การศึกษาที่ไม่คุ้มค่า


 

หนังสือ The Case Against Education : Why the Education System is a Waste of Time and Money เขียนโดยศาสตราจารย์ Bryan Caplan   ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย George Mason แห่งสหรัฐอเมริกา   ส่งสัญญาณมุมมองด้านลบต่อระบบการศึกษาอย่างรุนแรง   

ท่านบอกว่าคุณค่าของการศึกษามี ๓ ด้าน

  1. สร้างความเป็นมนุษย์ที่มีความสามารถ   ภายใต้ human capital theory   
  2. ช่วยรับรองขีดความสามารถ    เขาใช้คำว่า ทำหน้าที่ส่งสัญญาณ (signaling)  ว่ามีการศึกษาสูง    จึงน่าจะเป็นคนดีมีความสามารถ    เขาบอกว่า แนวคิดนี้นำไปสู่สภาพ “คุณวุฒิเฟ้อ” (credential inflation)    คือมีคุณวุฒิสูงกว่าความสามารถจริงๆ         
  3. ยกระดับจิตใจ   เขาใช้คำว่า enrich the soul    เขาบอกว่า เป้าหมายนี้มีคุณค่ามาก    แต่การศึกษามักไปไม่ถึง    ถ้าจะให้ถึงครูต้องรักวิชาชีพครูและมีทักษะเพื่อการนี้   

คำถามสำคัญคือความคุ้มค่า     มองจากมุมของเวลาและเงินที่ต้องใช้ไป     และผมคิดว่าคำถามนี้เชื่อมโยงกับบริบทของสังคมหรือประเทศนั้นๆ ด้วย    ในกรณีของหนังสือเล่มนี้ ยึดบริบทสหรัฐอเมริกา     เขาบอกว่า สำหรับคนส่วนใหญ่การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่คุ้มค่า   ผู้เขียนถึงกับแนะนำเด็กที่ผลการเรียนปานกลางว่า ให้เข้าเรียนด้านอาชีวะดีกว่า คุ้มค่ากว่า    ซึ่งผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย   

ผมเชื่อมาตลอดชีวิตว่า คุณค่าสำคัญที่สุดของการศึกษา (การเรียนรู้) คือช่วยให้ค้นพบตัวเอง  และสร้างแรงบันดาลใจ    เป้าหมายการศึกษาด้านอื่นเป็นเรื่องรอง     นำมาสู่คำถามว่า เป้าหมายทั้งสองนี้อยู่ในสภาพ  “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” หรือเปล่า    ถ้าใช่ เราก็ต้องทุ่มลงทุนด้าน “พ่อแม่ศึกษา”  และระบบการเลี้ยงดูเด็กเล็ก  ซึ่งไม่ใช่การศึกษาในความหมายนี้    ที่จริงเป้าหมายในใจผมนี้น่าจะตรงกับเป้าหมายข้อ ๓ ในหนังสือ       

ยิ่งหนักเข้าไปอีก ที่เขาบอกว่า การลงทุนของภาครัฐสนับสนุนการศึกษาอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่คุ้มค่า    ตกลงการศึกษาของสหรัฐอเมริกาไม่คุ้มค่าทั้งกระเป๋าส่วนตัว และกระเป๋ารัฐ    ของบ้านเราเป็นอย่างไร???!!! 

เอาเข้าจริง จำเลยคือระบบการศึกษาที่ล้าหลัง    ไม่สามารถส่งมอบคุณค่าที่แท้จริงได้    ต้องการการปฏิรูป    โดยรีดเอาไขมันออก    เก็บไว้เฉพาะส่วนที่มีประโยชน์คุ้มค่า    คือการเรียนเพื่อมีชีวิตที่ดี    ไม่ใช่เพื่อรู้  หรือเพื่อคุณวุฒิ   

เป็นสัญญาณเตือนต่อวงการการศึกษาว่า   ต้องดำเนินการระบุคุณค่าของการศึกษาในปัจจุบันให้ชัด   และดำเนินการพุ่งเป้าไปที่การสร้างคุณค่านั้น    ไม่ใช่ทำตามความเคยชินตามที่ทำต่อๆ กันมา   

วิจารณ์ พานิช

๗ ก.ย. ๖๔

    

หมายเลขบันทึก: 692502เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2021 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2021 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท