บันทึกสยาม๒-บ่อเกลือโบราณ


คิดเก่า-ชิงบ่อเกลือบนเขาในสมัยสุโขทัย-อยุธยา -

       บ่อเกลือโบราณเมืองปัว  บนเขาสูงแห่งเดียวท่ีต้องชิงเอาไว้ 

                           วันอาทิตย์ทั้งวันนั้นได้เดินทางโดยรถสองแถวของท้องถิ่นขึ้นไปบนเขาสูงประมาณ๑๙๘๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล      เพื่อไปดูแหล่งเกลือภูเขาแห่งเดียวในโลกที่อำเภอบ่อเกลือ เดิมอยู่ในเขตอำเภอปัว  จังหวัดน่าน  ซึ่งต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่จะละเลยแหล่งเกลือโบราณแห่งนี้ไป จริงอยู่แม้ว่าจะมีแหล่งเกลือสินเธาว์ในพื้นที่ราบสูงแถบอีสานอยู่หลายแห่ง  แต่การที่มีบ่อเกลืออยู่บนยอดเขาสูงต้องถือว่าหายากมาก  ยิ่งเป็นบ่อเกลือที่มีอายุมากกว่า ๗๐๐-๘๐๐ปีแล้ว  การเดินทางยากเย็นแค่ใหนก็ต้องไปเรียนรู้ให้ได้

                       เมืองปัวเดิมนั้นมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นแหล่งเกลือสินเธาว์ที่เป็นสินค้าสำคัญหรือใช้เป็นของแลกเปลี่ยนแทนค่าของเงินในสมัยสุโขทัย   ตำนานเมืองนั้นเล่าขานกันว่า  เมืองปัวนี้มีชื่อเมืองปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ที่มีความว่า “ เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพล  เมืองม่าน  เมืองน่าน เมืองพลัว นฝั่งของเมืองชวา เป็นที่แล้ว” ชื่อ เมืองแพล เมืองม่าน เมืองน่าน  เมืองพลัว และ เมืองปัว และเมืองชวาในจารึกก็คือเมืองแพร่  เมืองมานด้านใต้ เมืองน่าน เมืองปัวและเมืองหลวงพระบางในสมัยหลัง

                     เมืองปัว นั้นสร้างโดย ขุนฟอง  ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมผู้น้องของพญาภูคา ผู้ครองเมืองย่าง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านเสี้ยว อำเภอท่าวังผา   ที่พาผู้คนมาจากตอนบนของแม่น้ำโขง มาอยู่ที่ราบตอนบนของแม่น้ำน่านใกล้ดอยภูคา ส่วนบุตรบุญธรรมผู้พี่คือ ขุนนุ่นหรือขุนน่านนั้น สร้างเมืองจันทบุรีคือเมืองชวาหรือหลวงพระบาง ภายหลังเจ้าเก้าเถื่อน  เมืองปัวไปครองเมืองย่าง แทนพญาภูคา ให้แม่ท้าวคำปิน ครองเมืองปัวแทน  ต่อมาพญางำเมือง เมืองพะเยาขยายอิทธิพลมาบริเวณเมืองปัว แม่ท้าวคำปินร้อมบุตรในครรภ์หนีไปอยู่บ้านห้วยแร้ง  ต่อมาบุตรได้เติบโตเข้ารับราชการกับพญางำเมืองได้เป็นเจ้าขุนไสยศ  ครองเมืองปราด  ต่อมาได้รวมกำลังแยกตนเป็นอิสระ และสถาปนาเป็นพญาผานองครองเมืองปัวราวพ.ศ.๑๘๖๕-๑๘๙๔    ต่อมาพญาการเมือง  บุตรพญาผานอง ได้รับเชิญจากพญาลิไ ทไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย ได้อัญเชิญพระธาตุ ๗ องค์พร้อมพระพิมพ์ทองคำ พระพิมพ์เงินมาบูชาในเมืองปัว ต่อมาได้ปรึกษาพระมหาเถระ ธรรมบาล ทำการสถาปนาพระธาตุแช่แห้งขึ้น พร้อมกับอพยพผู้คนจากเมืองปัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพ.ศ.๑๙๐๒  ต่อมาพญาผากอง ได้ย้ายเมืองจากภูเพียงแช่แห้งสร้างเมืองน่านขึ้นที่ริมแม่น้ำน่านในพ.ศ.๑๙๑๑

                    ส่วนการค้นพบบ่อเกลือ ที่บ้านบ่อหลวงมีเรื่องเล่าสืบต่อๆกันว่า    พรานล่าสัตว์ได้สังเกตุเห็นเห็นสัตว์ ทั้งหลายในป่ามากินน้ำที่นี้อยู่เสมอเป็นประจำ เมื่อพรานทดลองชิมดูถึงรู้ว่ามีรสเค็ม ข่าวได้ล่วงรู้ถึงเจ้าหลวงภูคา และเจ้าหลวงบ่อ จึงมาดููน้ำเค็ม โดยทั้งสองพระองค์ขึ้นไปบนยอดดอยภูจั่น เพื่อแข่งขันกันพุ่งสะเดา(หอก)เจ้าหลวงภูคา พุ่ง ออกไปทางทิศตะวันตกของลำน้ำมาง ตรงที่ตั้งหอนอกในปัจจุบัน ผู้คนที่ชมการพุ่งหอกได้นำเอาหินมาก่อเป็นบริเวณให้สังเกตุ  แล้วจัดตั้งเป็นโรงหอทำพิธีระลึกตอบแทนบุญคุณเจ้าพ่อทั้งสอง จนกลายเป็นประเพณีที่ต้องทำของท้องถิ่นถึงวันนี้  

 

                 ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสุโขทัยกับเมืองน่านนั้นได้ทำให้พญาลิไท ได้มี“พระนางศรีมหามาดา” เจ้าหญิงเมืองน่านเป็นชายา   ด้วยเหตุไมตรีนั้นให้เมืองสุโขทัยมีเกลือจากบ่อเกลือบนภูเขาเป็นสินค้าสำคัญ ด้วยขณะนั้นเกลือมีค่าแทนการใช้เงินตรา เกลือจากเมืองปัวหรือเมืองน่านจึงเป็นสินค้าสำคัญตั้งแต่สมัยสุโขทัยต่อมาจนสมัยอยุธยา  ในพ.ศ..๑๙๙๓นั้นพระเจ้าติโลกราช ผู้เจ้าครองเมืองล้านนา ต้องการครอบครองแหล่งเกลือดังกล่าว จึงยกทัพเข้ายึดเมืองปัวเมืองน่านไว้ในอาณาจักรตั้งแต่นั้นมา ปัญหาการขาดเกลือจึงเกิดขึ้นในอาณาจักรอยุธยา ทำให้พระบรมไตรโลกนาถต้องผลิตเกลือจากน้ำทะเลแทนนับว่าเป็นครั้งแรกของเกลือทะเล

                    บ่อเกลือโบราณนี้ยังใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการทำเกลือบนภูเขาที่ไม่มีที่ใดในโลก เกลือสินเธาว์นี้ใช้บริโภคและใช้เป็นส่วนผสมในงานอุตสาหกรรมด้วย เกลือจากที่แห่งนี้ถือเป็นสินค้าในสมัยสุโขทัย และค้าขายไปถึงเชียงใหม่ เชียงตุง    และหลวงพระบาง รวมถึงสิบสองปันนา จีนตอนใต้ด้วย

                ก่อนนั้นมี บ่อเกลืออยู่หลายแห่ง เดี๋ยวนี้แห้งไปหมด เหลืออยู่เพียงสองบ่อเท่านั้นที่ยังใช้ประโยชน์ได้ คือบ่อเกลือที่บ้านบ่อหลวง   มีบ่อเกลือสาธารณะอยู่  ๒ บ่อ ชาวบ้านเรียกว่า บ่อเหนือและบ่อใต้ บ่อเหนืออยู่ริมแม่น้ำมาง     ส่วนบ่อใต้อยู่ห่างออกไปราว ๕๐๐ เมตรอยู่ติดเชิงเขาท้ายหมู่บ้าน ทั้งสองบ่อนี้มีน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นสูงกว่าบ่ออื่นๆ    แม้จะมีการขุดหาบ่อเกลือเพิ่มอีกก็ไม่สามารถพบบ่อเกลืออีกเลย     บ่อเกลือทั้งสองบ่อนี้ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้ามาตักน้ำเกลือมาต้มทำเกลือแล้วกว้า ๕๐ รายโดยบ่อเหนือมีคนผลิตเกลือ๓๐ราย ส่วนบ่อใต้มีคนผลิตเกลือ ๒๐ ราย

 

                     การต้มเกลือนั้นต้องมีพิธีสักการะเลี้ยงผีเมืองและเจ้ารักษาบ่อเกลือคือ เจ้าซางคำ  โดยทำทุกปีในวันแรม ๘ ค่ำเดือน๕ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "งานแก้ม" สมัยก่อนนั้นเคยทำกันถึง ๗วัน แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียง ๓ วันเท่านั้น

                    ชาวบ้านปัจจุบันนี้ยังคงต้มแกลือด้วยวิธีแบบดั้งเดิม จะตักน้ำเกลือจากบ่อส่งผ่านมาตามลำไม้ไผ่สู่บ่อพัก การทำ เกลือ ของชาวบ้านบ่อเกลือ นำน้ำเกลือที่ตักจากบ่อมาต้มในกะทะประมาณ 4-5ชั่วโมงให้น้ำเกลือระเหยแห้งจาก นั้นก็จะนำไม้พายมาตักเกลือใส่ตะกร้าที่แขวนไว้เหนือกะทะเพื่อให้น้ำเกลือไหลลงมาในกะทะทำอย่างนี้เรื่อยไป จนน้ำในกะทะแห้ง หมดแล้วจึงตักน้ำเกลือจากบ่อมาใส่ลงไปใหม่ หลังจากนั้นใส่ถุงวางขาย กันหน้าบ้าน  แม้ว่าเกลือจากบ่อเกลือเมืองปัวเมืองน่านจะไม่มีไอโอดีนเหมือนเกลือทะเลก็มีการพัฒนาโดยเติมสารไอโอดีนก่อนถึงมือผู้บริโภค  นอกจากนี้ยังรู้จักที่จะทำผลิตภัณฑ์ต่างจากเกลือสินเธาว์ให้มีมูลค่าเพิ่มในการนำไปใช้ในกิจการสปา

                  เมืองปัว หรืออำเภอบ่อเกลือแห่งนี้ เป็นภูมิบ้านภูมิเมืองสำคัญคือมีแหล่งเกลือสินเธาว์อยู่บนยอดเขาสูง ซึ่งถูกใช้เป็นสินค้าเศรษฐกิจของแคว้นสุโขทัยและอาณาจักรอยุธยามาก่อนจนถึงวันนี้

 

สาระน่าศึกษาและช่วยกันแบ่งปันความรู้...ต่อ

-สมัยก่อนต้องแย่งบ่อเกลือไว้ในอำนาจ แย่งกันทำไม?

-อยุธยาซื้อเกลือทะเลจากจีน ไม่รู้วิธีทำเกลือทะเล อาศัยเกลือสินเธาว์อย่างเดียวเพราะอะไร?

-ทำไมจึงมีบ่อเกลือนบนเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเลสูงกว่า๑๙๐๐ เมตร

-เกลือบนภูเขากับเกลือพื้นท่ีราบแตกต่างกันอย่างไร?

-เกลือสินเธาว์กับเกลือทะเลมีอะไรเหมือนและแตกต่างกัน-

จะทำอะไรให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับเกลือได้บ้าง? ไม่ใช่เค็มอย่างเดียว

 

-

หมายเลขบันทึก: 452211เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

พอดีปรางเห็นบันทึกนี้ใส่คำสำคัญเป็นประโยคก็เลยอยากจะขออนุญาตแนะนำเทคนิคการใส่คำสำคัญค่ะ เพื่อเป็นประโยชน์ในการใช้งานและการค้นหาบันทึกด้วย

รบกวนลองอ่านได้ที่ลิงก์นี้นะค่ะ

คำสำคัญ : ใส่ให้ถูกวิธี เลือกคำที่เหมาะสม เพิ่มโอกาสการค้นหาและการเชื่อมโยงบันทึก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท