ชีวิตที่พอเพียง ๔๐๔๙. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (๑๐๘) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่ออะไร


 

หลังการประชุมคณะอนุกรรมการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ติดตามและประเมินผล ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔  เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ซึ่งผมบันทึกการสะท้อนคิดไว้ที่ (๑)   มีการประชุมครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔   และประชุมครั้งที่ ๓ วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๔   

เรื่องสำคัญที่นำเข้าที่ประชุมคือเรื่องระบบข้อมูล กับเรื่องการประเมิน   ที่อ่านรายงานและเอกสารการประชุม รวมทั้งเข้าร่วมประชุมแล้วผมอึดอัดขัดใจ   แต่ก็ต้องพยายามสวมหมวก positive mindset   

เรื่องการบูรณาการระบบข้อมูลนั้น    ผมสงสัยมากว่า แม้ไม่มี พรบ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา   กระทรวงศึกษาธิการก็น่าจะได้จัดทำระบบข้อมูลทางการศึกษาที่ทรงประสิทธิภาพมาตั้งแต่เมื่อ ๕ - ๑๐ ปีที่แล้วไม่ใช่หรือ    กระทรวงศึกษาธิการมีระบบข้อมูลที่อ่อนแอ ที่ก่อผลเสียหายมหาศาลเช่นนี้ ไม่มีคนรับผิดรับชอบเลยหรือ   และเมื่อระบบข้อมูลของพื้นที่นวัตกรรมก็อยู่ในมือของคนชุดเดิมของกระทรวงศึกษาธิการ    เพียงแต่เอามาเข้าคณะอนุกรรมการชุดนี้ จะมีผลให้ทำงานได้ผลเช่นนั้นหรือ    ผมมีทางเดียวที่จะช่วยดูแลผลประโยชน์ของประเทศได้คือ ขอให้เขาเสนอ timeline ของการดำเนินการ    และให้มานำเสนอความก้าวหน้าทุกๆ ๓ เดือน    โดยจริงๆ แล้วงานในช่วงนี้เพียง ๖ เดือน   เพื่อจัดทำมาตรฐานข้อมูลเพื่อให้ข้อมูลจากหลายแหล่งเชิ่อมโยงกันได้    สิ่งที่ย้ำกันก็คือ ให้ขอความเห็นของ users ให้มาก     

เรื่องการประเมิน ในการประชุมเดือนกรกฎาคม พูดกันชัดเจนว่า เน้นประเมินเพื่อเรียนรู้    แต่ TOR เพื่อว่าจ้างผู้ประเมินภายนอก ก็ออกมาเป็นประเมินเพื่อดูผลลัพธ์   ผมก็ต้องเจริญสติว่าด้วยเมตตาธรรม    และรู้สึกชื่นชมท่านประธานคณะอนุกรรมการ คือ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ว่าท่านอดทนต่อบุคลากรที่ด้อยคุณภาพของกระทรวงศึกษาธิการได้อย่างดีมาก   

ผมชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า ต้องตีความให้ชัดเจนว่า การมีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานั้น เป้าหมายยิ่งใหญ่ไม่ใช่เพื่อความสำเร็จด้านยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมเท่านั้น    แต่มีเป้าหมายใหญ่กว่านั้น คือเพื่อเปลี่ยนโฉม (transform) ระบบการศึกษาของประเทศ  เพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูงของนักเรียน    และยังมีเป้าหมายลึกๆ ที่ซ่อนอยู่คือ เพื่อเปลี่ยน mindset ของครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้บริหารระบบการศึกษา   ว่าท่านเหล่านั้นต้องไม่ดำรงตนเป็น “ผู้รู้” แต่เป็น “ผู้เรียนรู้” มุ่งเรียนรู้ต่อเนื่องจากการทำงานของตน เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ เพื่อยกระดับการทำงานของตนเรื่อยไปไม่รู้จบ   โดยระบบการศึกษาต้องสร้างระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้นั้น   

ผมทำหน้าที่อนุกรรมการชุดนี้เพื่อเป้าหมายใหญ่สองข้อนี้    โดยมีเป้าหมายข้อที่ ๓ พ่วงเข้าไปด้วย คือ ความเสมอภาค   

ที่จริงการประชุมเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ระหว่างเวลา ๑๖.๓๐ น. ถึง ๒๐ น. เศษๆ เป็นการประชุมที่ให้ผลิตภาพสูงมาก ด้วยความสามารถของท่านประธาน  สนับสนุนโดยทีมงานจาก ทีดีอาร์ไอ   โดยที่วาระหลักคือเรื่องการประเมินพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามที่ระบุไว้ใน พรบ.   เพื่อดูว่าพื้นที่ใดไม่มีประโยชน์ก็จะได้ยกเลิก   

 โชคดีที่ฝ่ายเลขานุการเชิญทีมที่สนใจรับงานประเมินชิ้นนี้รวม ๔ ทีม มาคุยกับคณะอนุกรรมการ    จึงได้มีการทำความเข้าใจปรับร่าง TOR กันเดี๋ยวนั้น    และหลังจากเสวนาทำความเข้าใจกัน ทางทีมเขาก็ขอเสนอแนวทางทำงานของแต่ละทีมให้เราเลือกเลย     โดยขอถอนตัวไปหนึ่งทีม   มีการนำเสนอแผนดำเนินการประเมิน ๓ ทีม    

เมื่อเสนอและซักถามเสร็จ    ประธานถามว่าทำอย่างไรต่อดี    ผมเสนอว่าฟังข้อเสนอแล้วตัวผมเองตัดสินได้แล้ว     กรรมการอีกท่านก็ว่าเช่นเดียวกัน   จึงให้ทีมเสนอตัวเป็นผู้ประเมินออกจากซูมไป    แล้วก็ถึงคราวออกความเห็น     ในฐานะผู้สูงอายุที่สุด ประธานขอให้ผมออกความเห็นก่อน    ผมบอกว่า ขอเสนอให้คิด “อาวุโส” ในความหมายที่พระผู้ใหญ่ใช้เรียกพระที่พรรษาน้อยกว่า     ตกลงให้คนอายุน้อยที่สุดออกความเห็นก่อน 

ซึ่งก็ได้ผลดีจริงๆ เพราะความเห็นเบื้องต้นออกมาไม่เหมือนกัน   ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อติดเห็นให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า     เราหวังผลจากการประเมินที่การเรียนรู้มากกว่าเพื่อดูผลดำเนินการ    หวังผลที่การเรียนรู้ของภาคีที่หลากหลายมากกว่าเพื่อทำตาม พรบ.   เราหวังผลที่การปรับระบบใหญ่ของการศึกษา    และหวังผลการเรียนรู้และยกระดับความมั่นใจของภาคีในพื้นที่     ต่อการเข้ามาร่วมกันยกระดับคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาในพื้นที่                       

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ส.ค. ๖๔ 

 

 



ความเห็น (1)

ฟังเรื่อง ศธ. แล้วก็คิดว่าเป็นเช่นนั้น ระบบโบร่ำโบราณที่ยังคงอยู่ ;)…

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท