เขียนให้ลูกเมื่อจะแต่งงาน


          ผมเขียนบันทึกนี้เมื่อปี ๒๕๕๐ และได้ตั้งชื่อบันทึกว่า “เขียนให้ลูกเมื่อจะมีครอบครัว” โดยเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านซึ่งใช้เป็นส่วนรวม   เพราะน้องเนติ์เริ่มถามถึงเรื่องการสู่ขอและการแต่งงานกับน้องหนอม จึงตั้งใจว่าจะให้เนติ์เป็นของขวัญวันแต่งงานและเขียนยังไม่ทันจบดีก็ไปเจอบันทึกในเครื่องที่ร้านของน้องเนติ์ แสดงว่าน้องเนติ์เห็นก็เลยทำสำเนาไปอ่าน เลยเขียนคาไว้อยู่แค่นั้นแล้วไม่ได้เขียนต่อ เมื่อคืนนึกขึ้นได้ก็เลยเอามาเขียนให้จบ ความจริงตั้งใจจะผนวกบันทึกนี้กับบันทึกที่เขียนถึงน้องเนติ์ตั้งแต่แรกเกิดใน "บันทึกถึงลูกชาย" แล้วไล่เรียงมาให้เห็นว่าพ่อคนนี้ดูแลลูกอย่างไร จนกระทั่งถึงวันที่ลูกมีครอบครัว เอาไว้โอกาสเหมาะจะร้อยเรียงใหม่เป็นรูปเล่ม ดีไม่ดีจะพิมพ์ขาย แฮ่.... ผมว่าคนที่คิดจะมีครอบครัวก็น่าจะอ่านเอาไว้เป็นคู่มือในการดูแลครอบครัวให้ยั่งยืน ลองอ่านดูนะครับ...

        "ชีวิตครอบครัวเป็นชีวิตแห่งความรับผิดชอบ เมื่อเราพ้นวัยแห่งการศึกษา มาถึงวัยแห่งการทำมาหาเลี้ยงชีพ เรารับผิดชอบตัวเราเอง แต่เมื่อเรามีครอบครัวเราจะต้องมีภาระในการรับผิดชอบมากขึ้นเป็นสองเท่า เราจะทำอะไรก็ตามจะต้องคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวของเราตลอดเวลา เพื่อประคับประคองชีวิตคู่ให้อยู่ยั่งยืนที่สุดเท่าที่จะทำได้

        ชีวิตการแต่งงานมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เป็นชีวิตของการดิ้นรนต่อสู้ เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเราจะต้องมีความรับผิดชอบมากเป็นสองเท่า ในฐานะผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวก็จะต้องรู้จักหน้าที่ของตนเอง ต้องรู้จักความว่าง ต้องรู้จักคำว่าพอดี ต้องรู้จักการเปรียบเทียบ ต้องรู้จักการให้

        ที่บอกว่าเราจะต้องรู้จักหน้าที่ของตนเองนั้น หมายถึง ในหน้าที่ที่จะต้องเป็นลูกที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นมิตรที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี และเป็นศาสนิกชนที่ดีของศาสนาที่เรานับถือ เพราะหากเราไม่รู้จักการเป็นลูกที่ดี เราก็จะไม่รู้จักคำว่าเป็นพ่อที่ดีเป็นแม่ที่ดี ถ้าเราไม่รู้การเป็นศิษย์ที่ดีเราก็จะไม่มีวันเป็นอาจารย์ที่ดี คนเป็นพ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก ครูจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี หากเราไม่เป็นมิตรที่ดี เราก็จะขาดมิตร สังคมมนุษย์ถ้าขาดมิตรเสียแล้วจะทำอะไรก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ และการที่เราอยู่ในสังคมของประเทศใดประเทศหนึ่งถ้าเราไม่รู้จักการเป็นพลเมืองที่ดี ปัญหาก็จะเกิดไม่รู้จักจบสิ้น การเคารพกฎเกณฑ์กติกาของสังคมเป็นเรื่องสำคัญ หากเราซึ่งเป็นต้นแบบละเมิดกฎระเบียบของสังคมให้ลูกเห็นอยู่บ่อยๆ ลูกก็จะกลายเป็นคนที่ไร้ระเบียบ ชอบละเมิดกฎระเบียบสร้างความวุ่นวายให้สังคมและคนที่เป็นพ่อแม่ไม่รู้จบสิ้น และที่สำคัญหากเรานับถือศาสนาอะไรก็ควรจะศึกษาให้รู้ถึงแก่นแท้ในสิ่งที่ศาสดาสอน มิใช่รู้เพียงเปลือก กะพี้ แล้วเข้าใจผิดว่านั่นคือศาสนาที่เราเคารพนับถือ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันเป็นเช่นนั้น

        ในศาสนาของเราก็มีธรรมะแห่งการครองเรือน หากเราปฏิบัติตามคำสอนชีวิตครอบครัวก็จะมีความสุข ธรรมะแห่งการครองเรือนคืออย่างไร

        ศาสนาพุทธได้สอนถึงหน้าที่ของสามีและภรรยา เพื่อให้ครอบครัวมีความสุข ลองหันไปดูสิ่งแวดล้อมรอบข้างเราดูสิว่า ครอบครัวแต่ละครอบครัวที่เรารู้จักมีการทะเลาะเบาะแว้ง มีการเลิกรากันไปมากน้อยเพียงใด เพราะอะไร

        การจะทำให้ครอบครัวมีความสุข ในฐานะสามี มีหน้าที่ที่จะต้องยกย่องให้เกียรติสมฐานะที่เป็นภรรยา ไม่ดูหมิ่น ไม่นอกใจ มอบความเป็นใหญ่ในบ้านโดยเฉพาะส่วนของงานบ้าน และหาของประดับเครื่องแต่งตัวให้เป็นของขวัญบ้างตามโอกาสที่ควร  ต้องแสดงให้สาธารณรู้ว่านี่คือภรรยาของเรา ต้องให้เกียรติต่อตัวภรรยาอย่างจริงใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่มีกิ๊ก ไม่มีภรรยาน้อย อย่ายกย่องหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาให้เทียบเท่าภรรยาต่อสาธารณะ เพราะนั่นคือการไม่เคารพตนเอง ไม่เคารพในเกียรติศักดิ์ศรีของผู้ที่เป็นภรรยาซึ่งบิดามารดาของเราได้ยอมรับเขาเป็นสะใภ้ของตระกูลแล้ว ต้องไม่ดูถูกดูหมิ่นภรรยารวมทั้งญาติพี่น้องของภรรยา ไม่ว่าเขาจะมีฐานะทางการเงิน ฐานะทางสังคม ดีกว่าหรือต่ำต้อยกว่าเราก็ตาม ก็ต้องเคารพในญาติพี่น้องของภรรยาอย่างเท่าเทียมกับญาติพี่น้องของเรา  นอกจากนี้เรื่องการจัดการภายในบ้านก็ต้องมอบหมายให้ภรรยาเป็นใหญ่คอยดูแลทั้งหมด แต่ในสภาพปัจจุบันที่ภรรยาต้องออกไปทำงานนอกบ้านหารายได้ จะให้งานบ้านทุกอย่างเป็นหน้าที่ของภรรยาก็ไม่ถูกเพราะหน้าที่หารายได้เข้าสู่ครอบครัวมิได้เป็นของเราเพียงคนเดียว แต่เขาก็มีส่วนหามา ดังนั้นจะให้เขารับภาระซักผ้า ถูบ้าน ทำกับข้าว ทำความสะอาด ทั้งหมดก็เป็นเรื่องหนักสำหรับภรรยาเพราะเขาก็เหนื่อยนอกบ้านมาเช่นกัน ในฐานะสามีจึงต้องช่วยแบ่งเบาภาระ การทำเช่นนี้คนในสังคมมักล้อเลียนว่าไอ้นี่กลัวเมีย แต่เรื่องของครอบครัวคนอื่นไม่เกี่ยวอย่าไปฟังเสียงนกเสียงกา เพราะนี่คือความสุขของครอบครัวที่เรามีหน้าที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 

        ในฐานะภรรยาก็มีเช่นกัน เพราะภรรยามีหน้าที่จัดการงานบ้านให้เรียบร้อย แต่นั่นหมายถึงหน้าที่หารายได้เป็นของสามีเพียงฝ่ายเดียวดังที่พ่อได้บอกข้างต้น ภรรยายังจะต้องมีหน้าที่สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่าย เพราะจะให้ต่างฝ่ายต่างละทิ้งญาติอีกฝ่ายหนึ่งย่อมไม่บังควร ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่าญาติพี่น้องใครๆก็รักและเคารพ และหากญาติฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเดือดร้อน อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องช่วยเหลือตามสมควร นอกจากนี้ภรรยาก็ต้องไม่นอกใจสามี ไม่คบชู้ หรืออยู่ตามลำพังกับชายอื่นให้เป็นครหานินทา ทั้งเมื่อเป็นแม่บ้านก็ย่อมต้องมีหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สิน เพราะหากทรัพย์สินอยู่กับฝ่ายชายมักจะหมดไปกับอบายมุข หมดไปกับเรื่องไร้สาระเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ค่าสุรา บุหรี่ การพนัน เป็นต้น  และสุดท้ายก็ต้องเป็นคนขยัน ช่างจัดช่างทำ และทำงานได้ทุกอย่าง ถ้าเป็นสมัยก่อนที่พ่อเป็นเด็ก ผู้หญิงที่เป็นภรรยาสมัยนั้น นอกจากจะทำกับข้าวเก่ง งานบ้านงานเรือนเก่ง งานฝีมือก็เก่ง  เย็บปักถักร้อยก็เป็น เสื้อผ้าที่พ่อใส่ย่าจะเย็บให้ ทั้งชุดนอน ชุดอยู่บ้าน  ชุดเที่ยว  แต่ปัจจุบันสภาพสังคมมันเปลี่ยนก็ทำเท่าที่ทำได้ เพราะเรามักต้องใช้เวลาในการทำงานนอกบ้านกัน

        นี่เป็นเพียงหน้าที่ของสามีภรรยาเท่านั้น ความจริงแล้วในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนเรื่องการบูชาทิศทั้ง ๖ ซึ่งทิศแต่ละทิศ มีดังนี้ ทิศเบื้องหน้า คือ บิดามารดา ทิศเบื้องขวา ก็คือ ครูบาอาจารย์ ทิศเบื้องหลังก็ภรรยา ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ทิศเบื้องซ้ายก็คือมิตรสหาย ทิศเบื้องล่าง ก็คือลูกน้อง คนรับใช้ คนงาน ที่ทำงานให้กับเรา และสุดท้ายก็คือทิศเบื้องบน ซึ่งก็หมายถึงพระสงฆ์ หรือหากให้ทันสมัยก็คือผู้ทรงศีลไม่ว่าจะเป็นของศาสนาอะไรแต่หากเขาเป็นผู้มีคุณงามความดี สอนให้คนทำดี ก็น่าจะเคารพได้ (แต่จะนับถือหรือไม่เป็นคนละเรื่องกัน)"

         ผมเขียนคาไว้ได้แค่นั้นแล้วไม่ได้เขียนต่อ ลองค้นหาบทความนี้จนเจอก็เลยเอามาเขียนให้จบเพื่อการทำหน้าที่ตรงนี้จะได้เสร็จสมบูรณ์ ผมจบบทความด้วยประโยคนี้ครับ

        "พ่อได้แต่หวังว่าลูกจะทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้เพราะก่อนลูกจะมีครอบครัว ลูกจะต้องเตรียมพร้อมในฐานะที่จะเป็นพ่อของบ้านซึ่งต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าเดิม ลูกจะต้องลดความประสงค์ของตัวเองลงเพื่อไปเพิ่มความประสงค์ให้คู่ครองของลูก(อดทน) พ่อไปอวยพรคู่บ่าวสาวคู่ไหนก็บอกเขาว่าชีวิตสมรสจะอยู่กันยืดหรือไม่อยู่ที่รู้จักยอมกันหรือไม่ ให้เกียรติกันหรือไม่  ให้อภัยได้หรือไม่ ไว้ใจกันหรือไม่ เอาใจกันหรือไม่ ถ้าคำตอบว่า "ได้" ชีวิตสมรสของลูกก็จะยั่งยืน และพ่อก็เชื่อว่าลูกของพ่อทำ "ได้"...

 

หมายเลขบันทึก: 325560เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2010 07:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 01:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
แอ้ม เมืองขนมหวาน

สวัสดีค่ะ คุณลุงอัยการ

  • แวะมาทักทายค่ะ
  • สงสัยจะเป็นคนแรก อิอิ

แอ้ม เมืองขนมหวาน

อ่านงานเขียนของท่านอัยการไม่ว่าจะ กฏหมาย ครอบครัว ความรัก อ่านไปยิ้มไป มีความสุขค่ะ

จะติดตามอ่านเรื่อง เขียนเมื่อผมได้เป็นคุณปู่นะคะ

สวัสดีหนูแอ้ม

เป็นคนแรกจริงๆแฮะ

ขอบใจที่มาทักทาย ถ้าไม่มาละเหงาแย่เลย อิอิ

สวัสดีน้อง poo

ขอบคุณที่ติดตามผลงานอย่างใกล้ชิด

บทความที่รออ่านคงไม่นานมั๊ง..อิอิ

สวัสดีค่ะ ท่าน อัยการชาวเกาะ

มีความสุขมากๆ นะคะ

สวัสดีครับ คุณMoon smiles on Venus&Jupiter

ขออภัยที่มาตอบช้า เป็นหวัดมีน้ำมูกและไอนิดหน่อย ครับแต่สู้ๆ อิอิ

ขอบพระคุณสำหรับคำอวยพรปีใหม่ครับ ขอให้คำอวยพรนั้นกลับไปยังท่านนับเท่าทวีคูณนะครับ

สวัสดีค่ะท่านอัยการ แวะมาทักทายค่ะ อ่านแล้วให้นึกถึงครอบครัวมากๆค่ะ

ดีจังเลยนะค่ะ ที่เขียนให้ลูกได้อ่านเช่นนี้

หนูก็ได้รับข้อความกำลังใจแบบนี้ จากคุณแม่บ่อยๆ

หนูว่าเป็นเรื่องที่ดีค่ะ ทำให้ครอบครัว เข้าใจกันมากขึ้น

บางทีคำพูด อาจจะสื่อสารได้ไม่หมด บางทีการกระทำอาจจะขวยเขินจนไม่กล้าแสดงออก

เราจึงเขียนออกมา เพื่อให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงทรรศนะคติของเรา

อย่างไรก็ต้องของคุณที่กรุณานำมาให้อ่านกันนะค่ะ

แล้วก็ขออวยพรให้ลูกของคุณอา มีครอบครัวที่ดีค่ะ ^^

ปล.ขอบคุณที่แวะไปอ่าน"ลานรีวิว"นะค่ะ

สวัสดีครับครูอุ้ย

ทั้งสอนทั้งปฏิบัติให้ลูกเห็น ว่าครอบครัวจะมีความสุขอยู่ที่คนในครอบครัวช่วยกันสร้างความสุขให้กันและกันครับ

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย

อิอิ

ลูกยังเรียนอยุ่ทุกคน

แต่ขอมาอ่านแอบจำก่อนนะคะ

สวัสดีหนูพบพลอย

ชื่อหนูน่ารักมาก

ครอบครัวผมกอดกันเป็นปกติทั้งๆที่ลูกชายลูกสาวโตเป็นหนุ่มสาวกันหมดแล้ว แต่จะไปไหนห่างกันทีก็จะกอดกัน วันเกิดก็กอดกัน แต่การเขียนอธิบายให้ลูกรับรู้ก็เป็นเรื่องดีที่จะทำให้เขาได้มีเวลาคิดตาม ถ้าพูดให้ฟังเฉยๆบางทีคิดตามไม่ทัน ถ้าหนูลองไปย้อนอ่านบันทึกเก่าจะได้อ่านสิ่งผมบันทึกให้ลูกชายลูกสาวตั้งแต่แรกเกิด ครับ

สวัสดีครับคุณณัฐรดา

ลูกจะโตแค่ไหนคุณแม่ก็อ่านได้ครับ แถมเราอาจจะสอนให้เขาได้รับรู้เรื่องทิศว่าคนเราต้องอยู่กับคนรอบข้าง ถ้าคนรอบข้างไม่มีความสุขก็จะพลอยทำให้เราไม่มีความสุขไปด้วย เราอยากมีความสุขก็ต้องทำให้คนรอบข้างมีความสุข หรือจะสอนเรื่องการให้อภัย การให้เกียรติผู้อื่น ฯลฯได้อย่างหลากหลายครับ

ขอบคุณที่แวะมาทักทายครับ

  • เป็นเรื่องเตือนใจคนมีครอบครัวจริง ๆ
  • ปัจจุบันคนมีพื้นที่ส่วนตัวมาก  นึกถึงใจเขาน้อยลง  นึกถึงแต่ใจเราทำให้ชีวิตคู่ล้มเหลวมากขึ้น
  • เก่งทั้งกฎหมาย  เก่งทั้งการครองตน  เยี่ยมจริง ๆ ค่ะ
  • ขอคารวะ

 

มาให้กำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท