hybrid intervention vs. hybrid OR


integrated image modality in procedure

ห้องปฏิบัติการรังสีร่วมรักษาระบบผสมและห้องผ่าตัดผสม
Hybrid interventional suite and Hybrid operating room

วาทิต คุ้มฉายา                  วท.บ.รังสีเทคนิค
วิชุดา สิริเมธาธโนปกรณ์       วท.บ.รังสีเทคนิค

ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

วาทิต คุ้มฉายา, วิชุดา สิริเมธาธโนปกรณ์.ห้องปฏิบัติการรังสีร่วมรักษาระบบผสมและห้องผ่าตัดผสม . วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2553 ; 4(2) : 114-123.  

ห้องปฏิบัติการรังสีร่วมรักษาระบบผสม ซึ่งเรียกว่า hybrid interventional radiology suite- Hybrid IS เกิดจากแนวคิดในการจัดการห้องปฏิบัติการให้มีอุปกรณ์ร่วมตรวจ (image modality) ร่วมด้วยในเชิง multidisciplinary resource โดยมีหลายรูปแบบ เช่น อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และต่อมาได้มีการขยายความเป็นไปได้เป็นเครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยระหว่างการทำหัตถการทางรังสีร่วมรักษา โดยสำหรับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะต้องมีการจัดสร้างห้องเพิ่มหรือสร้างไว้ในห้องเดียวกันก็ได้ โดยสำหรับการติดตั้งเครื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะมีการพิจารณาประเด็น MR compatible ร่วมด้วย

ประโยชน์ของห้อง hybrid IS ซึ่งจะมุ่งเน้นส่วนงาน advanced image assisted endovascular treatment มีหลายข้อได้แก่

  1. หัตถการปลอดภัย (safer procedures)
  2. ระยะเวลาทำหัตถการสั้นลง (shorter procedures)
  3. ได้ภาพทางรังสีระหว่างหัตถการ (faster imaging)
  4. ผลลัพธ์การรักษาดี (better outcomes)

ข้อพิจารณาเชิงคลินิก  

การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ในด้านการรักษาผ่านหลอดเลือดโดยตรง (endovascular treatment) ได้เป็นแรงผลักดันในเกิดการพัฒนาชนิดหัตถการ ซึ่งต้องการภาพทางรังสีขั้นสูงร่วมด้วยระหว่างการตรวจ เช่น ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และภาพคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อการวินิจฉัยและยืนยันผลการรักษาระหว่างหัตถการ

การจัดสรรผู้ป่วยสำหรับห้อง Hybrid IS จะต้องพิจารณาผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดที่ซับซ้อนที่จะต้องใช้ภาพทางรังสีขั้นสูงร่วมวินิจฉัยระหว่างการตรวจ เช่น CT perfusion

การออกแบบห้อง hybrid IS

สถานที่ตั้ง จะต้องพิจารณาถึงทีมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ทีมแพทย์รังสีร่วมรักษา ทีมวิสัญญีแพทย์ ทีมนักรังสีการแพทย์ และบุคลากรอื่นๆ ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันในการวางแผนและใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ต่างๆ ในการติดตั้ง hybrid IS โดยทั่วไปมักจะเป็นการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ไว้ในห้องที่ติดกับห้องปฏิบัติการรังสีร่วมรักษา ต่อมาจึงได้พัฒนามาเป็นการติดตั้งภายในห้องเดียวกัน ซึ่งทำให้ต้องใช้พื้นที่ห้องมากขึ้น จึงได้มีการพัฒนาสำหรับด้านเทคโนโลยีของเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดโดยมี CT-like 3D ซึ่งสามารถสร้างภาพคล้ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จากระบบการสร้างภาพด้วยการหมุนหลอดเอกซเรย์รอบตัวผู้ป่วยเช่นเดียวกันกับการสร้างภาพหลอดเลือด 3D rotational angiography  ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตามจะต้องพิจารณาขนาดห้อง ซึ่ง hybrid IS จะต้องมีขนาดห้องใหญ่กว่าห้องปฏิบัติการรังสีร่วมรักษาโดยทั่วไป และมีการวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้เกิดความเหมาะสม และสะดวกสบายในการใช้งานระหว่างทีมแพทย์ต่างๆ โดยทั่วไปหากมีทีมทำงานประมาณ 8-20 คน จะต้องการพื้นที่ห้อง[1]ประมาณ 70 ตารางเมตร และยังต้องการพื้นที่สำหรับห้องควบคุม (control room) และอีก 1 ห้องสำหรับห้องเครื่อง (technical room) รวมไปถึงพื้นที่สำหรับการล้างมือและเตรียมตัวของแพทย์ ดังนั้นจะต้องใช้พื้นที่รวมโดยประมาณ 150 ตารางเมตร ซึ่งหากเป็นการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ไว้ด้วย จะต้องใช้พื้นที่เพิ่มอีกราว 20 ตารางเมตร สำหรับการป้องกันอันตรายจากรังสีจะต้องติดตั้งแผ่นตะกั่วที่ผนังห้องหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ขณะเดียวกันโครงสร้างของพื้นห้องจะต้องสามารถรับน้ำหนักได้สูงถึง 1500-2500 กิโลกรัม

การเตรียมพื้นของห้อง ตำแหน่งการติดตั้งเตียง  ตำแหน่งของเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด ตำแหน่งของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตำแหน่งของเครื่องดมยา ตำแหน่งของระบบท่อก๊าซทางการแพทย์ ไฟผ่าตัดเล็กและไฟฟ้าแสงสว่าง รวมไปถึงตำแหน่งการติดตั้งกระจกตะกั่วสำหรับการมองเห็น (virtual visualization) ระหว่างห้องควบคุมและห้องปฏิบัติการ ระบบอินเตอร์คอมจะต้องมีการพิจารณาร่วมกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ไฟฟ้าแสงสว่าง มอนิเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ การติดตั้งจะต้องเป็นการติดตั้งเช่นเดียวกับการติดตั้งสำหรับห้องปฏิบัติการรังสีร่วมรักษา อุปกรณ์ทุกชุดเป็นแบบแขวนที่ต้องกำหนดตำแหน่งไม่ให้ขัดหรือชนกันระหว่างการจัดตำแหน่งระหว่างหัตถการได้
  2. เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด จะต้องกำหนดว่าเป็น single plane DSA สำหรับงานด้าน body intervention radiology และ biplane DSA สำหรับ interventional neuroradiology โดยหากมีระบบ 3D rotational angiography และ CT liked 3D จะต้องพิจารณาวงหมุนของหลอดเอกซเรย์ ซึ่งห้องจะต้องมีความกว้างเพิ่มขึ้น ระบบการติดตั้งเป็นไปได้ทั้ง ceiling and floor mounted system แต่หากติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ไว้ภายในห้องเดียวกัน จะต้องเลือกแบบ ceiling mounted system เพื่อให้สามารถเลื่อนเตียงไปยังเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้โดยตรง
  3. หากเป็นการติดตั้งเครื่อง MRI ทั่วไปจะเป็นการติดตั้งในห้องติดกัน และมีระบบป้องกันสนามแม่เหล็ก โดยที่จะมีประตูเปิดตรงกันในตำแหน่งเตียง เพื่อให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้โดยตรง แต่กรณีนี้เตียงของ DSA จะต้องเป็น MR compatible ด้วย

 

ในอีกทางหนึ่ง ห้องผ่าตัดก็ได้พัฒนาระบบเป็น hybrid operation room –Hybrid OR  โดยได้ติดตั้งเครื่องมือร่วมตัวเพื่อใช้การในวินิจฉัยระหว่างการผ่าตัด และได้มีการพัฒนาในการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดอยู่ภายในห้องผ่าตัดเพื่อการใช้ในการรักษาผู้ป่วยผ่านทางสายสวนหลอดเลือดร่วมระหว่างการผ่าตัดด้วย

ประโยชน์ของห้อง hybrid OR ซึ่งจะมุ่งเน้นส่วนงาน endovascular surgical suite มีหลายข้อได้แก่

  1. การผ่าตัดเท่าที่จำเป็น (fewer surgeries)
  2. หัตถการปลอดภัย (safer procedures)
  3. พักอยู่ในโรงพยาบาลสั้นลง (shorter hospital stays)
  4. การฟื้นตัวเร็วหลังหัตถการ (faster recoveries)
  5. ผลลัพธ์การรักษาดี (better outcomes)

 


ข้อพิจารณาเชิงคลินิก  

การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ในด้านการรักษาผ่านหลอดเลือดโดยตรง (endovascular treatment) ได้เป็นแรงผลักดันในเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีภาพทางรังสีขั้นสูง (high end imaging equipments) ซึ่งทำให้เกิดการบูรณาการในการติดตั้งในห้องผ่าตัด (integrated operating room) โดยในปัจจุบันจะเป็นการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดแทนที่เครื่องฟลูโอโรสโคปีระบบ C-arm เช่นแต่เดิม

hybrid operation room ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะห้องผ่าตัดที่ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด ซึ่งจะเน้นในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดที่ต้องใช้การผ่าตัดเป็นหลัก และใช้วิธีการทางรังสีร่วมรักษาเป็นตัวช่วย หรือในผู้ป่วยที่ต้องการการวินิจฉัยด้วยการฉีดสีหลอดเลือดระหว่างการผ่าตัด ซึ่งระบบ Hybrid OR นี้มีกรอบคิดในเชิงอรรถประโยชน์ คือ

  1. ช่วยให้กระบวนการในการวินิจฉัยและรักษาเกิดขึ้นได้ในครั้งเดียวกัน (one visit) ซึ่งจะลดเวลาในการทำดูแลรักษาผู้ป่วย และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  2. ด้วยความสะดวกและเครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้แพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ สามารถร่วมมือกันในการทำงานได้ในระดับรายต่อราย (case by case) เพื่อให้เกิดการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
  3. สามารถให้ภาพทางรังสีระหว่างการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็วตามเวลาที่ต้องการ  ด้วยเทคโนโลยีใหม่จะทำให้ได้ภาพทางรังสีที่มีรายละเอียดและความถูกต้องสูง
  4. ระบบเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดที่นิยมใช้จะเป็นแบบแขวน (ceiling mounted type) ซึ่งจะใช้พื้นที่ในการติดตั้งน้อย และช่วยเพิ่มความสะดวกสบายกว่าการติดตั้งเครื่องระบบติดพื้น  (floor mounted type)
  5. การใช้ห้อง HOR นี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะโรคที่ซับซ้อน โดยจะทำให้การรักษาเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กันหลายหัตถการ โดยทีมแพทย์หลายทีมได้ 
  6. การควบคุมเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดร่วมในห้องผ่าตัดกระทำโดยทีมนักรังสีการแพทยที่มีความรู้และมีความชำนาญ ทำให้สามารถดูแลด้านความปลอดภัยทางรังสีแก่บุคลากรอื่นและผู้ป่วยได้

การจัดสรรผู้ป่วยสำหรับห้อง Hybrid OR จะต้องพิจารณาผู้ป่วยกลุ่มโรคซับซ้อนที่จะผ่าตัดและต้องการการตรวจสวนหลอดเลือด หรือการรักษาผ่านทางหลอดเลือดร่วมด้วย ซึ่งจะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ หัตถการหลักสำหรับ Hybrid OR ได้แก่

1. กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular applications)

1.1.     การตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจร่วมระหว่างการผ่าตัด, transcatheter valve replacement and repair และการขยายหลอดเลือดหัวใจ

1.2.     การใส่ stent grafts ในผู้ป่วยหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนช่องอกโป่งพอง

2. กลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือด (vascular applications)

2.1.     การตรวจวินิจฉัยหลอดเลือด และการรักษาหลอดเลือดแขนขาด้วยการขยายหลอดเลือด

2.2.     การใส่ stent grafts ในผู้ป่วยหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนช่องอกโป่งพอง

2.3.     การตรวจหลอดเลือดระหว่างการผ่าตัด

การออกแบบห้อง hybrid OR

สถานที่ตั้ง จะต้องพิจารณาถึงทีมที่เกี่ยวข้องสำหรับห้องผ่าตัดนี้ ได้แก่ทีมศัลยแพทย์ ทีมแพทย์รังสีร่วมรักษา ทีมวิสัญญีแพทย์ และบุคลากรอื่นๆ ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันในการวางแผนและใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ต่างๆ ในการติดตั้ง hybrid OR แต่เดิมจะออกแบบให้มีห้อง Hybrid OR อยู่ห้องผ่าตัดและห้องรังสีร่วมรักษาเพื่อให้ในทางโลจิสติกส์ (logistics) แล้วสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ง่ายจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง แต่หากมีผู้ป่วยในแต่ละห้อง การใช้ห้องก็จะเกิดปัญหา หรือหากห้องผ่าตัดและห้องรังสีร่วมรักษาไม่ได้อยู่ใกล้กัน ก็จะสร้างห้อง Hybrid OR อยู่ติดกับห้องผ่าตัด เนื่องจากทรัพยากรทางการแพทย์เครื่องมือต่างๆ ของห้องผ่าตัดมีครบถ้วนกว่าทางห้องรังสีร่วมรักษา และหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันใดๆ ก็สามารถย้ายผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัดได้ทันที ดังนั้นจึงได้มีการปรับแนวคิดเป็นการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดไว้ภายในห้องผ่าตัดห้องใดห้องหนึ่งเพื่อให้เป็น hybrid OR แทน อย่างไรก็ตามจะต้องพิจารณาขนาดห้อง ซึ่ง hybrid OR จะต้องมีขนาดห้องใหญ่กว่าห้องผ่าตัดโดยทั่วไป และมีการวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้เกิดความเหมาะสม และสะดวกสบายในการใช้งานระหว่างทีมแพทย์ต่างๆ โดยทั่วไปหากมีทีมทำงานประมาณ 8-20 คน จะต้องการพื้นที่ห้อง[1]ประมาณ 70 ตารางเมตร และยังต้องการพื้นที่สำหรับห้องควบคุม (control room) และอีก 1 ห้องสำหรับห้องเครื่อง (technical room) รวมไปถึงพื้นที่สำหรับการล้างมือและเตรียมตัวของแพทย์ ดังนั้นจะต้องใช้พื้นที่รวมโดยประมาณ 150 ตารางเมตร ซึ่งหากเป็นการติดตั้งระบบเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคปีแบบ C-arm ทั่วไปนั้นจะใช้พื้นที่เพียง 45 ตารางเมตรเท่านั้น สำหรับการป้องกันอันตรายจากรังสีจะต้องติดตั้งแผ่นตะกั่วที่ผนังห้องหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ขณะเดียวกันโครงสร้างของพื้นห้องจะต้องสามารถรับน้ำหนักได้สูงถึง 650-1800 กิโลกรัม

การเตรียมพื้นของห้อง ตำแหน่งการติดตั้งเตียงผ่าตัด และตำแหน่งพักของเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด ตำแหน่งของเครื่องดมยา ตำแหน่งของระบบท่อก๊าซทางการแพทย์ ไฟผ่าตัดและไฟฟ้าแสงสว่าง รวมไปถึงตำแหน่งการติดตั้งกระจกตะกั่วสำหรับการมองเห็น (virtual visualization) ระหว่างห้องควบคุมและห้องผ่าตัด ระบบอินเตอร์คอมจะต้องมีการพิจารณาร่วมกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ไฟฟ้าแสงสว่าง มอนิเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ การติดตั้งจะต้องเป็นการติดตั้งไฟผ่าตัดในระบบ ceiling type เพื่อความสะดวกในการจัดตำแหน่ง โดยควรติดตั้งไฟผ่าตัดชนิด multiple moveable and flexible booms หากติดตั้งไฟผ่าตัด 2 ตัวจะต้องมีตัวหนึ่งที่ติดเพื่อให้ส่องสว่างด้านข้างของเตียงเพื่อเพิ่มความสว่างให้แก่ทีมแพทย์ ระบบมอนิเตอร์จะต้องพิจารณาถึงจำนวนมอนิเตอร์ และการจัดวางเป็นแผง ซึ่งจะกินพื้นที่ด้านข้างเตียงไปส่วนหนึ่ง ขณะที่ฉากตะกั่วชนิดแขวนจะกินพื้นที่ด้านข้างเตียงใกล้ต่อแกนหลัก (gantry) ของเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด การวางระบบขาแขวนของไฟผ่าตัด ขาแขวนของมอนิเตอร์และขาแขวนของฉากตะกั่วต้องให้สัมพันธ์กันและไม่มีตำแหน่งที่เมื่อจัดไปสู่ตำแหน่งใช้งานแล้วขาแขวนเกิดการชนกันเอง

2. คุณสมบัติเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดสำหรับ hybrid OR

            เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดสำหรับ Hybrid OR นั้นส่วนใหญ่จะเป็น single plane DSA เนื่องจากหากเป็น bi-plane DSA จะเกิด occupying space จำนวนมาก และเป็นการ fixed position ของเครื่อง ทำให้ความสะดวกลดลงและพื้นที่ว่างสำหรับใช้สอยน้อยลงเช่นกัน แต่ bi-plane DSA จำเป็นสำหรับห้อง hybrid OR ที่เนื้องานผ่าตัดหลักเป็นงานด้านศัลยกรรมระบบสมอง สำหรับคุณสมบัติของเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดจะต้องพิจารณาดังนี้

  1. The power (80-100 kW recommendation)
  2. frame rate (up to 25 f/s 50 Hz or 30 f/s 60 Hz vs. 30-60 f/s 50Hz recommendation)
  3. pixel resolution จะต้องสามารถแสดง thin guidewires ขนาด 0.2 mm และ stents ได้
  4. heat storage capacity ต้องมากกว่า 1 million HU
  5. ระบบตัวรับภาพ ควรเป็น flat panel detector system (FD) ซึ่งจะให้ contrast resolution และ image quality ดีกว่าระบบ image intensifier (II) systems โดยระบบ FD จะได้ภาพที่สม่ำเสมอไม่ distorted ที่ตำแหน่งขอบภาพ และสามารถใช้เพื่อการสร้างภาพ 3D ได้ดีกว่า
  6. การติดตั้งแกนหลัก (gantry) ของเครื่อง มีข้อพิจารณา 2 ด้าน ได้แก่ หากเลือกใช้ระบบ floor-mounted system จะมีข้อดีในด้านการรักษาความสะอาด แต่จะทำให้เกิด fixed area ส่วนระบบ ceiling mounted type จะมีเสียคือสามารถมีฝุ่นจับที่ขาแขวนและทำความสะอาดยาก ซึ่งเมื่อเคลื่อนแกนหลักเหนือตัวผู้ป่วยอาจมีฝุ่นตกลงบนตัวผู้ป่วยได้ ซึ่งจะไม่สามารถรักษาภาวะปลอดเชื้อได้ แต่ระบบนี้จะทำให้บังคับ จัดตำแหน่ง และจัดเก็บ (parking) ได้สะดวก  อย่างไรก็ตามการเคลื่อนเข้ามายังเตียงตรวจระหว่างการผ่าตัดจะต้องระมัดระวังการฉุดรั้งอุปกรณ์ดมยาต่างๆ ที่ติดตั้งไว้ด้วยเช่นกัน
  7. ระบบ isocenter ของเตียงจะช่วยให้สามารถทำ 3D และ 3D-CT ได้ง่ายขึ้น

3. คุณสมบัติของเตียงผ่าตัดสำหรับ hybrid OR

            เตียงผ่าตัดจะต้องเหมาะสมสำหรับการผ่าตัดและสามารถใช้เป็นเตียงตรวจสำหรับเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดได้ ดังนั้นจะต้องมีการพิจารณาคุณสมบัติ breakable tabletop เพื่อให้สามารถงอเตียงระหว่างผ่าตัดได้ ระบบที่สามารถเอียงเตียงขึ้นลง (vertical and lateral tilt) ขณะที่ทางด้านรังสีร่วมรักษาต้องการ floating tabletop เพื่อให้สามารถเลื่อนเตียงได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ขณะที่เตียงจะต้องผลิตจากวัสดุที่เป็น radiolucent เพื่อให้รังสีผ่านได้ดีและนำไปสร้างภาพได้โดยไม่มี artifact

4. ฟังค์ชันการทำงานที่สำคัญของเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด

ฟังค์ชั่นหลักที่ต้องกำหนดให้มี ได้แก่ 3D rotational angiography, CT like 3D image ซึ่งสามารถสร้างภาพหลอดเลือด 3 มิติและภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของอวัยวะต่างเป็น 3 มิติได้ ซึ่งระบบจะควบคุมแกนหลักให้หมุนรอบตัวผู้ป่วย 220 องศา ในเวลา 10 วินาทีหรือน้อยกว่า และระบบ 3D roadmap ซึ่งจะนำภาพ 3 มิติที่ได้มาซ้อนทับกับภาพฟลูโอโรสโคปีปกติระหว่างการตรวจผู้ป่วยได้

สรุป  

Hybrid IR และ Hybrid OR เป็นแนวโน้มใหม่ที่สำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดและผู้ป่วยผ่าตัด เพื่อความมีประสิทธิภาพในกระบวนการทำหัตถการ โดยใช้เทคโนโลยีภาพทางการแพทย์ใหม่เข้าช่วย ดังนั้นการออกแบบและติดตั้งจะต้องพิจารณาในด้านตำแหน่ง พื้นที่ และการจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความเหมาะสมเพื่อความสะดวกในการทำงานของทีมแพทย์ โดยทั่วไปควรวางแผนล่วงหน้า 1 ปี โดยมีงบประมาณก่อสร้าง เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด และอุปกรณ์การแพทย์อยู่ระหว่าง 70 - 270 ล้านบาท

บรรณานุกรม

  1. Benjamin ME. Building a Modern Endovascular Suite. Endovascular Today 3:71-78, 2008.
  2. Bonatti J, Vassiliades T, Nifong W, Jakob H, Erbel R, Fosse E, Werkkala K, Sutlic Z, Bartel T, Friedrich G, Kiaii B. How to build a cath-lab operating room. Heart Surg Forum. 10:E344-8, 2007.
  3. Eagleton, MJ, Schaffer, JL. The Vascular Surgery Operating Room Endovascular Today 8:25-30, 2007. 
  4. Hirsch R. The hybrid cardiac catheterization laboratory for congenital heart disease: From conception to completion. Catheter Cardiovasc Interv. 71:418-28, 2008.
  5. Peeters P, Verbist J, Deloose K, Bosiers M. The Catheterization Lab of the Future. Endovascular today 3: 94-96, 2008.
  6. Sikkink CJ, Reijnen MM, Zeebregts CJ. The creation of the optimal dedicated endovascular suite. Eur J Vasc Endovasc Surg. 35:198-204, 2008.
  7. Sivakumar K, Krishnan P, Pieris R, Francis E. Hybrid approach to surgical correction of tetralogy of Fallot in all patients with functioning Blalock Taussig shunts. Catheter Cardiovasc Interv. 70:256-64, 2007.
  8.  ten Cate G, Fosse E, Hol PK, Samset E, Bock RW, McKinsey JF, Pearce BJ, Lothert M. Integrating surgery and radiology in one suite: a multicenter study. J Vasc Surg. 2004 Sep;40(3):494-9.
  9. Riverside's Endovascular Hybrid Operating Room .http://www.ohio
    health.com/hybridor
  10. Hayes, Inc. Announces Release of Hybrid Operating Room Trend Report. http://www.prweb.com
    /releases/2011-hybrid-OR/02/prweb5100794.htm
  11. Hybrid OR: The efficient solution for integrating diagnosis and therapy. http://www.trumpf-med.com/en/solutions/fields-of-clinical-application/operating-room/hybrid-or.html
  12. University Hospitals Zurich installs first Philips hybrid OR with Flexmove. http://www.mtbeurope.info/news/2011/1104026.htm
คำสำคัญ (Tags): #hybrid OR
หมายเลขบันทึก: 452212เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2011 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท