พุทธเศรษฐศาสตร์ : เสื้อขาวไม่สำคัญจิตใจที่ขาว สะอาด บริสุทธิ์...


เสื้อผ้าอาภรณ์ เป็นเครื่องห่อหุ้มร่างกาย ปกป้องอันตรายจากความร้อน ความหนาว เพื่อบำบัดสัมผัสอันเกิดจาก เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย และเพียงเพื่อปกปิดอวัยวะอันให้เกิดความละอาย (ตังขณิกปัจจเวกขณปาฐะ) มิใช่เป็นเหตุให้อ้างได้ซึ่งบุคคลที่จะลงมือทำความดี

เมื่อวันก่อนตอนที่มีคณะจาก อบต.แจ้งความประสงค์ว่าจะมาที่นี่ ข้าพเจ้าก็ได้มอบหมายงานและบอกว่า "ให้เตรียมเสื้อผ้ามาด้วยนะ จะให้ลอกคลอง" เจ้าหน้าที่ของ อบต. ส่วนใหญ่เตรียมเสื้อผ้ามา แต่สำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ทราบข่าว จึงไม่ได้เตรียมเสื้อผ้ามา แต่ทว่า... คนที่มีจิตใจดี ไฉนเลยจะห่วงแค่เสื้อผ้าที่เปรอะเปื้อน เพราะโอกาสการทำความดีเช่นนี้มีไม่บ่อยนัก เสื้อผ้าจะเปรอะ จะเปื้อนก็ซักผ้า แต่จิตใจที่จะได้ชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีออกจากจิตใจให้ใสสะอาดนั้นสำคัญยิ่งกว่า

เราจึงได้เห็นภาพหลาย ๆ คนที่ใส่เสื้อสีขาว ลงไปลุยช่วยงานลอกคลอง ลอกหนองน้ำในครั้งนี้

ทำความดีด้วยการให้ การเสียสละนั้น ถึงแม้ว่าเสื้อผ้าจะไม่พร้อม แต่ถ้าจิตใจพร้อม นี่แหละ คือการให้ การเสียสละอย่างไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ

เสื้อเปื้อนนั้นซักได้ หรือถึงว่าขนาดเปื้อนแล้วซักไม่ได้ ก็ยังหาซื้อใหม่ได้ แต่จิตใจที่สะอาดนั้นหาซื้อที่ไหนไม่ได้ นอกจากนำร่างกายมาสร้างความดี

การชำระล้างกิเลส เครื่องเศร้าหมอง ที่มาห่อหุ้มจิตใจที่เดิมนั้นไซร้ประุภัสสร คือ ใส สะอาด บริสุทธิ์ สิ้นสุดแห่งความเห็นแก่ตัวนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

การมาปฏิบัติธรรม แก่นแท้นั้นมิใช่การมาใส่เสื้อผ้าสีขาว แต่คือการชำระล้างจิตใจด้วยมาเสียสละ ชำระล้างสิ่งสกปรกที่มาห่อหุ้มจิตใจที่เคยใสสะอาดนั้น

จิตใจนั้นเป็นนามธรรม ไม่มีตัวไม่มีตน การฝึก การปฏิบัติ ต้องฝึกที่กาย นำกายมาทำความดี นำกายมาเสียสละ เมื่อเราเสียสละอย่างเต็มที่เต็มร้อย จิตใจที่เป็นนามธรรมนั้น ก็สามารถแสดงออกมาเป็นรูปธรรมได้ คือ แสดงออกมาทาง "รอยยิ้ม"

ทำไปยิ้มไป เป็นเครื่องหมายที่แสดงเห็นถึงความสุขที่เกิดขึ้นในจิตใจจากการที่เราได้ทำความดี

เสื้อผ้าอาภรณ์ เป็นเครื่องห่อหุ้มร่างกาย ปกป้องอันตรายจากความร้อน ความหนาว เพื่อบำบัดสัมผัสอันเกิดจาก เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย และเพียงเพื่อปกปิดอวัยวะอันให้เกิดความละอาย (ตังขณิกปัจจเวกขณปาฐะ) มิใช่เป็นเหตุให้อ้างได้ซึ่งบุคคลที่จะลงมือทำความดี

การทำงานตามแนววิถีพุทธ ตามหลักพุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) คือ การไขว่คว้าโอกาสในการทำความดี อย่างเต็มที่ เต็มร้อย ถึงแม้ว่าร่างกายนี้จะต้องทำงานอย่างยากลำบาก ถึงแม้ว่าเสื้อผ้าอาภรณ์ อุปกรณ์การทำงานต่าง ๆ จะไม่พร้อม แต่ขอให้จิตใจนั้นพร้อมแค่นั้นก็เกินพอ...

หมายเลขบันทึก: 689055เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2021 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2021 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท