ทำไมเราต้องพัฒนาระบบคิด และระบบการพัฒนาปัญญา


ระบบการจัดการความรู้ที่แตกต่างกันก็จะทำให้ได้ความรู้ที่ต่างออกไป ทั้งๆที่ข้อมูลที่เข้ามาเป็นตัวเดียวกัน
 

สองสามวันที่ผ่านมา ผมมีกิจกรรมในเชิงการวางแผนพัฒนางานวิจัย และงานจัดการความรู้เพื่อการพัฒนา ซึ่งทำให้ได้ประสบการณ์ในการเรียนรู้ปัญหาการจัดการนำข้อมูลมาใช้เพื่อการพัฒนา  ซึ่งโดยส่วนใหญ่ที่พบจะทำงานจากสมมติฐานที่ผิดพลาดแบบลัดขั้นตอนว่า ข้อมูล (Information) ทำให้เกิดความรู้ (Knowledge) และความรู้นำไปสร้างปัญญา (Wisdom) ได้เลย จนผิดพลาด ไม่บรรลุเป้าหมาย ไม่ได้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและผู้อื่น

  

 (เช่น การเรียนมหาวิทยาลัยของนักศึกษาบางคน ที่ได้แต่กระดาษเปื้อนหมึกติดมือไปแผ่นเดียว เป็นต้น)

  

สาเหตุแห่งความผิดพลาดก็คือ การมองข้าม ระบบข้อมูล ระบบคิด ระบบการจัดการความรู้ และระบบการพัฒนาปัญญา ที่จำเป็นต้องพัฒนาเสียก่อนที่จะนำไปใช้ หรืออย่างน้อยก็พร้อมๆกับการพัฒนาความรู้และปัญญา

  

มิเช่นนั้น ข้อมูลที่มีอยู่ ความรู้ที่ได้ ปัญญาที่ได้ ก็นำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องได้ผลไม่เต็มที่หรือตรงกับที่ควรจะเป็น

  

เพราะบางที คำ หรือ ข้อมูล เดียวกัน ที่อยู่ในระบบข้อมูลที่ต่างกัน หรือระบบความคิดที่ต่างกัน จะมีความหมายต่างกัน  ใครที่ชินกับความหมายเดิมอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ คำ หรือ ข้อมูล ที่สื่อกันอยู่จะเป็นอีกความหมายหนึ่งก็ได้

  

ซึ่งแสดงว่า ข้อมูล จะได้รับการตีความหมายไปตามระบบคิด จึงจำเป็นต้องมาพัฒนาระบบคิด ก่อนที่เข้าใจข้อมูลตามความหมายใหม่ หรือความหมายที่แตกต่างกันในหลายรูปแบบได้

  

ในลักษณะเดียวกัน ระบบการจัดการความรู้ที่แตกต่างกันก็จะทำให้ได้ความรู้ที่ต่างออกไป ทั้งๆที่ข้อมูลที่เข้ามาเป็นตัวเดียวกัน ซึ่งน่าจะสื่อได้ว่า ความรู้ที่ได้เป็นไปตามระบบการจัดการความรู้ของแต่ละคน ซึ่งมีผลมาจากทั้งปัจจัยภายนอก และองค์ประกอบภายในที่เป็นโครงสร้างของระบบการจัดการความรู้ของแต่ละคน

  สำหรับประเด็นที่พบว่าเป็นอุปสรรคในระบบการจัดการความรู้ ที่สามารถทำให้เกิดความรู้ และนำความรู้ที่ได้ไปสู่ระบบการพัฒนาทักษะด้านต่างๆที่สามารถบรรลุผลเป็นการสร้างปัญญาขึ้นมาได้นั้นก็มีลักษณะคล้ายกัน  ดังนั้นโดยสรุป การจัดการข้อมูลพื่อให้ได้ความรู้ จนสามารถนำไปสู่การเกิดปัญญาในการทำงานและพัฒนานั้น จำเป็นต้องมี การพัฒนาอย่างน้อยใน ๕ ประเด็นด้วยกันคือ 

1.     ระบบเอกสาร ที่เป็นหมวดหมู่ตามกลุ่มสาระของเอกสารที่ง่ายต่อการเข้าถึงของบุคคลในที่จะใช้ประโยชน์เอกสารแบบต่างๆ

 

2.     ระบบข้อมูล ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ในรูปแบบที่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์

 

3.     ระบบคิดกรองข้อมูล ที่อยู่ภายในความคิด ที่ต้องมีหลักการและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม

 

4.     ระบบการจัดการความรู้ ที่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีกรอบความคิด มีองค์ประกอบ และมีกระบวนการทำงานแบบมีประสิทธิภาพ และ

 

5.     ระบบการสร้างและใช้ปัญญา ที่ต้องพัฒนาทั้งในเชิงวิสัยทัศน์ กระบวนทัศน์ กรอบความคิด หลักการ เป้าหมาย และ หลักทางธรรมชาติต่างๆสนับสนุน ทั้งในเชิงประจักษ์ และเชิงวิชาการ

  เมื่อเราผ่านขั้นตอนการพัฒนาดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้การใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น 

เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานหรือ พัฒนาแบบ สิ้นคิด ครับ 

 

หมายเลขบันทึก: 87848เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2007 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

การพัฒนาแบบมักง่าย เอาง่ายเข้าว่า ทำลวกๆขอไปที แบบนี้ต้องฝังดินเป็นปุ๋ยต้นไม้

แต่การทำแบบง่ายๆ  easy - easy โดยแปลงทฤษฎี เติมความรู้ภูมิปัญญา เหยาะใจที่มีพื้นฐานของความดีงาม นี่เป็นความท้าทายในการทำงานพัฒนา...นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากเห็นจาก นักวิชาการระดับหอคอย

ความรู้ที่แข็งๆ (ไม่ใช่เหี่ยว) สำคัญ ความรู้ที่แข็งคือความรู้ที่ยอมรับเอาศักดิ์ศรีของความเป็นคนเข้ามาด้วย หาใช่ความรู้จากทฤษฎีที่กล่าวอ้างแต่เพียงอย่างเดียว

อัตตาสูงนัก ไม่เปิดใจ ของคนรู้มาก  ก็ส่งผล อันตรายต่อรากหญ้า ที่เป็นพื้นที่พัฒนา...ยิ่งปิดหู ปิดตา ทำกันไป ก็ส่งผลเสีย ...ล้มเหลวซ้ำซาก

..........

ผมเขียนไปเรื่อยๆนะครับ ไม่รู้เกี่ยวข้องกับ บันทึกอาจารย์หรือเปล่า..อาจจะเป็นระบายก็ได้ครับ

แต่ดีใจมากที่อาจารย์เขียนบันทึกอีกครั้ง หลังจากหายไป...

 

 

 

 

มันอึดอัดครับ อาจารย์ การทำงานกับคนรากหญ้า เอาเข้าจริงๆนักวิชาการที่อยู่กันเต็มไปหมด กลับไม่ได้เร่งกระบวนการเหล่านี้ เพราะไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึง หรือ เหตุผลกลใดไม่ทราบนะครับ

สิ่งที่เห้นอีกก็คือ ผลประโยชน์ที่ทุกคนต้องการ และ กดให้คนรากหญ้า ไม่ได้โผล่ศรีษะขึ้นมาบ้างเลย

เราพูดเรื่อง "การพึ่งตนเอง" นี่หละ เป็นทางออก การจัดการความรู้ระดับชุมชน ระดับตัวบุคคล ที่ อ.ศักดิ์พงษ์ ท่านเขียนไว้ ผมคิดว่านั่นหละทางรอด

อ่านวารสารเล็กๆเล่มหนึ่ง เรื่อง ความรู้ สดๆ ความรู้เหี่ยวๆ จากท่านพ่อครูบาสุทธินันท์ ก็บอกว่านั่นหละ มันใช่เลย ถูกใจหนุ่มดอย คนไกลมาก

ปรากฏการณ์แบบนี้ถึงมี มหาชีวาลัยอีสาน ขึ้นมา เป็นบุญแผ่นดินจริงๆครับ....

เสียงจั๊กจั่น..ช่วงแล้งๆแบบนี้ มันกำลังพร้อมใจกันบอกว่า "รากหญ้า ...ต้องพึ่งตนเองอย่างเดียวนะ" ถึงจะรอด

มันกำลังบอกเราแบบนี้

ก่อนที่จะ ลป.รร. ด้วยนั้น ต้องออกตัวก่อนครับว่า ไม่แน่ใจในบริบทที่อาจารย์เขียนข้างบนจริงๆ

แต่ผมเดาเองเองครับว่า ควรมีการสังเคราะห์ ...หากมีการสังเคราะห์ข้อมูล สารสนเทศแล้ว จะนำข้อมูลที่ได้จากการสังเคราะห์นั้นได้เป็นความรู้ ส่วนจะนำความรู้ไปทำอะไรต่อไป ..กระทั่งถึงขั้นปัญญา

สวัสดีค่ะ..ท่าน

  • ครูอ้อยอ่านแล้วค่ะ..สงสัยว่า..ครูอ้อยคงเข้าใจอะไรยาก..แต่เข้าใจคำว่า...พัฒนาแบบ "สิ้นคิด"  ดีมากๆค่ะ

เรียน พันธมิตร

ผมไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ

แต่มีปัญหาระบบการเข้า internet ก็เลยหันไปทำงานอื่นบ้าง

ระบบคิด และระบบการจัดการความรู้ เปรียบเสมือนเป็น Processor ของ ตัวหนังสือ คำ ตัวเลข สาระต่างๆเข้าไปเป็นข้อมูล

ต่อจากนั้นก็นำข้อมูลไปผ่านระบบการจัดการความรู้ เกิดเป็นความรู้

ความรู้ที่ได้จะเข้าสู่การพัฒนาปัญญา จนได้เป็นปัญญาออกมาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ทีนี้ผลผลิตจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ และกระบวนการครับ

แม้วัตถุดิบดี แต่กระบวนการไม่ดีก็จะมีปัญหาครับ

และเป็นปัญหาสับสนอยู่ในสังคมอยู่ในปัจจุบันครับ

คงพอเข้าใจนะครับ

อาจารย์ดร.แสวงครับ

ผมเห็นด้วยกับข้อคิดของอาจารย์เหมือนเคยนะครับ (มีแย้งบ้าง เสริมบ้าง ตามแต่ความเข้าใจอันน้อยนิดที่ผมพอจะมี)

ผมมองว่าขั้นตอนสำคัญคือตั้งแต่ขั้นที่สาม (คิดกรองข้อมูล) ซึ่งผมเข้าใจว่าหมายถึงการสังเคราะห์ข้อมูลที่เราจัดเอาไว้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ นั้นคือการนำมาปรับให้เข้ากับบริบทของหน่วยงาน สังคม และวัฒนธรรมของเรา

ผมว่าทำยากนะครับ ไม่ต้องไปถึงขั้นที่ห้าคือสร้าง และ ใช้ปัญญาก็แย่แล้ว เพราะเป็นเรื่องของความเข้าใจ ต้องเข้าใจทั้งตัวเอง และคนอื่น หมายถึงเข้าใจว่าเราเป็นใคร  คุณค่าของข้อมูลนี้มีต่อเราอย่างไร แล้วก็จะปรับอย่างไร 

ผมอยากจะนึกตัวอย่างมาคุยต่อยอด เพราะรู้สึกว่าส่วนใหญ่ที่อาจารย์นำเสนอนั้น ต้องเรียนว่าเป็นระดับนโยบาย ถ้ามีตัวอย่างมาถกกัน ก็น่าจะเกิดความเข้าใจในวงกว้างนะครับ ที่ผมรู้สึกอย่างนั้นเพราะผมเชื่อว่า วัฒนธรรม และระบบความเชื่อ มีส่วนอย่างมากในการใช้ความรู้ (เหมือนอย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ท่านเสนอไว้) เพราะความรู้นั้นอิงกับวัฒนธรรมครับ รับมาแล้วก็ต้องมาปรับ ถ้าไม่ปรับก็จะลักลั่น ใช้งานได้ไม่ดี และอาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับวัฒนธรรมความรู้ที่มีอยู่เดิม  ถ้าใช้ไม่เกิดประโยชน์ก็อาจจะต้องถูกละเลยไป

ผมรู้สึกว่าความรู้ก็เหมือนกับภาษา ที่อาจารย์ดร.แสวง เคยกล่าวไว้ว่าไม่ได้อยู่เป็นคำโดดๆ ลอยๆ ต้องขึ้นกับบริบท คือความหมายจะเกิดต้องมีคำแวดล้อมคอยเสริม อาจารย์ว่าไหมครับ

สวัสดีครับ

  •  เห็นจริงตามที่นำเสนอครับ
  • การทำงาน และการพัฒนา แบบ สิ้นคิด หรือ คิดสั้น หรือ คิดมั่ว หรือ คิดกลัว หรือ คิดเห็นแก่ตัว คือ มิจฉาพัฒนา
  • อย่า ... ดีฝ่า ครับ  เสียดายของ  เสียดายเงินทอง เสียดายเวลา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท