นิสิต : อนาคตแห่งปัญญาชน : วิญญาณปัจจุบันที่ดีใจเมื่ออาจารย์ไม่เข้าสอน


บทความนี้ยาวครับ แต่ถ้าหากคุณอ่านจบ คุณจะรู้ว่าในใจผมมีอะไรที่ยาวกว่านี้

          ผมศรัทธาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนเรศวรอยู่หลายท่านนะครับ ท่านหนึ่งชอบมานั่งคุยกับผมหลังเลิกเรียน ท่านมักสอนผมเสมอเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน การณ์แห่งอนาคต ด้วยการวิเคราะห์แบบครูบาอาจารย์ ที่เป็นห่วงศิษย์ ห่วงอนาคต ...

 

          ท่านกรอกหูผมประจำว่า "การเป็นครูบาอาจารย์นั้น ต้องเป็นด้วยจิตวิญญาณ ครูมีหน้าที่ต้องสร้างศิษย์ สร้างศิษย์ และสร้างศิษย์ เพื่อให้ศิษย์ข้ามแม่น้ำ ไปสร้างสังคม สถานศึกษาใดใดก็ตาม ที่ขึ้นชื่อว่า สถานศึกษา การประเมินนั้น ขั้นแรก ต้องไปวัดกันที่ ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนและสภาพสังคมลักษณะการใช้ชีวิตของผู้เรียนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ครูควรเอาใจใส่ เพราะนั่นหมายถึงสังคมและสิ่งที่เค้าจะไปกระทำในอนาคต และทั้งหมดนี้คือ อนาคตของชาติ"

 

          ประเด็นของอาจารย์คือครูต้องเอาศิษย์เป็นที่ตั้ง โดยครูต้องนำศิษย์มาตั้งอยู่บนฐานแห่งปัญญาและความดี เพื่อให้เป็นฐานของชาติ ในอนาคต นั่นหมายความว่าลูกศิษย์เป็นเครื่องวัดความสำเร็จของครู และครูคือเครื่องมือสร้างชาติ

 

          และการที่จะนำนิสิตเข้ามาสู่ฐานของความดีได้นั้น ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ซึ่งต้องการผู้นำ ผู้นำในบทบาทของครูก็คือเครื่องยึดเหนี่ยวดึงให้ศิษย์เข้ามาในฐานของความดีและปัญญา  ทำอย่างไร .....

  • สร้างศรัทธาให้เกิดกับลูกศิษย์ เพื่อให้ลูกศิษย์เกิดความเชื่อมั่น
  • สร้างสายสัมพันธ์ในความหมายของคำว่าลูก(ศิษย์) หรือ พ่อแม่คนที่ ๒

 

          ท่านอาจารย์สมชาย รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มน. ท่านเคยสอนผมไว้เมื่อ ผมเรียนจิตวิทยาความเป็นครู ว่า "ธรรมดาลูกศิษย์นั้นมีสามประเภท คือ

  1. พวกที่ดีอยู่แล้ว
  2. พวกปกติ ไม่ดีไม่ดื้อ จนเห็นได้ชัด
  3. พวกดื้อ และชอบก่อกวน

โดยการที่เราจะทำโทษเด็กดื้อนั้น ต้องไม่ให้กระทบคนดี และไม่ให้ดูว่าเป็นการเชิดชูเด็กดื้อ คือไม่ให้เด็กคนอื่นมองว่า เด็กดื้อนั้นเท่ห์ เพราะจะเกิดการเอาอย่าง

 

         ธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อไม่มีผู้นำแล้ว ก็จะหาผู้นำเองตามใจ ตามธรรมชาติ ซึ่งตามธรรมชาติของพฤติกรรมคน มักจะไหลไปสู่ที่ต่ำ เพราะมันลงง่าย และการที่ลูกศิษย์ขาดความศรัทธาต่ออาจารย์แล้ว สายสัมพันธ์ไม่มีแล้ว ขาดการตักเตือนชักนำให้เข้ามาในฐานแห่งความดี ลูกศิษย์ก็จะมีพฤติกรรมที่ไหลลงสู่ที่ต่ำ หาผู้นำที่ตนเองคิดว่าเท่ห์ ให้เป็นแบบอย่าง มีความสนุกสนานทางกาย กำลังสมองที่ใช้คิดในฐานคำว่าปัญญาชน ก็จะน้อยลง ใช้กำลังมากขึ้นตามลักษณะธรรมชาติ แล้วจบออกมาเป็นอะไร

 

         อาจารย์ที่เคยดูแลความเป็นผู้เป็นคนของนิสิต ก็เป็นเพียงแค่ผู้ดูแลกระดาษคำตอบของนิสิต จากที่เคยดูแลใส่ใจในมาตรฐานการดำรงชีพของนิสิต ก็เหลือแค่ดูแลคะแนนสอบให้ผ่านให้จบไปตามเกณฑ์ บรรยากาศของความเป็น ลูก(ศิษย์) และ แม่(พิมพ์) ลดน้อยลง บางท่านไม่เข้าสอน สั่งงานให้ส่งกระดาษไปวัดผล ลูกศิษย์ก็ดีใจที่แม่ปล่อยปะละเลย จะได้ทำอะไรตามอำเภอใจ กลายเป็นครอบครัวที่ไม่อบอุ่น แล้วผลผลิตของครอบครัวนั้นจะเป็นอย่างไร

 

          พ่อแม่ทำงานหนักไม่มีเวลาดูลูก(ศิษย์) เพราะมัวไปทำงานอื่นตามมาตรฐานการประเมิน ว่าระดับนั้นต้องเขียนบทความลงนั้น ลงนี้กี่บทความต่อปี เลื่อนขั้นต้องมีงานวิจัย ลูกนั่งรอแม่(พิมพ์)อยู่ในห้องเรียน ที่มีใบงานที่ไร้ชีวิต ที่ไร้อารมณ์ ไม่มีใบหน้ายิ้มแย้มของแม่ ของพ่อ แล้วลูกจะเป็นอย่างไร พี่น้องทะเลาะกันพ่อแม่เคยมาดูบ้างมั้ย

 

          คุณภาพของนิสิตวัดที่กระดาษ หรือวัดที่ตัวนิสิต และหากลูกยังหลงมัวดีใจที่พ่อแม่ไม่เอาใจใส่ ทำตัวตามกระแสน้ำไปเรื่อย ลอยไปตามกิเลสจนลืมคำว่า ปัญญาชน ลอยไปๆ ซักวันนะครับ ท่านจะตกลงไปในเหวน้ำตกที่ปลายสายน้ำ เสียดายเวลาของชีวิตโดยไม่รู้ตัว

 

          พ่อแม่ที่ดีรักลูก ครอบครัวที่อบอุ่น เหล่านี้สร้างความรัก สร้างจิตวิญญาณแห่งสถาบัน เหล่านี้เกิดจากอะไรครับ เกิดจากคน ทุกวันนี้ มันเป็นยังไงครับ เรามุ่งพัฒนาไปในทิศทางไหน มองไปข้างหน้าจนลืมข้างหลังรึเปล่า และหน้าที่ของพ่อแม่(พิมพ์)ที่ดีเป็นอย่างไร ..... จิตวิญญาณของคำว่าครู จิตวิญญาณแห่งปัญญาชน จิตวิญญาณของสถาบันการศึกษาที่มองแล้วมีภาพของความขลัง น่าภูมิใจ น่าเลื่อมใส มันจำเป็นต้องมีรึเปล่าครับ หรือเพียงแค่สถานที่หนึ่ง มีคนสองกลุ่มมาพบกัน แจกกระดาษมาส่งการดาษกลับ แลกใบรับรองความรู้ อย่างนี้เรียกว่าครอบครัว ที่มี พ่อ(พิมพ์) แม่(พิมพ์) ลูก(ศิษย์) รึเปล่าครับ .......

 

        ..........  แค่อยากให้ครอบครัวอบอุ่น .......

 

ปล.บทความนี้ไม่ได้หมายถึงสถาบันหรือบุคคลใด หากแต่เป็นมุมมองของนิสิตคนหนึ่งที่เห็นการเรียนการสอนจากหลายๆที่ ที่ผ่านตาจากการเดินทาง .... ขอบคุณครับ


ความเห็น (30)

เราเป็นครูด้วยใจ มิได้เป็นด้วยใบปริญญา

จิตวิญญาณของครู คือ ผู้ให้ มิใช่แสวงหาแต่ความสบายใส่ตัว

 

ขอบคุณนะคะที่ให้มุมมองของนักศึกษาแก่ครูอาจารย์ อาจารย์หลายท่านก็เป็นฝ่ายให้แก่ลูกศิษย์อย่างเต็มที่ แต่กรณีที่เจอลูกศิษย์แบบที่ 3 มากๆ บางครั้งอาจารย์ก็ท้อเป็นเหมือนกันค่ะ

การที่เราเองเป็นนิสิต นักสึกษานั้นใช่ว่าต้องรอแต่ให้อาจารย์สอนอยุ่อย่างเดียว เราก็ต้องหาความรู้ใส่ตัวให้เป็นกิจวัต อีกอย่างเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม เราว่าทุกคนที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็ย่อมจะรู้จักกันแล้ว ....แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะปฏิบัติเป็นบุคคลประเภทไหน...สิ่งที่เลวร้ายทื่สุดคือคนที่รู้อะไรผิดถูกแล้วกลับเลือกทำในสิ่งที่ผิด...นี่คือบุคคลที่คอยฉุดความเจริญของประเทศชาติ

     พอได้อ่านบทความนี้แล้ว ก็ทำให้นึกถึง ตอนอยู่โรงเรียน อะค่ะ แปลกใจที่ทำไมอาจารย์ต้องขยันทำผลงาน โดยที่ไม่นึกเลยว่าผลงานนั้นจะส่งเสริมความรู้ของนักเรียนรึเปล่าเลย

     บทความนี้ ดิฉันว่ายังเปรียบความรู้สึกของ หัวหน้ากับผู้ใต้บังคับบรรชา ได้อีกด้วยน่ะค่ะ เพราะ ผู้ร่วมงานของเราก็มีทั้ง 3 ประเภทอย่างที่กล่าวมา  และต้องเป็นหน้าที่ของหัวหน้า ที่จะทำอย่างไรให้ผู้ร่วมงานที่เกเรกลับมาทำหน้าที่ของตน โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ร่วมงานที่ดีอยู่แล้ว ถ้าหากทำได้ องค์กรนั้นก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น  พี่ปืนว่าไหมค่ะ

 

 

ตอบ ป้าแนน

  • จิตวิญญาณของครู คือ ผู้ให้ มิใช่แสวงหาแต่ความสบายใส่ตัว ตรงใจผมเลย

 ตอบ อ.ลูกหว้า

  • ครับเข้าใจหัวอกครูพอสมควรครับ แม่ผมเป็นครู น้าผมก็เป็นครู อาผมก็เป็นครู ผมก็เรียนครู
  • แต่นั่นก็เป็นโจทย์ของครูไม่ใช่หรอครับ ที่จะต้องอบรมบ่มนิสัยให้ลูกศิษย์เป็นคนดี
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ

ตอบ บุญตุ้ย

  • ถูกต้องครับ ขึ้นอยู่กับตัวเราด้วย
  • ขอบคุณมากครับ

ตอบ นิสิต มน.พะเยา

  • ว่าไงว่าตามกันครับ ขอบคุณครับ สำหรับทุกท่านที่เข้ามาอ่าน
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่มิใช่น้อย เพราะปัจจุบันมีหลายปัจจัยมากที่ทำให้ความหมายของครูเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นงานในหน้าที่นอกเหนือจากการสอน ที่ต้องทำเอกสาร วิจัย หรือว่าอะไรต่างๆ จนทำให้ไม่มีเวลาที่จะถ่ายทอดความรู้โดยตรงกับศิษย์ได้ไม่เต็มที่ ครูเป็นผู้ให้ความรู้แกศิษย์ หน้าที่หลักและสำคัญที่ไม่ควรลืมคือ การให้เด็กมีความรู้และมีคุณภาพ มิใช่จบไปได้รับแค่กระดาษแผ่นเดียว

คนเรานะส่วนใหญ่จะตัดสินอะไร ก็มักจะเอาตัวเองเป็นพื้นฐานทั้งนั้น จะครูหรือว่านิสิตก็มองแต่ด้านของตนเอง เมื่อเรามองทั้งสองด้านเราก็จะรู้จะเห็นเองว่าควรทำอย่างไร ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนของเพียงแค่เรามองสิ่งต่างอย่างกว้างๆ และเข้าใจเปิดใจกับสิ่งที่ต่างจากเราบ้าง เราก็จะรู้เองว่าควรทำอย่างไร

ตอบ น้องนุ้ย

  • ใช่แล้วครับน่าสนใจ คุณภาพการศึกษา เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก
  • เราควรเรียนเพื่อมีความรู้ ไม่ได้เรียนเพื่อรอวันจบ

ตอบ eeyore

  • ตระหนักรู้ในหน้าที่ บทบาทของตน กระทำอย่างมีสติและจิตที่มุ่งพัฒนา
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ,

 

หัวข้อบันทึกโดนใจมากเลยค่ะ  เพราะนี่คือความรู้สึกที่ได้จากนิสิตสมัยนี้ นั่นก็คือ มีความรู้สึกว่า  เขา "ไม่อยากได้ความรู้" น่ะค่ะ

 

จำได้ว่า เคยคุยกับเพื่อนว่า  นิสิตสมัยนี้จะว่าฉลาดก็ฉลาดนะ แต่ไม่เฉลียว  

 

คือฉลาด หาข้ออ้าง ข้อแก้ตัวสารพัด  จะต่อรอง ทำอย่างไรก็ได้  เพื่อให้ตน "ได้ความรู้น้อยลง"

 

งงไหมคะ คุณ บีเวอร์  เช่น  จะต่อรองเพื่อไม่ต้องสอบไล่  แต่จะขอทำรายงานแทน  หรือถ้าทำรายงานแล้ว  จะไม่ขอสอบไล่  หรือถ้าอย่างนู้น จะไม่อย่างนี้  

 

สรุปสั้น ๆ  คือ ทำอย่างไรก็ได้  เพื่อให้ตัวเขาใช้เวลาไปกับการเข้าเรียน หรือการเตรียมการเรียน การสอบ การขวนขวายหาความรู้เพิ่มให้น้อยที่สุด

 

งงไหมคะ  มันฟังจะดูขัด ๆ กับจุดประสงค์หลักของการมาเรียนใช่ไหมคะ

 

แต่นี่ล่ะค่ะ นิสิตป.โทไทย ของมหาวิทยาลัยชั้นนำ ในกรุงเทพ   ที่เดี๋ยวนี้อายุเฉลี่ยน้อยลงไปทุกวัน  ส่วนมากจบตรีแล้วต่อโทเลย

 

คนสอนก็งง ๆ นิดหน่อย  ตกลงจะเอายังไงกันแน่ จะให้ฉันให้ความรู้  หรือว่าไม่ให้

 

เหมือนมาเจรจาต่อรองธุรกิจกันมากกว่า  ว่า ตกลงจะรับสินค้าเท่าไหร่   เราอยากให้มาก  แต่เขาไม่อยากได้  อ้าว?

 

จริง ๆ แล้วก็สงสารเขาน่ะนะคะ  ที่เขาไม่เฉลียว  เพราะนิสัยลักษณะที่ไม่ใฝ่รู้นี้  ถ้าติดตัวเขาไป  ในอนาคตแล้วคงจะไม่ดีแน่

 

และที่สำคัญ  ดูเหมือน  เขาจะเข้่าใจจุดประสงค์หลัก  ของการมาเรียนต่อป.โทผิดกันไปหมดด้วย

 

หรือพูดง่าย ๆ  มีทัศนคติที่ผิดไป  ในเรื่องการเรียนนั่ีนเอง

 

มาเรียนเอาปริญญา  ไปทำมาหากิน ว่างั้น

 

สรุปว่า  สังคมทุกวันนี้ เป็นสังคมแห่งความสมมติ

 

สมมติว่าเธอมีป.โท  ดังนั้น ก็สมมติว่าเธอมีความรู้  เพราะสมมติว่าเธอเข้าเรียนและค้นคว้ามา  และสมมติว่าเธอมีความใฝ่รู้  เลยเรียนต่อโท 

 

สมมติกันไปหมดน่ะค่ะ  เอาเข้าจริง  ไม่มีสักอย่าง  กระดาษที่แทนวุฒิป.โทนั้น  น่าจะเอาไปรีไซเคิล  น่าจะยังมีประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าเลยนั่น

 

น่าเป็นห่วงสังคมอนาคตมากจริง ๆ ค่ะ

 

สวัสดีค่ะ,

 

ณัชร 

ตอบ nash

  • คำตอบของอาจารย์ก็โดนใจผมเหมือนกันครับ
  • จะบอกว่าเป็นความรู้สึกของนิสิตสมัยนี้ทั้งหมดก็ไม่ถูกนะครับ ผมก็เป็นนิสิตคนหนึ่งที่ไม่ชอบใจกับการที่อาจารย์ไม่เข้าสอน และเพื่อนๆของผม รุ่นน้องของผมหลายคนก็ไม่ชอบ
  • ถูกต้องแล้วครับ สมัยนี้เค้าสมมุติกันซะส่วนใหญ่ สมมุติว่ามาเรียน สมมุติว่ามาสอน จริงๆจะมารึไม่ก็ไม่รู้เพียงแต่นิสิตส่งงาน จะลอกมา จะทำอะไรมาก็ไม่ว่า ครู(บางท่าน)รับได้
  • คุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ครับ จากคำตอบของหลายๆคนในบทความนี้น่าจะสะท้อนสังคมออกมาได้ส่วนหนึ่ง
  • ผมว่าในอนาคตหากเรายังไปมุ่งเน้นให้ครูบาอาจารย์ต้องมีมาตรฐานนั้น ทำนู่น ทำนี่ ผมว่าสิ่งเหล่านั้นจะดึงครูออกไปจากนักเรียนมากขึ้นเรื่อยๆครับ ใครทำมากได้เลื่อนขั้นมาก ทำให้ตนเอง แล้วนิสิตละครับ ผลผลิตของท่านละ
  • นิสิตก็เช่นกัน มัวแต่หลงดีใจอยู่กับความว่างเปล่า ความโง่เขลา ดีใจกับวัตถุนิยมที่มาดึงควมสนใจ อาจารย์ไม่เข้าสอนก็ดีใจ เพราะจะได้มีเวลาไปหาสิ่งเหล่านั้น ไปดูโทรทัศน์ ไปเล่นเกมร์ออนไลด์ โดยไม่มีใครเอะใจว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร
  • พูดๆไปเหมือนทั้งผู้เรียนและผู้สอนจะสมรู้ร่วมคิดกันทำให้เกิดสถานการณ์เหล่านี้นะครับ
  • ผลเป็นแค่นิสิต ป.ตรี ความรู้น้อยครับ ที่เขียนนี่ก็เขียนตามสายตาที่เห็น(จากหลายๆที่) หูที่ได้ยิน (จากหลายๆที่)และสิ่งที่ได้สัมผัส ว่ามันเกิดอะไรขึ้น
  • ขอบคุณมากครับ
  • ผมก็เหมือนณัชร "หัวข้อโดนใจ"
  • ให้รู้สึกแปลกใจ (จากความเป็นปกติในใจ:โดยวัดจากความรู้สึก) กับการที่อาจารย์-ครูไม่เข้าบรรยายและให้รู้สึกแปลกใจกับการที่นักศึกษาดีใจเมื่อครู-อาจารย์ไม่เข้าบรรยาย ด้วยเหตุผลคือ ๑) อาจารย์มีภาระเยอะหรืออย่างไร ๒) หน้าที่อาจารย์แท้จริงหรือหน้าที่อะไร สมัครเข้ามาทำอะไร ๓) น่าสงสารครู-อาจารย์กับการต้องทำตัวให้เท่าทันสังคม ๔) น่าสงสารครูอาจารย์ที่ต้องเดินต๊อกต๋อยไม่เหมือนครูอาจารย์ท่านอื่น ๔) น่าเห็นใจครูอาจารย์ที่ต้องมาตรวจงานของนักศึกษาอย่างละเอียดละออ ฯลฯ ------------๑) น่าสงสารนักศึกษากับการนั่งรอคอยให้คนมาป้อนความรู้ ๒) น่าสงสารนักศึกษากับการมาเรียนแต่ไม่ได้ตั้งใจที่จะเรียนเท่าไรนัก ๓) น่าสงสารนักศึกษากับการไม่รู้จะไขว่คว้าหาความรู้ได้ด้วยวิธีการใด ๔) น่าสงสารนักศึกษากับการที่จะพยายามทุจริตในห้องสอบเท่าที่จะทำได้ ฯลฯ------------------
  • พวกดื้อและชอบก่อกวน น่าจะเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่ตัวเองรักสูง
  • พวกปกติไม่ดีไม่ดื้อ ต้องอาศัยผู้อื่นจึงจะก้าวไปข้างหน้าได้
  • พวกที่ดีอยู่แล้ว ดีแบบไหน ดีที่ตั้งใจเรียนโดยมิใส่ใจใยดีกับเพื่อนรอบข้าง หรือดีเพราะเขาเอาใจใส่กับเราดี ช่วยเหลือเราดี ช่วยงานดี หรือคิดสร้างสรรดี ฯลฯ
  • ไม่มีอะไรยั่งยืน ชอบใจเรื่องนี้ "น้ำย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำ" แต่ในบางที่ น้ำจะพุ่งขึ้นมาเหนือแผ่นดิน ส่วนปลาบางตัวที่ว่ายอยู่ในน้ำ ก็พยายามปีนขึ้นมาเหนือน้ำ บางตัวพยายามชักชวนพวกปลาที่มีแนวร่วมเดียวกันขึ้นมาด้วย เพื่อมาอยู่เหนือน้ำ บางตัวหมดกำลังเสียก่อนก็ต้องลอยไปตามน้ำ :-)

อ๋อ...ใช่ค่ะ ขอโทษด้วยค่ะ ลืมไปว่ายังมีนิสิตนักศึกษาทั่วไปบางคนที่ยังเป็นอย่างคุณบีเวอร์อยู่  คือ ที่ยังคิดเป็นอยู่ และไม่ชอบใจกับที่อาจารย์ไม่เข้าสอน

 

แต่ที่ยกตัวอย่างมาเล่าให้ฟังนั้น  เป็นของป.โทภาคอินเตอร์ในกรุงเทพในช่วงสองสามปีหลังที่ได้มีประสบการณ์ตรงค่ะ 

 

เขาเรียนกันตอนเย็น คงจะมี motivation ในการเรียนที่น้อยกว่าป.ตรีน้อยกว่านิดหนึ่งอยู่แล้วขั้นหนึ่ง 

 

เรื่องไม่อยากเข้าเรียนยังไม่เท่าไหร่ค่ะ  เคยมีอาจารย์คนหนึ่งที่อื่นน่ะนะคะ เล่าให้ฟังว่า เจอลูกศิษย์หัวหมอหนักกว่า พวกลูกศิษย์ที่โต ๆ แล้วนี้ถึงกับต่อรองกับอาจารย์ในอารมณ์ประมาณว่า   ให้เขาตกไม่ได้  เพราะเขาเหมือนลูกค้า อะไรประมาณนี้  ถ้าให้พวกเขาตก  เดี๋ยวอาจารย์จะตกงาน  นี่ มีขู่อีกต่างหาก

 

แต่ก็ไม่ได้ตามไปติดตามนะคะว่า  ลูกศิษย์-ลูกค้า คณะนั้น เป็นอย่างไรกันบ้าง

 

 

จริง ๆ ที่ผ่านมาก็เป็นอาจารย์พิเศษ  ไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำ ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการพัฒนาอะไรโดยรวมนัก  บางที อาจจะมีอีกหลายอย่าง ที่ควรจะรู้ แต่ไม่ได้รู้ก็ได้

 

สวัสดีค่ะ,

ณัชร

ตอบ มน.

  • ผมก็แปลกใจที่เราต่างไม่รู้หน้าที่ ไม่รู้บทบาทของตนเอง มองหน้าไม่มองตัว ไม่เหลียวหลังไปมองภาระ ว่าที่แท้จริง เรามาอยู่ตรงนี้ หน้าที่หลักเราคืออะไร
  • ผมชอบความคิดเห็นของท่านนะครับ ตรงๆง่ายๆ
  • ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับปลาในน้ำไว้บทความหนึ่งนะครับ ไม่ทราบว่าจะตรงใจท่านรึเปล่า ยังไงอยากให้ลองอ่านดู (คลิก)
  • ขอบคุณครับ หวังว่าจะเจอกันอีกนะครับ

ตอบ nash

  • ลูกศิษย์ลูกค้า ฟังแล้วนึกไปถึงเรื่อง มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เห็นมาตรฐานการประเมินอาจารย์ในฐานะพนักงานมหาลัย จะมีข้อนั้นข้อนี้ ไม่รู้ว่าไอ้พวกนี้จะไปบั่นทอนความสามารถของอาจารย์ แทนที่จะนำมาใช้อย่างเต็มที่ในการถ่ายทอดวิชาให้แก่ลูกศิษย์ กลับต้องแบ่งไปทำนั้นทำนี้
  • พอลูกศิษย์ดื้อมากๆ อาจารย์ที่เหนื่อยจากงานอื่นมาแล้วก็ไม่ค่อยอยากจะยุ่ง เลยยอมให้ต่อรอง เพื่อความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย
  • ตัวอย่างที่อาจารย์ยกมานั้นเป็นตัวอย่างที่ดีมากครับ และผมคิดว่าคงจะมีกรณีแบบนี้อีกในหลายๆที่
  • และน่าห่วงอนาคตสังคม อย่างเช่นที่อาจารย์ว่าเช่นกัน
  • น่าจะถึงเวลาเรียกจิตวิญญาณของไม้เรียวแล้วมั้งครับ ไม่รู้ว่าป่านนี้เป็นอย่างไรบ้าง
  • ขอบคุณครับ

น้องปืนจ๋า  พี่หนิงเข้าใจในเจตนาของน้องปืน  ที่อยากให้อาจารย์อยู่สอนในเวลาที่เป็นชั่วโมงเรียนของนิสิต  ซึ่งก็น่าจะเป็นแบบนั้นใช่ไหมคะ

แต่พี่หนิงก้อหวนคิดถึงคำว่า

  • การเรียน  หรือการศึกษา  
  • นักเรียน ,นักศึกษา หรือนิสิต  
  •  สอนคน หรือ สอนหนังสือ

เหล่านี้เป็นต้น   ทำไมจึงมีคำที่ฟังดูเหมือนคล้ายกัน  บางครั้งมีคนนำไปใช้แทนกันใช่ไหมคะ  แต่เคยมีผู้รู้แนะนำให้พี่ไปทบทวนคำเหล่านี้ดูว่า  จริงๆมีความหมายอย่างไร แตกต่างกันหรือไม่  ถ้าไม่  ทำไมถึงต้องมีคำเหล่านี้ แม้แต่ในภาษาอังกฤษก็ยังมีที่แตกต่างกันใช่ไหมคะ  study or learning , teacher or lecturer  ฯ เอ..พี่หนิงสะกดถูกไหมเนี่ย.. (ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงอย่างยิ่ง 555)

การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ( อันมาจากคำว่า อุดม+ศึกษา) ก็มีได้หลายวิธีใช่ไหมคะ   บางครั้งการที่อาจารย์ให้ใบงาน และนิสิตนำไปศึกษา  ค้นคว้างานมาส่งนั้น  ก็อาจจะเป็นอีกนึงวิธีที่อาจารย์ท่านนำมาใช้   

อยู่ที่ว่า...  ในเวลานั้นๆ  ทั้งนิสิตและอาจารย์ได้ใช้เวลาอย่างไรและรู้หน้าที่ของตนหรือยัง

หรือแค่เอาใบงานมาเป็นเครื่องมือบังเอาเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนวิชานั้นๆ

อยากมีพ่อ(พิมพ์)แบบพี่ปืนจัง

ตอบ DSS@MSU ( หนิง )

  • ขอบคุณพี่หนิงมากครับที่เตือนสติ
  • ผมไม่ได้จะไปว่าใครหรอกครับพี่ เพียงแต่ผมอยากจะสะท้อนในสิ่งที่ผมเห็นออกมาให้ คนอื่นได้รับรู้ และอยากให้คนอื่นๆที่ได้อ่าน คิดตามไปด้วยว่า อะไรที่ทำให้ความคิดเช่นนี้อยู่ในหัวของผม
  • การรู้หน้าที่ของตนอย่างที่พี่บอกนั้นสำคัญจริงๆครับ อยากฝากให้กับผู้อ่านทุกท่าน
  • ขอบคุณครับ

ตอบ น้องแอน

  • แฟนประจำเลยนะเรา ตามอ่านทุกบทความเลย
  • ขอบคุณในความศรัทธาครับ
พี่หนิงก็เป็นแฟนคลับของน้องปืนนะคะ อ่านและเก็บไว้ในแพลนเน็ตมานานแล้วค่ะ แต่บางครั้งไม่ได้ทิ้งรอยไว้จ้ะ

ตอบ DSS@MSU ( หนิง )

  • ขอบคุณพี่หนิงมากครับ
  • มาทิ้งรอยไว้บ่อยๆดิ ผมปลื้มแย่เลย
  • อิอิ
จากแม่ /สพท.นนทบุรีเขต 2

ทุกอย่างที่ปืนพูดถูกต้องในมุมมองของพลังบริสุทธิ์แต่ลูกเอ๋ยในโลกแห่งความเป็นจริงของผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านระบบกระบวนการในระบบราชการผ่านมนุษย์หลากหลายรูปแบบในเวอร์ชั่นของผู้บังคับบัญชา/เพื่อนร่วมงาน/วัฒนธรรมองค์กรนั้นๆทำให้สังคมอาจมองครูอาจารย์บิดเบี้ยวไป แม่เชื่อว่าคุณธรรมของผู้ตั้งใจเป็นครูยังคงอยู่แต่บางท่านอาจอ่อนล้าในจิตใจเพราะระบบผลักไสให้ครูรีบเร่งรุดไปเบื้องหน้า(โดยอ้างผลสัมฤทธิ์) ครูเหนื่อยนะลูกอยากให้เห็นใจท่านให้มากๆครูดีๆมีอีกมากทุกหมู่ชนย่อมมีทั้งมุมมืดและสว่างและแม่ขอขอบใจที่ปืนมีจิตสำนึกที่ดีตลอดมา

ขอพลังสร้างสรรค์ศิษย์จงสถิตย์ในห้วงสำนึกของครูไทยต่อไปไม่มีวันเสื่อมคลาย

 

  • ขอพลังสร้างสรรค์ศิษย์จงสถิตย์ในห้วงสำนึกของครูไทยต่อไปไม่มีวันเสื่อมคลาย

  • เช่นกันครับ

ปืนลองทบทวนเรื่อง "ช่องว่าง" ระหว่าง "ภาพฝัน" และ "ภาพจริง" ที่ผมชอบพูดให้ฟังอยู่บ่อย ๆ แล้วลองเอามาประยุกต์ใช้กับเรื่องนี้ ประเด็นสำคัญก็คือ เรา (ทุกคน) มีหน้าที่ในการช่วยกันเติมเต็ม "ช่องว่าง" อันนั้น ตามกำลังและความสามารถ ถ้าทุกคนช่วยกันมันก็จะเสร็จเร็ว ปืนกำลังทำหน้าที่นี้อยู่อย่างดีเยี่ยม ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

  • ผมพยายามจะทำให้มันเต็มครับอาจารย์ และอย่างที่อาจารย์บอกว่า "ทุกคนมีหน้าที่" แต่ทว่าภาพฝันของแต่ละคนอาจต่างกันไป ตามแต่บริบทของใจมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันใจนั้น ไม่รู้ว่าภายในมีอะไรแฝงอยู่บ้าง วิญญาณในหน้าที่ยังมีแฝงอยู่ หรือมีวัตถุนิยมแฝงเข้าไปแทน
  • ไม่ว่าใครทั้งนั้นที่ผมเคยเห็น
  • น่าเป็นห่วงนะครับอาจารย์
  • ผมจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดครับ
"ภาพฝัน" ของผม หมายถึง "shared vision" ครับ เป็น ฝันร่วมกัน สร้างไม่ง่าย แต่ถ้าทำได้จะมีประโยชน์มาก
  • เป้าหมายร่วมกันระหว่างศิษย์และอาจารย์
  • เข้าใจแล้วครับอาจารย์
  • ไม่ง่ายจริงๆ
  • ขอบคุณครับ

ตอนอนุบาล1 เย็นวันหนึ่งเลิกจากร.ร.ในกระเป๋านักเรียนปืนมีกล้วยน้ำว้าลูกหนึ่งลักษณะโดนคลึงซะจนน่วมและดำคล้ำ แม่ถามว่าทำไมปืนไม่กินละลูก ปืนตอบว่า แกะไม่ได้คับ 555

อย่านึกว่าเรื่องกล้วยๆเชียวนา(ความผิดของแม่เองที่ปลอกให้เป็นประจำ)

 

ตอบ คุณแม่

  • ผู้ใหญ่มักมองข้ามครับ เรื่องง่ายๆนึกว่าเด็กจะคิดเองเป็น ต้องระลึกอยู่เสมอ ว่าต้องสอบทานให้ดี
  • มิฉะนั้นจะได้ผลลัพท์ดังกล้วยที่แกะไม่ได้
  • ขอบคุณแม่มากครับ มาประจำเลยนะเดี๋ยวนี้
  • เขียนดีมากเลยครับ
  • ชอบอ่านมากอยากให้เขียนอีก
  • ผมเป็นประเภท
  • พวกดื้อ และชอบก่อกวน ทางวิชาการครับ
  • มีโอกาส ชอบค้นคว้าหาความรู้เอง บางอย่างต้องเรียนกับนิสิต
  • ครูไม่ควรหยุดนิ่งและควรมีจิตวิญญาญในความเป็นครูครับ
  • ขอบคุณมากครับ

ตอบ อาจารย์ขจิต

  • ดีใจครับที่ชอบ
  • อาจารย์กับผมคงจะคล้ายๆกัน
  • นับถือในความคิดของอาจารย์มาเสมอครับ
  • เรียนตรงๆว่าอยากเจอตัวเพื่อคุยด้วย คงเกิดประโยชน์ไม่น้อย
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ

ชอบบทความนี้มาก โนอย่างแรงงงงง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท