DrPong
รองศาสตราจารย์ ดร. พงศ์ประเสริฐ หกสุวรรณ

สามัคคีเภทอุดมศึกษา:มหาวิทยาลัยนอกระบบ


สามัคคีเภทอุดมศึกษา
สามัคคีเภทอุดมศึกษา : มหาวิทยาลัยนอกระบบฯ                                                                                                รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ประเสริฐ  หกสุวรรณ                                                                                                คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพาประเด็นที่กำลังร้อนแรงอยู่ในวงการอุดมศึกษาในช่วงเวลานี้คงไม่มีประเด็นใดเกินไปกว่าการนำมหาวิทยาลัยในระบบราชการออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ มหาวิทยาลัยนอกระบบฯ   ซึ่งเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี   เริ่มจากรัฐบาลเจ้าหลักการ  ผ่านรัฐบาลเอื้ออาทร  มาเครื่องร้อนเอาในยุครัฐบาลเฉพาะกิจของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดและเจ้าของผลงานการตั้งมหาวิทยาลัยนอกระบบหลายแห่ง  ฝ่ายบริหารและฝ่ายการเมืองจึงชิงความได้เปรียบ  กดดันให้ทุกฝ่ายยอมรับการออกนอกระบบฯ ของมหาวิทยาลัย  เดินหน้าเต็มตัวโดยอ้างกระบวนการนิติบัญญัติ   ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากผู้ไม่เห็นด้วย  มีทั้งที่ออกมาต่อต้านอย่างออกหน้าออกตาและที่ซุบซิบนินทากันเงียบ ๆ อย่างระมัดระวังเพราะเกรงภัยที่จะมาถึงตัว  การต่อต้านขยายวงออกไปเรื่อย ๆ  นิสิต  นักศึกษานัดชุมนุมใหญ่  เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้าน  มีการจัดตั้งเครือข่ายคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยนอกระบบฯ  นัดชุมนุมใหญ่เตรียมการถวายฎีกา ฯลฯ  อาจารย์และนักวิชาการออกแถลงการณ์  จัดเวทีเสวนาหลายครั้ง  ตัวแทนนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)เพื่อปกป้องไม่ให้รัฐบาลและผู้บริหารมหาวิทยาลัยลิดรอนและกีดกันการแสดงออกโดยบริสุทธิ์ใจและเป็นสิทธิพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย  เพราะมีผู้บริหารหลายสถาบันพยายามขัดขวางการชุมนุมคัดค้านของนิสิตนักศึกษา  ไม่ให้นักศึกษารับรู้ข้อมูลข่าวสาร  หรือการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยนิสิตที่ออกมาคัดค้าน  พลิกสถานการณ์จากการสนธิกำลังระหว่างผู้บริหารกับนักการเมืองกลับมาเป็นลอยแพมหาวิทยาลัย  ให้กลับมาทำประชาพิจารณ์ก่อนการออกนอกระบบ  เราจึงได้เห็นความพยายามของฝ่ายบริหารในการแทรกแซงประชาคมในมหาวิทยาลัย  โดยมีการจัดตั้งตัวแทนพนักงานออกมาชนกับข้าราชการ  โจมตีการทำงานของข้าราชการว่าขาดประสิทธิภาพ  เอาเปรียบพนักงาน  อ้างว่าพนักงานส่วนใหญ่สนับสนุนการออกนอกระบบ  โดยหวังว่าจะทำให้สวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัยดีขึ้น  การสั่งปลดกันเองของนักศึกษาในองค์การนักศึกษา  โดยมีข้อครหาว่ามีผู้บริหารอยู่เบื้องหลังเพราะออกมาต่อต้านการออกนอกระบบ  การที่ตัวแทนนิสิตมหาวิทยาลัยนอกระบบฯ ออกแถลงการณ์สรรเสริญคุณงามความดีของการออกนอกระบบ  การที่ประธานสภาอาจารย์ซึ่งใกล้ชิดกับฝ่ายบริหารออกมาตำหนิอาจารย์ที่คัดค้านว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่ยอมเข้าใจ ฯลฯ   ทำให้ความขัดแย้ง  การแบ่งฝ่าย  การเผชิญหน้า  ชัดเจนและรุนแรงขึ้น  ชวนให้นึกไปถึงเรื่อง สามัคคีเภท  คำฉันท์  หนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการในอดีตซึ่งนิสิตนักศึกษาและผู้คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคย  จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังในบรรยากาศแห่งความขัดแย้งที่กำลังร้อนระอุ  ดังนี้บทประพันธ์เรื่อง สามัคคีเภท  คำฉันท์นี้  นายชิต  บุรทัต  ได้อาศัยเค้าเนื้อความที่ปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรแห่งพระไตรปิฎก  และอรรถกถาสุมังคลวิสาสินีโดยเล่าถึงกษัตริย์ในสมัยโบราณ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งแคว้นมคธ ทรงมีดำริจะปราบแคว้นวัชชี ซึ่งมีกษัตริย์ลิจฉวีครอบครอง แต่แคว้นวัชชีมีความเป็นปึกแผ่นและสามัคคีกันดียิ่งยากที่จะเอาชนะ  จึงคิดอุบายทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี โดยการแสร้งเนรเทศวัสสการพราหมณ์ออกจากแคว้นมคธ เดินทางไปยังเมืองเวสาลี  จนได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ลิจฉวี และได้เป็นครูสอนศิลปวิทยาแก่ราชกุมารทั้งหลาย   ครั้นได้โอกาส ก็ทำอุบายยุแหย่ให้ศิษย์แตกร้าวกัน จนเกิดการวิวาท  เป็นเหตุให้ความสามัคคีในหมู่กษัตริย์ลิจฉวีถูกทำลายลง   จากนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้กรีธาทัพเข้าปราบแคว้นวัชชีลงได้อย่างง่ายดาย  คำฉันท์อันเป็นคติสอนใจมานานนี้ชาวมหาวิทยาลัยควรจะได้นำมาทบทวน  และศึกษาข้อมูลด้านต่าง ๆ ให้ครบถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อหรือเลือกข้าง  ในสถานการณ์ซึ่งฝ่ายบริหารอ้างว่าจะทำเพื่อสิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้นของพนักงาน  ไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นค่าหน่วยกิต  ไม่คิดแสวงหาผลประโยชน์  มุ่งพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ เรื่องนี้ก้าวมาไกลเกินกว่าจะถอยหลังแล้ว และคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบ  ส่วนฝ่ายที่คัดค้านก็อ้างว่าการศึกษาไม่ใช่สินค้า  มหาวิทยาลัยไม่ใช่แหล่งธุรกิจ  ภารกิจสำคัญคือต้องรับผิดชอบต่อสังคม  ไม่ใช่หากำไร  ความมีประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหารมหาวิทยาลัยสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องออกนอกระบบ  มีกลุ่มมาเฟียอุดมศึกษาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นนายกสภา  เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารคนละหลายแห่ง  และคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย   ปัญหาการออกนอกระบบฯ ของมหาวิทยาลัยนับได้ว่าเป็นเรื่องแปลก  เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการออกนอกระบบฯ ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษา  อาจารย์หรือพนักงาน  ต่างก็มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้น้อยมาก  ในขณะที่คนรู้ไม่ยอมพูดหรือพูดไม่หมด  นิสิตนักศึกษาและผู้ปกครองกลัวต้องจ่ายแพงขึ้น  อาจารย์  พนักงานกลัวสถานภาพต่ำลง  แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริง ๆ นั้นมันมากเกินกว่าที่เราท่านจะคาดคิด  เพราะมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคน  ของสังคมและอนาคตของชาติอย่างคาดไม่ถึง                ท้ายสุดของบทความนี้ขอเรียกร้องให้ประชาคมมหาวิทยาลัยเลิกประจันหน้าหันมาช่วยกันคิด  ขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายและจุดยืนให้ชัดเจนโดยมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน  เช่น  เหตุใดจึงตั้งมหาวิทยาลัยในระบบราชการขึ้นมาใหม่ทีเดียวเกือบ 50 แห่ง  สวนทางนโยบายของรัฐเอง  ถ้าดีจริงต้องเดินหน้าให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบทั้งหมด  ถ้าไม่แน่ใจหรือไม่ดีจริงต้องถอยทันที  และขอให้ผู้บริหารที่อยากออกนอกระบบต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจ  โดยประกาศว่าจะเว้นวรรคไม่รับตำแหน่งในการออกนอกระบบ 1 สมัย  ปล่อยให้คนอื่นเข้ามาบริหาร  และถ้าไม่ใช่เทพเทวดาหรือทศกัณฐ์พันมือต้องเลือกดำรงตำแหน่งได้เพียงมหาวิทยาลัยเดียว  จะเป็นการขอที่มากเกินไปไหม?                                                                                                  22 มกราคม 2550
หมายเลขบันทึก: 74388เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2007 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท