จิตอาสา...กระบวนการเติบกล้าจากครอบครัว


หากสามารถเคี่ยวบ่มกระบวนการจิตอาสา,จิตสาธารณะมาตั้งแต่ตัวยังเล็กๆ ในระดับครอบครัว ยิ่งจะเป็นสิ่งอันล้ำค่าที่มีอยู่ตัวตนของผู้คน

ไม่รู้นะ-ทุกวันนี้ ผมเริ่มตั้งข้อสังเกตถี่ขึ้นกับสิ่งที่เห็นในทุกๆ มุมของสังคม  ไม่ว่ามุมนั้น หรือสถานที่นั้นจะใหญ่โตโอ่อ่า  เพียบพร้อมด้วยด้วยเทคโนโลยีหลากสไตล์  หรือแม้แต่ ณ ที่ซึ่งอันเต็มไปด้วยความทรุดโทรม หรืออับจน ขาดแคลนก็เถอะ  ผมก็มักพบข้อความเหล่านี้เสมอๆ  เป็นต้นว่า…

  • โปรดเอื้อเฟื้อแก่เด็ก สตรี และคนชรา
  • โปรดช่วยกันรักษาความสะอาด
  • ปัญญาชนขึ้นลงตามป้าย
  • ขึ้นลงชั้นเดียวโปรดใช้บันได
  • ปิดน้ำ ปิดแอร์ ปิดไฟก่อนออกจากห้อง
  • ห้ามเดินลัดสนามหญ้า
  • ห้ามทิ้งขยะ
  • ห้ามส่งเสียงดัง
  • ห้ามสูบบุหรี่
  • ห้ามจับปลาในบ่อ
  • ห้ามแซงคิว
  • ฯลฯ


ประจวบ จันทร์หมื่น ศิลปินวงอีเกิ้ง..เดินทางมาช่วยเล่นดนตรี "ต้านลมหนาวฯ"

 

ข้อความทั้งหลายทั้งปวงนั้น  ล้วนสะท้อนภาพของเรื่อง “จิตอาสา” หรือ “อาสาสมัคร” (Volunteer)  หรืออีกคำหนึ่งว่า  “จิตสาธารณะ”  (Public Mind) ก็เรียกด้วยเหมือนกัน 


เราอาจนิยามความหมายของคำสองคำนี้ได้ตามแต่มุมมองของแต่ละคน  แต่โดยเนื้อแท้นั้น  ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องจิตอาสา หรือจิตสาธารณะนั้น  ล้วนสื่อความหมายของการก้าวพ้นจากตัวเองทั้งสิ้น อันหมายถึงการตระหนักหรือการใส่ใจต่อสังคมโดยรวม หรือเรียกง่ายๆ หน่อยก็หนีไม่พ้นเรื่องการทำประโยชน์ต่อสังคมนั่นเอง ..หรือแม้แต่การเห็นคนอื่นมีความสุข ก็พลอยสุขไปด้วย ก็ถือเป็นจิตอาสาได้ด้วยเหมือนกัน.. 

 

ฟังดูอาจเป็นเรื่องส่วนรวมทั้งนั้น  แต่นั่นก็มิได้หมายถึงว่า  การกระทำหรือการแสดงออกซึ่งความเป็นจิตอาสาหรือจิตสาธารณะนั้น จะไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดๆ กับภายในตัวตนของคนๆ นั้น  เพราะแท้ที่จริงแล้ว  ความเป็นจิตอาสา หรือจิตสาธารณะนั้น คือกระบวนการยกระดับจิตใจ หรือจิตวิญญาณของตัวเองโดยแท้ -และนั่นก็คือความงามที่ฉายฉานออกมาจากภายในล้วนๆ ...

 


นิสิตชมรมคนไทเลย..สัญจรมาร่วมช่วยเล่นดนตรี

 

ไม่รู้นะ-สังคมไทยให้ความสำคัญกับเรื่องพรรค์กี่มากน้อยนั้น  ผมคงไม่อาจหยั่งคิด หรือประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้  เพราะลึกๆ นั้นโดยวิถีจิตใจคนไทยก็เป็นคนจิตใจงาม, เอื้อเฟื้อ เป็นญาติเป็นมิตร  และรักการทำบุญทำทานกันอยู่แล้ว  และสิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นทั้งพื้นฐานและส่วนหนึ่งของการเป็นคนจิตอาสา หรือจิตสาธารณะด้วยเช่นกัน

 

แต่บางที-ไม่รู้นะ ผมก็กลับมองอีกมุมว่า ด้วยวิถีความเป็นไทยแท้ที่มาในแบบ “ทำอะไรได้ตามใจ-เป็นไทยแท้” นั้น  ก็ดูจะเป็นอุปสรรคติดๆ ขัดๆ อยู่บ้างกับค่านิยมในบางเรื่อง หรือแม้แต่หลายเรื่องที่เกี่ยวกับจิตอาสา  จนออกมาในรูปของ “ธุระไม่ใช่ !”

 

อย่างไรก็ช่างเถอะ  หลายๆ เรื่องหลายๆ ราวที่เกิดเป็นวิกฤตในสังคมไทย  ผมก็เห็นชัดว่าความมีน้ำใจของคนไทยก็ไม่เคยเหือดหายไปไหนเลยสักนิด  ดูง่ายๆ อย่างน้อยก็จิตอาสาของชาว Gotoknow นี่แหละ (ผมรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ-รู้สึกจากเรื่องใกล้ตัวนี่แหละ, และมันก็เป็นสัญชาตญาณที่ผมเชื่อเสมอมาด้วยเหมือนกัน)


แดนไท..ไม่เคยพลาดการเข้าร่วมกิจกรรม

 

สำหรับผมนั้น  ผมมองว่าจิตอาสา หรือจิตสาธารณะมีสองระดับใหญ่ๆ อันได้แก่ระดับครอบครัวและระดับสังคม  และครอบครัวนั่นแหละ คือรากฐานที่ดีในการเพาะบ่มเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในตัวตนของคนทุกคน - สอนให้คนรับผิดชอบตัวเองอย่างมีสติ  รู้รักการแบ่งปันกันในครัวเรือน  ไม่บังเบียดแก่งแย่งกันในพี่พ้องน้อง,ญาติ  และนั่นก็เป็นการดูแลสังคมไปในตัวดี ๆ นั่นเอง

และถ้าจะให้ดี  หากสามารถเคี่ยวบ่มกระบวนการจิตอาสา,จิตสาธารณะมาตั้งแต่ตัวยังเล็กๆ ในระดับครอบครัว ยิ่งจะเป็นสิ่งอันล้ำค่าที่มีอยู่ตัวตนของผู้คน  ซึ่งอาจอาศัยกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในครอบครัวนั่นแหละเป็นตัวบ่มเพาะไปทีละนิดๆ ...ทำให้เป็นธรรมชาติ, ทำให้เป็นเหมือนกิจวัตรได้ยิ่งดี  สุดท้ายก็จะกลายเป็น”วัฒนธรรมทางใจ” ไปโดยปริยาย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นกระบวนการเติบกล้ามาจากกลไกของครอบครัวทั้งสิ้น



หากมีกิจกรรมทำนองนี้พวกเขาก็มักลุยงานและนอนดึกตามไปด้วย

 

โดยส่วนตัวของผมนั้น  ผมไม่อาจเรียกได้ว่าตัวเองเป็นคนจิตอาสาอะไรมากมายนักหรอก  แต่ในวิถีที่เป็นอยู่จริง  ผมก็ไม่เคยละเลยที่จะทำกิจกรรมในทำนองนี้เสมอมา  ถึงแม้กิจกรรมที่ว่านั้น  จะเป็นในลักษณะของการงานก็เถอะ  แต่ผมก็ชัดเจนเสมอมาว่า  ผมทำมันด้วยใจ และมันก็ถูกขับออกมาจากภายในของผมโดยแท้..ซึ่งผมทำมันบ่อยมาก จนใครๆ แถวๆ นี้หยิกแซวว่าผมเป็น “เจ้าพ่อจิตอาสา”  ไปแล้วก็มี

เหนือสิ่งอื่นใดเกี่ยวกับเรื่องนี้  ด้วยความที่ผมเชื่อว่าสถาบันครอบครัวคือฐานรากของเรื่องจิตอาสา-จิตสาธารณะ  และด้วยความที่เชื่อว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย”  ผมจึงพยายามที่จะชวนลูกๆ ได้ทำกิจกรรมในทำนองนี้อยู่เรื่อยๆ ...

บางทีเราก็ช่วยกันเก็บอะไรเล็กๆ น้อยๆ แบ่งเบาคุณแม่บ้านบ้าง, เราพูดถึงการไม่โยนขยะลงจากรถ  เราพูดถึงเรื่องน้ำใจของผู้คนที่มีต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ รายรอบตัว เราพูดถึงการบริจาคสิ่งของในเทศกาลต่างๆ  หรือมากหน่อย  เราก็มักพาเขาสองคนไปสู่เวทีในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ กระนั้นก็ไม่ถึงกับบังคับว่า “ต้องไป-ต้องทำ”  แต่เท่าที่สังเกตเห็น  ก็ดูประหนึ่งว่า  พวกเขามีความสุขกับกิจกรรมเหล่านี้อยู่มาก แทนที่จะติดเดินห้าง  ติดร้านไอศกรีม  ติดของเล่นจนเปลืองตังค์  แต่กลับชอบที่จะไปค่ายมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด !


 

เฉกเช่นกับระยะนี้  ลูกๆ กำลังคัดแยกเสื้อผ้า  กระเป๋าและของเล่นส่วนตัวไปบริจาคในโครงการ “ต้านลมหนาวถามข่าวคราวชาวบ้าน”  เย็นๆ จนดึกๆ เขาสองคนก็ตระเวนถือกล่องเดินรับบริจาคเงินเพื่อสมทบเข้าสู่โครงการร่วมกับพี่นิสิตอย่างมีความสุข...

ครับ, ผมไม่รู้ว่าอนาคตเขาสองคนจะกลายเป็นคนประเภทจิตอาสา หรือจิตสาธารณะได้มากน้อยแค่ไหน  หรือแม้แต่จะกลายเป็นปัญหาของสังคมหรือเปล่าก็ไม่รู้ได้  แต่วันนี้ ! ตอนนี้ !  ผมก็ไม่เคยท้อที่จะเริ่มกระบวนการเพาะบ่มเรื่องเหล่านี้ไปจากครอบครัว,...โดยเฉพาะการไม่ละเลยที่จะให้ลูกๆ ได้เรียนรู้ว่าเรื่องเหล่านี้  ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง  เรื่องเหล่านี้ไม่มีคำว่า “ธุระไม่ใช่”  และเรื่องเหล่านี้นี่แหละที่เป็นเสมือนสะพานแห่งการพาดผ่านให้ผู้คนในสังคมได้สัญจรมาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข...

จิตอาสา..
จิตสาธารณะ ...

ช่วยกันครับ-ช่วยกันเริ่มจากครอบครัวเราเองนี่แหละ...

 

๖ มกราคม ๕๒
ตลาดน้อย-มมส

 

หมายเลขบันทึก: 325561เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2010 07:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)

ผมขอชื่นชมในความงดงามของ"จิตอาสา" ที่เบิกบานที่นี่นะครับ เรื่องราวของจิตอาสาที่เราได้เรียนรู้จากบันทึกก็ดี และ จากหนังสือ " เรียนนอกฤดู" ทำให้ผมและหลายท่านที่ได้อ่าน มีแรงบันดาลใจในการทำงานครับ

ช่วงหลังผมสนใจกิจกรรม และที่มาของเเนวคิดการทำงานเพื่อสังคม ในแนวทางจิตอาสาครับ เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ผมศึกษาด้วย

ขอให้กำลังใจในการก้าวย่างของจิตอาสาครับ

*** เห็นภาพเด็กชาย ๒ คน เเล้วชื่นใจนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์แผ่นดิน

    กิจกรรมจิตอาสาเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างคุณธรรมให้แก่บุคคลค่ะ เชื่อว่ารากฐานสำคัญและแนวคิดที่มาจากครอบครัวเป็นอิทธิพลต่อด้านจิตใจของคนในครอบครัวอย่างยิ่ง

   ดีใจและขอชื่นชมเด็กน้อยทั้งสองที่พานพบครอบครัวที่เข้าใจค่ะ อนาคตเป็นสิ่งที่เราสามารถเลือกได้ แม้บางครั้งอาจไม่ได้เต็มร้อยดังที่หวัง ก็อย่างน้อยเรามีจิตที่บริสุทธิ์งดงามค่ะ

  เป็นกำลังใจในการสร้างจิตอาสาค่ะ

มาให้กำลังใจ คุณแผ่นดินค่ะ

จิตอาสา พัฒนาประเทศได้ 

ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมดีๆ ให้เยาวชนต่อไปนะคะ

สวัสดีค่ะ

เมื่อที่ใดคนขาดจิตสาธารณะ คนนั้นก็ย่อมขาดคุณธรรมไปด้วย เพราะความมีจิตสาธารณะเป็นศูนย์รวมคุณธรรม

จิตอาสาจึงจะเกิดขึ้นจากสำนึกจิตสาธารณะของคน ๆนั้น

เห็นภาพแล้ว ชื่นใจ มีความสุขมากค่ะ หนุ่มแดนไทตัดจุกกันตั้งแต่เมือ่ไหร่ หรือว่าป้าครูคิมตกข่าว

บางคนบอกว่าสำนึกจิตสาธารณะเกิดเอง ก็อาจจะมีส่วนนะคะ แต่พี่คิมเชื่อว่าเกิดจากการฝึก

และเริ่มที่บ้านเป็นสำคัญ ความมีวินัยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ

จะรอให้สังคมฝึกความมินัย มันอาจจะสายเกินไป จนทำให้สังคมวุ่นวาย ไร้คุณธรรม เหมือนที่เราเห็น

ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ พี่คิมกำลังเขียน "การสอนจิตสาธารณะในโรงเรียนค่ะ" เล่าจากประสบการณ์

  • ลูกไม้..หล่นไม่ไกลต้น..กระมังครับ..
  • ร่วมเป็นกำลังใจให้นะครับ
  • ตอนนี้ยังไม่ลงตัวเท่าไร เลยยังไม่ได้ไปร่วมด้วย แต่ส่งแรงใจช่วยเต็มที่
  • ดีใจที่มีบรรยากาศแบบนี้มาก
  • และไม่นานผมและเจ้าตัวเล็ก คงได้ร่วมกิจกรรมด้วย

สถาบันครอบครัว คือ ฐานรากของเรื่องจิตอาสา-จิตสาธารณะ

เป็นเรื่องจริงค่ะ ทำกิจกรรมร่วมกันทำให้คนในครอบครัวมีความสามัคคีด้วยค่ะ

ขอชื่นชมในความงดงามของจิตอาสา

ขอชื่นชมในห้วงเวลาของมิตรภาพ...ครับ

P
สวัสดีอีกรอบค่ะอาจารย์แผ่นดิน
* เข้ามาเยี่ยมแล้ว ต้องเก็บเกี่ยวให้ครบทุกเรื่อง  อาจารย์เขียนเรื่อง จิตอาสา ได้เยี่ยมมากค่ะ  อ่านแล้วมีความสุขและรู้สึกดีค่ะ 
* เชื่อว่าคนไทย ยังมีน้ำใจเอื้อเฟ้อเผื่อแผ่ อยู่ทุกซอก ทุกหลืบ แต่จะแสดงออกมาได้ชัดเจนเพียงใดเท่านั้น....
* จิตอาสา น่าจะเริ่มต้นที่ครอบครัว ที่ปลูกฝัง บ่มเพาะ เป็นแบบอย่าง  เริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัว แล้วค่อยๆ แผ่ขยายออกไปให้กว้างขึ้น
* เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ก็ควรพยายามสร้างสรรค์สังคมให้งดงาม เริ่มฝึกให้เป็นนิสัย จากตัวเรา...นะคะ
เป็นกำลังใจให้ทุกๆ คน ที่มีจิตสาธารณะ และมุ่งสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคมทุกรูปแบบค่ะ
*** ขออนุญาต...แซว..(บังอาจ..)  วันนี้ อ่านคำว่า "ไม่รู้นะ"  หลายครั้งเชียว... ฮา... อาจารย์รำพึงระพัน อะไรหนอ?...
*ระลึกถึงค่ะ
   

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณที่เป็นกำลังใจให้

เมื่อวานนี้ได้ยืมหนังสือจากพี่คิมเรื่อง "เรียนนอกฤดู"ที่ท่านเขียน

แต่ยังไม่ได้อ่าน เห็นแล้วน่าสนใจมาก วันนี้จะอ่านแล้ว

น้องแดนไทยน่ารักมาก เห็นด้วยกับคำว่า จิตสาธารณะ

เริ่มที่ครอบครัวของเรานี่เอง

สวัสดีครับ คุณเอกจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

วันนี้ทำหน้าที่พาสองตัวเล็กมานอนเร็วกว่าปกติ (สามทุ่มครึ่ง)  ทีมงานส่วนหนึ่งยังต้องสะสางภารกิจสำคัญๆ กันยกใหญ่ เพราะพรุ่งนี้เป็นวาระของการประเมิน กพร...

คืนก่อน น้องนักร้องที่เชิญมาแสดงดนตรีนั้น ก็ช่วยสร้างสรรค์บรรยากาศได้เป็นอย่างดี  มีเพลงในอัลบั้มใหม่-เก่ามาร้องให้ฟังอย่างสนุก  พร้อมๆ กับการร้องเพลงชีวิตในมหาวิทยาลัยเมื่อครั้งที่เรียนที่ มมส, ได้อย่างออกรสออกชาติ  ก็จัดกันแบบเรียบง่าย สบายๆ...แต่สำคัญก็คือในเวทีนั้น  เขาพูดถึงหนังสือเรียนนอกฤดูของผมบ่อยมาก  ทั้งที่เพิ่งได้อ่านเป็นครั้งแรกแบบสดๆ...จนเกิดแรงใจที่จะเขียนหนังสือในทำนองนี้ด้วยเช่นกัน..

ก็ดีใจครับสำหรับหนังสือเล็กๆ ที่ยังเต็มไปด้วยความไม่เต็มสูบนัก ยังพอที่จะเป็นแรงใจให้ใครบางคนมีพลังพอที่จะทำอะไรๆ ในวิถีแห่งจิตอาสาบ้าง...

ขอบคุณครับ..
ด้วยความระลึกถึงอย่างไม่จากจาง

 

 

สวัสดีครับ...คุณเมียวดี

เรื่องราวสองหนุ่มน้อยที่ว่ามานี้ มีอยู่บันทึกหนึ่งกระมังที่เราสามคนกำลังเดินทางไปร่วมกิจกรรมทางสังคมในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย  เราพูดถึงเรื่องน้ำใจของคนเรา...พูดถึงน้ำใจที่นิสิตมีต่อชาวบ้าน และน้ำใจของชาวบ้านที่มีต่อนิสิต  กระทั่งเจ้าจุก ถามขึ้นมาตรงๆ ว่า "น้ำใจอยู่เลิ๊ก (ลึก) บ่" ...ทำเอาผมและน้องดินขำกันออกมาแบบไม่นัดหมาย...

นี่ก็เป็นเรื่องเล่าของเราสามคนในวิถีของจิตอาสา..ครับ

 

สวัสดีครับ คุณชาดา ~natadee

ไม่ว่าสถานการณ์ใดก็ตาม  ผมยังมองว่า เรื่องจิตอาสา เป็นเรื่องของทุกคน  สมัยเด็กๆ ชอบคำนี้มากครับ "เอ๊ะๆ..ตาวิเศษเห็นนะ"  ผมว่ามันสร้างปรากฏการณ์ความตระหนักในความเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่ขจิต ฝอยทอง

เจ้าจุก...โตไวมาก
ตอนนี้ใส่เสื้อตัวไหน ก็กลายเป็น "เอวลอย" ไปหมดแล้ว...

สวัสดีครับ พี่ครูคิม

แดนไท..ยังไม่ตัดจุกหรอกนะครับ  ยังเป็นของรักของหวงอยู่เลย...
เขาบอกเสมอว่าเป็นจุกเทวดา.."แม่ย่า บ่ให้ตัด" ...
เพียงแต่ตอนนี้คิดว่าตัวเองเป็นหนุ่มแล้ว  เลยไม่โกนหัวให้โล้นเท่านั้นเอง...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ พี่เกษตร(อยู่)จังหวัด

ครับ ผมเองก็มั่นใจว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น...
แต่ปัญหามีอยู่ว่า  หล่นแล้วจะเป็นดอกเป็นผลมั๊ยเท่านั้นเอง
หรือไม่ก็หล่นแล้ว  ถูกลมหอบพัดไปไกล...จนแห้งตายด้านไปด้วยก็เป็นได้
กระนั้น ก็ไม่สิ้นหวัง หรอกนะครับ

สวัสดีครับ ก้อง...สะเร็น

  • ดีใจมากเลยที่เห็นกลับมาในบล็อก...
  • บอกตามตรงเลยนะ
  • โดยพื้นฐานพ่อที่เป็นคนดี..เป็นคนจิตอาสาอยู่แล้ว...
  • รับรองครับ-ลูก ก็เป็นอีกลูกไม้ที่จะหล่นไม่ไกลต้น

สุขี สุขี ชีวี มีสุขครับ

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

  • แวะมาให้กำลังใจ  เจ้าตัวน้อย  2 คนที่แสนจะน่ารัก  และเริ่มมีจิตอาสาตั้งแต่ตัวน้อยๆ

ชอบคำพูดของน้องที่ว่า     ทำให้เป็นธรรมชาติ, ทำให้เป็นเหมือนกิจวัตรได้ยิ่งดี  สุดท้ายก็จะกลายเป็น”วัฒนธรรมทางใจ”

เมื่อก่อนพี่ก็ไม่ได้คิดให้เป็นเรื่องใหญ่โต  คิดว่ามันเป็นธรรมชาติที่คนเข้มแข็งกว่าต้องช่วยเหลือคนอ่อนแอกว่า  แต่สังคมไทยกำลังมีคนอย่างนี้น้อยลง จึงต้องสอนตั้งแต่ระดับครอบครัวให้เป็นพื้นฐาน  และค่อยๆสอนให้ออกไปสู่สังคมต่อไป  น้องทำถูกต้องแล้ว ที่เริ่มตั้งแต่ลูกเล็กๆ   ขอบคุณสิ่งดีๆที่นำมาแบ่งปัน 

สวัสดีครับ FREEDOM

ผมเชื่อในระบบคิดเช่นนั้น  เพราะโตมากับภาพที่เห็นพ่ออุทิศตนให้กับสังคม และท่านก็ทำเช่นนั้นต่อเนื่องด้วยการเป็นผู้นำชุมชนยาวนานมา 42 ปีเต็มๆ...ซึ่งนั่นมักจะทำให้เรารู้ว่าต้นแบบที่ดีต้องทำให้ดู  จะดูแลคนอื่น ก็ต้องเริ่มจากการดูแลตัวเองเสียก่อน  ด้วยเหตุนั้นครับ ในคำอุทิศในหนังสือเรียนนอกฤดูของผม  - ผมจึงไม่ลังเลที่จะอุทิศด้วยคำว่า

"แด่พ่อและแม่ ต้นแบบของความเป็นคนจิตอาสา"

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.เสียงเล็กๆ فؤاد

เรื่องราวของจิตอาสา..เป็นความงาม-ที่งดงามมาจากภายในของหัวใจของผู้คน  และที่สำคัญก็คือ เรื่องจิตอาสา มันช่วยให้เราได้เห็นหรือตระหนักว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  ไม่อาจอยู่ได้โดยลำพัง จำเป็นต้องพึ่งพา พึ่งพิง แบ่งปันกันและกันเสมอ...

...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ ครูใจดี

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งนะครับกับคำว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ก็ควรพยายามสร้างสรรค์สังคมให้งดงาม เริ่มฝึกให้เป็นนิสัย จากตัวเรา

และคำว่านิสัยนั่นแหละที่ผมเรียกว่า "วัฒนธรรมทางใจ" ...

ส่วนคำว่า "ไม่รู้นะ" ก็ไม่มีอะไรมาก  หรอกนะครับ เป็นเพียงสไตล์การเขียนในแบบการรำพึงรำพันกับตัวเอง ไม่มีความหมายแฝงใดๆ ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.โบตั๋น

หนังสือเรียนนอกฤดู...เป็นเสมือนจดหมายเหตุชีวิตของผมและนิสิตในมหาวิทยาลัยที่สัญจรไปทำค่ายอาสาพัฒนาในที่ต่างๆ...ไม่ใช่งานเขียนที่ดีเด่นนัก เพราะมันเป็นบันทึกจากบล็อก ซึ่งตอนนั้นเน้นความสด ความเร็ว-ไปมารีบบันทึกลงบล็อก  สิ่งที่ได้ก็คือความสดของการเขียนนั่นเอง  และได้รู้ว่าใครทำอะไรที่ไหน...และอย่างไร

หวังว่าหนังสือเล่มเล็กๆ ของผม  คงพอให้ช่วยให้นักเรียนได้เกิดแรงใจในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมบ้างกระมังครับ...

 

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

- จิตอาสาซึมลึกมาจากวิถีการเลี้ยงดูของครอบครัว

- โรงเรียนมีส่วนเปิดกว้างและส่งเสริมจิตอาสาให้เด่นชัด แต่ปัญหาที่พบสัดส่วนเวลาที่ให้กับส่วนนี้ยังน้อยมาก แต่ทั้งนี้ยังดีกว่าไม่มีเลยค่ะ

                 ตัวอย่างที่ดี มีค่ายิ่งกว่าคำสอน 

          เด็กๆน่ารักนะคะ  ชื่นชมจริงๆ 

          การให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน  มีความสุขจริงๆ 

         (ขอบคุณนะคะ  ได้น้องชายเพิ่มอีกคนดีใจสุดๆ) 

สวัสดีครับ อ.JJ

ขอให้อาจารย์เต็มไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์เสมอไป
มีสุขภาพกาย-สุขภาพใจที่งดงาม สมบูรณ์...นะครับ

 

สวัสดีครับ พี่ดาวเรือง

อันที่จริงมีวาทกรรมอยู่สองเรื่องที่ผมฉุกคิดได้ และกอปรกับกิจกรรมการขอรับบริจาคเพื่อเข้าสู่โครงการต้านลมหนาวครั้งนี้  จนมาสู่บันทึกนี้นั่นก็คือ คำว่า "ทำอะไรตามใจ เป็นไทยแท้"  กับ "ธุระไม่ใช่"  นี่แหละครับ ที่ผมมองว่ามันเป็นจุดติดขัดของคำว่าจิตอาสา หรือจิตสาธารณะ ...

และพอมามองคำว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย" ด้วยเช่นกัน  ผมจึงไม่ลังเลที่จะเขียนบันทึกนี้ตามสไตล์เรื่อยๆ ของผมเอง

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณ noktalay

ผมพอรู้มาบ้างว่า  ในหลักสูตรการเรียนนั้น กำหนดชั่วโมงเรื่องจิตอาสาด้วยเหมือนกันใช่ไหมครับ แต่ก็อย่างว่า  หลายโรงเรียนนักเรียนยังไม่มีพื้นที่อย่างเต็มที่ หรือแม้แต่ยังขาดการบูรณาการกับวิชาเรียน หรือเรียนแบบแยกส่วนมากจนเกินไปด้วยเช่นกัน  รวมถึงวัฒนธรรมจากสื่อต่างๆ ก็พรากเอามุมคิดเหล่านี้ไปจากเด็กอย่างสิ้นเชิงด้วยก็มี...ถึงกระนั้น ก็อย่าสิ้นหวังนะครับ -เป็นกำลังใจให้

สวัสดีครับ พี่ วิไล บุรีรัตน์

อันที่จริงการเลี้ยงลูก จะว่าไม่หวังผลแห่งอนาคตก็คงไม่ใช่  หวังมากไปก็เป็นการไปบงการชีวิตของเขา  ได้แต่ภาวนาในใจเสมอมาว่า  ถึงไม่ดี และเก่งเหมือนใครๆ แต่ก็ขออย่าเป็นภาระทางสังคมก็พอ  และที่สำคัญคือขอให้มีจิตใจที่จะดูแลสังคมด้วยเท่านั้นเอง

ขอบคุณครับ

สวัสดีปีใหม่ส่งสคส.ไปให้

คงถึงสัปดาห์นี้จ้า

                

อ.แผ่นดิน

ชื่นชมค่ะ ,...โดยเฉพาะการไม่ละเลยที่จะให้ลูกๆ ได้เรียนรู้ว่าเรื่องเหล่านี้  ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง  เรื่องเหล่านี้ไม่มีคำว่า “ธุระไม่ใช่”  และเรื่องเหล่านี้นี่แหละที่เป็นเสมือนคือสะพานแห่งการพาดผ่านให้ผู้คนในสังคมได้สัญจรมาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข...

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

 

สวัสดีครับ.คุณจันทร์ยิ้ม

  • ขอบคุณสำหรับ ส.ค.ส. นะครับ
  • เช่นกันครับ
  • ขอให้มีพลังแห่งการขับเคลื่อนชีวิตและสังคม สืบไป นะครับ

สวัสดีครับ

สวัสดีปีใหม่..คุณท้องฟ้า

ผมเองเติบโตมาในครอบครัวชาวบ้านเล็กๆ ...หาเช้ากินค่ำ แต่ที่เห็นประจำก็คือ  พ่อและแม่ กลับไม่เคยทำตัวแล้งน้ำใจต่อเพื่อนบ้านและญาติพี่น้อง ท่านช่วยเหลือชุมชนและทำประโยชน์กับชุมชนอย่างสม่ำเสมอจนเป็นที่ยอมรับและนับถือของผู้คน  ซึ่งมันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจงานในแนวจิตอาสาได้ด้วยเหมือนกัน

และเมื่อมานั่งถอดบทเรียนเช่นนั้น  จึงไม่ลังเลที่จะส่งบทเรียนแห่งการหล่อหลอมนั้นไปยังลูกๆ ด้วยเหมือนกัน  ด้วยหวังว่า เขาจะรู้สึกและรับรู้ถึงสิ่งที่ควรจะต้องทำในฐานะของการเป็นองค์ประกอบของสังคม...

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท