ขอให้ รางวัลแห่งความภูมิใจ แทนการให้ 2 ขั้นได้ไหม?


อยากให้เขาคิดว่า สิ่งเหล่านี้ มันมีคุณค่ามากกว่าการได้ 2 ขั้น

เมื่อวาน อาจารย์เสาวรัตน์ได้ขอความเห็นในที่ประชุมอาจารย์ว่า จะแบ่งโควตา 2 ขั้นกันอย่างไร  

ที่ผ่านมา หัวหน้าภาคได้แจกจ่าย สัดส่วน 2 ขั้นไปให้หน่วยต่างๆ ทั้งหมด และไม่ได้แบ่งโควต้าเป็นกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มอาจารย์  กลุ่มหัวหน้าหน่วย  รวมทั้งไม่ได้แบ่งโควต้ามาไว้ส่วนกลาง   มีหลายประเด็นที่เป็นที่มาของความคิดว่า คงต้องคุยและทำความตกลงเรื่องนี้กันสักที ว่าจะเอายังไงเช่น…

  • หัวหน้าหน่วยหลายคน ไม่เสนอตัวเอง ครั้นจะให้หัวหน้าภาคพิจารณา ก็ไม่มีโควต้ากลาง
  • อาจารย์ มีภารกิจต่างจากบุคลากรกลุ่มอื่น จะให้ประเมินรวมกัน หรือแยกจากโควต้าหน่วยหรือไม่
  • นอกจากนี้ อ.ปลื้มจิต ยังเสนอให้ภาคกันโควต้ากลางไว้ เพื่อให้กับคนที่ทำงานส่วนรวมของภาค

สำหรับข้อเสนอโควต้ากลาง  ตนเองตอบไปทันทีว่า “ไม่เอาค่ะ”

ที่ไม่เอา เพราะเคยเอามาแล้ว แต่ดูเหมือนทำให้เกิดปัญหามากกว่าเป็นการสร้างกำลังใจแก่ผู้ได้รับ (หรือเปล่า)

เมื่อปีก่อน เคยให้บางคนที่ช่วยงานภาค 2 ขั้น จากโควต้าที่เหลือโดยบังเอิญ ย้ำว่าโดยบังเอิญ ไม่ได้ไปลดโควต้าของหน่วย  

หลายคนเห็นด้วย โดยเฉพาะคนที่คนใกล้ชิดที่รู้ว่า ทำงานให้ภาค (โดยเฉพาะกับหัวหน้าภาคคนนี้) ค่อนข้างเหนื่อย ถึง เหนื่อยมาก  สมควรได้รับการพิจารณา

แต่ก็มีเสียงบ่นมาบ้างว่า ทำให้โควต้าของหน่วยลดลง (อันนี้เป็นความไม่เข้าใจมากกว่า)  นอกจากนี้ ก็มีอีกว่า คนมาช่วยงานภาค  ได้ออกนอกหน่วย  ได้มาทานกาแฟ  ได้โน่น ได้นี่  ส่วนคนที่เหลือในหน่วยงาน ต้องทำงานงกๆ   เสียงบ่นนี้ ไม่ทราบว่า ทำให้คนที่ได้รับ 2 ขั้นจากหัวหน้าภาคไป จะกลายเป็นแกะดำในหน่วยหรือเปล่า 

ทั้งหมดนี้ ทำให้ตอบอาจารย์ปลื้มจิตว่า ไม่เอาค่ะ ไม่เอาดีกว่า

อยากให้คนที่มาช่วยงานภาค  มาช่วยด้วยใจ  เห็นว่าเป็นงานที่ช่วยได้  เป็นงานที่เป็นประโยชน์ส่วนรวม เป็นการทำความดีอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะเหนื่อย และอาจต้องใช้เวลาส่วนตัวบ้าง

รางวัลที่ได้รับ อยากให้เขาเหล่านี้คิดว่า  คือความภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์ส่วนรวม  ความสุขที่ได้พบปะกับเพื่อนร่วมภาคจากหน่วยอื่นๆ   การมีโอกาสได้ฝึกตนในหลายหลายบริบท ทำให้ชีวิตมีคุณค่า 

อยากให้เขาคิดว่า สิ่งเหล่านี้ มันมีคุณค่ามากกว่าการได้ 2 ขั้น   

ไม่รู้ว่า ความอยากนี้ จะเป็นไปจริงได้หรือเปล่าน๊อ….

 
หมายเลขบันทึก: 74451เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2007 07:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
     นี่คงเป็นครั้งแรกที่ผมขอแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกับอาจารย์ครับ
     ในความล้มเหลวของระบบราชการที่บอกว่า เราอุดมไปด้วยคนทำงานเช้าชามเย็นชาม ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการประเมินผล และการพิจารณาความดีความชอบที่ไม่เป็นธรรม ตราบใดก็ตามที่เราให้คนไม่ทำงาน ได้รับการพิจารณาความดีความชอบ ในขณะที่คนทำงานไม่ได้อะไรนั้น สิ่งที่ตามมา คือคนไม่ทำงานก็จะคอยประจบประแจง และคนที่ทำงานก็จะไม่ทำงาน เพราะไม่เห็นประโยชน์ของการทำงานหนัก แม้อาจารย์จะบอกว่าให้ทำด้วยใจก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสัจธรรม ที่มีผู้พิสูจน์แล้ว ในองค์กรที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ มักมีระบบการพิจารณาความดีความชอบที่เป็นธรรม คนที่ตั้งใจทำงาน และทำงานโดยการอุทิศตนเป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้อื่น ควรได้รับสิ่งตอบแทน ในขณะที่คนที่ไม่ทำงาน ควรถูกลงโทษ สถาบันใดก็ตามที่แยกคนสองกลุ่มนี้ออกจากกันแล้วสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานไม่ได้ สุดท้ายก็จะลงเอยด้วยการทำงานแบบเช้าชามเย็นชามครับ
     ผมเข้าใจดีว่า การจัดการเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับอำนาจของอีกหลายคน สิ่งที่จะทำให้ฝ่าฟันไปได้ คือการยืนอยู่บนความถูกต้อง และมีกำลังใจที่จะต่อสู้
     ในหนังสือเกี่ยวกับ TQM ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ พยายามเสนอให้ผูกติดเรื่องการประเมินผลที่เป็นธรรม และสิ่งตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานไว้กับเป้าหมายขององค์กร เพื่อใช้กระตุ้นให้คนทำงาน ผมเสียดายสิ่งที่ภาควิชาพยาธิวิทยา ทำมาในอดีต แม้จะไม่สามารถปฏิรูปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ แต่สิ่งที่อาจารย์เคยทำในอดีตที่ผ่านมา ก็เป็นการแยกคนที่ทำงานอุทิศตนเพื่องานส่วนรวมของภาควิชาออกมา แล้วตอบแทนเขา เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบเดิมทั้งหมด แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมในการบริหารงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานส่วนรวมของภาคฯ
    ผมเสียดายครับ ถ้าอาจารย์จะต้องสูญเสียเครื่องมือในการตอบแทนการอุทิศตนของคนทำงานเพื่อให้เกิดแบบอย่างที่ดีในการจูงใจคนที่ไม่ทำงานให้กลับมาทำงานไป เพื่อแลกกับคำพูดที่ว่า ไม่อยากมีปัญหาในภาคฯ เสียดายครับ เสียดายจริงๆ 
    

หลาย ๆ แห่ง ระบบประเมินผล เป็นอย่างที่คุณไมโตฯ ว่ามาจริง ๆ เรามักจะถูกกรอกหูอยู่ประจำว่า "การประเมินผลการปฎิบัติงาน  คนละเรื่องกัน กับการพิจารณาความดีความชอบ"  ฉะนั้น คนที่มีผลการปฎิบัติงานที่เป็นเลิศ  ไม่จำเป็นจะต้องได้รับการพิจารณาขั้นพิเศษ  ทั้งนี้ มีเหตุผลนานาประการ อาทิ เช่น  จำนวนจำกัดของโควต้า หรือ วงเงิน ที่ได้รับการจัดสรร,  คนนี้เคยได้แล้วเมื่อปีที่แล้ว  ปีนี้ ให้คนอื่นบ้าง, เป็นต้น

     ตลอดเวลาที่ดิฉันรับราชการ 10 ปี  ดิฉันได้ขั้นพิเศษ เพียงครั้งเดียว และเป็นการได้มาซึ่งดิฉันไม่รู้สึกภูมิใจเลย เนื่องจากในปีนั้น ดิฉันอยู่ในระหว่างลาคลอดบุตร 3 เดือน แต่เนื่องจากงานที่ดิฉันได้รับมอบหมายเป็นงานที่ต้องโชว์ศักยภาพ และเป็นงานที่ขึ้นตรงกับผู้บริหาร  ทำให้เวลาดิฉันไปขอความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องงาน กับหน่วยงานอื่น ดิฉันมักได้รับคำกระแหนะกระแหนจากเพื่อนร่วมงานว่า "ไม่ต้องไปให้ความร่วมมือกับเขาหรอก เพราะเวลาได้ขั้น ดิฉันเป็นคนที่ได้ ไม่ใช่เขา"  คนต่างหน่วยงาน มักเข้าใจว่าดิฉันคงได้ขั้นพิเศษ เกือบทุกปี เพราะทำงานใกล้นาย ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นอย่างงั้นเลย เพราะคนที่พิจารณาขั้นพิเศษให้ดิฉัน ไม่ใช่นายคนนั้น

      ดิฉันไม่เคยรู้สึกเสียใจ หรือ น้อยใจเลย ที่ดิฉันไม่ได้ขั้นพิเศษ ทั้ง  ๆ ที่ตนเองมีผลงานเป็นที่ประจักษ์  แต่รู้สึกเสียความรู้สึกมากกว่า ที่เพื่อนร่วมงานคิดกับดิฉันแบบนี้

     ดิฉันผ่านวิกฤติตรงนั้นมาได้  เพราะสิ่งที่ตอบสนองผลการทำงานของดิฉัน มันมีค่ามากกว่าขั้นพิเศษ นั่นคือ  ดิฉันได้รับผิดชอบงานที่เป็นงานชิ้นใหม่ของคณะอยู่เสมอ ๆ ทำให้ได้มีโอกาสพบปะคนต่างคณะ/ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ /ได้เห็นวิธีการทำงานของคนในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถนำเอามาเป็นแบบอย่างทั้งที่ดีและไม่ดี ได้  และที่สำคัญดิฉันได้รับการพัฒนาศักยภาพอยู่เสมอ ๆ ทุกครั้งที่ดิฉันสนใจที่จะเรียนรู้ หรือพัฒนาอะไรใหม่ ๆ ดิฉันมักได้รับการสนับสนุนจากคณะฯ เนื่องจากดิฉันแสดงให้เขาเห็นแล้วว่า ดิฉันไปอบรม หรือพัฒนาอะไร ดิฉันจะนำมันกลับมาพัฒนางานของดิฉันอยู่ตลอดเวลา

     ทุกวันนี้ ดิฉันถือว่า ดิฉันได้ 2 ขั้น ทุกวันอยู่แล้ว

  • เห็นด้วยกับคุณไมโตมากเลย บางครั้งคนทำงานในระบบราชการเสียขวัญ เกิดความท้อแท้ และหดหู่ ในระบบประเมินที่ไม่เป็นธรรม
  • แต่เราอย่าให้เสียกำลังใจนะ มาร่วมสร้างสรรค์งานที่ประโยชน์ต่อองค์กรดีกว่า เรามีเพื่อนร่วมหัวใจเดียวกันมากมาย ถือว่าเราได้ 2 ขั้นแล้วนะ
  • พี่อยากจะบอกความในใจ ว่าภูมิใจแทนหัวหน้าภาคพยาธิที่มีผู้ใต้บังคับดีมีความขยันและมีความคิดสร้างสรรค์ ในทันสมัยเสมอ
  • เช่นคุณไมโต น้องเม่ย น้องนิดหน่อย น้องถ่าว น้องศิริ  อาจารย์ปลื้มจิต (เราแก่คนเดียวหรือ?) ขอโทษนะถ้าเอ่ยชื่อไม่ครบ....... พี่อัมพรมีความรู้สึกเสมือนเป็นในภาคด้วยแล้วนะ .....อาจเป็นเพราะคุ้นชิน(เคย)กับคุณหมอปารมีมาก่อน ใครรับเปล่า?
อ่านแล้วมองเห็นสองประเด็นค่ะ
  • ถ้าต้องการบริหารคนเพื่อให้ได้งาน...คุณไมโตพูดถูกเผ็งเลย...
  • ถ้าต้องการให้ได้งาน โดยไม่ใช้กระบวนการบริหารคน... อย่างที่ท่านเอื้อกล่าวมา  ก็คงต้องหากลยุทธ์ที่จะ บริหารใจ เขาให้ได้ด้วยค่ะ ...

ตอบคุณไมโต ที่จริงไม่ใช่ว่า ไม่อยากได้นะ โควต้ากลางนี่  อยากได้   แต่โควต้า 2 ขั้นทั้งภาควิชามีเพียง 14% แบ่งไปตามหน่วยต่างๆ ก็ได้หน่วยละ 1-3 เท่านั้น  ความจำกัดของโควต้าดังกล่าว ก็เป็นปัจจัยหนึ่งค่ะ ที่ทำให้ไม่อยากกันโควต้ามาที่ส่วนกลางค่ะ  

เรื่องการบริหารใจ เป็นเรื่องที่ตนเองทำพยายามทำอยู่ตลอดค่ะ  ชอบคำนี้จัง บริหารใจ ขอบคุณพี่เม่ยค่ะ

ตอบคุณไมโตอีกที ในส่วนความเห็นท้ายๆ ที่ว่า เสียดายเครื่องมือที่เคยใช้

ใน 2 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้กันโควต้าไว้ที่ภาคค่ะ แต่มีเหลือโดยบังเอิญ  หากมีเหลือโดยบังเอิญอีก ก็จะนำไปให้คนทำงานที่มาช่วยงานภาคค่ะ 

(^_____^)

แวะมานั่งฟัง...เรื่องภายใน"ภาค"...หรือเปล่าคะเนี๊ยะ...

กะปุ๋ม

ถามคุณไม่โต  คนพยาธิฯที่ทำงานเช้าชามเย็นชามมีด้วยหรือ ทราบว่าคนพยาธิฯมีแต่คนมีคุณภาพ  จริง ๆแล้วก็มีคนอีกส่วนหนึ่งที่อยากช่วยเหลือภาคแต่ไม่มีเวลาจริง ๆเพราะงานประจำรัดตัวไม่สามารถที่จะแบ่งบันเวลาไปได้ก็ขอเอาใจช่วยแล้วกันนะ

เห็นด้วยครับ เพราะวันก่อนได้รับคำชมจากท่านคณบดี

แป้นเห็นด้วยกับพี่ไมโตนะคะ เพราะหลายครั้งที่แป้นรู้สึกขัดแย้งกับระบบการทำงานแบบราชการ  

การทำงานกับคนหมู่มาก ไม่สามารถบริหารใจให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ความขัดแย้งมีเสมอในหน่วยงาน เนื่องจากต่างคนต่างความคิด

บางครั้งคนเราทำงานด้วยก็ต้องมีเรื่องขัดแย้งกันบ้างเพราะความไม่เข้าใจกัน คิดว่าตัวเองทำงานแทบตายไม่เคยได้อะไร แต่คนที่อยู่ใกล้นายกลับได้รับประโยชน์มากมาย โดยที่อีกคนไม่รู้ว่าเค้าต้องต้องทำงานหนักมากมายเช่นกันกว่าจะได้ในสิ่งที่ดีๆตอบแทน

ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีเสมอ ในเมื่อคนเรายังมีความอยากได้ อยากมี ความอิจฉา ก็จะเกิดได้ ตลอดเวลา

คุณรัตติยาคะ

"ทุกวันนี้ ดิฉันถือว่า ดิฉันได้ 2 ขั้น ทุกวันอยู่แล้ว"  ชื่นชมมากค่ะ  และจะขอใช้เป็นแบบอย่าง    

คุณกะปุ๋มขา

ร่วมแจมได้ค่ะ เป็นเรื่องทั่วไปๆ

เห็นด้วยกับคุณแมวมองค่ะ  คนในภาควิชาพยาธิวิทยา โอกาสจะเช้าชามเย็นชามยาก  เพราะงานบริการเพิ่มขึ้นมากมาย  เพียงแต่โอกาสจะมาทำงานส่วนกลางมากน้อยแค่ไหน
หลายปีก่อน....หนูสนใจเรื่องขั้น....เรื่องการประเมินในระบบราชการ....วันนี้หนูไม่สนใจแล้วค่ะ...ไม่ใช่เพราะรวยนะคะ...เพราะว่าทำงานเพื่องาน...มีความสุขกว่ากันเยอะค่ะ
  • ผมเชื่อมั่นครับ ว่าคนที่มีความสุขในการทำงาน คือคนที่ยึดงานเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นงานอย่างไร เขาก็อยากที่จะทำ ค่อยๆทำทีละนิด แล้วคอยดูความก้าวหน้าที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นด้วยความภาคภูมิใจ จนกระทั่งถึงวันที่งานในความรับผิดชอบประสบความสำเร็จ แม้ไม่มีสิ่งตอบแทน แต่ก็เป็นความภาคภูมิใจแบบสุดๆครับ
  • แต่สิ่งที่ผมกล่าวถึงนั้น เป็นเรื่องของการใช้การพิจารณาความดีความชอบในฐานะที่เป็นเครื่องมือบริหารงานครับ เพื่อกระตุ้นให้คนทำงาน ผู้บริหารควรมีเครื่องมือต่างๆที่ใช้ในการทำงานเชิงบริหารให้ประสบความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ครับ เครื่องมือทุกชิ้นมีคุณค่า และมีประสิทธิภาพเสมอครับ ถ้าใช้ถูกคน ถูกเวลา ถูกสถานที่
ยินดีรับพี่อัมพร เป็นคนพยาธิค่ะ   เอ.. จะให้เป็นตำแหน่งอะไรดีน๊า.....
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท