งานวิจัย R2R แห่งความภาคภูมิใจ ก้าวแรกของหนู


บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง  :  ผลของโปรแกรมการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะเศร้าโศกผิดปกติในบิดาและมารดาที่สูญเสียบุตรจากความเจ็บป่วย( Effects of the Bereavement Program to prevent  complicated grief of bereaved parents who lose a child from illness)

ชื่อผู้วิจัย  :  สุธีรา  ยาทองไชย หน่วยงาน หอผู้ป่วย 2ง แผนกการพยาบาลกุมารเวชกรรม งานบริการพยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์       

ที่มา:  สถิติการเสียชีวิตเด็กป่วยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จำนวน 41 , 37, 34 คน ในปี พ.ศ.2558-2560  ตามลำดับ จากการศึกษานำร่อง บิดามารดาของเด็กป่วยที่เสียชีวิตมีความเศร้าโศกผิดปกติ ระดับปานกลาง ร้อยละ 59.2 และเศร้าโศกมากขึ้นจนได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้า  ร้อยละ 1.5 จากการทบทวนงานวิจัยพบว่า การให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันภาวะความเศร้าโศก (grief counseling) ทำให้บิดามารดาก้าวผ่านความเศร้าโศกในระยะเฉียบพลัน หลังการสูญเสียในระยะ 6 เดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้วิจัยจึงได้พัฒนาโปรแกรมฯเพื่อป้องกันภาวะเศร้าโศกโดยใช้ทฤษฎีความเศร้าโศกคูเบอร์ลอส  ทฤษฏีผูกพันต่อเนื่องค้างคาและโมเดลการให้ความรู้ การสนับสนุน และการชี้แนะ ประกอบด้วย การให้ความรู้เรื่อง ความเศร้าโศกและกระบวนการก้าวผ่าน การเก็บความทรงจำ ติดตามให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องจนถึง 6 เดือน  ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาผลของโปรแกรมการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะเศร้าโศกผิดปกติในบิดาและมารดาที่สูญเสียบุตรจากความเจ็บป่วย

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะเศร้าโศกผิดปกติในบิดาและมารดาที่สูญเสียบุตรจากความเจ็บป่วย 

ระเบียบวิธีวิจัย: วิจัยกึ่งทดลอง คำนวณกลุ่มตัวอย่าง ได้ 28 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและควบคุมกลุ่มละ 14ราย  เลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์คัดเข้า เป็นบิดาหรือมารดามีความเสี่ยงต่อการเกิดความเศร้าโศกผิดปกติอยู่ในระดับปานกลางและระดับมาก ที่มีบุตรเจ็บป่วยในระยะท้าย อายุต่ำกว่า 18ปี ในช่วงมีนาคม 2564 ถึง พฤษภาคม 2565 ลดการปนเปื้อนโดยการเก็บข้อมูลในกลุ่มควบคุมก่อนและให้การพยาบาลตามปกติ หลังบุตรเสียชีวิต  6  เดือน มีการประเมินอารมณ์เศร้าโศกผิดปกติจากการสูญเสีย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะเศร้าโศกผิดปกติในบิดาและมารดาที่สูญเสียบุตรจากความเจ็บป่วย ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น โดยให้การพยาบาลตามโปรแกรมฯ 5 ครั้งๆละ 20-30 นาที ครั้งที่ 1 เริ่มให้โปรแกรม ก่อนบุตรเสียชีวิต ผู้วิจัยสร้างสัมพันธภาพเพื่อการเยียวยา ประเมินความพร้อมและ emotional  express ให้ความรู้และเทคนิคการเผชิญกับความเศร้าโศกจากการสูญเสีย ได้แก่ การให้กำลังใจตัวเอง  การมองหาแหล่งสนับสนุน การฝึกผ่อนคลาย และมอบคู่มือการดูแลตนเองเพื่อศึกษาเพิ่มเติม มอบกล่องความทรงจำ ครั้งที่ 2 ในสัปดาห์ที่  2  ครั้งที่ 3 ในสัปดาห์ที่  4  ครั้งที่ 4 ในสัปดาห์ที่ 12 ติดตามและให้คำปรึกษาหลังบุตรของกลุ่มตัวอย่างเสียชีวิต โดยใช้ Telephone follow- up ในรูปแบบของวิดิโอคอล  มีข้อคำถามและการให้การประคับประคองความเศร้าโศกโดยใช้หลัก Worden's Four Tasks of Mourning เป็นกรอบแนวคิด เบิกทางในการเข้าใจกระบวนการความเศร้าและการยอมรับ และครั้งที่ 5 ติดตามและให้คำปรึกษา หลังบุตรเสียชีวิต  6  เดือนและประเมินอารมณ์เศร้าโศกผิดปกติจากการสูญเสีย  วิเคราะห์ข้อมูลโดยเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนความเศร้าโศกระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยใช้สถิติ Mann-Whitney U test 

ผลการศึกษา : ลักษณะทั่วไปของกลุ่มควบคุมและทดลองคล้ายคลึงกัน  เป็นเพศหญิง (92.85%, 92.85%) อายุเฉลี่ย (32.42ปี , 36.8ปี) สถานภาพสมรสคู่ (78.57% ,85.71%) ระดับการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี (100% ,85.71%) ระหว่างศึกษากลุ่มตัวอย่างเข้าเกณฑ์การถอนออกจากการวิจัยทำให้กลุ่มควบคุมเหลือ 13 รายและ กลุ่มทดลองเหลือ 11 ราย ผลการเปรียบเทียบคะแนนความเศร้าโศกของกลุ่มทดลอง (mean rank8.95 )น้อยกว่ากลุ่มควบคุม(mean rank 15.50) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Mann-Whitney U Test = 32.5, p-value = 0.011) อธิบายได้ว่า โปรแกรมฯ สามารถป้องกันภาวะเศร้าโศกผิดปกติในบิดาและมารดาที่สูญเสียบุตรจากความเจ็บป่วย  จากการได้รับความรู้เรื่อง ความเศร้าโศกและกระบวนการก้าวผ่าน การเก็บความทรงจำ ได้รับให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องจนถึง 6 เดือน ทำให้สามารถยอมรับ และเผชิญกับความเศร้าได้ โดยปรับสภาพจิตให้เป็นไปตามกระบวนการของความเศร้าโศก รวมทั้งมองหาสิ่งดีดีในชีวิต จากความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับลูกที่จากไป 

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ:งานวิจัยนี้นำไปเผยแพร่ในแผนกกุมารฯเพื่อให้พยาบาลนำไปประยุกต์ใช้ และผู้วิจัยในฐานะพยาบาล case manager ได้ประยุกต์ใช้ในการดูแลในบิดาและมารดาที่สูญเสียบุตรและเผยแพร่ในเวปไซด์ GotoKnow เพื่อให้พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยลักษณะเดียวกันสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ได้ และอยู่ในระหว่างตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางการพยาบาล

บทเรียนที่ได้รับ: การดูแลบิดาและมารดาที่สูญเสียบุตรจากความเจ็บป่วยพยาบาลสามารถทบทวนปัญหาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาโปรแกรมการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะเศร้าโศกผิดปกติเพื่อให้บิดามารดาผู้สูญเสียก้าวผ่านความเศร้าโศกหลังการสูญเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ:การพัฒนางานประจำให้เป็นวิจัยมีทีมพี่เลี้ยงให้คำแนะนำช่วยเหลือจนงานนี้ประสบผลสำเร็จ การนำผลวิจัยไปใช้อย่างเป็นระบบและยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือของทีมสหสาชาวิชาชีพ

การสนับสนุนที่ได้รับจากผู้บริหารหน่วยงาน/องค์กร : ได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายและได้รับทุนวิจัยสถาบัน มข. ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 8,000 บาท มีผู้บริหารในแผนกฯเป็นที่ปรึกษาและให้กำลังใจรวมทั้งส่งอบรมทั้งในและนอกหน่วยงานเพื่อให้สามารถพัฒนางานประจำให้เป็นวิจัยได้

คำสำคัญ  :  Bereaved parents , Bereavement care  program , grief 

คำสำคัญ (Tags): #ิbereavement care#grief#bereaved parents
หมายเลขบันทึก: 703183เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2022 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2022 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ก้าวต่อไปคือเขียน manuscript เตรียมต้นฉบับเพื่อนำเสนอตีพิมพ์ในวารสารการพยาบาลค่ะ

โปรแกรมน่าสนใจมากค่ะ ยอดเยี่ยม

น่าสนใจมาก R2R แบบนี้ที่อยากได้เกิดประโยชน์มากๆครับ

เป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ ที่พัฒนาโปรแกรมที่เป็นประโยชน์ได้ค่ะ

ขอบพระคุณพี่แก้วที่ปรึกษาโค้ดคนสำคัญค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท