สะเก็ด PAR : 2. ข้อมูลเป็นสิทธิของชุมชน


"ข้อมูลชุมชนเอาไป ความรู้นักศึกษาผมรับมา"

ความตั้งใจแรกทุกครั้งกับการทำงานแบบมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

ความตั้งใจแรก หรือเทคนิค แนวคิด เกี่ยวกับการตั้งใจที่จะลงไปทำทุก ๆ อย่างเกี่ยวกับโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้เราเดินอยู่บนความมีส่วนร่วมอย่างถูกทาง และความตั้งใจหนึ่งทุกครั้งที่ผมคิด ท่องและปฏิบัติเสมอเวลาลงไปทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนก็คือ "ข้อมูลเป็นสิทธิของชุมชน"


แนวคิดและคำพูดนี้ ผมได้รับฟังมาจากคุณวิชิต นันทสุวรรณ เมื่อครั้งสมัยเป็นหนุ่มที่ผมได้มีโอกาสเป็นหัวหน้าโครงการชดกองทุนหมู่บ้านฯ จังหวัดอุตรดิตถ์

วันนั้นผมได้ฟังเรื่องเล่า (Story Telling) เกี่ยวกับการทำงานแบบมีส่วนร่วมของท่านที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า ข้อมูลต่าง ๆ ที่นักวิจัยลงไปทำงานนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลประวัติ สภาพด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลตัวเลขของชุมชน รายได้ ค่าใช้จ่าย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ "อย่านำออกมาจากชุมชน" และต้องบอกชุมชนไว้เสมอว่า อย่านำไปให้ใคร หรือแม้กระทั่งตัวผู้วิจัยเอง ก็ไม่ควรนำมาให้ เพราะตัวเลขเหล่านี้ ถ้าตกไปอยู่ในมือของนักธุรกิจผู้ไม่หวังดี เขาจะนำไปหาผลประโยชน์ สร้างสินค้าและบริการเข้ามาเพื่อขายและทำลายสรรพสิ่งต่าง ๆ ในชุมชนได้อย่างพริบตา

หลังจากฟังวันนั้น ผมก็มีข้อสงสัยในใจลึก ๆ ว่า

อ้าว! ถ้าไม่ลงไปเก็บข้อมูลแล้วเราจะลงไปทำอะไร???

เพราะความรู้เรื่องวิจัยแบบเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ หรือแม้กระทั่ง Grouded Theory ที่เคยฟังมาอบรมมาก็ต้องลงไปเก็บข้อมูลแล้วนำมาเขียนทั้งนั้น

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผมก็ยังไม่เข้าใจ และด้วยความมั่นใจแบบโอหังว่า "ข้าเก่ง และ ข้าถูก" ก็ลงไปเก็บข้อมูล ไม่เชื่อ ไม่ฟัง ไม่ปฏิบัติตาม จนทำให้งานแบบมีส่วนร่วมครั้งนั้นล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

จากนั้นเวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี ผมได้แต่นั่งเฝ้าขบและคิดโจทย์นี้อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งผมได้มีโอกาสร่วมคิดโจทย์โครงการวิจัย "ร่วม" กับนักศึกษา วิชาวิจัยทางธุรกิจ ของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (ท่าสักไดอารี่(2) : ร่วมคิด ร่วมริเริ่มโครงการ) ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่มีทุนวิจัยเลย พวกเรามีแต่ใจที่จะ "ร่วม" กันทำงานนี้

จากนั้นอีกไม่กี่วัน ผมก็ได้ขบและคิดตีโจทย์นี้ออกว่า "ไม่ลงไปเก็บข้อมูล แล้วเราลงไปทำอะไร"

คืนนั้นเอง ผมโทรไปหาพี่โย่ง (คุณชูจิต เหมาะประไพพันธ์) ใจความในโทรศัพท์วันนั้นมีว่า

"พี่โย่ง จำที่เราเคยคุยกันได้ไหมว่าพี่โย่งอยากได้ข้อมูลเรื่องรายได้ ค่าใช้จ่ายของท่าสัก ผมและนักศึกษาจะลงไปร่วมทำกับพวกพี่โย่ง ซึ่งผมและเด็กนั้น จะไม่เอาข้อมูลที่ได้มาไปทำอะไรเลย ขอแค่ให้เด็กได้มีประสบการณ์ในการทำวิจัยในภาคเรียนนี้แค่นั้น ข้อมูลพี่โย่งเอาไว้ ส่วนเด็กผมขอความรู้จากการทำวิจัยกลับมา...."

ข้อมูลต่าง ๆ ตอนนั้นผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า เราไม่รู้จะไปเอามาทำไม เราเอามาก็ไม่ได้มีประโยชน์ เอามาก็มีแต่จะเกิดโทษถ้าหากเราเก็บรักษาไม่ดี

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าข้อมูลอยู่ในชุมชน ชุมชนรู้ ชุมชนแก้ ชุมชนได้รับประโยชน์ อย่างนี้น่าจะเข้าสู่หัวใจหลักของ PAR อย่างแท้จริง

หลังจากการโครงการวิจัยที่ผมภูมิใจมากที่สุด ก็เริ่มขับเคลื่อนจากงบประมาณที่คณะฯจัดให้เป็นอุปกรณ์การเรียนหัวละ 30 บาท นักศึกษา 2 Section 80 คนก็มีเงินทุนวิจัยเริ่มต้น สองพันกว่าบาท แต่งานวิจัยที่ต้องลงพื้นที่สองครั้ง (ทั้งแปดสิบชีวิต) การประชุมย่อย ๆ ต่าง ๆ นับสิบ รวมถึงค่าวัสดุอุปกรณ์ สำเร็จได้ก็เพราะการมีส่วนร่วม

ร่วมรับประโยชน์ "ข้อมูลชุมชนเอาไป ความรู้นักศึกษาผมรับมา"

ไม่ได้ลงไปเก็บข้อมูล แต่ลงไปทำข้อมูล

ร่วมกับชุมชน เพื่อชุมชน และเป็นสิทธิของชุมชน....

ถ้าถามเรื่องสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดในชีวิตการทำงานวิจัยเรื่องนี้ (ท่าสักไดอารี่) เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจและจะจดจำไว้ตลอดไปครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

หมายเลขบันทึก: 68485เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2006 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
ได้เข้ามาเรียนรู้แก่นแท้ของ PAR ด้วยครับ ขอบคุณอาจารย์ปภังกร ครับ
ชื่นชมในการทำงานของคุณปภังกรและทุกบันทึกที่คุณเขียนจากใจค่ะ
ขอบคุณอาจารย์มากครับ นับว่ามีประโยชน์และเป็นแนวคิดในการทำงานของออตเป็นอย่างดี

มาเยี่ยม...

เป็นมุมคิดที่น่าสนใจ...ขอชื่นชมครับ

umi...เริ่มลงภาคสนาม...ด้านวิจัยทางภูมิปัญญาท้องถิ่น...ครับ...

ขอบคุณครับ

 

PAR ก็เหมือนเครื่องมืออันหนึ่งนะครับ แถมเป็นเครื่องมือที่มักจะใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งไม่แปลกอะไร จะว่าไปมันก็เหมือนวัยรุ่นชอบใช้มือถือ บางคนก็ขาดไม่ได้ จะขาดใจตาย

ตัวผมก็ชอบ PAR ครับ แต่ไม่ถึงกับบูชามันนะ อย่าลืมว่า PAR มันเป็นแค่ "เครื่องมือ" ที่เรานำเข้ามาจากไหนก็ไม่รู้ เขาสร้างมาจากบริบทไหนก็ไม่ชัดแจ้ง แต่ก็ฮิตติดชาร์ตกันไปแล้ว

ชาวบ้านเขาน่าจะมี PAR ของเขาเองตามจารีตประเพณีหรือเปล่า ซึ่งสามารถพัฒนา "ยกระดับ" ขึ้นมาเป็น PAR แบบชาวบ้านได้ อันนี้ ไม่ค่อยมีใครสนใจแฮะ

แต่จะว่าไป เราๆท่านๆบรรดาชนชั้นกลางมักจะรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจกับการใช้ PAR จากตำราสากลแล้วแปลงมาประยุกต์กับท้องถิ่น ประยุกต์ได้มากบ้าง น้อยบ้าง และบางที่ PAR ก็อาจจะไม่เวิร์คเลยก็มี (แต่ไม่ได้แจ้งกันเอาไว้)

อย่าไว้ใจ PAR มากนักนะครับ เพราะมันเป็นแค่เครื่องมือ ไม่มีเครื่องมือไหนไม่มีจุดอ่อน PARย่อมมีจุดโหว่อยู่ ผู้ใช้ที่ฉลาด ต้องเรียนรู้และค้นพบด้วย ใช้เป็นอย่างเดียว คงไม่ดีเท่าไร

ประเด็นที่ผมว่า PAR ยังโหว่อยู่ คือว่า PAR มันเป็นเครื่องมือที่วางอยู่บนฐานคิดที่มองโลกในแง่บวกเกินไปว่าชุมชนจะสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เปิดอกจับเข่าคุยกันได้โดยง่าย ทั้งๆที่ ในความเป็นจริง มันมีลิมิตของการมีส่วนร่วมเสมอ และมีการใช้อำนาจในการมีส่วนร่วมทุกครั้ง เพียงแต่เรามองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างหญิงชาย (gender relation) , ศาสนา, ชนชั้น, วัย, สถานภาพทางสังคม เป็นต้น ว่าไปเดี๋ยวยาว จำได้เลาๆว่ามีเขียนไว้ในทบทวนวรรณกรรม วิทยานิพนธ์ปอโทของผมครับ

ใช้ PAR อย่างรอบคอบอย่างเดียวไม่พอ คงต้องรู้เท่าทันมัน และหาทางพัฒนาเครื่องมือตัวนี้ไปพร้อมๆกันด้วยนะครับ

ดิฉันเข้าใจว่าPAR อาจเป็นเครื่องมือให้เราความเคารพชุมชนที่เราลงไปเรียนรู้   ถ้าเราชัดเจนในเป้าหมายเช่นเพื่อพัฒนาหรือแก้ปัญหาสักอย่าง และถ้าเราเปิดใจพร้อมจะเรียนรู้และเข้าใจ  อานิสงค์ย่อมเกิดกับเราและชุมชนบ้างไม่มากก็น้อยตามเหตุปัจจัย

ขอชื่นชมในความเป็นนักวิจัยในยุคสังคมประชาธิปไตยที่เปิดและรับฟังแลกเปลี่ยนเรียนรู้

คิดว่าถ้าใช้ PAR ผสมกับ GROUNDED  THEORYคิดว่าความมั่นใจในความรู้คงมีความเชื่อมั่นสูงนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท