วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เรื่องการพัฒนาความเป็นครูนวัตกรโรงเรียนประถมศึกษา
ผมได้รับคำขอให้ตอบแบบสอบถาม ของ xxxxx นักศึกษาปริญญาเอก xxxxx เรื่อง รูปแบบการพัฒนาความเป็นครูนวัตกรโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตอนแรกผมไม่ตอบ เพราะส่งมาเฉพาะแบบสอบถาม ไม่มีเอกสารอื่นที่แสดงว่าเป็น “นักศึกษา” ตัวจริง คือมีการทำการบ้านมาก่อน
เมื่อผมส่งลิ้งค์บันทึก (๑) ไปให้พร้อมกับแจ้งว่า ผมไม่ตอบแบบสอบถามนักศึกษาที่ไม่ทำการบ้านมาก่อน เธอจึงส่งร่างวิทยานิพนธ์มาให้ อ่านแล้วก็ยิ่งชัดเจนว่า วงการศึกษาปริญญาเอกของ มรภ. แห่งนี้ มีเพียงการวิจัยเอกสาร ไม่มีการวิจัยแบบทดลองทำจริง เป็นข้อจำกัดของวงการครุศาสตร์ไทย ที่ไม่ถนัดเรื่องการสร้างความรู้ใหม่จากการปฏิบัติ ทำได้เพียงสร้างความรู้ใหม่จากเอกสาร ไม่ทราบว่าผมตีความผิดหรือเปล่า หากตีความถูก เมื่อไรจะมีการแก้ไข ใครจะรับภารกิจนี้
ที่สำคัญคือ วงการศึกษาไทยไม่ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ และสร้างความรู้ใหม่ จากการปฏิบัติงาน ที่พูดกันเรื่อง PLC – Professional Learning Community ก็พูดกันแบบไม่เข้าใจคุณค่าอย่างแท้จริง นี่คือการตีความระหว่างบรรทัดของผมจากการอ่านเอกสารที่ได้รับ ตีความถูกหรือผิดผมไม่รับรอง แต่ระหว่างอ่านผมรู้สึกเช่นนี้จริงๆ
ยิ่งวิทยานิพนธ์นี้เป็นเรื่องการพัฒนานวัตกร ยิ่งเห็นชัดว่านักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษามองการพัฒนานวัตกรจากมุมมองด้านทฤษฎีเท่านั้น ไม่ได้มองว่าการพัฒนานวัตกรต้องดำเนินการผ่านการปฏิบัติจริง แล้วจึงตกผลึกรูปแบบออกมาจากการสะท้อนคิดหลักการจากข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติ ซึ่งควรจะเป็นคำตอบของโจทย์วิจัย
ร่างวิทยานิพนธ์เสนอชัดเจนว่า ข้อมูลสำหรับการตอบโจทย์มาจากแบบสอบถามผู้บริหารโรงเรียน ๔๘๐ คน ไม่ใช่ข้อมูลที่มาจากครูดำเนินการด้วยตนเอง ที่ผมมีความเห็นว่าเป็นข้อมูลทุติยภูมิหรือตติยภูมิด้วยซ้ำ เป็นข้อมูลที่ผ่านการสังเกตและตีความของผู้ตอบแบบสอบถาม และเมื่อสร้างรูปแบบได้แล้ว ส่งให้ผู้บริหารโรงเรียน ๑๘ คน ที่มีผลงานเด่น ให้ความเห็น ซึ่งเป็นการให้ความเห็นด้วยข้อมูลทุติยหรือตติยภูมิ เช่นเดียวกัน
ที่แปลกสำหรับผม คือ นิยามของ “ครูนวัตกร” ไม่มีผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนอยู่ในนิยามเลย ผมเองมองว่า ครูนวัตกร คือครูที่ใช้วิธีการแปลกใหม่ หนุนให้นักเรียนพัฒนาตนเองได้ครบด้าน คือไม่ใช่เพียงด้านความรู้เท่านั้น นักเรียนของครูนวัตกรต้องได้พัฒนาครบด้านแบบ holistic หรือครบ VASK โดยครูนวัตกรมีวิธีประเมิน ๒ แบบ สำหรับใช้หนุนการเรียนรู้ของนักเรียน คือ AfL – Assessment for Learning หรือ Formative Assessment กับ AaL – Assessment as Learning หรือ Self-assessment โดยตัวนักเรียนเอง และมี AoL – Assessment of Learning หรือ Summative Evaluation สำหรับยืนยันว่าผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานที่กำหนด
สำหรับประเทศไทย ครูนวัตกร อีกแบบหนึ่งคือครูที่เอาใจใส่ศิษย์เป็นรายคน หนุนการเรียนรู้ของศิษย์ด้วย individualized learning ที่มีผลทำให้ความไม่เสมอภาคทางการศึกษาในชั้นเรียนได้รับการแก้ไข
หากลากเข้าสู่นโยบาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล ครูนวัตกรอีกแบบคือครูที่จัดการเรียนรู้ ๑ โรงเรียน ๓ รูปแบบให้แก่ศิษย์
จะเห็นว่า มุมมองนวัตกรรมของผม ต่างจากในเอกสารร่างวิทยานิพนธ์ ผมมองว่าจุดมุ่งหมายของความเป็นนวัตกรอยู่ที่เป้าหมายผลลัพธ์หรือผลกระทบเป็นหลัก ไม่ได้เน้นที่วิธีการ ซึ่งต้องใช้หลายวิธีประกอบกัน เพราะการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ตัวนักเรียนเองก็มีความแตกต่างหลากหลาย
ผมอ่านเอกสาร ๑๗๗ หน้า ที่มีสาระและเอกสารอ้างอิงเข้มขันมาก และพยายามตีความระหว่างบรรทัดเกี่ยวกับนวัตกรรมการศึกษา ตีความได้ว่าวงการศึกษาไทยมองครูนวัตกรว่าเป็นครูที่มีความสามารถพิเศษ มองนวัตกรรมตามที่นิยามในเอกสารว่าเป็นผลงานพิเศษ ซึ่งผมมองต่าง
ผมมองว่านิยามของครูนวัตกรรม และวิธีบรรลุความเป็นครูนวัตกรรม ตามในเอกสารควรเป็นกิจวัตรประจำวันตามหน้าที่ของครูทุกคนตามปกติ ไม่ถือเป็นนวัตกรรมแต่อย่างใด เป็นมุมมองของคนประหลาดหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
เกิดคำถามต่อว่า เพราะมุมมองหรือกระบวนทัศน์ที่ซ่อนอยู่ในร่างวิทยานิพนธ์หรือเปล่า ที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยเป็นอย่างในปัจจุบัน
ผมอ่านไป ตั้งคำถามไป ว่าปัญหาหนึ่งที่นำสู่สภาพด้อยคุณภาพของการศึกษาไทย คือกระบวนทัศน์ติดรูปแบบ ใช่หรือไม่ อ่านแล้วผมรู้สึกว่ามีการเอารูปแบบเป็นเป้าหมาย ในขณะที่ตัวผมเองมองรูปแบบว่าเป็นเครื่องมือ โดยเป้าหมายคือตัวนักเรียน ที่มีการพัฒนาอย่างมีคุณภาพดังกล่าวแล้ว
ส่วนที่ขาดหายไป
อ่านเอกสารทั้งหมดแล้ว ผมรู้สึกว่า ผมมองปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งเสริมครูให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือที่เอกสารนี้เรียกว่านวัตกร คือระบบนิเวศการทำงานที่ให้อิสระผสานกับความรับผิดชอบแก่ครู ซึ่งในเวลานี้ระบบการศึกษาไทยบริหารไปในทางตรงกันข้าม คือใช้การสั่งการจากส่วนกลางลงไปเป็นทอดๆ ครูมีอิสระน้อย และต้องใช้เวลาทำงานสนองหน่วยเหนือ ทำให้มีเวลาเอาใจใส่ศิษย์น้อย ผมทราบจากการพูดคุยส่วนตัวกับครูเมื่อสามสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า นโยบายคืนครูแก่ศิษย์ไม่เป็นความจริงในทางปฏิบัติ
ผมแปลกใจที่เอกสารนี้ไม่ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด ต่อการหนุนครูให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (agency) น่าจะเป็นเพราะวงการศึกษาไทยมองว่าระบบการบังคับบัญชาแบบควบคุมสั่งการเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่ผมไม่เห็นด้วย
ที่จริงผู้เขียนเอกสารได้ระบุเรื่อง การกระจายอำนาจและความเป็นอิสระทางวิชาการไว้ในหน้า ๑๑๓ แต่เป็นการเขียนแบบสรุปหลักการ ไม่ได้เน้นการปฏิบัติ
ส่วนที่เน้นผิดจุด
ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เอกสารร่างวิทยานิพนธ์นี้ เน้นความเป็นนวัตกรที่การมีเครื่องมือแปลกใหม่ สำหรับใช้ในการทำงาน ในขณะที่ผมมองว่าความเป็นนวัตกรหรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง ดูที่ผลงาน ซึ่งก็คือผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน
วิธีวิทยาที่ไม่นำสู่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา
วิธีวิทยาที่เสนอในร่างโครงการวิจัย เป็นวิธีวิทยาเชิงหลักการ หรือวิธีวิทยาทางอ้อม ใช้วิธีสร้างแบบสอบถาม เอาไปเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียน ที่น่าจะนำสู่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและได้รับปริญญาเอกได้อย่างสมภาคภูมิ แต่จะไม่มีส่วนยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย เพราะไม่ใช่การวิจัยแบบครูทดลองปฏิบัติจริง แล้ววัดผลที่ตัวนักเรียน
ผมมีความเห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเอก ต้องเลิกวิธีวิทยาแบบนี้ หากต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการศึกษาไทยคุณภาพต่ำ ต้องหันไปใช้วิธีวิทยาแบบลงมือปฏิบัติจริง แล้ววัดผลที่ตัวนักเรียน
ผมสะท้อนคิดเขียนบันทึกนี้อย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ยืนยันว่าความคิดของผมจะถูกต้อง และอย่างเคารพในความคิดเห็นที่ต่าง รวมทั้งขอกราบประทานอภัย หากความตรงไปตรงมาของผมก่อความไม่พอใจแก่ท่านผู้ใด ผมไม่มีเจตนาลบหลู่ แต่อยากเห็นระบบการศึกษาไทยหลุดจากหล่มกระบวนทัศน์ล้าหลังเรื่องการศึกษา
วิจารณ์ พานิช
๔ ม.ค. ๖๘
ผมเห็นด้วยกับอาจารย์วิจารณ์อย่างมาก และดีใจที่อาจารย์ได้ให้ข้อคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา สมกับนามชื่อของอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง แต่ก็คิดว่าอาจารย์ที่เป็นเจ้าของดุษฎีนิพนธ์คงมีน้ำใจที่ดีต่อข้อคิดเห็นต่าง ซึ่งนั่นก็เป็นบันไดขั้นหนึ่งที่เขาจะต้องก้าวต่อไปเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศอย่างแท้จริง (แม้จะต้องใช้เวลานาน หรืออาจต้องเปลี่ยนหัวข้อดุษฎีนิพนธ์?)และคงไม่เขวไปกับสิ่งแวดล้อมที่ มรภ.ที่อาจเป็นผู้สร้างแนวทางอย่างที่ทำกันมา ถึงเวลาแล้วที่ต้องวัดผลการศึกษาและการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม …วิโรจน์ ครับ