รูปแบบการบริหารโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในยุค ดิจิทัล ดิสรัปชั่น


โจทย์สำคัญในเรื่องการบริหารสถานศึกษาไทย อยู่ที่หลักการบริหารที่ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ โดยเน้นบริหารเพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้บูรณาการของนักเรียน  ที่ต้องนำมาผสานกับการสนองสถานการณ์จำเพาะ ซึ่งในกรณีนี้คือการบริหารโรงเรียนขยายโอกาส  กับการคำนึงถึงสภาพเทคโนโลยีดิสรัปชั่น 

รูปแบบการบริหารโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในยุค ดิจิทัล ดิสรัปชั่น

ผมได้รับหนังสือจากคณะxxxx  xxxxxxxx  ขอความอนุเคราะห์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิตอบแบบสัมภาษณ์ ประกอบการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ xxxxxxx เรื่อง "รูปแบบการบริหารโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น"    โดยส่งเค้าโครงวิทยานิพนธ์มาด้วย    เป็นวิทยานิพนธ์ที่สามจาก xxxxxxx   ที่ขอให้ผมตอบแบบสอบถามในเวลาใกล้เคียงกัน

บทวิพากษ์ร่างวิทยานิพนธ์สองร่างก่อน อ่านได้ที่ (๑)   (๒)    

เนื่องจากเป็นนักศึกษาสำนักเดียวกันกับ ๒ ท่านก่อน   ลักษณะโครงสร้างของเอกสารเค้าโครงจึงมีลักษณะเดียวกัน    มีฐานคิด จุดแข็ง และจุดอ่อนในทำนองเดียวกัน   ผมจึงไม่วิพากษ์ซ้ำประเด็นที่ได้เสนอไว้แล้วใน (๑) และ (๒)     

ผมสะดุดข้อความในหน้า ๘ ที่ว่า  “การจัดการศึกษาในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาต้องจัดให้ได้ทั้งสาระวิชาและได้ ทักษะ 3 ด้าน คือ ด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม ด้านทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และด้าน ทักษะชีวิตและอาชีพ”  สะดุดตรงที่มองทักษะที่จะต้องเรียนรู้เพียง ๓ ด้าน   

ผมเดาว่า ผู้เขียนต้องการบอกว่า โรงเรียนขยายโอกาสไม่เพียงจัดให้นักเรียนได้เรียนรู้สาระวิชาเท่านั้น   ต้องให้ได้ฝึกทักษะด้วย    โดยเฉพาะทักษะอาชีพ    เพราะเด็กส่วนใหญ่เมื่อจบ ม. ๓ จะออกไปประกอบอาชีพ  โดยท่านรวมเอาทักษะชีวิตกับทักษะอาชีพเข้าเป็นทักษะเดียวกัน    รวมทั้งมองทักษะเรียนรู้กับทักษะสร้างนวัตกรรมว่าเป็นทักษะเดียวกันด้วย   

ที่ผมสะดุดก็เพราะเป็นที่รู้กันว่า การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ผู้เรียนต้องได้รับการฝึกทักษะมากมายเพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสมรรถนะเพื่อการดำรงชีวิตได้ดีและทำประโยชน์แก่สังคม   ในสภาพสังคมที่ VUCA, BANI และ wicked   ต้องสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ในสถานการณ์อนาคตที่ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน คาดเดายาก  ที่ไม่ใช่แค่ภาวะดิจิทัลดิสรัปชั่นเท่านั้น   

ผลลัพธ์การเรียนรู้สำหรับการเรียนรู้ในยุคนี้จึงต้องครบ VASK   และในส่วนของทักษะ ก็ต้องพัฒนาทั้ง hard skills  และ soft skills   ผมเห็นด้วยกับข้อความในเค้าโครงวิทยานิพนธ์ว่า ทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมีความสำคัญมากในยุคนี้   

และขอเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องครบ VASK   ตัว V – values หมายถึงค่านิยมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านบวกหรือด้านทำคุณประโยชน์ ทั้งต่อตัวเราและผู้อื่น  ไม่นำไปใช้ในทางที่ก่อโทษ เช่นใช้หลอกลวง ใช้เล่นการพนัน   ไม่เข้าไปร่วมกับก๊วนล่อลวงทางอินเทอร์เน็ตหากได้รับการชักชวนว่ารายได้งาม  เป็นต้น    นี่คือเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ    ท่านที่สนใจเรื่องค่านิยม อ่านรายละเอียดได้ในหนังสือ ค่านิยมศึกษา สู่คุณค่านำทางชีวิต  

ตัว A – attitude หมายถึงเจตคติ หรือวิธีคิดว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ   ว่ามีทั้งคุณและโทษ ต้องรู้จักใช้ในทางที่เป็นคุณ ทั้งที่เป็นคุณต่อตัวเอง เป็นคุณต่อผู้อื่น ต่อสังคม และต่อโลก   เจตคติในเรื่องการไม่ใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดนี้ลึกซึ้งมาก    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ Generative AI ทำการบ้านแทน หรือทำงานแทน  ซึ่งเป็นการใช้แบบทำร้ายตนเอง   ทำให้ตนเองไม่ได้ฝึกความคิด   กลายเป็นว่า Generative AI ช่วยทำให้ตนเองอ่อนแอ   เรื่องวิธีคิดเกี่ยวกับ Generative AI นี้  ศาสตราจารย์ Yuval Harari อธิบายไว้อย่างพิสดารที่ (๓)  

ตัว S – skills  หมายถึงทักษะ ที่ในสมัยนี้ต้องมีทักษะที่ซับซ้อนมาก  ทั้งทักษะเพื่อการประกอบอาชีพ ทักษะเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างและกับสังคมภาพรวม    รวมทั้งทักษะในการอยู่กับตนเองอย่างมีสุขภาวะด้านจิตวิญญาณ (spiritual well-being)  หรือที่เรียกว่าทักษะด้านจิตตปัญญา (spiritual skills) หรือทักษะภายในตนเอง 

ตัว K – knowledge หมายถึงความรู้ ที่ไม่เพียงความรู้เชิงทฤษฎี (explicit knowledge) ที่บอกหรือสอนต่อๆ กันมาในตำรา หรือโดยครูหรือผู้รู้เท่านั้น   ยังมีความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่มนุษย์ทุกคนได้จากประสบการณ์ต่างๆ รวมทั้งการทำงาน   และในกระบวนการจัดการความรู้ (ที่เอกสารเค้าโครงก็เอ่ยถึง) จะต้องไม่เพียงเอา explicit knowledge ใส่เข้าในระบบดิจิทัลของโรงเรียนเท่านั้น   ต้องมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามแนวทางของวงจร SECI Model ที่เสนอโดยศาสตราจารย์ Nonaka  เพื่อยกระดับความรู้ผ่านการปฏิบัติและการสะท้อนคิดร่วมกัน   ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับวงจรเรียนรู้จากประสบการณ์ของศาสตราจารย์โคลบ์ (Kolb’s Experiential Learning Cycle)   ที่เสนอไว้อย่างละเอียดในหนังสือชุด การเรียนรู้ ขั้นสูง จากประสบการณ์       

ในยุคนี้ต้องไม่จัดการเรียนรู้แบบบอกสอนความรู้ ต้องให้นักเรียนค้นหาและเลือกความรู้เชิงทฤษฎีเองจากอินเทอร์เน็ต แล้วทดลองนำมาใช้งาน   และหมุนวงจรเรียนรู้แบบ KM  หรือแบบ Experiential Learning    หลักการคือ เป้าหมายเรื่องความรู้ไม่ใช่แค่ “มีความรู้” แต่ต้อง “ค้นหาความรู้และเลือกความรู้” เป็น    และ “นำความรู้มาใช้เป็น”

จะเห็นว่าแต่ละตัวของ VASK ไม่ได้แยกกันอย่างเด็ดขาด แต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องและเสริมแรงกัน   คำถามสำคัญต่อผู้อำนวยการโรงเรียนขยายโอกาสในประเทศไทยจำนวนหกพันกว่าโรงเรียนคือ จะจัดให้นักเรียนพัฒนาชุด VASK แบบใด    จึงจะมีความพร้อมออกไปทำงาน ตั้งครอบครัว เป็นพลเมืองดีของชุมชนและของประเทศชาติ   จะต้องจัดระบบระแวดระวังอย่างไรไม่ให้นักเรียนที่กำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่นถูกชักจูงไปในทางเสียคน   

จะเห็นว่า รูปแบบการบริหารโรงเรียนขยายโอกาสต้องเน้นทำงานกับชุมชน   เพื่อให้นักเรียนได้ออกไปเรียนแบบฝึกปฏิบัติ (PBL- Project/Problem-Based Learning) ในชุมชน   โดยมีปราชญ์ชาวบ้านร่วมโค้ช    ที่นักเรียนจะได้ฝึก VASK ไปพร้อมๆ กัน ในลักษณะเรียนรู้จากการปฏิบัติ   แล้วสะท้อนคิดออกมาเป็นหลักการ เทียบกับความรู้ที่ค้นมาจากอินเทอร์เน็ตโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล    หมุนเป็นวงจรยกระดับ VASK เรื่อยไป   

การเรียนรู้แบบ PBL จากปัญหาของชุมชน มองอีกมุมหนึ่งเป็นการทำงานรับใช้ชุมชน    ที่เรียกว่า social learning  ที่จะช่วยให้นักเรียนสร้างจิตสาธารณะใส่ตัว เป็น V (ค่านิยม) ที่ดีอย่างหนึ่ง   และช่วยให้โรงเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน   เป็นโอกาสให้ได้ปรึกษาหารือเรื่องการร่วมสร้าง ระบบนิเวศการเรียนรู้ในชุมชนที่เป็นคุณต่อนักเรียน   ร่วมกันหาทางป้องกันสภาพแวดล้อมที่ชักจูงให้เด็ดเสียคน   

หากมองที่การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล    เป็นเรื่องใหญ่มากที่วงการโรงเรียนขยายโอกาส ๖,๖๒๖ แห่ง จะร่วมกันสร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัลของนักเรียนที่มีระบบป้องกันการถูกชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย   เช่นมีการป้องกันไม่ให้เด็กเข้าถึงเว็บโป๊ เว็บพนัน เป็นต้น  รวมทั้งมีกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้นักเรียนรู้เท่าทันความหลอกลวงที่มาทางโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต หรือสื่อโซเชี่ยล    ที่ควรจัดเป็น online PLC ทั่วประเทศทุกๆ ๓ เดือน   

เอกสารเค้าโครงวิทยานิพนธ์นี้ มีการทบทวนความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องมาอย่างดีมาก   โดยเฉพาะเรื่องที่มาของโรงเรียนขยายโอกาสที่เริ่มมากว่าสามสิบปี   ให้ความรู้แก่คนนอกวงการอย่างผมมาก   รวมทั้งการทบทวนพัฒนาการของหลักสูตรที่ในปี ๒๕๕๑ มีการกำหนดหลักสูตรแกนกลางที่มี ๘ กลุ่มสาระ ๒,๐๕๖ ตัวชี้วัด    จำแนกเป็นตัวชี้วัดระหว่างทาง 1๑,๒๘๕ ตัวชี้วัด ตัวชี้วัดปลายทาง ๗๗๑ ตัวชี้วัด   โดยในตอนท้ายบทมีข้อสรุปว่า   “หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เป็นการจัดการศึกษาที่เป็นพื้นฐานต้องจัดให้ บุคคลมีสิทธิ์และเปิดโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษา ไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การจัดการเรียน การสอนมุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดทักษะที่หลากหลาย เน้นกระบวนการจัดการเรียนการสอนยืดหยุ่นไป ตามบริบทของโรงเรียน มีการวัดผลประเมินผลตามหลักสูตรอย่างหลากหลาย   การออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อให้การศึกษามีความเหมาะสมกับยุคสมัยและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน และสังคมในปัจจุบัน”      

ผมติดใจหัวข้อความหมายของการบริหารสถานศึกษา หน้า ๔๔ - ๔๖   ที่มีข้อสรุปว่า  “สรุปการบริหารสถานศึกษาเป็นการบริหารงานที่ครอบคลุมการดำเนินงานในด้าน วิชาการ งบประมาณ บุคลากร และการบริหารทั่วไป เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาของประเทศ และ เป็นกลยุทธ์เพื่อการพัฒนา ระบบ การบริหารจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะการบริหารงานวิชาการที่มุ่งพัฒนาผู้เรียน ให้มีมาตรฐานหลักสูตรกำหนดโดยบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะในการจัดการการศึกษาจัดสรรงบประมาณให้มีความเหมาะสมเกิดประโยชน์ประสานชุมชนและองค์กรที่มีส่วนร่วมในการจัด การศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ”   อ่านแล้วเห็นจุดอ่อนของการบริหารสถานศึกษาไทย    คือ ไม่มองการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานของครูเป็นภารกิจด้านการบริหาร   ทั้งๆ ที่มีนโยบายให้โรงเรียนดำเนินการ PLC – Professional Learning Community มานานหลายปี     

ยิ่งในหัวข้อการบริหารสถานศึกษา   มีการทบทวนความรู้เรื่องการบริหารองค์กรอย่างกว้างขวาง    รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารก็เขียนได้ดีมาก   อ่านแล้วผมได้ความรู้มาก   และเกิดความรู้สึกว่า ปัญหาของวงการศึกษาไม่ได้อยู่ที่ไม่รู้ หรือไม่มีหลักการที่กำหนดไว้เป็นแนวทาง   แต่อยู่ที่ไม่ได้นำไปปฏิบัติ แล้วเรียนรู้และพัฒนาจากการปฏิบัติอย่างจริงจัง  โดยยึดเป้าหมายหลักคือการพัฒนานักเรียนตามเป้าหมายของโรงเรียนขยายโอกาส   ย้ำว่าผมตีความว่าความอ่อนแอของระบบการศึกษาไทยอยู่ที่การปฏิบัติ    และการเรียนรู้จากการปฏิบัติ

หากมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง เราจะไม่พบเด็ก ม. ๑ ที่อ่านหนังสือออกแต่ไม่รู้ความหมาย    ที่ครูบอกผมทุกครั้งที่ผมถาม ว่าพบเห็นบ่อยๆ   

ข้อความที่รวบรวมมาและสรุปเป็นตอนๆ น่าสนใจมาก   และมีความครอบคลุมดีทีเดียว   แต่ชวนให้ผมสะท้อนคิดว่า   มีโรงเรียนที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้เชิงรุกของนักเรียน   ตัวอย่างเช่น ครูกัลยา แปดนัดโรงเรียนบ้านขอบด้ง จังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนให้นักเรียนออกแบบสินค้าจากหญ้าอิบุแค และขายทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งขายแก่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ     แต่ไม่มีการรวบรวมสภาพปัจจุบันของโรงเรียนขยายโอกาสที่มีการบริหารงานได้ผลดีอย่างน่าชื่นชม มาลงไว้ในเอกสารนี้  เพราะเป็นเอกสารที่เน้นความรู้เชิงทฤษฎี ไม่คำนึงถึงความรู้ปฏิบัติ ตามที่ผมวิจารณ์ไว้แล้วใน (๑) และ (๒)     

ผมขอเสนอแนะต่อผู้ที่จะทำงานวิจัยเพื่อปริญญาเอกในโอกาสต่อไป ที่ต้องการรวบรวมข้อมูลโรงเรียนและครูที่มีการดำเนินการริเริ่มใหม่ๆ ว่า แหล่งข้อมูลหนึ่งคือสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

เอกสารร่างวิทยานิพนธ์ บทที่ ๓ วิธีดำเนินการวิจัย เหมือน ๒ ร่างที่ผมให้ความเห็นไว้แล้วที่ (๑) และ (๒)     คือสร้างรูปแบบ  และขอให้ผู้บริหารโรงเรียน ๔๐๐ คนประเมิน หรือให้ความเห็น  นำมารวบรวมเป็นวิทยานิพนธ์ตามชื่อ "รูปแบบการบริหารโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น"   ที่ผมให้ความเห็นไว้แล้วว่า เป็นการสร้างความรู้ใหม่จากกระดาษ หรือจากความเห็น    ไม่ใช่จากประสบการณ์จริง    รวมทั้งเป็นการใช้เครื่องมือที่มีผู้เสนอไว้นานแล้วอย่างเคร่งครัด   ไม่ได้คิดเครื่องมือที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจจุบันขึ้นเอง         

งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นงานวิจัยตามรูปแบบที่ตายตัว    ไม่ใช่งานวิจัยสร้างแนวทางตอบโจทย์ด้วยวิธีการใหม่ๆ   วิธีจัดการศึกษาปริญญาเอกแนวทางนี้จึงน่าจะเป็นการสร้างคนที่เดินตามรูปแบบ    ไม่เป็นการสร้างคนที่กล้าคิดกล้าลองรูปแบบใหม่ๆ    

เรื่องสำคัญที่สุดที่โรงเรียน (ทั้งโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนประเภทอื่นๆ) พึงเอาใจใส่นักเรียนในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ในมุมมองของผม คือ การฝึกให้นักเรียนมี “ภูมิคุ้มกันต่อข้อมูลข่าวสาร”   คือหนุนให้นักเรียนพัฒนาขีดความสามารถในการ “เลือกรับ” และ “เลือกเชื่อ” ข้อมูลข่าวสารที่ประดังเข้ามา  หรือที่ตนเองค้นหามาได้    ซึ่งก็คือพัฒนาสมรรถนะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) นั่นเอง    เพื่อไม่ให้นักเรียนตกเป็นเหยื่อของข้อมูลข่าวสารด้านลบ  ที่ไม่เป็นความจริง หรือหลอกลวง 

ในทางตรงกันข้าม มองแง่บวก ต่อเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งสมัยนี้ต้องคำนึงถึง “ปัญญาประดิษฐ์เสมือนมนุษย์” (Generative AI) ที่โรงเรียนต้องฝึกนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนชั้นมัธยม   ให้รู้จักใช้ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของตน    ที่เป็นการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง ไม่ทำร้ายตนเอง    คือต้องใช้ Generative AI ช่วยค้น และคิด แล้วตนนำข้อเสนอของ AI มีพินิจพิจารณาต่อ เพื่อใช้เสนอคำตอบต่อคำถามหรือโจทย์ที่ครูมอบหมายจากความคิดของตนเอง    โดยบอกด้วยว่าใช้ Generative AI ช่วยในรูปแบบใด    เท่ากับเป็นการฝึกให้นักเรียนมีความซื่อสัตย์    ไม่มักง่าย โดยให้ AI หาคำตอบให้ และใช้ส่งการบ้าน  เพราะนั่นคือการโกง  หากครูปล่อยให้ศิษย์ทำเช่นนั้น ก็เท่ากับส่งเสริมศิษย์ให้ทำร้ายตนเอง   คือ ไม่ได้ฝึกฝนการคิดอย่างลึกซึ้งและเชื่อมโยง    ทำให้อาจเรียนผ่าน แต่ไม่ได้พัฒนาตนเองอย่างแท้จริง        

หากจะให้ผมตั้งโจทย์วิจัยนี้ใหม่    ผมจะตั้งคำถามว่า “ขณะนี้โรงเรียน ครูและนักเรียน ในประเทศไทยมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างไรบ้าง”   “ในฐานะผู้บริหารโรงเรียน ควรดำเนินการบริหารอย่างไร ให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนานักเรียนให้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มีความครบถ้วน และมีคุณภาพสูง   รวมทั้งให้นักเรียนได้รับประโยชน์อย่างเสมอภาคกัน”   และวิธีวิทยาเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ควรเป็นการทดลองใช้คำตอบ ที่นักศึกษาปริญญาเอกคิดขึ้น    ว่าได้ผลตามความมุ่งหมายเพียงใด   น่าจะเป็นวิทยานิพนธ์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยได้ในระดับหนึ่ง    ไม่ใช่เป็นวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพ แต่ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการพัฒนาระบบการศึกษาไทย   

ผมขออนุญาตตีความ (ไม่รับรองว่าตีความถูกหรือผิด) ว่าวงการครุศาสตร์ไทย มุ่งสร้างผู้นำด้านการบริหารการศึกษา  โดยสร้างชิ้นงานที่ใช้วิธีวิทยาแห่งอดีต จากความรู้แห่งอดีต  นำมาตั้งโจทย์ที่น่าสนใจและมีประโยชน์ต่อการบริหารสถาบันการศึกษาในปัจจุบัน    แต่ตอบโจทย์โดยแบบสอบถาม “ผู้มีประสบการณ์” นำมาเป็นข้อมูลสำหรับตอบโจทย์วิจัย   ที่ผมตีความว่าเป็นงานวิจัยที่มีเป้าหมายหลักที่การได้รับปริญญาเอก    ไม่ใช่งานวิจัยเพื่อสร้างผลกระทบด้านการ “พลิกโฉม” (transform) ระบบการศึกษา

ขอเพิ่มข้อสะท้อนคิดว่า โจทย์สำคัญในเรื่องการบริหารสถานศึกษาไทย อยู่ที่หลักการบริหารที่ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ โดยเน้นบริหารเพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้บูรณาการของนักเรียน   ที่ต้องนำมาผสานกับการสนองสถานการณ์จำเพาะ ซึ่งในกรณีนี้คือการบริหารโรงเรียนขยายโอกาส   กับการคำนึงถึงสภาพเทคโนโลยีดิสรัปชั่น   

ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ผมเขียนบันทึกการสะท้อนคิดนี้ เพื่อกระตุ้นให้คนในวงการศึกษาได้มีมุมมองใหม่ๆ ด้านการบริหารระบบการศึกษาไทย   โดยไม่มีเจตนาลบหลู่หรือดูแคลน  ผมเขียนด้วยความเคารพ  หากมีท่านใดรู้สึกไม่สบายใจจากข้อเขียนนี้ ผมขอประทานอภัย   

วิจารณ์ พานิช

๕ ม.ค. ๖๘

หมายเลขบันทึก: 720446เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2025 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2025 10:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

สวัสดีปีใหม่ครับท่านอาจารย์ โรงเรียนขยายโอกาสในอดีตเปิดมากจนทำให้เด็กเสียโอกาสมากกว่าครับ หลายโรงเรียนประถมศึกษา ที่เปิดขยายโอกาสอาจจะเหมาะสมกับยุคนั้น ที่มีอัตราการเกิด >3% แต่ปัจจุบันอัตราเกิดของไทย -0.5% แล้วยังจะคิดแบบเดิมอยู่ได้อย่างไรทั้งๆที่เด็กลดลงโอกาสเรียนได้ทุกแห่งหนมากขึ้น การยึดติดกับการบริหารแบบเดิมผมว่าสร้างปัญหาคุณภาพผู้เรียนมากกว่าเพราะการสอนสาระวิชาต่างๆให้เด็กมัธยมต้องการครูที่จบตรงสาขามัธยม วิชาเอกโดยตรงแต่ครู โรงเรียนประถมไม่มีความสามารถพอจะสอนได้ ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลผมเมื่อปี 2561-63 ฐานะประธาน กพฐ ตอนนั้น โรงเรียนขยายโอกาสมีถึงกว่า 7000 แห่งมีนักเรียน ม 1- ม 3 รวม 3 ระดับแล้วต่ำกว่า 15-20 คน บางแห่งมีเพียง 8-9 คน ก็ยังไม่ยอมเลิกทั้งๆที่อยู่ใกล้ รร มัธยม ซึ่งเด็กสามารถไปเรียนได้ เพราะปัญหาการเดินทางปัจจุบันมีน้อยกว่าอดีตมาก แต่ก็ยังยึดอยู่กับแนวคิดเดิมๆ ครับ โรงเรียนขยายโอกามจึงทำให้เด็กเสียโอกาสมากกว่า ครับ สพฐ ยังให้ความสำคัญกับจำนวนเด็กนักเรียน เพื่อตัดสรรงบประมาณรายหัว เพื่อเลื่อน หรือย้ายจาก รร ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ระบบที่วางไว้ไม่ได้สนับสนุนการสร้างงานคุณภาพนักเรียน แต่กลับสนับสนุนความก้าวหน้าของผู้บริหาร มากกว่าครับรศ. ดร. เอกชัย กี่สุขพันธ์

ฉบับปรับปรุงสวัสดีปีใหม่ครับท่านอาจารย์ โรงเรียนขยายโอกาสในอดีตเปิดมากจนทำให้เด็กเสียโอกาสมากกว่าครับ หลายโรงเรียนประถมศึกษา ที่เปิดขยายโอกาสอาจจะเหมาะสมกับยุคนั้น ที่มีอัตราการเกิด >3% แต่ปัจจุบันอัตราเกิดของไทย -0.5% แล้วยังจะคิดแบบเดิมอยู่ได้อย่างไรทั้งๆที่เด็กลดลงโอกาสเรียนได้ทุกแห่งหนมากขึ้น การยึดติดกับการบริหารแบบเดิมผมว่าสร้างปัญหาคุณภาพผู้เรียนมากกว่าเพราะการสอนสาระวิชาต่างๆให้เด็กมัธยมต้องการครูที่จบตรงสาขามัธยม วิชาเอกโดยตรงแต่ครู โรงเรียนประถมไม่มีความสามารถพอจะสอนได้ ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลผมเมื่อปี 2561-63 ฐานะประธาน กพฐ ตอนนั้น โรงเรียนขยายโอกาสมีถึงกว่า 7000 แห่งมีนักเรียน ม 1- ม 3 รวม 3 ระดับแล้วต่ำกว่า 15-20 คน บางแห่งมีเพียง 8-9 คน ก็ยังไม่ยอมเลิกทั้งๆที่อยู่ใกล้ รร มัธยม ซึ่งเด็กสามารถไปเรียนได้ เพราะปัญหาการเดินทางปัจจุบันมีน้อยกว่าอดีตมาก แต่ก็ยังยึดอยู่กับแนวคิดเดิมๆ ครับ โรงเรียนขยายโอกาศ จึงทำให้เด็กเสียโอกาสมากกว่า ครับ ถ้า สพฐ ยังให้ความสำคัญกับจำนวนเด็กนักเรียน เพื่อการจัดสรรงบประมาณรายหัว หรือใช้เพื่อการเลื่อนตำแหน่ง หรือย้ายจาก รร ขนาดเล็ก ไป กลาง ไปใหญ่ จะเห็นว่าผลกระทบของระบบที่วางไว้ไม่ได้สนับสนุนหรือมุ่งเน้นที่บริหารสถานศึกษาเพื่อการสร้างงานคุณภาพนักเรียนอย่างแท้จริง แต่กลับเป็นระบบที่สนับสนุนความก้าวหน้าของผู้บริหาร มากกว่าครับรศ. ดร. เอกชัย กี่สุขพันธ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย