การสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้


การสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้

     หลาย ๆ คนมีความคิดว่า นวัตกรรมนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เป็นเรื่องของคนเก่งมีความสามารถ แต่ความจริงแล้ว การที่เราเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและอย่างสม่ำเสมอ ก็ถือเป็นนวัตกรรมได้

         นั่นคือ นวัตกรรม (Innovation) เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสิ่งใหม่หรือพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่เดิมให้เป็นสิ่งใหม่ แต่ต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบจนเป็นที่ยอมรับและมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น เศรษฐกิจ และสังคม เช่น ผลิตภัณฑ์ การบริการ หรือกระบวนการใหม่ ๆ เป็นต้น

         โดยกระบวนการสร้างและพัฒนานวัตกรรมพอสรุปได้ 5 ขั้นตอน ดังนี้

         ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาเอกสารถึงหลักการ แนวคิด งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจากประสบการณ์ของผู้เกี่ยวข้องว่าในทางวิชาการมีการพัฒนาเรื่องนี้ไว้ว่าอย่างไร มีใครบ้างที่เคยพบกับปัญหาแบบนี้มาก่อน และมีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร หรืออาจจะได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ เพื่อให้ได้แนวคิดและแนวทางที่จะนำมาแก้ปัญหาของตนเองต่อไป

         ขั้นตอนที่ 2 การเลือกและการวางแผนสร้างนวัตกรรม โดยพิจารณาเลือกจากลักษณะของนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ดี ดังนี้

                        1) ตรงกับความต้องการและความจำเป็นที่ต้องนำมาใช้

                        2) มีความน่าเชื่อถือว่าสามารถแก้ปัญหาและพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้

                        3) มีแนวคิดหรือหลักการทางวิชาการรองรับ

                        4) สามารถนำไปใช้ในห้องเรียนได้จริง สะดวกต่อการใช้

                        5) มีผลการพิสูจน์ว่าได้ใช้แล้วสามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ได้

       ขั้นตอนที่ 3 สร้างและพัฒนานวัตกรรม ที่จะต้องผ่านการศึกษา วางแผนการสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมดำเนินการตามขั้นตอน เช่น การวิเคราะห์จุดประสงค์การเรียนรู้ กำหนดนวัตกรรม ออกแบบนวัตกรรม ดำเนินการสร้างหรือพัฒนา

      ขั้นตอนที่ 4 การหาคุณภาพของนวัตกรรม เป็นการพิสูจน์ว่านวัตกรรมที่สร้างขั้นนั้นเมื่อนำไปใช้จะได้ผลหรือสามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียนได้จริง โดยมีการดำเนินการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ และการหาประสิทธิภาพของนวัตกรรม เป็นต้น

      ขั้นตอนที่ 5 การทดลองใช้และปรับปรุงนวัตกรรม โดยมีผลจากก่อนการทดลองใช้และหลังการทดลองใช้กับผู้เรียน เพราะหากมีการทดลองใช้นวัตกรรมหลายครั้งก็ย่อมมีความมั่นใจในประสิทธิภาพของนวัตกรรมนั้น หลังจากเมื่อมั่นใจนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพแล้วก็สามารถนำไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก

      สรุป การสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ เริ่มต้นจากการยกร่างนวัตกรรมหรือการพัฒนานวัตกรรมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น จากนั้นนำนวัตกรรมไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายเป็นการยืนยันจากผลการทดสอบว่านวัตกรรมมีคุณภาพ และในขั้นตอนสุดท้ายคือ การประเมินผลการใช้นวัตกรรม โดยการเปรียบเทียบผลก่อนใช้และหลังใช้ การสอบถามความคิดเห็น หรือความพึงพอใจที่มีต่อนวัตกรรมนั้น ๆ ว่ามีประโยชน์ มีคุณค่า สามารถนำไปใช้ได้เป็นอย่างดี

แหล่งอ้างอิง

พิชิต ฤทธิ์จรูญ. 2559. เทคนิคการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 689054เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2021 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2021 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท