หลังจากที่ได้พิมพ์บันทึกกรณีศึกษา (Case Study) กับปัญหาการหางานทำในที่ที่ศิวิไลซ์
เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้ผมมีโอกาสคิดต่อยอดโดยการเปรียบเทียบกับ Tacit Knowledge ของตัวเองว่า เอ๊ะ ทำไมเราถึงกลับมาอยู่บ้านและมีเหตุผลอะไรบ้างล่ะที่ทำให้เราถึงต้องออกไปทำงานที่ต่างจังหวัดอันแสนไกล
สิ่งที่ผมพบซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่อึดอัดใจนั่นก็คือ คำถามแทงใจที่มีคนถามว่า "ทำงานที่ไหน?" เป็นคำถามที่ได้ยินทีไร อื่ม.... ถามง่ายแต่ตอบยากจัง
ตั้งแต่ผมกลับมาอยู่บ้านเพื่อช่วยพ่อและแม่ทำงานที่บ้านเป็นเวลาประมาณ 3 เดือนเศษ คำถามที่ผมต้องพบเจอร้อยละ 90% ไม่ว่าจะเจอใครก็ถาม นับตั้งแต่เพื่อน พี่ น้อง ญาติสนิท มิตรสหาย ลุง ป้า น้า อา นั่นก็คือคำถามที่ว่า "ทำงานที่ไหน?"
จนคำถามนี้กลายคำทักทายแทนคำว่า "สวัสดี" ไปเสียแล้ว
คำถามสั้น ๆ แต่มีความหมาย เป็นคำถามที่แฝงไว้ด้วยความหวัง การแข่งขัน และการเปรียบเปรย
อื่ม.... เป็นคำตอบที่ยากมาก ๆ สำหรับคนที่ไม่มีงานทำและคนที่คิดจะกลับมาช่วยทำงานที่บ้าน โดยเฉพาะคนที่เรียนจบมาสูง ๆ (ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป)
ถ้าถามผมว่าตอนนี้มีความสุขไหมกับการกลับมาอยู่ช่วยพ่อช่วยแม่ทำงานที่บ้านก็ตอบได้เลยครับว่า "มีความสุข" มาก โดยเฉพาะเมื่อยึดหลักมรณังคสติและเศรษฐกิจพอเพียงผนวกเข้าด้วยกันแล้ว บอกได้เลยครับว่า "มีความสุขสุด ๆ"
แต่ธรรมดาของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม คำถามนี้เป็นคำถามที่ตอนแรกผมก็เฉย ๆ แต่พอโดนถามไปถามมาบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเดินไปไหนกับแม่แล้วโดนถามว่าลูกชายทำงานที่ไหน ก็เริ่มจะตอบยากทั้งคู่
นี่เป็นสาเหตุหนึ่งไหมที่บัณฑิตไม่ค่อยอยากกลับมาที่บ้าน
คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 ประการด้วยกันคือ
- ตัวเราแคร์ไหม แคร์ใจตนเองหรือแคร์ขี้ปากคนอื่นมากกว่า ถ้าแคร์ใจตนเองก็สบายๆ ชิว ๆ ไม่ต้องไป worry อะไร เพราะคนที่ถามก็ไม่ใช่พ่อใช่แม่เรา เรากลับมาตอบแทนบุญคุณท่าน อยู่กับท่านสิถึงจะเรียกได้ว่าเป็นลูกกตัญญู ดีกว่าไปทำงานรับใช้คนอื่นแล้วส่งเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ กลับมาบ้าน ผมคิดว่างั้น (ซึ่งอาจจะผิด)
- ครอบครัวเราแคร์ไหม พ่อกับแม่หรือญาติของเรา ท่านแคร์หรือเปล่าเวลาที่มีใครถาม ถ้าท่านพอใจในการที่อยู่ใกล้ ๆ กับเรา ก็เกมส์ ไม่มีปัญหา อยู่ได้อย่างมีความสุข
สาเหตุหรือปัจจัยทั้งสองข้อนี้แสดงให้เห็นว่า "เราแคร์คนอื่นมากกว่าแคร์ตนหรือครอบครัวเราเอง" เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตต้น ๆ ของสังคมไทย "การเปรียบเทียบ และการแข่งขัน"
เพราะฉะนั้น หลาย ๆ คนจะได้ยินคำพูดตามมาที่ว่า "ส่งไปเรียนจบตั้งปริญยงปริญญา จบแล้วก็กลับมาทำนาเหมือนเดิม" แล้วส่งไปเรียนทำไม???? เจ็บนะ เจ็บ....
คำพูดนี้เป็นคำพูดที่แทงใจใครหลาย ๆ คน หรือแม้กระทั่งผม
แต่ผมก็โชคดีอยู่อย่างครับที่ที่บ้านเป็นร้านขายของ ไม่มีนาให้ทำ ไม่งั้นก็อาจจะโดนเปรียบเปรยด้วยคำพูดนี้ก็ได้
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อแสดงภาพในมุมมองของบัณฑิตคนหนึ่งที่กลับมาอยู่บ้านเพื่อให้ทุกท่านได้ทราบว่า
เด็กเขาก็อยากอยู่บ้าน อยากอยู่ใกล้พ่อใกล้แม่กัน แต่ทว่า คำพูดของ "ชาวบ้าน" เนี่ยแหละ "ปัญหา" ยิ่งผนวกกับสายตาในการมองของคนที่ไม่เคารพความเป็นคนนี่ด้วยแล้วล่ะก็ "ยอมไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า..."
ศักดิ์ศรียิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าจะต้องไปกัดก้อนเกลือกินก็ยอม
ดังนั้นวิธีการแก้ไข
สำหรับในสังคมขณะนี้นั้นค่อนข้างยาก เพราะคนเราในปัจจุบันแข่งขันกันกว่า ใครสวมขัวโขนสวยกว่าใคร ใครรวยกว่าใคร ลูกใครมีเงินเดือนลูกกว่าใคร ลูกชั้นมีเงินเดือนเท่านี้ ลูกเธอล่ะมีเงินเดือนเท่าไหร่ อุตส่าห์ขายวัวส่งลูกไปเรียนปริญญาแล้วเป็นไงล่ะ ก็ต้องกลับมาอยู่บ้านทำนาเหมือนเดิม
แต่... ก็ไม่ยากเกินความพยายาม
โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นแนวนโยบายของรัฐบาลและแนวโน้มสังคมในอนาคตอันใกล้นี้กับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการสุขนิยม ที่แสวงหาความสุขแบบเพียงพอ ไม่เน้นใช้เงินเป็นสื่อกลางในการเปรียบเทียบความเป็นคน การเป็นคนโดยสมบูรณ์ถ้าวัดกันด้วยการกระทำ การกระทำดีต่อบุพการี กระทำดีด้วยการปฏิบัติ มิใช่ใช้เงินเข้าแลก ถ้าสังคมไทยยอมรับความดีจากการปฏิบัติในข้อนี้ได้ เด็กหรือบัณฑิตอีกหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่น หลายแสนคน "เขาอยากกลับบ้าน"

ถ้าสังคมใช้สื่อกลางในการทำงานคือความสุข
ถ้าสังคมใช้สื่อกลางในการทำงานคือปัญญา
และเราศรัทธาความสุขในตนเองมากกว่าศรัทธาคำพูดของคนอื่น
สำนึกรักษ์บ้านเกิดของบัณฑิตนั้น จะไหลกลับมาสู่ท้องถิ่นไทยอย่างแน่นอน....
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ชายชาญ วงศ์ชิดวรรณ ใน ความรู้คือพลัง