ทักษะชีวิต กับ VA ใน VASK


 

ทักษะชีวิต (life skills) หมายถึงอะไร   มีผู้เขียนไว้อย่างพิสดารที่ (๑)    และอีกแนวคิดหนึ่งที่ (๒) ที่บอกว่าทักษะชีวิตมี ๑๐ ด้าน   บัดนี้ ผมขอเสนออีกแนวคิดหนึ่ง    จากมุมมอง VASK ในการพัฒนามนุษย์ ที่ผมเคยบรรยายไว้เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ที่ (๓)    โดยขอนำมาขยายความในบันทึกนี้   

ทักษะชีวิตส่วนที่สำคัญที่สุดในสายตาของผมคือ ทักษะส่วนที่กำหนดชะตาชีวิตของบุคคลผู้นั้น   ว่าชีวิตจะหันเหไปทางดีหรือทางเจริญ หรือหลงไปในทางเสื่อม    นั่นคือ ทักษะ หรือสมรรถนะด้าน V – values - ค่านิยม   เด็กที่มีค่านิยมในการเอาเปรียบคนอื่น คดโกงหลอกลวงคนอื่น หรือแย่งชิงคนอื่น    ถือผลประโยชน์ส่วนตนสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด     มีค่านิยมว่า ขอให้ตนได้สิ่งที่ตนต้องการ ไม่ว่าจะโดยวิธีใด เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดในชีวิต    ในที่สุดก็จะกลายเป็นโจร    เป็นค่านิยมที่นำชีวิตสู่ทางเสื่อม   

    

ต่อไปจะขยายความ A, S, K  ใน VASK

 

A = attitude - เจตคติ  หมายถึงวิธีคิด   คิดอย่างมีคุณธรรม  คิดเชิงบวก คิดอย่างเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นเจตคติเชิงบวก    การศึกษาต้องฝึกให้เด็กมีเจตคติเชิงบวก    ลดละเจตคติเชิงลบ ที่อาจติดมาจากทางบ้าน  หรือจากสังคมแวดล้อม 

 

S = skills - ทักษะ  มักหมายถึงทักษะด้านเทคนิควิธีการเพื่อการทำมาหากิน หรือเพื่อการดำรงชีวิต    แต่ในระยะหลังมักให้ความสำคัญต่อ soft skills มากขึ้น   เช่น ทักษะความร่วมมือ (collaboration),  ทักษะสร้างสรรค์ (creativity),  ทักษะคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking), ทักษะสะท้อนคิด (reflection),  ทักษะคิดหลักการ (conceptualization)    และมักรวบเอาทั้ง VASK รวมเป็นสมรรถนะ (competency)   และมีการเสนอ ทักษะแห่งอนาคต หรือสมรรถนะแห่งอนาคต (future competencies)    ที่ต้องเตรียมไว้เผชิญอนาคต ที่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร (๔)     คำว่าทักษะหมายถึงต้องฝึก จึงจะได้มา    การเรียนรู้สมัยนี้จึงเน้นให้นักเรียนฝึกทำ    ไม่ใช่เน้นฟังครูสอน   

 

K = knowledge  ไม่ต้องอธิบาย    แต่ขอขยายความว่า   การเรียนรู้สมัยนี้ต้องไม่ใช่แค่ให้มีความรู้ แต่ต้องเพื่อเอาความรู้ไปใช้เป็น   หรือมีทักษะในการใช้ความรู้        

ทักษะชีวิตในมุมมองของผม (ซึ่งอาจไม่ถูกต้องครบถ้วน) เป็นบูรณาการ VASK

วิจารณ์ พานิช

๓๐ พ.ค. ๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 702910เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2022 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2022 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเห็นด้วย แต่อยากให้มีวิธีการที่ง่ายกว่านี้ที่จะป้องกันความเสื่อมโทรมของชีวิตได้จริง เพราะผมยังคิดว่าสมัยก่อนที่จะมาถึงปัจจุบัน ความเสื่อมโทรมที่ว่าคงไม่มากเท่าปัจจุบัน อีกประการหนึ่ง หากเป็นไปได้ขอให้มีการสำรวจทั่วทุกจังหวัด เพราะทราบจากข่าวความเสื่อมโทรมฯ ลักษณะที่เกี่ยวกับการฆ่ากันตายมีมากแทบทุกจังหวัด ทั้งที่ก่อนหน้านี้เหตุการณ์เลวร้ายมักเกิดในสังคมเมืองเป็นส่วนมาก มากกว่าจังหวัดที่ยังมีอาชีพเป็นเกษตรกรแบบนั้น และอยากทราบผลสำรวจว่าเด็กที่เรียนดีนั้น ได้เติบโตไปทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ากับสังคม อย่างน้อยก็มีงานทำที่ดีหรือไม่ สัดส่วนระหว่างเมืองกับชนบทเป็นอย่างไร ขอบคุณครับ…วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท