การบริหารราชการตามระบบคุณธรรม อ.จรวยพร ธรณินทร์


คุณธรรม

การบริหารราชการตามระบบคุณธรรม

 

                                                 โดย ดร.จรวยพร ธรณินทร์

 

 

ข้าราชการคือข้าของแผ่นดิน เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ข้าราชการคือเสาหลักเสาหนึ่งของระบบบริหารราชการแผ่นดิน หากข้าราชการทำงานดี ประพฤติดี ก็เท่ากับเป็นการสนองคุณของแผ่นดิน

 

หากข้าราชการทุกระดับ โดยเฉพาะผู้บริหารได้เข้าใจความเสี่ยงและมีภูมิคุ้มกันที่ดีโดยยึดแนวทางตามพระราชจริยวัตร ทศพิธราชธรรม และพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาคุณ  จะช่วยให้ท่านประสบความสุขความสำเร็จและความก้าวหน้าในการทำงาน 

 

จึงขอนำมาเสนอเป็นข้อสังเกตเพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำดี ได้โปรดทำดีต่อไป  และเป็นข้อเตือนใจเพื่อป้องกันการกระทำผิดพลาดไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามสำหรับผู้พลั้งเผลอ

 

 

ก.ระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลภาครัฐ

      เมื่อกล่าวถึงคำว่า “คุณธรรม” จำเป็นต้องเข้าใจความหมายของคำที่เกี่ยวข้องก่อน โดยเฉพาะคำว่าคุณธรรมในภาษาไทย ที่ตรงกับความหมายภาษาอังกฤษ 2 คำ คือ Virtue ที่หมายถึง ความดีงาม และ  Merit ที่หมายถึง ความเหมาะสมในการส่งเสริมคนดีมีคุณสมบัติที่ดี เป็นต้น

อย่างไรก็ดียังมีคำที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมอีกมากมาย ได้แก่

 

1.จริยธรรม (Ethics)

หมายถึง ความเป็นผู้มีจิตใจสะอาด บริสุทธิ์ เสียสละ หรือประพฤติดีงาม

จริยธรรมมีการใช้งานใน 3 ลักษณะ

(1) ประมวล กฎหมาย ที่กลุ่มชนหรือสังคมหนึ่ง ๆ ยอมรับเป็นแนวควบคุมความประพฤติ เพื่อแยกแยะให้เห็นว่าอะไรควร หรือไปกันได้กับการบรรลุวัตถุประสงค์ของกลุ่ม

(2) ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยความประพฤติและการครองชีวิต ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด หรืออะไรควร อะไรไม่ควร

(3) กฎเกณฑ์ความประพฤติของมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นจากธรรมชาติของมนุษย์เอง ได้แก่ ความเป็นผู้มีปัญญา และเหตุผลหรือปรีชาญาณทำให้มนุษย์มีมโนธรรมและ รู้จักไตร่ตรองแยกแยะความดี - ความชั่ว, ถูก - ผิด, ควร - ไม่ควร เป็นการควบคุมตัวเอง และเป็นการควบคุม กันเองในกลุ่ม หรือเป็นศีลธรรมเฉพาะกลุ่ม

 

2. จรรยาบรรณ(Code of Conduct or Professional Ethics)

หมายถึง ประมวลกฎเกณฑ์ความประพฤติ หรือประมวลมารยาทของผู้ประกอบอาชีพนั้น ๆ ต้องเป็นเอกลักษณ์ทางวิชาชีพ ใช้ความรู้ มีองค์กรหรือสมาคมควบคุม

จรรยาบรรณมีการใช้งานใน 2 ลักษณะ

(1) ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

(2)  หลักความประพฤติที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้มีคุณธรรมและจริยธรรมของบุคคลในแต่ละกลุ่มวิชาชีพ

3. ศีลธรรม (Moral)

หมายถึง ความประพฤติที่ดีที่ชอบ ดีงาม และเว้นจากการทำความชั่ว  โดยถือว่า

ศีล หมายถึง เว้นชั่วหรือเว้นจากข้อห้าม ส่วนธรรม หมายถึงประพฤติดี หรือทำตามคำแนะนำสั่งสอน

ศีลธรรมจึงมีการใช้งานในลักษณะที่เน้นทั้งการกระทำดี และการหลีกเลี่ยงการกระทำชั่ว

 

4. คุณธรรม (Virtue)

หมายถึง แนวความคิดที่ดีเป็นตัวบังคับให้ประพฤติดี

คุณธรรมมีการใช้งานใน 2 ลักษณะ

(1) สภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจ

(2) คุณธรรม คือจริยธรรมที่แยกเป็นรายละเอียดแต่ละประเภท หากประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นสภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจของผู้นั้น

 

5. คุณธรรม (Merit)

หมายถึง  ความดีงามของคนมีความรู้ดี ความสามารถดี ความประพฤติดี ทำให้คนมีคุณภาพ ใช้เป็นคุณสมบัติ(QUALIFICATION) และ ใช้ในการเลือกคนให้ทำงาน   

    คุณธรรม (Merit) มักใช้ในความหมายของระบบคุณธรรมของการบริหารงานบุคคล

 

6. ธรรมาภิบาล (Good Governance) 

หมายถึง การจัดการปกครอง การบริหารปกครอง การบริหารกิจการบ้านเมือง การควบคุมดูแลกิจการ การกำกับดูแลที่ดี อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ (Process) และระบบ (System) ซึ่งองค์การหรือสังคมได้มีการปฏิบัติหรือดำเนินการ (Operate)

ธรรมาภิบาล  ครอบคลุมประเด็น ดังนี้

     - การมีส่วนร่วมของประชาชน(Participation)

     - นิติธรรม (Rule of Law)

     - ความโปร่งใส ( Transparency)

     - การตอบสนอง (Responsiveness)

     - การแสวงหาฉันทามติ (Consensus oriented)

     - ความถูกต้อง ความเสมอภาค ยุติธรรม เที่ยงธรรม (Equity)

     - ประสิทธิผลและประสิทธิภาพ (Effectiveness & Efficiency)

          - ภาระรับผิดชอบ (Accountability)

 

 7. ทศพิธราชธรรม (Virtues of the King)

หมายถึง จริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชน

ทศพิธราชธรรม 10 ประการมีดังนี้

          - ทาน คือ การให้ การเสียสละ การให้น้ำใจ

          - ศึล คือ ความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา ใจ ให้ปราศจากโทษ

          - บริจาค คือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม

          - ความซื่อตรง คือ ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต

          - ความอ่อนโยน คือ การมีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผลที่ควร มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโส

          - ความเพียร คือ ความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน

          - ความไม่โกรธ คือ ไม่มุ่งร้ายผู้อื่น แม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล

          - ความไม่เบียดเบียน คือ การไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น

          - ความอดทน คือ การรักษาอาการ กาย วาจา ใจให้เรียบร้อย การอดทนต่อสิ่งทั้งปวง

          - ความยุติธรรม คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก

 

 

ความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล

คุณธรรม(Virtue) และจริยธรรม เป็นกลไกเพื่อการควบคุมตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการกำกับพฤติกรรมของคนแต่ละคนในองค์กร ส่งเสริมให้ประพฤติชอบ (ทำดี มีประสิทธิภาพ)

ส่วนธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นกลไกเพื่อการควบคุม โครงสร้างของหน่วยงาน ระบบการบริหาร และกระบวนการดำเนินงาน ซึ่งเป็นกระบวนการกำกับการปฎิบัติงาน (Operation) ของคนทั้งหมดในองค์กร เป็นการลดการทุจริตประพฤติมิชอบ (ไม่ละเมิดกฎหมาย จริยธรรม จรรยาบรรณ)

ทั้งกลไกด้านคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล มีเป้าหมายเดียวกัน คือ นำไปสู่การลดความสูญเสีย ขจัดรูรั่วไหล ป้องกันการทุจริต การประพฤติและดำเนินการที่มิชอบ เพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผล ความคุ้มค่า โปร่งใส ตอบสนอง สุจริต ซื่อตรง และเที่ยงธรรม

 

หลักสำคัญของระบบคุณธรรมที่ใช้ในระบบบริหารงานบุคคลภาครัฐ (MERIT SYSTEM)

1. หลักสมรรถนะ (Competency)

2. ความเสมอภาคทางโอกาส (Equality Of Opportunity)

3. ความมั่นคงในอาชีพ (Security Of Tenure)

4. ความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality)

จากหลักการของระบบคุณธรรมข้างต้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ.2551 จึงได้กำหนดสาระสำคัญในการใช้ระบบคุณธรรมเพื่อการบริหารงานบุคคลภาครัฐไว้ในมาตรา 42 ดังนี้

มาตรา 42 การจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คำนึงถึงระบบคุณธรรมดังต่อไปนี้

(1) การรับบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคล ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และประโยชน์ของทางราชการ

(2) การบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กรและลักษณะของงาน โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

(3) การพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่งและการให้ประโยชน์อื่นแก่ข้าราชการ ต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรมโดยพิจารณาจากผลงาน ศักยภาพและความประพฤติและจะนำความคิดเห็นทางการเมือง หรือสังกัดพรรคการเมืองมาประกอบการพิจารณามิได้

(4)  การดำเนินการทางวินัย ต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรมและโดยปราศจากอคติ

(5)  การบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง

 

สัจธรรมแห่งชีวิตบุคคลทั่วไป 6 ประการ

ในการทำงานหรือดำรงชีวิตของคนนั้น หากท่านเข้าใจสัจธรรม หรือความจริงที่เกิดขึ้นกับทุกคนว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา จะทำให้ท่านเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ดี และส่งผลให้มีกำลังใจไม่ท้อถอยในการทำงาน โดยสัจธรรมแห่งชีวิตประกอบด้วย

1.มนุษย์เติบโตมาจากภูมิหลังที่ต่างกัน ทำให้มนุษย์ไม่เหมือนกัน ท่านจะคาดคั้นบีบบังคับให้ทุกคนคิดอย่างเดียวกัน พูดทำนองเดียวกันหรือแสดงออกมาเป็นพิมพ์เดียวกันไม่ได้

2. ไม่มีใครที่ดีที่สุดหรือเลวที่สุด แต่เพียงอย่างเดียว ทุกคนมีทั้งดีและเลว ขึ้นกับว่าท่านรู้จักเขาดีเพียงพอหรือไม่ ท่านให้อภัยหรือชื่นชมผลกระทำของเขาได้หรือเปล่า

3. มนุษย์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีความตั้งใจที่จะเรียนรู้วิธีเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจงอย่าประเมินผู้อื่นต่ำ อย่าดูถูกเหยียบย่ำผู้อื่น แต่จงชี้แนะวิธีทำงานที่ดีกว่าเพื่อให้เขาค้นพบการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น

4. มนุษย์จะทำได้หากได้รับโอกาส และจะทำได้ดีหากมีกำลังใจได้รับคำชมและคำชี้แนะ แต่จะนั่งรอโชคไม่ได้ ต้องสร้างโอกาส และต้องขวนขวายหาทางจูงใจให้ผู้อื่นมองเห็นฝีมือและความสามารถของตน

5. คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่การประเมินจากผู้อื่น เขาจะถูกประเมินอยู่ตลอดเวลา เขาจะเป็นคนดีเมื่อมีเสียงชื่นชมมากกว่าเสียงสาปแช่ง และสุดท้ายเมื่อเขาจากโลกไปเสียงที่ประเมินครั้งสุดท้ายจะเป็นการประเมินผลงานรวมตลอดชีวิตของบุคคลนั้น

6. มนุษย์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดต้องมีทั้ง ความดี ความเก่ง และโอกาส ความสำเร็จหรือล้มเหลวของมนุษย์ ล้วนเป็นฝีมือของเหล่ามนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น

 

สัจธรรมชีวิตข้าราชการ 8 ประการ

          ในขณะที่มนุษย์ทุกคนต้องมีความเข้าใจในสัจธรรมแห่งชีวิต 6 ประการแล้ว การเป็นข้าราชการที่ดีย่อมต้องยึดมั่นใจสัจธรรมชีวิตข้าราชการเช่นกัน ซึ่งประกอบด้วย

1.ข้าราชการหวังในความก้าวหน้าในหน้าที่ (การครองงาน) : ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น,  ได้ย้ายไปสถานที่หรือตำแหน่งที่พอใจ, ได้รับความดีความชอบ, ได้ทำงานโครงการใหม่โครงการใหญ่โครงการยากที่เหมาะสม

2.ข้าราชการต้องการความยอมรับในสังคม (การครองคน) : ได้รับโล่รางวัล,เป็นที่ไว้วางใจของเจ้านาย,เป็นที่รักของลูกน้อง,มีเพื่อนตาย/กิน

3.ข้าราชการต้องจัดการชีวิต (การครองตน) : ครอบครัวอบอุ่น, ทุกคนมีงานทำ, ลูกได้เข้าเรียน , ไม่มีหนี้สิน,  สุขภาพตนและครอบครัวดี

4.ความหมาย (ลาภ-ยศ-สรรเสริญ) การจัดลำดับ และขนาดของความสุข/ทุกข์ความสำเร็จ/ความล้มเหลวของข้าราชการแต่ละคนไม่เหมือนกัน

5.ชีวิตราชการเผชิญความเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาสุขบ้าง-ทุกข์บ้าง ทุกคนเรียนรู้และปรับตัวถูกกลืนไปกับระบบราชการ

6.เจ้านาย เพื่อน ลูกน้อง ผู้ร่วมงานเปลี่ยนหน้าตลอดเวลา ย้ายไป,โตขึ้น, ลาออก,เกษียณไป, เป็นเรื่องธรรมดา

7. อาชีพข้าราชการเน้นเกียรติ ศักดิ์ศรี มากกว่าเงิน

8.ผลงาน/ตำแหน่ง อยู่ที่ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ และอาศัย จังหวะ คุณภาพงานและคุณลักษณะส่วนบุคคล

 

สาเหตุที่คนกระทำผิด

การที่คนกระทำผิดมักเกิดจากสาเหตุที่เกิดภายในตัวบุคคล มาจากความไม่เข้าใจ ตามใจ ไม่ใส่ใจ เผลอใจ ไม่มีจิตใจ  เจ็บใจ ชะล่าใจ ล่อใจ ตั้งใจ หรือกล่าวโดยสรุปมาจากจิตสำนึกของตนเอง

สาเหตุกระทำผิดจากภายนอก ซึ่งมาจากอบายมุข ตัวอย่างไม่ดี ขวัญไม่ดี งานล้นมือหรือไม่พอมือ  โอกาสเปิดช่อง อ้างความจำเป็นในการครองชีพ และ ผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย

 

การกระทำชั่ว เป็นกระบวนการของพฤติกรรม ประกอบด้วย

1. มีผู้กระทำ ซึ่งอาจทำคนเดียว ทำเป็นกลุ่มเดียว หรือทำข้ามกลุ่มฮั้วกัน

2. มีแรงจูงใจ ทำตามคำสั่ง ทำโดยพลการ ทำโดยไม่รู้เท่าทัน ทำเพราะอ้างจำเป็น  บันดาลโทสะ

3. มีโอกาส จังหวะ เวลา สถานที่ เครื่องมือ

4. มีการลงมือ ทำโดยวางแผน ทำปุบปับ ทำรวดเร็ว ทำแบบทารุณ

5. มีผลลัพธ์เกิดตามมา ผิดกฎหมาย ยักยอกของหลวง ทำร้ายร่างกาย ทำลายทรัพย์สิน สังคมประณาม เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศของตนและวงศ์ตระกูล

 

วินัย คือ ตัวควบคุมคุณธรรม มิให้กระทำผิด

1. การรักษาวินัยของข้าราชการ 3 วิธี คือ

1) การรักษาวินัยโดยตัวข้าราชการเอง: (1) เรียนรู้และเข้าใจวินัย ซึ่งต้องมีการอบรมเรียนรู้ และ (2) สำนึกในหน้าที่ที่จะต้องรักษาวินัย

 2) การรักษาวินัยโดยผู้บังคับบัญชา : (1) เสริมสร้างและพัฒนา (2) ป้องกัน และ (3) ดำเนินการแก่ผู้กระทำผิด      

 3) การรักษาวินัยโดยองค์กร : (1) กำหนดนโยบาย ออกระเบียบและกฎเกณฑ์ (2)  ส่งเสริมและสนับสนุนและ (3) การกำชับติดตามตรวจสอบ

 

2. ปัจจัยส่งเสริมวินัย 4 องค์ประกอบ ได้แก่

1) สร้างขวัญ : รับขวัญ/ ปลอบขวัญ / ทำขวัญ / บำรุงขวัญ

2) สร้างกำลังใจ : ซึ่งทำได้ 2 อย่างคือ สร้างแรงดึงและสร้างแรงดัน

สร้างแรงดึงหรือเสริมทางบวก

     (1) สนองความต้องการทางความมั่นคง/ความปลอดภัย/ความเป็นธรรม/ความก้าวหน้า/เกียรติยศ/การยอมรับ

     (2) สร้างศรัทธาในงาน/หน่วยงาน/หัวหน้า/ผู้ร่วมงาน/

สร้างแรงดันหรือควบคุมไม่ให้เกิด

     (1) สร้างเงื่อนไขให้จำเป็น:ผูกมัดด้วยสัญญา/ด้วยเครื่องยังชีพ

     (2) สร้างเงื่อนไขให้กลัว : กลัวผลร้าย  กลัวผู้รับรอง

3) ค่านิยม : มาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรม/ปณิธาน/อุดมคติ

4) คุณธรรม :ความเป็นธรรม/ความเสมอภาคในโอกาส/ไม่เลือกปฎิบัติ

 

 

3. เหตุบั่นทอนวินัย 6 สาเหตุ

1)  ความไม่รู้ :  ไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้/นึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครก็ทำกัน

2) การเสียขวัญ  : รู้สึกว่าไม่ได้รับความสนใจ ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไม่ได้รับความเป็นธรรม

3) การเสียกำลังใจ : ไม่ได้รับการยอมรับ ความจริงใจ ผลตอบแทน ความเป็นธรรม

4) ความจำเป็น : ถูกล่อลวง ข่มขู่ บังคับ ขัดสน ตอบแทนบุญคุณ

5) กิเลส : ความอยาก/เห่อ /ประมาท/ว้าเหว่ /ความคับข้องใจ

6) อบายมุข การพนัน เที่ยวในถิ่นหรือเวลาอโคจร มัวเมาในกามารมณ์ คบคนชั่วเป็นมิตร

 

4. เครื่องควบคุมวินัย มี 3 กลไก

1) ข้อกำหนด : บทวินัยที่บัญญัติเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติไว้

2) ผู้ควบคุม : ผู้บังคับบัญชาและองค์กรบริหารงานบุคคลกลาง เช่น คณะรัฐมนตรี  คณะกรรมการก.พ., คณะกรรมการก.ค.ศ.,คณะกรรมการ.ก.ต.ร.

3) มาตรการบังคับ : ลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง และร้ายแรง โดยมีหลักการคือ

     - ความยุติธรรม ต้องมีการสอบสวน พิจารณาและให้สิทธิอุทธรณ์

     - ความเป็นธรรม ต้องให้ได้ระดับมาตรฐานเสมอหน้า

     - ความฉับพลัน ต้องให้รวดเร็วใกล้ชิดกับเหตุ

     - นิติธรรม ต้องมีข้อกำหนดให้ทำหรือห้ามไม่ให้ทำ

     - มโนธรรม ต้องคำนึงถึงความที่ควรจะเป็น

 

การป้องกันการกระทำชั่ว มิให้ต้องโทษทางวินัย

1.มีคุณธรรม (Virtue) แนวความคิดที่ดี เป็นตัวบังคับให้ประพฤติดี

2.ทำงานตามระบบคุณธรรม(Merit)

3.มีจริยธรรม (Ethics) เป็นแนวปฏิบัติตามอาชีพ

4.มีธรรมาภิบาล(Good Governance) ประกอบด้วย นิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส   การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และความคุ้มค่า

 

ข้อระวังในการทำงานกับฝ่ายการเมือง/ฝ่ายบริหารที่อาจนำไปสู่การกระทำผิด

1. การ “ล้วงลูก”ลึกลงไปถึงการแต่งตั้งข้าราชการ ที่มิได้อยู่ในอำนาจของตน

2. การนำบริษัทพวกพ้องเข้ามารับผลประโยชน์ที่มิชอบธรรมจากการจัดหา จัดซื้อ จัดจ้าง

3. การขอให้ข้าราชการช่วยสร้างฐานเสียง ในลักษณะ “หัวคะแนน” โดยให้จัดโครงการลงพื้นที่ ในลักษณะเลือกปฏิบัติ ขาดความชอบธรรม

4. การขอให้อาศัยอำนาจหน้าที่ช่วยเหลือพวกพ้องที่ทำผิดให้พ้นผิด

ดังนั้นข้าราชการจึงควรระมัดระวัง ดังนี้

- ควรทำหนังสือเสนอ และบันทึกกลับให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนข้อเสนอ และตนเองต้องชั่งน้ำหนักผลที่ติดตามมาหากยังฝืนกระทำความผิด ระหว่างถูกย้ายกับต้องถูกดำเนินคดี

-ให้บันทึกความเห็นแย้งไว้เป็นหลักฐาน หากเป็นการประชุม ให้บันทึกรายงานการประชุมให้ครอบคลุมสาระสำคัญของการใช้ดุลพินิจ

- อย่าไปทำผิดไปสะดุดขาตัวเอง อย่าไปตายน้ำตื้น ด้วยความไม่รู้กฎหมาย แต่อย่าเถรตรง จนทุกอย่างไม่ยืดหยุ่น

- ยึดความถูกต้องมากกว่าถูกใจ ไม่จงใจซิกแซกเพื่อหลีกเลี่ยงหรือใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ไปทำผิดทั้งที่รู้ กรรมชาตินี้มีจริง กรรมติดจรวดส่งผ่านอีเมล์ได้ ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า

 

ป้องกันการร้องทุกข์คับข้องใจก่อนนำไปสู่การกระทำผิดวินัย

-กระบวนการพนักงานสัมพันธ์ งานบริหารบุคคลต้องเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

-มีกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย ต่อรองภายในหน่วยงาน

-มีการสั่งงาน สอนงาน ควบคุม กำกับติดตามผลงานที่เป็นธรรม

-มีกระบวนการสมาชิกสัมพันธ์ : งานประเพณี งานรื่นเริง งานแต่งงาน

-มีการสื่อสารภายในองค์กรที่ดีและทั่วถึง

-การบริหารจัดการยึดหลักธรรมาภิบาล

-มีแหล่งระบายทุกข์ และทุกข์ได้รับการแก้ไขเยียวยา

 

ข. วิกฤติจริยธรรมในการบริหารภาครัฐ

 

คำถามเชิงท้าทายจริยธรรมในการบริหาร

(ที่มา: http://humannet.chandra.ac.th/pa/morals_politic/morals_critical.doc พลสัณห์ ศรีสมทรัพย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2549)

ในการบริหารราชการมีจุดที่ตัดสินใจยากสำหรับผู้บริหาร เพราะหมิ่นเหม่ต่อการตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งเป็นคำถามเชิงท้าทายจริยธรรมในการบริหาร

1.จะเลือกให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือ เลือกประสิทธิภาพ  

2.จะเลือกแบบแผนตามวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือ ประสิทธิผล

3.จะเลือกประชาชนโดยทั่วไป หรือ กลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

4.จะเลือกความมั่งคั่งของธุรกิจ หรือ การขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อม

5.ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผิดกฎ ผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย ถือว่ารับได้

6.การสร้างคะแนนนิยมโดยใช้เงินเป็นเครื่องมือเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้

 

จากข้อมูลของพลสัณห์ ศรีสมทรัพย์  ยังพบว่าประเด็นจริยธรรม เป็นเรื่อง “จิตสำนึก” ของผู้บริหารเช่น รู้สึกผิด ไม่สบายใจ เมื่อไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ เช่น

     

“วันนี้ชะลอเรื่องการพิจารณาโครงการใหม่ของลูกน้องที่ไม่ใช่พวกเอาไว้ ให้ลูกน้องผู้นั้นกังวลใจไปสักระยะ

งวดนี้ขอเลื่อนตำแหน่งให้ลูกน้องคนสนิท ให้คนที่มีความสามารถรอไปก่อน

หางาน/โครงการให้กับธุรกิจที่เป็นเครือญาติ  หรือตนเองมีผลประโยชน์ร่วม

รับพรรคพวกตนเองเข้ามาทำงานหวังให้เป็นฐานสนับสนุนตนเองในการครองอำนาจ

 

การแสดงออกถึง “จิตสำนึกที่ดี” และ “การขาดจิตสำนึก” เชิงจริยธรรม  

         จิตสำนึกที่ดี  ได้แก่ ความผูกพันต่อการให้บริการ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ปฏิบัติตามกฎ ข้อบังคับ ไม่ทำผิดกฎหมาย นับถือและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำนึงถึงความยุติธรรมในสังคม ให้ความสำคัญต่อเสียงประชาชน โปรงใส ซื่อสัตย์ ผูกพันต่อการจัดการที่ดี  รับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้ทำลงไป รักษาศรัทธาของมหาชน และสนับสนุนประโยชน์ส่วนรวม

          ขาดจิตสำนึก ได้แก่ ไม่ผูกพันต่อการให้บริการ ขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ หลีกเลี่ยง กฎ ข้อบังคับ  หลีกเลี่ยงกฎหมาย ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่สนใจความยุติธรรมในสังคมไม่สนใจเสียงของประชาชน ไม่ซื่อสัตย์  คดโกง ไม่ผูกพันต่อการจัดการที่ดี  ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้ทำลงไป  ไม่รักษาศรัทธาของมหาชน และสนใจแต่ประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง

 

สหราชอาณาจักรกำหนดหลักปฏิบัติเชิงจริยธรรม 7ข้อ สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ

1.ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่กระทำการเพื่อหาประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัว และพวก

2.ความเป็นส่วนหนึ่งของระบบของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานสาธารณะ ต้องไม่ไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจ หรือกลุ่มผลประโยชน์ อันอาจมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่นั้น

3.มีจุดมุ่งหมายที่มีหลักการและคุณธรรม การดำเนินการต้องเป็นไปตามหลักการบริหารจัดการ และหลักคุณธรรม (Merit System)

4. รับผิดชอบต่อการตัดสินใจที่ตนได้กระทำ ตัดสินใจใดไปแล้วต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนได้กระทำ

5. เปิดเผยการกระทำ ต้องเปิดเผยการตัดสินใจที่เกี่ยวกับการดำเนินงานที่ตนได้ทำรวมถึงเหตุผลที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยรายละเอียดเมื่อสังคมร้องขอ

6. ซื่อสัตย์ ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีที่เอกชนได้เข้ามามีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับตน และมีหน้าที่ต้องแก้ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยใช้แนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

7.ความเป็นผู้นำ เจ้าหน้าที่รัฐพึงสนับสนุนหลักทั้ง 6 ประการข้างต้น โดยใช้ภาวะผู้นำ และการแสดงตนเป็นแบบอย่างที่ดี

 

หน่วยงานควรจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม

มาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม ควรมีองค์ประกอบดังนี้

1. กำหนดภารกิจหลักของหน่วยงาน

2. บรรจุหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่5) พ.ศ.2545 มาตรา 3/1 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546

3. ค่านิยมสร้างสรรค์

4. มีการป้องกันพฤติกรรมการกระทำผิดที่พบบ่อย หรือล่อแหลมต่อการกระทำผิด

5. ครอบคลุมเนื้อหาทฤษฎีจรรยาบรรณ

 

ปัญหาเชิงจริยธรรมในการบริหารงานภาครัฐ

จากการสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษาชั้นปริญญาโทที่มีต่อการบริหารงานภาครัฐในปัญหาเชิงจริยธรรม พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

1. เจ้าหน้าที่ของรัฐ  ประเภทระบบงานสาธารณะที่มีปัญหาเชิงจริยธรรมในระดับค่อนข้างมาก จำนวน 4 กลุ่มตามลำดับ  ดังรายละเอียดจากตารางที่  6

(1) คณะรัฐมนตรี

(2) นักการเมืองในองค์การบริหารส่วนตำบล

(3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  

(4) นักการเมืองในระบบเทศบาล

 

คำสำคัญ (Tags): #บริหาร คุณธรรม
หมายเลขบันทึก: 389443เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2010 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หลักสูตรบริหารการศึกษาหรือเปล่าคะ ครูแนะแนวอ่านแล้วเข้าใจบางส่วนโดยเฉพาะตอนนึง ชอบมาก เพราะเข้ากับชีวิตของข้าพเจ้า "แนะแนว...เราจะสู้เพื่อฝัน" เสียจริงๆ นี่เลยค่ะ สัจธรรมแห่งชีวิตบุคคลทั่วไป 6 ประการ

 ในการทำงานหรือดำรงชีวิตของคนนั้น หากท่านเข้าใจสัจธรรม หรือความจริงที่เกิดขึ้นกับทุกคนว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา จะทำให้ท่านเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ดี และส่งผลให้มีกำลังใจไม่ท้อถอยในการทำงาน โดยสัจธรรมแห่งชีวิตประกอบด้วย 1.มนุษย์เติบโตมาจากภูมิหลังที่ต่างกัน ทำให้มนุษย์ไม่เหมือนกัน ท่านจะคาดคั้นบีบบังคับให้ทุกคนคิดอย่างเดียวกัน พูดทำนองเดียวกันหรือแสดงออกมาเป็นพิมพ์เดียวกันไม่ได้ 2. ไม่มีใครที่ดีที่สุดหรือเลวที่สุด แต่เพียงอย่างเดียว ทุกคนมีทั้งดีและเลว ขึ้นกับว่าท่านรู้จักเขาดีเพียงพอหรือไม่ ท่านให้อภัยหรือชื่นชมผลกระทำของเขาได้หรือเปล่า 3. มนุษย์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีความตั้งใจที่จะเรียนรู้วิธีเปลี่ยนแปลง ดังนั้นจงอย่าประเมินผู้อื่นต่ำ อย่าดูถูกเหยียบย่ำผู้อื่น แต่จงชี้แนะวิธีทำงานที่ดีกว่าเพื่อให้เขาค้นพบการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น 4. มนุษย์จะทำได้หากได้รับโอกาส และจะทำได้ดีหากมีกำลังใจได้รับคำชมและคำชี้แนะ แต่จะนั่งรอโชคไม่ได้ ต้องสร้างโอกาส และต้องขวนขวายหาทางจูงใจให้ผู้อื่นมองเห็นฝีมือและความสามารถของตน 5. คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่การประเมินจากผู้อื่น เขาจะถูกประเมินอยู่ตลอดเวลา เขาจะเป็นคนดีเมื่อมีเสียงชื่นชมมากกว่าเสียงสาปแช่ง และสุดท้ายเมื่อเขาจากโลกไปเสียงที่ประเมินครั้งสุดท้ายจะเป็นการประเมินผลงานรวมตลอดชีวิตของบุคคลนั้น 6. มนุษย์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดต้องมีทั้ง ความดี ความเก่ง และโอกาส ความสำเร็จหรือล้มเหลวของมนุษย์ ล้วนเป็นฝีมือของเหล่ามนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น

อื้อ..ฮือ นี่มันหลักการงานแนะแนวชัดๆ (ลอกกันนี่หน่า...ล้อเล่นค่ะ) แต่จริงอยากเข้ามาบอกว่า ชอบมากมายมหาศาล กับชื่อบล็อกนี้"การศึกษาแก้ปัญหาชีวิต" สุดยอดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท