Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ผลกระทบของสื่อต่อสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย หรือเรียกโดยย่อว่า “โครงการเด็กและสื่อ” : ความในใจของคณะนักวิจัย


ผู้ศึกษาประสงค์จะบันทึก “ประสบการณ์ในการแสวงหาข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับเด็กและสื่อ ซึ่งสื่อในสังคมไทยก็อาจจะมีการกระทำที่ส่งผลกระทบทั้งดีและไม่ดีต่อเด็ก ตลอดจนครอบครัวของเด็ก องค์ความรู้ที่ประสงค์จะหยิบยกมานี้จึงเป็นของญานวิทยา และผลต่อมา ก็คือ “องค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อเพื่อสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย” ที่ได้ค้นพบ ซึ่งเป็นองค์ความรู้เชิงอภิปรัชญา ....แต่การศึกษาถึงสื่อเพื่อสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย (ซึ่งต่อไปจะเรียกเพียงสั้นๆ ว่า “สื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน” นั้น) ในงานวิจัยฉบับนี้ยังไกลจากคำว่า “เสร็จแล้ว” หากเปรียบเป็นการก่อสร้างตึกสัก ๑ หลัง สิ่งที่เราทำในขณะนี้ ก็เพียงการศึกษาพื้นที่เพื่อที่จะ “เขียนแบบพิมพ์เขียว” เพื่อสร้างตึก

         รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อสรุปการทำงานวิจัยและพัฒนาในช่วงเวลา ๑๒ เดือน (๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘) ภายใต้ โครงการวิจัยผลกระทบของสื่อต่อสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย หรือเรียกโดยย่อว่า โครงการเด็กและสื่อ        

          โครงการเด็กและสื่อมิใช่งานวิจัยเกี่ยวกับสื่องานแรกของเรา แม้จะเคยศึกษาสื่อมาบ้าง แต่ก็เป็นการศึกษาถึงผลกระทบของสื่อต่อสังคมมนุษย์ และเป็นการศึกษาถึงบทบาทของกฎหมายที่เป็นอยู่ว่าด้วยสื่อ รวมตลอดถึงกฎหมายที่ควรจะเป็นในความสัมพันธ์กับสื่อ          

           เราไม่เคยคิดจะมาทำงานเป็นสื่อมวลชน เพราะเรานั้นไม่มีทั้งความเชี่ยวชาญและความรอบรู้ในนิเทศศาสตร์มากนัก          

            แต่แล้วเราก็เปลี่ยนใจ เราเห็นความจำเป็นที่จะผลิตสื่อเป็นแล้วล่ะ ทำไมล่ะหรือ ?         

            ในวันแรกๆ ที่ออกจากมุมเล็กๆ ของงานสอนในคณะนิติศาสตร์มาทำงานเพื่อสังคม  เราไม่ค่อยชอบพูดกับสื่อ เราพูดกับสื่อไม่รู้เรือง เราไม่เข้าใจว่า ทำไมสื่อจึงสนใจแต่จะขยายผลเรื่องร้ายๆ ของมนุษย์ โดยไม่เสนอการแก้ไขในแก่ปัญหา ดูเหมือนว่า ข่าวเป็นเพียงสินค้าที่ต้องผลิตเพื่อขายต่อลูกค้า         

             ท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ทำให้เราเปลี่ยนความคิด หลังจากการทำงานวิจัยฉบับที่ ๓ ซึ่งสนับสนุนโดย สกว. ท่านอาจารย์วิจารณ์ได้ให้บริษัททำสื่อแห่งหนึ่งมาศึกษางานวิจัยของเรา ซึ่งแน่นอน เนื้อหาของงานเป็นเรื่องความไร้รัฐและความไร้สัญชาติของบุคคลบนพื้นที่สูง ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำไปทำเป็นรายงานข่าวทางโทรทัศน์ชื่อ รากแก้วแห่งปัญญา ช่อง ๙ และจะออกในเวลา Prime Time ถึง ๓ ตอนติดต่อกัน ตอนละ ๔๕ นาที         

               เพื่อที่จะทำรายการข่าวนี้ ทีมนักข่าวต้องมาอ่านงานของเรา และต้องมาพูดคุยกับเรา และเราต้องไปเป็นตัวละครให้สำหรับการถ่ายทำข่าว ซึ่งเป็นการทำข่าวในสถานการณ์จริง ทีมนักวิจัยชุดใหญ่ของเรา ระดมพล และนักข่าวต้องเดินทางไปทำงานจริงๆ กับชาวบ้านที่อำเภอสวนผึ้งราชบุรีให้ช่างภาพได้ถ่ายภาพการทำงานของเรา น้องตุ้งติ้ง นักข่าวที่รับผิดชอบการทำรายงานข่าวเดินทางไปในทุกสถานการณ์เด่นๆ ที่เป็นกรณีศึกษาในงานวิจัย        

           ผลของรายการโทรทัศน์รากแก้วแห่งปัญญาได้ก่อให้เกิดกระแสความรับรู้และความเข้าใจในสังคมอย่างมากมาย มีคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติจำนวนมากมายพยายามที่จะเดินทางมาหาเรา มาพูดคุยกับเรา ขอคำแนะนำ ขอวิงวอนที่จะเป็นกรณีศึกษาของเรา มีนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาหลายท่านที่ตัดสินใจเข้าต่อยอดงานวิจัยของเรา       

               ที่สำคัญ ก็คือ มีนักข่าวอีกหลายสาขาตามเข้ามาสนใจกระแสข่าวครั้งนี้ด้วย มีรายงานข่าว มีการสัมภาษณ์อีกหลายครั้ง        

               เราสรุปประสบการณ์ได้ว่า ในนักข่าว ก็มีคนหลายลักษณะ ทั้งที่ดีทั้งที่ไม่ดี มีอยู่ไม่น้อยที่สุกเอาเผากินในการทำข่าว ไร้ใจไร้ความรับผิดชอบ แต่ก็มีไม่น้อยที่เต็มไปด้วยอุดมคติทางวิชาการและหลงรักในมนุษยชาติ หัวใจเต็มไปด้วยความกรุณาและเมตตาต่อผู้ยากไร้ สื่อมวลชนก็คือมนุษย์ มีความหลากหลาย เราคงต้องสื่อที่จะใช้ชีวิตกับคนเผ่าพันธุ์นี้ เหมือนที่เราต้องทำใจกับสังคมมนุษย์ในวันนี้       

               เราต่างหากที่ต้องทำวิจัยให้มีคุณภาพที่ดีที่สุด เพื่อให้ มนุษย์ แม้คนเดียวที่เป็นนักข่าวเข้าใจ สื่อเป็นมนุษย์ โดยธรรมชาติของมนุษย์ พวกเขาเข้าใจได้ในความถูกต้องและความที่ควรจะเป็นเพื่อเยียวยาความเลวร้ายที่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อมนุษย์นั้นทำงานเป็นข่าว ข่าวของเขาที่ส่งถึงสาธารณชนด้วยพลังของการสื่อสารมวลชน จึงทำให้สังคมบังเกิดความเข้าใจในปัญหาและทางแก้ไขที่เราได้เสนอแนะไว้ในงานวิจัย กระบวนการสื่อสารสาธารณะจึงเป็นเสมือน กระบวนการยุติธรรมทางธรรมชาติ นักข่าวจึงเป็นเสมือน อัยการหรือตำรวจตามธรรมชาติ ที่จะฟ้องผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อศาล ซึ่งทำหน้าที่สาธารณะชนเองเลย        

             เรามีปัญหาอย่างมากที่จะต้องก้าวข้าม เราเรียนรู้จากบทเรียนที่อาจารย์วิจารณ์สอนเรา เราจะทำเรื่องสื่อ  เราจะต้องเรียนรู้ที่จะเอา ผลการวิจัย ไปเสนอต่อสังคมผ่าน พื้นที่สื่อ ถ้างานวิจัยของเราถูกนำเสนอโดยสื่อ กระบวนการยุติธรรมตามธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นแก่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิในสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนซึ่งเรานำมาเป็นกรณีศึกษา       

               เราอาจจะมีประสบการณ์มากกว่าในเรื่องสื่ออินเทอร์เน็ต แต่เราไม่มีประสบการณ์เลยเกี่ยวกับสื่อด้านอื่น เราไม่มีเครือข่ายเชิงลึกเลย เราเริ่มต้นจาก 0        

                เพื่อที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้นิเทศศาสตร์ ดิฉันจึงนำความไปหารือ ร.ศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ซึ่งท่านผู้นี้ก็แนะนำให้ไปชักชวน ผศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มาร่วมในประชาคมวิจัย       

               นอกจากนั้น ดิฉันร้องเรียกให้คุณสมา โกมลสิงห์ และคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ สองน้องชายที่รักมาช่วยคิด  ทั้งคู่ก็เป็นคนที่เก่งงานด้านสื่อเพื่อสังคม  คราวนี้ ก็สนุกล่ะซิ เทสมองร่วมกัน แล้วยังมีน้องปุย วิลาสินีมาช่วยคิดอะไรใหม่ๆ สนุกทีเดียวเมื่อเราประชุมกัน แต่ละหนที่เราคุยกัน เราคิดถึงงานสื่อเพื่อเด็กในแม่ที่กว้างและลึก        

              หลายสิ่งที่เราคิดได้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นต้นมา ในส่วนของการจัดการสื่อทางลบต่อสังคมบนอินเทอร์เน็ตก็ได้กลายเป็นกิจการของโครงการศึกษาสื่อลามก ซึ่งดูแลโดยอาจารย์สังสิต พิริยะรังสรรค์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และในส่วนของการจัดการสื่อทางบวก ก็กลายไปเป็นกิจการของโครงการ TV4Kids ซึ่งดูแลโดยคุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม (ฯพณฯ นายจาตุรน ฉายแสง) เป้าหมายของงานของ TV4Kids นั้น เป็นการผลักดันให้โทรทัศน์ออกมาทำหน้าที่เป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว  และมีอาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์เป็นหัวหน้าทีมวิจัยในโครงการ TV4Kids และโครงการวิจัยเรื่องสื่อโครงการนี้ก็เป็นความประทับใจที่ดีของเรา เพราะเป็นงานวิจัยที่ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม และที่สำคัญมีสื่อมวลชนเข้ามาร่วมการวิจัยในเชิงลึก ในฐานะของที่ปรึกษาการวิจัย ผู้บริหารโครงการวิจัย และเป็นนักวิจัย สื่อที่เข้าร่วมเป็นทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางหลัก เป็นงานวิจัยเพื่อสังคมและโดยสังคมอย่างแท้จริง แต่งานวิจัยเรื่องนี้มุ่งเป้าที่จะศึกษาถึง แนวคิดและวิธีการใช้สื่อโทรทัศน์ เป็นพื้นที่ที่สร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวเท่านั้น        

              แต่โดยพิจารณาถึงสถานการณ์ใน พ.ศ.๒๕๔๗  ยังมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษา แนวคิดและวิธีการใช้ประโยชน์สื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในแง่มุมอื่นอีกด้วย ? และนอกจากนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับตัวสื่อเพื่อเด็กและครอบครัว เอง ซึ่งประการหลัง ยังแทบจะไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้        

              เมื่อคุณหมอชูชัย ศุภวงศ์ หารือที่จะทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับ เด็ก เยาวชน และครอบครัว เราจึงเสนอที่จะทำงานใน ๔ เรืองที่น่าจะจำเป็นต่อสังคมไทยในช่วงเวลานี้ ก็คือ (๑) การปรากฏตัวของแนวคิดเรื่องสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย (๒) แนวคิดและวิธีการจัดการสื่อทางเพศในประเทศไทย (๓) แนวคิดและวิธีการจัดการสื่อเกมคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย และ (๔) แนวคิดและการจัดการปัญหาการล่อลวงทางอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการกำหนดงบประมาณการทำงาน ก็ไม่อาจทำได้ทั้ง ๔ เรื่อง จึงต้องเลิกทำเพียง ๓ เรื่องแรก และให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องแรกมากกว่า ๒ เรื่องหลัง        

              กำหนดการทำงานภายใต้โครงการเด็กและสื่อมีเพียง ๑ ปี ในระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๗ ๒๕๔๘ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดนั้น กว่าที่จะเริ่มทำงานภายใต้โครงการได้จริงก็มีความล่าช้าอย่างมาก และในระหว่างการทำงาน ผู้ร่วมงานหลายทางก็มีภารกิจสำคัญที่แทรกเข้ามาจนไม่อาจทำงานตามที่กำหนดในโครงการเด็กและสื่อจนเสร็จสิ้น คุณชลฤทัย แก้วรุ่งเรื่อง ผู้จัดการโครงเด็กและสื่อก็ประสบปัญหาชีวิตที่ร้ายแรงจนต้องหยุดการทำงานไประยะหนึ่ง ผู้วิจัยหลักเองก็ต้องวางมือจากการเขียนรายงานสรุปการวิจัยเด็กและสื่อทุกหนที่มีปัญหาสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนของเด็กและครอบครัวไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย เรามีปัญหาอย่างมากที่จะหาเวลาเพื่อ เขียน สรุปโครงการ         

            ผู้เขียนใช้เวลาเขียนรายงานฉบับนี้อย่างยาวนาน และเขียนในระหว่างที่ผู้วิจัยหลักเดินทางไปให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทยทั่วประเทศไทย  มิได้นั่งเขียนบนโต๊ะทำงานที่สะดวกสบายและอบอุ่น แต่ท่ามกลางความยากลำบากทางกาย หัวใจของผู้วิจัยหลักในการทำงานเขียนฉบับนี้เป็นไปอย่างเบิกบานยิ่งนั้น เพราะความเป็นจริงเกี่ยวกับสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เขียนในรายงานฉบับนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในประเทศไทย และแม้เมื่อรายงานฉบับนี้สิ้นสุดลง งานของสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยก็ยังดำเนินการอยู่ต่อไป          

         ในวันนี้ที่เรากำลังนั่งอ่านทบทวนรายงานฉบับนี้เพื่อที่จะปิดเล่มรายงานการทำงานภายใต้โครงการนี้  เราอยู่ที่อำเภอแม่อาย เรากำลังทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแก่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในพื้นที่นี้ และเคียงข้างกับเรา มีสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่งกำลังทำงานสื่อสารสาธารณะเพื่อกระจายองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาของเรา ออกไปยังคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติกลุ่มอื่นที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับชาวบ้านแม่อาย         

              งานศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับเด็ก เยาวชน และครอบครัวยังไม่เสร็จสิ้น เราทำงานได้เพียงในบางส่วน แม้ในส่วนที่เกี่ยวกับสื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งที่เราได้ค้นพบ ก็ยังเป็นส่วนเล็กๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทย แต่เราก็ได้มีองค์การสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านสื่อที่จำเป็นและสำคัญสำหรับสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนของเด็ก เยาวชน และครอบครัว          

               ในอีกประการหนึ่งที่ใคร่ทำความเข้าใจ เราอาจจะทำให้นักวิจัยที่มีแนวคิดแบบวิธีวิจัยเชิงอนุรักษ์นิยมอาจจะผิดหวังที่ได้เห็นรายงานผลการวิจัยฉบับนี้มิได้มี ถ้อยคำ และ การอ้างอิง ในลักษณะที่ทำกันมาในอดีต เราตั้งใจให้รายงานวิจัยและพัฒนาฉบับนี้อยู่ในรูปแบบของงาน สมัยใหม่ ที่มุ่งใช้ ถ้อยคำง่าย และให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่เราได้ทำใน ห้องทดลองทางสังคม มากกว่าที่จะเน้นตำราวิชาการที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งไม่มีลักษณะร่วมอย่างหนึ่งอย่างใดกับสังคมไทย ดังนั้น การเข้าศึกษารายงานการวิจัยและพัฒนาฉบับนี้ ผู้ศึกษาควรจะต้องตระหนักว่า ผู้ศึกษาประสงค์จะบันทึก ประสบการณ์ในการแสวงหาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเด็กและสื่อ ซึ่งสื่อในสังคมไทยก็อาจจะมีการกระทำที่ส่งผลกระทบทั้งดีและไม่ดีต่อเด็ก ตลอดจนครอบครัวของเด็ก องค์ความรู้ที่ประสงค์จะหยิบยกมานี้จึงเป็นของญานวิทยา และผลต่อมา ก็คือ องค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อเพื่อสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่ได้ค้นพบ ซึ่งเป็นองค์ความรู้เชิงอภิปรัชญา          

             แต่การศึกษาถึงสื่อเพื่อสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย (ซึ่งต่อไปจะเรียกเพียงสั้นๆ ว่า สื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน นั้น) ในงานวิจัยฉบับนี้ยังไกลจากคำว่า เสร็จแล้ว หากเปรียบเป็นการก่อสร้างตึกสัก ๑ หลัง สิ่งที่เราทำในขณะนี้ ก็เพียงการศึกษาพื้นที่เพื่อที่จะ เขียนแบบพิมพ์เขียว เพื่อสร้างตึก         

               ขอบคุณทั้ง มสช. และ สสส. ที่สนับสนุนการทำงานของเรา และขอโทษที่เราอาจจะมีข้อผิดพลาดในเรื่องความล่าช้าและความไม่สมบูรณ์ที่จะเก็บสาระของงานพัฒนาขึ้นมาบันทึก เราไม่มีเจตนาจะทำความผิดพลาดเหล่านี้แต่อย่างใด มีข้อจำกัดและอุปสรรคหลายอย่างเกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินโครงนี้ จึงทำให้เกิดความล่าช้าและความไม่สมบูรณ์ดังกล่าวมา          

            นี่คือ ความในใจทั้งหมดของเราที่อยากให้ท่านทั้งหลายรับรู้       

พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร  

วันจันทร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ 

หมายเลขบันทึก: 80569เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2007 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมเองก็เคยสร้าง "คุก" มาขังตัวเองว่า ตนเองไม่ถนัดงานผลิตสื่อ กระนั้นจึงไม่น่าจะมาทำสื่ออะไรมากมาย

แต่พอมาทำวิจัย และสร้างกลุ่มเยาวชนที่มี "จิตอาสา" ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมาทำสื่อหลายหลากรูปแบบ ทั้งที่มีเทรนเนอร์มาสอนให้ และทั้งที่เป็นมวยวัด เพื่อไปถ่ายทอดกับเด็กๆอีกที

ตอนนี้ ผมได้รับการสัยสนุนจาก สกว. และ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) มาทำงานด้านสื่อในพื้นที่ นอกจากนี้ ในกลุ่มเรายังมีเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนร่วมอยู่ด้วยเป็นอันมาก เราเห็นความจำเป็นของการสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และพร้อมจะร่วมเป็นกลไกในการกระจายข้อมูลข่าวสารผ่านไปยังเด็กๆที่แม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะโซนเหนือ (ปาย ปางมะผ้า อำเภอเมือง)

 ยังไง ถ้าทางโครงการต่างๆของอาจารย์มีกิจกรรมอะไรที่สามารถจัดให้เด็กๆเข้าไปเรียนรู้ได้ไม่ยาก ได้โปรดช่วยอนุเคราะห์มาด้วยนะครับ

กำลังจะไปแม่ฮ่องสอนค่ะ ในวันที่ ๑๕ - ๑๖ มีนาคมนี้ล่ะค่ะ จะไปเยี่ยมค่ะ

รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับอาจารย์แหวว

   แต่วันที่ 16 มีนา ผมมีประชุมพัฒนาศักยภาพผู้รับผิดชอบโครงการนวัตกรรมบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เชียงใหม่ เป็นประชุมสำคัญเพื่อพัฒนานวัตกรรมสุขภาพท้องถิ่นโดยในพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบคือ หมู่บ้านถ้ำลอด (ไทใหญ่) จะมีเด็กและเยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อน กลับมา 17-19 มีนาก็จะมีค่าย "นักเขียนน้อยบนดอยสูง" ที่หมู่บ้านห้วยน้ำโป่ง (ลัวะ) ฝึกเด็กทำหนังสือทำมือ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน

     วันที่ 15 มีนา ถ้าได้พบกับอาจารย์ก็คงจะดีมาก แต่ 16 มีนานี่อยู่เชียงใหม่ครับ ถ้าไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร หากมีโอกาสดีๆ ผมคงได้มีโอกาสต้อนรับหรือไปเยี่ยมเยือนอาจารย์ในสักวัน

        

         

  • มาทักทายอาจารย์
  • อาจารย์ทำงานมากจังเลย
  • ดูแลสุขภาพบ้างนะครับ

ขอบคุณค่ะ อ.ขจิต

ทำงานช้ามังคะ งานเลยมาก

แถมใจอ่อน ใครวานอะไร ไม่ค่อยกล้าปฏิเสธค่ะ

ผมกำลังสนใจประเด็น "สื่อเพื่อสิทธิมนุษยชนในระดับท้องถิ่น" อย่างโหยกระหายมากเลยครับช่วงนี้ ไอ้ครั้นจะลงมือทำเลยก็ไม่มีฐานคิดที่กระจ่างนัก แค่รู้สึกว่า เอ่อ มันดีนะ มันดีต่อทุกคนเลย แต่ยังคิดอยู่ว่าจะมีแนวทางอย่างไรให้สามารถประคับประคองให้มันยั่งยืน นี่ก็ยังคิดอยู่นะครับ พยายามเสาะหาคนที่สามารถคุยเรื่องนี้กันได้นะครับ ก็ขอวิงวอนอาจารย์แหวว หากพอมีเวลานะครับ คือแบบว่า ผมมันเหงาทางปัญญาอยู่น่ะครับตอนนี้

ยินดีค่ะ นัดมาเลยค่ะ หรือคุยกันในโกทูโนก่อนก็ได้ค่ะ เขียนบล็อคมาคุยกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท