บันทึกจากการสัมมนาเสริมชุดวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการและเทคโนโลยีการบริหารการศึกษา


ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (โรงเรียนประถม และมัธยมศึกษา) ในต่างจังหวัด อีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ตระหนัก ตื่นตัว หรือตอบสนองต่อปรากฏการณ์ของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน

สัมมนาเสริมชุดวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการและเทคโนโลยีการบริหารการศึกษา (ป.โท) ณ ศูนย์วิทยพัฒนา มสธ. จ.อุดรธานี 20-21 มกราคม 2550

จากการสัมมนาพบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (โรงเรียนประถม และมัธยมศึกษา) ในต่างจังหวัด อีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ตระหนัก ตื่นตัว หรือตอบสนองต่อปรากฏการณ์ของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน แม้กระทรวงศึกษาธิการ หรือ สพฐ. เองจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก มีการให้สถานศึกษาต่างๆ ใช้ระบบ e-office (ซึ่งก็ไม่ทราบว่า คืออะไรกันแน่) ในการติดต่อกับ สพท. ที่สถานศึกษานั้นๆ สังกัดอยู่ผ่านเครือข่าย Internet โดยสังเกตได้จากคำถามที่ว่า e-office คืออะไร คำตอบที่ได้จากสถานศึกษา ซึ่งอาจเป็น ผอ. หรือรอง ผอ. หรือครูที่เกี่ยวข้อง ก็จะบอกกล่าวไปคนละทางกัน

การสัมมนาเสริมครั้งนี้ ได้หยิบยกระบบสารสนเทศที่มีใช้งานอยู่จริง ใน สพฐ. คือ web site ของ สพท. ต่างๆ ทั่วประเทศมาเป็นแบบฝึกหัดในการศึกษาวิเคราะห์ให้เห็นถึงความมีอยู่จริงของข้อมูลและสารสนเทศบน web pages เหล่านั้น และความเป็นประโยชน์ของ web stie เหล่านั้น ทำให้พบว่า

  1. นักศึกษาปริญญาโททางบริหารการศึกษา จำนวนไม่น้อยยังขาดทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ โดยการแสดงความเห็นส่วนใหญ่ยังคงอยู่บนพื้นฐานของ "ความรู้สึกส่วนตัว" มากกว่า "หลักเกณฑ์หรือทฤษฎี" ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้อ่อนคุณค่าทางวิชาการไปมาก
  2. Web site ของ สพท. ยังมีการจัดทำกันอย่างไม่เป็นระบบ ขาด theme หรือเป้าหมายที่ครอบคลุม มุ่งเสนอแต่เฉพาะข้อมูลและสารสนเทศต่อกลุ่มผู้เข้าชมเพียงกลุ่มเดียวเป็นหลัก โดยมิได้คำนึงถึงศักยภาพของคำว่า Internet ซึ่งเปิดโอกาสให้คนทั้งประเทศ หรือทั่วโลก (หากไม่มีอุปสรรคด้านภาษา) สามารถเข้ามาเยี่ยมชม รับรู้ ศึกษาและค้นคว้าข้อมูลต่างๆจาก web site ของ สพท. ได้
  3. การจัดทำ web site ยังคงเป็นไปแบบ "ตามมี ตามเกิด" มากกว่าแบบมืออาชีพ โดยเน้นเพียงความสวยงาม แต่ไม่ได้คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ และสภาพที่มีอยู่จริง เช่น พยายามสร้าง web page ให้ดูหรูหราเกินความจำเป็น ใช้ภาพกราฟิคมากมาย และอย่างผิดวิธี ทำให้ใช้เวลาในการเปิดอ่านแต่ละ page นานมาก ด้วย Internet speed ต่ำ ในขณะที่ Internet bandwidth ที่สถานศึกษามีต่ำจริงๆ ทำให้การเปิด homepage ของ สพท. แต่ละครั้งใช้เวลานานจนรอไม่ไหว ทำให้การสื่อสารผ่าน web ระหว่างสถานศึกษากับ สพท. ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพื่อแก้ปัญหานี้ ผู้รับผิดชอบโครงการใน สพฐ. ควรกำหนดให้ทุก สพท. ทำ web โดยแยก page ของระบบ e-office ออกจาก homepage และใช้ภาพกราฟิคบน page ของระบบ e-office ให้น้อยที่สุด ละทิ้งความสวยงาม แต่ไร้ประโยชน์ใช้สอย เพื่อให้ระบบสามารถทำงานภายใต้สภาวะของ dial-up network หรือ very low speed Internet ได้
  4. เนื่องจากสถานศึกษาไม่ใช่คู่สัญญาในการขอใช้บริการเชื่อมต่อ Internet สถานศึกษาจึงไม่มีอำนาจในการต่อรองกับเอกชนผู้ให้บริการ และส่งผลทำให้สถานศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึง Internet ได้ โดยมีสาเหตุหลายประการ ในขณะที่เอกชนผู้ให้บริการรับค่าเช่าใช้บริการไปเต็มๆ ตลอดระยะเวลาที่ระบบใช้งานไม่ได้ นอกจากนี้ หน่วยงานของกระทรวงฯ ที่เป็นคู่สัญญายังขาดความสนใจในการรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับข้อขัดข้องที่เกิดจากการใช้งานไม่ได้ของสายเชื่อมต่อ ส่งผลทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาจำนวนไม่น้อยรู้สึกจนแต้ม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้ และเอกชนผู้ให้บริการก็รับค่าบริการไปฟรี ในขณะที่ยังสามารถนำ bandwidth ไปขายผู้รับบริการรายอื่นๆ ได้อีก
  5. แม้จะมีความพยายามจาก สพฐ. บ้างแล้ว แต่ web address หรือ Internet domain ของ สพท. ต่างๆ ยังไม่เป็นระบบ ทำให้ยากแก่การค้นหาหรือจดจำ จึงน่าจะเป็นบทเรียนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เรียนรู้ว่า การไม่มีการวางแผน และทำงานอย่างเป็นระบบตั้งแต่แรก ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นแก้ได้ยากมาก และก็ยังมองไม่เห็นความหวังเลยว่า เมื่อไหร่ web address ของ สพท. ทั่วประเทศจะมีระบบเสียที

นักศึกษาหลายคนสารภาพว่า หากไม่มีกิจกรรมการศึกษาวิเคราะห์ homepage ของ สพท. พวกตนก็คงจะยังไม่ตระหนักและตื่นตัวในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเรียนรู้จากระบบที่มีใช้งานอยู่จริงแบบนี้มีประโยชน์มาก Web Site เหล่านี้มีอยู่จริง และมีใช้งานมานานแล้ว แต่พวกตนก็ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจสิ่งเหล่านี้มากนัก ทั้งๆ ที่มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายอย่างสำหรับการทำงาน และทำให้คิดต่อไปถึงสิ่งที่น่าจะเพิ่มเติมต่อไปในอนาคตบน web site เหล่านี้อีกด้วย กิจกรรมประเภทนี้ จึงเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และสนุก

หมายเลขบันทึก: 74127เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2007 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท