สะท้อนคิดเรื่องวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเพื่อผลกระทบสูง ต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย
หลังจากรู้จักกันในงาน KM TSQM ของ กสศ. ระหว่างวันที่ ๑๓ - ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๗ ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง ผอ. xxxxx ก็ส่งอีเมล์ขอให้ผมให้ความเห็นต่อร่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของท่านเรื่อง รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูในยุคดิจิทัลของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน อ่านแล้วมีความสุข ว่าประเทศไทยมีผู้บริหารโรงเรียนคุณภาพสูงอย่าง ผอ.xxxx อยู่ด้วย
รวมทั้งได้เรียนรู้ว่า xxxxx มีการจัดการศึกษาระดับปริญญาเอก โดยในกรณีนี้มี ผศ.ดร.xxxx เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก และผศ.ดร.xxxx เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม ขอแสดงความนับถือท่านอาจารย์ทั้งสองมา ณ ที่นี้ ที่ได้ให้คำแนะนำปรึกษาจนนักศึกษาเขียนร่างวิทยานิพนธ์ บทที่ ๑ - ๓ ได้ดีขนาดนี้
ผมได้เรียนรู้มากมาย จากการอ่านร่างวิทยานิพนธ์บทที่ ๑ - ๓ เกิดความเข้าใจว่า ปัญหาคุณภาพการศึกษาไทย ไม่ได้เกิดจากความ “ไม่รู้” แต่เกิดจากความ “ไม่เข้าใจ” ที่นำสู่การ “ไม่ได้นำไปปฏิบัติ” และ “ไม่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ” โดยผมตีความว่า เกิดจากความเข้าใจผิด ว่าการเรียนรู้ได้จากการอ่านหรือฟังผู้รู้ ที่นำสู่การเชื่อหรือพูดตาม หรือตอบคำถามที่สอบทานความจำ
เราจึงเห็นประเพณีพูดคำโตๆ ตามคำกล่าวของผู้มีอำนาจ ในวงการศึกษา เป็นการพูดซ้ำโดยไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง หรือเข้าใจเพียงมิติที่ตื้น ไม่ได้ตีความเข้าไปในมิติที่ลึกสู่การปฏิบัติ ไม่ได้มุ่งนำไปปฏิบัติ เป็นวัฒนธรรมที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นวัฒนธรรมหลอกๆ ไม่จริงใจ
ผมติดใจข้อความในเอกสารหน้า ๔ “ดังนั้นในการพัฒนาครูให้มีความเป็นมืออาชีพและเป็นผู้มีสมรรถนะ ที่เด่นชัดในปัจจุบัน ได้แก่ การพัฒนาสมรรถนะด้านการออกแบบและวางแผนการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้เป็นสมรรถนะที่มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นขั้นตอนของการวางแผนการปฏิบัติงาน โดยใช้ศาสตร์วิชาชีพครู สมรรถนะด้านการจัดการชั้นเรียนและบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ สมรรถนะด้านการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ สมรรถนะด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่อง โดยมีรูปแบบการพัฒนาที่นําไปใช้อย่าง แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับ เช่น การอบรม การศึกษาดูงาน การฝึกปฏิบัติ การสัมมนา และการนิเทศ เป็นต้น เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานที่ดีขึ้น และเพิ่มพูนประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้” ที่ผมตีความว่า (ไม่แน่ใจว่าตีความถูกหรือผิด) วงการศึกษาไทยให้น้ำหนักต่อการพัฒนาวิชาชีพครูจากกระบวนการ PLC น้อย หรือไม่คำนึงถึงเลย
ผมตีความต่อว่า วงการศึกษาศาสตร์ครุศาสตร์ไทย มองการพัฒนาครูประจำการโดยให้น้ำหนักที่การฝึกอบรม (training) ที่มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานวิชาการของกระทรวงศึกษาธิการจัดให้ ไม่ให้น้ำหนัก (หรือให้น้ำหนักน้อย) แก่การเรียนรู้และพัฒนาครูประจำการจากการเรียนรู้ร่วมกันของครูจากประสบการณ์ (experiential learning) ที่ได้จากกระบวนการ PLC (พัฒนาครูด้วยกระบวนการ learning จากประสบการณ์ตรงของครู) ที่ผมมองว่า การให้น้ำหนัก PLC น้อย เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ผมเสนอข้อคิดเห็นนี้ด้วยความเคารพต่อวงการศึกษาไทย โดยไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจถูกหรือผิด
ผมคิดว่า มายาคติของการศึกษาไทย ที่ทำให้การศึกษาไทยไม่พัฒนา คือความเชื่อและบูชาในหลักการหรือทฤษฎีที่มีจากตะวันตก หรือจากส่วนกลางของระบบการศึกษา ไม่กล้าคิดหลักการขึ้นเองจากการปฏิบัติ ระบบการศึกษาไทยจึงเป็นระบบแห่งอดีต ไม่เป็นระบบแห่งปัจจุบันและอนาคต เป็นระบบที่มุ่งส่งเสริมให้ครูและผู้เรียนเชื่อหลักการที่กำหนดจากหน่วยเหนือ ที่รับมาจากตะวันตกอีกต่อหนึ่ง ไม่ส่งเสริมให้ครูและผู้เรียนเป็นตัวของตัวเอง (agency) กล้าเสนอหลักการที่ตนเองตกผลึกจากประสบการณ์ของตนเอง ระบบการศึกษาไทยจึงไม่เป็นระบบแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เป็นระบบแห่งอดีต ที่มุ่งครอบงำความคิดความเชื่อตามที่ “ผู้รู้” หรือ “ผู้มีอำนาจ” กำหนด ไม่มุ่งส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีความคิดของตนเอง
ผมชอบข้อความในหน้า ๔ “สมรรถนะของครูไทยในศตวรรษที่ 21 นั้นประกอบด้วย 7 สมรรถนะคือ 1) สมรรถนะด้าน การจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 2) สมรรถนะด้านการวัดและประเมินผลเพื่อ การพัฒนาและคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของบุคคล 3) สมรรถนะด้านคอมพิวเตอร์และ เทคโนโลยีและการรู้เท่าทันสื่อ 4) สมรรถนะด้านคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ 5) สมรรถนะด้านการทำงานเป็นทีมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 6) สมรรถนะด้านการข้ามวัฒนธรรม และ 7) สมรรถนะด้านการเป็นผู้อำนวยความสะดวก และแนะแนวทาง” โดยเฉพาะข้อ ๕ ที่ผมตีความว่าหมายถึง PLC ที่บอกเราว่า ครูและผู้บริหารโรงเรียนต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติหน้าที่ของตน คือต้องมีทักษะในการเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning) แต่จะเห็นว่า ในความเป็นจริง วงการศึกษาไทยไม่เข้าใจ และไม่ได้ปฏิบัติ
ข้อความในหน้า ๕ “สภาพปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาที่สรุปโดย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2557: 14) กล่าวคือ ครูส่วนใหญ่เน้นการบรรยายและยังใช้สื่อนวัตกรรมการสอนน้อย การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่ได้ฝึกฝนให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ครู ขาดความรู้และทักษะในการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนการสอน สื่อการสอนที่ได้รับจากส่วนกลางไม่ตรงกับเนื้อหาและความต้องการของครู สื่อและเทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนการสอนไม่เหมาะสมกับผู้เรียน ครูขาดทักษะในการสร้างและหาคุณภาพเครื่องมือวัดและประเมินผล” บอกผมว่าวงการบริหารการศึกษาไทยในส่วนกลางรู้จุดอ่อนที่ต้องแก้ไข แต่ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขจุดอ่อนนั้นอย่างจริงจัง คุณภาพการศึกษาไทยจึงไม่กระเตื้องขึ้นเลยใน ๑ ทศวรรษที่ผ่านมา
ข้อความในหน้า ๕ “มาตรฐานวิชาชีพครูมี 3 ด้าน ประกอบด้วยด้านที่ 1 คือมาตรฐานด้านความรู้ และวิชาชีพ ด้านที่ 2 คือมาตรฐานด้านการปฏิบัติงาน และด้านที่ 3 คือมาตรฐานด้านการปฏิบัติตน” นำผมสู่ข้อสะท้อนคิดว่า ใครเป็นผู้ใช้มาตรฐานนี้ และตีความสู่การปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างไร นี่คือข้อท้าทายต่อทุกวงการวิชาชีพ ที่วิชาชีพครูเป็นส่วนหนึ่ง คำถามของผมคือ การบริหารมาตรฐานแต่ละด้านเป็นอย่างไร โดยเฉพาะมาตรฐานด้านการปฏิบัติตน การปฏิบัติตนแบบใดบ้างที่ยอมรับไม่ได้ หากมีการปฏิบัติต้องมีการเตือน หากปฏิบัติซ้ำ ต้องถือเป็น “อาบัติระดับปาราชิก” สำหรับครู วงการบริหารการศึกษาของประเทศเอาจริงเอาจังเรื่องนี้แค่ไหน
ข้อความในหน้า ๕ - ๖ “สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งได้กำหนด อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารโรงเรียน มาตรฐานวิทยฐานะ หลักเกณฑ์และวิธีการให้มีวิทยฐานะและ เลื่อนวิทยฐานะ โดยมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน และการพัฒนา สมรรถนะหลักและสมรรถนะ ตามตำแหน่งงาน (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, 2549: 8) ใน แผนและยุทธศาสตร์การพัฒนาครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2549-2551 ได้ กำหนด เป้าหมายและ วิธีการพัฒนา โดยกำหนดจำนวนครั้งในการพัฒนาอย่างน้อยปีละ 1 โดยมีหลักการใน การพัฒนาไว้ว่า การพัฒนาต้องก่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงที่ตัวผู้เรียน เกิดจากความต้องการของครู และบุคลากรทางการศึกษา มุ่งเน้นลักษณะ Site Based Development หรือ School Based Development มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล สอดคล้องกับ ภารกิจและหน้าที่ที่ปฏิบัติของครูและบุคลากรทางการศึกษา ดำเนินการในรูปแบบเครือข่ายกระจาย ทั่วประเทศ สอดคล้องกับนโยบายและข้อกำหนดของ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทำอย่างทั่วถึงและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ” ทำให้ผมตกใจมาก
เพราะเป็นข้อความที่สับสน มีการเอ่ยถึง Site-based development หรือ school-based development ที่น่าจะหมายถึงการพัฒนาครูและผู้บริหารด้วย PLC ควบคู่กับข้อความว่า พัฒนาอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ที่น่าจะหมายถึงการออกไปเข้ารับการอบรม ที่สองข้อความนี้ขัดกันอย่างชัดเจน
ผมมีความเชื่อว่า การพัฒนาวิชาชีพครูต้องเกิดขึ้นทุกวัน บูรณาการอยู่ในการปฏิบัติงานประจำวัน ที่ต้องมีเวลาคุยกันยาว หากจะทำความเข้าใจให้แจ่มชัด
ผมชอบข้อความในหน้า ๖ “พัฒนาครูบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้และสมรรถนะด้านวิชาการด้านทักษะ การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)” ที่ท่าน ผอ. xxxx กับผมไปร่วมกิจกรรมในวันที่ ๑๓ - ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๗ ที่ผู้บริหารและครูในโรงการ TSQM ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการที่ตนปฏิบัติ นำสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่น่าภูมิใจ และดำเนินการตามที่ สกศ. เสนอปัญหาไว้ในปี ๒๕๕๗
ผมชอบข้อความในหน้า ๗ - ๘ ที่ ผอ. วราภรณ์ระบุว่าตนในฐานะ “ผู้บริหารโรงเรียนซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาบุคลากรในโรงเรียน มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ครูพัฒนาสมรรถนะ ซึ่งเป็นสมรรถนะที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนอย่างยิ่ง” เป็นข้อความที่ตรงใจผมที่สุด ว่าการพัฒนาสมรรถนะครู ต้องเน้นพัฒนาผ่านการปฏิบัติหน้าที่ครูนั้นเอง และผู้อำนวยการโรงเรียนมีหน้าที่หนุนการพัฒนานั้น โดยพัฒนาให้ครูจัดการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการพัฒนานักเรียน
ผมชอบนิยาม “สมรรถนะครู หมายถึง กลุ่มของความรู้ ทักษะ ตลอดจนทัศนะคติ ที่จำเป็นในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คุณลักษณะของบุคคลที่มีผลต่อพฤติกรรม และผลของการปฏิบัติงาน ซึ่งคุณลักษณะประกอบขึ้นจาก ทักษะ ความรู้ ความสามารถ ทัศนคติบุคลิกภาพ ค่านิยม ของบุคคล หรือพฤติกรรมของผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานยอดเยี่ยม ในงานหนึ่ง ๆ มี 3 องค์ประกอบได้แก่ ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ” ที่ผมขอเสนอให้เพิ่มเป็น ๔ องค์ประกอบ โดยเติมองค์ประกอบด้านค่านิยม (values) ที่มีการกล่าวถึงแล้ว แต่ตกไปตอนระบุองค์ประกอบ
ตามในหนังสือ ค่านิยมศึกษา สู่คุณค่านำทางชีวิต ระบุนิยามของค่านิยมตามนิยามของราชบัณฑิตว่า “สิ่งที่บุคคลหรือสังคมยึดถือเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ และกำหนดการกระทำของตนเอง” และนิยามค่านิยมศึกษาว่า “ค่านิยมศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาที่พัฒนานักเรียนให้เป็น “คนเต็มคน” หรือเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” คือไม่เพียงมีความรู้และทักษะเพื่อการทำมาหากินหรือดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ยังได้พัฒนา “คุณสมบัติ” ของการเป็นคนดี เป็นพลเมืองดี ด้วย อันจะส่งผลต่อบุคคล ให้มีชีวิตที่ดี มีความสุขความมั่นคงในชีวิต รวมทั้งเป็นชีวิตที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม” ส่วนนี้แหละ ที่ท้าทายการพัฒนาสมรรถนะครูในยุคปัจจุบัน
เอกสารหน้า ๑๖ ระบุว่า “ค่านิยม (OBEC) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นองค์กรที่มีชีวิต พร้อมจิตเอื้ออาทร อาภรณ์คือความขยัน ใจยึดมั่นหลักยุติธรรม O – Organic “เป็นองค์กรที่มีชีวิต” หมายถึง ผู้บริหาร และบุคลากรในสังกัด มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงปรับตัวอยู่เสมอ มุ่งสู่เป้าหมายขององค์กร มีการสื่อสารที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ B – Benevolence “พร้อมจิตเอื้ออาทร” หมายถึง ผู้บริหาร และบุคลากรในสังกัด มีความเต็มใจ เอาใจใส่ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นความเสมอภาค E – Eagerness “มีอาภรณ์คือความขยัน” หมายถึง ผู้บริหาร และบุคลากรใน สังกัด มีความมุ่งมั่น วิริยะอุตสาหะ ปฏิบัติงานตามได้รับมอบหมายด้วยความเข้มแข็ง ไม่ปล่อย ปละละเลยต่อหน้าที่ มีความกระตือรือร้น ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้และเทียบเคียง (Benchmark) C – Compliance “ใจยึดมั่นหลักยุติธรรม” หมายถึง บุคลากรในสังกัด ปฏิบัติงานด้วยความเป็นธรรม มีความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ชอบด้วยเหตุและผล ความเสมอภาคในทุกประเภท มีความรับผิดชอบร่วมกัน ตรวจสอบได้” เป็นข้อความระบุค่านิยมที่งดงาม สละสลวย และลึกซึ้ง หากปฏิบัติได้สักครึ่งหนึ่ง หรือหากเป็นเข็มทิศต่อการปฏิบัติจริง คุณภาพการศึกษาไทยจะไม่ตกต่ำอย่างที่เห็น
อ่านเอกสารหน้า ๒๗ ถึง ๔๒ แล้วอ่อนใจ ที่นโยบายของ สพฐ. ยาวเหลือเกิน ผมสงสัยว่าเพราะนโยบายลงรายละเอียดมากเกินไปหรือเปล่า ที่มีส่วนทำให้คุณภาพการศึกษาไทยต่ำยาวนานฟื้นไม่ขึ้น
เอกสารหน้า ๔๓ - ๔๖ คัดลอกเรื่องสมรรถนะครู ตาม พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาลงไว้อย่างยืดยาว ที่อ่านแล้วเห็นความละเอียดครบถ้วน แต่จะเห็นว่าในชีวิตจริง ไม่เกิดผลตามในตัวหนังสือ
ยิ่งอ่านต่อไปเรื่อยๆ พบว่า ผอ. xxxx รวบรวมข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลสมรรถนะครูไว้อย่างครบถ้วน อ่านแล้วผมร้องอ๋อกับตนเอง ว่าพบแล้วว่า ทำไมสมรรถนะครูไทยจึงไม่บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในเอกสารเหล่านั้น
ก็เพราะหน่วยงานเหล่านั้นถือตนเองเป็นศูนย์กลาง วางท่าทีของหน่วยอำนาจ ไม่มีเค้าของการทำงานแบบเอื้ออำนาจ หรือหนุนภาคปฏิบัติ แก่ครูและโรงเรียน ที่ผมตีความว่า เป็นหลักฐานของความเข้าใจผิด ว่าในกิจกรรมด้านการศึกษานั้น เป็นเรื่องตรงไปตรงมาที่ใช้อำนาจบังคับบัญชาสั่งการได้ผล ซึ่งในความเป็นจริงนั้น การศึกษาเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่ชัดเจน หรือมีความคลุมเครือไม่แน่นอนอยู่มาก ในสภาพความเป็นจริงเช่นนี้ การวางกระบวนทัศน์ที่ผิดด้านการกำกับดูแล จึงนำสู่การดำเนินการจริงแบบหลอกๆ เพื่อสนองคำสั่งผู้บังคับบัญชาเป็นหลัก ไม่ได้ทำเพื่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นหลักอย่างที่เขียนในเอกสาร
ตีความใหม่ หน่วยงานเจ้าของเอกสารตามที่ ผอ. xxxx รวบรวมมาเสนอ ปฏิบัติต่อครูและโรงเรียนในลักษณะที่แย้งกับเป้าหมายที่ระบุว่า เพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน คือหน่วยงานปฏิบัติต่อครูและโรงเรียนเพื่อให้ครูและโรงเรียนสนองผลสำเร็จของหน่วยงานกลางเป็นเป้าหมายหลัก ไม่เปิดโอกาสให้ครูและโรงเรียนอุทิศสมอง เวลา และความสามารถเพื่อนักเรียนเป็นหลัก
ยิ่งการทบทวนผลงานวิจัยเรื่องการพัฒนาสมรรถนะครู และการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียน เอกสารนำเสนอผลงานมากมาย ทำให้ผมตั้งคำถามว่า เมื่อมีงานวิจัยมากมายขนาดนี้ ทำไมสมรรถนะครูไทย และผู้อำนวยการโรงเรียนไทยไม่นำสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่ยกระดับขึ้น นำสู่ข้อสงสัยว่าการวิจัยดังกล่าวเน้นเพื่อให้มีผลงานวิจัย ไม่ได้เน้นใช้งานวิจัยเพื่อสร้างผลกระทบต่อนักเรียนอย่างจริงจัง ใช่หรือไม่
หากใช่ งานวิจัยเหล่านั้นก็เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า หากมองจากมุมของหลักการวิจัยเพื่อสร้างผลกระทบ แต่ก็เถียงได้ว่า ก็ได้ผลแล้วไง คือผู้วิจัยได้รับปริญญาที่สูงขึ้น หรือได้รับการเลื่อนวิทยะฐานะ ซึ่งก็นำสู่คำถามต่อเนื่อง ว่าเป็นงานวิจัยเพื่อผู้วิจัย หรือเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา หรือเพื่อทั้งสองเป้าหมาย ผมอยากเห็นผลกระทบทั้งสองเป้าหมาย
ผมจึงตีความว่า งานวิจัยด้านการศึกษาตามที่อ้างอิงในเอกสารนี้ ส่วนใหญ่หรือ(เกือบ)ทั้งหมด มีเป้าหมายเพื่อเป็นผลงานของผู้วิจัย ไม่มุ่งสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาระบบการศึกษา นำสู่คำถามต่อ ว่าโครงการวิจัยของ ผอ. วราภรณ์ อยู่ในกระบวนทัศน์เดียวกันหรือไม่
เมื่ออ่านเอกสารร่างโครงการวิจัยครบทั้ง ๑๗๐ หน้า ผมก็ถึงบางอ้อ ว่าทำไมงานวิจัยจำนวนมากมาย ในหัวข้อดีๆ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาไทย
ผมตอบว่า เพราะงานวิจัยไปไม่ถึงการทดลองปฏิบัติการจริงกับนักเรียน เพราะต้องลงแรงมากกว่าวิธีที่วงการครุศาสตร์ไทยใช้อย่างที่เสนอในเอกสารนี้อย่างมากมาย รวมทั้งต้องใช้เวลาทำวิจัยปฏิบัติการอย่างน้อย ๑ ปีการศึกษา หรือหากจะให้ได้ผลงานคุณภาพสูงก็อาจต้องดำเนินการ ๒ - ๓ ปีการศึกษา
แต่ตามเอกสารนี้ เป็นการวิจัยสอบถามผู้ทรงคุณวุฒิ เอามาปรับปรุงแบบสอบถาม และเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามครู ซึ่งง่ายกว่านับสิบเท่า ได้ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาการ แต่ไม่ก่อผลกระทบต่อการยกระดับคุณภาพผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน
ผมไม่รับรองว่าข้อสะท้อนคิดของผมจะถูกต้อง เพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ผมเป็นเพียงผู้สนใจและพยายามเรียนรู้เท่านั้น และหากข้อเขียนนี้ก่อความขุ่นข้องหมองใจต่อท่านผู้ใด ผมกราบขออภัย ผมไม่มีเจตนาลบหลู่ มีแต่เจตนาอยากเห็นวงการศึกษาไทยร่วมกันสร้างพลเมืองไทยในอนาคตที่มีคุณภาพ
วิจารณ์ พานิช
๑ ม.ค. ๖๘
สวัสดีปีใหม่ครับ อาจารย์หมอ ;)…
แวะมากด Like ให้ดอกไม้บันทึกนี้ครับ ;)…