จริยธรรมนักการเมือง


จริยธรรม

จริยธรรมนักการเมืองกับการเมืองเชิงสมานฉันท์ (1)

 ความสำคัญ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ปอ.ประยุทธโต) กล่าวไว้ว่า “สมัยก่อน เมื่อปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย  พระราชาหรือมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครอง   คุณภาพของราชาธิปไตยก็อยู่ที่คุณภาพของพระราชามหากษัตริย์นั้น ถ้าพระราชาดีมีปรีชาสามารถบ้านเมืองก็เจริญมั่นคงร่มเย็นเป็นสุขแต่ถ้าพระราชาร้ายด้อยปัญญาไม่มีความสามารถบ้านเมืองก็เสื่อมโทรมเดือดร้อน[1] หลักควบคุมความประพฤติ การปฏิบัติตนของพระมหากษัตริย์ในสมัยก่อน คือ ทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นจริยธรรมของผู้ปกครองปัจจุบันบ้านเมืองปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองเข้ามาทำหน้าที่ใช้อำนาจเป็นผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องมีหลักจริยธรรมควบคุมการปฏิบัติตนเช่นเดียวกัน      

จริยธรรมของนักการเมืองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะนักการเมืองเป็นผู้ที่ต้องไปทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์สาธารณะของแผ่นดิน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๙ บัญญัติให้มีการจัดทำประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท   รวมทั้งการสร้างกลไกและระบบในการดำเนินงานเพื่อบังคับใช้ และเมื่อจัดทำประมวลจริยธรรมแล้วหากมีการฝ่าฝืนก็จะมีการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำการฝ่าฝืนจริยธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ต้องรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าเป็นการ  ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้ส่งเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)พิจารณา โดยให้ถือว่าเป็นเหตุที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามมาตรา ๒๗๐ จะถูกถอนถอนจากตำแหน่ง หรืออาจมีการไต่สวนและเปิดเผยผลการไต่สวนต่อสาธารณะตามมาตรา ๒๘๐[2]

ประมวลจริยธรรม และกลไกการบังคับใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการควบคุมไม่ให้นักการเมือง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้อิทธิพลในตำแหน่งหน้าที่เรียกรับสินบน  เรียกร้องผลประโยชน์โดยมิชอบให้แก่ตนเองและพวกพ้อง  ตลอดจนการทุจริตเชิงนโยบาย  การตรากฎหมายที่เอื้อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง การไม่เสนอกฎหมายใด ๆ ที่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง การไม่วางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ การซื้อขายตำแหน่ง ดังนั้นการที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ แต่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติแผ่นดินเป็นที่ตั้งจะทำให้ประชาชนขาดที่พึ่งพิง  กระทบต่อความเชื่อมั่นของสังคม นำพาสังคมและประเทศชาติไปสู่ความหายนะ เกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง

คริษฐา ดาราศร คณะทำงานศึกษาวิเคราะห์และติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เห็นว่าปัญหาด้านจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภา ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างยิ่ง กล่าวคือ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และเบื่อหน่ายการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่า สมาชิกรัฐสภาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎร   ประชาชนจะหันไปใช้วิธีการรุนแรงหรือรูปแบบอื่น ๆ ในการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของตนเองเพื่อตัดสินปัญหาหรือเรียกร้องความ สนใจจากรัฐบาล เช่น การเดินขบวนประท้วงตามถนน การปิดถนน  การยึดสถานที่ราชการ

หากสมาชิกรัฐสภาไม่ได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร  ก็จะทำให้ฝ่ายบริหารขาดความระมัดระวังในการใช้อำนาจหรือใช้อำนาจโดยมิชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งผลท้ายที่สุดคือการก่อให้เกิดภาวะวิกฤตการณ์ของประเทศไทยดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  [3]

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ จำเป็นต้องดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม เนื่องจากเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นผู้ที่ประชาชนคาดหวังและไว้วางใจให้ทำหน้าที่สำคัญ มีอิสระในการใช้ดุลยพินิจของตนในการพิจารณาหรือตัดสินใจเรื่องราวใด ๆ ด้วยความเป็นกลาง   ไม่มีส่วนได้เสีย ตัดสินใจเพื่อประโยชน์สาธารณะที่สำคัญของแผ่นดินเป็นที่ตั้ง[4] ดังนั้น จึงต้องมีมาตรฐานในการปฏิบัติงานสูงกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไปต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องปฏิบัติหน้าที่อันมีเกียรติและศักดิ์ศรีให้เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงมีข้อห้ามการกระทำในลักษณะที่ขัดต่อ ผู้มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง     การตัดสินใจใดๆ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างบุคคลและส่วนรวม

ผลประโยชน์ทับซ้อน[5]

ผลประโยชน์ทับซ้อนหมายความว่าผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวมขัดกัน ผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นเมื่อบุคคลปล่อยให้ประโยชน์ส่วนตนมามีอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่  นำอำนาจหน้าที่ที่ตนมีมาใช้ประโยชน์แก่ตนเองตัวอย่างเช่น การเล่นพรรคเล่นพวก การรับฝากพี่น้องเพื่อนฝูงเข้าทำงาน การเอื้อประโยชน์ต่อผู้รู้จักมักคุ้น เป็นรูปแบบหนึ่งของผลประโยชน์ทับซ้อน  ผลประโยชน์ทับซ้อนอาจรวมถึง

   - การรับของขวัญราคาแพง 

   - การออกเงินให้ไปดูงานต่างประเทศ 

   - สิทธิพิเศษ เช่น  ตั๋วชมกีฬาฟรี ตั๋วชมภาพยนตร์หรือการแสดงฟรี 

   - การทำธุรกิจกับตนเอง หรือพรรคพวก

   - การทำงานขัดต่อสถานะภาพการดำรงตำแหน่งหลังจากออกจากตำแหน่งหน้าที่สาธารณะ

   - การทำงานพิเศษ

   - การรู้และใช้ข้อมูลความลับของรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม

   - การใช้สมบัติราชการเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือทางการเมืองของตน

   - การนำโครงการสาธารณะไปลงในเขตเลือกตั้งของตน

โปรดติดตามตอนต่อไป



[1] พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)

[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

[3] คริษฐา ดาราสอน การบังคับใช้ประมวลจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาในรัฐธรรมนูณฉบับใหม่ ศึกษาพาะกรณีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ,รัฐสภาสาร มกราคม ๒๕๕๑ , หน้า  ๓๙ – ๔๐.

[4] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

[5] อุทิศ  บัวศรี  เอกสารประกอบการบรรยาย วิชา “การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ”  สำนักงาน ปปช. มปป.               

หมายเลขบันทึก: 452214เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นว่าควรลดบทบาทเรื่องงบประมาณลงนะครับ

ไม่ควรให้ยุ่งเกี่ยวมากนัก

และเพิ่มบทลงโทษด้านการโกงยิ่งขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท