารย์จากสำนักวิชาที่เกี่ยวข้อง  ๑๐ คน ที่มาร่วมเสวนา ออกความเห็นแบบ dialogue     ผมก็เห็นชัดเจนว่า โอกาสสานฝันนี้สำเร็จ มีสูงมาก     เพราะจากที่อาจารย์แต่ละคนเล่า     เห็น “Intellectual Capital” มากมาย      ที่สำคัญที่สุด  ทุกคนที่มา “มีใจ” ต่อฝันนี้อยู่แล้ว
          ผมแนะว่า ให้คุยกันอีก เอาเรื่องราวดีๆ ที่น่าจะเป็น success stories เพื่อ “ฝันร่วม” นี้      มา ลปรร. และหาทางนำไปปฏิบัติในแต่ละสำนักวิชา     หรือปฏิบัติร่วมกันหลายสำนักวิชา

          ท่านนายกสภาฯ แนะต่อ ว่า อย่าทำเดี่ยว ต้องทำร่วมกับผู้อื่น    เช่นทำร่วมกับชุมชน   
          ผมแนะว่า     นี่เป็นงานสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างนวัตกรรม     ต้องมีกลไกของ change management แบบ innovative management      คือใช้ทั้งกลไกที่เป็นทางการ  และที่ไม่เป็นทางการ

          โชคดีจริงๆ ที่ผมได้มีโอกาสร่วมประชุมระดมความคิดครั้งนี้     การประชุมที่เป็นจุดเริ่มต้น ของ “นวัตกรรมใหญ่” ของระบบสุขภาพที่เน้นพื้นที่เป็นฐาน

วิจารณ์ พานิช
๑๔ ก.ค. ๕๐   
มวล.   นครศรีธรรมราช

หมายเลขบันทึก: 112849เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2007 17:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียนอาจารย์วิจารณ์

ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นกับความคิดและแนวทางการทำงานแบบนี้มากค่ะ ดิฉันเชื่อว่า KM เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ความฝันนี้เป็นจริงได้

เรียน อ.หมอวิจารณ์

ดิฉันขอบคุณที่อาจารย์ได้ให้ขอคิดเห็นดีๆทีมอาจารย์ มวล. เสียใจที่วันนั้นเข้าประชุมไม่ได้ ดิฉันอยากจะเล่าเพิ่มเติม คือ

1. การผลิตบุคลากรแบบบูรณาการ ในระดับอาจารย์ทีมสุขภาพด้วยกันเราพูดคุย/ช่วยเหลือกันอยู่ตลอด ขณะนี้สำนักวิชาฯพยาบาลซึ่งถือว่าเป็นพี่ใหญ่ (เรื่องของการลงชุมชนและเปิดมาก่อน) ก็จะมีข้อมูลเบื้องต้นและเครือข่ายในชุมชน จำทำหน้าที่ในการประสานงานในการลงชุมชนของนักศึกษา นักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่1-4 ของทีมสุขภาพ จะมีครอบครัว (Host family) ในชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์ โดยหวังว่า นศ.เหล่านี้จะเกิดความรู้สึกมากกว่าการเป็นเพื่อน คือการเป็นพี่/น้องซึงมีครอบครัวเดียวกันและหวังว่านักศึกษาจะได้เรียนรู้และมีความผูกพันธ์กับชุมชน ดังนั้นผ่านมาทุกปีที่นศ.พยาบาลสำเร็จ เราก็จะเห็นว่าชาวบ้านเข้ามาใน มวล.แสดงความยินดีกับเด็ก/ลูกสาวของตนเองด้วย

2.การผลิตพยาบาลของชุมชนเพื่อพัฒนาบ้านเกิดเมืองคอน ปีนี้เป็นปีแรกที่ทางสำนักวิชาพยาบาลฯได้เริ่มผลิตพยาบาลของชุมชนขึ้นใน 10 อบต. จาก 3 อำเภอนำร่อง คือ ท่าศาลา จุฬภรณ์ และทุ่งสง ภายใน 4 ปี จะครบทั้ง 30 อบต. โดยความร่วมมือของสำนักวิชาฯ อบต. และ รพ.ชุมชน ได้เซ็นต์ความร่วมมือไปแล้วเมื่อวันที่ 17 กค.ที่ผ่านมา และมีท่านผู้ว่านครศรีเป็นพยาน นอกจากนี้ในระหว่างการผลิตทั้ง 3 เครือข่ายจะมีการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนไปด้วยกัน ร่วมกับนักศึกษา ผู้ปกครองและคนในชุมชน ในวันที่ 6-7 สิงหาคมนี้ ทีมเครือข่ายจะเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการการวิจัยชุมชน เพื่อกลับไปวิจัยในพื้นที่ของตนเอง

3.เครือข่ายพยาบาลเวชปฏิบัติภาคใต้ สำนักวิชาพยาบาลได้ผลิตพยาบาลเวชปฏิบัติ ทั้งหลักสูตร 4 เดือน และป.โทจำนวนมาก ดิฉันอยากจะเห็นพยาบาลเหล่านี้ทำงานเคียงข้างไปกับชุมชน เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน มิใช่การตั้งรับ ซึ่งมีลูกศิษย์จำนวนไม่น้อยที่ได้ทำ/ทำได้ เช่น หมออ้อย แห่งหมู่บ้านวังหอนเพื่อสุขภาพที่พอเพียงที่ได้รับเลือกเป็น best practice ของนวัตกรรม PCU ภาคใต้ แต่ก็มีอีกมากที่ไม่ได้ทำ/ไม่มีโอกาสทำ ดิฉันจึงคิดว่า จะเริ่มที่เครือข่ายในจังหวัดก่อนเพื่อให้เกิดเวทีเรียนรู้ และผลักดันให้เกิดชุมชนสุขภาพอื่นๆตามมา

สุดท้ายที่คิด ที่ทำ และที่เล่ามาทั้งหมด ด้วยจิตสำนึกของความรักบ้านเกิด....อยากเห็นคนนครฯ คนใต้เป็นสุข

ครูพยาบาลชุมชน...มวล.

     เข้ามาตามอ่านย้อนหลัง อยากให้ คห.สนับสนุน ครูพยาบาลชุมชน ว่าเท่าที่ผมได้รับทราบและได้สัมผัส แม้ไม่นานนักกับระบบสุขภาพชุมชนในเมืองคอน เห็นการบูรณาการกันในพื้นที่ที่มองเห็นว่าสุขภาพเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องอื่น ๆ และแยกไม่ออกเลยกับ "ชีวิต" อยู่ในหลายพื้นที่ เช่นแถบชะอวด ผู้ใหญ่โกเมศว์ ก็ยังเคยบอกว่าในพื่นที่ที่ท่านวิสหกิจชุมชนนั้น ชาวบ้านเขาไม่ได้มองแยกกัน ที่มองแยกอยู่ในเป็นคนในระบบภาครัฐ และท่านก็ไม่โทษใคร เพราะท่านเชื่อว่า จนท.เหล่านั้นถูก train มาแบบนั้น มันก็จะได้ประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่พอลงระดับชาวบ้าน และต้องสร้างนำซ่อมด้วยแล้ว การแยกส่วนสุขภาพกับเรื่องอื่น ๆ ของชีวิตจะไม่ได้ผลในการพัฒนาสุขภาพคนและชุมชน
     น้องอ้อย หมออนามัยที่ผันตัวเองมาจากพยาบาล เป็นพยาบาลชุมชน รวมถึงอีกหลาย ๆ คน ที่กำลังต่อสู้กับทิศทางที่ควรจะเป็นฯ ยังต้องการแรงหนุนเพื่อดำเนินต่ออีกมาก เพราะตอนนี้เขายังเป็นคนส่วนน้อยในระบบที่ได้ปรับกระบวนทัศน์ต่อสุขภาพไปแล้ว การทำให้เขาอยู่ด้วย ผมมองว่าสถาบันการศึกษาต้องช่วยพยุงเขาเหล่านั้นในเบื้องต้น และช่วยเร่งปรับเรื่องนี้ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ก่อนที่คนเหล่านี้จะหมดกำลังใจ แล้วถอยกลับไปเสีย
     เอาใจช่วยครูพยาบาลชุมชน และทุกท่านในระบบนี้ ที่ได้กำลังพยายามกันอยู่อย่างสุดฝีมือครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท