จริยธรรมนักการเมือง (2)


จริยธรรมนักการเมือง

จริยธรรมนักการเมืองกับการเมืองเชิงสมานฉันท์ (2)

การเมืองเชิงสมานฉันท์หรือการแบ่งปันผลประโยชน์

คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของการทุจริต เป็นเรื่องของการขัดแย้ง เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ  นักรัฐศาสตร์ David Easton ให้ความเห็นไว้ว่า “การเมืองเป็นเรื่องการใช้อำนาจจัดสรร  สิ่งที่มีคุณค่า(=ผลประโยชน์)ในสังคม[1]  ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เห็นว่า การเมืองแบบเก่า การเมืองเป็นเรื่องของการขัดแย้ง โต้แย้งและใช้พลังอำนาจทางสังคมในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อเอาชนะคะคาน ช่วงชิงการนำ ช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง การเมืองแบบใหม่ การเมืองเป็นเรื่องของการบริหารจัดการและการตรวจสอบการใช้อำนาจ  แต่การเมืองเชิงสมานฉันท์เป็นเรื่องการจัดการเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข การเมืองเป็นการจัดการการใช้อำนาจบริหารจัดการไม่ใช่ต่อสู้แย่งชิง[2]

การเมืองเชิงสมานฉันท์ :ความหมายของคำว่าสมานฉันท์นั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้อธิบายคำ “สมานฉันท์” ไว้ว่า “ความพอใจร่วมกัน ความเห็นพ้องกัน” สำหรับภาษาอังกฤษน่าจะหมายถึงคำว่า “Consolidation” ซึ่งแปลว่า “การรวมตัวเป็นหนึ่ง” หรือ  “การสมัครสมานกลมเกลียว” หรือ “การเชื่อมความสามัคคี” แปลโดยรวมว่า ความสามัคคีกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน

สำหรับความหมายของการเมืองเชิงสมานฉันท์จึงหมายถึง กิจกรรมทางการเมืองที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยได้มีส่วนร่วม (Participation)  ในกระบวนการทางการเมือง เช่น การเสนอความเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองของตน การเลือกผู้แทนเพื่อไปทำหน้าที่แทนตน โดยการเมืองเชิงสมานฉันท์จะลดความตึงเครียดและความขัดแย้งในการแข่งขันเพื่อชิงการนำในจุดยืนหรือความเห็นทางการเมือง ตลอดจนการแข่งขันกันทางการเมืองเพื่อเข้าไปมีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรและแบ่งปันผลประโยชน์ทางการเมือง  

การเมืองเชิงสมานฉันท์จะเป็นกลไกป้องกันไม่ให้เกิดการต่อสู้ทางการเมืองโดยใช้กำลังเข้าประหัตประหารแย่งชิงอำนาจทางการเมืองซึ่งกันและกัน และเป็นกลไก   ที่สร้างความสามัคคีร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อความเป็นเอกภาพของชุมชน         ผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันของชุมชน สังคมและประเทศชาติบ้านเมือง

ลักษณะนิสัยประจำชาติของคนไทยประการหนึ่งคือ การยิ้มง่าย มีความรักความสามัคคี อยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศใด  ประชาชนมีความเป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้อง มีความเกื้อกูล เอื้ออาทร มีความเป็นมิตรต่อกัน  บางครั้งการแข่งขันทางการเมือง การมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันทำให้ประชาชนเปลี่ยนไป ความเป็นญาติ เป็นพี่ เป็นน้องเปลี่ยนไป  เมื่อมีการแข่งขันกันมีการเสนอความเห็นทางการเมืองที่รุนแรง  ลืมความเป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้อง  ลืมความเป็นคนในชุมชนเดียวกัน  คนทุกคนอาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ อาจจะสนับสนุนคนที่แตกต่างกัน แต่ไม่ควรลืมความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นญาติ ความเป็นเพื่อนความเป็นพี่น้องร่วมชาติกันเมื่อมีการเสนอความเห็นจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน หรือมีการแข่งขันทางการเมือง ไม่ควรถือทิฐิเพราะต่างมุ่งไปที่ผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ และประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศเหมือนกัน

การเลือกตั้งในแต่ละครั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้สนับสนุนผู้สมัคร ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนในชุมชนท้องถิ่น ต่างมีการแข่งขันกันและแบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย หลายครั้งขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน  บางพื้นที่ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย   ถึงขั้นฆ่าฟันกันซึ่งเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ไม่อยากให้เกิดขึ้นในชุมชนใดๆ ในประเทศไทย  เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดมีการแพ้มีการชนะการเลือกตั้ง ฝ่ายแพ้ก็ไม่ควรต้องรู้สึกเสียหน้า เพราะการแข่งขันทุกครั้งก็มีแพ้มีชนะ ฝ่ายแพ้ก็ไม่ต้องเสียใจโอกาสหน้าก็ยังมีอยู่

สถาบันพัฒนาการเลือกตั้งนานาชาติ (IDEA)[3]  มีความเห็นว่าในกระบวนการเลือกตั้งทุก ๆ ขั้นตอนอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือความรุนแรงได้ทั้งสิ้น เนื่องจากผลของการเลือกตั้ง อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนในโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของชุมชนท้องถิ่น หรือของประเทศชาติ หรือทำให้การจัดการผลประโยชน์ของกลุ่ม ต่างๆ ที่แข่งขันกันทางการเมือง เปลี่ยนแปลงไป

แนวทางสร้างการเมืองเชิงสมานฉันท์

การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนั้นเมื่อแข่งขันเสร็จสิ้น ตามหลักการทุกคนต้องมุ่งไปสู่ผลประโยชน์ของชุมชน สังคม และประเทศชาติ  รู้แพ้ รู้ชนะ รู้รักสามัคคี ถ้าทำเช่นนี้ได้ปัญหาความขัดแย้ง หรือความรุนแรงต่างๆ ก็จะสงบระงับลงทันที จากการศึกษากระบวนการสร้างความปรองดองหรือความสมานฉันท์นั้น สถาบันพัฒนาการเลือกตั้งนานาชาติ (IDEA)[4]   พบว่ากระบวนการสร้างความสมานฉันท์ เป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ ที่จะทำเป็นเกิดความเที่ยงธรรม ความจริง และการเยียวยาแก้ไขปัญหา โดยเปลี่ยนแปลงชุนหรือสังคมที่แบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่ายไปสู่ชุมชนสามัคคีที่ยึดโยงผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคต 

กระบวนการสร้างความสมานฉันท์จำเป็นต้องใช้เวลาในระยะยาว ต้องแก้ปัญหาทั้งทางลึกและทางกว้าง แต่ความสำเร็จไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับสภาพปัญและวิธีการในแต่ละพื้นที่ซึ่งแตกต่างกันไป ไม่มีสูตรสำเร็จ

ขั้นตอนที่หนึ่ง ต้องขจัดความรุนแรงหรือการใช้กำลังโดยใช้กลไกทางสังคมทุกประเภท ทั้งภาคราชการ บ้าน วัด โรงเรียน ภาคเอกชน องค์กรประชาสังคม และนักการเมืองเพื่อประกันความปลอดภัยขั้นพื้นฐานของชุมชนให้ได้

ขั้นตอนที่สอง จะต้องสร้างความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้แข่งขันทางการเมืองทุกฝ่าย ที่จะไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรง สร้าง   ความขัดแย้งอีกต่อไป

ขั้นตอนที่สาม จะต้องสร้างความเห็นอกเห็นใจ ความรู้สึกให้อภัยต่อกัน ระหว่างผู้แข่งขัน หรือผู้ที่ต่อสู้กันทางการเมือง ลืมอดีตที่ปวดร้าว เห็นอกเห็นใจและให้อภัยต่อกัน และมุ่งที่จะรับผิดชอบต่ออนาคตของชุมชน ประเทศชาติร่วมกัน โดยมีเงื่อนไขว่าการแก้ไขปัญหาจะยั่งยืนหรือไม่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม การแข่งขันทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม 

กลไกและมาตรการบังคับทางกฎหมายในการควบคุมจริยธรรมนักการเมืองเพื่อป้องกันผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวมขัดกัน

๑.     การกำหนดคุณสมบัติหรือข้อห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น ตามมาตรา  ๒๖๕ – มาตรา ๒๖๙ ห้ามมิให้ สส. สว. นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี มิให้ รับแทรกแซงหรือก้าวก่ายการรับสัมปทานจากรัฐ ห้ามเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนที่รับสัมปทานหรือเป็นคู่สัญญา

๒.     การตั้งกรรมการตรวจสอบประวัติ พฤติกรรมและจริยธรรมของผู้ที่จะดำรง  ทางการเมือง หรือตำแหน่งสำคัญ ๆ โดยรวบรวมข้อเท็จจริงและหลักฐานต่าง ๆ  การเรียกเอกสารและบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง เป็นต้น

๓.     การกำหนดข้อห้าม ข้อกำหนดหลังจากการเข้ารับหรือออกจากตำแหน่ง เช่น  การให้แสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน เปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อเฝ้าระวังมิให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมและเกิดความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวมขัดกัน  ต้องปัดกวาดบ้านตัวเองให้สะอาด ก่อนที่จะไปทำหน้าที่สำคัญเพื่อชาติบ้านเมือง ซึ่งมีการกำหนดไว้ในมาตรา ๒๖๑  ของ  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนี้

“มาตรา ๒๖๑ บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว บัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นจะเปิดเผยได้ต่อเมื่อการเปิดเผยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาพิพากษาคดีหรือการวินิจฉัยชี้ขาดและได้รับ     การร้องขอจากศาลหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่น ดิน

ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินดังกล่าวโดยเร็ว” 

๔.     มาตรการการลงโทษทางกฎหมายและทางวินัย เช่น การปรับ การจำคุก   การพ้นสภาพจากตำแหน่ง  การห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ๕ ปี การพักงาน การไล่ออก เป็นต้น

๕.     มาตรการลงโทษทางสังคม



[1] Easton, David, The Political System: An Inquiry into the State of Political Science, New York: Knopf, 1955, p.129

[2] ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมม, การเมืองสมานฉันท์ http://www.thaingo.org/man_ngo/paiboon.htm.

[3] http://www.idea.int/conflict/

[4] Reconciliation After Violence Conflict ,Policy Summary  เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ สรุปจากhttp://www.idea.int/publications/reconciliation/upload/policy_summary.pdf 

หมายเลขบันทึก: 452216เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 07:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท