Overthrown: ตอนที่ 1 ความรุ่งเรืองในยุคจักรวรรดินิยม


อเมริกาจะไปยุ่งกับชาติอื่นๆได้ตามที่เห็นสมควร

สวัสดีครับ

จากที่ได้เคยบอกไว้ว่าให้ทิ้งข้อความว่า ให้เลือกหนังสือเล่มต่อไปที่ผมจะอ่านแล้วนำมาเล่าให้ฟัง (แต่ไม่ค่อยมีคนเล่นกับผมเลย :( ) แต่จากคนที่เล่นกับผม เราก็ได้ข้อยุติว่าหนังสือเล่มต่อไปที่จะเขียนในบล็อกนี้นั้น คือเรื่อง Overthrown ของ Stephen Kinzer ครับ นักหนังสือพิมพ์ที่เขียนข่าวต่างประเทศให้กับ The Boston Globe และ The New York Time

หนังสือเล่มนี้ถ้าไม่ติดว่าจะต้องไปทำอะไรแล้วล่ะก็ วางไม่ลงจริงๆครับ ตัวหนังสือแบ่งออกเป็น 3 ภาค 3 ยุค ตั้งแต่ยุคจักรวรรดินิยม ยุคสงครามเย็น และยุคปัจจุบัน

และตัวหนังสือนั้นว่าด้วยปฏิบัติการล้มล้างรัฐบาลที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีส่วนหลักที่ทำให้เกิดการล้มล้างรัฐบาลขึ้น และส่งผลให้ล้มล้างรัฐบาลได้ในที่สุด

เกริ่นนำ (ที่ค่อนข้างจะยาวมาก)

หนังสือเล่มที่ผมถืออยู่นี่เป็นเวอร์ชั่น paperback ออกมาเมื่อปี 2006 ผมไม่เคยเห็นเวอร์ชั่น hardcover (หรือปกแข็ง) นะครับ ถ้ามี ก็คงจะออกมาเมื่อปี 2005 สรุปได้ว่าหนังสือเล่มนี้นั้นออกมาตอนที่สงครามอิรักครั้งใหม่กำลังติดหล่มอยู่พอดี ดังนั้นผมคิดว่า ตัว Stepehn Kinzer เนี่ยต้องการที่จะอธิบายว่า ทำไมๆ การสำรวจแต่ละครั้งของประชากรโลก คนถึงชอบอเมริกาลดลง

แต่สำหรับผม โดยส่วนตัวก็ชอบอ่านนู่นอ่านนี่อยู่แล้ว เรื่องประวัติศาสตร์เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก แต่ก่อนชอบดูหนังครับ แล้วก็ลามมาเป็นอ่านหนังสือ เมื่ออ่านแล้วทำให้เราได้เข้าใจถึงปริบททางสังคมขณะนั้นได้มากขึ้น

ผมไม่รู้ว่ามีคนเป็นเหมือนผมหรือเปล่า แต่เวลาที่ผมซื้อหนังสือผมจะคาดหวังว่าผมจะได้อะไรจากหนังสือ เมื่อหนังสือไม่สามารถที่จะทำหรือเล่าเรื่องในสิ่งที่ผมคาดหวังได้ ผมก็จะพาลไม่ชอบมันไปดื้อๆ แต่ถ้าหนังสือนั้นทำในสิ่งที่ผมคิดไว้แล้ว ผมก็จะอ่านมันอย่างวางไม่ลง

ก่อนจะอ่านผมเองก็รู้ๆอยู่แล้วว่าในโลกเบี้ยวๆของเราใบนี้นั้น 1. การล้มล้างรัฐบาลชาติต่างๆในโลกนี้นั้นมีอยู่จริง 2. สงครามนั้นมักมีฉนวนมาจากเรื่องเศรษฐกิจเป็นส่วนมาก 

หนังสือเล่มนี้นั้นยืนยันในสิ่งที่ผมรู้ แล้วก็เล่ามาว่ามันมีที่ไหนบ้างที่เกิดจากน้ำมือของสหรัฐ แล้วก็บอกว่ามี 14 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการล้มล้างรัฐบาล

ดังนั้นนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมวางมันไม่ลง และนั่นก็คือสิ่งที่ผมต้องเตือนว่า ถ้าท่านอ่านบันทึกนี้โปรดพึงสังวรณ์ไว้หน่อยว่า ท่านกำลังตกอยู่ในห้องกรอบความคิดของผู้เขียนคือ Stephen Kinzer และ กรอบความคิดของผมที่ยืนยันสอดรับกับ Stephen Kinzer ดังนั้นมันเป็น double bias นะครับ กรุณาใช้วิจารณญาณเยอะๆครับ

เคยสงสัยไหมว่าทำไมฮาวายเป็นรัฐที่ 50 ของสหรัฐอเมริกา

ผมไม่รู้ว่าท่านอาจจะสงสัยหรือเปล่า อาจจะสงสัยแต่ไม่เคยคิดก็ได้ว่า ทำไมฮาวายอยู่ห่างจากชายฝั่งของทวีปอเมริกาตั้งไกล ทำไมอยู่ดีๆมันมาเป็นรัฐที่ 50 ของอเมริกา หนังสือเล่มนี้ให้คำตอบที่บทแรกเลยครับ

จริงๆแล้วนี่แต่ก่อนฮาวายนั้นปกครองโดยระบอบกษัตริย์ แต่ก็มีคนขาว (คนยุโรปและคนอเมริกา) เป็นคณะรัฐมนตรี คอยให้คำปรึกษา เรื่องของเรื่องมันก็ไม่น่าจะมีอะไรใช่ไหมครับ

แต่อยู่ๆเมื่อช่วง 1850s ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นขึ้นภาษีอ้อยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของฮาวาย ทำให้ประเทศต่างๆที่จะส่งอ้อยเข้าไปขายในอเมริกานั้นเจอกำแพงภาษีมหาโหดขึ้น แล้วฮาวายตอนนั้นก็ไม่ได้ขึ้นกับสหรัฐซักหน่อย ก็โดนภาษีอานสิครับ และนี่แหละครับคือต้นเรื่องของการล้มล้างรัฐบาล

ในช่วงแรกๆนั้นเรื่องการจะไปยึดดินแดนชาวบ้านของอเมริกานั้น คนอเมริกายังรับไม่ค่อยได้ครับ เพราะว่า Founding fathers (คนที่ร่วมปฏิวัติอเมริกา และคนที่ร่วมลงชื่อในคำประกาศอิสรภาพ) นั้นวางรากฐานที่สำคัญไว้ว่า ชาติยูโรปเนี่ยไม่ต้องมายุ่งเรื่องอเมริกาเลยนะ ถ้ายุ่งเมื่อไรนะ มีเรื่อง คำประกาศนี้แหละครับเรียกว่า Monroe Doctrine

และด้วย Monroe Doctrine  นี่แหละครับ ที่ให้ตอนเริ่มแรกที่จะมีการล้มล้างราชวงศ์ที่ครองเกาะฮาวายนั้น ประธานาธิบดี Glover Cleveland พอรู้เรื่อง ก็เลยสั่งสอบสวนซะยกใหญ่ ไม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ทำให้เรื่องการรวมฮาวายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกานั้นซาลงไป พักใหญ่ทีเดียว แต่พอเลือกตั้งครั้งที่สอง Cleveland นั้นไม่ได้เป็นประธานาธิบดีครับ แพ้ให้กับ Harrison  แต่แพ้แบบ Al Gore แพ้ Bush นะครับ คือ ชนะ popular vote (คะแนนดิบ) แต่แพ้ electoral vote (คะแนนจัดตั้ง) เรื่องมันก็เลยเริ่มกระพือขึ้นมา

จนกระทั่งสมัย ประธานาธิบดี Ulysses Grant คนขายอ้อยของฮาวายนั้นคงทนไม่ไหว ก็มาคุยกับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐว่า ขอแลกกับการตั้งฐานทัพบนเกาะฮาวาย ให้ฮาวายนั้นเป็นรัฐอารักขาในสหรัฐ แต่แลกกับการส่งอ้อยเข้าไปขายที่อเมริกาแบบไม่เสียภาษีนะ แล้วก็มีการเซ็นสัญญากันเรียบร้อยโดยพระราชาของฮาวาย ให้ทำสัญญาไป 8 ปี

แต่พอหมด 8 ปี ก็ต้องต่อสัญญาใหม่ เรื่องมันน่าจะไปได้ด้วยดี ถ้าอยู่ๆพระราชาที่เป็นที่ชื่นชอบของคนขาวไม่สวรรคตไปซะก่อน ทำให้น้องสาวของพระราชานั้นได้ขึ้นครองราชย์แทน

Queen Liliuokalani (น้องสาว) นั้นทรงเป็นหัวพวกปฏิรูป และต้องการที่จะให้คนฮาวายนั้นมีสิทธิมีเสียง เพราะตอนที่ทรงขึ้นครองราชย์ใหม่เสียงนั้นมีแต่คนขาวเท่านั้นที่ออกได้ นอกนั้นไม่มีสิทธิทั้งชาวเกาะดั้งเดิม และกุลีจากจีนและญี่ปุ่น (เข้ามาทำไร่อ้อย)

แค่นั้นแหละครับ แค่พระราชินีได้ทรงมีพระดำริแค่นั้น การล้มล้างรัฐบาลของพระองค์ก็เกิดขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรีที่เสียประโยชน์นั้นไม่พอใจและก็ไม่ติดต่อกับกงสุลสหรัฐในฮาวาน เพื่อขอให้นำทหารและสหรัฐมาสนับสนุนการล้มล้างพระราชินี

และแล้วนี่ก็คือก้าวแรกครับของการล้มล้างรัฐบาลของชาติอื่นๆโดยรัฐบาลสหรัฐ เรื่องล้มล้างครั้งนี้เกิดในยุคประธานาธิบดี McKinley ครับ

ทำไมคาสโตรเกลียดอเมริกาหัวปักหัวปำ

คำถามที่สองคือทำไมคาสโตรต้องไม่ชอบอเมริกาด้วยทั้งๆที่ตัวคาสโตรเองก็เคยเขียนจดหมายไปหาประธานาธิบดีอเมริกาตอนที่ตัวเองยังเด็ก (ได้รับจดหมายตอบกลับมาด้วยนะครับ)

แต่คนทั่วๆไปอย่างเราๆ ก็คงได้แค่คิดใช่ไหมครับ แต่เรื่องนี้นั้นต้องเท้าความไปยาวครับ ไปตั้งแต่สมัยที่คิวบายังอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนเลยทีเดียว

สมัยที่คิวบายังอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนนั้น ได้พยายามเรียกร้องอิสรภาพขึ้นมาในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ช่วงนั้นพวกเรียกร้องอิสรภาพนั้นได้เปรียบรัฐบาลสเปนแทบทุกอย่างเรียกว่าสเปนเองก็ตั้งใจจะยอมอยู่แล้ว แต่อเมริกาเองก็อยากมีเอี่ยวอยู่ลึก 

แล้วอเมริกาก็ได้โอกาสเมื่ออยู่ดีๆ เรือรบตัวเองนะไประเบิดที่อ่าวฮาวานาของคิวบาขึ้น แล้วก็บอกว่านี่แหละฝีมือพวกสเปน ตัวเองก็ประกาศ Spainish American War ขึ้นมา แล้วก็จู่โจมเรือรบสเปนที่ฟิลิปปินส์

ทั้งๆที่จริงๆแล้วตอนนั้นสเปนก็จะให้คิวบาปกครองตัวเองอยู่แล้ว  เรื่องของเรื่องมันก็น่าจะจบด้วยดีใช่ไหมครับ แต่แล้วอยู่ดีๆ อเมริกาก็บอกว่า เนี่ยพวกคิวบานะไม่ได้รบอะไรเลย จริงๆแล้วทหารอเมริกานะรบคนเดียว เลยบอกว่าไม่ต้องหรอกอิสรภาพนะ เดี๋ยวอเมริกาปกครองเอง ทั้งๆที่พวกคิวบานะเขารบก่อนที่อเมริกาจะเข้ามาตั้งหลายสิบปีแล้วครับ แล้วมาโดนแบบนี้จะไม่ให้เขาเสียใจหรือน้อยใจได้ไง

แค่นี้ยังไม่พอนะครับ พอให้อิสรภาพก็มีประธานาธิบดีหุ่นเชิดที่รับคำสั่งตรงมาจากรัฐบาลวอชิงตันอีก แถมตอนคาสโตรเป็นหนุ่มๆจะไปสมัครชิงวุฒิสมาชิก อยู่ๆประธานาธิบดีหุ่นเชิดของอเมริกา ก็บอกไม่เอาอ่ะ ไม่ต้องมีหรอกวุฒิสมาชิกไม่ให้เลือก แล้วจะไม่ให้คาสโตรแค้นหรอครับ คาสโตรตั้งแต่นั้นมาก็เลยไปเข้าข้างรัสเซียขายอ้อยแลกน้ำมันโซเวียตไปเลย

นอกจากคิวบาแล้วก็ยังมีเปอร์โตริโกอีกด้วยที่อยู่ๆอเมริกานั้นก็ไปยึดเขางั้นแหละ โดยอาศัยจังหวะเดียวกับที่ยึดคิวบานั่นแหละครับ

ปานามา โคลัมเบีย นิคารากัว

ในช่วงที่ ประธานาธิบดี Teddy Roosevelt เป็นประธานาธิบดีนั้น อเมริกานั้นต้องการสร้างคลองเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับแอตแลนติก หรือที่เรารู้จักกันในนามของคลองปานามา ในปัจจุบันครับ

แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่าแต่ก่อนนั้นปานามาเป็นของโคลัมเบีย แล้วก็ที่ๆเขาเริ่มวางแผนจะสร้างเนี่ยคือประเทศนิคารากัว ต่างหากไม่ใช่ปานามา

อ้าวเริ่มงงแล้วใช่ไหมครับ เรื่องก็ของเรื่องก็คือว่า สหรัฐนั้นทำการศึกษาแล้วพบว่าถ้าสร้างคลองตรงประเทศนิคารากัวนั้นล่ะก็ คุ้มสุดแล้ว แต่ก็มีบริษัทมือดี ไปซื้อที่อยู่ที่ปานามาแล้วก็ไปจ้างคนมาล็อบบี้ให้รัฐบาลสหรัฐเปลี่ยนไปสร้างคลองที่ปานามาแทน

แล้วก็ล็อบบี้ได้ผล เพราะว่านิคารากัวนั้นไปจ้างบริษัทออกแบบแสตมป์ของอเมริกามาออกแบบแสตมป์ บริษัทออกแบบแสตมป์เจ้ากรรมดันไปเอารูปภูเขาไฟมาแปะไว้ครับ แล้วช่วงโวตสร้างคลองนั้น ดั้นโชคร้ายสองเด้งมีภูเขาไฟระเบิดซะด้วย คนล็อบบี้เลยสบช่องโม้เข้าไปใหญ่ว่า จะไปสร้างในนิคารากัวได้ไง ภูเขาไฟหราอยู่บนแสตมป์

ทั้งๆที่ไอ้ที่เกิดเหตุก็ไม่ได้ใกล้กับที่จะสร้างคลองเลย แล้วภูเขาไฟที่เขาเอารูปมาแปะนั้นก็ไม่ระเบิดมา 400 ปีแล้ว

แต่คอนเกรสก็ขี้กลัวครับ เลือกไปสร้างคลองที่ปานามาแทน และนี่แหละครับที่มีคำว่า Roosevelt Corollary เกิดขึ้น เมื่อ Roosevelt บอกว่า อเมริกาจะไปยุ่งกับชาติอื่นๆได้ตามที่เห็นสมควร และคำนี้นี่แหละครับที่เปลี่ยมโฉมหน้านโยบายต่างประเทศสหรัฐแทบจะสิ้นเชิง

แต่ปานามาตอนนั้นไม่มีประเทศครับ มีแต่โคลัมเบีย อเมริกาจะทำยังไง ในเมื่อตัวเองก็ไม่เคยทำมาก่อน มองซ้ายมองขวา ก็ใช้โมเดลที่ทำกับฮาวายมาใช้ครับ คือบอกว่าเนี่ยคนต้องการแยกประเทศจากโคลัมเบีย แล้วก็ส่งทหารเข้าไป โคลัมเบียจะทำอะไรได้ครับ นอกจากมองตาปริบๆ

ส่วนตัวประเทศที่จะเป็นคลองแต่เดิมคือนิคารากัวนั้น ไม่มีคลองก็ไม่เป็นไรครับ ประธานาธิบดีนิคารากัวได้ไปขอยืมเงินจากยุโรปมาสร้างรางรถไฟแบบ coast to coast แทน แต่อเมริกาไม่พอใจครับ ก็แหม ไม่ได้กำไรนี่ ก็ส่งทูตไปอยู่นิคารากัว แล้วให้ปล่อยข่าวว่า ประธานาธิบดีนะ ไม่ได้เรื่อง ปกครองไม่ดีทารุณ

มันก็เลยทำให้เกิดกบฏขึ้นมา ทั้งๆที่จริงๆแล้วประธานาธิบดีคนนี้นะดีมาก ประธานาธิบดีอเมริกาหลายคนก็ชม แต่ไม่กี่ปีก็กลายเป็นผู้ร้ายซะแล้ว แถมยังมีการส่งคนอเมริกาไปช่วยกบฏเข้าไปอีก แต่คนอเมริกาที่ไปเป็นกบฏที่นิคารากัวนั้นโดนรัฐบาลจับได้แล้วก็ถูกคำสั่งประหารชีวิต แค่นั้นแหละครับ นิคารากัวก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ถูกอเมริกาส่งทหารเข้ามายึด แต่เข้ามายึดไม่ได้เข้ามายึดเปล่านะครับ

วิธีการยึดนี่ไฉไลมาก เพราะพอทหารอเมริกาเข้ามาที่ที่กบฏอยู่เยอะแล้วก็บอกว่า เออนี่เราเข้ามาปกป้องคนอเมริกา เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นเขต neutral zone อ้าว แล้วจะให้ยิงยังไงล่ะ ยิงไม่ได้ แต่ถ้าอเมริกาจะยิงไม่เป็นไรนะ เพราะว่าคนอเมริกาไม่ได้อยู่ตรงที่ทหารรัฐบาลอยู่ ดังนั้นยิงได้ ประธานาธิบดีนิคารากัวนั้นเห็นว่า อยู่ไปก็จะทำให้ประเทศกลียุคเปล่าๆ ก็เสียสละลาออกแล้วลี้ภัย แล้วนิคารากัวก็มีประธานาธิบดีหุ่นเชิดของอเมริกาอีกแห่ง

โดยที่ Stepehn Kinzer บอกว่าที่นิคารากัวนี่แหละครับ ครั้งแรกที่รัฐบาลอเมริกาล้มล้างรัฐบาลชาวบ้านทำเองกับมือ

Honduras

ในภาคแรกหนังสือจบลงตรงที่ประเทศฮอนดูรัส ถ้าได้อ่านเรื่องนิคารากัวว่าช็อคแล้ว เรื่องฮอนดูรัสช็อคกว่าอีกครับ เมื่ออยู่ดีๆพ่อค้าชาวอเมริกัน เจ้าของไร่กล้วยในฮอนดูรัส ไม่พอใจที่จะต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลฮอนดูรัส และไม่พอใจที่รัฐบาลนั้นกำหนดการถือครองกรรมสิทธิ์มากที่สุดให้ชาวต่างชาติ นักธุรกิจใหญ่ที่ชื่อว่า Sam Zemurray ก็เลยวางแผนล้มล้างรัฐบาลเองซะเลย โดยไปหาประธานาธิบดีเก่าของฮอนดูรัสมาคนหนึ่งแล้วก็จ้างซีไอเอเก่ามาอีกคนมาทำการลัมรัฐบาล

เรื่องการวางแผนจะล้มรัฐบาลนั้น พวกสายลับในอเมริกาก็รู้ครับ แต่ก็ไม่ทำอะไรมาก เหตุผลก็เพราะว่าช่วงนั้นรัฐบาลฮอนดูรัสนั้นไปยืมเงินยุโรปมาเยอะไม่สนแบงค์อเมริกาเลย รัฐบาลสหรัฐเลยยื่นคำขาดบอกว่า นี่ต้องมายืมเงินจาก J P Morgan นะ 30 ล้านเหรียญ เอาไปเลย แต่แลกกับการจัดการภาษีศุลกากร กับการคลังของฮอนดูรัสนะเผื่อเบี้ยว

ตอนนั้นเรือรบรับจ้างมารออยู่หน้าบ้านแล้วครับ รัฐบาลฮอนดูรัสก็ยอม แต่สภาไม่ยอมครับ รัฐบาลสหรัฐก็เลยสนับสนุนกบฏ เข้าไปยึดฮอนดูรัสซะเลย

สรุป

ตอนนี้ว่าด้วยการล้มล้างรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาในยุคจักรวรรดินิยม คือช่วงปี 1893-1911 ซึ่งหลักใหญ่ใจความของตอนนี้นั้นเป็นการล้มล้างเพื่อให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรของชาติต่างๆและเป็นแหล่งระบายสินค้าให้กับประเทศสหรัฐครับ

จริงๆแล้วสหรัฐนั้นก็ใช้นโยบายเรือปืนนำการค้ามาแล้วไม่ว่าจะกลับญี่ปุ่นหรือเกาหลีมาก่อนแล้วทั้งนั้น แต่แค่ไม่เคยไปล้มรัฐบาล

แล้วอะไรเป็นเหตุผลหลักๆที่ทำให้สหรัฐนั้นชอบไปเจ้ากี้เจ้าการเรื่องชาวบ้าน Stephen Kinzer ได้ยกเอาข้อความหนึ่งที่พูดโดยรัฐมนตรีการสงคราม Elihu Root เมื่อปี 1906 ที่ว่า

"Police surrounding premises" หรือการดูแลพื้นที่ปกครองรอบๆ

แต่ไอ้การปกครองและดูแลพื้นที่รอบๆนี่แหละครับ มันมาจากความเชื่อสองอย่างครับ

  1. เพราะต้องการทำให้อเมริกามีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น
  2. เพราะต้องการเข้าไปพัฒนาคนล้าหลังทั้งหลาย

เพราะลึกๆแล้วคนอเมริกาคิดว่าตัวเองนั้นเป็นคนดี เข้าไปเพื่อต้องการไปปลดปล่อย ไปให้เขาเรียนรู้ประชาธิปไตย ไปเพื่อนำความเจริญมาสู่ชาติล้าหลังอย่างคิวบา นิคารากัว ทั้งๆที่ตอนนั้นประเทศเหล่านั้นพัฒนาไปด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังนั้น Stephen Kinzer นั้นบอกว่า ดีไม่ดีไอ้ที่เข้าไปอ่ะ ทำให้เรื่องมันเยอะขี้นปัญหามันมากขึ้นด้วยซ้ำ เช่นฐานทัพเรืออ่าวซูบิคที่ฟิลิปปินส์ ก็ทำให้คนฟิลิปปินส์นั้นไม่ชอบใจอเมริกามากเท่าไร หรืออย่างคาสโตรที่เรียกว่าไม่เผาผีกับอเมริกา

และที่สำคัญครับ Stephen Kinzer บอกว่าถ้านับดูดีๆ จะเห็นว่า เรื่องมันเกี่ยวกับเศรษฐกิจทั้งหมด

เช่นการรวมเอาฮาวายเข้ามา ก็เพราะว่ามันเป็นประตูการค้าสู่เอเชียตะวันออก

การไปยึดเปอโตริโก ก็เพราะว่าต้องการรักษาทางเดินเรือทางการค้าเอาไว้

ส่วนนิคารากัวกับฮอนดูรัส ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทอเมริกา

นี่คือก้าวแรกที่ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกานั้นผงาดขึ้นมาและทำให้คนในโลกเห็นถึงสัจธรรม 2 อย่าง ตามความเห็นของ Stephen Kinzer

  1. ประธานาธิบดีสหรัฐนั้นอำนาจล้นเหลือ ทำอะไรก็ได้
  2. คนอเมริกาไม่สนใจความเห็นของคนชาติอื่นๆเลย

อ่านถึงตรงนี้แล้วเราก็คงจะเข้าไปอะไรหลายๆอย่างในชาติยักษ์ใหญ่ใช่ไหมครับ นี่แหละครับคือสิ่งที่ผมอยากบอก เราจำเป็นต้องรู้เรื่องชาติยักษ์ใหญ่ให้เยอะๆครับ เพราะผลกระทบของเขานั้นมีมากจริงๆ

เราในฐานะประเทศเล็ก ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ และพยายามหาทางที่จะอยู่ในสังคมโลกให้ได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข

ตอนหน้าจะเป็นเรื่องปฏิบัติการลับของซีไอเอ ในการล้มล้างรัฐบาลชาติต่างๆในช่วงสงครามเย็นคุกรุ่นครับ

หมายเลขบันทึก: 87839เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2007 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

กำลังรออ่านต่อค่ะ 

ไม่แปลกใจเลยที่เหตุผลทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยหลักของทุกๆเรื่อง ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหน กิเลสคนเราก็ไม่เคยเปลี่ยน

 

สวัสดีครับคุณเอ๋

การเมืองกับเศรษฐกิจดูค่อนข้างจะคาบเกี่ยวกับเสมอครับ

ตัว Stephen Kinzer เองก็บอกว่า เพราะว่าพวกนักการเมืองอเมริกานั้นเชื่อว่าการขยายอำนาจตัวเองออกไปนั้น ทำให้หาตลาดได้มากขึ้นและทำให้สามารถที่จะทำลาย วงจรของ depression ได้ครับ

ขอบคุณมากครับที่ได้กรุณาติดตาม

พี่เบิ้มแกบ้าพลังครับ แต่ตอนนี้ชักหวั่นๆจรวดจากอิหร่านไปเหมือนกัน เลยชักลังเล 555+ งานนี้ต้องรอดูต่อไป

  ขอบคุณพี่ต้นที่เล่าได้ยาวดีมาก สมกับที่มีคนยกให้เป็น blogger ในดวงใจ ฐานที่มีความอดทนในการเล่าเรื่องยากๆและยาวได้อย่างยอดเยี่ยม

สวัสดีครับคุณน้องเดอ

ถ้าถามผม ผมยังไม่คิดว่าอเมริกาจะผลีผลามเข้าไปลุยกับอิหร่านนะครับ เพราะว่าถ้าเข้าไปลุยจริงๆนั้น มันต้องใช้เงินมากครับ แถม congress นั้นก็ร่ำๆจะถอนทหารออกจากอิรัก แล้วอยู่ๆจะให้เข้าไปในอิหร่านมันก็คงจะไม่สวยนะครับ

ขอบคุณครับสำหรับเรื่องที่อาจารย์wwibul ยกให้เป็นบล็อกเกอร์ในดวงใจ จริงๆแล้วอาจารย์ท่านให้เกียรติผมเกินไปครับ

ผมแค่คนที่อ่านหนังสือแล้วจำเขาเอามาเล่าให้ฟังเท่านั้นเองครับ ถ้าจะชม คงไปชมคนเขียนหนังสือที่ผมหยิบมาเล่าน่าจะดีกว่าครับ

แต่ขอบคุณน้องเดอมากนะครับที่เข้ามาเยี่ยมชม

คุณ P ไปอ่านหนังสือ สรุปภาพรวมได้ดีมากเลยนะคะ ได้รายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องประวัติศาสตร์ดีค่ะ แต่เรื่องอเมริกันทำตัวเป็น world police แต่จริงๆ แล้วมีผลประโยชน์แอบแฝงนี้ คิดสรุปไว้เองแล้วตอนเห็นการเกิด gulf war ซึ่งคาดว่าหนังสือคงจะมีกล่าวถึงด้วยใช่ไหมคะ จะรออ่านค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ ดร. กมลวัลย์ ลือประเสริฐ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่ได้กรุณาสละเวลาอ่านครับ

ผมว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือน confirmation trap สำหรับคนที่มองประเทศสหรัฐอเมริกาในแง่ร้ายนะครับ (ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่ง)

หนังสือนั้นมีพูดถึงสงครามอิรักครับอาจารย์ แต่ผมก็ยังอ่านไปไม่ถึงเหมือนกันครับ :D

 

P

 ยกกรณี อ้อย มา ๒ ครั้ง คือ

  • ประธานาธิบดี Ulysses Grant คนขายอ้อยของฮาวายนั้นคงทนไม่ไหว ....
  • คาสโตรตั้งแต่นั้นมาก็เลยไปเข้าข้างรัสเซียขายอ้อยแลกน้ำมันโซเวียตไปเลย

จึงสงสัยว่า เค้าเอา อ้อย ไปทำน้ำตาลอย่างเดียวหรือ ? เค้าผลิตไม่ได้หรือ ? ความสำคัญของอ้อย ?....

เจริญพร

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจของทั้งฮาวายและคิวบาทั้งสองกรณีครับ ตอนสมัย Grant เป็นประธานาธิบดีนั้น ก็ร้อยกว่าปีมาแล้วครับ 

เรื่องอ้อยเอาไปทำอะไรได้บ้างนอกเหนือจากน้ำตาล อันนี้กระผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ เพราะว่าในหนังสือไม่ได้เขียน

"เค้า" ถ้าหมายถึงสหรัฐ สหรัฐผลิตได้ครับ แต่ว่าไม่มีคนผลิตมากนัก อีกทั้งคนที่ไปลงทุนผลิตที่ฮาวายนั้นเป็นนักธุรกิจใหญ่และมีการรวมตัวกันอย่างแข็งแรงครับ ทำให้มีอำนาจการต่อรองที่สูง

ถ้าจะถามว่าอ้อยสำคัญอย่างไร อ้อยก็เหมือนข้าวเมืองไทยครับ คือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของเกาะนั้นๆในตอนนั้น

แต่เรื่องนี้นั้น มันเป็นแค่ข้ออ้าง เป็นตัวจุดประเด็นเท่านั้นครับ

ส่วนเรื่องคิวบากับโซเวียตนั้น เรื่องนี้เป็นเพราะสมัยนั้นโซเวียตเป็นพี่ใหญ่ในค่ายคอมมิวนิสต์ครับ แล้วคิวบาก็ทำอะไรไม่เป็นนอกจากทำไร่อ้อยกับขายซิการ์  คิวบาก็เลยต้องพึ่งพาสินค้าจำเป็นโดยการแลกสินค้ากับโซเวียตครับ (อันนี้อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งก็ได้ที่ทำให้โซเวียต ล่มสลายเพราะว่านอกจากคนของตัวเอง ไม่มีจะกินแล้ว ยังต้องมาดูแลบริวารด้วย)

หวังว่าคงตอบคำถามพระคุณเจ้าได้กระจ่างนะครับ

กราบนมัสการมาด้วยความเคารพอย่างยิ่งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท