มะขามข้อเดียว


มะขามข้อเดียว

 

มะขาม ภาคอีสานเรียกว่า บักขาม ภาคเหนือเรียกว่า บะขาม ภาคใต้เรียกว่า ลูกขาม ชาวอาหรับเรียกว่า tamr-al-hindi หรือ อินทผลัมแห้งอินเดีย (Indian date) ซึ่งกลายเป็นรากคำภาษาละตินว่า Tamarindus มีชื่อสามัญว่า Tamarind ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tamarindus indica L.

มะขามมีถิ่นกำเนิดแรกเริ่มในแอฟริกาตะวันออก แถบซาวันนาห์ (Savannah) สันนิษฐานว่าแพร่เข้ามาในอินเดียผ่านการเดินเรือค้าขายระหว่างอินเดียกับแอฟริกา ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มะขามเป็นที่แพร่หลายในอินเดียมาก และเข้าไปในอาหรับตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรากฏว่ามีมะขามอยู่ทั่วไป เข้าใจว่าแพร่มาจากอินเดียตั้งแต่ครั้งโบราณกาล มาเลเซียเรียกมะขามว่า "อะซาม"(Asam) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเครื่องแสดงถิ่นที่มาของมะขาม คือ อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ(รัฐอัสสัม) ที่ต่อแดนกับพม่า มะขามเข้าสู่ประเทศไทยมานานแล้ว ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหง จารึกด้านที่ 4 ว่า " ยินเรียก เมื่อถามสวนความแก่มัน ด้วยชื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้ จึงชม สร้างป่าหมากป่าพลูทั่วเมืองนี้ทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน ... เบื้องตะวันออกเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมาก ป่าพลู มีไร่ มีนา มีถิ่นฐาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าม่วง มีป่าขาม ดูงามดังแกล้ง "

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน พลายแก้วไปอยู่กับสมภารคงที่วัดแค สุพรรณบุรี ซึ่งมีต้นมะขามขนาดใหญ่ และเณรแก้วก็ได้ฝึกวิชาจากต้นมะขามนี้

ทั้งพิชัยสงครามล้วนความรู้
อาจจะปราบศัตรูไม่สู้ได้
ฤกษ์ผานาทีทุกสิ่งไป
ทั้งเสกใบมะขามเป็นต่อแตน

เมื่อพลายงามอาสาไปปราบหัวเมืองทางเหนือ ก็ได้ใช้วิชาเสกใบมะขามเป็นตัวต่อตัวแตนเพื่อเอาชนะแสนตรีเพชรกล้าแม่ทัพใหญ่ของหัวเมืองทางเหนือได้

…จึงรูดเอาใบมะขามมาสามกำ
เสกซ้ำเป็นต่อบินปร๋อปรื๋อ
ตั้งโกฏิแสนแน่นป่ามาฮือฮือ
ดูออกคล่ำดำปื้อไปทุกละเมาะ
ตัวยาวราวก้อยไม่ต่อยไทย
จำเพาะลาวกราวไล่ใส่เปาะเปาะ
พิษสงเหล็กในดังใครเคาะ
ถูกเหมาะเหมาะล้มทับกันยับยุบ
พวกลาวอาวุธหลุดมือถือ
เอาแต่มือตบสู้อยู่ปับปุบ
เหลือทนลุกล้มลงก้มฟุบ
โดดผลุบลงในน้ำดำหนีไป…

มะขามเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่วงศ์เดียวกับถั่ว (pea) ทรงพุ่ม ลำต้นอาจสูงได้ถึง 20 เมตร มีกิ่งก้านสาขาแข็งแรงใบฝอยคล้ายโสน จัดเป็นไม้ยืนต้นที่สวยงาม ตามตำราพรหมชาติฉบับหลวง ได้กล่าวถึงมะขามว่าเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ที่ควรปลูกไว้ทางทิศประจิมหรือทิศตะวันตกของบ้าน เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดี ผีร้ายมิให้กล้ำกราย อีกทั้งต้นมะขามยังเป็นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล ถือเป็นเคล็ดว่าบ้านใดมีบุตร บุตรจะได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน จะมีแต่คนเกรงขามและมีอำนาจบารมี

ต้นมะขามมีอายุเป็นร้อยปี เมื่ออายุราว 3-4 ปี จะเริ่มให้ดอกผล ดอกมะขามเป็นดอกสีเหลืองปนแดง ผลออกเป็นฝักแบนหรือกลมยาว ฝักมะขามแบ่งเป็นข้อๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 - 2 เซนติเมตร แต่ละข้อมีเมล็ด 1 เมล็ด เมื่อยังอ่อนเนื้อในฝักติดกับเปลือกสีน้ำตาลอมเขียว เมื่อสุกฝักเป็นสีน้ำตาล กรอบและเปราะ เนื้อจะแห้งยุบตัวล่อนออกจากเปลือก เนื้อมะขามที่แก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล สีแก่อ่อนต่างกันไปตามพันธุ์

ต้นมะขามส่วนใหญ่เป็นมะขามเปรี้ยว (Sour tamarind) พันธุ์ที่นิยมมากในเมืองไทย คือ มะขามกระดาน เป็นพันธุ์ที่พบมากในภาคใต้ ภาคกลางและภาคตะวันออก ฝักมีขนาดโต แบน ยาวและโค้งเล็กน้อย ส่วนมะขามขี้แมวเป็นพันธุ์ที่พบได้ในทุกภาค ผลมีลักษณะกลม ขนาดค่อนข้างเล็กและสั้น เปลือกค่อนข้างหนา เมล็ดมีขนาดใหญ่ เนื้อน้อย พบมากในภาคอีสาน

มะขามเปรี้ยวดิบนำมาแปรรูปเป็นมะขามดอง มะขามแช่อิ่ม ส่วนมะขามเปรี้ยวสุกนำมาแปรรูปเป็นมะขามเปียกใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารและน้ำจิ้ม นอกจากนั้นยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง เช่น สบู่อาบน้ำ แชมพูสระผม

มะขามแช่อิ่ม

มะขามดอง

มะขามแก้ว

มะขามคลุก

น้ำพริกมะขามเปียก

น้ำพริกมะขามสด

ยำปูเค็มมะขามอ่อน

ต้มแซ่บกระดูกหมู

ต้มกะทิปลาสลิดใบมะขามอ่อน

ไข่ลูกเขย

แกงส้มชะอมกุ้ง

ต้มส้มปลากระบอก

ส้มตำหอยแครง

คอหมูย่างจิ้มแจ่ว  

แม้ว่ามะขามส่วนใหญ่ในโลกนี้เป็นมะขามเปรี้ยว แต่ในประเทศไทยกลับมีชื่อเสียงเรื่องมะขามหวาน ซึ่งกลายพันธุ์มาจากมะขามเปรี้ยว มะขามหวานที่มีชื่อเสียงที่สุดเป็นมะขามหวานจากจังหวัดเพชรบูรณ์ มะขามจึงเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานและต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์

มะขามหวานพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมีดังนี้

มะขามหวานพันธุ์สีทอง ฝักกลม มีขนาดปานกลาง ถึงค่อนข้างใหญ่ โค้งงอเป็นครึ่งวงกลมแบบฝักดาบ เปลือกฝักหนาสีขาวนวล เนื้อหนานุ่ม รสหวานจัด สีน้ำตาลอมเหลืองเหมือนทอง จึงเรียกว่า พันธุ์สีทอง

มะขามหวานพันธุ์ศรีชมพู เดิมชื่อพันธุ์น้ำร้อน ฝักกลมใหญ่ปานกลาง ฝักเหยียดตรง หรือที่เรียกว่า "ฝักดิ่ง" อกมีร่อง ผิวฝักสีน้ำตาลแก่ เปลือกบาง เนื้อสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลอมเหลือง เนื้อหนาแห้ง เหนียว รสหวาน เปลือกหุ้มเมล็ดนุ่ม เมล็ดเล็ก

มะขามหวานพันธุ์ประกายทอง หรือ ตาแป๊ะ ฝักขนาดใหญ่ค่อนข้างกลม ฝักตรงถึงโค้งเล็กน้อย ไม่มีเหลี่ยม เปลือกบาง สีน้ำตาลอมเทา รกน้อย เนื้อหนา เหนียว สีน้ำตาลเข้ม เมล็ดเล็ก  รสหวาน

มะขามหวานพันธุ์ขันตี ขนาดปานกลาง ฝักตรงหรือโค้งเล็กน้อย เปลือกฝักหนาสีน้ำตาลปนขาวนวล เนื้อหนานุ่มสีน้ำตาลแดง รสหวานน้อยกว่าพันธุ์หมื่นจง

มะขามหวานพันธุ์หมื่นจง ฝักกลมโค้งเกือบจรดกันเป็นกำไล เปลือกหนาสีน้ำตาลออกแดง เนื้อหนานุ่มปานกลาง สีน้ำตาลเข้ม กลิ่นหอม รสหวานจัด

สำนวน "มะขามข้อเดียว" หมายถึง ผู้ชายอ้วนเตี้ยแข็งแรง

ที่มาของสำนวนมาจากลักษณะของฝักมะขามที่มีเพียงข้อเดียว ออกกลมป้อม  เนื้อหนา เมล็ดเล็ก ถูกคัดแยกออกมาจากมะขามฝักงามๆ เพื่อขายอีกราคาหนึ่ง
ลักษณะของผู้ที่ถูกขนานนามว่า " มะขามข้อเดียว" มีลักษณะลำคอสั้น บ่ากว้าง ขนาดเอวสะโพกกว้าง หากมองจากทางด้านหน้าขนาดของหน้าท้องและเอวจะกางออกทางด้านข้างมาก ทำให้ดูรูปร่างตันๆ เป็นลักษณะของนักมวยหรือนักเพาะกาย

ตัวอย่าง

เมื่อก่อนแจ๊คตัวเล็กมาก พอโตเป็นหนุ่มหุ่นล่ำเป็นมะขามข้อเดียว

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

หมายเลขบันทึก: 692498เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2021 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2023 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท