ตีความเพิ่มเพื่อขยายคุณค่าของ Kolb’s Experiential Learning Cycle


 

ผมตีความ Kolb’s Experiential Learning Cycle ไว้ที่ gotoknow.org/posts/708408   และตีความเข้าหาการเจริญสติไว้ที่  gotoknow.org/posts/706897   บัดนี้ขอตีความเพิ่มเติม เพื่อขยายคุณค่าของ Kolb’s Experiential Learning Cycle ออกไปอีก   โดยนำเอาหลักการเรียนรู้สู่สมรรถนะที่ประกอบด้วย ๔ องค์ประกอบคือ VASK มาขยายความ   

Benefits of Experiential Learning & Kolb's Learning Cycle for Training

หลักการสำคัญของ Kolb’s Experiential Learning Cycle คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือจากประสบการณ์ตรง (Concrete Experience)    โดยเรียนรู้ในระดับตกผลึกออกมาเป็นหลักการหรือทฤษฎี (Abstract Conceptualization)  ผ่านกระบวนการสังเกตประสบการณ์พร้อมกับสะท้อนคิด (Reflective Observation)     แล้วนำหลักการที่ได้ไปทดลองใช้ (Active Experimentation) เพื่อยกระดับการเรียนรู้ขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นวงจร (cycle) ยกระดับการเรียนรู้ที่ไม่จบสิ้น   ที่อาจเรียกชื่อใหม่ว่าเป็นเกลียว (spiral) ยกระดับการเรียนรู้   

การเรียนรู้จากประสบการณ์เน้นที่การปฏิบัติ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงการฝึกปฏิบัติให้คล่องเท่านั้น    ยังเป็นการฝึกคิดด้วย    และเป็นการคิดระดับที่ลึกมากที่เรียกว่าการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection)    เน้นผลผลิตของการคิดที่ตกผลึกเป็นทฤษฎีหรือหลักการ   เป้าหมายหลักของการเรียนรู้จากการปฏิบัติในที่นี้จึงเลยจากความชำนาญในการปฏิบัติ    ไปสู่ความชำนาญในการคิด ที่เป็นการคิดทฤษฎี หรือหลักการ   

ผลลัพธ์ของการเรียนรู้จากประสบการณ์จึงมีสองต่อ คือทั้งได้ความชำนาญในการปฏิบัติ   และได้ทักษะการคิดตั้งทฤษฎีจากการปฏิบัติ    คือได้เรียนรู้ทั้งด้านปฏิบัติและด้านทฤษฎี    แต่การเรียนรู้ทฤษฎีต่างจากที่เราเคยชิน คือเรียนทฤษฎีที่คนอื่นตั้งไว้แล้ว   แต่ในกรณีนี้เรียนจากทฤษฎีที่ตัวเราตั้งเอง 

ทฤษฎีอะไร

ทฤษฎี ๔ ด้าน   คือเกี่ยวกับ ค่านิยม (values) เจตคติ (attitude) ทักษะ (skills) และความรู้ (knowledge)   

จากประสบการณ์ สู่การเรียนรู้ค่านิยม ผ่านการตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับค่านิยมนั้นๆ เอง   เช่นบางประสบการณ์สอนเราเรื่องค่านิยมว่าด้วยความมุ่งมั่นอุตสาหะเพียรพยายาม   โดยที่ตัวเราตกผลึกออกมาเป็นหลักการนี้เอง    แล้วนำไปทดลองใช้ในกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายๆ รอบ    ความมุ่งมั่นอุตสาหเพียรพยายาม (วิริยะ - grit) ก็จะจารึกเข้าไปในเนื้อในตัวของเรา     ได้เป็นค่านิยมด้านดี หรือคุณธรรมประจำใจไปตลอดชีวิต   เท่ากับเราสอนตัวเราเองว่าด้วยค่านิยมด้านวิริยะจากประสบการณ์    ที่จะได้ผลจริงจังกว่าการรับคำสอนหรือการอ่านหนังสือ

ประสบการณ์อื่นอาจช่วยให้เราสอนตัวเองเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต    เรื่องความมีน้ำใจ    เรื่องความตรงต่อเวลา  ฯลฯ

ในกรณีของนักเรียน  ครูเป็นผู้ช่วยตั้งคำถามให้นักเรียนได้คิดในประเด็นนั้นๆ    “จากประสบการณ์นี้ นักเรียนได้แนวคิดเรื่องความซื่อสัตย์อย่างไรบ้าง”

จากประสบการณ์สู่การเรียนรู้เจตคติ หรือวิธีคิด หรือท่าที    ที่เป็นการคิดเชิงบวก เชิงสร้างสรรค์ เชิงเห็นแก่ส่วนรวม    เมื่อผ่านประสบการณ์หนึ่ง เราตั้งคำถามต่อตัวเราเองว่า เหตุการณ์นี้สอนอะไรเราเกี่ยวกับการคิดเชิงบวก   หรือการไม่ตกหลุมการคิดในแง่ร้าย    การตั้งคำถามนี้ซ้ำๆ ในต่างเหตุการณ์  จะช่วยให้การตกผลึกหลักการเจตคติเชิงบวกแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ    กลายเป็นคุณลักษณะประจำตัวเรา    เป็นคุณต่อชีวิตของเรา

ในบางเหตุการณ์   ที่มีข้อขัดแย้งเชิงวิธีคิดสองขั้ว    เราจะได้ฝึกสะท้อนคิดเรื่องความซับซ้อนและเป็นพลวัต (complex-adaptive)     ที่มีความจริงที่ย้อนแย้งกันอยู่ด้วยกัน   เป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกับเรื่องที่มีความชัดเจน (simple) ที่เป็นสภาพเทียม หรือถูกลดทอนความซับซ้อนให้เหลือมิติเดียว   การตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ในมิติของความซับซ้อน    จะช่วยให้เราตกผลึกหลักการว่าด้วยความซับซ้อน    ที่เมื่อเอาไปทดลองใช้ในสถานการณ์อื่นๆ และตกผลึกหลักการจากหลายสถานการณ์ เราก็จะเข้าใจวิธีคิดแบบซับซ้อนและปรับตัว   และไม่สับสนเมื่อเผชิญสถานการณ์ในทำนองดังกล่าว    ทั้งนี้ สำหรับนักเรียน ครูต้องช่วยตั้งคำถามนำ (scaffolding) เพื่อให้นักเรียนได้ทำความเข้าใจทฤษฎีความซับซ้อนมาก่อน

วิธีคิดของคนเรา เปลี่ยนจากดำเป็นขาว หรือจากซ้ายเป็นขวาได้   สภาพเช่นนี้เรียกว่า เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning)    มักเกิดจากความอึดอัดคับข้องใจที่พบว่าวิธีคิด (เจตคติ) ของตนไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เผชิญ   เมื่อได้ใคร่ครวญสะท้อนคิดอย่างจริงจัง (critical reflection) ในที่สุดจะหลุดจากความครอบงำของวิธีคิดเดิม    กลายเป็นคนใหม่    มีเรื่องเล่าของการเปลี่ยนขาด (transformation) อยู่ในตอนท้ายของหนังสือ เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง   การเรียนรู้จากประสบการณ์นำสู่การเปลี่ยนขาดวิธีคิดหรือตัวตน (หรือเจตคติ) ของบุคคลได้   โดยผ่านการใคร่ครวญสะท้อนคิดสู่หลักการด้านวิธีคิด 

จากประสบการณ์สู่การเรียนรู้ทักษะและเรียนรู้ความรู้ เป็นเรื่องที่เราคุ้นเคย   ไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่าง   แต่ขอย้ำว่า ทั้งเรื่องทักษะและเรื่องความรู้ เราสะท้อนคิดสู่วิธีการใหม่ก็ได้  สู่หลักการ (หรือทฤษฎีใหม่) ใหม่ก็ได้    มีประโยชน์ทั้งคู่  แต่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดต้องไม่หยุดอยู่แค่ตกผลึกวิธีการใหม่    ต้องไปให้ถึงหลักการใหม่   ที่เมื่อหมุนเกลียวยกระดับการเรียนรู้ด้านหลักการไปเรื่อยๆ    ก็เท่ากับเป็นกระบวนการยกระดับปัญญา   

ที่จริง เกลียวยกระดับค่านิยม และยกระดับเจตคติ เป็นกระบวนการยกระดับปัญญายิ่งกว่าเกลียวยกระดับทักษะและเกลียวยกระดับความรู้    เพราะค่านิยมและเจตคติเป็นปัญญาภายใน    ในขณะที่ทักษะและความรู้เป็นปัญญาภายนอก

วิจารณ์ พานิช

๑๓ มิ.ย. ๖๖

         

หมายเลขบันทึก: 713644เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2023 18:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2023 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับที่ทำให้ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง ไปในคราวเดียวกัน ….วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท