จริยธรรมของนักการเมือง


จริยธรรมของนักการเมือง

19 กุมภาพันธ์ 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

ตำนานประชาธิปไตย 88 ปีถึงปัจจุบัน

มีประเด็นเชื่อว่าคนที่เป็น “นักการเมือง” (Politicians) นั้นต้องยึดถือระดับคุณธรรมจริยธรรมที่สูงกว่าคนที่เป็นพ่อค้าหรือนักธุรกิจ ก็เพราะว่านักการเมืองนั้นต้องเข้ามาบริหารบ้านเมืองในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้เลือกตนมาเป็น “ผู้แทน” เพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนตนในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยพื้นฐานที่สุด ในบรรดานักการเมืองทั้งหลายนั้น ในระดับท้องถิ่นก็มีความสำคัญมาก เพราะถือเป็นระดับรากหญ้า (Grassroots) เป็นรากฐานของสังคมเปรียบเหมือนรากแก้วของต้นประเทศชาติ

คำว่าประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งของไทยนั้นมีตำนานยาวนานถึง 88 ปี แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่มวลประชาชนคาดหวัง ในที่นี้หวังเพียงการเลือกเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นหรือที่เรียกว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) เราจะแก้ไขปัญหาจริยธรรมของนักการเมืองท้องถิ่นได้อย่างไร เพราะมักได้ยินข่าวเสมอๆ ว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ว่าราชการจังหวัด” สั่งให้นายก อปท.พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุ เสื่อมเสียศีลธรรม หรือกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบฯ [2] ตามการชี้มูลของ ป.ป.ช. หรือ ตามสำนวนการสอบสวนของผู้กำกับดูแลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้ อปท.ไปสร้างค่านิยมใหม่ๆ แก่ระดับชาติ ไม่ควรให้ระดับชาติมาชี้นำ สมควรที่จะสร้าง New normal ใหม่ให้บ้านเมืองในยุคเปลี่ยนแปลงโซเซียลที่รวดเร็วมาก เพราะจากสถานการณ์ความผันผวนของโลกาภิวัตน์ [3] มันทำให้เป็นสังคมที่สภาพไม่ปกติ (Abnormal society) กลายเป็นสังคมแห่งการดิ้นรน (Scrabble society) ในทุกๆ ด้านมากขึ้น

นักการเมืองท้องถิ่นมีจริยธรรมเพียงใด

เป็นประเด็นคำถามว่า นายก อปท. และสมาชิกสภา อปท. มีจริยธรรม มีวินัยหรือไม่ อย่างไร คำถามนี้จึงวกมาที่ “นักการเมืองมีจริยธรรมหรือไม่” หากมี จริยธรรมทางการเมืองคืออะไร จำเป็นต้องมีมากน้อยเพียงใด ความหมายของคำว่า “จริยธรรมของนักการเมือง” ในที่นี้คือหลักเกณฑ์หรือข้อปฏิบัติที่ดี หรือการประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามของผู้ทำหน้าที่ทางการเมือง ใน 7 ประการ [4] ได้แก่ การไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน (Selflessness) ความซื่อตรง (Integrity) การไม่มีอคติ (Objectivity) การมีสำนึกรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติตามหน้าที่ (Accountability) ความเปิดเผยและจริงใจ (Openness) ความซื่อสัตย์ (Honesty) และความเป็นผู้นำ (Leadership)

แต่คนทั่วไปเข้าใจว่า “ความดี” (Merit or a good deed) [5] คือการกระทำของบุคคล ที่ส่งผลต่อบุคคลอื่น ต่อคนกลุ่มอื่น ต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้รับประโยชน์อานิสงค์ในสิ่งดีงาม ก้าวหน้า สร้างสรรค์ เจริญรุ่งเรืองฯ ซึ่งความดีนั้น มักแยกแยะได้เป็นเรื่องๆ เป็นครั้งๆ ไป ความดี จะต้องควบคู่กับคำว่า “คุณธรรม” (Morality/Virtue) ซึ่งคำนี้จะเน้นที่ “จิตใจ” (Mind) มักจะเกี่ยวข้องกับคำว่า “ศีลธรรม” (Moral) คือการทำดี ประพฤติดี ประพฤติชอบ ไม่ทำชั่ว (Evil Mind) โดยเป็นปกตินิสัย หรือเป็นอาจิณ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวม เป็น “จิตอาสา”(Public Mind) [6] เป็นอาสาสมัครใจโดยแท้ (Volunteer)

โดยนัยยะนี้อาจเห็นว่า การกระทำความดีนั้น ผู้กระทำหลายคนยังเล็งผลตอบกลับ หรือคาดหวังในผลตอบแทน แต่ คนที่เสียสละสร้างคุณธรรมมักจะไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จากการกระทำ แต่เป็นการกระทำด้วยใจรัก ใจสมัครอยากให้ผู้อื่นได้ดี มีชีวิตที่ดี นี่คือความคาดหวังของ “ปูชนียบุคคล” คนที่ควรเคารพบูชาในท้องถิ่น เพราะหากมีบุคคลจำพวกนี้มากเท่าใด บ้านเมืองย่อมดีเท่านั้น

อีกคำคือคำว่า “จริยธรรม” (Ethics) คำนี้โดยนัยยะเป็นการแสดงออกต่อสังคม ต่อบุคคลอื่นแต่ในเรื่องดีงาม มีจิตใจที่สะอาด บริสุทธิ์ ที่เป็นแบบแผนจรรยาบรรณของความประพฤติ (Code of Conduct) [7] ที่ถือเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะคนที่มีวิชาชีพ (Professional) ในสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ วิศวกร ทนายความฯ เหล่านี้ยิ่งต้องมีจรรยาในวิชาชีพต่อลูกค้า ต่อสังคม มากกว่าคนปกติทั่วไป ที่เรียกว่า ต้องมี “ประมวลจรรยาอาชีพ” (Code of Ethics) [8] ซึ่งคำเหล่านี้ย่อมผูกติดหนีไม่พ้นจากคำว่า “สำนึกรับผิดชอบ” (Accountability) [9] ต่อสังคม ที่เรียกว่า “เป็นประโยชน์โดยรวม” หรือ “เพื่อสาธารณะประโยชน์” (Public Interest) เป็นสำคัญ สรุปว่า คำว่า “คุณธรรม” (Morality/Virtue) และ “จริยธรรม” (Ethics) ที่กล่าวถึงและนำไปใช้ในความหมายที่แยกกันไม่ออก บางครั้งก็เรียกควบกันไปเป็นคุณธรรมจริยธรรม [10] ที่มีความใกล้เคียงกับคำว่า “ศีลธรรม” (Moral) มาก ซึ่งท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร นำไปผูกโยงกับกฎหมายว่า [11] "กฎหมาย ศีลธรรม จริยธรรมต้องรวมอยู่ด้วยกัน" (Laws - Moral - Ethics must be merge together)

การทำความดีของคนทั่วๆ ไปในเบื้องต้น แม้ยังสรุปผลไม่ได้ว่า บุคคลนั้นเป็นคนดีเพียงใดหรือไม่ เพราะเขาอาจจะกระทำเพียงแค่หวังผลตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่การกระทำที่เป็นปกตินิสัยจากก้นบึ้งในจิตใจ ถ้าหนักไปกว่านั้น มันก็เป็นแค่ “จริตเสแสร้ง” หรือ “มายาคติ” (Myth, Illusion) เท่านั้นเอง ซึ่งหลายคนด่วนสรุปว่า คนที่ทำดีต่อตน ต่อสังคม ที่แสดงให้เห็นนั้น เป็นคนที่เพียบพร้อมในคุณงามความดี ซึ่งไม่ถูกทีเดียวนัก ฉะนั้น ในการแสดงออกซึ่งจริยธรรมที่ดีงามของคน เพื่อแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า “เป็นคนที่มีจริยธรรมคุณธรรม” อย่างเสมอต้นเสมอปลายในผลแห่งรูปธรรมว่า เป็นคนที่ผู้อื่นควรยึดถือเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติแก่คนรอบข้างทั่วไป ดังนั้น “การกระทำดีต่อหน้าของนักการเมือง” ที่คนมองเห็นในที่แจ้งยังสรุปไม่ได้ว่า นักการเมืองคนนั้น จะมีจริยธรรมในที่ลับตาคน หรือไม่ เพราะการวัดผล ต้องการเวลา ต้องการหลักฐาน ประกอบมากมาย

เหตุปัจจัยแห่งอบาย

เหตุปัจจัยที่สำคัญก็เพราะ มีสิ่งล่อลวงให้คนอยากมี อยากได้ลุ่มหลงในยศถาบรรดาศักดิ์เงินทอง ที่นักการเมืองต้องไม่มี “การขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม” [12] ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ต้องแยกผลประโยชน์ทับซ้อนให้ออกจากกันให้ได้ เพื่อตัดวงจรแห่งการละเมิดศีลธรรม ตัดความโลภ การทุจริตมิชอบฯ ในตำแหน่งหน้าที่

มีคำถามว่า ต้นเหตุปัจจัยมาจากสิ่งใด ที่ทำให้คนที่เป็นนักการเมือง ”ไม่มีคุณธรรม” เหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้นักการเมืองออกนอกกรอบ 10 ประการ [13] คือ (1) โอกาส (opportunity) ที่เอื้ออำนวย กฎหมายมีช่องโหว่ ระเบียบมีช่องว่าง (2) มีตำแหน่งหน้าที่ (Authority) ในการอนุมัติ อนุญาตฯ (3) มีสิ่งจูงใจ (Incentive) มาล่อเช่นเงินทองผลประโยชน์ฯ (4) ชื่อเสียงเกียรติยศทางโลก (Reputation & Honor) (5) ขาดอุดมการณ์ (Ideology) (6) ขาดวิสัยทัศน์ (Vision) หรือคับแคบ (7) มีวัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture) ในผลประโยชน์ทับซ้อนเห็นเป็นเรื่องปกติ (8) ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรี (Liberal Capitalism) เน้นวัตถุนิยมมากกว่าจิตใจ (9) ประชาชน (People) ขาดข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง (10) สังคมไทย (Thai Society) เป็นระบบอุปถัมภ์ (Patron-Client System) ที่เน้นผลประโยชน์มากกว่าคุณธรรมความถูกต้อง  

การเลือกตั้งท้องถิ่นเชิงสมานฉันท์ [14]

ห้วงนี้เป็นช่วงเวลาการเลือกตั้งของท้องถิ่น คือ การเลือกตั้งเทศบาลในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 แนวคิดเชิงสมานฉันท์เลือกตั้งท้องถิ่น เช่น ก่อนการเลือกตั้ง ก็มีการจัดเวทีประชุมสมานฉันท์ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล และผู้ช่วยผู้สมัคร (คนช่วยหาเสียง ตัวแทนผู้สมัคร) กกต.เทศบาล ผอ.และ ผู้ช่วยเหลือเทศบาล มีเป้าหมายกิจกรรมสำคัญเพื่อสร้างความเข้าใจปรองดองกัน จับไม้จับมือกัน ให้คำมั่นสัญญา ดื่มน้ำสาบานฯ ว่าจะไม่โกง จะเป็นคนดี ทำในกติกา ไม่ซื้อเสียง รู้แพ้รู้ชนะ ไม่ร้องเรียนกลั่นแกล้งกล่าวหาซึ่งกันและกัน ฯ จะช่วยยกมาตรฐานจริยธรรมได้หรือไม่ อย่างไร หรือ เป็นเพียงแนวคิดแบบไฟไหม้ฟางที่ฉาบฉวย ใช้ไม่ได้ในระยะยาว เพราะ ไม่ได้ปลูกฝังคุณธรรมใดๆ ต่อผู้เลือกตั้งทั้งหลาย

นี่เป็นเพียงบทรำพึง ในระดับท้องถิ่น ซึ่งในระดับชาตินั้น ตามมาตรา 276 [15] แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้มีประกาศ “มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561” ในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 30 มกราคม 2561 [16] เพื่อเป็นกรอบบังคับจริยธรรมแก่นักการเมืองและองค์กรอิสระแล้ว รวม 22 ข้อ ตามบทบัญญัติในอารัมภบทแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 19 กุมภาพันธ์ 2564, https://siamrath.co.th/n/221376 

[2]ตัวอย่างเช่น หนังสือกระทรวงมหาดไทย ตอบจังหวัดลำพูน ลับ ด่วนที่สุดที่ มท 0804.3/1219 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2554 เรื่อง หารือกรณีการสั่งให้นายกเทศมนตรีพ้นจากตำแหน่ง, http://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2011/10/1111_4387.pdf

...”ตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 119 - 120/2552 สรุปได้ว่า เนื่องจากมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ได้กำหนดเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งกรณีที่นายกเทศมนตรีละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ไว้เป็นการเฉพาะ โดยกำหนดเป็นเหตุที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ ดังนั้น ตราบใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้สั่งการอย่างใด นายกเทศมนตรีจะยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ การพ้นจากตำแหน่งในกรณีนี้จึงเป็นการพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นต้นไป มิได้เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย หากแต่เกิดจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ออกโดยอาศัยเหตุแห่งการละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ตราบใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้สั่งการอย่างใด นายกเทศมนตรีจะยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ เมื่อนายกเทศมนตรีได้พ้นจากตำแหน่งนั้นไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่อาจสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้อีก ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายชิงชัย (สุวชิงชัย) จายโจง นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแป้นได้พ้นจากตำแหน่งเพราะลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ตามมาตรา 48 ปัญจทศ (3) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2552 แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนจึงไม่สามารถอาศัยอำนาจตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2552 เสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้ดุลพินิจสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้อีก” ...

[3]The Next Normal ภูมิคุ้มกันของสังคมไทยในอนาคต : โดย ธงชัย สมบูรณ์ ใน โครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่าต้านภัยมะเร็งเต้านม, โครงการ ศูนย์ถันยรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช, 8 พฤษภาคม 2563, http://doh.hpc.go.th/bs/topicDisplay.php?id=394

[4]คนอง วังฝายแก้ว, ชื่อโครงการวิจัย แนวทางพัฒนาคุณธรรม และจริยธรรมทางการเมืองของนักการเมืองส่วนท้องถิ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา (The Moral and Political Ethics of Local Politicians Muang District Phayao Province), 13 มกราคม 2558, https://www.gotoknow.org/posts/583878

[5]การบริหารราชการตามระบบคุณธรรม อ.จรวยพร ธรณินทร์, โดย ดร. วิเทศ พรหมคุณ, 30 สิงหาคม 2553, https://www.gotoknow.org/posts/389443

& ความหมายและหลักการของคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ และธรรมาภิบาล

โดย ดร. จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ในวิทยาลัยการปกครอง กรมการปกครอง 2557, http://www.iadopa.org/KM2557/general/ความหมายและหลักการของคุณธรรม%20ศีลธรรม%20จริยธรรม.doc

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “คุณธรรม” จำเป็นต้องเข้าใจความหมายของคำที่เกี่ยวข้องก่อน โดยเฉพาะคำว่าคุณธรรมในภาษาไทย ที่ตรงกับความหมายภาษาอังกฤษ 2 คำ คือ Virtue ที่หมายถึง ความดีงาม และ Merit ที่หมายถึง ความเหมาะสมในการส่งเสริมคนดีมีคุณสมบัติที่ดี เป็นต้น

คำว่า คุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ธรรมาภิบาล และสมรรถนะ มักมีผู้นำไปใช้ในความหมายที่แตกต่าง สับสน และไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริง ดังนั้นการทำความเข้าใจตั้งแต่ รากศัพท์ ความหมายและประโยชน์ในการนำไปใช้ จะช่วยให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้ดี

[6]"จิตอาสา" อาจจะเป็นคำใหม่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างประมาณปี 2547 ผู้นำคำนี้มาใช้ครั้งแรกในน่าจะเป็นเครือข่ายพุทธิกา ในโครงการ "ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา" ต่อมาคำนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย พระไพศาล วิสาโล ได้ให้ความหมาย "จิตอาสา" ว่า คือจิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทาน ให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย ด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น จะเน้นว่า ไม่ใช่แค่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนา "จิตวิญญาณ" ของเราด้วย

คำว่า “จิตอาสา” (Public Consciousness) หรือ “อาสาสมัคร” (Volunteer) หรืออีกคำหนึ่งว่า “จิตสาธารณะ” (Public Mind) หรือ “จิตสำนึกสาธารณะ” (Conscious) หรือ “จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม” (Public) ล้วนสื่อความหมายของการก้าวพ้นจากตัวเองทั้งสิ้น อันหมายถึงการตระหนักหรือการใส่ใจต่อสังคมโดยรวม หรือเรียกง่ายๆ หน่อยก็หนีไม่พ้นเรื่องการทำประโยชน์ต่อสังคมนั่นเอง ..หรือแม้แต่การเห็นคนอื่นมีความสุข ก็พลอยสุขไปด้วย ก็ถือเป็นจิตอาสาได้ด้วยเหมือนกัน 

ดู ความหมายของจิตอาสาหรือจิตสาธารณะ, ใน จิตอาสาศรีปทุม 2557, https://sites.google.com/site/citxasasripthum2557/cit-xasa-hrux-cit-satharna & จิตอาสา กระบวนการเติบกล้าจากครอบครัว, พนัส ปรีวาสนา, 7 มกราคม 2553, https://www.gotoknow.org/posts/325561

[7]ประมวลจริยธรรม (Code of Conduct)เป็นการประมวล “ความประพฤติ” ซึ่งเป็นการรวม “ข้อปฏิบัติ” และ “ข้อ ห้าม” ไว้ด้วยกัน ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Do & Don't” โดยมีบทลงโทษทางสังคมและทางปกครอง ดู วีรวิท คงศักดิ์, ประมวลความประพฤติเจ้าหน้าที่ของรัฐ, 2559, https://ethics.parliament.go.th/download/article/article_20160614142356.pdf

[8]จรรยาอาชีพ หรือ “ประมวลความประพฤติ” หรือ “ประมวลจรรยาบรรณ” (Professional Ethics) หมายถึง สิ่งที่ต้องปฏิบัติหรือต้องละเว้นปฏิบัติ หากฝ่าฝืน จะเป็นการผิดวินัย ต้องถูกลงโทษ จรรยาบรรณ (​Ethics) หมายถึง สิ่งที่พึงปฏิบัติหรือละเว้น หากฝ่าฝืน จะถูกตักเตือน หรือให้แก้ไขให้ถูกต้อง หรือให้ได้รับการพัฒนาตามที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร เป็นประมวลกฎเกณฑ์ความประพฤติหรือประมวลมารยาทของผู้ประกอบอาชีพนั้นๆ ต้องเป็นเอกลักษณ์ทางวิชาชีพ ใช้ความรู้ มีองค์กรหรือสมาคมควบคุม ดู วีรวิท คงศักดิ์, อ้างแล้ว

[9]“สำนึกรับผิดชอบ” (Accountability) หรือ แปลตรงๆว่า “ความพร้อมรับผิด” ต้องส่งเสริมให้ระบบราชการมีวัฒนธรรมแห่งความพร้อมรับผิดในทุกระดับ

[10]กิตติยา โสภณโภไคย, “คุณธรรม” “จริยธรรม” และการดำรงอยู่กับสังคมประชาธิปไตย (ความหมาย และแนวคิดเชิงทฤษฎี), นักวิชาการ สำนักส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรม สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, 2552, https://www.ombudsman.go.th/10/ethical/ethical0.pdf

[11]คุณธรรมและจริยธรรมของผู้บริหาร โดย ศาสตราจารย์ ธานินทร์ กรัยวิเชียร, ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ., บรรยายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การเสริมสร้างจริยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน : เชิดชูคุณธรรมนำจังหวัดใสสะอาด" ณ โรงแรมเชียงใหม่พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2547, https://www.ocsc.go.th/download/2547/คุณธรรมและจริยธรรมของผู้บริหาร-โดย-ศาสตราจารย์-ธานินทร์-กรัยวิเชียร

& ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับศีลธรรมจริยธรรม ศาสนา และจารีตประเพณี (The Relationship Between Law And Morality, Ethics, Religion And Tradition), พระพลากร สุมงฺคโล (อนุพันธ์) อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ธรรมทรรศน์ปีที่ 16 ฉบับที่ 3 ประจำเดือน พฤศจิกายน - ธันวาคม 2559, https://so06.tci-thaijo.org/index.php/dhammathas/article/download/79811/63680/ 

[12]การขัดกันแห่งผลประโยชน์(COI : Conflict Of Interests) ตามรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 9 ว่าด้วย "การขัดกันแห่งผลประโยชน์"  มาตรา 184-187 หมวด 14 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 250 วรรคห้า

ดู การขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดย แดนชัย ไชวิเศษ นิติกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2561/hi2561-080.pdf   

& Conflict Of Interests : การขัดกันแห่งผลประโยชน์, สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, http://www.nimt.or.th/main/wp-content/uploads/2020/06/PowerPoint-Presentation-ผลประโยชน์ทับซ้อน.pdf

[13]สาเหตุของการละเมิดจริยธรรมและผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง, โดย พระ บุณยกร พัฒนาศรัทธาพร, 23 กรกฎาคม 2551, https://www.gotoknow.org/posts/195889

[14]ข้อสังเกต มีคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใกล้เคียงกันมากอยู่ 2 คำ คือ Reconciliation (การปรองดอง) และ Compromise (การประนีประนอม)

ในหลักสูตรวิชาเรียนระดับมัธยมศึกษาได้กล่าวถึง “ความรัก ความสามัคคี” “การปรองดองสมานฉันท์“ “การปรองดอง สมานฉันท์ สร้างสรรค์ชาติ” ของคนในชาติ

แม้ว่าในภาษาไทยคำศัพท์ว่า “การสมานฉันท์” และ “การปรองดอง” ไม่ได้เป็นคำที่เหมือนกันหรือใช้แทนกันได้เสมอไป แต่เป็นคำที่ควรใช้ร่วมกันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

คำว่า “การปรองดอง” (Reconciliation) หมายถึง การจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม (วิกิพีเดีย) คือการหันหน้ามาคืนดีกันใหม่ เพื่อกลับไปสู่ไมตรีจิตดีๆ ที่มีมาแต่เดิม เป็น “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือ “จริยศาสตร์เอื้ออาทร” หรือที่เรียกว่า "การสมานฉันท์" (Agreement) ซึ่งแปลว่า ความสามัคคี ความพร้อมเพรียง ความพอใจร่วมกัน ความเห็นพ้องร่วมกัน ซึ่งมีการกล่าวถึงการปรองดองสมานฉันท์ในชาติที่มากขึ้น หลังจากที่มีการตั้ง “คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ” (กอส.) ในปี 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยแนวทางสันติวิธี โดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

มีผู้เสนอใช้คำภาษาอังกฤษแทนคำว่า “สมานฉันท์” คือ Harmony ที่แปลว่า ความกลมกลืนหรือความปรองดองหรือความสามัคคี โดยการใช้หลักอหิงสาหรือ non-violence (ไม่ใช้ความรุนแรง)

อีกคำหนึ่งที่ใช้แทนกันได้ คือ “Consolidation” ซึ่งแปลว่า “การรวมตัวเป็นหนึ่ง” หรือ “การสมัครสมานกลมเกลียว”

ซึ่งในทางกระบวนการยุติธรรมนำมาใช้ว่า "ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” (Restorative Justice) หรือ "ยุติธรรมทางเลือก" (Alternative Dispute Resolution : ADR) เป็นแนวคิดในกระบวนการยุติธรรมที่มุ่งให้มี “การระงับและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” แทนการดำเนินคดี โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชน เข้ามามีบทบาทในกระบวนการนี้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างการจำคุกหรือการกำหนดโทษโดยคำพิพากษา แต่เป็นกระบวนการที่ผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยา

การเมืองเชิงสมานฉันท์หมายถึง กิจกรรมทางการเมืองที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้มีส่วนร่วม (Participation) ในกระบวนการทางการเมือง เช่น การเสนอความเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองของตน การเลือกผู้แทนเพื่อไปทำหน้าที่แทนตน โดยการเมืองเชิงสมานฉันท์จะลดความตึงเครียดและความขัดแย้งในการแข่งขันเพื่อชิงการนำในจุดยืนหรือความเห็นทางการเมือง ตลอดจนการแข่งขันกันทางการเมืองเพื่อเข้าไปมีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรและแบ่งปันผลประโยชน์ทางการเมือง 

การเมืองเชิงสมานฉันท์จะเป็นกลไกป้องกันไม่ให้เกิดการต่อสู้ทางการเมืองโดยใช้กำลังเข้าประหัตประหารแย่งชิงอำนาจทางการเมืองซึ่งกันและกัน และเป็นกลไก ที่สร้างความสามัคคีร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อความเป็นเอกภาพของชุมชน ผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันของชุมชน สังคมและประเทศชาติบ้านเมือง

ดู สมานฉันท์-ปรองดอง : ศัพท์แสง หลักการและทางเลือก : โดย ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ, ข่าวมติชน, 17 กุมภาพันธ์ 2560, https://www.matichon.co.th/columnists/news_464337

& จริยธรรมนักการเมืองกับการเมืองเชิงสมานฉันท์(สองตอน), ประลอง ครุฑน้อย (Dr. Pralong Krutnoi), 3 สิงหาคม 2554, https://www.gotoknow.org/posts/452214 & https://www.gotoknow.org/posts/452216

& สมานฉันท์  โดยเกษม ศิริสัมพันธ์, ผู้จัดการออนไลน์, 31 ตุลาคม 2548, https://mgronline.com/daily/detail/9480000150464

&‘คณะกรรมการสมานฉันท์’ คลี่คลายความขัดแย้งหรือแค่ลดแรงเสียดทานรัฐบาล ?, เดอะโมเมนตัม, 6 พฤศจิกายน 2563, https://themomentum.co/thai-politic/  

[15]มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ  มาตรฐานทางจริยธรรมนี้ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 219 วรรคสอง ด้วย

มาตรา 276ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระดำเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมตามมาตรา 219 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งในกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่งระยะเวลาหนึ่งปีตามวรรคหนึ่งให้นับแต่วันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่ และให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นใหม่ด้วยโดยอนุโลม

[16]มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 5 ก วันที่ 30 มกราคม 2561 หน้า 13-17, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/005/13.PDF

หมายเลขบันทึก: 689060เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2021 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2021 18:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท