อนุทินล่าสุด


บุรชัย
เขียนเมื่อ

สามเดือนมานี่ ผมกำลังเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ใหม่ คือ ภาษา Swift บน Xcode ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Apple.

เมื่อมองย้อนไป ภาษาแรกที่ผมเรียน ตั้งแต่สมัยปี ๒๕๒๐ ที่จุฬาฯ คือ Fortran IV ต้องไปใช้ punched cards แล้วก็มีอีกหลายภาษาที่เรียนเอง คือ Basic, Python, Java, Perl, แต่ก็แค่พอใช้งานได้ ไม่ถึงกับเชี่ยวชาญ.

ภาษา Swift นี้ ผมคิดว่า เกือบจะเป็นภาษาใกล้สุดท้ายในชีวิตที่เริ่มเข้าสู่วัยชราเกินที่จะเรียน กะว่าจะลองทำแอ็ปเล่นสำหรับ iOS platform และ Mac ถ้าไม่นับ Dart และ Flutter สำหรับพัฒนาเพื่อแพลตฟอร์มอื่นด้วย ซึ่งพักเอาไว้ก่อนในอนาคต. อย่างหลังระบบยังไม่เนียนเท่าของ ไอโอเอส.

ที่เขียนมานี้ก็เพื่อบันทึก milestones ชีวิตของตนเอง และเจตนาตอนนี้เอาไว้ก่อน. ถ้าหากอนาคตแอ็ปเสร็จ (มีหลายตัว)ก็คงมาเปิดตัวประกาศข่าวผ่านช่องทางนี้. แต่อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน. ผมแค่หวังว่าจะมีโอกาสทำเสร็จ. เขียนจาก ไอแพ็ด โดยใช้ผ่าน เบราเซอร์! เพราะที่นี่ไม่มีแอ็ปให้ใช้. แต่ก็ไม่เป็นไร ผมแค่บ่นกะปอดกะแปดไปยังงั้นแค่นั้น 555.



ความเห็น (2)

สนใจการทำแพลตฟอร์มครับ แต่ไม่มีความรู้เลยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

ผมเพิ่งฟัง พุทธธรรม audiobook ของท่าน ปยุตฺโต (เสียงอ่าน พระอาจารย์ กฤช) ประมาณ ร้อยชั่วโมง จบ. ใช้เวลา ๓ เดือนครึ่ง. เกินเวลาพ้นออกพรรษาไปหน่อย. เพื่อนผมชมว่ามีฉันทะ แต่ผมไม่เห็นด้วย. มันไม่ใช่ ฉันทะ หรือ passion ในการฟัง แต่เป็น นิสัย หรือ habit มากกว่า. ฉันทะไม่สามารถใช้ได้ยาวนานเท่าการสร้างความเคยชินในการทำอะไรสักอย่าง. ผมมีหนังสือ ทั้งภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ และ อีบุ๊ค อ่านไม่เคยจบ. แต่ต้องอาศัยฟัง หนังสือเสียง ไม่งั้นคงไม่มีทางจบ.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ผมลาอออกจากงานประจำ เพราะรู้สึกว่าถ้างานไม่เหมาะกับเรา เราก็ควรออก เงินไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุด เวลาในชีวิตเหลือน้อย แล้วในวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ (วันคล้ายวันเกิดคุณพ่อผม) ผมก็ออกบวชโดยไม่มีกำหนดสึก โดยมีหลวงพ่อบุญมาเป็นพระอุปัชฌาย์ (ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ) ท่านเมตตากับผมมาก บอกว่า “พ่อจะเป็นเจ้าภาพบวชให้เอง” โดยที่ผมไม่ได้เอ่ยปาก

บวชแล้วผมไปอยู่กับหลวงพ่อในป่าห่างไกลจากตัวจังหวัดชัยภูมิ (ปราสาทดิน อ. ภักดีชุมพล ใกล้ถ้ำวัวแดง) ที่นั่นไม่มีไฟฟ้าใช้ พระภิกษุอยู่ท่ามกลางแสงเทียน ผมเอาแผงโซล่าเซลล์เข้าไปใช้ชาร์จแม็คบุ๊คโปรและมือถือ ขนหนังสือไปด้วย ๒ กล่องใหญ่ๆ ในระดับกุฏิผมที่อยู่สูงเหนือยอดไม้ พอรับสัญญาณมือถือได้อ่อน ๆ จากเสาส่งในหมู่บ้าน ซึ่งห่างออกไป ๕ กิโลเมตร ผมได้ออกเดินบิณฑบาตบนถนนดินในหมู่บ้านชนบทที่ยากจน ระหว่างทางผมได้บริกรรมอิติปิโสไปตลอดทาง คิดว่าทุกวันตลอดเวลาที่บวช เพื่อให้อานิสงส์เต็มที่แก่โยมทั้งหลายที่ใส่บาตรพระ ระหว่างเดินไปนั้น ผมรู้สึกว่าพวกภิกษุในแถวของเราคงมีชิวิตคล้ายเป็นภิกษุในยุคโบราณ ระหว่างเดินในหมู่บ้าน ชาวบ้านเจ้าประจำรอคุกเข่าอยู่หน้าบ้าน พอเดินเข้าไปใกล้ พวกเขาก็ชูกระติ๊บข้าวเหนียวขึ้นเหนือศีรษะเป็นอาการนิมนต์

ต่อมาไม่นาน หลวงพ่อส่งผมไปฝึกไปกัมมัฏฐานกับหลวงพ่อพล ที่ อ. เขาสอยดาว จันทบุรี ๑ เดือน ได้ฝึกนั่งกัมมัฏฐานในกลดหน้าโลงเปล่าตอนกลางคืนในป่า อดทนต่อเสียงรบกวนแบบ sense surround หลังจากผมผ่านด่านแล้วจึงได้กลับไปชัยภูมิอีก. จากนั้นผมไม่กลัวผีอีกเลย. แม้จะเจอภาพแปลกๆ ภายหลังในที่อื่นระหว่างธุดงค์ก็ไม่กลัว. มีแต่แผ่เมตตา.

ผมได้ทำหน้าที่พระภิกษุอย่างค่อนข้างสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่บวชอยู่ ๗ เดือน ถือว่าเป็นเวลาที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิตนี้. ผมได้ค้นพบตัวเอง ว่าต้องการจะทำอะไรในเวลาที่เหลืออยู่น้อย.



ความเห็น (1)

ขออนุโมทนาบุญกุศลด้วยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

เมื่อวานผมไปได้หนังสือมาจากร้านคิโนะคุนิยะที่สยามพารากอน จำนวนหลายเล่ม. แต่ที่น่าสนใจและผมกำลังเริ่มทดลองใช้คำแนะนำในเล่มเลยคือ หนังสือเรื่อง Bullet Journal ของ Ryder Carroll ฉบับแปลไทย (โดย นรา สุภัคโรจน์) ดูเหมือนว่าราคาเล่มละสามร้อยกว่าบาท. ผมได้ตามไปดูคลิปของ Carroll สองคลิป เขาเป็นคนหนุ่มหน้าตาดี บุคคลิกดี แต่เคยมีปัญหาจาก โรคสมาธิสั้น Attention Deficit Syndrome เลยต้องคิดหาทางแก้ปัญหาของเขาเองขึ้นมา และมันก็ใช้ได้ดีกับเขา และเมื่อเผยแพร่ออกไป ก็มีคนนำไปใช้จำนวนมากในรอบเกือบสิบปีที่ผ่านมา. จะว่าไป คนไทยไม่น้อยมีปัญหาเรื่องนี้ อาจรวมคนแก่แต่หัวใจยังหนุ่ม (แสวงหาความรู้นะครับ ไม่ใช่กิเลส) อย่างผมด้วย. ผมคิดว่าหนังสือนี้มีประโยชน์มาก และ ระบบ BuJo ของเขานี่น่าลองใช้.ผมหวังว่าระบบของเขาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เวลาให้ผม และช่วยนำผมไปสู่เป้าหมายต่างๆ เร็วขึ้น. วันนี้อ่านยังไม่ทันจบแต่ผมก็เริ่มเลย เพื่อไม่ให้เป็น แพลนแล้วนิ่ง.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

เขียนบันทึกส่วนตัวเรื่องหนึ่งไว้เป็นสิบปีแล้ว เป็นประสบการณ์ปฏิบัติธรรม ทางพุทธศาสนา ตั้งใจว่า จะไว้พิมพ์แจกเป็นหนังสืองานของตนเองในอนาคต ตอนนี้เพื่อนร่วมรุ่นทะยอยจากไปแบบไม่คาดฝันหลายคน ผมเห็นความไม่แน่นอนในชีวิตมากขึ้น กลัวว่าคนอื่นที่สนใจธรรมะจะไม่ได้อ่านบันทึกของผม จึงตัดสินใจแก้ไข และจะทะยอยปล่อยของออกมา วันนี้เอาบางส่วนมาแปะไว้ก่อน ในอนาคตถ้าแก้ไขตอนต่อไปก็จะมาแปะไว้อีก ถ้ามีคนสนใจค่อยทำเป็นเล่มใครสนใจธรรมปฏิบัติก็เชิญลองอ่านได้นะครับ (ผมทำใจไว้แล้ว อาจมีก้อนอิฐมาบ้าง)

https://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/001/422/427/original_20210425134525.pdf?1619333125



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

ผมกำลังพยายามสร้างนิสัยใหม่และปรับปรุงการใช้ชีวิตประจำวันให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

นิสัยเป็นเรื่องสำคัญ. ผมเคยอ่านเจอคำสอนของหลวงพ่อ ชา สุภทฺโท ที่ว่า

“เธอจงระวัง ความคิด ของเธอ เพราะความคิดของเธอจะกลายเป็นความประพฤติของเธอ

เธอจงระวัง ความประพฤติ ของเธอเพราะความประพฤติของเธอจะกลายเป็นความเคยชินของเธอ

เธอจงระวังความ เคยชิน ของเธอเพราะความเคยชินของเธอจะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ

เธอจงระวัง อุปนิสัย ของเธอเพราะอุปนิสัยของเธอจะกำหนดชะตากรรมของเธอชั่วชีวิต”

แล้วประทับใจ. ดูเหมือนมีฝรั่งเอาไปแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย.

ทั้งๆ ที่รู้ว่านิสัยสำคัญ ผมพยายามเปลี่ยนตัวเอง แต่นิสัยบางอย่างที่ฝังมาตั้งแต่เด็กก็ยังเปลี่ยนไม่ได้ แม้เวลาผ่านไปหลายทศวรรษแล้วก็ตาม (บอกให้ก็ได้ นิสัยเสียที่ว่าคือ นิสัยชอบผัดผ่อน “เอาไว้ก่อน” รอจนใกล้จะถึงเส้นตายนั่นแหละถึงจะทำงาน). จนปัญญามันรุนแรงขึ้นนั่นแหละถึงจะเปลี่ยนนิสัยได้ เช่น ต้องสุขภาพไม่ดีเริ่มป่วยเสียก่อนถึงหันมาใส่ใจกับ การออกกำลังกาย อย่างจริงจังมาได้ราว ๒ ปีแล้วนี่เอง. แต่ก่อนหน้านั้นก็ออกกำลังกายบ้างอย่างเสียไม่ได้.

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผมพยายามเปลี่ยนแปลงชีวิต ให้มีประสิทธิภาพในการใช้เวลา เพราะว่ามีอะไรอยากจะทำอีกแยะ. อายุมากขึ้น เวลาเหลือในชีวิตเหลือน้อย ก็เลยต้องหาทางจัดนิสัยการใช้เวลาประจำวันเสียใหม่ ให้มีประสิทธิภาพในการใช้เวลาสูงขึ้น.

เพิ่งเห็นหนังสือแปลเล่มใหม่ ผมคิดว่าดีมาก คือ “พลังแห่งความเคยชิน” แปลจาก The Power of Habit. ตอนนี้อ่านไปแค่ ๑ ใน ๓ แล้วก็พักไว้ก่อน, แต่ก็พอใช้งานส่วนตัวแล้ว.

และก็ไปได้สมุดปกแข็งเล่มหนึ่ง Goal Planner จากร้าน Loft น่าใช้มาก ราคาไม่ใช่ถูกนะ แต่เมื่อมันจำเป็น ผมก็ต้องจ่าย. คิดสะระตะแล้วว่า คุ้มค่ามาก ถ้ามันจะช่วยทำชีวิตผมมีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้.

ใครต้องการจะปรับปรุงชีวิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผมว่า หนังสือเล่มที่ว่า และ สมุด แพลนเนอร์ที่ว่า ผมคิดว่าใช้ได้เลย.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

เมื่อห้องสมุดภาควิชาโดน digital disruption / ตำราและหนังสือวิชาการพิมพ์ด้วยกระดาษที่กำลังหายไป พร้อมความรู้พื้นฐานดั้งเดิม

วันนี้ ผมไปเยี่ยมภาควิชาเก่าที่เคยทำงาน (ขออนุญาตไม่ระบุสถานที่เพราะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ) วันนี้ห้องสมุดภาคฯ โดนเปลี่ยนไปเป็น co-working space แล้ว มีโต๊ะทำงานและเก้าอี้นั่งสบายไว้ทำงาน(กับโน้ตบุ๊คที่ผู้ใช้ต้องนำมาเอง) หนังสือเก่านับพันเล่มที่เก็บสะสมมากว่า ๕๐ ปีออกมาวางตั้งไว้เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจเลือกเก็บไปใช้ส่วนตัวได้

มันมีความรู้สึกเกือบตรงกันข้ามอยู่ ๒ ด้านในหัวผม

๑. ในแง่ใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน ผมก็เห็นด้วยว่าการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่ ให้ตรงกับความต้องการของคณาจารย์และนักศึกษาในปัจจุบันของภาควิชา ก็เหมาะสมดีแล้ว

๒. แต่ในแง่ความรู้สึกของคนรักหนังสือ (ซึ่งอายุเลยวัยเกษียณ) ดูเหมือนว่าหนังสือเก่าๆ นั้น คนรุ่นหลังไม่ได้ให้ค่าและคิดเฉลียวใจเลยว่า ความรู้เก่าๆ เชิงรายละเอียด และความรู้ทางเทคนิคเก่าๆ ที่มีในหนังสือวิชาการเก่าในสาขาวิชาเฉพาะทางต่าง ๆ นั้น ไม่ได้มีให้ค้นหาได้ง่ายใน ebook หรือว่ามีใน เอกสาร PDF เสียทั้งหมด (ลองนึกถึงหนังสือวิชาการรายปีของต่างประเทศ พวก Annual Reviews ในสาขาวิชาต่างๆ เป็นตัวอย่างดูครับ) ในอนาคต เราต้องอิงกับการจ่ายค่าสมาชิกบอกรับวารสารจากต่างประเทศทุกปีเป็นจำนวนเงินมหาศาล ต้องจ่ายค่าต๋งแสนแพงให้ฝรั่งทุกปีตลอดไป. หนังสือตำราดีๆ ที่กระจายไปแล้ว เอ็นโทรปีที่เพิ่มขึ้นทำให้เราคงไม่มี hard copy เหลือให้ค้นได้อีกในอนาคต หรืออาจมีเหลืออยู่บ้างในบางที่ แต่ก็คงหายากมาก หรืออยู่ไกลจนไม่มีใครในอนาคตจะเดินทางไปค้น. อันที่จริงมันมีประเด็นให้คนน่าจะคิดทำอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น digitization of books ในห้องสมุดก่อนจำหน่ายจ่ายแจกออกไป ฯลฯ แต่ไม่มีใครทำ (เพราะไม่มีคนเห็นว่าสำคัญ). ที่เปรยเล่ามา เพราะคงมีเหตุการณ์คล้ายแบบนี้ที่อื่นอีกแน่.

ผมเองคงไม่ได้ใช้ความรู้ในหนังสือเหล่านั้นอีก ผมจึงไม่ได้ไปใส่ใจค้นหนังสือดูว่าจะมีเล่มไหนน่าสนใจ เพียงแต่แอบทราบว่า มีบางเล่มที่เป็นหนังสือบริจาคให้ห้องสมุดของคณาจารย์เกษียณบางท่านเมื่อหลายสิบปีก่อน ท่านก็มาหยิบหนังสือของท่านคืนไป.



ความเห็น (1)

มีความไม่เห็นคุณค่ามากมายเกิดขึ้นในยุคนี้ครับ ;)…

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

แก้ไขเอกสารคำแปล จิตคือพุทธะ ของหลวงปู่ดูลย์ ถอดเสียงเช็คคำพูดใหม่ แก้ไขเอกสารเป็นรุ่น 1.4 ทำเป็นทวิพากย์ ไทย อังกฤษ

Mind is the Buddha. Mind is the Enlightened One.

ดูได้ที่นี่



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

เมื่อคืน ผมอ่าน "มาริษาราตรี" นวนิยาย (ย้อนยุค 1960s) ของ สมเถา สุจริตกุล จบ วันนี้เลยบันทึกความคิดเอาไว้ในบล๊อกข้างนอก ผู้ใดสนใจตามไปอ่านที่ลิงก์นะครับ มาริษาราตรี



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

ผมเพิ่งดูคลิปนี้ คิดว่าน่าสนใจมากสำหรับชาวพุทธ อยากแบ่งปันให้สมาชิก Goto Know แวะไปดูด้วยครับ เกี่ยวกับสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่อังกฤษค้นพบในอินเดียในสมัย ร. ๕ และได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุให้ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งต่อมาได้บรรจุไว้ที่ยอดภูเขาทอง

ชาวไทยที่เคยอ่านเกี่ยวกับเรื่องราวตอนอัญเชิญมาในสมัย ร. ๕ นั้นคงไม่สงสัยว่าพระบรมสารีริกธาตุนั้นจริงหรือไม่ เพราะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรื่องน่าทึ่งที่คนสมัยนั้นเล่าขาน แต่ฝรั่งซึ่งไม่ทราบเรื่องเล่าดังกล่าว ต้องการจะพิสูจน์ เพราะทายาทของผู้ที่ขุดค้นต้องการความสบายใจ เพราะปู่เขาโดนกล่าวหาว่าทำปลอม

ดูคลิปนี้แล้วก็ได้ความเข้าใจมากขึ้นเยอะ สรุปว่า จากจารึกในผอบหินที่ค้นพบนั้น ผู้เชี่ยวชาญอักขระอินเดียโบราณสรุปว่าเป็นอักขรพราหมีสมัยพระเจ้าอโศก มีศัพท์ที่ไม่เคยเจอที่ไหนอีกเลยนอกจากบนผอบหินนี้ และนั่นแสดงว่าย่อมไม่มีใครปลอมได้ และพระเจ้าอโศกน่าจะเป็นผู้ให้สร้างสถูปที่พบผะอบนี้ที่ตอนเหนือของอินเดีย ตรงสถานที่ที่เคยเป็นแหล่งบรรรจุพระอัฏฐิของเชื้อพระวงศ์ของศากยวงศ์ (บริเวณนั้นไม่ไกลจากกบิลพัสดุ์ของเนปาล)

ผมออกจะขำที่ว่า สมัยนั้นรัฐบาลอังกฤษพยายามโยนเผือกร้อนออกไป เพราะเชื่อกันว่าคงเป็นของปลอม ก็เลยหาทางปัดให้พ้นตัว เรื่องราวจะได้เงียบลง โดยถวายให้รัชกาลที่ ๕ เสีย แล้วแถมก็ได้พระราชไมตรีไปด้วย ไปๆ มาๆ เราเลยได้พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าของจริง ไม่ต้องสงสัยกันอีก

ว่างๆ ผมคงต้องไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่ภูเขาทองอีกสักครั้ง

คลิปที่ยูทิวบ์ : National Geographic: Bones of the Buddha clip



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

สองวันมานี้งัดบทความที่ผมเคยแปลไว้เมื่อ ๓ ปีก่อนมาปรับปรุงคำแปลใหม่ให้ถูกต้องยิ่งขึ้น คือ พุทธศาสนาและนักปรัชญาเยอรมันในศตวรรษที่ ๑๙ ที่ผมแปลมาจากบทความของ Dumoulin ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1981 และเอกสารหาอ่านยาก ผมเคยเซฟภาพบทความไว้ก็เลยต้องไปแกะเนื้อความจากภาพขยาย เอกสารที่เคยแปลครั้งก่อนยังแปลไว้ไม่ดีพอ คราวนี้ปรับปรุงแล้วก็ได้อีเมลส่งไปถวายพระท่านที่เคารพนับถือได้พิจารณาศึกษาต่อไปแล้ว

ท่านที่สนใจ เอกสาร pdf ดาวน์โหลดได้ที่นี่




ความเห็น (2)

ขอบคุณสำหรับดอกไม้ครับ และยินดีที่เป็นประโยชน์กับบางท่านครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

สองเดือนมานี้ผมผ่านพ้นภาระที่ไปช่วยงานที่กรุงเทพ ได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านต่างจังหวัด ได้มีเวลาอ่านโน่นอ่านนี่ และก็วางแผนสิ่งที่จะทำต่อไป

นึกถึงบทความเก่าภาษาอังกฤษที่เคยเขียนไว้เมื่อ ๒๒ ปีมาแล้ว (แหม เวลาผ่านไปเร็วจัง) เคยอัพโหลดไว้บนเว็บเก่าแต่ตอนนี้คงไม่มีแล้ว เลยสำเนามาฝากเก็บไว้ใหม่ที่ GotoKnow เผื่อในอนาคตใครจะสนใจประวัติศาสตร์ของชีวเคมีบ้าง บทความที่ว่านี้เดิมเขียนในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ ลงพิมพ์ในหนังสือ "สานสายใย สายสัมพันธ์ สามทศวรรษชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล" เป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของวิชาชีวเคมี และภาควิชาฯ ในขณะนั้น ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต และก็พูดถึงประวัติศาสตร์พัฒนาการทางเทคนิคของชีวเคมี (หลังจากตีพิมพ์ครั้งนั้น มีแก้ไขเล็กน้อย และเปลี่ยนชื่อบทความเล็กน้อย)

ลิงก์เอกสาร PDF



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

ในรอบ ๑ เดือนที่ผ่านมา ผมเริ่มเขียน blog เฉพาะทางให้เว็บที่ทำงานใหม่
เนื้อหาที่นั่นมีขอบเขตที่แน่นอน คือข่าวและความรู้ในเรื่อง สาธารณสุข โรคระบาด โรคติดเชื้อ การระบาดของโรค (ทั้งในคน และ สัตว์), และ มโนทัศน์เกี่ยวกับ สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health), โดยเน้นการให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับสาธารณชน รวมถึงครูบาอาจารย์ โดยผู้สนใจตามอ่านได้ครับ ที่ thohun.org

ในอนาคต ผมตั้งใจว่าจะเขียนบทความที่เป็นเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ภาษาไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวเพิ่มอีก ซึ่งคุณครูในโรงเรียนบางท่านอาจจะนำเนื้อหาไปใช้ประกอบการสอนนักเรียนได้ด้วย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

ห้องทำงานที่บ้านต่างจังหวัด ที่ที่มีอากาศดีๆ ใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นสถานที่ที่เหมาะกับการไปนั่งคิดอะไรเงียบๆ เพื่อระดมสมอง ทบทวนเรื่องราว ศึกษาสิ่งที่ยาก และเขียนหนังสือ 

ห้องทำงานผมที่บ้านทางเหนือเพิ่งเสร็จสมบูรณ์ เพิ่งจัดหนังสือเสร็จ

หนังสือนี้ บางเล่มสะสมมาตั้งแต่เรียนประถม ผมอยากนึกมีห้องสมุดส่วนตัวมาตั้งแต่สมัยเรียนประถม ๖ แล้ว ต่อมาก็ต้องขอบพระคุณคุณครูประจำชั้นสมัยผมเรียนประถม ๗ ช่วยตอกย้ำ ทำให้ผมเป็นนักอ่านตามท่าน ครูผมสอนว่า "ครูเงินเดือนน้อย แต่ครูแบ่งเงินซื้อหนังสืออ่านทุกเดือนๆ ละเล่มสองเล่ม เก็บสะสมไว้เป็นชั้นหนังสือ" จากนั้นผมก็ซื้อหนังสืออ่านมาเรื่อยๆ และผมก็ยังนึกถึงครูท่านนี้อยู่เสมอครับ ทั้งๆ ที่เคยพลอยโดนไม้เรียว(ทั้งชั้นเรียน)ของท่านเจ็บก้นทีเดียว แต่รักท่านมาก

ผมจัดแจงเอาหนังสือเล่มหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ ไม่สูญหาย ไม่โดนปลวกกิน (เล่มข้างล่าง โชว์ปกใน) ขึ้นชั้นเป็นประเดิมครับ

บทเรียนของผมในเรื่องนี้ก็คือ คำพูดของครูประถมที่หมั่นเน้นค่านิยมที่ดี เด็กบางคนอาจจะประทับใจบ้างก็ได้ จนทำให้มันเป็นความจริงในอนาคตขึ้นมาก็ได้

สำหรับการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคสังคมความรู้ เด็กรุ่นใหม่ควรเป็นผู้ใฝ่รู้ เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องปลูกฝังนิสัยรักการอ่านครับ 

มันก็เหมือนปลูกต้นไม้ หรือปลูกผัก มันก็ต้องมีต้นที่รอดบ้างแหละ



ความเห็น (6)

อยากจัดห้องสมุดส่วนตัวให้ได้แบบนี้ครับอาจารย์ ;)…

เป็นกำลังใจให้ครับ ขอให้ได้สร้างห้องสมุดส่วนตัวตามปราถนาครับ 

ปัญหาคือพื้นบ้านต้องรับน้ำหนักหนังสือไหว ต้องทำโครงสร้างเผื่อไว้แต่แรกครับ ถ้าอยู่ตึก หรือบ้านชั้นสองก็คงไม่เหมาะ บ้านอาจทรุดได้ ต่อมาก็คือ บ้านคนไทยเราส่วนมากมีหน้าต่างแยะ ทำให้ไม่มีกำแพงล้วนๆ ที่จะวางชั้นหนังสือเต็มๆ ให้ดูสวยงามได้ แต่ก็ดีอย่างจะได้เว้นช่องเอาไว้รับลมและแสง ส่วนปัญหาน่ากลัวที่สุดก็คือ น้ำท่วม และ ปลวก ครับ

คิดไว้นานแล้วเหมือนกันครับอาจารย์ ยังไม่มีโอกาสและสถานที่ ที่สำคัญเงินมาจัดทำในส่วนนี้…ตอนนี้มีหนังสืออยู่ในกล่องพลาสติกและกล่องกระดาษดับเบิ้ลเออยู่จำนวนมาก ที่รอการเก็บขึ้นชั้นวางหนังสือ…ชอบอนุทินนี้มาก…ขอบคุณมากครับผม

เรียนคุณ "พี่หนาน" หาไม้อัดหนาสัก ๑ ซ.ม. ขึ้นไป มาตัดเป็นท่อนยาววางเรียง ด้านข้างวางคั่นด้วยอิฐมอญหรือซีเมนต์บล๊อกไปก่อนก็ได้ครับ ไม่ต้องเสียเงินมากครับ เป็นกำลังใจให้ครับ

เมื่อมีชั้นหนังสือวางเรียงดีๆ เราจะมีโอกาสหันกลับมาหยิบหนังสือที่เราเคยซื้อเอาไว้นานแล้ว อ่านแล้วลืมแล้ว กลับมาอ่านซ้ำและชื่นชมเนื้อหาได้ครับ เอามือสัมผัสกระดาษ ได้กลิ่นหนังสือ ผมว่ามีสุนทรีภาพกว่าสัมผัสจอเรียบๆ ครับ 

ผมพบว่ามีหนังสือที่ผมซื้อซ้ำไว้หลายสิบเล่ม บางเล่มซื้อซ้ำ ๓ หน เพราะเขาพิมพ์ใหม่แล้วเปลี่ยนปก เราก็เก็บไว้กระจายตามมุมต่างๆ ของบ้าน อ่านผ่านๆ หรือยังไม่ได้อ่านก็มี เพราะว่าไม่มีชั้นหนังสือเป็นที่เป็นทาง แต่พอมีชั้นหนังสือและจัดเป็นหมวดหมู่แล้ว ตอนนี้โอกาสจะซื้อซ้ำคงยาก

โห …. น้ำลายหกค่ะอาจารย์

ยินดีด้วยครบ..กับเป้าหมายที่วางไว้..นักอ่านจริงๆ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

ผมมีหนังสือเล่มหนึ่ง ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นของคุณแม่ซื้อไว้ ผมเชื่อว่าน่าจะหมดอายุของลิขสิทธิ์แล้ว หรือไม่ก็ สำนักพิมพ์ตอนนี้คงไม่อยู่แล้ว ผมคิดว่าน่าจะสแกนเก็บไว้เป็น archive ได้ คงไม่ผิดกฏหมาย ก็เลยเพิ่งดำเนินการเสร็จ เพิ่งอัพโหลดไว้ที่นี่ หนังสือที่ว่า คือ "ประมวลภาพทรงผนวช" ซึ่งมีภาพประวัติศาสตร์มากมาย ท่านส่วนมากคงไม่เคยเห็น ดูแล้วก็ปลื้มใจ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมไทย 

หน้าปกเลอะนิดหนึ่ง เด็กมือบอนคนหนึ่งระบายสีเล่นเมื่อกว่า ๕๐ ปีก่อน (ผมเองแหละ) :-) ขออภัยด้วย 

ท่านใดสนใจ ก็ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ เป็น zip file ภายในมีภาพ JPEG สแกนจากหน้าหนังสือ จำนวน ๘๕ ภาพ

http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/001/037/610/original_King_ordination_2499_book_JPEG.zip?1406815713



ความเห็น (3)

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ ค่ะ เป็นภาพหายากแล้วนะคะ

ขอบคุณมากครับอาจารย์บุรชัย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
บุรชัย
เขียนเมื่อ

ผมใช้เวลาหลายวันที่ผ่านมา แปลพระธรรมเทศนาของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เรื่อง จิตคือพุทธะ เป็นภาษาอังกฤษ

ผมมีเสียงอัดเทปของหลวงปู่อยู่ ๓ ตอนแต่ฟังยาก เพราะคุณภาพเสียงไม่ดี ท่านเทศน์ไว้กว่า ๓๐ ปีมาแล้ว โชคดีที่ไปเจอบทถอดเทปตอนนี้มา ก็เลยช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น และยังไม่นับว่า หลวงปู่ท่านเทศน์เรื่องเข้าใจยากเอาไว้ 

เพื่อให้เข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้น ผมก็เลยจัดแจงแปลเป็นภาษาอังกฤษเสียเลย และก็ทวนถ้อยคำอย่างละเอียด ด้วยการฟังหลวงปู่เทศน์อยู่หลายรอบ เนื้อหาน่าจะถูกสภาวธรรม ไม่พลาดง่ายๆ ฟังท่านได้อารมณ์ และเข้าใจกว่าอ่านเยอะ

แต่ที่เสียเวลาแก้ไขมากก็คือ การเช็คสะกดภาษาบาลีเป็นอักษรโรมันให้ถูกต้อง เสียเวลาหลายชั่วโมง

วันนี้เอาแค่นี้ก่อน โพสต์ไว้ที่อื่นกันหายไว้ก่อน เพื่อประโยชน์ของชาวโลก ไว้แก้อีกรอบแล้วค่อยมาเก็บสำเนาไว้นี่อีกรอบ

หลายวันต่อมา แก้ไขอีกหลายรอบ ฟังเทปหลวงปู่ซ้ำ แก้สำนวนแปลอีกหน่อย

อัพโหลดเอกสาร PDF มาที่ gotoknow แล้ว

ไม่อยากจะบอกว่า เมื่อ ๓ วันก่อน พอแปลเสร็จแล้ว ไปเดินจงกรม สมองมันแว็บ เห็นความว่างไม่มีประมาณ อย่างกะได้บารมีหลวงปู่ ทำให้ได้ผมได้เห็น ได้เข้าใจ คำสอนของท่านจริงๆ 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

ผู้สนใจ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ลองไปดาวน์โหลดรายงานนี้มาอ่านดู เป็นของ นอร์เวย์ คาดแนวโน้มสำหรับปีนี้ไปยังอีก ๕ ปีข้างหน้า เป็นเอกสาร PDF: Technology Outlook for Norwegian Schools 2013-2018



ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับ อาจารย์ ;)…

บุรชัย
เขียนเมื่อ

นั่งดูรายการที่โดนแบนที่นี่ก็ได้



ความเห็น (1)
บุรชัย
เขียนเมื่อ

ขณะที่คนชั้นกลางเริ่มบ่นแสดงความกังวลเรื่องนโยบายประชานิยม ว่าจะทำให้ประเทศเสียหายทางการเงิน แต่ผมคิดว่าคนไทยทั่วไปก็ยังไม่เห็นชัดว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา

เผอิญเพิ่งไปดูคลิปหนึ่ง แต่ยาวหน่อย อธิบายได้ดีและชัดเจน เป็นเรื่องการคาดการณ์ว่ากำลังจะเกิดวิกฤษเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักร(อ้าว มาตะเภาเดียวกันกับในอเมริกาแฮะ) เพราะตอนนี้หนี้สาธารณะของ UK และรวมความผูกพันต่างๆ ด้วย ตกอยู่ที่ 9 เท่า ของ GDP (ของอเมริกา ได้ยินบางคนแอบรวมๆ ดู ดูเหมือนจะราวๆ 6 เท่า ถ้าจำไม่ผิด) ตอนท้ายๆ น่าสนใจ เพราะเขาบอกว่า สัญญาณแบบไหนที่หากออกมาแสดงว่ากำลังจะแย่ ระหว่างผมดูแล้วก็อดไม่ได้ ในใจแอบนึกเปลี่ยน ยูเค ไปเป็นประเทศสารขัณฑ์ ก็พอจะได้ความเข้าใจ

ในคลิปนี้กล่าวถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ในหลายประเทศ แต่เวลาเขามีโฆษณาแม็กกาซีนของเขาแทรก ก็ทำหูทวนลมไปบ้างก็แล้วกัน

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในอเมริกา ย่อมมีผลกระทบต่อโลก 

ผมนั่งดูวีดิโอคลิปนี้ไปรอบหนึ่งแล้ววันนี้ แต่ก็คิดว่า เมื่อมีเวลา จะต้องกลับมาดูอีกสักรอบสองรอบ จะได้เข้าใจมากขึ้น

คนให้สัมภาษณ์ในคลิปนี้ จบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐ (ผมเข้าใจว่าเป็น ระดับ ผู้ช่วยรัฐมนตรีคลัง) ในรัฐบาลเรแกน 

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

วันนี้เพิ่งไปซื้อหนังสือมือสองภาษาอังกฤษจากร้าน "Dasa" หรือ "ดาสะ" ก็ภาษาบาลีคำเดียวกับ"ทาสา" นั่นแหละ หลังจากค้นพบร้านนี้บนเว็บโดยบังเอิญเมื่อคืนวาน

ข้อมูลจากเว็บเขาบอกว่า เขามีหนังสือให้เลือกอยู่ราว ๑๗๐๐๐ รายการ ส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็มีภาษาอื่นด้วย เจ้าของร้านมี ๒ คน มีคนไทยด้วยเป็นหุ้นส่วน

ร้านนี้อยู่ใกล้สถานีพร้อมพงษ์ ระหว่างซอยสุขุมวิท ๒๖ และ ๒๘ ไปสะดวกโดยรถไฟฟ้า เป็นร้านคูหาเดียว แต่สินค้ามี ๒ ชั้น ผมไปดูแล้ว ก็เป็นนวนิยายเสียส่วนมากตามคาด ลูกค้าส่วนมากดูเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาหาอะไรอ่านและแลกเปลี่ยนหนังสืออ่านแล้วระหว่างเดินทางละมัง แต่ก็มีหนังสือ non-fictions ด้วยอีกแยะเหมือนกัน มีหลายเล่มที่ดูแล้วก็น่าซื้อแต่ก็ต้องระงับกิเลสไว้บ้าง 

บรรยากาศของร้านดี แม้จะคับแคบไปนิด เขาขายกาแฟด้วย แต่ผมไม่ได้ลองชิม แอร์เย็นๆ (ยกเว้นชั้นสอง เหงื่อซึมหน่อย)  หนังสือราคาไม่แพงนัก ส่วนมาก ๒๐๐+ ถึง ๓๐๐+  ราคายอมรับได้ ขึ้นกับ popularity เพราะที่สำคัญคือหนังสือเรื่องที่เราอยากอ่านมากกว่า ถ้าความสนใจของใคร(เช่นผม)ประหลาดๆ ก็จะได้หนังสือที่เขาขายยาก ราคาก็เลยไม่แพงนัก

ลงเอยว่าวันนี้ผมซื้อหนังสือเล่มโตๆ มา ๔ เล่ม ในราคาเฉลี่ยเล่มละไม่ถึง ๓๐๐ บาท ความจริงอยากซื้อมามากกว่านี้ แต่ว่าหนักมาก (กลัวหิ้วเมื่อยขึ้นรถไฟฟ้า) และก็มีหลายเล่มเป็นประเภทที่อยากซื้อมาวางไว้บนชั้นหนังสือที่บ้าน แต่ยังไม่ได้คิดจะอ่าน ก็เลยจำหยิบที่เลือกไว้ออกคืนชั้นในร้านก่อน ไม่ซื้อมา และก็เมื่อวานก็เพิ่งไปร้านหนังสืออื่นมาก่อนจาก ๒​ ร้าน และก็ซื้อหนังสือภาษาไทยมาแล้วแบกขึ้นรถเมล์มารออ่านอีกมาก

ผมกะว่าจะแวะไปเยือนอีก ในอีกหลายเดือนข้างหน้า ใครเป็นหนอนหนังสือ ก็น่าลองแวะไปดู อาจจะได้อะไรติดมือกลับมา





ความเห็น (2)

สบายๆ...มีความสุขนะคะอาจารย์

ขอบคุณครับอาจารย์

ดูเหมือนผมจะสบายๆ แต่จริงๆ เห็นกิเลสมันดิ้นขลุกขลักอยู่ในกระแสจิตเหมือนกันนะครับ เพียงแต่ไม่เครียดเท่านั้น เพราะเราปล่อยวางไปแยะแล้ว แต่ตอนนี้พยายามระดมสมอง ก็เลยต้องไปหาอะไรๆ อ่าน เพื่อ randomize ข้อมูลในสมองเสียหน่อย 

 

 

บุรชัย
เขียนเมื่อ

วันนี้ ๒๙ กรกฎาคม วันภาษาไทย

ฉลองเสียหน่อย 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

บุรชัย
เขียนเมื่อ

วันนี้ผมและภรรยาเป็นประธานจัดทอดผ้าป่า เพื่อสร้างศาลา (ต่อ) ที่ลำพูน

มีวีดิโอคลิป บางส่วนของงาน ใครสนใจตามไปดูได้ครับ

http://youtu.be/VShCvVrEIjM

http://youtu.be/e-PtScNnzwg

http://youtu.be/MOKa4ubcNqw

http://youtu.be/RQ5-f2m-uAw






ความเห็น (3)

ขออนุโมทนาสาธุครับอาจารย์...

บุรชัย
เขียนเมื่อ

กำลังอ่านหนังสือแปลไทย โลกของโซฟี  (Sophie's World) ของ Jostein Gaarder  หนังสือสอนวิชาประวัติศาสตร์ปรัชญาในรูปแบบวรรณกรรมเยาวชนที่น่าอ่าน ที่เดิมมาจากภาษานอร์เวย์ และต่อมาแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลกอีก ๕๓ ภาษา ฉบับแปลเป็นภาษาไทยเอง โดยคุณ สายพิณ ศุพุทธมงคล ก็พิมพ์โดยสำนักพิมพ์คบไฟ มาแล้ว ๑๒ ครั้ง เดาว่ารวมแล้วก็ตกหลายหมื่นเล่ม ผมเองเพิ่งไปซื้อมาจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ มาเมื่อไม่นานมานี้เอง ดูเหมือนตัวเองตกสำรวจหนังสือเล่มนี้ เพราะสมัยก่อนผมมัก"จมน้ำ"อยู่ในสาขาเรื่องที่ตัวเองสนใจ จนตัวเองไม่มีเวลาโผล่ไปอ่านเรื่องอะไรที่มนุษย์ควรจะรู้มากเท่าที่ควร 


ผมไม่ประหลาดใจว่าทำไมต้นฉบับหนังสือสาขานี้เป็นภาษานอร์เวย์เพราะเคยรู้มาก่อนว่า คนนอร์เวย์ได้อานิสงค์จากแนวคิดของ Arne Naess ศาสตราจารย์นักปรัชญา ตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  ที่เริ่มปฎิรูปการศึกษาในมหาวิทยาลัยของเขา บังคับให้หลักสูตรของเขาทุกหลักสูตรต้องสอนปรัชญา ทำให้เยาวชนของเขากลายเป็นนักคิด มีวิสัยทัศน์ เขาทำสำเร็จเพราะตอนนั้นประเทศนอรเวย์กำลังเจ็บปวดจากผลของสงคราม และกำลังหาทางออก ในแนวคิดต่างๆ ที่ขัดแย้งกันอยู่

(บางทีสถานการณ์ที่เจ็บปวดของประเทศเราอาจจะนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ที่ดีบ้างในอนาคตก็ได้)


ก็ไปเจอว่ามีวีดิโอภาพยนต์นอร์เวย์ให้ดูด้วย ชื่อเรื่อง Sofies Verden (1999)

แต่ผมว่า ที่สร้างมาเนื้อเรื่องไม่ค่อยตรงกับหนังสือเท่าไร จากเรื่องราวไม่น่าตื่นเต้น สอนประวัติศาสตร์ทางปรัชญา กลายเป็น นิยายแฟนตาซีลึกลับไปแล้ว

(คงคล้ายกับละครทีวีไทย ที่ทำบทละครไม่ตรงกับเรื่องเดิมในนวนิยาย) 

แต่ตอนกลางๆ เรื่องเขามาเฉลยแนวคิดของนิยายเรื่องนี้ทำให้กลายเป็นหนังปรัชญากลายๆ อยู่ 


เนื้อหาในหนัง ผมดูแล้วก็โอเคนะ แต่ว่าคุณภาพห่างไกลจากเนื้อเรื่อง แต่ว่าเด็กฝรั่งดูหนังแล้ว ก็คงเข้าใจ เห็นภาพ และได้เกล็ดประวัติศาสตร์สัก ๑ ใน ๑๐๐ จากในหนังสือ


เขาพูดเป็นภาษานอร์เวย์ ต้องอ่านซับไตเติลภาษาอังกฤษเอาเอง


หนังยาว ๓ ชั่วโมง 

ตอนที่ ๑ ยาวชั่วโมงครึ่งดูได้ที่ youtube 




ความเห็น (1)

ชอบอ่านหนังสือค่ะ...ขอบคุณมากค่ะ

บุรชัย
เขียนเมื่อ

อ่านข่าว สาวน้อยอัจฉริยะ อายุ ๑๖ ปี เขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ จบปริญญาตรี Computer Science และกำลังจะไปเรียนปริญญาเอกทาง AI แล้วผมรู้สึกชื่นชมเด็กคนนี้มาก

ผมรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมในไทยดูเหมือนไม่เอื้อให้เด็กฉลาดของเราก้าวไปได้แบบเมืองนอก



ความเห็น (2)

ก็เขาพูดกันเล่นๆ ว่า Vanessa-Mae ถ้าไม่ได้ตามแม่ไปสิงค์โปร์แต่อยู่กับพ่อที่เมืองไทยป่านนี้ก็เป็นแค่น้องเมย์ครับ

เห็นด้วยเป๊ะเลยครับ อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท